‘Urban 95’ เมืองที่ดีสำหรับเด็ก คือเมืองที่ดีสำหรับทุกคน

971 views
7 mins
February 21, 2022

          จะเป็นอย่างไรหากวันหนึ่ง เราต้องอาศัยอยู่ในเมืองหรือชุมชนที่คุ้นเคยด้วยความสูงเพียง 95 เซนติเมตร ซึ่งเป็นความสูงเฉลี่ยของเด็กอายุ 3 ขวบที่มีสุขภาพดี เราจะคิดทำอะไรให้แตกต่างไปจากเดิม หรืออยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างภายในเมืองให้เป็นมิตรกับเรามากขึ้น ตั้งแต่การจะจัดระเบียบพื้นที่ละแวกบ้าน พื้นที่สาธารณะ การคมนาคมขนส่ง การดูแลสุขภาพ และบริการสาธารณะต่างๆ

          นี่คือคำถามเดียวกับโครงการ Urban 95 โดยมูลนิธิ Bernard van Leer ซึ่งริเริ่มเปิดรับแนวคิดและให้ทุนสนับสนุนโครงการเพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดีในชุมชน ย่าน หรือเมือง ที่จะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของเด็กในวัยแรกเกิดจนถึง 5 ขวบ

          มูลนิธิ Bernard van Leer ก่อตั้งขึ้นในปี 1949 มีภารกิจหลักคือการส่งเสริมและสร้างโอกาสสำหรับเด็กเล็กทุกคนในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กๆ ที่ต้องเติบโตขึ้นในและสภาพแวดล้อมที่ขาดแคลน มีความเสียเปรียบทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ มากมาย เช่น โครงการ Parents+ เพื่อฝึกอบรมการดูแลเด็กให้แก่ผู้ปกครอง โครงการ Early Years Thought Leadership ซึ่งมุ่งให้ความรู้และการสนับสนุนแก่บุคคลที่ทำงานเพื่อการดูแลเด็ก โดยการแบ่งปันงานวิจัย ส่งเสริมแนวคิดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการขยายโครงการต้นแบบ และนำผู้คนมารวมกันเพื่อสร้างเครือข่ายการพัฒนา

เมืองที่ดีสำหรับเด็กนั้นดีสำหรับทุกคน

          สมองของทารกและเด็กเล็กมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้ประสบการณ์ชีวิตเพียงเสี้ยวเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงวัยนี้ อาจส่งผลต่อพวกเขาไปตลอดชีวิต เด็กๆ ต้องการความรักและความเอาใจใส่จากผู้ดูแล ในสภาพแวดล้อมที่มีคุณภาพ และสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเหมาะสม

          มีงานวิจัยหลายชิ้นที่เน้นย้ำถึงความสำคัญของการลงทุนสำหรับการพัฒนาของทารกและเด็กวัยหัดเดิน ซึ่งจะส่งผลให้พวกเขามีสุขภาพที่แข็งแรง มีความสามารถในการเรียนรู้ ปรับตัวและทำงานร่วมกับผู้อื่น รวมถึงรายได้ที่สูงขึ้นเมื่อเติบใหญ่

          อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงในปัจจุบันกลับมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี กว่า 250 ล้านคนที่เข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุข โภชนาการที่เหมาะสมกับช่วงวัย และพื้นที่เพื่อการพักผ่อน เรียนรู้ และเล่นอย่างปลอดภัย ซึ่งไม่เพียงแต่เด็กๆ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ดูแล และผู้อาศัยในเมืองทุกคนที่ควรจะได้รับสภาพแวดล้อมในชีวิตความเป็นอยู่อย่างเหมาะสม ดังที่ อัลโด ฟัน ไอก์ (Aldo Van Eyck) สถาปนิกชาวเนเธอร์แลนด์[1] กล่าวไว้ว่า “เมืองที่ไม่ได้มีไว้สำหรับเด็กๆ นั้น ไม่ได้มีไว้สำหรับพลเมืองเช่นกัน” 

URBAN 95 มองโลกผ่านความสูง 95 เซนติเมตร

          การวางผังเมืองที่ดี มีย่านน่าเดิน มีพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่มีความร่มรื่นย์ มีคุณภาพอากาศที่บริสุทธิ์ มลพิษทางเสียงต่ำ เส้นทางคมนาคมขนส่งที่ปลอดภัยและราคาไม่แพง รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกและสวัสดิการพื้นฐานที่เพียงพอ คือลักษณะการพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองที่มีสภาพแวดล้อมน่าอยู่มากขึ้น ซึ่งไม่เพียงช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ แต่ยังช่วยสร้างความมีชีวิตชีวา ผ่านส่งเสริมการพบปะ แลกเปลี่ยน และเรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ช่วยดึงดูดการตั้งถิ่นฐานของผู้คน เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน มีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยวและการลงทุนอีกด้วย

          จากการเปิดรับแนวคิดภายใต้โครงการ URBAN 95 เพื่อปรับปรุงความน่าอยู่ในเมืองสำหรับเด็กแรกเกิดถึงวัย 5 ขวบภายใต้ยุทธศาสตร์ 3 ข้อ ประกอบด้วย

          1) เน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กในวัยแรกเกิดถึงอายุ 5 ขวบ รวมถึงผู้ปกครอง ซึ่งเป็นพลเมืองในกลุ่มที่มักไม่ค่อยได้รับความสำคัญในแผนพัฒนาเมือง

          2) สนับสนุนกระบวนการทำงานในระดับท้องถิ่น และการจัดการที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเป็นหลัก

          3) ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาสภาพแวดล้อมภายในเมือง โดยเน้นที่พื้นที่สาธารณะ และส่งเสริมให้มีความคล่องตัวในการเข้าถึงบริการด้านต่างๆ เช่น การสุขาภิบาล การดูแลสุขภาพ หรือที่พักอาศัย

          มีแนวคิดกว่า 151 ชิ้น จาก 41 ประเทศ ที่ส่งเข้าร่วมโครงการ ซึ่งคิดค้นโดยสถาบันการศึกษา เทศบาล องค์กรพัฒนาเอกชน และชุมชนตามเมืองต่างๆ ทั้งนี้ มี 26 โครงการใน 18 ประเทศ ที่ได้รับคัดเลือก โดยแต่ละโครงการจะได้รับเงินทุนเฉลี่ยประมาณ 17,000 ยูโร เพื่อเป็นต้นทุนในการดำเนินงาน และพัฒนาเป็นต้นแบบเพื่อจุดประกายแรงบันดาลใจในการพัฒนาพื้นที่เพื่อเด็กๆ ต่อไป

เทลอาวีฟ : หลุมดำของการวางผังเมือง

          หนึ่งในโครงการที่น่าสนใจ คือโครงการเทลอาวีฟ (Tel Aviv) เมืองอัจฉริยะที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีแก่เด็กทุกคน

          ในปี 2011 คนหนุ่มสาวชาวอิสราเอลหลายพันคน ออกมาประท้วงตามท้องถนนเพื่อเรียกร้องถึงปัญหาเรื่องค่าครองชีพ และที่อยู่อาศัย รวมถึงบริการสุขภาพและการดูแลเด็ก ต่อมาแม้ว่ารัฐบาลจะมีการออกนโยบายเพื่อสนับสนุนการดูแลเด็กมากขึ้น แต่กระนั้นก็ยังไม่นับรวมเด็กที่มีอายุต่ำกว่าสามปี ขณะเดียวกันก็ยังมีค่าใช้จ่ายสูง โดยที่คุณภาพไม่ดีเท่าที่ควร

          นอกเหนือจากการเข้าไม่ถึงบริการด้านสาธารณสุขขั้นพื้นฐานของประเทศ พลเมืองตัวน้อยเหล่านี้ยังถูกหลงลืมจากแผนดำเนินงานต่างๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะการวางผังเมือง นักวางผังเมืองในอิสราเอลเรียกพลเมืองในช่วงกลุ่มอายุนี้ว่า ‘หลุมดำของการวางผังเมือง’ เนื่องจากแทบไม่มีแนวทางหรือข้อบังคับเฉพาะเจาะจงสำหรับพวกเขา รวมถึงพ่อแม่มือใหม่ที่ต้องการคำแนะนำด้านการเลี้ยงดู สวัสดิการและพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยสำหรับบุตรหลาน เพราะบางครั้งแค่การเดินอยู่ในละแวกบ้านก็ดูเป็นเรื่องที่อันตรายแล้ว

          ด้วยเหตุที่ว่ามา เทศบาลเมืองเทลอาวีฟตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ Urban95 โดยแต่งตั้งทีมดำเนินการในฐานะลูกจ้างของเทศบาล เพื่อรับผิดชอบหน้าที่นี้โดยตรง ซึ่งช่วยให้การทำงานมีความคล่องตัวทั้งในการประสานงานข้ามฝ่าย และขอการสนับสนุนกับภาคส่วนต่างๆ

          สำหรับการดำเนินงานในขั้นแรก ทีมงานจัดกิจกรรมโรดโชว์ของเทศบาล เพื่อประชาสัมพันธ์และนำเสนอข้อมูลโครงการ Urban95 ให้แก่ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายในเขตเทศบาล ประกอบด้วยชุดข้อมูลที่ครอบคลุมตั้งแต่ด้านสาธารณสุข ไปจนถึงพื้นที่สาธารณะและกิจกรรมนันทนาการ

          ขั้นต่อมา เทศบาลเมืองเทลอาวีฟ พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ Digitaf (เป็นการเล่นคำในภาษาฮีบรู แปลว่า ‘แพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับเด็กวัยหัดเดิน’) ซึ่งเป็นส่วนเสริมของ Digitel แพลตฟอร์มอัจฉริยะสำหรับพลเมืองที่มีอยู่เดิม ที่รวบรวมข้อมูลและบริการทั้งหมดของเมืองเข้าไว้ด้วยกัน[2]

          แพลตฟอร์ม Digitaf ที่พัฒนาใหม่นี้ ช่วยเชื่อมโยงผู้ปกครองให้เข้าถึงข้อมูล และบริการต่างๆ ของรัฐแบบครบวงจร ตั้งแต่วิธีการดูแลเด็ก การเดินทางไปสนามเด็กเล่น กำหนดการของกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ภายในเมือง ไปจนถึงการนัดหมายกับคลินิก เด็กทุกคนในเมืองจะได้รับบัตรประจำตัวดิจิทัลตั้งแต่แรกเกิด เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ได้โดยสะดวก รวมถึงมีการแปลข้อมูลต่างภาษาเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้ลี้ภัย เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของการนำเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อแก้ปัญหาในสังคม ดังที่ Ron Huldai นายกเทศมนตรีเมืองเทลอาวีฟกล่าวไว้ว่า “เทลอาวีฟสนใจที่จะนำแนวคิดใหม่ๆ มาใช้เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของพลเมืองอยู่เสมอ และเรารู้สึกตื่นเต้นที่ได้เป็นเมืองแรกในโลกที่คิดเรื่องนี้อย่างจริงจัง เกี่ยวกับวิธีการจัดการกับปัญหาที่เด็กๆ ของเราต้องเผชิญ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรขยายผลให้กว้างขวางมากขึ้น เพื่อทำให้เมืองของเราน่าอยู่ยิ่งกว่าเดิม”

          เทศบาลยังมีการปรับปรุงสวนสาธารณะและสนามเด็กเล่นเกือบ 80 แห่งทั่วทั้งเมือง ทั้งที่เป็นการปรับปรุงจากของเดิมที่ทรุดโทรม และเพิ่มพื้นที่ใหม่โดยปรับจากบริเวณที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เช่น สวนสาธารณะ Kiryat Sefer ปรับเปลี่ยนจากที่จอดรถซึ่งไม่ได้ใช้งาน พัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียว กลายเป็นแหล่งพักผ่อนที่น่ารื่นรมย์สำหรับทุกคน ส่วนสนามเด็กเล่นก็ได้รับการปรับปรุง โดยเน้นการเล่นผ่านวัสดุธรรมชาติ อย่างกระบะทราย น้ำ และไม้ซุง มีที่นั่งพักสำหรับผู้ดูแลมากขึ้น รวมถึงมีกระบะทรายแบบเคลื่อนย้ายได้ ชุดอุปกรณ์ของเล่น และตะกร้าการเรียนรู้ วางไว้ให้บริการในที่สาธารณะละแวกใกล้บ้านภายในระยะเดินเท้า 15 นาที

          นอกจากนี้ เทศบาลเมืองยังเพิ่มงบประมาณเพื่อสร้างสนามเด็กเล่นสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี และมีโครงการนำร่องที่จะปรับปรุงทางม้าลาย ทางเดินเท้า และบริเวณทางเข้าโรงเรียนอนุบาล เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและเพิ่มพื้นที่สำหรับเด็กภายในเมืองให้มากขึ้น

          การดำเนินงานโครงการของเมืองเทลอาวีฟ เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นความสำคัญของหน่วยงานภาครัฐที่มองเห็นความสำคัญในการพัฒนาพื้นที่สำหรับเด็ก การทำงานโดยมีส่วนกลางเป็นศูนย์กลางหลัก ทำให้การประสานงานทั้งหมดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความคล่องตัว ส่งผลต่อการพัฒนาในวงกว้างและเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม

ภาพยนตร์ความยาว 2 นาที เพื่อให้ผู้ชมได้สำรวจเมืองเทลอาวีฟ ผ่านมุมมองของเด็กชายเกฟฟานวัย 3 ขวบ

โบโกต้า : แต้มสี เพิ่มพื้นที่ปลอดภัย

          อีกกรณีหนึ่งที่น่าสนใจ เกิดขึ้นที่เมืองโบโกตา (Bogota) ประเทศโคลอมเบียซึ่งเดิมก็เป็นเช่นเดียวกับเมืองหลวงขนาดใหญ่หลายแห่งของโลก เผชิญปัญหาประชากรล้นเมือง ระบบสาธารณะสุขและบริการสาธารณะไม่เพียงพอ ความไม่ปลอดภัยบนท้องถนน ฯลฯ

          เป็นที่มาของการทำงานร่วมกันระหว่างเทศบาลเมืองโบโกตา และมูลนิธิ Bernard van Leer ในโครงการ Urban 95 พร้อมด้วยการสนับสนุนทางเทคนิคจาก Bloomberg Associates หน่วยงานให้คำปรึกษาด้านการกุศล และมูลนิธิ Casa de la Infancia กลายเป็นโครงการนำร่อง ‘เติบโตพร้อมกับเพื่อนบ้าน’ (Crezco con mi barrio) ในบริเวณย่านชานเมือง ซึ่งเป็นหนึ่งในย่านยากจนที่สุดของเมือง

          การดำเนินงานในขั้นแรก คือการระดมความคิดเห็น ทีมงานเลือกลงพื้นที่ด้วยการเดินสำรวจ สังเกต เพื่อรับฟังปัญหาจากชุมชนอย่างใกล้ชิด เพื่อจัดทำแผนที่ชุมชนซึ่งระบุเส้นทางที่ไม่ปลอดภัย เช่นจุดที่มักมีเหตุอาชญากรรม ตำแหน่งอันตรายบนท้องถนนที่มีอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ไปจนถึงบริเวณทางเท้าที่สัญจรลำบาก และจัดกิจกรรมระดมความคิดผ่านการเล่นเกม จับสลาก และกิจกรรมอื่นๆ ที่สร้างความสนุกสนาน ช่วยกระตุ้นไอเดีย

          นอกจากนี้ ยังมีการเปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้เปิดเผยความต้องการของตนในรูปแบบที่เป็นกันเอง แทนการจัดประชุม หรือเสวนาทางวิชาการที่เข้าถึงยากและเคร่งเครียด ทำให้คนในชุมชนรู้สึกเข้าถึงได้และเปิดใจ แล้วนำไปพัฒนาเป็น ‘แผนที่’ เพื่อการเปลี่ยนแปลงเส้นทางเชื่อมระหว่างบ้านและโรงเรียนในย่านชุมชน “สิ่งที่เราทำคือคุยกับชุมชนเพื่อค้นหาสิ่งที่พวกเขาต้องการให้ลูกหลานได้ใช้พื้นที่สาธารณะ เช่น การขาดแคลนที่นั่งพัก หรือท้องถนนที่อันตรายเพราะรถขับเร็ว” หนึ่งในทีมงานกล่าว

          ผลจากการช่วยกันระดมความคิด นำมาสู่แนวทางแก้ไขอย่างง่ายๆ และใช้งบประมาณต่ำ ด้วยการทาสีสดใสตามผนัง กำแพงและถนน เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงเขตพื้นที่ปลอดภัยตามบริเวณจุดเลี้ยวรถหรือจุดอับสายตา และกำหนดถนนปลอดรถให้เด็กๆ สามารถใช้เป็นที่วิ่งเล่นอย่างสบายใจ โดยความร่วมมือกันของคนในชุมชนทุกช่วงวัย พร้อมทั้งเพิ่มป้ายหยุดรถ ป้ายข้ามถนน ที่นั่งพักผ่อน พื้นที่ให้นมบุตร พื้นที่พักผ่อนสาธารณะ ศูนย์บริการสำหรับผู้สูงวัย รวมถึงจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้

เมืองที่ดีสำหรับเด็ก คือเมืองที่ดีสำหรับทุกคน
กำแพงที่ถูกแต่งแต้มด้วยภาพวาดและสีสันสดใสภายในย่านชุมชน เมืองโบโกตา
Photo : Bernard van Leer Foundation
ผู้อยู่อาศัยในชุมชนรวมถึงเด็กๆ ช่วยกันทาสีบนท้องถนน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของเขตพื้นที่ปลอดภัย
ผู้อยู่อาศัยในชุมชนรวมถึงเด็กๆ ช่วยกันทาสีบนท้องถนน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของเขตพื้นที่ปลอดภัย
Photo : Casa de la Infancia/Bernard van Leer Foundation

           ผลลัพธ์ภายหลังดำเนินการ พบว่าขยะบนทางเท้าลดลง 40% การเล่นของเด็กนอกบ้านเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นสามเท่า พาหนะหยุดให้คนข้ามเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังช่วยสร้างบรรยากาศที่สดใสให้กับย่าน นอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังช่วยให้คนในชุมชนเรียนรู้วิธีการระดมความคิด มีสำนักรักท้องถิ่น และสร้างความร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นผ่านการลงมือทำ ขณะเดียวกันก็เป็นต้นแบบให้กับเมืองอื่นๆ ในโคลอมเบียด้วย

แตกหน่อต่อยอด เพื่อสังคมที่เท่าเทียม

          นอกจากโครงการของเมืองที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น ยังมีอีกหลายโครงการในหลายประเทศที่ดำเนินการปรับปรุงสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเด็กๆ ได้อย่างน่าสนใจ เช่น เมืองเซา เปาโล ประเทศบราซิล ทำแบนเนอร์โฆษณาติดไว้ตามจุดต่างๆ ของเมือง เพื่อกระตุ้นและคอยย้ำเตือนให้ผู้ใหญ่เห็นความสำคัญของการทำกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ หรือในเมืองโตริโน ประเทศอิตาลี มีการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหามลพิษในอากาศ ผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น จัดแสดงผลงานศิลปะของเด็กๆ บนถนน เพื่อกระตุ้นให้คนหันมาใช้จักรยาน เป็นต้น

การจัดแสดงผลงานศิลปะของเด็กๆ บนท้องถนน ในเมืองโตริโน อิตาลี เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญาเรื่องมลพิษในอากาศ
การจัดแสดงผลงานศิลปะของเด็กๆ บนท้องถนน ในเมืองโตริโน อิตาลี เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญาเรื่องมลพิษในอากาศ
Photo : Bernard van Leer Foundation

          ความพยายามในการพัฒนาพื้นที่สำหรับเด็กปฐมวัย ไม่ใช่เพียงแค่ตอบสนองความต้องการ ส่งเสริมการเรียนรู้ตามช่วงวัย รวมถึงสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้คนในเมืองเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างสังคมแห่งความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียม ดังสะท้อนให้เห็นจากโครงการต่างๆ ที่ว่ามา

          แม้จะมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ หรือการบริหารจัดการจากส่วนกลาง ก็สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยกระตุ้นความคิดและการลงมือทำ สร้างความมีส่วนร่วม เปิดโอกาสให้ทุกคนในสังคมร่วมกันแสดงความคิดเห็นเพื่อสะท้อนปัญหาและขบคิดแนวทางแก้ไข นับเป็นตัวอย่างที่ดีของการพัฒนาเมืองที่ตั้งต้นจากการคำนึงถึงเด็กๆ เป็นหลัก แต่ส่งผลในทางบวกต่อคนทุกเพศทุกวัยที่อาศัยอยู่ในเมือง


เชิงอรรถ

[1] Aldo Van Eyck คือ สถาปนิกชาวผู้ออกแบบสนามเด็กเล่นกว่า 700 แห่งทั่วเมืองอัมสเตอร์ดัม ซึ่งแต่ละแห่งมีรูปแบบที่ไม่ซ้ำกันเลย ในช่วงระหว่าง ค.ศ.1947 – 1978 และส่งอิทธิพลการสร้างสนามเด็กเล่นไปยังเมืองอื่นๆ ในประเทศเนเธอร์แลนด์

[2] โครงการ DigiTel ทำให้เมืองเทลอาวีฟได้รับรางวัล “เมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่ดีที่สุดในโลก” ในงาน Smart City Expo World Congress ปี 2014


ที่มา

cheARIArespiro. Our campaign to make Turin a healthy and playable city. [Online]

Child in the city. Tel Aviv is the latest city to be shown ‘through the eyes of a child’ thanks to the Bernard van Leer Foundation (BvLF). [Online]

Patrin Watanatada. Urban95: creating cities for the youngest people. [Online]

Temporary. Ludic Landscapes and Political Parks: Revisiting Aldo Van Eyck in Mexico City. [Online]

Urban 95. Engaging the community at neighbourhood level. [Online]

Urban 95. If you could experience the city from 95cm – the height of a healthy 3-year-old – what would you change? [Online]

Urban 95. The children’s priority zone debuts in Bogotá. [Online]

Cover Photo : Bernard van Leer Foundation

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก