We Watch กับการสร้างพลเมืองตื่นรู้ สู่ประชาธิปไตยที่แข็งแรง

276 views
7 mins
December 28, 2023

          แนวคิดการสร้าง ‘พลเมืองตื่นรู้’ หรือ ‘Active Citizen’ หมายถึง การพัฒนาพลเมืองให้มีความตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตนเอง มีความรับผิดชอบต่อสังคม รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงในประเด็นสำคัญต่างๆ ที่กำลังดำเนินไปในสังคมทั้งภายในและภายนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ฯลฯ และกระตือรือร้นในการขับเคลื่อนสังคมให้ดีขึ้น ภายใต้กรอบของการเคารพในความแตกต่างหลากหลายของผู้คน รวมถึงมีความเข้าใจระบอบประชาธิปไตย มีจิตสำนึกสาธารณะ และยึดมั่นในความยุติธรรม โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมที่ทุกคนในสังคมจะได้รับร่วมกัน

          สถานศึกษา ครอบครัว สังคม และสื่อแขนงต่างๆ ล้วนแต่มีอิทธิพลในการปลูกฝังการเป็นพลเมืองตื่นรู้ให้กับเด็กและเยาวชน หลักสูตรการเรียนการสอนในยุคปัจจุบันของหลายประเทศ จึงมีการสอดแทรกแนวคิดเกี่ยวกับการเป็นพลเมืองตื่นรู้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของบทเรียน ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา ไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ การมีส่วนร่วมกับกิจกรรมนอกห้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมจิตอาสา กิจกรรมทางการเมือง และกิจกรรมอื่นๆ ตามความสนใจ ยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เด็กและเยาวชนซึมซับแนวคิดการเป็นพลเมืองตื่นรู้ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม

          บทความนี้จึงอยากชวนมาทำความรู้จักกับ We Watch องค์กรที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมือง ด้วยการเชิญชวนให้ประชาชนทั่วประเทศร่วมเป็นอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ถอดบทเรียน รวมถึงส่งเสริมการสร้างความเข้าใจในด้านการเลือกตั้ง โดยไม่ได้ดำเนินการแค่ในช่วงการเลือกตั้งใหญ่ระดับประเทศเท่านั้น แต่ยังมีกิจกรรมย่อยเกิดขึ้นในหลายวาระ ทั้งการสังเกตการณ์การเลือกตั้งระดับจังหวัด การเผยแพร่ความรู้ และจัดกิจกรรมเสวนาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเลือกตั้ง เช่น ในเดือนที่ผ่านมาองค์กรได้จัดค่ายสมัชชาผู้ประสานงานจังหวัดขับเคลื่อนประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปกฎหมายการเลือกตั้ง และเวทีสาธารณะเพื่อถอดบทเรียน ‘เปลี่ยนคูหาให้เป็นประชาธิปไตย’ จากกรณีศึกษาทั้งในไทยและต่างประเทศ

          ทั้งหมดนี้นับเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่ช่วยบ่มเพาะให้เยาวชนและประชาชนทั่วไป ตระหนักถึงความสำคัญของการตื่นรู้ทางการเมืองเพื่อรักษาสิทธิอันชอบธรรมของตนเอง

ทำความรู้จัก We Watch องค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยพลเมืองตื่นรู้

          We Watch คือกลุ่มเยาวชนอาสาสมัครในนามภาคประชาชน ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2556 โดยมีภารกิจหลักในการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง สร้างความตระหนักในสิทธิทางการเมืองและการเป็นเจ้าของคะแนนเสียงแก่ประชาชน รวมถึงมีบทบาทในการอบรมอาสาสมัครและเผยแพร่ความรู้ เพื่อขยายแนวร่วมภาคประชาสังคมให้กว้างขึ้น ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมือง และสร้างความเข้มแข็งให้กับระบอบประชาธิปไตย

          การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา We Watch มีอาสาสมัครร่วมรายงานผลการเลือกตั้งกว่า 9,000 คน จากทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากการเลือกตั้งในปี 2562 ที่มีอาสาสมัครประมาณ 4,000 คน ทั้งยังมีจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งสูงถึงร้อยละ 75.71 สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวทางการเมืองของคนในสังคม ที่ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งและการรักษาสิทธิของตนเองมากขึ้น

          อาสาสมัคร We Watch เริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่สังเกตการณ์บรรยากาศการหาเสียง สำรวจความกระตือรือร้นของประชาชนในพื้นที่ สอดส่องข่าวการทุจริตเลือกตั้ง ติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างรอบด้านมาจนถึงบรรยากาศวันเลือกตั้ง การนับคะแนน และการรายงานผลคะแนน โดยในกระบวนการเหล่านี้ทาง We Watch จะมีการจัดอบรมขั้นตอนดำเนินงาน สิทธิที่สามารถทำได้ และข้อกฎหมายที่จำเป็นต้องรู้ เพื่อสนับสนุนให้อาสาสมัครทำงานอย่างราบรื่น

          เจม-นนทวัฒน์ เหลาผา เจ้าหน้าที่ฝ่ายประสานงานอาสาสมัครและจัดอบรมของ We Watch บอกเล่าว่าในช่วงเวลาที่ไม่ได้มีการเลือกตั้ง ทางองค์กรก็มีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง และเชิญชวนผู้คนให้เข้ามาร่วมกิจกรรมกับ We Watch เช่น เวทีเสวนา วงพูดคุยตามประเด็นหรือกระแสการเมือง เวทีดีเบต เพื่อเผยแพร่ความรู้และส่งต่อแนวคิดเรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ โดยโครงสร้างการทำงานของ We Watch จะเน้นการสร้างเครือข่ายกระจายไปในหลายภูมิภาคของประเทศไทย 

          “งานของเราไม่ใช่แค่เลือกตั้งใหญ่เสร็จแล้วจบ แต่ยังมีการเลือกตั้งท้องถิ่น การเลือกตั้งซ่อม การสังเกตการณ์เลือกตั้งยังเป็นกิจกรรมที่ประชาชนทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้เต็มที่ นอกจากนี้เรายังมีการจัดเวทีระดมความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วม เช่น เวทีพูดคุยเรื่องการกระจายอำนาจ เรื่องคนพิการที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิได้อย่างเต็มที่ อย่างการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ผ่านมา เราก็จัดเวทีให้คนพิการมาพูดข้อเสนอว่าเขาต้องการอะไร หรือถ้าเยาวชนอยากจัดค่าย การถอดบทเรียน หรือความช่วยเหลือค่ายในรูปแบบต่างๆ ก็สามารถขอความช่วยเหลือหรือคิดรูปแบบกิจกรรมที่อยากทำ และติดต่อขอการสนับสนุนผ่านผู้ประสานงานภาคของ We Watch ได้”

We Watch กับการสร้างพลเมืองตื่นรู้ สู่ประชาธิปไตยที่แข็งแรง
งานเข้าคูหา จับตา เลือกตั้ง Protect Our Vote กิจกรรมนี้เป็นการจำลองการนับคะแนนหน้าหน่วยเลือกตั้ง
ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีในสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ปี 2566
Photo: We Watch

We Watch กับการสร้างพลเมืองตื่นรู้ สู่ประชาธิปไตยที่แข็งแรง
Photo: We Watch

We Watch กับการสร้างพลเมืองตื่นรู้ สู่ประชาธิปไตยที่แข็งแรง
Photo: We Watch

จากเด็กค่ายสู่การเป็นพลเมืองตื่นรู้

          ย้อนกลับไปสมัยที่ยังเรียนมหาวิทยาลัย เจมเป็นนักศึกษาคณะเกษตรที่ไม่ได้มีความรู้ด้านการเมืองเชิงลึกมากนัก แต่ด้วยความชอบทำกิจกรรมจึงมีโอกาสเข้าร่วมค่ายอาสาพัฒนาชนบทและค่ายเรียนรู้ประเด็นทางสังคมหลายครั้ง เช่น การเวนคืนที่ดินอย่างไม่เป็นธรรม ข้อพิพาทเรื่องป่าสงวน ประสบการณ์ที่พบเจอจากค่าย จุดประกายให้เขาชักชวนเพื่อนๆ คณะเกษตรมาร่วมจัด ‘ค่ายชาวนา’ ซึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุนส่วนหนึ่งจาก We Watch เพื่อศึกษากระบวนการผลิตข้าว ตั้งแต่เริ่มปลูกไปจนถึงเก็บเกี่ยว โดยเริ่มจากคำว่าตั้งต้นว่า “ทำไมชาวนาทำงานหนักแต่ได้รับค่าตอบแทนที่ไม่คุ้มค่า”

          เมื่อได้ลงพื้นที่พูดคุยกับชาวนาและศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม เจมพบว่าระบบเศรษฐกิจและอำนาจการต่อรองของนายทุนเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดราคาข้าว ซึ่งมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับนโยบายของภาครัฐ ทำให้เขาตระหนักว่าการเมืองส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในหลายมิติ หากการเมืองดีปัญหาสังคมย่อมลดน้อยลงตามไปด้วย หลังเรียนจบปริญญาตรี เจมจึงเข้ามาร่วมงานกับ We Watch เพื่อร่วมสร้างความเข้มแข็งของประชาธิปไตยในแบบที่พวกเขาอยากเห็น

           “เรามองว่าเรื่องการเลือกตั้งเป็นจุดเริ่มต้นง่ายๆ ที่จะชักชวนคนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบว่า หลังจากใช้สิทธิแล้วเสียงของเราไปถึงจุดหมายปลายทางจริงๆ ไหม เป็นการสร้างวัฒนธรรมการตรวจสอบให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เมื่อคนรู้สึกว่าเขาสามารถใช้อำนาจในการตรวจสอบสิทธิของตัวเองได้ มันก็จะนำพาไปสู่การพัฒนาความสนใจและการมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น เราอยากให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนากระบวนการทางประชาธิปไตย เพื่อสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่แข็งแรง”

          เจมอธิบายเพิ่มเติมว่า “ในอนาคตเราอยากให้หลักสูตรการศึกษาไทยสอนเด็กและเยาวชนเรื่องการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง รวมถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ ด้วย คุณไม่จำเป็นต้องมาสมัครเป็นอาสาของ We Watch ก็ได้ แค่เป็นพลเมืองของประเทศนี้ ใครก็สามารถสังเกตการณ์การเลือกตั้งได้ เป็นสิ่งที่ทำได้โดยไม่อันตราย ไม่ผิดกฎหมาย เราแค่ไปตรวจสอบสิทธิของเรา เป้าหมายหลักของเราคืออยากให้การจัดการเลือกตั้งมีประสิทธิภาพ มีความเป็นอิสระ เป็นธรรม เท่าเทียม ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้เต็มที่ สิ่งเหล่านี้เป็นหลักสากลเกี่ยวกับการเลือกตั้ง”

เมล็ดพันธุ์จากการเมืองบนท้องถนน

          หากพูดถึงการ ‘ตื่นรู้’ ของพลเมือง ปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าสนใจในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา คือการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ในช่วงปี 2563-2564 ทั้งในโลกโซเชียลและบนท้องถนน ที่สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสังคมไทย ไม่ว่าจะยืนอยู่ฝั่งสนับสนุนหรือฝั่งที่คิดต่าง ก็ต้องยอมรับว่านี่คือการรวมตัวกันส่งเสียงถึงผู้มีอำนาจของขบวนการนักเรียนนักศึกษา ที่ทรงพลังมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

          เนย-วรางคณา ดงทอง นักศึกษาจบใหม่จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปัจจุบันประกอบอาชีพอิสระ เป็นหนึ่งในอาสาสมัคร We Watch จังหวัดอำนาจเจริญ ในการสังเกตการณ์เลือกตั้งใหญ่ 2566 สมัยยังเรียนมหาวิทยาลัย เนยเคยทำหน้าที่เป็นฝ่ายประสานงานและช่วยอำนวยความสะดวกในขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษา การมีส่วนร่วมในครั้งนั้นทำให้เนยเริ่มหันมาสนใจบริบทการเมืองไทย และอยากเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย

           “การเข้ามาทำงานร่วมกับ We Watch ทำให้เราชัดขึ้น อย่างตอนปี 2563 ช่วงที่แอคทีฟกับการเมืองมากๆ ทัศนคติบางอย่างของเราไม่ได้เปิดกว้างขนาดนั้น เปรียบเทียบกับตอนนี้พอมารับหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้ง เราไม่ควรไบแอสไม่ว่าจะชอบพรรคไหนก็ตาม ถ้ามีสถานการณ์ที่พรรคที่เราไม่ชอบถูกกระทำอย่างไม่ถูกต้อง เราก็ต้องเปิดกว้างและไม่ไบแอสเกี่ยวกับเรื่องนี้ ต้องมองสถานการณ์ให้เป็นกลางมากที่สุด การเมืองแบบประชาธิปไตยจริงๆ มันมีมากกว่าแค่ทำม็อบ ทำกิจกรรมเกี่ยวกับการเมือง หรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐอย่างเดียว ตอนไปม็อบสิ่งที่เราทำคือการเรียกร้อง แต่ตอนนี้เรากำลังมีส่วนร่วมด้วยการสอดส่องดูแลเพื่อให้กระบวนการทางประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไปได้ การเลือกตั้งครั้งนี้มีผลต่ออนาคตของทุกคนแน่นอน ฉะนั้นประชาชนจะไม่ยอมเสียสิทธิตรงนี้ไปอีกแล้ว”

          เนยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการทัศนคติทางการเมืองที่เปิดกว้าง โดยอธิบายเพิ่มเติมว่าการเลือกตั้งไม่ใช่แค่การเลือกพรรคที่ชอบแล้วจบไป แต่เราควรทำความเข้าใจด้วยว่าทำไมอีกฝ่ายถึงเลือกแบบนั้น เลือกเพราะอะไร “การทำงานกับ We Watch ทำให้เราได้ลงพื้นที่ชุมชน ได้ฟังความคิดของผู้ใหญ่ที่อาจจะต่างจากคนรุ่นใหม่ เป็นการฝึกให้เราเปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างมากขึ้น ทำให้เราตัดสินคนอื่นน้อยลงในเรื่องการเมือง คนเห็นต่างไม่ได้แปลว่าเขาคือศัตรู และการเข้ามาทำงานตรงนี้ ยังทำให้เราเข้าใจพลวัตทางการเมืองมากขึ้น ถ้าพรรคการเมืองที่เราเชื่อในตัวเขาทำผิดหลักการ เราเองก็มีสิทธิที่จะวิจารณ์และถกเถียง เราไม่ควรบูชาลัทธิตัวบุคคล เรามีสิทธิที่จะพูดเพื่อรักษาหลักการที่เรายึดถือและเชื่อมั่น”

We Watch กับการสร้างพลเมืองตื่นรู้ สู่ประชาธิปไตยที่แข็งแรง
การเปิดรับอาสาสมัครหน้าใหม่ของ We Watch
Photo: We Watch

เพราะการเมืองคือเรื่องของทุกคน

          กระบวนการสร้างจิตสำนึกทางการเมือง สำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง หากพลเมืองกระตือรือร้นในการช่วยกันเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น เคารพและยอมรับในหลักการประชาธิปไตย กล้าแสดงความคิดเห็นควบคู่ไปกับการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เคารพความแตกต่างหลากหลาย และร่วมกันสร้างสังคมแห่งโอกาสที่เท่าเทียมในการเข้าถึงสิทธิด้านต่างๆ ประเทศของเราก็จะน่าอยู่มากขึ้น โดยเนยได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจ

          “การเมืองคือเรื่องของประชาชนทุกคน เราอยู่ในการเมืองตลอดเวลา การตระหนักรู้เรื่องการเมืองเท่ากับว่าคุณตระหนักรู้ในสิทธิของคุณ การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองคือการแสดงออกว่าเราอยากอยู่ในสังคมแบบไหน อยากอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบไหน เราอยากออกแบบสังคมให้เป็นยังไง การที่เด็กมัธยม นักศึกษา หรือใครก็ตามออกมาแอคทีฟเรื่องการเมืองมันคือการที่เขาออกมาพูดว่า ฉันอยากอยู่ในสังคมที่ดี อยากให้การเมืองมันสอดรับกับชีวิตของเขาและทำให้เกิดการพัฒนา

          หลังจากเรียนรู้และตระหนักแล้วเขาก็จะเข้ามามีส่วนร่วม อาจจะไม่ได้ถึงขั้นอยากเป็นนักการเมือง แต่พอคนรู้ว่าตัวเองมีส่วนร่วมได้ เขาก็จะเริ่มเข้ามาช่วยกันสอดส่องการทุจริต เข้ามาช่วยกันทำให้ประชาธิปไตยไม่แปดเปื้อน อย่างอาสาสมัครของ We Watch ก็มีเด็กมัธยมอายุ 16-17 ปีที่ยังไม่สามารถเลือกตั้งได้ แต่เขาอยากให้กระบวนการเลือกตั้งยุติธรรม ถูกต้อง และน่าเชื่อถือมากที่สุด เพราะสิ่งนี้คืออนาคตของเขา ถ้าการเมืองดีอนาคตของเขาก็จะดีขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องย้ายประเทศ”

We Watch กับการสร้างพลเมืองตื่นรู้ สู่ประชาธิปไตยที่แข็งแรง
ทีมงาน We Watch
Photo: We Watch


ที่มา

บทความ “การให้ความหมายเกี่ยวกับคุณลักษณะและแนวทางการพัฒนาความเป็น พลเมืองตื่นรู้โลกตามแนวคิดการจัดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ของนักศึกษาปริญญาตรี” จาก so04.tci-thaijo.org (Online)

บทความ “พลเมืองกับเมืองน่าอยู่: วิชาพลเมืองสำคัญแค่ไหนกับการขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่”จาก theurbanis.com (Online)

วิดีโอ “บทที่ 1 แนวคิดเกี่ยวกับพลเมืองตื่นรู้ ความหมาย ความสำคัญของพลเมืองตื่นรู้ และคุณลักษณะของพลเมือง” จาก youtube.com (Online)

เว็บไซต์ We Watch (Online)

Cover Photo: We Watch

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก