We Built a Village: Cohousing and the Commons

151 views
5 mins
September 14, 2023

         “ความปรารถนาแรงกล้าเท่านั้นที่จะดลบันดาลให้ทุกสิ่งเกิดขึ้นจริงได้”

          ความปรารถนาแรงกล้าที่ว่าอาจเป็นความฝัน ความทะยานอยาก หรือแม้กระทั่งความตาย ความปรารถนาที่ไม่เพียงลงมือทำเพราะเชื่อในความเป็นไปได้ หาก ‘จำเป็น’ ต้อง ‘ทำให้ได้’

          ความปรารถนาแรงกล้าดั่งความปรารถนาของไดแอน อาจารย์มหาวิทยาลัยที่เพิ่งสูญเสียสามีไป และโฮปที่เพิ่งให้กำเนิดลูกชายคนใหม่ ที่ทำให้ทั้งสองออกหา ลงมือสร้าง ‘Cohousing’ ชุมชนคนบ้านเดียวกัน ชุมชนที่ทั้งสองบอกว่าไม่ใช่แค่ความฝัน หากเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการมีชีวิตที่ดี 

          ไดแอน ร็อธบาร์ด มาร์โกลิส (Diane Rothbard Margolis) สูญเสียสามีของเธอในปี 1991 ปีแห่งการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เปิดฉากยุค ‘ตลาดอยู่เหนือทุกสิ่ง’ (Market Triumphalism) หากไดแอน ในฐานะอาจารย์สังคมวิทยาผู้ศึกษาสังคมที่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์กลับพบว่าในขณะที่ตลาดส่งเสริมคุณภาพสินค้าและบริการผ่านการแข่งขัน แนวคิดเชิงตลาดเหนือทุกสิ่งกลับไม่ได้ส่งเสริมคุณภาพชีวิตในแบบเดียวกัน 

          ไดแอนรู้ว่าเธออยู่บ้านเดี่ยวหลังเดิมที่เคยอยู่ร่วมกับสามีต่อไปได้ แต่เธอไม่ปรารถนาจะมีชีวิตอยู่อย่างซังกะตาย ช่วงเวลาโหดร้ายที่สุดของการอยู่คนเดียวคือช่วงเวลาแห่งความสุขของการอยู่ร่วมกัน นั่นคือ การทานข้าวเย็น วันหยุดสังสรรค์ ที่แม้เธอจะมีเพื่อนแวะเวียนมาหาบ้างในช่วงแรกของการสูญเสีย เธอรู้ดีว่านั่นเป็นเพียงชั่วคราว และเธอรู้ดีว่าเธอต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อไม่ให้ความเศร้าซึมเช่นนี้เป็นสภาวะถาวร 

          ความเป็นนักวิชาการทำให้เธอหาคำตอบผ่านหนังสือทั้งวิธีการรับมือกับความสูญเสีย การเตรียมตัวรับมือวัยชรา การหาความหมายของชีวิตในวันที่คิดว่าไม่เหลืออะไร จนกระทั่งมาเจอหนังสือว่าด้วยทางเลือกการใช้ชีวิตแบบใหม่ที่ชื่อว่า Cohousing: A Contemporary Approach to Housing Ourselves เขียนโดยเคธี (Kathryn McCamant) และชัค (Charles Durret) ที่แม้เธอจะรู้จักแนวคิดนี้มาก่อน แต่การสิ้นสุดของแนวคิดเชิงสาธารณะ (Common) ในช่วงเวลานั้นทำให้เธอไม่เคยคิดฝันถึงการใช้ชีวิตตามแนวคิดนี้ – ไม่จนกระทั่งเธอได้อ่านเรื่องราวของเคธีและชัค คู่รักสถาปนิกที่ออกเดินทางเพื่อดูต้นแบบ Bofaellsskaber (Cohousing) ในเดนมาร์กที่คัดค้านการแบ่งแยกทางสังคมอันเป็นผลพวงมาจากการเติบโตของระบบตลาด และเชื่อในวิถีเรียบง่ายอันเป็นพื้นฐานของมนุษย์ว่า ‘เด็กควรมีพ่อแม่หนึ่งร้อยคน’  (Children Should Have One Hundred Parents เขียนโดย Bodil Graae ในช่วงเริ่มต้นของกลุ่มริเริ่มสร้าง Cohousing ในเดนมาร์ก) เพื่อคานกับความกังวลอันเป็นผลจากการแยกขาดทางสังคมว่าการปล่อยให้เด็กออกมาเล่นนอกบ้านจะสร้างความรำคาญให้กับส่วนรวม 

          ไม่มี Bofaellsskaber ชุมชนอยู่ร่วมกันในแมสสาชูเซตส์เมืองที่เธออาศัยอยู่ในขณะนั้น หากไดแอนต้องการทางเลือกใหม่ในการใช้ชีวิต เธอไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากสร้าง cohousing ในเมืองของเธอเอง (ในสหรัฐอเมริกาปี 1992 มี Cohousing อยู่เพียงเจ็ดแห่งเท่านั้นในโคโลราโด แคลิฟอร์เนีย และวอชิงตัน ในปี 2014 Cohousing มีจำนวนเพิ่มมากถึง 150 กว่าแห่งและเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน โดยเฉพาะหลังการระบาดของโควิด-19)

          7 ปีหลังการสูญเสียสามี 5 ปีกับการประชุมพยายามรวมกลุ่ม 3 ปีกับการก่อสร้าง ‘Cambridge Cohousing’ (ที่ล่าช้าไปหนึ่งปีครึ่ง) ไดแอนย้ายเข้า ‘บ้าน’ แห่งนี้ในปี 1998 พร้อมกับ ‘เพื่อนบ้าน’ (Cohousers) ร่วมสี่สิบครัวเรือน บ้างอยู่คนเดียวเหมือนไดแอน บ้างเป็นครอบครัว และบ้างเป็นคู่ สัดส่วนความหลากหลายที่ไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เป็นความตั้งใจออกแบบให้เป็นเช่นนั้น  (Intentional Design) ตามชื่อเล่นที่ Cohousing ถูกขนานนามว่าเป็น ‘Intentional Community’ ชุมชนหมายมั่นที่ตั้งใจจะอยู่ร่วมกัน

We Built a Village: Cohousing and the Commons

Cohousing คือ หมู่บ้านที่ผู้อาศัยมีความเกี่ยวข้องแบบพึ่งพากันและกัน มีแนวคิดในการแบ่งปันพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน
Photo: The Cohousing Company
We Built a Village: Cohousing and the Commons
Photo: The Cohousing Company

ตั้งใจใช้ฉันทามติ (Consensus Over Conflict) 

          เดวิด โบลิเย (David Bollier) นักเขียนผู้ผลักดันแนวคิดคอมมอนให้มีที่ทางในสังคมทุนนิยม เคยเขียนสมการนิยามคอมมอนว่าคือทรัพยากร ชุมชน และระเบียบทางสังคม (Common = Resource + Community + a Set of Social Protocols) หาใช่การอยู่กันอย่างไร้ปกครองและจัดการไม่ ระเบียบทางสังคมและการจัดการจะแตกต่างไปในแต่ละกลุ่ม โดยใน Cambridge Cohousing นี้ ทุกคนตกลงร่วมกันว่าจะไม่แต่งตั้งผู้นำ จะไม่ใช้การนับเสียงส่วนมากเพื่อหาข้อสรุป แต่จะใช้ระบบฉันทามติแทน 

         “การโหวตมีจุดอ่อนหลายอย่างโดยเฉพาะในกลุ่มที่ต้องการสร้างความเท่าเทียม มันทำให้เกิดผู้ชนะและผู้แพ้ ก่อให้เกิดการแบ่งแยก แทนที่จะหาทางแก้ไขปัญหาที่เป็นที่พึงพอใจ”

          ไดแอนแม้จะเป็นอาจารย์สังคมวิทยายอมรับว่าเธอสนับสนุนแนวคิดเหล่านี้เวลาอ่านและสอน แต่เธอเพิ่งรู้ซึ้งถึงความวุ่นวายของมันในการนำมาปฏิบัติจริง

          “ฉันเบื่อ การประชุมของพวกเราเริ่มน่ารำคาญ” ฟีดแบ็กหลังการประชุมจากสมาชิกบางคน

          แนวคิดเชิงอุดมการณ์พวกนี้ทำให้ไดแอนและเพื่อนสมาชิกมีความหวังในช่วงแรกๆ ว่าพวกเขาจะได้อยู่ใน ‘สังคมอุดมคติ’ ที่ออกแบบกันได้เอง หารู้ไม่ว่า ‘งานที่แท้จริง’ เริ่มต้นขึ้นเมื่อมีสิ่งที่ต้องตัดสินใจร่วมกัน ตั้งแต่การสรุปทำเล เลือกแปลงของแต่ละคน กำหนดพื้นที่ส่วนกลาง ขนาดห้องซักล้าง สัดส่วนความหลากหลายลูกบ้าน ฯลฯ และอีกสารพัดที่ไดแอนบอกว่าสะท้อนคุณค่าที่แต่ละคนให้อย่างแท้จริงยิ่งกว่าทำการสำรวจหรือประชุมพูดคุยกันในช่วงแรก 

          เช่น การหารือครั้งหนึ่งว่าด้วยสวนหลังบ้าน วาระเล็กๆ ที่สะท้อนถึงคุณค่าใหญ่ การตัดสินใจเลือกระหว่าง Private vs Common ที่ไดแอนตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อถกกันในเชิงคุณค่านามธรรม “การพูดคุยนั้นก็ประเทืองปัญญาดี แต่หาข้อสรุปไม่ได้” แต่เมื่อใครคนหนึ่งเสนอให้คุยถึง “hopes and fears” ความหวังและความกังวล เช่น อยากเห็นลูกหลานวิ่งไปมาอย่างอิสระได้แต่ก็กังวลว่าจะสร้างความวุ่นวาย อยากเห็นพื้นที่สีเขียวเต็มตาแต่ก็กังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว ฯลฯ ประเด็นเช่นนี้ที่ไม่อาจ (และไม่ควร) ตัดสินใจจากเสียงส่วนใหญ่ เพราะแม้สมาชิกบางกลุ่มอาจมีจำนวนน้อยกว่า เช่น สมาชิกที่มีลูกหรือมีความบกพร่องทางกาย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าความต้องการเฉพาะตัวของเขาสำคัญน้อยกว่าผู้อื่นเลย การรับฟังความต้องการของทุกฝ่ายเพื่อหาฉันทามติที่ทุกฝ่ายพอใจจึงเป็นเรื่องสำคัญในกระบวนการตัดสินใจของชุมชน 

          อย่างไรก็ตาม ฉันทามติจากสมาชิก ณ ขณะนั้นก็ยังมีปัญหาในตัวมันเองด้วยโดยเฉพาะสมาชิกที่สนใจแต่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเป็นลูกบ้านหรือไม่ เพราะฉันทามติที่มาจากกลุ่มก็ยังเป็นเพียงเสียงสะท้อนจากกลุ่มในช่วงเวลานั้น และแม้จะไม่ใช่การนับคะแนนเสียงส่วนใหญ่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าท่าทีการสื่อสารของแต่ละคนที่ต่างกัน อำนาจจากลำดับขั้นที่ไม่เท่ากันก็ส่งผลต่อฉันทามติไม่เท่ากันอยู่ดี

          ยกตัวอย่าง การประชุมหาข้อสรุปเรื่องการติดลิฟต์หรือทางลาดตรงบันได การติดลิฟต์มีค่าใช้จ่ายมากกว่าแต่ตอบโจทย์ข้อจำกัดทางกายภาพทุกรูปแบบ หากสุดท้ายในการประชุมยาวนานที่ลงเอยด้วย ‘ฉันทามติ’ ที่ลงเอยด้วยการตั้งบันไดตรงทางลาด ไดแอนจำความรู้สึกเหนื่อยของเธอและคนในห้องวันนั้นได้เกินกว่าจะพูดอะไรบางอย่างที่ค้างคาใจออกไป …

          “เราไม่ควรสร้างตึกที่เข้าถึงไม่ได้ มันขัดแย้งกับวิสัยทัศน์ของเรา”

          จนกระทั่งการก่อสร้างเสร็จสิ้น มีสมาชิกผู้สนใจคนใหม่ต้องเปลี่ยนใจเพราะทางลาดตรงบันไดนั้นต้องอาศัยคนช่วยเข็นขึ้นอยู่ดี ไดแอนรู้ซึ้งถึงความสำคัญของการตัดสินใจกลุ่มวันนั้น และเห็นว่าฉันทามติต้องตั้งอยู่บนฐานของวิสัยทัศน์ (Vision) ที่สรุปรวมคุณค่าที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน

We Built a Village: Cohousing and the Commons
Photo: Cambridge Cohousing

ตั้งใจสร้างชุมชนก่อนสร้างบ้าน (Community Before Construction)

          การมีส่วนร่วม (Participation) คือหนึ่งในหลักการสำคัญที่ชัคและเคธีย้ำไว้ในหนังสือ Cohousing: A Contemporary Approach to Housing Ourselves ตั้งแต่การร่วมสร้าง ร่วมออกแบบ ร่วมจัดตั้ง การมีส่วนร่วมช่วยกระตุ้นการตัดสินใจที่ทำให้รู้จักกัน และสร้างวัฒนธรรมกลุ่มร่วมกัน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการประกอบสร้าง ‘ชุมชน’

          หากหลายครั้งไดแอนพบว่าไม่ง่ายเลยที่จะรู้ตัวและถอนตัวจากแนวคิดเชิงตลาดที่เราต่างคุ้นชิน บทเรียนครั้งใหญ่คือการว่าจ้างบริษัทอสังหาฯ ให้มาดูแลการก่อสร้างโครงการ ที่ในระยะสั้นง่ายกว่าเมื่อมีคนตัดสินใจคนเดียว หากในระยะยาวกลับไม่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน และไม่ช่วยสร้างความสัมพันธ์ในกระบวนการนี้ที่เปิดให้ทุกฝ่ายได้พูดคุย ตกลง และรู้จักกัน

          “เราต้องการใช้ร่วมกัน ไม่ใช่ได้ฝ่ายเดียว

           (We want to be inclusive, not exclusive.)

          ลูกบ้านคนหนึ่งชี้แจงต่อหน้าสถาปนิกที่เสนอแปลนเต็มไปด้วยห้องหับต่างๆ ในบ้านแต่ละหลัง พื้นที่ส่วนตัวเพิ่มขึ้น พื้นที่ส่วนกลางลดลง กิจกรรมที่เอื้อให้ทำได้ในบ้านตัวเองมากขึ้น โอกาสได้เจอกันย่อมน้อยลง และผลกระทบอื่นๆ ที่ตามมา ไดแอนเรียนรู้ว่าการสร้างชุมชนหาใช่แค่รวมกลุ่มแล้วจบไป ‘งานที่แท้จริง’ ตามมาหลังจากนั้น และเมื่ออาคารบ้านเรือนยังต้องออกแบบให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ การอยู่ร่วมกันย่อมต้องอาศัยการ ‘ตั้งใจออกแบบ’ ให้ความสัมพันธ์นั้นเกิดขึ้น

We Built a Village: Cohousing and the Commons
Photo: Cambridge Cohousing

ตั้งใจร่วมทุกข์ร่วมสุขไปด้วยกัน (To Weep and Cheer Together)

          “ตอนเห็นบ้านครั้งแรก หนูรู้สึกเศร้านิดหน่อย หนูคิดว่ามันจะใหญ่กว่านี้ แต่พอย้ายเข้ามาอยู่จริง หนูมีพื้นที่ทั้งในบ้านนี้ บ้านของแคลร์ และยังมีส่วนกลางอีก บ้านหนูใหญ่มากๆ เลย”

          ลูกบ้านวัยเก้าขวบตอบคำถามถึงความรู้สึกในการอยู่ที่นี่ในวันฉลองปีใหม่ร่วมกันปีแรกของ Cambridge Cohousing รอยยิ้มและเสียงหัวเราะในวันนี้ทำให้ไดแอนนึกย้อนกลับไปขอบคุณ ‘ความปรารถนาแรงกล้า’ ของตนเองตลอดเจ็ดปีที่ผ่านมา ความปรารถนาแรงกล้าที่ทำให้เธอก้าวข้ามสารพัดขวากหนาม ก้าวข้ามทั้งความรู้สึกผิดหวังเมื่อสมาชิกตั้งต้นที่ร่วมเริ่มหาที่มาด้วยกันทยอยกันไม่ไปต่อ ความสับสนเมื่อต้องทำหน้าที่กระบวนกรดำเนินการประชุมยาวนานเพื่อหาฉันทามติ ความกังวลเมื่อการก่อสร้างยืดเยื้อกว่าที่คาดการณ์ งบประมาณเริ่มบานปลาย และเธอต้องย้ายที่ซุกหัวนอนหกครั้งในหนึ่งปี ช่วงเวลาที่ไม่เพียงแต่ทำให้เธอสูญเสียข้าวของจากการย้ายไปมาแต่ยังสูญเสียหน้าที่การงาน (นึกถึงช่วงปลายปี 90s ที่ทุกคนยังใช้โทรศัพท์บ้านเพื่อการติดต่อ) และความนับถือในตนเองจากการต้องขนกระเป๋าสองใบขออาศัยบ้านคนรู้จักอยู่ชั่วคราว

          แต่สภาวะ ‘ไร้บ้าน’ ของเธอก็มีจุดสิ้นสุด 

          ต่างจากอีกหลายคนที่ไร้บ้านตลอดกาล ไม่มีบ้านหลังต่อไปให้รอย้ายเข้า ไม่มีญาติมิตรคนต่อไปให้ขออาศัย

          ใช่ การ ‘ไร้บ้าน’ (Homelessness) ที่ทำให้เธอเข้าใจความหมายของคำว่าบ้านยิ่งกว่าที่เคยว่าบ้านไม่ใช่แค่ปัจจัยสี่ที่ให้ความปลอดภัยทางกาย หากคือความมั่นคงทางจิตใจ และการได้มาอยู่ใน ‘ชุมชน’ ก็ทำให้เธอเข้าใจธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ที่ล้วนต้องพึ่งพาอาศัยกัน

          ช่วงเวลานั้นเองที่เธอเข้าใจความหมายของ ‘บ้าน’ และ ‘ชุมชน’ ชัดกว่าที่เคย บ้านที่ไม่ใช่แค่ปัจจัยสี่ที่ทำให้มีชีวิตอยู่ แต่คือตัวกำหนดคุณภาพชีวิต – ชีวิตหนึ่งเดียวที่เรามี และชุมชนที่ไม่ใช่แค่ผู้คนที่อยู่ละแวกข้างเคียง หากคือครอบครัวนอกสายเลือดที่คอยดูแล เติบโต…และอาจถึงขั้นเป็นผู้อยู่ข้างในวาระสุดท้ายของชีวิต

      สามารถสั่งซื้อหนังสือได้ที่: NYU Press

We Built a Village: Cohousing and the Commons
Photo: Cambridge Cohousing

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก