ปีแห่ง AI กับก้าวต่อไปของอาชีพสายคอนเทนต์

209 views
7 mins
January 19, 2024

          ปีที่ผ่านมา นับว่าเป็นปีที่เทคโนโลยี AI สร้างความตื่นตาตื่นใจ ประหลาดใจ ชวนตั้งคำถาม อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อแทบทุกวงการ บทความจากสำนักข่าวและเว็บไซต์ต่างๆ ได้กล่าวถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไว้อย่างหลากหลาย เช่น

           “2023 คือ ปีที่เราทดลองเล่นกับ AI แต่ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป” (ABC News)

           “2023 คือ ปีที่ AI กลืนกินอินเทอร์เน็ต” (The New Yorker)

           “สถานะของ AI ในปี 2023: การผงาดของ Generative AI” (Mckinsey & Company)

          ข้อความเหล่านั้นไม่ได้กล่าวเกินจริงนัก หลังจาก OpenAI เปิดตัว Chat GPT และ Dall-E อย่างครึกโครมไป Meta ก็เปิดให้ประชาชนได้ใช้ LLaMA ส่วน Google ก็เปิดตัว Bard และ Gemini โมเดลที่ถูกพัฒนาต่อยอดจนมีความสามารถหลากหลาย นอกจากนี้ยังมี AI จากค่ายอื่นๆ ให้ทดลองเลือกใช้อีกนับไม่ถ้วน พร้อมกันกับที่ซอฟต์แวร์สำหรับตรวจสอบชิ้นงานว่ามาจากฝีมือมนุษย์ หรือ AI ก็ถูกพัฒนาอย่างรุดหน้า ยังไม่นับรวมหลักสูตรว่าด้วยการ Upskill และ Reskill เกี่ยวกับ AI ที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ

          ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกเทคโนโลยีและการปรับตัวของแต่ละวงการ ปฏิเสธไม่ได้ว่า Generative AI สามารถสร้างสรรค์เนื้อหาได้หลากหลายและน่าทึ่ง ทั้งรูปภาพ วิดีโอ เสียง ข้อความ และโมเดล 3 มิติ ช่วยผ่อนแรงสายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์คอนเทนต์ได้ไม่น้อย งานเขียน ภาพศิลปะ และคลิปวิดีโอจาก Generative AI อวดโฉมต่อสายตาประชาชนไม่เว้นแต่ละวัน

          หากในขณะเดียวกัน ก็มีการตั้งคำถามที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจนขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นประเด็นด้านจริยธรรม ความพร้อมด้านกฎหมาย หรือการนำไปใช้ ที่ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับบรรดาคนทำงาน บทความนี้ชวนมาพูดคุยเรื่องบทบาทของ Generative AI ในสายงานสร้างสรรค์ และการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

Generative AI กับการแย่งงานสายอาชีพคอนเทนต์ครีเอเตอร์

          ประเด็นที่ผุดขึ้นมาแทบจะทันทีหลังจากการเปิดตัว Generative AI คือ ‘การแย่งงาน’ สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) คาดการณ์ว่า AI จะสร้างงานใหม่มากถึง 97 ล้านตำแหน่งในปี 2027 แต่ในขณะเดียวกันอาชีพต่างๆ อีก 85 ล้านตำแหน่งก็กำลังจะถูกทดแทนด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติ เทคโนโลยี AI ที่ถูกพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในปีที่ผ่านมา จึงนำมาซึ่งเสียงตอบรับทั้งเชิงบวกและเชิงลบ

          ด้วยความสามารถของ Generative AI ในช่วงหลัง ไม่น่าแปลกใจที่มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับโอกาสที่แรงงานมนุษย์จะถูกแทนที่อยู่บ่อยครั้ง เมื่อเวลาผ่านไป คำถามจากบทความตามสื่อต่างๆ ก็เริ่มลดลง เมื่อแนวโน้มสถานการณ์เริ่มเผยให้เห็นว่า ไม่มีทางที่มนุษย์หลีกเลี่ยงการเข้ามามีบทบาทของ Generative AI ได้ คนทำงานต้องปรับตัว ฟื้นฟูทักษะ และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เช่นกันกับสถาบันการศึกษาที่ต้องปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดรับกับความท้าทาย เพื่อให้ปัญญาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือในการทำงานสร้างสรรค์ไม่ใช่แทนที่ใคร

          การเขียนเชิงสร้างสรรค์ หรือ Creative Writing เป็นสายงานหนึ่ง ที่ Generative AI เข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพราะ Generative AI หลายค่ายสามารถผลิตงานเขียนได้ใกล้เคียงกับผลงานมนุษย์ เมื่อทดลองโยนโจทย์ให้ AI เขียนงานแทน ด้วยการพิมพ์คำสั่งหรือที่เรียกกันว่า Prompt เข้าไปใน ChatGPT ว่า “AI จะมาแย่งงาน Content Creator หรือไม่” ได้คำตอบที่น่าสนใจ ดังนี้ 

          AI มีความสามารถที่ทันสมัยและสามารถสร้างเนื้อหาได้อย่างรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกัน AI ไม่สามารถทำความเข้าใจและสร้างเนื้อหาที่มีคุณภาพและความคิดสร้างสรรค์เหมือนมนุษย์ได้ทั้งหมด การสร้างเนื้อหาที่มีความสร้างสรรค์ อารมณ์ และความคล่องตัวยังเป็นศักยภาพที่มนุษย์ยังคงเป็นผู้เชี่ยวชาญอยู่

          นอกจากนี้ การสร้างเนื้อหามีมิติที่หลากหลาย รวมถึงการมีความเชี่ยวชาญในแต่ละวงการ การสร้างเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความรู้พิเศษ หรือการแสดงความเห็นส่วนตัวที่แตกต่างกันไป ซึ่งทักษะและทรัพยากรเหล่านี้ยังคงเป็นเรื่องที่ยากต่อการจำลองในระดับ AI ในปัจจุบัน

          อีกทั้ง การสร้างเนื้อหายังส่งผลต่อความเชื่อถือและความเป็นมนุษย์ที่มากขึ้นในบริบทของเนื้อหาบางประเภท เช่น การสื่อสารระหว่างบุคคล ศิลปะสร้างสรรค์ และสื่อสารทางการเมือง เนื้อหาที่มีความเป็นมนุษย์และความเข้าใจต่อมนุษย์ยังคงเป็นจุดเด่นของผู้สร้างเนื้อหามากกว่า AI

          ดังนั้น สถานการณ์ที่ AI จะมาแย่งงาน Content Creator โดยตรง ยังคงเป็นเรื่องที่ยาก แต่ AI สามารถช่วยเสริมสร้างเนื้อหาของ Content Creator ได้ เช่น ช่วยสร้างสรรค์ไอเดียหรือตรวจสอบความถูกต้องและคุณภาพของเนื้อหาที่สร้างขึ้น

          สำนวนภาษา และวิธีเรียบเรียงประเด็นในการสื่อสารของ AI นั้นถือว่าทำได้ดี เป็นงานเขียนที่มีคุณภาพชิ้นหนึ่ง จึงไม่แปลกใจที่เราจะเริ่มเห็นนักสร้างสรรค์คอนเทนต์ในแวดวงอาชีพต่างๆ หันมาพึ่งพาเครื่องมือที่ใช้เทคโนโลยี AI ในการทำงาน เพื่อลดขั้นตอนที่ใช้เวลา คอนเทนต์ครีเอเตอร์ไม่จำเป็นต้องสร้างคอนเทนต์เองทั้งหมดอีกต่อไป แต่สามารถคัดสรรไอเดียและป้อนคำสั่ง (Prompts) เพื่อสร้างเนื้อหาที่ตรงกับความต้องการ และใช้แอปพลิเคชัน AI เป็นเครื่องมือในการต่อยอดไอเดียไปอีกขั้น

          ส่วนสาระสำคัญที่ได้จากบทความสั้นๆ ทางด้านบนนั้น ก็ตรงกับที่ผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ ได้แสดงความคิดเห็นเอาไว้ หรือแม้กระทั่งจากการรีวิวของนักอ่านที่เคยซื้อผลงานหนังสือฝีมือ AI ที่ขายอยู่ในแพลตฟอร์ม

          ณ ขณะนี้ AI สามารถสร้างผลงานเขียนได้ในระดับพื้นฐาน แม้ว่าจะเรียบเรียงได้สละสลวย แต่ยังไม่สามารถวางพล็อตที่ซับซ้อน หรือใช้สำนวนที่มีชีวิตชีวาได้เทียบเท่ากับผลงานของนักเขียนได้ หากวัดจากความต้องการของผู้ซื้อในตอนนี้ ผลงานจากมนุษย์ยังเป็นที่ต้องการจากตลาดมากกว่า

Alice and Sparkle หนังสือสำหรับเด็กที่ใช้เวลาเขียนเพียง 72 ชั่วโมง

          เมื่อพูดถึงข้อพิพาทจากการใช้ AI ช่วยทำงานสร้างสรรค์ กรณีศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจและได้รับการพูดถึงไปทั่วโลก คือเหตุการณ์ในเดือนธันวาคม 2022 ที่ Ammaar Reshi ผู้จัดการฝ่ายออกแบบผลิตภัณฑ์จากบริษัทด้านเทคโนโลยีการเงินแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ผลิตหนังสือเด็กพร้อมภาพประกอบจำนวน 12 หน้า ด้วยเทคโนโลยี AI อย่าง ChatGPT, Midjourney และอื่นๆ ผสมผสานกัน โดยใช้เวลาเพียง 72 ชั่วโมงเท่านั้น และนำหนังสือเล่มนี้ลงวางขายใน Amazon ทำให้เกิดข้อถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดในวงกว้าง ถึงการที่เขาทำงานสร้างสรรค์ออกมาเป็นเล่ม โดยไม่ได้จับดินสอ ปากกา และกระดาษเลย 

          ในปัจจุบัน หนังสือจำนวนมากในแพลตฟอร์ม Amazon เป็นผลงานที่ผลิตโดย Generative AI โดยเฉพาะในส่วนของ Kindle Direct Publishing ช่องทางนำเสนอผลงานแบบตีพิมพ์ด้วยตนเอง (self-publishing) แพลตฟอร์มท่วมท้นไปด้วยหนังสือท่องเที่ยว และไลท์โนเวลสำหรับวัยรุ่นจำนวนมากที่ถูก Generative AI สร้างสรรค์ขึ้นมา ส่งผลให้นักเขียนและผู้ซื้อหนังสือหลายคน รวมถึงบริษัทสตาร์ทอัปที่ผลิตโปรแกรมตรวจจับผลงาน AI ออกมาแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย รวมถึงตั้งข้อเสนอให้แพลตฟอร์มจำแนกหนังสือเหล่านี้ออกมาจากหนังสือที่เขียนโดยนักเขียนอย่างชัดเจน เพราะผู้ซื้อจำนวนมากตั้งใจจะซื้อผลงานที่ซับซ้อน ลุ่มลึก และเขียนโดยฝีมือมนุษย์ แต่กลับได้ผลงานแบบ AI Generated ที่เล่าเรื่องแบบราบเรียบ และมีลักษณะการเดินเรื่องที่เป็นแพทเทิร์นเฉพาะจนผู้อ่านสังเกตได้มาแทน

          นอกจากประเด็นเรื่องคุณภาพและความพึงพอใจของผู้ซื้อ ในปีที่ผ่านมา ยังมีการตั้งคำถามถึงจริยธรรมของผลงานที่สร้างโดย AI ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนหรือรูปภาพอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานศิลปะ เพราะโปรแกรมไม่ได้สร้างผลงานเหล่านี้ขึ้นมาจากอากาศ แต่เป็นการประมวลจากผลงานจำนวนมหาศาลที่ถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์คนอื่นๆ ซึ่งศิลปินบางคนอาจไม่ได้ยินดีนักที่อัลกอริทึมจดจำผลงานของพวกเขาไปผลิตซ้ำ การที่เทคโนโลยีขั้นสูงอย่าง AI พัฒนาความสามารถในการลอกเลียนแบบได้เหนือชั้นราวกับเป็นศิลปินมืออาชีพ จึงทำให้นักสร้างสรรค์หลายคนเกิดความกังวลถึงภัยคุกคามจากเทคโนโลยี

          และในขณะเดียวกันก็มีข้อถกเถียงชวนตั้งคำถามว่า สุดท้ายแล้วงานเขียนที่ผลิตขึ้นจาก AI ควรจะให้เครดิตใคร เพราะ ChatGPT ค้นหาคำตอบมาให้เรา โดยใช้ฐานข้อมูลจากระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งรวบรวมมาจากคลังความรู้และสื่อประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือออนไลน์ บทความออนไลน์ วิกิพีเดีย ฯลฯ นำมาเรียบเรียงใหม่ และก็มีหลายกรณีที่พบว่า AI ให้คำตอบหรือข้อมูลทางวิชาการที่บิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง หากนำข้อมูลไปใช้งานเลยโดยไม่ผ่านการตรวจสอบ ก็อาจเกิดข้อพิพาทหรือความเสียหายในภายหลังได้

ย่างก้าวต่อไปของ Generative AI กับอาชีพสายคอนเทนต์
Alice and Sparkle ตัวอย่างหนังสือที่ใช้ AI ช่วยในการสร้างสรรค์
Photo: Ammaar Reshi

อย่างไรก็ตาม AI คือสุดยอดเครื่องมือในการถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์

          หากถามว่าในฐานะคอนเทนต์ครีเอเตอร์คนหนึ่ง ผู้เขียนบทความนี้มีความเห็นว่าคู่แข่งที่น่ากลัวไม่ใช่ AI แต่คือคนที่สามารถใช้งาน AI ได้อย่างคล่องแคล่วมีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะในวันข้างหน้า AI จะกลายเป็นเครื่องมือหลักที่สำคัญอย่างยิ่งในการทำคอนเทนต์รูปแบบต่างๆ หากใครปรับตัวเข้ากับกระแสโลกได้อย่างรวดเร็ว และรู้จักนำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาประยุกต์เข้ากับการทำงานของตนได้อย่างเต็มศักยภาพ ย่อมได้เปรียบในการแข่งขันอย่างแน่นอน

          Scott H. Young นักเขียนหนังสือขายดีของ The Wall Street Journal ซึ่งมีผลงานเผยแพร่ทางสื่อระดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น The New York Times, BBC, TEDx, Pocket, Business Insider และอื่นๆ อีกทั้งยังเป็นนักจัดรายการพอดแคสต์ โปรแกรมเมอร์ และนักอ่านตัวยง เรียกได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคอนเทนต์และเทรนด์เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่น่าสนใจคนหนึ่ง ได้เผยแพร่บทความที่มีชื่อว่า 10 Ways You Can Use ChatGPT to Learn Better หรือ 10 วิธีที่คุณสามารถใช้ ChatGPT เพื่อการเรียนรู้ที่ดีขึ้น มีหลายข้อที่คนทำงานสายคอนเทนต์ครีเอเตอร์ สามารถหยิบเอาแนวคิดมาปรับใช้กับการทำงานได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้ AI ช่วยอธิบายหัวข้อยากๆ ให้เข้าใจง่ายขึ้น เมื่อมีข้อสงสัยก็สามารถสอบถามเจาะลึกเพิ่มเติมในประเด็นต่างๆ ได้ทันที โดยต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อนนำไปใช้งานด้วย

          นอกจากงานเขียนแล้ว Generative AI ยังเป็นเครื่องมือชั้นดีที่ช่วยให้นักสร้างสรรค์สามารถทำงานได้รอบด้านมากขึ้น  ยกตัวอย่างเช่น ภาพประกอบด้านล่างนี้ ใช้โปรแกรม Text to Image ฟีเจอร์ของ Canva ในการสร้างขึ้นมา เพียงแค่พิมพ์คำสั่งเข้าไปว่าต้องการภาพแบบใด มีรายละเอียดอะไรบ้าง AI ก็จัดภาพประกอบมาให้ในเวลาอันรวดเร็ว ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายโดยไม่ต้องจ้างกราฟิกให้ยุ่งยาก เท่ากับว่านักเขียนสามารถทำงานจบได้ด้วยตัวเอง โดยใช้ AI มาช่วยเติมเต็มในส่วนของงานกราฟิกที่ไม่ถนัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

          แม้กระทั่งการสร้างแอนิเมชันที่จัดว่าเป็นทักษะเฉพาะทางที่มีความซับซ้อนสูง ก็กำลังจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปเมื่อ Wonder Dynamics ได้เปิดตัวซอฟต์แวร์ Wonder Studio Beta ให้คนทั่วไปลองสร้างวิชวลเอฟเฟกต์ ได้เองและลดขั้นตอนที่ซับซ้อนออกไป เพียงแค่เราอัปโหลดคลิปวิดีโอที่ถ่ายทำไว้เข้าไปในโปรแกรม จากนั้น AI และ Machine Learning จะสร้างโมเดลสามมิติขึ้นมา พร้อมกับจำลองการเคลื่อนไหวของนักแสดงจริง (Body Mocap) เราสามารถเลือกตัวละคร CG ปรับแสงและองค์ประกอบภาพ เพิ่มเอฟเฟกต์ในฟุตเทจ และตัดต่อออกมาเป็นแอนิเมชันได้ตามที่ต้องการ

ย่างก้าวต่อไปของ Generative AI กับอาชีพสายคอนเทนต์
ตัวอย่างภาพที่สร้างจาก Text to Image ฟีเจอร์ของ Canva

วิดีโอแนะนำการใช้งาน Wonder Studio

AI กับงานสายคอนเทนต์: คำถามปลายเปิดในปีต่อไป

          ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า 2024 จะเป็นปีที่ AI พัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ภาคธุรกิจจะหันมาลงทุนกับเครื่องมือ AI มากขึ้น และ Generative AI จะกลายเป็นเครื่องมือสามัญในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ โจทย์สำคัญคือการพัฒนาเครื่องมือ AI อย่างไรให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานออกมาสนองความต้องการผู้ใช้มากที่สุด ในปีที่ผ่านมา Generative AI มักจะสร้างสรรค์ผลงานได้เฉพาะทาง แต่ในอนาคตเครื่องมือเหล่านี้อาจจะมีความสามารถรอบด้านมากขึ้น ในหนึ่งแอปพลิเคชันอาจผลิตได้ทั้งข้อความ เสียง และภาพ แบบครบจบในตัว (multi-modal)

          สก็อต คลาร์ก นักเขียน นักการตลาด กล่าวไว้ว่า Generative AI กำลังจะกลายเป็นเครื่องมือการตลาดที่สำคัญ เมื่อ AI วิเคราะห์และออกแบบบริการที่เฉพาะตัวแล้ว Generative AI จะถูกใช้ผลิตคอนเทนต์เพื่อการตลาด เช่น การเขียนโฆษณา ประชาสัมพันธ์ แต่นักสร้างคอนเทนต์คงต้องสรรหาวิธีการที่จะทำให้ผลงานเหล่านั้น มีความ ‘original’ หรือลุ่มลึกยิ่งขึ้น สอดคล้องกับที่ เบอร์นาร์ด มาร์ นักคิด นักเขียน นักพูด นักคาดการณ์อนาคต ยืนยันว่าผู้ที่สามารถสั่งการ AI หรือใช้ ‘Prompt’ ได้อย่างมีประสิทธิภาพจะเป็นที่ต้องการตัว

          ส่วนเรื่องของการผลักดันระเบียบและกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการคุ้มครองความเป็นส่วนตัว ลิขสิทธิ์ และจริยธรรมในการนำไปใช้ ก็คงจะเป็นประเด็นที่ประเทศต่างๆ ต้องให้ความสำคัญต่อไป หลายๆ ค่ายเริ่มมีการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับเจ้าของผลงานศิลปะที่ AI นำมาประมวลผล บางพื้นที่ เช่น กลุ่มประเทศในยุโรปเริ่มพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ AI เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้ผลิตผลงานและความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลก

          ที่กล่าวมาเป็นเพียงประเด็นส่วนหนึ่งเกี่ยวกับบทบาทของ Generative AI ในสายงานสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา คำถามที่ว่า ‘เครื่องมือเหล่านี้จะทำให้คนตกงานหรือเปล่า’ อาจจะไม่ใช่คำถามที่สอดรับกับยุคสมัยแล้ว เพราะอย่างไรเสีย Generative AI ก็จะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของโลกการทำงานต่อไป คงต้องลองปรับคำถามใหม่เป็น ‘จะทำอย่างไรให้เครื่องมือเหล่านี้ช่วยเปิดประตูไปสู่ความรู้และความเป็นไปได้ใหม่ๆ ทางธุรกิจ และสร้างสรรค์ผลงานเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ผันเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว’


ที่มา

บทความ “2023: The year we played with artificial intelligence — and weren’t sure what to do about it” จาก abcnews.go.com (Online)

บทความ “The Year A.I. Ate the Internet Call 2023 the year many of us learned to communicate, create, cheat, and collaborate with robots.” จาก newyorker.com (Online)

บทความ “WGSN Future Consumer 2024” จาก lp.wgsn.com (Online)

บทความ “Future Drivers 2024 – WGSN Insight” จาก wgsn.com (Online)

บทความ “Davos 2023: What you need to know about jobs and skills” จาก weforum.org (Online)

บทความ “Speak Shares Details of AI Tutor, Built on Top of OpenAI’s GPT-4” จาก speak.com (Online)

บทความ “Wonder Dynamics puts a full-service CG character studio in a web platform” จาก techcrunch.com (Online)

บทความ “ChatGPT and Generative AI in the Creator Economy: Reality, Hype, What’s Next, and How to Prepare” จาก businessinsider.com (Online)

บทความ “Here’s How AI Will Transform the Creator Economy” จาก observer.com (Online)

บทความ “He Used AI to Publish a Children’s Book in a Weekend. Artists Are Not Happy About It” จาก time.com (Online)

บทความ “10 Ways You Can Use ChatGPT to Learn Better” จาก scotthyoung.com (Online)


ภาพหน้าปกของเนื้อหานี้ถูกสร้างจากเว็บไซต์ Bing Image Creator โดยรูปแบบคำสั่ง AI Disney Pixar Posters จากชุดคำสั่ง mickey mouse +writing + content + in modern library + in a 3D Disney-Pixar style

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก