‘จงซูเก๋อ’ กลยุทธ์การปรับฟื้นตัวของร้านหนังสือจีน

1,345 views
8 mins
November 1, 2021

          เพดานกระจกสะท้อนภาพบันไดซิกแซกภายในร้านหนังสือจงซูเก๋อ สาขาเมืองฉงชิ่ง (Chongqing Zhongshuge) นั้นดูสวยงามและสร้างความพิศวงแก่ผู้มาเยือนราวกับฉากในภาพยนตร์ Inception ของผู้กำกับ Christopher Nolan ร้านหนังสือแห่งนี้เป็นหนึ่งในร้านที่ได้รับความนิยมและดึงดูดผู้มาเยือนจากทั่วทุกมุมโลก

          ในยุคที่โลกออนไลน์เข้ามาเบียดบังความนิยมของหนังสือเล่ม รวมถึงการไปเลือกซื้อหนังสือที่ร้านให้ลดน้อยถอยลง แต่กระแสความชื่นชอบ ‘หนังสือที่จับต้องได้’ ในประเทศจีนยังคงปรากฏให้เห็นอย่างแพร่หลาย ร้านหนังสือกลายเป็นสถานที่อเนกประสงค์ที่ดึงดูดใจ ใช้พบปะเพื่อนฝูง พูดคุยเสวนา หรือหลบมุมเงียบๆ ผ่อนคลายกับหนังสือสักเล่มและเครื่องดื่มถ้วยโปรด

          ยิ่งไปกว่านั้น ร้านหนังสือบางแห่งยังทำหน้าที่เป็นแลนด์มาร์กของเมือง มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านของชาติให้เข้มแข็ง นับเป็นธุรกิจที่มีทิศทางการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับการคาดการณ์ที่ร้านหนังสือเคยถูกมองว่าเป็นธุรกิจที่กำลังจะล่มสลาย

หันหลังให้อาชีพครู มุ่งสู่การสร้างร้านหนังสือที่สวยที่สุด

          จิน ห่าว (Jin Hao) เจ้าของร้านหนังสือจงซูเก๋อ และสำนักพิมพ์ในเซี่ยงไฮ้ เป็นอดีตคุณครูที่มุ่งหวังจะผลักดันให้เด็กๆ เติบโตอย่างมีความรู้แบบยั่งยืน แต่เมื่อพบว่าแนวทางการศึกษาในระบบโรงเรียนนั้นไม่ตอบโจทย์ จึงตัดสินใจลาออกจากการสอนหนังสือ และก่อตั้ง Shanghai Zhongshu Industry Co., Ltd. ขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1995 เพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ใหม่ๆ ในแบบที่เขาอยากเห็น

          ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ร้านหนังสือจงซูเก๋อสาขาแรกก็ได้ถือกำเนิดขึ้น ด้วยทุนจดทะเบียน 500,000 หยวน (ราว 2.5 ล้านบาท) โดยมีพนักงานเพียง 4 คน หลายคนอาจตั้งคำถามกับการหันหลังให้อาชีพที่มั่นคงและมีเกียรติ แต่ จิน ห่าว ไม่หวั่นไหว เขาลงมือทำตามความตั้งใจอย่างแน่วแน่ ภายใต้ปรัชญา “หาหนังสือดีๆ ให้นักอ่าน และหานักอ่านสำหรับหนังสือดีๆ”

          ด้วยอุดมการณ์อันแรงกล้า ทำให้ภายในปี 2010 ร้านหนังสือในเครือจงซูเก๋อขยายสาขากว่า 21 แห่งทั่วประเทศจีน แต่กระแสดิจิทัลที่ค่อยๆ คืบคลานเข้ามา ทำให้ร้านหนังสือเริ่มประสบปัญหา เนื่องด้วยรายจ่ายกับรายรับไม่สัมพันธ์กัน ผลกระทบดังกล่าวทำให้ในปี 2012 ร้านหนังสือจงซูเก๋อต้องปรับลดสาขาเหลือเพียง 13 แห่ง

          แทนที่จะยอมแพ้ จิน ห่าว เลือกเผชิญความท้าทายด้วยการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์จากร้านหนังสือธรรมดา ให้เป็น ‘ร้านหนังสือที่สวยที่สุด’ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ราวกับท่องอยู่ในบทกวีอันงดงาม

เบื้องหลังงานออกแบบสุดตระการตา

          ความคิดในการสร้างร้านหนังสือที่สวยที่สุดของ จิน ห่าว ถือเป็นโมเดลใหม่ของการทำธุรกิจร้านหนังสือให้ดึงดูดใจผู้บริโภค แต่การจะเนรมิตร้านหนังสือสุดตระการตาขึ้นมาได้ จำเป็นต้องอาศัยนักออกแบบที่มีฝีมือ จึงนำมาสู่การร่วมงานกับ ลี เซียง (Li xiang) เจ้าของและนักออกแบบแห่ง X+Living สตูดิโอออกแบบชื่อดังในเซี่ยงไฮ้

          แรงบันดาลใจของ จิน ห่าว เกิดขึ้นหลังจากได้เห็นรูปร้านหนังสือ Lello Bookstore ในประเทศโปรตุเกส ซึ่งเป็นร้านหนังสือที่เก่าแก่และสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เขากล่าวว่า “ถ้าร้านหนังสือของผมสวยงาม ก็อาจทำให้ผู้คนยอมพรากจากหน้าจอ และมาที่ร้านของผมแทน”

          ร้านหนังสือจงซูเก๋อในภาพลักษณ์ใหม่ เปิดตัวในเมืองใหญ่หลายแห่งของจีนตั้งแต่ ปี 2013 เป็นต้นมา เริ่มจากสาขาเทมส์ทาวน์ (Thames Town) ในเซี่ยงไฮ้ เปิดให้บริการในวันที่ 23 เมษายน 2013 ซึ่งตรงกับวันหนังสือและลิขสิทธิ์สากล (World Book and Copyright Day) โดยร้านแห่งนี้มีพื้นที่กว่า 1,600 ตารางเมตร เน้นการออกแบบภายในที่สวยงาม น่าตื่นตาตื่นใจ แบ่งพื้นที่เป็น 9 โซน รวบรวมหนังสือให้เลือกสรรหลายหมื่นเล่ม มีกาแฟและอาหารรสเลิศให้บริการ และกลายเป็นที่กล่าวถึงอย่างกว้างขวางในฐานะร้านหนังสือที่สวยที่สุดในประเทศจีน

          ในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี ร้านหนังสือแห่งนี้สามารถดึงดูดผู้เข้าชมมากว่า 1 ล้านคน และส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาที่เมืองนี้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ และเป็นต้นแบบการเปลี่ยนแปลงร้านหนังสือต่างๆ ในประเทศจีน

          อีกหนึ่งสาขาเป็นที่กล่าวถึงและได้รับความสนใจในวงกว้าง คือร้านหนังสือจงซูเก๋อ สาขาเมืองฉงชิ่ง (Chongqing Zhongshuge Bookstore) ตั้งอยู่ที่ชั้น 3 และ 4 ของอาคาร Zodi Plaza สร้างเสร็จเมื่อปี 2019 มีจุดเด่นคือพื้นที่ตรงกลางร้านเป็นโถงสูง 2 ชั้น รายล้อมด้วยชั้นหนังสือและบันไดที่พาดไปมาจากชั้นล่างจรดชั้นบน เมื่อผนวกเข้ากับเพดานกระจกเหนือศีรษะ จะเกิดเป็นภาพสะท้อนที่ทั้งแปลกตาและน่าพิศวง นอกจากช่วยให้พื้นที่ดูใหญ่เป็นสองเท่าของขนาดห้องจริงแล้ว ยังเป็นการสร้างบรรยากาศที่ชวนให้ผู้อ่านดำดิ่งสู่โลกของความคิดและจินตนาการ นอกจากพื้นที่โถงกลางสุดอลังการ ยังมีโซนที่ออกแบบชั้นหนังสือเป็นรูปทรงคล้ายโคมจีนโบราณ มีโซนหนังสือสำหรับเด็กที่คุมโทนสีชมพูสดใส และที่ขาดไม่ได้คือร้านกาแฟชั้นดีพร้อมที่นั่งสบายๆ

โถงบันได ร้านหนังสือจงซูเก๋อ สาขาเมืองฉงชิ่ง
Photo : Feng Shao
โซนหนังสือสำหรับเด็ก ร้านหนังสือจงซูเก๋อ สาขาเมืองฉงชิ่ง
Photo : Feng Shao

          ร้านจงซูเก๋อ ตูเจียงเอี้ยน (Dujiangyan) ที่เมืองเฉินตู (Dujiangyan Zhongshuge Bookstore) ที่สร้างเสร็จในปี 2020 เป็นอีกสาขาที่ได้รับการกล่าวขวัญด้านงานออกแบบ โดยมีแรงบันดาลใจจากประวัติศาสตร์ของระบบชลประทานตูเจียงเอี้ยน ซึ่งมีอายุมากกว่า 2,000 ปี พื้นที่โอ่โถงรายล้อมด้วยชั้นหนังสือที่ตั้งตระหง่านราวกับกำแพงโบราณ เว้นระยะด้วยช่องโค้งสลับซับซ้อน ปูพื้นด้วยวัสดุสีดำเงา มีโต๊ะจัดแสดงหนังสือรูปลักษณ์คล้ายเรือวางขั้นอยู่เป็นระยะ

          การเลือกใช้วัสดุและองค์ประกอบต่างๆ เสมือนการย้ายจิตวิญญาณอันงดงามของแม่น้ำและภูเขาเข้ามาอยู่ภายในร้าน สอดแทรกด้วยบริบทด้วยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่น ส่วนโซนหนังสือเด็ก ได้แรงบันดาลใจจากป่าไผ่และแพนด้า อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของเมืองเฉินตู มีหมอนอิงสีสันสดใสเรียงซ้อนกันเหมือนเนินเขา สร้างบรรยากาศการอ่านที่น่ารักและชวนฝันสำหรับเด็กๆ

ภายในร้านหนังสือจงซูเก๋อ ตูเจียงเอี้ยน
Photo : Feng Shao
ภายในร้านหนังสือจงซูเก๋อ ตูเจียงเอี้ยน
Photo : Feng Shao

          นอกจากร้านหนังสือจงซูเก๋อ 2 สาขาที่ยกตัวอย่างไป สาขาอื่นๆ ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เช่น สาชาที่เมืองปักกิ่ง (Beijing Zhongshuge Lafayette Store) ได้นำรูปแบบของประตูพระจันทร์ (Moon Gate) จากสวนจีนแบบคลาสสิคมาปรับใช้เพื่อสร้างบรรยากาศและจังหวะทางสถาปัตยกรรมที่งดงาม

          การออกแบบแต่ละสาขา แม้จะมาจากผลงานของ X-Living เหมือนกัน แต่ทุกสาขาล้วนมีความโดดเด่นเฉพาะตัว โดยมีจุดสำคัญร่วมกันคือการดึงเอาบริบทแวดล้อมของทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ เลือกใช้วัสดุที่ช่วยสร้างมุมมองแปลกตา คำนึงถึงความสะดวกสบายของผู้ใช้บริการ ที่สำคัญคือทุกสาขาจะมีโซนหนังสือสำหรับเด็กโดยเฉพาะ ทั้งหมดนั้นเพื่อรังสรรค์ให้ร้านหนังสือเป็นพื้นที่มหัศจรรย์สำหรับผู้คนทุกเพศทุกวัย

นิยามความสวยงาม 3 ประการ

          สำหรับ จิน ห่าว ความสวยงามของร้านหนังสือจงซูเก๋อ มีนิยาม 3 ประการ ความสวยแรก คือ ความสวยที่มองเห็น เขาจึงให้ความสำคัญกับการออกแบบและตกแต่งภายในให้มีรูปลักษณ์สวยงาม โดดเด่น และสะดุดตา

          ความสวยที่สอง คือ เนื้อหา เพราะแก่นของร้านหนังสือที่สำคัญที่สุด ก็คือ ‘หนังสือ’ เขายึดหลักว่าหนังสือที่ทางร้านคัดเลือกมา ต้องเป็นหนังสือที่ดีที่สุดของหมวดนั้นๆ โดยไม่อิงแค่กระแสนิยม มีทีมคัดเลือกหนังสือและผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ นอกจากนี้เขายังเปิดสอนหลักสูตรผู้ช่วยบรรณาธิการควบคู่กันไปด้วย เพื่อสร้างคนทำงานที่มีคุณภาพ ป้อนเข้าสู่เครือข่ายธุรกิจหนังสือของจงซูเก๋อ

          ความสวยงามสุดท้าย คือ การบริการที่สร้างความประทับใจแก่ลูกค้า โดยพนักงานจะมีหลักปฏิบัติง่ายๆ ว่า “รอยยิ้ม อ่อนโยน สุภาพ มืออาชีพ และอดทน”

          จากร้านหนังสือที่มีพนักงานเพียง 4 คน ปัจจุบัน Shanghai Zhongshu Industry Co., Ltd. กลายเป็นธุรกิจหนังสือที่มีพนักงานมากกว่า 500 คน มีเครือข่ายร้านหนังสือกระจายอยู่ตามเมืองต่างๆ ของจีนมากกว่า 21 แห่ง และยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง “ผมมีลูกสองคน คนหนึ่งคือ จิน จงชู (Jin Zhongshu) ลูกสาวของผม และอีกหนึ่งคือร้านหนังสือจงซูเก๋อ ผมปฏิบัติต่อร้านหนังสือเหมือนลูกของผมเอง คือคอยปลูกฝัง และเฝ้าดูการเติบโต” จิน ห่าว กล่าว

ไม่ใช่แค่ร้านหนังสือ แต่คือพื้นที่ทางวัฒนธรรม

          เป็นที่ทราบกันดีว่า ทุกวันนี้กระแสดิจิทัลเข้ามามีบทบาทกับชีวิตเราแทบทุกมิติ เช่นเดียวกับหลายธุรกิจที่ต้องปรับตัวตามยุคสมัย แน่นอนว่าร้านหนังสือแบบดั้งเดิม คือหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ ทั้งจากการถูกแทนที่ด้วยร้านหนังสือออนไลน์ รวมถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นในทุกด้าน ปัจจัยเหล่านี้เหมือนจะบ่งชี้ว่าธุรกิจร้านหนังสือกำลังมุ่งไปสู่ทางตัน

          แต่ความสำเร็จของร้านหนังสือจงซูเก๋อดังที่ไล่เรียงมา ได้ส่งแรงกระเพื่อมให้ร้านหนังสือหลายแห่งในประเทศจีนมองเห็นโอกาสในการปรับตัว ไม่เฉพาะการออกแบบรูปลักษณ์ภายนอกให้ดึงดูดใจมากขึ้นเท่านั้น แต่หลายแห่งเริ่มนิยามตัวเองใหม่ว่าเป็น ‘พื้นที่ชุมชนอเนกประสงค์’ มีบริการใหม่ๆ ที่ดึงดูดผู้คนให้มาใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟ การดึงธุรกิจค้าปลีกอื่นๆ เข้ามาผนวก รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านเป็นประจำ แทนที่จะเป็นเพียงร้านขายหนังสือเพียงอย่างเดียว

          แนวทางดังกล่าวดูจะประสบความสำเร็จไม่น้อย โดยก่อนหน้านี้รายงานจากบริษัทที่ปรึกษา Roland Berger ระบุว่าระหว่างปี 2002 – 2012 ร้านหนังสือเอกชนของจีนจะปิดตัวลงกว่าครึ่ง รวมถึงร้านหนังสือชื่อดังหลายร้าน กระทั่งระหว่างปี 2014-2017 ข้อมูลจากกัวไห่ ซิเคียวริตี้ (Guohai Securities) ระบุว่าอัตราการเติบโตของร้านหนังสือแบบมีหน้าร้าน เปลี่ยนจากติดลบเป็นบวก ขณะที่อัตราการเติบโตของร้านหนังสือออนไลน์ลดลงจาก 50% เป็น 28%

          ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือร้านหนังสือหยานจิโหย่ว (Yan Ji You) สาขาเฉินตู ที่มีการรีแบรนด์ใหม่ และปรับรูปแบบให้เป็นศูนย์วัฒนธรรมของเมือง ภายในเพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการที่ตอบโจทย์วิถีคนยุคใหม่ เช่น คาเฟ่ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร หอศิลป์ และเฟอร์นิเจอร์ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับการทำกิจกรรมของชุมชน การรีแบรนด์ของร้านหยานจิโหย่วประสบความสำเร็จอย่างมาก บริษัทมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับร้านหนังสือซิซิฟี (Sisyphe) ซึ่งถือเป็นคู่แข่งของร้านหนังสือหยานจิโหย่ว ก็ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน โดยเปิดสาขาใหม่ 83 สาขาในปี 2017 และขยายเพิ่มอีก 180 สาขาในปี 2018

          แนวโน้มอีกอย่างที่เริ่มแพร่หลายมากขึ้น คือการที่ร้านหนังสือจับมือกับธุรกิจความบันเทิงอื่นๆ เช่น ร้านหนังสือจงซูเก๋อ ร่วมกับ Taiyuan IF Center FAB Cinema สร้างโรงภาพยนตร์ไถ่ หยวน (Taiyuan FAB Cinema) เปิดตัวในปี 2021 โดยพื้นที่บริเวณชั้นจำหน่ายตั๋วถูกออกแบบให้เป็นร้านหนังสือ และยังคงเอกลักษณ์ในงานออกแบบอันเป็นเครื่องหมายการค้าของร้านจงซูเก๋อไว้อย่างครบถ้วน มีห้องบรรยายสำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับหนังสือและภาพยนตร์ และเมื่อชมภาพยนตร์จบ ผู้คนสามารถจิบเครื่องดื่มหรือตั้งวงสนทนากันต่อในคาเฟ่ของจงซูเก๋อได้ตามอัธยาศัย

          นอกจากนี้ เรายังเห็นกลยุทธ์ที่เน้นความร่วมมือกับชุมชน ทั้งจากร้านหนังสือชื่อดังและร้านหนังสือท้องถิ่น อาทิ การจัดนิทรรศการหนังสือร่วมกับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย กิจกรรมเสวนากับนักเขียน หรือการจัดสรรพื้นที่สำหรับวางจำหน่ายสินค้าจากชุมชน “ร้านหนังสือในปัจจุบันไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ขายหนังสืออีกต่อไป พวกเขาวางตัวเองเป็นคอมเพล็กซ์ทางวัฒนธรรมที่รวบรวมธุรกิจต่างๆ ไว้มากมาย” หลี่ จิ้งเจ๋อ (Lǐ Jìngzé) รองประธานสมาคมนักเขียนจีนกล่าว

โรงภาพยนตร์ไถ่ หยวน (Taiyuan FAB Cinema)
Photo : Feng Shao
โรงภาพยนตร์ไถ่ หยวน (Taiyuan FAB Cinema)
Photo : Feng Shao

ระบบที่เอื้อต่อธุรกิจร้านหนังสือและส่งเสริมนิเวศการอ่าน

          ปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมให้กิจการร้านหนังของประเทศจีนเข้มแข็ง คือนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรมของภาครัฐ ในปี 2012 เซี่ยงไฮ้เป็นเมืองแรกที่นำเสนอนโยบายเพื่อสนับสนุนและอุดหนุนร้านหนังสือแบบดั้งเดิม สองปีต่อมา ฝ่ายบริหารงานสื่อมวลชนและสิ่งพิมพ์ของรัฐ ออกมาตรการระดับประเทศเพื่อช่วยพัฒนาธุรกิจร้านหนังสือโดยเฉพาะ

          เมืองเฉิงตู ซึ่งมีร้านหนังสือและพื้นที่ส่งเสริมการอ่านกว่า 3,600 แห่ง มากกว่าในเมืองอื่นๆ ของจีน ก็มีเบื้องหลังจากการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งของรัฐบาลท้องถิ่น โดยมีกองทุนพิเศษที่ตั้งขึ้นในปี 2016 เพื่อสนับสนุนร้านหนังสือ ภายใต้วงเงินกว่า 7 ล้านหยวน โดยที่ร้านหนังสือเปิดใหม่จะได้รับเงินสนับสนุนสูงถึง 500,000 หยวน ได้รับการยกเว้นค่าเช่าร่วมกับมาตรการพิเศษอื่นๆ และมีการมอบรางวัลเพื่อส่งเสริมให้ร้านหนังสือจัดกิจกรรมหรือโครงการที่เป็นนวัตกรรมส่งเสริมการอ่าน

          ในปี 2018 เทศบาลปักกิ่งประกาศเพิ่มเงินทุนอุดหนุนร้านหนังสือ จาก 18 ล้านหยวน เป็น 50 ล้านหยวนต่อปี ขยายเวลายกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการซื้อขายหนังสือทั้งปลีกและส่ง เพื่อส่งเสริมการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยตั้งเป้าเพิ่มจำนวนร้านหนังสือในปักกิ่งเป็น 200 แห่งภายในปี 2020 ต่อมาเมื่อเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขึ้น เทศบาลปักกิ่งได้วางแผนจัดสรรเงินอุดหนุนกว่า 100 ล้านหยวน เพื่อช่วยเหลือร้านหนังสือที่ประสบปัญหาอีกด้วย

          “การระบาดครั้งนี้ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการมีโมเดลธุรกิจที่หลากหลาย” แดน เจีย (Dan Jie) ผู้บริหารร้านหนังสือในเครือหยานจิโหย่ว กล่าวถึงแนวโน้มที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 สอดคล้องกับการที่ร้านหนังสือส่วนใหญ่พยายามเพิ่มกลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอด

          ในกรณีของร้านจงซูเก๋อ สาขาเฉินตู ได้ร่วมมือกับเทศบาลและห้องสมุดของเมือง สร้างพื้นที่การอ่านแบบพิเศษขึ้นมา ซึ่งนอกจากจะอ่านได้ฟรีแล้ว ผู้คนยังสามารถยืมหนังสือและส่งคืนได้ในจุดที่กำหนดไว้ ควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมการอ่านและการขายร่วมกับธุรกิจอื่นๆ ในชุมชน ขณะที่ร้านหนังสืออีกหลายแห่ง เริ่มใช้นโยบายส่งเสริมการขายทางออนไลน์มากขึ้น โดยเน้นไปที่แพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์และธุรกิจส่งอาหาร (food delivery) ซึ่งกำลังเป็นที่นิยม

          หากพิจารณาในภาพใหญ่ ทิศทางของธุรกิจร้านหนังสือในจีนยังคงมีแนวโน้มเติบโต ข้อมูลจากรายงานที่เผยแพร่โดยสมาคมจำหน่ายหนังสือและวารสารแห่งประเทศจีน (BPDAC) ระบุว่าในปี 2020 ที่แม้จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ปรากฏว่ามีร้านหนังสือเปิดใหม่ถึง 4,061 แห่ง โดยตั้งอยู่ที่เมืองปักกิ่งถึง 649 ร้าน

          อย่างไรก็ดี การเติบโตของร้านหนังสือในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ด้านหนึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ที่ดึงดูดใจ เพื่อตอบสนองการถ่ายภาพสวยๆ ลงโซเชียล มากกว่าจะเป็นพื้นที่ที่ส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ แต่อีกด้านหนึ่งก็มีความเห็นที่สนับสนุนแนวทางดังกล่าวเช่นกัน เป็นต้นว่า

          “ตอนนี้เป็นยุคดิจิทัลแล้ว คุณจึงไม่สามารถคาดหวังให้ร้านหนังสือเป็นเหมือนเช่นในอดีตได้ ร้านหนังสือที่ประสบความสำเร็จต่างต้องปรับตัวทั้งสิ้น”

          “พวกเขาไม่ได้ขายเพียงแค่หนังสือให้คุณอีกต่อไปแล้ว แต่พวกเขาขายบรรยากาศทางวัฒนธรรม บรรยากาศทางปัญญา สภาพแวดล้อมในการอ่านหนังสือที่คุณไม่สามารถหาได้จากการซื้อหนังสือออนไลน์”

          ในฝั่งของผู้ประกอบการ เถา เว่ย (Tao Wei) ผู้รับผิดชอบเครือข่ายร้านหนังสือจงซูเก๋อในพื้นที่ฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มองว่า “ร้านหนังสือสามารถมอบประสบการณ์ใหม่ๆ ในสถานที่ที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งมันจะไม่มีวันถูกแทนที่” ขณะที่บางความเห็นในมุมของผู้บริโภคที่ชื่นชอบการมาร้านหนังสือ มองว่า “ร้านหนังสือเป็นส่วนสำคัญของเมือง และเป็นศูนย์รวมทางจิตวิญญาณ ฉันหวังว่าจะมีร้านหนังสือประเภทต่างๆ เพิ่มขึ้น”

          ความสำเร็จของธุรกิจร้านหนังสือในประเทศจีน เป็นหนึ่งในโมเดลที่น่าจับตามอง ความพยายามปรับตัวของภาคเอกชน เพื่อเอาตัวรอดในโลกธุรกิจที่มีความเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ผนวกกับนโยบายส่งเสริมวัฒนธรรมของรัฐ คือปัจจัยที่ทำให้ร้านหนังสือก้าวข้ามจากนิยามของสถานที่จำหน่ายหนังสือมาสู่พื้นที่อเนกประสงค์ทางปัญญา กระทั่งเป็นหมุดหมายสำคัญของเมืองที่หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับชุมชน เหนืออื่นใดคือการทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในวางรากฐานการอ่านให้พลเมืองของประเทศ


ที่มา

Archdaily. X+LIVING Interior Designers. [Online]

Beijing Review. Supporting Physical Bookstores: Beijing releases new measures to support physical bookstores. [Online]

Books+Publishing. Beijing government to invest millions to increase number of bookstores. [Online]

Chang Che. China’s brick-and-mortar bookstores are making a comeback. [Online]

Chen Meiling. Bookstores struggling in crowd-shy period. [Online]

FRAME. Thing I’ve Learned as a Witness to the Changing Chinese Market. [Online]

Kknews. Zhongshuge “Pavilion Master” Jin Hao: Turn the bookstore into a bookstore, the proportion of books accounted for 80%. [Online]

Nick Mafi. Step Inside the World’s Most Majestic Bookstore. [Online]

Shanghai Daily. Bookstores on the comeback trail. [Online]

Traneah Ford. China’s Chongqing Zhongshuge Bookstore Needs A Spot On Every Book Lover’s Bucket List. [Online]

X+LIVING. [Online]

Yang Jinghao, Luo Caiwen. Brick-and-mortar bookstores make a comeback in China. [Online]

Zhang Kun in Shanghai. Brick-and-mortar bookstores make a comeback in China. [Online]

Zhongshuge.  Like Jin Hao, the founder of the most beautiful bookstore “Zhongshuge” ! [Online]

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก