อ้าย เว่ยเว่ย : ศิลปะเพื่อท้าทายอำนาจ ตั้งคำถามต่อความเชื่อ

137 views
4 mins
December 25, 2023

          อ้าย เว่ยเว่ย (Ai Weiwei) เป็นศิลปินและนักเคลื่อนไหวชาวจีน ซึ่งมีผลงานหลากหลายแขนง ทั้งประติมากรรม สื่อผสม ภาพถ่าย ศิลปะจัดวาง สถาปัตยกรรม และภาพยนตร์ แม้ฝีมือของเขาจะได้รับการยอมรับในระดับสากล แต่รัฐบาลจีนกลับไม่ค่อยจะชื่นชมเขาเท่าไรนัก เพราะอ้ายมักวิจารณ์การใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมของรัฐบาลแบบตรงไปตรงมา รวมทั้งเคยเปิดโปงการทุจริตของข้าราชการจนเป็นที่รับรู้ไปทั่วโลก

          พ่อและแม่ของอ้ายเป็นกวี และตกเป็นนักโทษการเมืองในยุคเหมาเจ๋อตง ภายหลังการปล่อยตัว ทั้งครอบครัวถูกเนรเทศไปอยู่ในดินแดนกลางทะเลทรายอันแสนทุรกันดารในเขตซินเจียง เขาใช้ชีวิตวัยเด็กและเติบโตขึ้นที่นั่นจวบจนอายุ 16 ปี โดยแทบไม่ได้รับการศึกษาเท่าที่ควร แต่ต้องขวนขวายหาความรู้ด้วยตนเอง

          “การมีชีวิตที่แร้นแค้นยากจนและแสนว่างเปล่าในวัยเด็ก มีอิทธิพลต่อตัวผมอย่างมาก เพราะมันทำให้ผมเข้าใจว่าชีวิตมนุษย์เรานั้นเปราะบางเพียงใด”

          หลังสิ้นสุดยุคปฏิวัติวัฒนธรรม ครอบครัวของอ้ายเดินทางกลับปักกิ่ง เขาได้เข้าเรียนที่สถาบันภาพยนตร์ และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มศิลปะหัวก้าวหน้าที่มีชื่อว่า ‘ดวงดาว’ เขาเป็นหนึ่งในนักเรียนรุ่นแรกๆ ที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศ โดยเลือกไปเก็บเกี่ยวความรู้ด้านศิลปะที่นครนิวยอร์ก เมื่อพ่อป่วยหนักเขาตัดสินใจกลับประเทศจีน ก่อตั้งสตูดิโอสถาปัตยกรรม และแสดงฝีมือด้านศิลปะสารพัดแขนงจนเป็นที่ประจักษ์และสร้างชื่อเสียงในวงกว้าง

          งานของอ้ายมักชวนให้สังคมฉุกคิดและตั้งคำถามในเรื่องที่หลายคนไม่กล้าพูดถึง เช่น ภาพถ่ายตัวเขาโยนแจกันโบราณสมัยราชวงศ์ฮั่นลงบนพื้นจนแตกเป็นเสี่ยงๆ เขาต้องการแสดงออกถึงเรื่องที่ทางการจีนเคยทำลายล้างศิลปินและมรดกทางวัฒนธรรมในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม ยิ่งวันเวลาผ่านไปผลงานของอ้ายยิ่งมีประเด็นเกี่ยวข้องกับสังคมและจุดยืนสนับสนุนผู้ถูกกดขี่เด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ เช่น การจัดแสดง ‘เมล็ดทานตะวัน’ ทำมาจากกระเบื้องลายคราม 100 ล้านเมล็ด ฝีมือช่างท้องถิ่น 1,600 คน ดอกทานตะวันเคยถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนโดยมักหันหน้าไปทางผู้นำ ทว่าเมล็ดพันธุ์เล็กๆ เมื่อมารวมตัวกันจำนวนมหาศาลก็สามารถยืนหยัดต่อสู้กับอำนาจที่ไม่เป็นธรรมได้ งานชิ้นนี้ยังสื่อถึงลัทธิบริโภคนิยมในปัจจุบัน เบื้องหลังสินค้าซึ่งถูกส่งออกไปทั่วโลกคือแรงงานชาวจีนที่ถูกขูดรีดจำนวนนับไม่ถ้วน

การจัดแสดง เมล็ดทานตะวันที่ทำมาจากกระเบื้องลายคราม 100 ล้านเมล็ด ของ อ้าย เว่ยเว่ย

          อ้ายมีนิสัยเป็นนักขุดคุ้ยที่กัดไม่ปล่อย กรณีแผ่นดินไหวที่มณฑลเสฉวนในปี 2008 จนทำให้อาคารเรียนขนาดใหญ่พังถล่ม แต่รัฐกลับปิดบังข้อมูลจำนวนผู้เสียชีวิต เขาประกาศรับอาสาสมัครเพื่อสืบหาความจริงในพื้นที่ เมื่อครบรอบเหตุการณ์ 1 ปี เขาได้ตีแผ่รายชื่อเด็กที่เสียชีวิตทั้งหมดผ่านทางบล็อก ซึ่งมีไม่น้อยกว่า 5,385 คน เด็กๆ ที่ควรเป็นอนาคตของชาติต้องสังเวยชีวิตให้กับการฉ้อฉล จนทำให้การก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานและไม่สามารถรองรับภัยพิบัติ อ้ายกลั่นความรู้สึกเจ็บปวดและโกรธแค้นออกมาเป็นนิทรรศการศิลปะชื่อ ‘ความระลึกถึง’ โดยนำกระเป๋านักเรียนสีต่างๆ จำลองขึ้นแล้วเรียงร้อยเป็นข้อความภาษาจีนติดไว้บนผนังอาคารที่จัดแสดงว่า ‘เธอเคยอยู่อย่างมีความสุขเป็นเวลาเจ็ดปีบนโลกใบนี้’ ซึ่งเป็นคำพูดของพ่อแม่เด็กคนหนึ่งที่เสียชีวิต

          ครั้งนี้ การใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือปะทะทางการเมืองดูเหมือนจะเดินทางมาถึงจุดแตกหัก ก่อนเปิดตัวนิทรรศการเขาพยายามเข้าให้การกับผู้สอบสวนเหตุการณ์โศกนาฏกรรม แต่กลับถูกตำรวจทำร้ายอย่างรุนแรงจนต้องเข้ารับการผ่าตัดฉุกเฉิน ต่อมาเขายังถูกจับกุมไปคุมขังนานถึง 81 วัน ในข้อหาก่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจ และถูกยึดหนังสือเดินทางเป็นเวลาหลายปี

าย เว่ยเว่ย : ศิลปะเพื่อท้าทายอำนาจ ตั้งคำถามต่อความเชื่อ
งานศิลปะที่สะท้อนถึงความเจ็บปวด จากเหตุการโรงเรียนอนุบาลในมณฑลเสฉวนพังทลาย เนื่องจากการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลให้เด็กๆ ต้องเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
Photo: Ai Weiwei

          แต่ในท้ายที่สุด รัฐบาลจีนจำต้องยินยอมผ่อนคลายเนื่องจากแรงกดดันของนานาชาติและองค์กรสิทธิมนุษยชนสากล อ้ายตัดสินใจย้ายไปพำนักที่เบอร์ลิน ในห้วงเวลานั้นเอง เกิดวิกฤตผู้ลี้ภัยจากประเทศแถบตะวันออกกลางและแอฟริกา ผู้คนต่างหลบหนีภัยสงครามและความอดอยากหลั่งไหลเข้ามายังยุโรป ผู้อพยพเหล่านี้ระหกระเหินเดินทางมายังต่างบ้านต่างเมืองพร้อมกับสภาพความทุกข์ระทม เหตุการณ์นี้ราวกับว่าเขาได้มองกระจกสะท้อนภาพเรื่องราวของตัวเอง และเมื่อครั้งไปเที่ยวที่เกาะเลสบอส ประเทศกรีซ เขายังได้พบเห็นผู้อพยพจำนวนมากกำลังเดินเท้าขึ้นฝั่งกับตาตัวเอง เพราะขณะนั้น เกาะแห่งนี้เปรียบเหมือนด่านหน้าในการรับคลื่นผู้ลี้ภัยที่เดินทางหนีข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมาทางเรือ

          ความสงสัยว่าพวกเขาเป็นใครและเหตุใดจึงต้องเสี่ยงภัยหนีออกมาจากบ้านเกิด ทำให้อ้ายตัดสินใจทำสารคดีเรื่อง ‘Human Flow’ เจาะลึกเรื่องราวผู้ลี้ภัยอันเนื่องมาจากสงครามและความขัดแย้งที่คุกรุ่นอยู่ทั่วโลกกว่า 20 ประเทศ เช่น ซีเรีย อัฟกานิสถาน ปาเลสไตน์ เมียนมาร์ แอฟริกา และอเมริกากลาง สารคดีมุ่งสะท้อนเรื่องสิทธิมนุษยชน และความเห็นอกเห็นใจกันของเพื่อนมนุษย์ในภาวะที่ต้องเผชิญวิกฤต เขาเปรียบเปรยผู้อพยพจำนวนมหาศาลว่าเป็นเหมือนกระแสน้ำไหลบ่า การสร้างเขื่อนไม่สามารถแก้ปัญหาได้และทำให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงขึ้น เขาต้องการสร้างความเข้าใจถึงต้นตอของปรากฏการณ์นี้ และสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขที่สาเหตุ

วีดิโอตัวอย่างสารคดีเรื่อง ‘Human Flow’

          นอกจากนี้เขายังสร้างผลงานศิลปะเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยออกมาอีกหลายชิ้น เช่น ‘กฎแห่งการเดินทาง’ ซึ่งเป็นศิลปะจัดวางรูปแพยางบรรทุกหุ่นเป่าลมสีดำเต็มลำ และภาพถ่ายที่เขานอนคว่ำหน้าอยู่บนชายหาด เพื่อรำลึกถึงเด็กชายชาวซีเรียวัย 3 ขวบ ซึ่งเสียชีวิตเพราะเรืออับปาง

          “ถ้าศิลปะของผมไม่ทำอะไรเลยสักอย่างกับความเจ็บปวดและความเศร้าโศกของผู้คน ศิลปะจะมีไว้เพื่ออะไร?”

          อ้ายเห็นด้วยกับที่มีคนนิยามว่าเขาคือศิลปินนักทําลายความศักดิ์สิทธิ์ของความเชื่อและสถาบันสังคม แต่ก็มีเสียงวิจารณ์เช่นกันว่า อ้ายชอบทำตัวให้เป็นกระแสและเล่นกับสื่อตลอดเวลา เช่น มีตากล้องติดตัวและถ่ายสิ่งต่างๆ ที่เขาทำอยู่เสมอ บางครั้งก็ทวีตทุกชั่วโมง แต่เรื่องนี้ก็มีคำอธิบาย เพราะเขาเคยรอดพ้นจากการสอดแนมของเจ้าหน้าที่รัฐ ด้วยการหันกล้องไปจับภาพพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่คนนั้นแทน และบ่อยครั้งสิ่งที่เขาถ่ายเก็บไว้ก็มักเป็นวัตถุดิบที่ใช้ตัดต่อเป็นชิ้นงานภายหลัง นอกจากนั้น การเป็นจุดสนใจของสังคมยังทำให้ปัญหาที่เขานำเสนอมีคนรับรู้ไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว

          อ้ายมองว่างานศิลปะควรมีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ชีวิตของเขามีเจตจำนงอันแน่วแน่ในการสร้างสรรค์ผลงานที่นำไปสู่การโต้เถียงทางปัญญา “ศิลปะไม่ใช่แค่สิ่งที่คุณแขวนประดับผนังบ้าน ศิลปะเกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำความรู้จักตัวเองว่า คุณอยู่ในโลกแบบไหน และมีความฝันอย่างไร”

          ในช่วงวัยที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชน อ้าย เว่ยเว่ย มองย้อนเวลากลับไปทบทวนเรื่องราวในอดีตเกี่ยวกับพ่อของเขาแล้วพินิจไปยังลูกชาย เขาพบบทเรียนสำคัญของชีวิตว่าด้วยเรื่องเสรีภาพและความกล้าหาญในการตั้งคำถาม

          “ผมกับพ่อใช้เวลาอยู่ด้วยกันค่อนข้างมาก แต่ผมกลับไม่เคยถามอะไรเขาเลย มันเป็นธรรมชาติของห้วงเวลาขณะนั้น ไม่ควรมีใครซักถามและไม่มีใครกล้าให้คำตอบใดๆ เพราะทุกอย่างอาจนำไปสู่การคุกคามถึงชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนนั้นแสนจะเปราะบาง แม้แต่ในครอบครัว… ผมจึงตั้งใจอยากใช้เวลาพูดคุยกับลูกชายให้มาก เพื่อกระตุ้นให้เขาซักถามหรือเผชิญหน้าผม แม้ผมจะไม่มีคำตอบที่ถูกต้องให้เขาก็ตาม”

อ้าย เว่ยเว่ย : ศิลปะเพื่อท้าทายอำนาจ ตั้งคำถามต่อความเชื่อ
อ้าย เว่ยเว่ย
Photo: Gao Yuan


ที่มา

บทความ “Ai Weiwei, “Remembering” and the Politics of Dissent” จาก khan academy.org (Online)

บทความ “Interview with Ai Weiwei” จาก mona.net.au (Online)

บทความ “ชีวิต ความคิด และบทสนทนากับ Ai Weiwei ศิลปินจีนผู้ท้าทายอำนาจรัฐจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด” จาก adaymagazine.com (Online)

บทความ แนวคิดในการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและสังคมจีนของอ้ายเว่ยเว่ยผ่านผลงานศิลปะ จาก Humanities, Social Sciences and arts ของ มหาวิทยาลัยศิลปากร (Online)

บทความ “จับเข่าคุย “อ้าย เว่ย เว่ย” ศิลปินเอกของโลก พร้อมเขย่าวงการภาพยนตร์ด้วยสารคดีเรื่องเยี่ยม “Human Flow” จาก sahamongkolfilm.com (Online)

บทความ “Ai Wei Wei: Never Sorry ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน (จีน)” จาก plotter.in.th (Online)


บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ Lifelong Learning Focus issue 03 (2566)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก