สายธารวรรณกรรมเยาวชนในสังคมไทย

1,619 views
9 mins
August 16, 2023

          ไม่ว่าคุณจะเป็นหนอนหนังสือหรือไม่ ประสบการณ์ในวัยเยาว์ของเราคงไม่ได้แตกต่างกันมากนัก

          ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของชีวิต เชื่อว่า…เราต่างเคยปล่อยใจล่องลอยไปกับการผจญภัยของตัวละครในหน้ากระดาษ ตื่นเต้นกับจักรวาลที่ไม่รู้จักผ่านตัวหนังสือ เรียนรู้โลกและมุมมองของผู้คน ร้องไห้ เจ็บปวด ซับน้ำตา เติบโตและเปลี่ยนผ่านไปพร้อมกับตัวละครที่คอยเอาใจช่วย

          ลุ้นไปกับการต่อสู้ด้วยไหวพริบของแฮร์รี่ พอตเตอร์กับสหาย ที่ต้องเผชิญหน้ากับสัตว์ประหลาดและสมุนของคนที่คุณก็รู้ว่าใครในดินแดนแห่งเวทมนตร์ เพิ่มความซับซ้อนในการมองโลกตามวันเวลาที่ผ่านไป พร้อมกับเด็กชายผู้มีแผลเป็นรูปสายฟ้าบนหน้าผาก

          ออกค้นหาดินแดนใหม่ เพื่อลงหลักปักฐาน ต่อสู้กับภัยธรรมชาติของฤดูหนาวอันแสนนานเพื่อรอพบกับดอกไม้บานและพืชพันธุ์อันอุดมสมบูรณ์ในฤดูร้อนไปพร้อมกับ ลอรา อิงกัลส์ และครอบครัว

          อมยิ้มให้กับบทสนทนาที่เรียบง่ายไร้เดียงสาระหว่างสุนัขจิ้งจอกกับ ‘เจ้าชายน้อย’ ที่เดินทางแวะเวียนมาเยี่ยมเยือน ‘ถ้าเธอเคยมาตอนบ่ายสี่โมง ประมาณบ่ายสามโมงฉันก็จะเริ่มมีความสุขแล้ว’

          แต่วันหนึ่ง…ความทรงจำเหล่านั้นก็ถูกนำไปเก็บไว้ในซอกหลืบ ในขณะที่เราใช้ชีวิตเพื่อเรียนหนังสือ ทำงาน แสวงหาปัจจัยสี่ ห้า หก มาดำรงชีพ แก้ไขปัญหาที่ต้องเผชิญในแต่ละวัน เช้าจรดเย็นเป็นไปด้วยความรีบเร่ง เกาะแน่นกับความเป็นจริงจนจินตนาการที่เคยมีเลือนหายไป

          เมื่อไหร่ก็ตามที่กลับไปอ่านหนังสือเล่มโปรดอีกครั้ง กล่องที่เก็บความทรงจำในวันเก่าก็จะเปิดขึ้นมา เราอาจหวนกลับมาหาหนังสือเล่มนั้นด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่าง บ้างเพื่อค้นหาตัวตนที่หล่นหายระหว่างการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ บ้างเพื่อค้นหาความหมายของชีวิตอีกครั้งในวันที่เป้าหมายเดิมเริ่มเลือนราง บ้างก็กลับมาอ่านพร้อมกับลูกหลานรอบกาย เพื่อที่จะเล่าให้เขาฟังว่าหนังสือเล่มนี้มันดีแค่ไหน เราก็คงพอจะรู้ว่า หนังสือเหล่านั้นยังให้ความสุขกับเราได้เสมอ ในแบบที่เคยเป็นมา…

วรรณกรรมเยาวชน ก่อร่างสร้างพื้นฐานจริยธรรมให้กับวัยเริ่มเรียนรู้

          เมื่อเอ่ยถึงวรรณกรรมเยาวชน เราย่อมนึกถึงหนังสือที่เป็นเหมือนเพื่อนของเด็กๆ เป็นแรงบันดาลใจ พื้นที่ปลอดภัย และโลกใบพิเศษที่ผู้เขียนสร้างให้เป็นของขวัญกับผู้อ่าน แต่เติ้ล ธัญโรจน์ โรจนธเนศ บรรณาธิการ นักแปลอิสระ และผู้ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์แซนด์วิช อดีตบรรณาธิการสำนักพิมพ์แพรวเยาวชน บอกเราว่ายังมีอีกหน้าที่หนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน

          “วรรณกรรมเยาวชน เป็นเหมือนวัคซีนหรือภูมิคุ้มกันชีวิตของเด็ก มันไม่ได้ออกฤทธิ์ทันทีที่ฉีดเข้าไป แต่จะค่อยๆ สะสม และกลายเป็นเกราะป้องกันชีวิตของเขาเมื่อถึงเวลาในอนาคต” เติ้ลกล่าวไว้ในช่วงหนึ่งของบทสนทนาอันออกรส

          “ตอนที่อ่านเขายังไม่รู้หรอก ว่าหนังสือพวกนั้นจะมีผลต่อตัวเขาอย่างไร เด็กไม่สามารถพบเจอประสบการณ์แบบผู้ใหญ่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างเรื่องความตาย เรื่องการบูลลี่ หนังสือแนะนำให้เขารู้จักกับมันก่อนถึงวัย เมื่อเวลาผ่านไป เขาโตขึ้น ประสบกับเหตุการณ์ในชีวิตซึ่งอาจจะเหมือนหรือไม่เหมือนกับในหนังสือ แต่หัวใจเขาก็จะแข็งแกร่งพอที่จะต่อสู้กับมันได้” และนี่คือการขยายความคำว่า ‘ภูมิคุ้มกัน’ ที่เติ้ลได้กล่าวถึง

          กล่าวดังนั้นก็คงจะไม่ผิด เพราะวรรณกรรมเยาวชนระดับโลกหลายเล่มสะท้อนสภาพสังคม ศาสนา เศรษฐกิจ และการเมืองในยุคที่ผู้เขียนใช้ชีวิตอยู่ อาจเป็นประเด็นที่พูดออกมาตรงๆ ไม่ได้ บ้างก็เป็นประสบการณ์ส่วนบุคคล บ้างเป็นประเด็นระดับพื้นที่ ระดับชาติ หรือระดับสากล การเข้าไปท่องโลกวรรณกรรมแล้วซึมซับเรื่องราวในนั้น ก็เหมือนกับทำความเข้าใจโลกแห่งความจริงไปในตัว

          นอกจากบทบาทด้านการเยียวยาและเสริมพลังให้จิตใจ ผู้มีประสบการณ์ในแวดวงหนังสือหลายท่านยังมองว่าวรรณกรรมเยาวชนคือพื้นที่สื่อสารประเด็นทางจริยธรรมแบบไม่เป็นทางการสำหรับวัยที่อยู่ตรงกลางระหว่างความเป็น ‘เด็กเล็ก’ กับ ‘วัยรุ่น’ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ระบบความคิดกำลังก่อตัว หนังสือที่อ่านจึงทำหน้าที่เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยหล่อหลอมจิตใจ และสร้างทัศนะด้านศีลธรรมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

          “เติ้ลเชื่อว่าวรรณกรรมเยาวชนจะพาเด็กให้เดินไปตามเส้นทางที่ถูกที่ควร เด็กที่โตมากับการอ่านจะไม่หลงทาง ถึงแม้ว่าหนังสือทุกเรื่องจะไม่ได้สอนจริยธรรมชัดเจนแบบ ‘นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…’ แต่มันมีผลต่อการเชปจิตใจของเขาแน่ๆ หนังสือจะสอนให้เขารู้จักเห็นอกเห็นใจ เข้าอกเข้าใจผู้อื่น มีความเมตตา เขาอาจจะไม่ได้โตมาเป็นคนใจดีนะ แต่อย่างน้อยก็จะมีหัวใจที่ดี…”

สายธารวรรณกรรมเยาวชนในสังคมไทย
เติ้ล – ธัญโรจน์ โรจนธเนศ
Photo: ธัญโรจน์ โรจนธเนศ

          อดไม่ได้ที่จะถามต่อว่า แล้วเด็กๆ จะได้อะไรจากวรรณกรรมที่ไม่ได้ดำเนินเรื่องด้วยความสุข แต่นำเสนอภาพสังคมที่โหดร้าย บิดเบี้ยว สะท้อนจิตใจอันยากจะหยั่งถึงของมนุษย์ และอาจไม่ได้จบลงที่ความสมหวังเสมอไป อย่างผลงานคลาสสิกแบบ ‘บันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์’ และ ‘เด็กชายในชุดนอนลายทาง’ ที่สะท้อนชะตากรรมของชาวยิวในระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

          ก่อนจะตอบคำถาม เติ้ลยกตัวอย่างวรรณกรรมเรื่อง ชีวิตมหัศจรรย์ของออกัสต์ (Wonder) ซึ่งกล่าวถึงเด็กชายคนหนึ่งที่เกิดมาพร้อมใบหน้าที่ผิดรูปผิดร่างจนต้องใส่หมวกอวกาศเวลาออกไปไหนมาไหน แล้วสรุปไว้อย่างน่าคิดว่า

          “ทั้ง 2 เรื่องนั้นก็คล้ายกับเรื่องชีวิตมหัศจรรย์ของออกัสต์ มันมีความโหดร้ายอยู่ในเรื่องนะ แต่มันก็มีเรื่องราวของความหวังแทรกอยู่ด้วย ตอนจบออกัสต์ไม่ได้หน้าตาดีขึ้น เพื่อนๆ บางกลุ่มก็ไม่ได้หยุดบูลลี่เขา แต่หนังสือก็เล่าว่าเขาไม่ได้โดดเดี่ยว ยังมีครอบครัว มีเพื่อนสนิทที่เข้าใจ และตัวเขาเองก็ไม่ได้ยอมแพ้ กลับยินดีที่จะออกไปต่อสู้ในโลกกว้างมากกว่าที่จะสร้างข้อจำกัดให้ตัวเอง

          ถึงแม้ว่าหน้าที่เด่นๆ ของวรรณกรรมเยาวชนคือเป็นเพื่อนที่คอยเติมเต็มความสุขให้กับเด็กๆ แต่หนังสือที่ดีก็ไม่จำเป็นต้องสนุกเท่านั้น มีเศร้าได้ โศกนาฏกรรมได้ จากลาได้ แต่ท้ายที่สุดแล้วหนังสือเหล่านั้นก็ยังส่งสารที่เหมือนๆ กันออกมา คือแสดงให้เห็นว่าโลกนี้ไม่ได้โหดร้ายไปทั้งหมด เขาไม่ได้โดดเดี่ยว ยังมีความหวัง หรือมีที่ยืนสำหรับคนบางกลุ่มไม่ว่าเขาจะต้องเจอกับอะไรก็ตาม”

สายธารวรรณกรรมเยาวชนในสังคมไทย
หนังสือ บันทึกลับของแอนน์ แฟร้งค์
Photo: สำนักพิมพ์ผีเสื้อ
สายธารวรรณกรรมเยาวชนในสังคมไทย
หนังสือ เด็กชายในชุดนอนลายทาง
Photo: Amarinbooks
สายธารวรรณกรรมเยาวชนในสังคมไทย
หนังสือ ชีวิตมหัศจรรย์ของออกัสต์
Photo: Amarinbooks

เสน่ห์วรรณกรรมเยาวชนแปล อ่านได้ไม่จำกัดพื้นที่และเวลา

          บทสนทนาระหว่างเราลื่นไหล ดุจล่องลอยไปแตะหนังสือเล่มนั้น เล่มนี้ จนแทบจะไม่รู้สึกถึงเวลาที่ล่วงผ่าน เมื่อเปิดประเด็นด้วยวรรณกรรมแปลเรื่องโปรดในวัยเด็ก การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในฐานะคนรักการอ่านในวัยเยาว์จึงเกิดขึ้น

          “เรื่อง ความสุขแห่งชีวิต (The Human Comedy เขียนโดย วิลเลียม ซาโรยัน) คือเรื่องโปรดของเติ้ล น่าจะเป็นเรื่องที่อ่านซ้ำบ่อยที่สุดแล้ว เกิน 10 รอบเลย ในความเล่าเรื่องไปเรื่อยๆ มันมีร่องรอยความอบอุ่นของครอบครัวที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบในช่วงสงคราม โลกไม่ได้สวยงามเลย แต่คนเขียนสามารถเขียนให้มันดูน่าอยู่ขึ้นมาก รองลงมาก็คือ วินนีเดอะพูห์ ที่ชอบก็เพราะรู้สึกว่ามัน ‘เรียล’ ไม่ว่าจะอ่านในช่วงไหนของชีวิตก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เรื่องสมมติ ในโลกนี้มีคนแบบพูห์ มีคนแบบพิกเลตที่ไม่ได้กล้าหาญอะไรแต่ก็พร้อมจะดันหลังเพื่อนเสมอ หรือแม้กระทั่งแบบอียอร์ ที่แม้จะอินโทรเวิร์ตสุดๆ แต่ก็มีจิตใจดีงาม พยายามช่วยเหลือคนอื่นๆ ในแบบของเขา”

          และเมื่อทราบว่าผู้เขียนชอบอ่านหนังสือชุดบ้านเล็ก ของลอรา อิงกัลส์ ไวล์เดอร์ เติ้ลก็ไม่ลังเลที่จะแลกเปลี่ยน “ชอบเหมือนกันค่ะ ชอบเล่ม ฤดูหนาวอันแสนนาน” ซึ่งบังเอิญเป็นหนังสือเล่มโปรดของผู้เขียนด้วยเช่นกัน แม้ว่าโชคชะตาและธรรมชาติในเรื่องนี้จะแสนโหดร้าย เหมือนความลำบากและอดอยากแร้นแค้นในฤดูหนาวจะทอดยาวไม่มีวันสิ้นสุด แต่น้ำใจระหว่างคนในชุมชน ความช่วยเหลือเกื้อกูล ห่วงใย เสียสละ และพยายามแก้ปัญหาภายใต้ข้อจำกัด กลับทำให้รู้สึกว่ามีความหวังเรืองรองอยู่ปลายฤดูหนาวอันแสนมืดมิด

          หนังสือทำให้นักอ่านที่ใจตรงกันพูดคุยได้ไม่รู้จบ ไม่ใช่เพียงบทสนทนาของเราในครั้งนี้เท่านั้น แต่วรรณกรรมเยาวชนยังทำหน้าที่เป็นภาษาสากลที่ทลายกำแพงวัฒนธรรม ช่วยบุกเบิกสร้างมิตรภาพข้ามพรมแดนได้ในหลายบริบท ไม่ว่าจะเป็นคนชาติไหน พื้นฐานความเชื่อเป็นอย่างไร ทุกคนสามารถสนุกไปกับเรื่องราวในหนังสือได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงความเหมือนหรือความต่าง ท่องไปในดินแดนประหลาด ปราสาทหลังใหญ่ริมทะเลสาบที่ตั้งของโรงเรียนเวทมนตร์ฮอกวอตส์ อาณาจักรที่เต็มไปด้วยสัตว์พูดได้แบบนาร์เนีย หรือมิดเดิลเอิร์ธถิ่นที่อยู่ของเอลฟ์ มนุษย์ และฮอบบิต

          ในโลกออนไลน์ คอมมูนิตี้ของแฟนวรรณกรรมแปลหลายเรื่องเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เป็นชุมชนที่เพื่อนนักอ่านจากหลายประเทศทั่วโลกมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างออกรสเกี่ยวกับหนังสือเล่มโปรด ในโลกออฟไลน์ การสร้างมิตรภาพระหว่างบุคคลก็อาจเกิดได้ง่ายขึ้นด้วยความรักในสิ่งเดียวกัน ภาพที่ผู้เขียนประทับใจจนไม่ลืม คือกิจกรรมที่ปราสาทอัลนิค (Alnwick) ในเขตนอร์ทธัมเบรีย ตอนเหนือของสหราชอาณาจักร หนึ่งในสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง แฮร์รี่ พอตเตอร์ นักท่องเที่ยวซึ่งเป็นแฟนหนังสือและแฟนภาพยนตร์หลากเชื้อชาติต่างล้อมวงร่วมกิจกรรมที่ทางปราสาทจัดขึ้นอย่างตั้งอกตั้งใจ มีเจ้าหน้าที่ซึ่งแต่งตัวเป็นตัวละครแฮร์รี่และแฮกริดคอยดำเนินกิจกรรม บนใบหน้าของทุกคนมีแต่รอยยิ้ม ต่างคนต่างพูดคุยกันสนิทสนมราวกับเป็นมิตรสหายมาเนิ่นนาน แม้วัฒนธรรมต่าง…แต่นักอ่านกลับรู้สึกว่าพวกเราล้วนมาจากจักรวาลเดียวกัน

สายธารวรรณกรรมเยาวชนในสังคมไทย
การรวมตัวของแฟนหนังสือและแฟนภาพยนตร์เรื่อง แฮร์รี่ พอตเตอร์ โดยมีเจ้าหน้าที่แต่งตัวเป็นแฮร์รี่และแฮกริดคอยดำเนินกิจกรรม ณ ปราสาทอัลนิค

          เสน่ห์อีกประการของวรรณกรรมเยาวขนคือ อ่านได้ไม่จำกัดเวลา ไม่จำกัดช่วงวัย วรรณกรรมจะพาเรากลับไปค้นหาตัวตนในวัยเยาว์ ทบทวนอีกครั้งว่าตอนนั้นเรามองโลกแบบไหน วันนี้เมื่อมองผ่านเลนส์เดิม หนังสือเล่มเดิม เรามองโลกต่างออกไปหรือไม่

          “วรรณกรรมเยาวชนเป็นอะไรที่ใครๆ ก็อ่านได้ ผู้อ่านมีทุกช่วงวัยไม่ว่าจะ เด็ก วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราย้อนกลับมาอ่านอีกครั้งก็เหมือนย้อนกลับไปเจอกับตัวเองในอดีต มันคือความรู้สึกหวนหาวันวาน (Nostalgia)”

          วรรณกรรมเยาวชนมีลักษณะพิเศษ คือตีความได้หลายระดับ เมื่อยังเป็นเด็ก สารที่ได้อาจตรงไปตรงมาตามตัวหนังสือ หากเมื่อย้อนกลับมาอ่านอีกครั้งเมื่อเข้าใจสภาวะของโลกมากขึ้น ก็จะเริ่มเข้าใจสารที่แทรกไว้ระหว่างบรรทัดและสัมผัสได้ถึงความลุ่มลึกของงานเขียน เมื่อเราถามว่า มุมมองที่มีต่อวรรณกรรมเมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษาเอกวิชาวรรณกรรมเยาวชน เทียบกับในวันนี้ที่เติ้ลทำหน้าที่บรรณาธิการมานานหลายปี แตกต่างกันหรือไม่ เติ้ลบอกว่า…

          “ต่างค่ะ ตอนเด็กๆ ก็ไม่คิดว่าวรรณกรรมจะมีผลกระทบต่อชีวิต รู้ว่ามันสนุก ให้ความบันเทิง จนกระทั่งโตขึ้นมาเราถึงรู้ว่ามันส่งผลต่อความคิด ทัศนคติ ต่อความเป็นตัวเราได้ขนาดนี้”

          แต่กระนั้นก็ดี มีหนังสือบางเล่มที่เติ้ลคิดว่าอ่านตอนไหนมุมมองก็ไม่เคยเปลี่ยนจนต้องยกให้เป็น ‘ออลไทม์คลาสสิก’ ในใจเธอ

          “วินนีเดอะพูห์ ไม่ว่าจะอ่านในช่วงวัยไหน เวลาไหน พูห์กับเพื่อนๆ ก็ยังเป็นแบบเดิมเสมอ นี่ก็เกือบร้อยปีแล้วที่วรรณกรรมเรื่องนี้ถูกเขียนขึ้นมา แต่เราก็ยังพบเจอคนแบบนี้ได้ในสังคม ส่วนนักเขียนออลไทม์คลาสสิก ขอยกให้กับ โรอัลด์ ดาห์ล เราไม่เคยมองว่าเขาเป็นผู้ใหญ่เลย รู้สึกเหมือนเขาอยู่เคียงข้างเด็กเสมอ เขาสื่อสารได้แบบตรงไปตรงมาเหมือนเป็นเพื่อนของเด็ก ตัวละครในเรื่องคนไหนร้าย ก็เขียนให้เห็นชัดๆ ไปเลยว่าร้าย ใครจะแก้แค้นก็แก้แค้นให้เห็นเลยตรงนั้น ไม่มีเล่ห์กลอะไร ชัดเจนในสารที่ต้องการจะสื่อเหมือนมุมมองของเด็ก แล้วก็ตอบโจทย์ทุกข้อของวรรณกรรมเยาวชนเลย คือ สนุก บันเทิง ตื่นเต้น ให้บทเรียนทั้งกับเด็ก และผู้ใหญ่”

กว่าครึ่งศตวรรษของวรรณกรรมเยาวชนแปลในประเทศไทย

          บนเส้นทางวรรณกรรมเยาวชน มีผลงานของนักเขียนไทยซึ่งเป็นที่นิยมอยู่หลายเล่ม เช่น ผีเสื้อและดอกไม้ ทุ่งหญ้าสีน้ำเงิน แก้วจอมแก่น เรื่องของม่าเหมี่ยว ความสุขของกะทิ แต่หากมองในภาพรวมก็ต้องยอมรับว่าภาพของหนังสือแปลจากต่างประเทศนั้นเด่นชัดและสร้างความคึกคักให้กับวงการหนังสือมากกว่า

          “หนังสือวรรณกรรมเยาวชนแปลในยุคแรกๆ เห็นจะเป็นกลุ่มหนังสืออ่านนอกเวลาของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช” หลังจากครุ่นคิดอยู่อึดใจหนึ่ง เติ้ลก็ตอบคำถามเกี่ยวกับยุคบุกเบิกของวรรณกรรมเยาวชนแปลที่ เจ้าตัวแอบกระซิบว่า ค่อนข้างจะตอบยากแต่ก็จะพยายามเล่าเท่าที่พอจะจำได้

          วรรณกรรมที่ไทยวัฒนาพานิชเลือกมาแปลมีหลายเล่ม เช่น ด็อกเตอร์ดูลิตเติ้ล เรื่องราวของคุณหมอที่สามารถสื่อสารกับสัตว์นานาชนิด เจ้าชายน้อย แมงมุมเพื่อนรัก มิตรภาพอันงดงามระหว่างเจ้าหมูน้อยและสหายแมงมุมที่พยายามปกป้องชีวิตของเพื่อนรักเอาไว้ และ การผจญภัยของทอม ซอว์เยอร์ ที่พานักอ่านผจญภัย ไขปัญหาคดีฆาตกรรม และล่าขุมทรัพย์ปริศนาไปพร้อมกับเด็กแสบสามคน นอกจากนี้ก็มีงานแปลที่ลงในนิตยสารชัยพฤกษ์ และชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์

          ในยุคนั้นยังมีงานแปลสุดคลาสสิก ชุด บ้านเล็ก ของลอรา อิงกัลส์ ไวล์เดอร์ ฉบับที่แปลโดย สุคนธรส (สำนักพิมพ์รวมสาส์น) ซึ่งเป็นที่นิยมในวงกว้างด้วยเช่นกัน

          ในช่วงพ.ศ. 2520 ปลายๆ จนถึง 2530 ต้นๆ สำนักพิมพ์ต่างๆ หันมาตีพิมพ์วรรณกรรมเยาวชนแปลกันมากขึ้น สำนักพิมพ์ดอกหญ้าหยิบผลงานคลาสสิกหลายเล่มมานำเสนอ อาทิ นิทานทางโทรศัพท์ พิน็อกคิโอ สำนักพิมพ์อื่นๆ ที่เริ่มให้ความสนใจวรรณกรรมแปลก็เพิ่มจำนวนขึ้น เช่น สำนักพิมพ์ต้นหมาก (ในเครือดวงกมล) สำนักพิมพ์เม็ดทราย สำนักพิมพ์ปราสาททราย

          สำนักพิมพ์ที่เติ้ลบอกว่า ไม่กล่าวถึงคงจะไม่ได้ คือ สำนักพิมพ์เรจีนา ซึ่งตีพิมพ์วรรณกรรมเยาวชนแปลหลากหลาย ครอบคลุมทั้งภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน รูปลักษณ์โดดเด่นด้วยปกขาวสะดุดตานักอ่าน ตัวอย่างหนังสือแปลในยุคนั้น เช่น ปิ๊ปปี้ (Pippi Longstocking)  ปีเตอร์แพน และเจ้าหญิงน้อย

          ช่วงเวลาต่อมาสำนักพิมพ์ผีเสื้อ เริ่มเข้ามามีบทบาทในการเติมความหลากหลายให้แวดวงวรรณกรรม มีผลงานคลาสสิกขึ้นหิ้งหลายเรื่อง เช่น วรรณกรรมของโรอัลด์ ดาห์ล ตำนานแห่งนาร์เนีย แมรี่ ป๊อปปิ้นส์ และยังมีการนำวรรณกรรมเยาวชนญี่ปุ่นมาแปลและตีพิมพ์อีกด้วย เช่น สมุดพกคุณครู

สายธารวรรณกรรมเยาวชนในสังคมไทย
ตำนานแห่งนาร์เนีย ตัวอย่างวรรณกรรมเยาวชนแปลชุด จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ผีเสื้อ
Photo: สำนักพิมพ์ผีเสื้อ

          ในปี 2537 สำนักพิมพ์แพรวเยาวชนก่อตั้งขึ้น พร้อมนำเสนอผลงานที่หลากหลาย มีทั้งแบบคลาสสิกและร่วมสมัย จากอดีตจนถึงปัจจุบัน แพรวเยาวชนตีพิมพ์วรรณกรรมเยาวชนมาแล้วหลายร้อยเล่ม เช่น โมโม่ ฟ้ากว้างทางไกล แล้วเราก็เป็นเพื่อนกัน บรัดเลย์ เด็กเกเรหลังห้องเรียน ในยุคที่เติ้ลเป็นบรรณาธิการเองก็มีผลงานดีๆ อยู่หลายเล่ม เช่น ชีวิตมหัศจรรย์ของออกัสต์ ปลาบนต้นไม้ เรื่องรักขนาดใหญ่ของเด็กชายตัวเล็ก

สายธารวรรณกรรมเยาวชนในสังคมไทย
โมโม่ ตัวอย่างวรรณกรรมแปล ตีพิมพ์โดย สำนักพิมพ์แพรวเยาวชน
Photo: Amarinbooks

          แต่ช่วงเวลาสำคัญหรือ ‘Turning Point’ ในมุมมองของเติ้ล คือช่วงที่เรื่องราวของพ่อมดน้อย แฮร์รี่ พอตเตอร์ ถูกตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์นานมี อาจจะเรียกได้ว่าเป็นยุคทองอีกช่วงเลยก็ว่าได้ เติ้ลเล่าให้เราฟังถึงอิทธิพลของวรรณกรรมแปลชุดนี้ที่มีต่อวงการหนังสือ

          “ก่อนหน้านี้วรรณกรรมเยาวชนก็ทยอยออกมาเรื่อยๆ แต่หลังจากแฮร์รี่เข้ามา มันมีผลต่อวงการหนังสือทั่วโลกจริงๆ ไม่ได้มีผลกับแค่วรรณกรรมเยาวชนเท่านั้น คนหันมาสนใจหนังสือกันมากขึ้น เป็นการเปิดประตูให้งานแฟนตาซีเรื่องอื่นๆ ได้เข้ามาอีกมาก อย่างนาร์เนีย หรือ เพอร์ซี แจ็คสัน หลายเรื่องถูกเขียนเอาไว้นานแล้วแต่ก็เพิ่งได้รับความสนใจหลังจากแฮร์รี่เปิดตัว”

          แล้วเติ้ลก็ทิ้งท้ายเอาไว้ “คึกคักกันอยู่นาน ไม่ได้เป็นกระแสที่มาเร็วไปเร็ว นักเขียนไทยก็หันมาเขียนวรรณกรรมเยาวชนกันมากขึ้น มีรางวัลสำหรับหนังสือประเภทนี้ด้วย เช่น รางวัลแว่นแก้ว รางวัลนายอินทร์อวอร์ด มีผลงานดีๆ ส่งเข้ามาหลายเรื่อง”

          ฟังจากน้ำเสียงแล้ว ก็พอจะสัมผัสได้ว่ามีความเสียดายและหวนหาเจืออยู่ในนั้น ไม่มีงานเลี้ยงใดที่ไม่เลิกรา เพราะเมื่อเราถามว่า แล้วในปัจจุบันตลาดวรรณกรรมเยาวชนแปลเป็นอย่างไร เติ้ลตอบกลับมาสั้นๆ ชวนใจหาย

          “เงียบเหงาเชียว….”

สายธารวรรณกรรมเยาวชนในสังคมไทย
วรรณกรรมเยาวชนแปล แฮร์รี่ พอตเตอร์ หนังสือชุดซึ่งเข้ามามีผลต่อวงการหนังสือทั่วโลก สำหรับประเทศไทยจัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์นานมี
Photo: นานมีบุ๊คส์

ปัจจุบันและอนาคตของวรรณกรรมเยาวชน

          เมื่อถามถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดวรรณกรรมเยาวชนแปลที่เคยคึกคักจนหลายครั้งเกิดศึกชิงลิขสิทธิ์ซบเซาลง เติ้ลบอกว่าอาจเป็นส่วนผสมของ ลูกค้าวรรณกรรมเยาวชนถูกแบ่งไปให้หนังสือประเภทอื่น และความเงียบเหงาของวงการหนังสือในภาพรวม

          “หลังจากแฮร์รี่ พอตเตอร์ได้สร้างปรากฏการณ์อยู่พักใหญ่ๆ ตลาดหนังสือก็เงียบลงไป เมื่อวรรณกรรมเยาวชนขายยากขึ้น ก็ไม่ค่อยมีสำนักพิมพ์เลือกมาแปลสักเท่าไหร่ ในต่างประเทศมีผลงานดีๆ ออกมาอยู่นะคะ แต่วรรณกรรมเยาวชนที่ตีพิมพ์กันในประเทศช่วงหลังๆ ก็มักจะเป็นงานเก่า งานคลาสสิก ถ้าอยากอ่านงานใหม่ๆ แฟนๆ ก็จะใช้วิธีสั่งทางออนไลน์ หรือผ่านร้านหนังสือแทน”

          ความคิดเห็นของเติ้ลคล้ายกับเพื่อนร่วมวงการหนังสือท่านอื่นๆ อยู่ไม่น้อย ในปัจจุบันหนังสือแปลสายญี่ปุ่น เกาหลี เป็นที่สนใจต่อนักอ่านมากขึ้น โดยส่วนมากเป็นนวนิยายสำหรับวัยรุ่นหรือวัยทำงานที่เรียกว่า ไลท์โนเวล (Light Novel) ซึ่งแปลตรงตัวได้ว่า นวนิยายที่อ่านง่าย เบาสบาย

          การเปลี่ยนแปลงเทรนด์ มีผลต่ออุปสงค์และอุปทานการตีพิมพ์หนังสือในประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะกลุ่มเด็กวัยประถม มัธยม ซึ่งเคยเป็นแฟนตัวยงของวรรณกรรมเยาวชนก็หันมาอ่านหนังสือแนวนี้ด้วยเช่นกัน สำนักพิมพ์ต่างๆ จึงพยายามคิดแผนการตลาดที่น่าจะดึงดูดใจกลุ่มเป้าหมาย ทั้งออกแบบปกให้สวยงามน่าซื้อหามาเก็บไว้ และผลิตของที่ระลึกที่นักสะสมเรียกว่า ‘พรีเมียม กิฟต์’ เพื่อเป็นแรงจูงใจนักอ่านสายสะสม

          เมื่อถามเติ้ลว่า ไลท์โนเวลทำหน้าที่ได้เหมือนวรรณกรรมเยาวชนหรือไม่ เติ้ลนิ่งคิดสักพักก่อนที่จะตอบว่า “บทบาทของหนังสือทั้งสองประเภทนี้ ไม่เหมือนกันสักเท่าไหร่ โดยส่วนมากวรรณกรรมเยาวชนคือการดำเนินไปของโลกทั้งใบ แต่ไลท์โนเวลเป็นเรื่องราวเสี้ยวหนึ่งของชีวิต”

          เช่นกันกับความคิดเห็นของผู้ใหญ่ในวงการหลายท่าน ที่มองว่าโจทย์หลักของไลท์โนเวลคือการบอกเล่าประเด็นของ ‘ปัจเจก’ ไม่ว่าจะเป็นความเปลี่ยวเหงา หรือปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ ซึ่งแตกต่างจากวรรณกรรมเยาวชนในยุคก่อนที่มุ่งเน้นแทรกประเด็นทางจริยธรรมและนำเสนอประเด็นทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ในภาพใหญ่

          นอกจากนี้ ยังมีนิยายวายและงานเขียนในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีส่วนในการดึงดูดนักอ่านให้หันไปทดลองอ่านด้วยเช่นกัน เมื่อถามว่าในฐานะที่เคยคุ้นกับวงการวรรณกรรมเยาวชนมาเนิ่นนาน เติ้ลมองภาพรวมการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร เติ้ลถอนใจเบาๆ ก่อนจะตอบกลับมาด้วยแววตาที่ยังมีประกาย

          “แม้จะเงียบเหงา แต่มันก็ยังมีความหวังนะ ดีมานด์ยังมีอยู่แน่ๆ เพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หนังสือภาพหรือนิทานเด็กบูมมาก ตอนนี้เรามีนักอ่านอายุ 7-8 ขวบ รออยู่เป็นจำนวนมาก เขาถึงวัยที่พร้อมจะอ่านวรรณกรรมเยาวชนแล้ว ตอนนี้ก็อยู่ที่ว่าใครจะหันมาจับตลาดนี้ ถ้าสนใจ เลือกงานใหม่ๆ มาแปลและตีพิมพ์ วงการวรรณกรรมเยาวชนก็อาจจะกลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง”

          ผู้เกี่ยวข้องหลายคนมองว่านี่คือพลวัตของวงการหนังสือ เพราะนักอ่านให้ความสำคัญกับการดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบัน วิถีคนเมืองที่เปลี่ยวดาย การต่อสู้กับสภาวะความขัดแย้งในจิตใจ และการผูกสัมพันธ์กับคนรอบข้าง มากกว่าการเผชิญหน้ากับความโหดร้ายของโลกภายนอก สงคราม และการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างเชื้อชาติหรือชนชั้นแบบในยุคก่อนๆ ที่วรรณกรรมคลาสสิกถูกเขียนขึ้นมา การเลือกผลงานมาตีพิมพ์จึงต้องสนองตอบโจทย์ของนักอ่านที่เปลี่ยนแปลงไป ไลท์โนเวลกลายมาเป็นหนังสือประเภทยอดนิยมติดชาร์ตห้องสมุดหลายแห่ง รวมถึงร้านหนังสือหลายๆ ร้านด้วย

          หากต้องการให้วรรณกรรมเยาวชนมีอนาคตที่สดใสต่อไป อาจต้องส่งเสริมการอ่านให้คึกคักทั้งระบบ รวมถึงปัจจัยเรื่องราคาของหนังสือ ที่เอื้อให้ผู้ผลิต ผู้อ่าน ได้รับประโยชน์สูงสุด ไม่มีใครต้องซื้อหนังสือที่แพงเกินไป แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่เฉือนเลือดเนื้อในการผลิตเพื่อให้ธุรกิจคงอยู่ได้ สำหรับวรรณกรรมเยาวชนนั้น ตลาดอาจจะไม่เติบโตแต่ก็ยังไม่ตาย เพราะยังมีลูกค้าหน้าเก่า ใหม่ แวะเวียนมาอุดหนุนเสมอ

          ส่วนเติ้ลนั้นเชื่อว่า “มันน่าจะเป็นเรื่องที่ทำได้นะ ขนาดหนังสือเด็กเรายังส่งเสริมจนตลาดเติบโตขนาดนี้ได้เลย การเข้าไปทำให้วรรณกรรมเยาวชนกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งก็ไม่น่าจะยากเกินไป อาจต้องใช้เวลาหน่อย และต้องเวิร์กกับพ่อแม่ ผู้ปกครองด้วย”

          บทสนทนาจบลงตรงนี้ แต่เรายังเชื่อและหวังว่าวงการวรรณกรรมเยาวชนจะยังไปต่อได้ หนังสือคือโลกแห่งจินตนาการที่เป็นมากกว่าสถานพักใจและแรงบันดาลใจ มันคือเครื่องมือที่ประกอบสร้างตัวตนของเยาวชนหลายยุคหลายสมัย

          หากใครยังไม่เคยสัมผัส บทความเพียงไม่กี่หน้าคงไม่อาจบรรยายให้เห็นภาพชัดเจนเป็นรูปธรรมได้ ต้องลองหยิบวรรณกรรมสักเล่มมาเปิด ไล่สายตาไปกับตัวหนังสือ ปล่อยความคิดให้จมดิ่งลงไปในโลกแห่งจินตนาการไม่รู้จบ แล้วคุณจะพบว่า สิ่งที่ผู้คนในวงการวรรณกรรมเยาวชนกล่าวไว้ ไม่ได้เกินจริงไปเลยสักนิด…


ที่มา

Cover Photo: wildercr on Pixabay

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก