รื้อสร้างทักษะใหม่ในโลกยุคพลิกผัน

2,752 views
10 mins
February 21, 2022

          สภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum (WEF) ได้จัดทำรายงาน Future of Jobs Report 2020 ระบุว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2568) จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ โดยมี 10 ตำแหน่งงานที่จะหายไป ซึ่งส่งผลกระทบกับประชากรราว 85 ล้านคนทั่วโลก แต่ก็มี 10 ตำแหน่งงานใหม่กำลังเป็นที่ต้องการ (เป็นแรงงานที่มีทักษะใหม่) อีกกว่า 97 ล้านคน ซึ่งแปลว่าภาคธุรกิจยังต้องการคนทำงานมากขึ้น แต่เป็นตำแหน่งงานใหม่ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี​เพิ่มขึ้น

10 อาชีพที่รุ่งเรืองและร่วงโรย ในปี 2025 (พ.ศ.2568)

          WEF ยังคาดการณ์ว่าอีก 5 ปีข้างหน้า สัดส่วนของระบบกลไกอัตโนมัติ (Automation) ในการทำงานจะเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีอยู่ราว 33% ของงาน กลายเป็น 47% ของงาน หมายความว่างานเดิมที่เคยใช้คนทำจะหายไป และทดแทนด้วย Automation ซึ่งไม่ใช่หมายถึงการทดแทนแรงงานคนด้วยหุ่นยนต์ (robot) ในการผลิตเท่านั้น แต่จะรวมถึงเทคโนโลยี​ที่เข้ามาทำงานแทนคนเพื่อลดขั้นตอน ลดเวลา ลดการตรวจสอบ ในการทำงานด้วย

สัดส่วนการใช้แรงงานมนุษย์กับเครื่องจักร

          ด้านสถาบันแมคคินซีย์โกลบอล (McKinsey Global Institute) สำรวจพบว่า 60% ของอาชีพในปัจจุบันมีการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในงานเชิงเทคนิคแล้วมากกว่าหนึ่งในสาม ในอนาคตจะมีคนจำนวนมากที่ต้องทำงานกับเครื่องจักรกล หุ่นยนต์ หรือระบบอัตโนมัติต่างๆ แรงงานที่มีทักษะเทคโนโลยีสูงจะได้เปรียบในการทำงาน ในขณะที่แรงงานที่มีทักษะเทคโนโลยีต่ำจะเผชิญแรงกดดันในการจ้างงานมากกว่า

          อย่างไรก็ดี เครื่องจักรและระบบอัตโนมัติมีส่วนกระตุ้นให้มนุษย์ออกจากระบบงานแบบดั้งเดิมหรือรูปแบบงานที่ซ้ำซากจำเจ และกระทบต่อคนทำงานที่มีลักษณะเป็นกิจวัตร (routine) แต่ยังมีการใช้ทักษะที่เหนือกว่าเครื่องจักรกลหรือปัญญาประดิษฐ์ เช่น ความสามารถในการตัดสินใจที่ซับซ้อน ความฉลาดทางสังคมในการสื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์อย่างลึกซึ้ง ความเข้าใจข้ามวัฒนธรรม ซึ่งทักษะเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่เครื่องจักรทดแทนไม่ได้

          ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ ทักษะที่เรียกว่า Hard Skill หรือที่เป็นความรู้ (Knowledge) ซึ่งมาจากการศึกษาเล่าเรียนฝึกอบรมแบบเดิมนั้นจะมีความสำคัญลดลง ยกเว้นเนื้อหาสาระวิชาใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง ขณะที่ทักษะแบบ Soft Skill และ Meta Skill ซึ่งเกิดจากการสั่งสมบ่มเพาะประสบการณ์ในการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนทัศนคติจนกลายเป็นพฤติกรรม กลับเป็นทักษะการทำงานซึ่งเป็นที่ต้องการมากขึ้น[1] ส่วนทักษะความรู้ที่ทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนคือ ทักษะที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการใช้เทคโนโลยีและทักษะการจัดการเชิงลึก รายงานการสำรวจกลุ่มผู้บริหารระดับสูงในองค์กรธุรกิจทั่วโลกเกี่ยวกับความต้องการแรงงานที่มีคุณลักษณะหรือทักษะแบบใดในอนาคตของ WEF พบแนวโน้มเช่นนี้อย่างชัดเจน

ทักษะจำเป็น 10 อันดับแรกซึ่งตลาดแรงงานมีความต้องการ

          WEF ประเมินว่า คนทำงานทั่วโลกประมาณครึ่งหนึ่งจะต้องสร้างทักษะใหม่ (reskill) เนื่องจากทักษะเดิมที่ต้องใช้ในการทำงานเปลี่ยนไปมากกว่า 40% คนทำงานทุกคนจำเป็นต้องแสวงหาความรู้และฝึกฝนทักษะการเรียนรู้ใหม่ๆ เพื่อพัฒนาตนเองให้สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลง

          ประเทศสิงคโปร์ เป็นหนึ่งในประเทศที่ให้ความสำคัญกับ reskill และ upskill2 ได้สร้างกลไกหรือมาตรการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม โดยริเริ่มโครงการ SkillsFuture Singapore (SSG) ภายใต้การกำกับดูแลของสภาเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต (The Future Economy Council : FEC) มีเป้าหมายเพื่อมุ่งสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพ (Smart Citizens) ส่งเสริมพัฒนาให้ประชาชนเกิดทักษะใหม่ที่จำเป็นสำหรับอนาคตและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้วยการใช้ Skill Future Credit เป็นเครื่องมืออุดช่องว่างทักษะอาชีพ (Skill Gap) เสมือนเงินให้เปล่าเพื่อให้ประชาชนเข้าคอร์สฝึกอบรมทักษะอาชีพที่สอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกและทิศทางการพัฒนาหลักของประเทศ

          วิธีการคือ ชาวสิงคโปร์ทุกคนที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป จะได้รับเครดิต 500 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อปี (ประมาณ 12,500 บาท) ซึ่งสะสมได้ 5 ปี เพื่อนำไปใช้เรียนในหลักสูตรที่รัฐสนับสนุนกว่า 26,000 หลักสูตร ทั้งจากมหาวิทยาลัยและองค์กรเอกชน หลักสูตรที่โดดเด่นคือหลักสูตรระยะสั้นที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมใหม่ หรือ Skill Future Series เน้น 8 หมวดหมู่ทักษะแห่งอนาคต คือ การวิเคราะห์ข้อมูล เทคโนโลยีการเงิน บริการด้านเทคโนโลยี สื่อดิจิทัล ความปลอดภัยทางทางไซเบอร์ การเป็นผู้ประกอบการ การผลิตขั้นสูง และการแก้ปัญหาเมืองใหญ่ ทั้งนี้ ข้อมูลระหว่างปี 2016-2019 มีผู้ใช้เครดิตไปแล้ว 533,000 คน

          กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ของไทย ได้พัฒนาแพลตฟอร์มที่มีชื่อคล้ายคลึงกับสิงคโปร์คือ Future Skill มีแนวคิดและรายละเอียดในการจูงใจพัฒนาทักษะคนด้วยเครื่องมือและกิจกรรมที่แทบจะเหมือนกับสิงคโปร์ จึงเชื่อได้ว่าทิศทางการส่งเสริมทักษะใหม่ของภาครัฐคงเลือกแนวทางในลักษณะของการสร้างสภาพแวดล้อมให้เกิดแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนทักษะ แต่สิ่งที่ยังมองเห็นไม่ชัดเท่าไรนักคือการบูรณาการยุทธศาสตร์และการทำงานร่วมกับกระทรวงหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงศึกษาธิการ

          นอกจากการขยับตัวของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ แล้ว ปรากฏการณ์ที่น่าจับตามองคือบทบาทของสถาบันอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัย ในฐานะที่เป็นแหล่งผลิตและป้อนแรงงานทักษะเข้าสู่ระบบ เมื่อครั้งเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 มหาวิทยาลัยไทยตอบรับต่อกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกาภิวัตน์ได้อย่างรวดเร็ว เปิดรับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นำมาปรับใช้ในการส่งเสริมคุณภาพการศึกษา การสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการและการวิจัย แต่แล้วในช่วงท้ายของทศวรรษที่สอง ราวกับไม่ทันตั้งตัว มหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศ จำนวนผู้ที่เข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สาเหตุหลักมาจากจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงมาโดยตลอดเฉลี่ยประมาณหนึ่งแสนคนทุก 1-2 ปี ขณะที่ผู้คนอายุยืนยาวขึ้น สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น สังคมไทยขยับเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างชัดเจน และประมาณการว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2564

          สิงคโปร์เป็นตัวอย่างที่ดีอีกเช่นกันในกรณีนี้ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของเอเชียและติดอันดับต้นๆ ของโลกได้ปรับบทบาทตัวเองให้เป็น ‘มหาวิทยาลัยสำหรับทุกช่วงวัยของชีวิต’ โดยศิษย์เก่าสามารถกลับมาเรียนฟรีเพื่อเพิ่มทักษะให้กับตัวเองได้ เป็นการอัปเกรดทักษะและความรู้ให้ทันสมัยตลอดเวลา เช่น ภายใน 3 ปีสามารถกลับเข้าไปเรียนเพิ่มทักษะได้ฟรี 2 โมดูล และหากสะสมคอร์สได้ตามที่กำหนดจนครบตามมาตรฐาน สามารถเปลี่ยนเป็นใบปริญญาเพิ่มได้อีกด้วย นอกจากนั้นยังออกแบบหลักสูตรการปรับทักษะความรู้สำหรับประชาชนทั่วไป จึงทำให้ลูกค้าของมหาวิทยาลัยเพิ่มจำนวนขึ้น เพราะมีทั้งลูกค้าเก่า (ศิษย์เก่า) และลูกค้าใหม่ (ประชาชน) หมุนเวียนเข้ามาใช้บริการตลอดเวลา

          ในการบรรยายที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจและอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ซึ่งติดตามและให้ความสนใจเรื่องการพัฒนาการศึกษาของไทย ได้กล่าวชี้นำกลายๆ ถึงบทบาทที่ควรจะเป็นของมหาวิทยาลัยในการตอบสนองต่อแรงกดดันจากความเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานว่า “มองไปข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงของลักษณะการทำงานและทักษะที่ต้องใช้ในการทำงาน ทำให้การฝึกฝนและพัฒนาความรู้และทักษะใหม่ๆ หรือ reskilling จะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากในอนาคต เรื่องนี้เป็นอีกมิติสำคัญที่ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในวงการศึกษาหรือในภาคธุรกิจต้องช่วยกัน เป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญเกินกว่าจะเป็นภาระขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง”

          อาจกล่าวได้ว่าในช่วงไม่เกิน 5 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยไทยกำลังปรับบทบาทตัวเองจากเดิม แม้จะดูเชื่องช้าแต่ก็มองเห็นความเปลี่ยนแปลงอยู่บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหันมาให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับบทบาทหน้าที่ reskill และ upskill แรงงานในระบบ โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือคนที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาไปแล้ว 5-10 ปี ที่จำเป็นต้องเพิ่มทักษะและความรู้ใหม่ ไปจนถึงผู้สูงวัยที่ยังสามารถทำงานได้

          ควรกล่าวไว้ด้วยว่า ทักษะแห่งอนาคตที่จำเป็นและการงานอาชีพในอนาคตสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับเทคโนโลยีดิจิทัล สถาบันแมคคินซีย์โกลบอลระบุว่า เทคโนโลยีดิจิทัลถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสืบค้นที่ช่วยคัดสรรคน (หรือทักษะ) ให้ตรงกับงาน ผ่านอัลกอริทึมคัดกรองซึ่งทำให้กระบวนการจ้างงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและมีผลต่อการลดอัตราการว่างงาน ในอีกด้านหนึ่ง แพลตฟอร์มดิจิทัลยังเอื้อให้เกิดผู้ประกอบอาชีพอิสระมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 15% คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณภายในเวลาไม่กี่ปี

          ในขณะที่ทั่วโลกต่างก็ตื่นตัวกับการเปลี่ยนแปลงของทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต และความสามารถในการปรับตัวไปสู่แรงงานทักษะใหม่ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าเยาวชนไทยซึ่งจะกลายเป็นพลังผลักดันการพัฒนาสังคมในอนาคตกลับมี Growth Mindset3 ต่อเรื่องของความรู้และทักษะค่อนข้างต่ำอย่างน่าตกใจ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวเพื่อเรียนรู้ทักษะใหม่ที่จำเป็นและฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยให้ต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น

ทัศนคติที่มีต่อการใช้ความรู้และทักษะการเรียนรู้ของเยาวชนไทยเปรียบเทียบกับอาเซียน

เชิงอรรถ

[1] ทักษะอนาคต 3 กลุ่ม แบ่งเป็น กลุ่มที่ 1 Hard Skill เช่น Product Management, Big Data Analysis, Lean Management กลุ่มที่ 2 Soft Skill เช่น Creativity, Critical Thinking and Problem Solving, Social Intelligence และกลุ่มที่ 3 Meta Skill เช่น Growth Mindset, Lifelong Learning Aspiration, Self-direction, Comfort with Change

[2] reskill หมายถึงการสร้างทักษะใหม่ที่ยังไม่เคยมี upskill หมายถึงการพัฒนาทักษะเดิมที่มีอยู่ให้ก้าวหน้ากว่าเดิม

[3] Growth Mindset คือ ความคิดหรือทัศนคติที่เชื่อว่าคนเราสามารถพัฒนาตัวเองขึ้นได้ผ่านการฝึกฝน เรียนรู้ ทำงานหนัก ทุ่มเทและมุ่งมั่นพยายามทำสิ่งใดก็ตามให้สำเร็จ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค และชอบสร้างโอกาส เป็นคนรักในการเรียนรู้ ไม่เชื่อว่าความรู้ที่มีอยู่เพียงพอหรือสามารถนำไปใช้ได้ตลอด สนใจและเปิดรับความรู้ใหม่ พร้อมปรับตัวหรือพัฒนาตนเองอยู่เสมอ


ที่มา

World Economic Forum. Future of Jobs Report 2018 เว็บไซต์ https://www.weforum.org

World Economic Forum. Future of Jobs Report 2020 เว็บไซต์https://www.weforum.org

McKinsey Global Institute. Technology, jobs, and the future of work.เว็บไซต์ https://www.mckinsey.com/

Skills Future Singapore เว็บไซต์ https://www.skillsfuture.sg

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล. ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ปฏิวัติธุรกิจ ปฏิรูปการศึกษา Business Transformation through Flagship Education” จัดโดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 5 เมษายน 2561 เว็บไซต์ https://thaipublica.org

อว.เปิดตัว ‘Future Skill x New Career Thailand’ รับมือโลกในศตวรรษที่ 21 อย่างยั่งยืน เว็บไซต์ https://www.matichon.co.th

Cover Photo : ThisisEngineering RAEng on Unsplash


พิมพ์รวมเล่มในหนังสือ TK Lifelong Learning Focus 01 (2564)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก