Wonder Boy เมื่อความสุขไม่ใช่ทุกสิ่ง

104 views
5 mins
November 21, 2023

          “ผมออกวิ่งไปบนท้องถนน …​ หมึกยักษ์ตัวมันเป็นเมือกแสยะยิ้มกว้างกำลังไล่ล่าตามผม … ผมพยายามปีนป่ายไปบนผนังไม้สีน้ำตาล แต่ก็ไร้ผล ไม่มีใครสักคนอยู่ตรงนั้นเพื่อช่วยผมเลย”

          บันทึกฝันร้ายที่โทนี เช (Tony Hsieh) เขียนไว้ในวัยเด็ก กลายเป็นฉากสุดท้ายที่เขาถูกไฟคลอกตาย อาจเป็นความบังเอิญหรือเป็นตลกร้ายที่สิ่งใดที่โทนีล้วนเคยเขียนไว้ กลับมาลิขิตชีวิตของเขา

          ชีวิตของเขา ที่ดูเหมือนจะลิขิตเองได้ในทุกฉากตอน ตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งธุรกิจ LinkExchange ที่ขายต่อให้ Microsoft ในราคา 265 เหรียญสหรัฐ ก่อนจะสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมาในสิบปีต่อมา แล้วขายให้ Amazon ด้วยมูลค่ากว่าพันล้านเหรียญ ใครเลยจะคิดว่าฉากเดียวที่เขาไม่อาจลิขิตและไม่มีใครคาดคิดว่าจะลงเอยเช่นนั้นคือฉากสุดท้ายในอีกสิบปีถัดมาที่เขาจบชีวิตลงโดย “ไม่มีใครสักคนอยู่ตรงนั้นเพื่อช่วย [เขา] เลย”

          ชีวิตโทนี่ดูจะเต็มไปด้วยความย้อนแย้ง ‘เอเชียนกาย’ ที่ใช้ชีวิตตามนิยามอเมริกันดรีม เด็กหนุ่มขี้อายที่อยากเชื่อมผู้คนเข้าหากัน นักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ผลักดันแนวคิดเรื่องความสุข หากกลับซ่อนความทุกข์ตรมไว้โดยไม่มีใครรู้ – จนกระทั่งเขาจากไป

          การจากไปอย่างมีเงื่อนงำที่ทำให้ใครหลายคนตั้งข้อสงสัย รวมทั้งแองเจิล อูหยาง (Angel Au-Yeung) และเดวิด จีนส์ (David Jeans) สื่อมวลชนคนละสายข่าวที่ร่วมกันสืบสวนหาความจริงในคดีนี้ และรวบรวมเป็น Wonder Boy: Tony Hseih, Zappos, and the Myth of Happiness in Silicon Valley ออกมา ด้วยเจตนาที่ต่างกันผ่านหนึ่งเรื่องราว เดวิดที่มาจากสายข่าวสืบสวนอาชญากรรมต้องการทำให้ความจริงปรากฏและบันทึกข้อเท็จจริง ในขณะที่แองเจิล นักเขียนด้านเศรษฐกิจสังคมต้องการให้เห็นความเป็นมนุษย์ในเราทุกคนไม่ว่าจะยิ่งใหญ่ ร่ำรวย (ดูเหมือน) สำเร็จเพียงใด และชีวิตจริงไม่อาจมีเพียงความสุขด้านเดียว – ไม่ว่าคุณจะพยายาม ‘สร้าง’ มันขึ้นมาแค่ไหนก็ตาม

          “ความสุข”

          คีย์เวิร์ดของโทนี เช คุณค่าทางธุรกิจที่เขาหวังอยากส่งมอบ วัฒนธรรมองค์กรที่เขาหมายมั่นปั้นมือ และแบรนด์ดิ้งประจำตัวของเขาเอง จากการเขียนหนังสือ Delivering Happiness: A Path to Profits, Passion, and Purpose อัตชีวประวัติเล่มแรกของเขาที่ว่าด้วยเส้นทางการก่อร่างสร้างธุรกิจพลิกวงการอีคอมเมิร์ซอย่างแซปโปสขึ้นมา ธุรกิจที่ผู้ประกอบการในซิลิคอนวัลเลย์ยกให้เป็นการปฏิวัติวงการ ไม่ใช่แค่วิธีการส่งมอบสินค้า (เช่น รับก่อนลองทีหลัง คืนได้หากไม่พอใจ ส่งไวพร้อมใช้แน่นอน! ฯลฯ) หากยังรวมถึงวัฒนธรรมองค์กรที่กลายเป็นมาตรฐานใหม่ในการดูแลพนักงานให้มีความสุขที่สุด เพื่อที่พวกเขาจะทำงานได้ดีที่สุด แล้วลูกค้าของคุณก็จะแฮปปี้ที่สุด

          เพื่ออะไรน่ะหรือ? เพื่อที่ยอดขายคุณจะได้พุ่งสุดๆ ไปเลยไงเล่า

          แซปโปสประสบความสำเร็จอย่างมาก การันตีจากมูลค่าทางธุรกิจที่ Amazon ซื้อต่อไปในราคากว่าพันล้านเหรียญ ตัวเลขที่ยิ่งตอกย้ำความเชื่อในทฤษฎีแห่งความสุขของเขายิ่งไปอีกว่าชีวิตก็เหมือนธุรกิจ กล่าวคือคุณใส่สิ่งใดเข้าไป คุณย่อมได้รับสิ่งนั้นออกมา

          ซึ่งก็จริง

          อยู่บ้าง

          หากในชีวิตจริง ผลลัพธ์ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่คุณใส่เข้าไปเท่านั้น หากยังผสมปนเป เปรอะเปื้อน ไปด้วยสารพัดวัตถุดิบทั้งที่คุณใส่ และไม่ได้ใส่เข้าไป สิ่งที่คนอื่นแอบหยอดลงไป สังคมที่ยัดเยียดความคิด ความเชื่อ ความปรารถนาบางอย่างเข้าไป … อาจเป็นความฝัน ความกระหาย ความทะยานอยาก … ไม่ว่าคุณรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

Wonder Boy เมื่อความสุขไม่ใช่ทุกสิ่ง

          จนถึงจุดหนึ่ง ผลลัพธ์ที่ออกมากลับไม่ใช่ (ทั้งหมดของ) สิ่งที่โทนีคิดว่าเขาใส่เข้าไป ไม่ว่าจะเป็นทัวร์เปิดตัวหนังสือ Delivering Happiness ที่ฉากหน้าและเนื้อหาบนเวทีเคลือบด้วยความสุขแสนหวาน หากน้ำตาลกรวดนั้นกลับเป็นดั่งอาหารแปรรูป แปลกปลอม และหากกินมากไปย่อมทำให้เกิดการระคายเคืองท้องและเป็นพิษต่อสุขภาพ หรือแม้แต่ Downtown Project เมกะโปรเจกต์แห่งลาสเวกัส ที่เรื่องเล่าของโทนี เช ได้ปลุกระดมให้ผู้คนมุ่งหวังจะเป็นผู้ประกอบการออกตามล่าหา ‘ความสุข’ ที่โทนีพูดถึง หากกลับตามมาด้วยอัตราธุรกิจที่ปิดตัวเป็นจำนวนมาก รวมทั้งคดีการฆ่าตัวตายทั้งที่นับได้และไม่อาจเปิดเผย

          อาการติดเหล้าเมายาของโทนีเองก็เป็นพฤติกรรมบางอย่างที่ทำคนรอบตัวส่ายหัว และตัวเขาก็สับสนในตัวเองว่าเกิดอะไรขึ้นกับชีวิต และยิ่งคิดหนีด้วยสารเติมความสุขชั่วคราวเหล่านี้มากเท่าไร ความทุกข์ระยะยาวก็ดูจะตามมาเป็นเงามากขึ้นเท่านั้น ความย้อนแย้งที่แฝงอยู่ในชีวิตเสมอมาดูจะปรากฏชัดเป็นรูปธรรมในช่วงปีท้ายๆ ของเขา ที่อาศัยอยู่ในคฤหาสน์หรูหรา เป็นภาพฝันของคนภายนอกเมื่อมองเข้ามา หากภายในกลับเต็มไปด้วยสิ่งโสมม กองปฏิกูล (จริงๆ) ขยะเกลื่อนกลาด เศษอาหารที่ไม่มีใครจัดการ เพราะเจ้าบ้านมัวง่วนอยู่กับความสับสนในหัวและขุ่นมัวในจิตใจเกินกว่าจะสะสางความเลอะเทอะตรงหน้าได้

          ไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในบ้านหลังนั้น ไม่มีใครรู้จนกระทั่งวันที่ไฟลุกไหม้ จนผู้คนรู้ข่าวว่าชายผู้ติดอยู่ในห้องชั้นบนที่กำลังลุกด้วยเพลิงไฟคือ โท-นี-เช … โทนีที่พยายามวิ่งหนีเพลิงไฟคล้ายหมึกยักษ์ใหญ่ที่ออกไล่ล่าเขา … โทนีที่พยายามปีนป่ายไปบนผนังสีน้ำตาล แต่ก็ไร้ผล ไม่มีใครสักคนอยู่ตรงนั้นเพื่อช่วยเขาเลย… 

          ทำไมไม่มีใครช่วยโทนี?

          หนึ่งในหลายคำถามที่สองนักเขียนพยายามหาคำตอบ ไม่ใช่แค่ช่วยในวาระสุดท้ายขณะถูกไฟคลอกกาย หากช่วยในขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่ ช่วยจากอาการติดเหล้าเมายา ซึมเศร้าทั้งที่รายล้อมไปด้วยผู้คน

          อาจเดาคำตอบกันไปได้สารพัดว่าคนที่ประสบความสำเร็จสูงอย่างเขาย่อมเต็มไปด้วยผู้ “ร่วมสุข” ยากจะหาคนร่วมทุกข์ ซึ่งก็อาจเป็นได้ ในวันที่เขาจัดงานเลี้ยง (40 คืนต่อกัน!) ทั้งคฤหาสน์อุ่นหนาฝาคั่งไปด้วยผู้คน แต่หลังจากนั้นมีโทนีเท่านั้นที่รู้ว่าบ้านเลอะเทอะ ซึมเซาเพียงใด แม้เจตนาในการเขียนหนังสือเล่มนี้จะต่างกัน แต่จุดร่วมของทั้งแองเจิลและเดวิดคือการเขียนให้ ‘ไม่มีพระเอกหรือตัวร้าย’ ตามที่ชีวิตนั้นเป็นอย่างแท้จริง รวมทั้งแอนดี้ พี่ชายของโทนีที่เคยสนิทกันในวัยเด็ก ก่อนจะหายไปแล้วกลับมาตอนที่เขามี ‘ทุกสิ่ง’ แล้ว แต่เรื่องจริงจะเป็นอย่างไร ชีวิตของโทนีคงไม่ต่างจากเราทั้งหลายที่เราไม่อาจตัดสินใครได้ด้วยฉากเดียว  หรือจากปากคำของใครคนหนึ่ง 

          Wonder Boy เป็นหนังสือที่อ่านได้อรรถรสคล้ายอาหารฟิวชันคละเคล้าระหว่างงานสารคดีสืบสวนสอบสวน และวิธีการเล่าที่ทั้งตัวละครและพล็อตทวิสต์ราวกับฟิกชัน อีกทั้งในเชิงเนื้อหาสาระก็ยังลึกซึ้งไม่น้อยไปกว่ากัน นี่ไม่ใช่แค่บันทึกชีวิตของโทนี เช หรือภาคอวสานของ Delivering Happiness อัตชีวประวัติของเขาเอง หากยังเป็นหนังสือที่ฉายให้เห็นถึงสภาวะซึมเศร้าของยุคสมัย สุขภาวะทางจิตใจที่เปราะบางในความแกร่งกระด้างฟาดฟันของโลกทุนนิยม

          ใช่ นี่คือเรื่องราวของโทนี เช บุคคลที่เรียกได้ว่าความเก่งและฉลาดนั้นหาตัวจับยาก หากความป่วยไข้ของเขากลับเป็นสากล เป็นหนึ่งในร้อยละ 49 ของผู้ประกอบการที่ยอมรับว่าประสบปัญหาทางจิตใจ และถูกวินิจฉัยด้วยโรคซึมเศร้าซึ่งคิดเป็นอัตราที่มากถึงสองเท่าของผู้ที่ไม่ได้ประกอบกิจการ

          ใช่ นี่คือเรื่องราวของโทนี เช เอเชียนกายผู้ปฏิวัติวงการเทคและวัฒนธรรมธุรกิจไปตลอดกาล สามปีแล้วที่โทนี เชจากไป หากผลกระทบที่เขาสร้างไว้ในชีวิตสี่สิบหกปียังคงอยู่ทั้งในเชิงธุรกิจและชีวิตที่บอกใบ้สัจธรรมกับเราว่าเมื่อเราปักหมุดให้ความสุขที่ไม่คงที่เป็นเป้าหมาย ก็กลายเป็นว่าเราใช้ชีวิตไขว่คว้าตามล่าฝันที่ไม่อาจเป็นจริงได้ และพลาดความหมายระหว่างทางอันเกิดจากทุกข์คลุกเคล้าสุขปะปนไปอย่างไม่อาจเลี่ยงได้เลย 

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก