ภาคิน นิมมานนรวงศ์ ครูผู้เปลี่ยนวิชาสังคมศึกษาให้เป็นเรื่องใกล้ตัวและน่าสนุก

4,014 views
5 mins
July 12, 2021

          ทิศทางการศึกษาหลายปีที่ผ่านมา ให้ความสำคัญกับเรื่องการสอนให้เด็กมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ในฐานะทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่สามารถต่อยอดไปสู่การเรียนรู้อื่นๆ และดำรงชีวิตอย่างมีเหตุมีผล

          ในบรรดาศาสตร์ต่างๆ ที่มีสอนในโรงเรียน กลุ่มวิชาสังคมศึกษา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และพุทธศาสนา จัดว่าเป็นยาขมสำหรับใครหลายๆ คน เพราะเต็มไปด้วยข้อมูลเนื้อหามากมายให้ท่องจำ และยากที่จะจินตนาการได้ว่าจะสอนอย่างไรให้สนุกและทำให้เด็กเกิดการคิดวิเคราะห์ไปพร้อมกัน

          The KOMMON พาไปล้วงลึกเคล็ดลับการสอนของ ‘ภาคิน นิมมานนรวงศ์’ ครูสังคมศาสตร์รุ่นใหม่แห่งโรงเรียนกำเนิดวิทย์ จังหวัดระยอง ผู้ยั่วยุให้เด็กรู้จักตั้งคำถามกับทุกสิ่งที่อยู่รอบตัวเพื่อนำไปสู่ปัญญา ซึ่งไม่สามารถเกิดขึ้นจากการก้มหน้าก้มตาท่องตำราแต่เพียงอย่างเดียว

คุณเรียนจบด้านไหน และมาเป็นครูสังคมศึกษาที่โรงเรียนกำเนิดวิทย์ได้อย่างไร

          หลังจากเรียนจบปริญญาตรีที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมทำงานวิจัยให้กับ สกว. เกี่ยวกับภูมิภาคอาเซียน พร้อมกับเรียนโทด้านประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พอเรียบจบก็สนใจงานสอนในมหาวิทยาลัย ไม่เคยคิดมาก่อนเหมือนกันว่าจะมาเป็นครูหรือสอนหนังสือเด็ก แต่ตอนนั้นจังหวะมันพอเหมาะพอดี ลองยื่นใบสมัครเป็นครูวิชาสังคมที่โรงเรียนกำเนิดวิทย์ แล้วก็ผ่านการสัมภาษณ์

จริงหรือไม่ที่นักเรียนสายวิทยาศาสตร์มักมองวิชาสังคมศึกษาว่าเป็นการท่องจำที่น่าเบื่อหน่าย

          ไม่ใช่แค่เด็กหรอกครับ แม้แต่ตัวผมเองตอนอยู่ ม.ปลาย ก็รู้สึกว่าวิชาสังคมศึกษา ประวัติศาสตร์ พุทธศาสนาเป็นอะไรที่น่าเบื่อ เรียนไปแล้วก็จำสิ่งที่เรียนไม่ได้เลย ตอนมาเริ่มเป็นครูผมก็ต้องย้อนกลับไปดูเนื้อหาในหลักสูตรใหม่อีกครั้ง ผมเคยคุยกับเด็กๆ บางคน เขามี mindset มาตั้งแต่ประถมแล้วว่า วิทยาศาสตร์คือวิชาที่ต้องคิดวิเคราะห์ ส่วนสังคมศึกษาเป็นวิชาที่ต้องท่องจำ จึงทำให้เด็กหลายคนบ่นว่าน่าเบื่อและไม่ชอบวิชานี้

จะทำอย่างไรให้นักเรียนเห็นว่าวิชาสังคมศึกษาเป็นเรื่องใกล้ตัว

          แทนที่จะสอนเฉพาะเนื้อหาในหลักสูตร หรือสอนแบบเล่าให้ฟังอย่างเดียว ผมชวนเด็กให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องพื้นฐานในชีวิตประจำวัน ก่อนจะสอนประวัติศาสตร์ผมจะพูดถึงเรื่องปรัชญาประวัติศาสตร์เช่น ถามเด็กว่า อะไรคือคำถามสำคัญในวิชาประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์คืออะไร ถ้าประวัติศาสตร์คืออดีต แล้วอดีตต่างกับประวัติศาสตร์หรือไม่

          ผมเสนอว่าจริงๆ แล้วคำถามสำคัญของวิชาประวัติศาสตร์คือ ‘คุณคือใคร’ พอเราถามเด็ก เด็กก็พยายามอธิบายว่าตัวเองเป็นใคร เป็นลูกของคนนั้น เป็นพี่ของคนนี้ เป็นนักเรียนที่นั่นที่นี่ แล้วผมก็จะชี้ให้เขาเห็นว่าเวลาอธิบายว่าเราเป็นใคร เราอธิบายมันได้เพราะว่าเราจดจำความสัมพันธ์ที่เรามีกับคนอื่น แล้วลองคิดว่าถ้าวันหนึ่งเราจำความสัมพันธ์ที่เรามีกับคนอื่นไม่ได้เลย เรายังเป็นคนคนเดิมอยู่ไหม

          เด็กก็จะเห็นว่าความทรงจำเป็นเรื่องสำคัญ อดีตเป็นสิ่งสำคัญเพราะมันเป็นตัวกำหนดตัวตนของเรา เราจำอดีตบางอย่างได้เราก็เป็นคนแบบหนึ่ง เราจำอดีตบางอย่างไม่ได้เราก็เป็นคนอีกแบบหนึ่ง การเริ่มต้นแบบนี้เด็กจะเห็นว่า อ๋อ ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องพื้นฐานที่อยู่ในชีวิตเรา มันคือเรื่องความทรงจำ เรื่องอดีต เรื่องตัวตนของเราเอง

ภาคิน นิมมานนรวงศ์ ครูผู้เปลี่ยนวิชาสังคมศึกษาให้เป็นเรื่องใกล้ตัวและน่าสนุก

คุณเริ่มต้นด้วยการสอนให้เด็กคิดและรู้จักตั้งคำถาม แต่ท้ายที่สุดแล้ววิชาสังคมศาสตร์ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องสอนเนื้อหา มีวิธีทำให้ทั้งสองส่วนนี้เชื่อมโยงกันได้อย่างไร

          หลักสูตรของโรงเรียนกำเนิดวิทย์ไม่ได้เน้นเรื่องการท่องจำเนื้อหา แทนที่จะพูดว่าเหตุการณ์นั้นเป็นอย่างไร ใครทำอะไร ที่ไหน แต่ผมมักจะให้หลักฐาน ข้อมูล หรือข้อเท็จจริง ชวนให้เด็กวิเคราะห์หลักฐาน แล้ววิเคราะห์สาเหตุของเหตุการณ์นั้นว่าคืออะไร

          ผมจะบอกเด็กว่า ทุกอย่างมันเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ ถ้าเรารู้จักตั้งคำถามให้ถูกต้องเราจะเห็นแง่มุมที่หลากหลายมากขึ้น เด็กจะเริ่มเรียนรู้ว่า บางอย่างตั้งคำถามแล้วมันดูน่าเชื่อถือ แต่พอเปลี่ยนไปตั้งคำถามอีกอย่างหนึ่งมันกลายเป็นไม่น่าเชื่อถือ เพราะฉะนั้น ความน่าเชื่อถือมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งนั้น แต่ขึ้นอยู่กับคำถามที่เรามีต่อมัน ซึ่งนั่นก็คือเนื้อหาของหลักสูตร

          ยกตัวอย่างการสอนเรื่องอยุธยา ถ้าอยู่ๆ ครูโพล่งเรื่องอยุธยาเลย เด็กจะเห็นภาพอยุธยาอีกแบบหนึ่ง ซึ่งบางครั้งมันเป็น mindset เดิมๆ ที่เด็กมี แทนที่จะสอนแบบนั้น ผมก็เลยเริ่มต้นจากการปูพื้นฐานความคิด เช่น รัฐโบราณคืออะไร อะไรคือความแตกต่างระหว่างรัฐโบราณกับรัฐสมัยใหม่ แล้วยกตัวอย่างที่ใกล้ตัว เช่นคล้ายกับการ์ตูนหรือหนังเรื่องไหน เมื่อเข้าใจตรงนี้การสอนเนื้อหาก็ง่ายขึ้น

จำเป็นหรือไม่ที่ครูยุคใหม่จะต้องเท่าทันเรื่องที่กำลังอยู่ในความสนใจของเด็ก

          หลายครั้งผมก็พยายามให้เป็นอย่างนั้น แต่ก็ไม่ใช่ตลอด อย่างเวลาสั่งงาน จะไม่ได้ให้นักเรียนไปอ่านหนังสืออย่างเดียว แต่ให้ไปดูหนัง ไปดูซีรีส์บางตอน หรือให้อ่านอะไรที่ไม่ใช่ตำราเรียนบ้าง เพื่อให้เขาเห็นความเป็นไปได้ว่า วิชาสังคมศึกษาไม่จำเป็นต้องเป็นการเรียนการสอนในห้องเรียน แบบที่เคยเห็นหรือที่เคยเรียนมา

          เนื่องจากอายุของผมกับนักเรียนไม่ได้มีช่องว่างแตกต่างกันมาก ผมพอจะทันวัฒนธรรมที่เด็กติดตาม แต่ก็มีหลายอย่างที่เราไม่ทัน เกมที่เด็กเล่นกัน ผมก็ต้องกลับไปลองโหลดไว้ในมือถือ เผื่อจะยกเอาตัวอย่างอะไรมาสอนได้บ้าง

ในการสอนวิชาสังคมศึกษา คุณมีจุดมุ่งหมายอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวนักเรียน

          อย่างแรกเลยคือ อยากให้นักเรียนไม่เป็นศัตรูกับวิชาสังคมศึกษา อย่างที่สองคือ อยากให้เด็กเห็นว่าวิชานี้มีอะไรที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับชีวิตเรา ผมไม่ได้คาดหวังว่าเด็กจะต้องมีความรู้จนสอบโอเน็ตได้ 90 คะแนนหรืออะไรทั้งนั้น เป้าหมายใหญ่จริงๆ ในฐานะครูผู้สอนคือผมอยากให้เด็กรู้สึกว่า เขาไม่สามารถคิดถึงวิทยาศาสตร์โดยแยกจากสังคมได้ และเวลาพูดถึงวิชาสังคมศึกษาหรือวิชาประวัติศาสตร์ เขาสามารถไปหาอ่านต่อหรือคิดต่อหลังออกจากห้องเรียนไปแล้ว ถ้าเด็กไปดูหนังแล้วกลับมาคุยกับผม บอกว่าดูแล้วนึกถึงเรื่องที่ครูสอน แบบนี้เป็นอะไรที่ผมสมหวังแล้ว

          ยกตัวอย่าง ผมเคยให้นักเรียนไปดูหนังเรื่อง ‘The battle of the sexes’ หนังเรื่องนี้ว่าด้วยการตีเทนนิส ในสังคมสมัยก่อนมีทัศนคติว่าผู้หญิงไม่ควรเล่นเทนนิส มีนักเรียนไปดูแล้วกลับมาถามว่า “แสดงว่าเรื่องเพศก็เป็นเรื่องการเมืองสินะ” ถ้านักเรียนสามารถคิดได้แบบนี้ผมจบแล้ว เด็กมหาวิทยาลัยหลายคนยังนึกไม่ออกเลยว่า การเมืองมันมีความหมายแบบไหนได้บ้าง

ปัจจุบันมีครูสังคมศึกษาที่สอนแบบไม่เน้นการท่องจำมากน้อยแค่ไหน

          ผมก็ไม่แน่ใจ แต่เท่าที่ไปร่วมงานประชุมต่างๆ หรือไปช่วยคนนู้นคนนี้ทำงาน ผมเห็นครูสังคมศึกษาจำนวนไม่น้อย ซึ่งแม้บางคนจะอายุมากกว่าผมแต่ก็เป็นครูที่เปิดกว้าง พร้อมจะตั้งคำถามชวนเด็กคิด แม้กระทั่งครูในต่างจังหวัด

          แต่เนื่องจากครูหลายท่านอยู่ในโรงเรียนรัฐบาล ซึ่งมักจะถูกผู้บริหารกำหนดนโยบายว่าการสอนหนังสือที่ดีเป็นอย่างไร เช่น เด็กต้องรู้เนื้อหาอะไร หรือเด็กต้องสอบติดมหาวิทยาลัย ต่อให้ครูพยายามจะเปิดกว้างแค่ไหน สุดท้ายก็กลายเป็นว่าระบบบีบครูให้ต้องติวเด็กเพื่อไปสอบ

แล้วครูจะมีวิธีเลี่ยงไม่ให้ถูกระบบบีบได้อย่างไร

          สำหรับโรงเรียนรัฐบาล ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันครับ แต่สำหรับโรงเรียนเอกชนมันเปิดกว้างโดยตัวมันเองอยู่แล้ว อย่างวิธีการดิ้นของผม ผมจะตีความว่า ตัวชี้วัดของวิชาสังคมศึกษาเขาอยากให้นักเรียนรู้อะไร สมมติมีตัวชี้วัดว่าต้องรักชาติ จะทำอย่างไรให้เด็กรักชาติ สอนประวัติศาสตร์ชาติยัดๆๆ เข้าไปแล้วเด็กจะรักชาติไหม หรือเราให้เด็กคิดว่าชาติมันควรหมายถึงอะไรบ้าง ชาติมันเป็นอย่างอื่นได้ไหม เราเป็นส่วนหนึ่งของชาติหรือเปล่า แล้วทำไมเราถึงต้องแคร์คำพวกนี้ ถ้าเห็นวิธีคิดแบบนี้ ก็อาจเป็นไปได้ว่าการรักชาติอาจไม่ใช่ความหมายอย่างที่เขาอยากให้เป็น

          เท่าที่คุยกับเพื่อน หลายโรงเรียนก็เปิดกว้างในเรื่องวิธีการสอน ทำให้ครูสามารถพลิกแพลงหลากหลาย จัดกิจกรรม Active Learning ได้แบบอิสระ แต่อีกหลายโรงเรียนก็เป็นเรื่องยาก ผมเคยได้ยินกรณีหนึ่ง ครูสอนภาษาอังกฤษสอนโดยให้เด็กเล่นฟุตบอล แล้วให้เด็กสื่อสารภาษาอังกฤษในการเล่นกีฬานั้น สุดท้ายครูโดนผู้บริหารโรงเรียนเรียกไปลงโทษ เพราะให้เด็กเล่นบอลแทนที่จะเรียนภาษาอังกฤษในห้องเรียน

ภาคิน นิมมานนรวงศ์ ครูผู้เปลี่ยนวิชาสังคมศึกษาให้เป็นเรื่องใกล้ตัวและน่าสนุก

เด็กรุ่นใหม่ในทัศนะของคุณเป็นอย่างไร

          ผมคิดว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่ยึดติดกับค่านิยมมากนัก ยิ่งไปบังคับให้เขาต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เขาจะยิ่งมีความรู้สึกต่อต้าน ในปัจจุบันเขาสามารถเข้าถึงสื่อหลากหลายช่องทางด้วยตัวเอง เขามีเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไว้วิจารณ์ครูหรือผู้ปกครองโดยที่ผู้ใหญ่ไม่รู้ เขามีวิธีจัดการกับความสัมพันธ์อันหลากหลายกว่าที่เราเคยเห็น มีกลุ่มเพื่อน มีช่องทางในการติดต่อสื่อสารกันมากขึ้น ทำให้วิธีคิดที่พวกเขามีต่อคุณค่าแบบเก่าๆ เปลี่ยนไปด้วย

ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนมักถูกวิจารณ์ว่าเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ คุณคิดว่ามันจำเป็นต้องมีหรือควรจะเลิก

          ถ้าถามผม ขึ้นชื่อว่าความสัมพันธ์ มันเป็นเรื่องของอำนาจอยู่แล้ว เพียงแต่จะมีมากหรือน้อย ถ้าเราเชื่อว่าการศึกษาคือการพัฒนามนุษย์ให้ดีขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนก็ไม่ควรจะเป็นแบบที่ฝ่ายหนึ่งมีอำนาจมหาศาลแล้วบังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งทำตาม สิ่งที่เด็กต้องเรียนรู้ไม่ใช่การต้องทำตามกฎอย่างเดียว แต่คือการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล และมนุษย์จะคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลได้ก็ต่อเมื่อเปิดโอกาสและสนับสนุนให้คิด

          ถ้าคุณไปบังคับแล้วบอกว่าคำตอบมันคือแบบนี้นะ แล้วเด็กก็มีหน้าที่ทำตาม คุณก็กำลังทำลายโอกาสการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ถ้าเราใจกว้างพอที่จะเปิดให้เด็กถกเถียงหรือตั้งคำถามต่อกฎระเบียบบางอย่างหรือกระทั่งอำนาจของครูที่มีล้นเกินไป จะเป็นโอกาสที่ดีในการทำให้การศึกษาบรรลุเป้าหมาย แต่แน่นอนว่าในฐานะครู เรามักรู้สึกว่าเราควรจะเป็นผู้มีอำนาจอยู่ในมือ ควรจะควบคุมนักเรียนได้ และทุกครั้งที่มนุษย์ซึ่งเชื่อว่าตัวเองมีอำนาจถูกตั้งคำถาม เขาจะรู้สึกไม่พอใจอยู่เสมอ

          มันเป็นไปไม่ได้ที่จะยกเลิกเรื่องอำนาจ ครูในห้องเรียนจำเป็นต้องมีอำนาจบางอย่างมากกว่าอยู่แล้ว แต่มันไม่ได้แปลว่าคุณมีสิทธิ์ไปกำหนดทุกอย่างในชีวิตเขา หรือไม่เปิดโอกาสให้เขาได้คิดหรือได้ตั้งคำถามกับตัวคุณเลย ผู้มีอำนาจควรจะถูกตั้งคำถามอยู่เรื่อยๆ จะได้เป็นผู้มีอำนาจที่มีปัญญามากขึ้น

มีอะไรอยากจะฝากทิ้งท้ายถึงครู ทั้งที่สอนและไม่ได้สอนวิชาสังคมศึกษา

           แน่นอนว่าชีวิตการเป็นครูมันไม่ได้มีแค่สอนหนังสือ มันมีภาระงานอื่นๆ เต็มไปหมด แต่ท้ายที่สุดแล้วเด็กจะเป็นผู้ใหญ่แบบไหนในอนาคต มันขึ้นอยู่กับการตั้งคำถามของครูว่าจริงๆ แล้วหัวใจของการศึกษาคืออะไรกันแน่ ถ้าเราตอบคำถามนี้ได้และพยายามสานต่อ ก็จะช่วยให้คนอื่นเห็นคุณค่าของสิ่งที่เราทำมากขึ้น

          วิชาสังคมไม่ใช่เรื่องของการท่องจำอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องการอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ในสังคม โดยรู้จักใช้ข้อมูล เปรียบเทียบ คิดวิเคราะห์จากหลักฐาน นี่คือความรู้ที่นักเรียนอยากได้ และเป็นวิธีการเรียนการสอนที่เขาใฝ่หา ยิ่งครูทำตามแบบเดิมเท่าไร เราก็ยิ่งอยู่ห่างจากนักเรียนมากขึ้น การศึกษาที่เราตั้งเป้าหมายไว้ก็อาจมีโอกาสบรรลุมันน้อยลงตามไปด้วยครับ


เผยแพร่ครั้งแรก ทาง TK Podcast กรกฎาคม 2561

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก