โลกของ Book Club วัฒนธรรมรวมหัวของเหล่านักอ่านในวันวานและวันนี้

546 views
7 mins
December 18, 2023

          เมื่อพูดถึง Book Club หลายคนมักมีภาพแช่แข็งในจินตนาการว่าควรจะเต็มไปด้วยเหล่าผู้คงแก่เรียน อาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิจารณ์หนังสือ หรือบรรดานักศึกษาสายวรรณกรรมแสนคร่ำเคร่งที่มานั่งล้อมวงถกเถียงหาแก่นสาร สาระ และระบบความคิด (School of Thought) บางอย่างที่ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดในหนังสือ คล้ายกับว่าเป็นชั่วโมงเรียนในระดับอุดมศึกษา แต่แท้จริงแล้ว Book Club ไม่ได้มีเพียงรูปแบบเดียว และอันที่จริงต้องบอกว่า ชั่วโมงวรรณกรรมวิจารณ์แสนคร่ำเคร่งนั้นเป็นเพียงส่วนน้อยมากๆ ในจักรวาล Book Club เท่านั้น

          คงจะไม่เกินจริงไปมากนัก หากจะบอกว่า นับตั้งแต่ที่ประชากรบนโลกอ่านออกเขียนได้กันแพร่หลาย และอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์คึกคักจนเกิดระบบการพิมพ์หนังสือโดยทั่วไปขึ้น เหล่านักอ่านก็รวมตัวกันพูดคุยถกเถียงเรื่องหนังสือกันอยู่เสมอ Book Club จึงไม่ใช่กิจกรรมที่เกิดและเติบโตขึ้นเฉพาะในรั้วอุดมศึกษาอย่างที่หลายคนเข้าใจ

ประวัติศาสตร์ของ Book Club

          หากเรานิยามว่าการรวมตัวเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับหนังสือในหัวข้อต่างๆ คือ Book Club แล้วละก็ Book Club คงจะเป็นเรื่องที่สืบย้อนไปได้ถึง 400 ก่อนคริสตกาลในช่วงที่โสเครตีสมักจัดให้มีกิจกรรมการล้อมวงคุยถึงเรื่องปรัชญา วัฒนธรรม วรรณกรรม ศีลธรรม และเรื่องอื่นๆ ในทำนองนี้กับเหล่านักปรัชญาและนักปราชญ์อยู่เสมอ 

          แต่หากจะเจาะจงถึง Book Club ที่หมายถึงการอ่านหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งแล้วนัดหมายวันเฉพาะมาล้อมวงคุยกัน ก็มีบันทึกว่า Book Club ที่เก่าแก่ที่สุดน่าจะเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1634 ที่ แอนน์ ฮัทชินสัน (Anne Hutchinson) ได้รวมกลุ่มกับเพื่อนสตรีที่พบกันบนเรือระหว่างอพยพไปยังอ่าวแมสซาชูเซตส์ เพื่อพูดคุยกันเรื่องการเทศน์ประจำสัปดาห์ 

          หลังจากเดินทางถึงที่หมายซึ่งได้กลายเป็นบ้านหลังใหม่แล้ว แอนน์ ฮัทชินสัน ก็ยังก่อตั้งกลุ่มอ่านไบเบิลขึ้นในบอสตันด้วยเช่นกัน การรวมกลุ่มกันอ่านไบเบิลของเธอเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่ผลักดันให้แอนน์กลายเป็นนักปฏิรูปศาสนา ตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง และกลายเป็นบุคคลสำคัญอีกชื่อหนึ่งในประวัติศาสตร์คริสต์ศาสนาระดับโลกอีกด้วย

          ไม่ใช่แค่กลุ่มศึกษาไบเบิลของแอนน์ ฮัทชินสันเท่านั้น หลังจากที่กิจกรรมประเภท ‘สุมหัวกันอ่านหนังสือ’ เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น ก็มีการจัด Book Club เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในกลุ่มผู้อ่านทั้งชายหญิง หากเราไล่เรียงรายชื่อดูจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เราจะพบว่าคนดังอย่าง เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin) หนึ่งในบิดาผู้สร้างชาติของสหรัฐอเมริกา, ซี. เอส. ลูอิส (C.S. Lewis) ผู้เขียนตำนานแห่งนาร์เนีย, เจมส์ จอยซ์ (James Joyce) เจ้าของวรรณกรรมชิ้นสำคัญในยุคสมัยใหม่นิยม หรือกระทั่ง เวอร์จิเนีย วูล์ฟ (Virginia Woolf) นักเขียนสตรีที่ได้ชื่อว่าเป็นแม่แบบเฟมินิสต์มาก่อนกาล ก็ล้วนแต่เคยจัด Book Club เป็นของตัวเองทั้งสิ้น

โลกของ Book Club วัฒนธรรมรวมหัวของเหล่านักอ่านในวันวานและวันนี้
แอนน์ ฮัทชินสัน ขณะกำลังถูกพิจารณาคดีว่ามีความผิดฐานเป็นพวกนอกรีต
Photo: Public Domain

Book Club ระดับตำนาน

          หากจะพูดถึงประวัติศาสตร์ของ Book Club เห็นจะมองข้ามเรื่องราวของ Book of the Month Club ไปไม่ได้ 

          Book of the Month Club เป็นรูปแบบของ Book Club ยอดนิยมในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดย แฮรรี เชอร์แมน (Harry Scherman) ในปี ค.ศ.1962 โดยมีรูปแบบเป็นการสมัครสมาชิกเพื่อรับหนังสือรายเดือน รายชื่อหนังสือส่วนใหญ่เป็นหนังสือที่ผ่านการคัดเลือกมาแล้วเป็นอย่างดี เช่น รักระหว่างรบ (A Farewell to Arms) โดยเฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway), วิมานลอย (Gone with the Wind) โดยมาร์กาเร็ต มิตเชลล์, (Margaret Mitchell) หรือกระทั่งผู้บริสุทธิ์ (To Kill a Mockingbird) ของฮาร์เปอร์ ลี (Harper Lee) 

          แฮร์รี เชอร์แมน มีพื้นฐานเดิมมาจากการเป็นนักอ่านตัวยง ตัวเลือกหนังสือที่เขาจัดส่งให้สมาชิกในแต่ละเดือนจึงผ่านการทำการบ้านมาอย่างดี การเลือกนำเสนอหนังสือร่วมสมัยแทนที่จะเป็นวรรณกรรมคลาสสิกทำให้ Book Club ของเชอร์แมนได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ในปี ค.ศ.1927 Book of the Month Club ของเชอร์แมนมีสมาชิกกว่า 60,000 คน และในปี ค.ศ.1950 นักอ่านในกลุ่ม Book of the Month Club พุ่งสูงขึ้นถึง 5 แสนคน – หลายคนนึกภาพไม่ออกแน่ว่าการที่นักอ่าน 5 แสนคนในพื้นที่เดียวกัน อ่านหนังสือเล่มเดียวกัน ในช่วงเวลาเดียวกัน มันจะจุดประการบทสนทนาของเมืองได้มากแค่ไหน!

โลกของ Book Club วัฒนธรรมรวมหัวของเหล่านักอ่านในวันวานและวันนี้
Photo: Book of the Month

          Book Club ที่ได้ชื่อว่าทรงพลังและเป็น Book Club ระดับตำนานอีกกลุ่มหนึ่งคือ Book Club ที่อยู่ร่วมสมัยกับนักอ่านหลายคนในชื่อ OBC หรือ Oprah’s Book Club ซึ่งก็คือ Book Club จากเจ้าแม่ทอล์กโชว์แห่งยุคอย่าง โอปราห์ วินฟรีย์ (Oprah Winfrey) นั่นเอง

          โอปราห์ วินฟรีย์ เริ่มก่อตั้ง OBC ขึ้นในปี ค.ศ.1996 และหลังจากนั้นไม่นาน Book Club ของเธอก็ถูกขนานนามว่าเป็น Book Club ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก ทันทีที่เธอพูดชื่อหนังสือเล่มไหนขึ้นมา หนังสือเล่มนั้นก็จะกลายเป็น Talk of the Town และขึ้นหิ้งหนังสือขายดีไปได้ในเวลารวดเร็ว ชนิดที่ว่า อันนา คาเรนินา (Anna Karenina) วรรณกรรมเศร้าโศกแสนโรแมนติกของ เลียฟ ตอลสตอย (Leo Tolstoy) ยังติดอันดับหนังสือขายดีในปี ค.ศ.2004 ได้ แม้ว่ามันจะถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ.1877 ก็ตาม

          สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันว่าการสุมหัวกันอ่านนั้นทรงพลัง มีความหมาย และเป็นเรื่องมหาชนมากกว่าที่คิด นอกจากนั้น Book Club บางแบบในบางช่วงของประวัติศาสตร์ยังมีส่วนขับเคลื่อนและปลดปล่อยคนกลุ่มเล็กๆ ที่สังคมมองข้ามอยู่เสมออีกด้วย

คลิปตัวอย่างการจัดรายการ Oprah’s Book Club ของ โอปราห์ วินฟรีย์

โลกของ Book Club กับร้านหนังสืออิสระ

          ในปัจจุบัน Book Club กลายเป็นกิจกรรมที่ย้ายตัวเองไปอยู่ในร้านหนังสือเสียเป็นส่วนใหญ่ นักอ่านและนักจัด Book Club หลายคนให้เหตุผลว่า ร้านหนังสือเล็กๆ นั้นเหมาะกับกิจกรรม Book Club มากกว่าห้องสมุดหรือสถานศึกษาเสียอีก ด้วยว่าลักษณะของ Book Club ยอดนิยมในปัจจุบันไม่ใช่การอ่านไบเบิล และไม่ใช่การรอให้ผู้มีอิทธิพลมาแนะนำหนังสือให้คนจำนวนมากอ่าน แต่เป็นการรวมตัวกันของคนที่มีความสนใจใกล้เคียงกันเพียง 10-15 คน เพื่อพูดคุยกันอย่างสบายๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง หนังสือของนักเขียนคนใดคนหนึ่ง หรือหนังสือหลายๆ เล่มที่สอดคล้องกับแนวความคิดอย่างใดอย่างหนึ่ง ความเงียบสงบของห้องสมุดจึงไม่เหมาะ ส่วนสถานศึกษาก็มีข้อจำกัดมากเกินไป และร้านหนังสือเชนขนาดใหญ่ก็ไม่ได้ให้ความรู้สึกอบอุ่นต้อนรับเท่ากับร้านหนังสือเล็กๆ ที่มีนักอ่านเป็นเจ้าของ

          เมื่อ Book Club ย้ายไปอยู่ในร้านหนังสืออิสระ มันจึงเกิดขึ้นได้ทั้งกลางวันกลางคืน และต้อนรับคนทุกเพศทุกวัยทุกรสนิยม จะคุยกันไปกินขนมไป หรือคุยกันไปแล้วจิบไวน์ใต้แสงตะเกียงริบหรี่ไปด้วยก็ย่อมได้ ร้านหนังสืออิสระจึงกลายเป็นแหล่งสุมหัวของนักอ่านทุกระดับไม่ว่าจะเป็นนักอ่านหน้าใหม่หรือนักอ่านตัวยง เช่นร้านหนังสืออิสระเล็กๆ ในย่านสามเสนอย่าง A BOOK with NO NAME 

          A Book With No Name เป็นร้านหนังสืออิสระขนาด 2 คูหาที่คัดสรรหนังสือวรรณกรรมทั้งไทยและต่างประเทศมาไว้ตามรสนิยมของเจ้าของร้านอย่าง วิทยา ก๋าคำ และ งามแสนหลวง สิงห์เฉลิม มันจึงเรียกหานักอ่านวรรณกรรมจากทั่วทุกสารทิศมารวมตัวกันไว้ที่นี่ และพัฒนามาเป็น Book Club ซึ่งพูดถึงหนังสือของ ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) เวอร์​จิเนีย​ วูล์ฟ หนังสือว่าด้วยความรัก หนังสือว่าด้วยแมว หนังสือว่าด้วยอาหารหมักดอง เรื่อยเรียงไปจนถึงการแลกหนังสือ ฉายภาพยนตร์จากหนังสือ หรือแม้กระทั่งการรวมตัวกันมานั่งกินดื่มบำบัดทุกข์บำรุงสุขกันเฉยๆ โดยไม่เกี่ยวกับหนังสือเล่มใดเลยก็ยังได้

          “A Book With No Name ทำ Book Club ตั้งแต่ปีแรกที่เปิดร้านเลย ตอนนั้นเราไปอ่าน A Lovely History of SHAKESPEARE AND COMPANY มา (หนังสือว่าด้วยการทำร้านหนังสืออิสระ การทำร้าน Shakespeare and Company แห่งปารีส เขียนโดย รังสิมา ตันสกุล สำนักพิมพ์ Bookmoby Press – ผู้เรียบเรียง) เราก็รู้สึกว่าแบบนี้ไม่ค่อยมีในไทย ไม่ค่อยได้เห็น ตอนนั้นส่วนใหญ่จะเป็นงานเสวนาหนังสือในมหาวิทยาลัย หรือไม่ก็ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติมากกว่า แล้วก็เคยไป Book Club ที่ร้านหนังสือเดินทาง แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นวิชาการหน่อย แต่เราคิดว่าเรื่องแบบนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิชาการหรือนักเขียนนะ ใครๆ ก็แสดงความคิดเห็นตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องเชิญนักเขียนมาด้วยก็ได้ นักเขียนก็อาจจะชอบให้นักอ่านตีความกันเองในวงกว้างมากกว่าจะให้ตัวเองมาเฉลยว่าตอนเขียนคิดอะไร” งามแสนหลวง สิงห์เฉลิม หนึ่งในผู้ก่อตั้งร้าน A BOOK with NO NAME  เล่าจุดเริ่มต้นในการทำ Book Club ในร้านหนังสือให้เราฟัง

          “เวลาไปร้านหนังสือเดินทาง เรารู้สึกว่ามันจะมีนักอ่านที่จริงจังมากมาแนะนำ แล้วแต่ละคนความคิดก็ต่างกันไป เราเลยคิดว่าถ้าจัด Book Club ให้คนมาแชร์ความคิดเห็นที่แตกต่างกันไปมันก็น่าจะหลากหลายดี ครั้งแรกสุดร้านไม่ได้เป็นคนจัดเองด้วยซ้ำ แต่จะเป็นแพรวสำนักพิมพ์มาจัด มาคุยกันเรื่องแมวในวรรณกรรม แล้วก็จะมีนักเขียนมาด้วยหลายคน ผลตอบรับดีมาก คนเต็มร้านเลย หลังจากนั้นก็เลยเริ่มจัดเอง เลือกเล่ม ที่ใดมีความเศร้า (De Profundis) ของ ออสการ์ ไวลด์ มาจัด แล้วก็ตั้งชื่อชมรมเรากันเองว่า ชมรมคนลักหนังสือ stealbooktalk เหมือนว่ายืมหนังสือเพื่อนมาอ่าน ขโมยหนังสือเพื่อนมาอ่าน ก็มีเพื่อนอีกคนดูแลอยู่เป็นหลัก”

          “เราก็มีเชิญนักเขียนมาด้วยเหมือนกันนะ เชิญมาเป็น speaker นี่แหละ แต่เราไม่ให้เขาพูดถึงงานตัวเองเลย (หัวเราะ) เราก็เอาเรื่องอื่นแทน เช่น มีครั้งหนึ่งเราจัด Book Club หัวข้อ ‘คุณคิดว่าแมวรักใครเป็นไหม’ นักเขียนที่เขาซีเรียสเขาก็วิเคราะห์มาเต็มเลย เช่น แมวเป็นสัตว์ที่เฉื่อยชา มันมีนัยน์ตาเหมือนสัตว์เลื้อยคลานเลย แต่นักเขียนทาสแมวก็จะมาอีกแบบ สนุกมาก หลังๆ ชอบทำแบบนี้มากกว่า ไม่อยากให้นักเขียนมานั่งพูดถึงหนังสือตัวเองแล้ว เบื่อ เราอยากให้เขามาพูดมาฟังเรื่องอะไรกันก็ได้”

          “สุดท้าย Book Club ก็ให้ลูกค้าใหม่ๆ ที่เป็นลูกค้าดีๆ กับเรา พอเราเห็นคนเดิมๆ ซ้ำๆ ที่มาบ่อยๆ ก็จะเริ่มคุยกับเขา ว่าเป็นใครมาจากไหน คิดเห็นยังไงกับเรื่องที่คุย บางทีมันกลายเป็นกลุ่มบำบัดเลยก็มี มีคนที่มาเจอกันจนเป็นแฟนกันด้วยนะ บางคนจากลูกค้าก็กลายเป็นเพื่อน A BOOK with NO NAME เลย มาช่วยจัดงานตั้งแต่บ่าย มาช่วยทำโปสเตอร์ เรารู้สึกว่าเราประสบความสำเร็จมากเลยที่ได้สร้างคอมมูนิตี้แบบนี้”

          สิ่งหนึ่งที่พิสูจน์ว่า Book Club ในร้านหนังสืออิสระเป็นชุมชนที่แข็งแรง และเป็นกิจกรรมที่เหล่านักอ่านให้ความสนใจจริงๆ ไม่ใช่แค่การไปนั่งเล่นฆ่าเวลา ก็คือ Book Club ที่มีการจัดเก็บค่าเข้าร่วมงาน ซึ่ง A BOOK with NO NAME ได้ทดลองมาแล้วหลายหน

          “หลัง ๆ เราเริ่มมีการเก็บเงินค่าเข้า ถูกๆ 100 บาทอะไรแบบนี้ พอเราจัดงานบ่อยเข้ามันเริ่มจะไม่ใช่การนั่งคุยกันเรื่องหนังสือเพียวๆ แล้ว มันจะมีการฉายหนังที่เกี่ยวกับหนังสือก็มี แล้วก็มีดนตรีด้วยก็มี บางครั้งก็ขายหมดเลย บางครั้งก็คนหร็อมแหร็มนะ (หัวเราะ) แล้วแต่เรื่องด้วย เรารู้สึกว่าคนไทยเริ่มคุ้นกับกิจกรรมแบบนี้แล้ว เราก็เริ่มเก็บเงินเพื่อคัดกรองคนด้วย อยากหาคนที่มีเจตนาชัดเจนว่าจะมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพราะบางทีเราคุยกันเรื่องที่มันเซนซิทีฟ

          “มันไม่ถึงกับเป็นฐานรายได้ให้ร้านหรอกนะ ส่วนใหญ่เก็บนิดเดียว ขนาดมีฟรีโฟลว์เครื่องดื่มอาหารเรายังคิดแค่ 500 เอง การเก็บเงินมันทำให้ Book Club มีกิจกรรมหลากหลาย แล้วก็เป็นค่าเดินทางให้ Guest Speaker แค่นั้นเอง ชีวิตเขามีต้นทุนนะ เราก็อยากสนับสนุนเขาด้วย ร้านไม่ค่อยได้อะไรหรอก อีกอย่างหนึ่งคือเราเรียนรู้มาว่า ถ้ามีการประชาสัมพันธ์ก่อน มีการลงทะเบียนล่วงหน้า หรือกระทั่งมีการเก็บค่าเข้าคลับเล็กๆ น้อยๆ มันทำให้คนเตรียมตัวได้มากกว่า ล่าสุดมีคนนั่งรถมาจากโคราชเลย เพราะต่างจังหวัดก็ไม่ได้มีพื้นที่แบบนี้มาก”

โลกของ Book Club วัฒนธรรมรวมหัวของเหล่านักอ่านในวันวานและวันนี้
บรรยากาศ Book Club จากร้าน A Book With No Name
Photo: A BOOK with NO NAME

โลกของ Book Club วัฒนธรรมรวมหัวของเหล่านักอ่านในวันวานและวันนี้
Photo: A BOOK with NO NAME

          เมื่อพูดถึงพื้นที่การอ่านการเขียนในต่างจังหวัด หลายคนคงสงสัยเหมือนเราว่า นักอ่านนักเขียนมีอยู่จำนวนไม่น้อยทั่วประเทศ แต่เหตุใดพื้นที่ Book Club และร้านหนังสืออิสระจึงกระจุกตัวอยู่เพียงแต่เมืองหลวงและหัวเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่ ขอนแก่น หรือหาดใหญ่เท่านั้น โอกาสนี้เราจึงขอชวนร้านหนังสืออิสระเล็กๆ ในต่างจังหวัดอย่าง Swiftlet Bookshop & Coffee ร้านหนังสือนกนางแอ่น แห่งจังหวัดพัทลุง ซึ่งได้เริ่มจัด Book Club ในต่างจังหวัดมาร่วมแลกเปลี่ยนด้วย

          ร้านหนังสือนกนางแอ่นและเหล่านักอ่านเลือกหยิบทั้งหนังสืออย่าง ในสวนแปลกหน้า (In Fremdem Garden) โดย เพเทอร์ สตัม (Peter Stamm) และ ในปีที่ยี่สิบเจ็ดและเรื่องสั้นอื่น ๆ โดยนักเขียนชาวไทยอย่าง ชาคริต คำพิลานนท์ มาจัด Book Club ได้อย่างน่าสนุก

          ปรัชวิชญ์ บุญยะวันตัง เจ้าของร้าน Swiftlet Bookshop & Coffee เริ่มต้นจากการเป็นนักอ่านตัวยงเมื่อครั้งยังศึกษาอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย หลังจากได้ลงสนามทั้งในฐานะของนักอ่านและนักเขียน เขาเชื่อว่า Book Club เป็นพื้นที่ที่เปิดโลกให้กว้างขึ้น เมื่อตัดสินใจกลับบ้านเกิด เขาก็ได้เอาประสบการณ์แบบ Book Club ติดตัวไปด้วย

          “เราเคยจัด Book Club ตอนเรียนมหาวิทยาลัยมาด้วย ตอนนั้นคือด้วยความที่อยากเป็นนักเขียนล่ะมั้ง ก็สนใจเรื่องวรรณกรรม เราก็ไปยัดหนังสือใส่มือเพื่อน เหมือนบังคับกันหน่อยๆ หลังจากนั้นเราก็จะถกเถียงกันเรื่องเครียดๆ มันก็จะดูจริงจังกว่าที่จัดที่ร้านตอนนี้ คือพอมาทำร้านหนังสือก็เจอน้องๆ มัธยมที่เขาชอบอ่านอะไรคล้ายๆ กัน เราก็เลยลองชวนว่าลองอ่านเล่มนี้สิ เราอยากจัด Book Club หลังจากนั้นเขาก็เสนอมาว่าอยากคุยเล่มไหน มันเลยกลายเป็นการจัด Book Club เดือนละครั้งสองครั้ง  แต่ก็ไม่ได้ทำจริงจังมาก ไม่ได้ปิดร้านจัด จัดในเวลาที่เปิดร้านนี่แหละ แล้วก็ยังขายของปกติ มันก็เลยเป็น Book Club ที่แปลกอย่างหนึ่งคือ คนที่อ่านก็มาร่วม คนที่ยังไม่ได้อ่านเขาก็มาร่วม เวลาเขาเข้ามาในร้านเขาก็มานั่งฟังด้วย ไม่มีใครรู้สึกว่าเป็นคนนอก

           “ตอนนี้ที่ร้านจัดไปสองรอบแล้ว ก็สนุกนะ ถ้าอ่านอยู่คนเดียวเราก็มีบทสรุปที่เราพอใจ แต่พอมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ประเด็นก็กว้างขึ้น มันสอนให้เรารู้จักฟังด้วย เพราะนักอ่านบางทีเราก็มีความเชื่อว่าเล่มนี้มันควรเป็นแบบนี้แหละ แต่พอได้ฟัง ได้พูด มันก็เปิดให้เราได้ปรับเปลี่ยนความคิด ต่อให้ไม่เปลี่ยนเราก็ยังได้ฟัง ได้ทดเอาไว้ก่อน ตอนนี้มองว่าอยากให้มันเป็นงานอดิเรกของร้าน เลือกวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ช่วงบ่ายๆ ซัก 2-3 ชั่วโมงก็โอเคแล้ว ไม่ได้เบียดบังอะไรงานที่ร้านมากเลย

          “เราว่า Book Club ต่างจังหวัด มันคือการมาเจอกัน มาคุยกัน ครั้งแรกที่ร้านจัด นักเขียนเขาก็เอาของกินมาเยอะเลยนะ คนที่มาก็เอาขนมนมเนย เอาขนมพื้นบ้านมาเต็มเลย แล้วก็นั่งคุยกัน ไม่มีพิธีรีตอง เราเลยเห็นความพยายามที่จะทำให้ Book Club ไม่ใช่งานศักดิ์สิทธิ์อะไร คุยกันสบายๆ ซึ่งเราว่าดีนะ มันก็จะได้ฉีกไปจากเดิมว่า Book Club มันไม่ใช่แบบจำลองของงานเสวนาวรรณกรรม มันคือการมาจิบชา ดื่มกาแฟ แล้วก็มาคุยเรื่องหนังสือกัน แล้วบางทีก็ไม่ต้องมีพิธีกรเลยก็ได้”

          ความน่าสนใจของ Book Club เล็กๆ ในร้านหนังสือเล็กๆ เหล่านี้อยู่ที่ว่า บรรยากาศของ Book Club ในแต่ละครั้งล้วนเป็นการสนทนาแบบสองฝ่าย คือมีทั้งการพูดคุยและการรับฟังจากทุกคน ไม่ได้จำกัดว่าใครจะเป็นเจ้าของร้าน ใครจะเป็นนักอ่าน หรือใครจะเป็นนักเขียน โลกของ Book Club ในร้านหนังสืออิสระจึงเป็น Book Club ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลังไม่แพ้กับ Book Club ยอดนิยมระดับโลกเลยทีเดียว

โลกของ Book Club วัฒนธรรมรวมหัวของเหล่านักอ่านในวันวานและวันนี้
ภาพกิจกรรม Book Club ที่ร้าน Swiftlet Bookshop & Coffee
Photo: Swiftlet Bookshop & Coffee
โลกของ Book Club วัฒนธรรมรวมหัวของเหล่านักอ่านในวันวานและวันนี้
Photo: Swiftlet Bookshop & Coffee


ที่มา

บทความ “A History of Book Clubs in the U.S.” จาก bu.edu (Online)

บทความ “I’ve Got to Talk to Someone About This! A History of Book Clubs” bookriot.com (Online)

บทความ “The Best Book Clubs Throughout History” medium.com (Online)

บทความ “The Complete List of All 102 Books in Oprah’s Book Club” oprahdaily.com (Online)

บทความ “The History of Book of the Month Club” bookriot.com (Online)

บทความ “The unstoppable tradition of the book club” mprnews.org (Online)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก