“ก่อนจะสร้างอะไรเพิ่ม ต้องสำรวจต้นทุนเดิมก่อน” สิงหนาท แสงสีหนาท ว่าด้วยการออกแบบชุมชนเมืองเพื่อการเรียนรู้

1,450 views
7 mins
June 17, 2021

          เมืองที่ดี คืออะไร?

          เมื่อได้ยินคำถามนี้ แต่ละคนอาจมีคำตอบแตกต่างกันไป อาจเป็นเรื่องพื้นฐานอย่างการมีที่พักอาศัยที่ตอบโจทย์ชีวิต มีทางเท้าเรียบๆ ไปจนถึงการมีระบบขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุมในราคาสมเหตุสมผล มีพื้นที่ให้ออกไปใช้ชีวิตและปฏิสัมพันธ์กับผู้คน มีอากาศที่ปราศจากมลพิษ ฯลฯ

          ไม่ว่าคำตอบจะเป็นแบบไหน ขึ้นชื่อว่าเมือง ย่อมสัมพันธ์โดยตรงกับการใช้ชีวิต ในแง่นี้เมืองที่ดีจึงสัมพันธ์กับการมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย

          “เมืองที่ดี คือเมืองที่ตอบโจทย์ผู้ใช้” คือคำตอบของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิงหนาท แสงสีหนาท อาจารย์ประจำภาควิชาการออกแบบและวางผังชุมชนเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบชุมชนเมือง โดยเน้นการมีส่วนร่วมกับชุมชน

          นอกจากเรื่องการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกเมืองควรตอบโจทย์ผู้ใช้ให้ได้ เขามองว่าเมืองควรตอบโจทย์ในแง่พื้นที่การเรียนรู้ด้วย โดยชี้ว่าหัวใจสำคัญอาจไม่ได้อยู่ที่การตั้งเป้าว่าจะสร้างอะไร แต่อยู่ที่การนำต้นทุนเดิมในพื้นที่นั้นๆ มาต่อยอดอย่างไรมากกว่า 

          ในฐานะผู้ทำวิจัย และมีส่วนร่วมในการออกแบบชุมชนเมืองหลายต่อหลายแห่ง The KOMMON ชวนเขามาสนทนาว่าแก่นของการออกแบบชุมชนเมืองคืออะไร เมืองที่ส่งเสริมการเรียนรู้มีหน้าตาเป็นแบบไหน และมีกระบวนการอย่างไรในการผลักดันให้เกิดขึ้นจริง

การออกแบบชุมชนเมืองคืออะไร มีความสำคัญและน่าสนใจอย่างไรบ้าง

          การออกแบบชุมชนเมือง หรือในภาษาอังกฤษคือ urban design เป็นคำที่ค่อนข้างใหม่ เกิดขึ้นมาประมาณ 60 กว่าปี ถ้าให้สรุปว่าคืออะไร ก็คือการออกแบบในระดับย่านชุมชนและพื้นที่ แล้วค่อยมองให้ละเอียดลงไปว่า จะออกแบบพื้นที่ที่ดีให้เหมาะสมกับคนในพื้นที่นั้นได้อย่างไร โดยเน้นไปที่พื้นที่สาธารณะของเมือง

          พอพูดถึงเรื่องพื้นที่สาธารณะ จริงๆ คือเรื่องใกล้ตัวมาก แค่ออกมาจากบ้าน เหยียบไปที่ถนน นั่นคือความเป็นเมืองแล้ว เป็นพื้นที่สาธารณะแล้ว การออกแบบชุมชนเมืองคือการออกแบบพื้นที่สาธารณะที่อยู่รายรอบตัวเรา

พูดง่ายๆ คือการออกแบบพื้นที่ที่เกี่ยวเนื่องกับคนส่วนใหญ่

          ใช่ ถือว่าเป็นการออกแบบพื้นที่ที่เป็น civic space หรือพื้นที่สาธารณะของพลเมือง พื้นที่ที่คนส่วนใหญ่ใช้ในเมือง ตรงนี้เป็นช่องว่างของการทำงานที่นักออกแบบผังเมือง สถาปนิก รวมถึงนักภูมิสถาปนิกอาจไม่ได้ทำ เป็นจุดที่ทำให้นักออกแบบชุมชนเมืองเข้าไปช่วยเสริมได้

หน้าที่ของนักออกแบบชุมชนเมืองคืออะไร

          ต้องบอกก่อนว่าเราไม่ได้ทำงานคนเดียว เพราะมันเป็นงานเชิงกระบวนการ ยกตัวอย่างเช่น การออกแบบพื้นที่สาธารณะหน้าบ้านของทุกๆ คน นักออกแบบชุมชนเมืองจะเข้าไปขับเคลื่อนกระบวนการ โดยดึงสาขาอาชีพต่างๆ เข้ามาร่วมทำงานด้วยกัน โดยมีชุมชนเป็นฐานสำคัญที่สุด จากนั้นค่อยมาคุยกันว่าพื้นที่หน้าบ้านที่ดีควรจะเป็นแบบไหน

          งานลักษณะนี้ในไทย ช่วงหลังๆ เราเริ่มเห็นมากขึ้น แต่ในต่างประเทศมีมานานพอสมควรแล้ว โดยเราจะเข้าไปขับเคลื่อนกระบวนการตรงนี้ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม แล้วทุกฝ่ายจะร่วมกันตอบคำถามว่า พื้นที่สาธารณะของเมืองที่ดีควรจะเป็นยังไง

ในมุมของอาจารย์ เมืองที่ดีคืออะไร

          เป็นคำถามที่คนถามเยอะนะ ต้องตีความคำว่า ‘ดี’ ก่อนว่าแต่ละคนมองยังไง เพราะภาครัฐเองก็มองแบบหนึ่ง ภาคเอกชนก็มองแบบหนึ่ง ชุมชนก็มองแบบหนึ่ง

          สำหรับผม เมืองที่ดีคือเมืองที่ตอบสนองต่อ user หรือผู้ใช้งานในเมืองนั้นเป็นหลัก ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับว่าเมืองนั้นมีผู้ใช้งานเป็นใคร ถึงจะบอกได้ว่าเมืองที่ดีเป็นอย่างไร จากนั้นเราถึงจะออกแบบได้ว่า ถ้าจะทำให้ดี ต้องทำแบบไหน ตอบสนองต่อผู้ใช้งานเพียงพอหรือยัง ตั้งแต่เรื่องของการเดินทาง เรื่องที่อยู่อาศัย แหล่งงาน พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ มันเพียงพอและตอบโจทย์ผู้ใช้ในพื้นที่นั้นหรือไม่ ใน 3-4 เรื่องที่พูดมา ถ้ามีทุกอย่าง มันจะสมดุลกัน

หมายความว่าแต่ละย่าน แต่ละพื้นที่ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ?

          ใช่ครับ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เพราะคำว่าดีของแต่ละพื้นที่คงไม่เหมือนกัน โจทย์หลักคือเราตอบสนอง user ขึ้นอยู่กับ user ในพื้นที่นั้น แล้วก็ขึ้นอยู่กับทิศทางการเติบโตของพื้นที่นั้นว่าจะไปในทิศทางไหน

แล้วเมืองสามารถตอบโจทย์เรื่องการศึกษาและการเรียนรู้ได้อย่างไรบ้าง

          อาจต้องแยกระหว่าง ‘การศึกษา’ กับ ‘การเรียนรู้’ ถ้าเป็นเมืองการศึกษา ในต่างประเทศจะเห็นตัวอย่างชัด เช่น เมืองออกฟอร์ด เมืองเคมบริดจ์ ที่มีสถาบันการศึกษาเป็นศูนย์กลางของเมือง แล้วเกิดกิจกรรมรอบๆ เพื่อตอบสนอง อันนี้คือเมืองการศึกษา

          ถามว่าเมืองกับการศึกษาเกี่ยวข้องกันไหม ตอบได้ว่าเกี่ยวข้องโดยตรง เพราะมันมีพื้นที่ที่สถาบันการศึกษาในระบบเป็นศูนย์กลาง และมีกิจกรรมรอบเมืองที่ส่งเสริม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเดินทาง ที่อยู่อาศัย พักผ่อน ขณะเดียวกันในรั้วมหาวิทยาลัย ก็ไม่ได้มีแค่เรื่องเรียนอย่างเดียว แต่มีวิถีชีวิตอื่นๆ ด้วย ยกตัวอย่างเรื่องการสร้างงาน อาจมีรุ่นพี่ที่จบไปทำออฟฟิศเล็กๆ แล้วกลับมาหารุ่นน้องเพื่อช่วยงาน เป็นต้น

          จริงๆ ระบบพวกนี้ในต่างประเทศ เขาถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ การสร้างเมืองแห่งการศึกษาต้องมีการออกแบบหรือส่งเสริมให้เกิดสตูดิโอเล็กๆ เกิดขึ้นได้ เช่น การสนับสนุนให้ชั้น 3 ของตึกแถวทำเป็นสตูดิโอ เพื่อให้กลุ่มนักศึกษามาเช่าทำงาน เป็นพื้นที่ที่เขาใช้ตั้งตัวและพัฒนาไปเป็น start up ได้ เมืองการศึกษาต้องตอบโจทย์เหล่านี้

แล้วในไทยเป็นอย่างไร มีกรณีที่เทียบเคียงกันได้ไหม

          ถ้าหันมามองในไทย จะเห็นได้เลยว่าเราไม่เคยคิดเรื่องนี้อย่างจริงจัง เราไม่เคยมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ ที่ผ่านมาจะเป็นไปในลักษณะที่ปล่อยให้เกิดขึ้นเอง เช่น พื้นที่หอพักนักศึกษา ไม่ได้มีรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลอย่างจริงจัง ดังนั้นจึงไม่มีการควบคุมคุณภาพ อย่าลืมว่าเด็กไม่ได้อยู่แต่ในมหาวิทยาลัย เขาต้องทำงานนอกมหาวิทยาลัยด้วย แต่ที่ผ่านมาเรายังไม่ค่อยมีพื้นที่สาธารณะอย่าง co-working space ให้เขาได้ใช้

          นี่เป็นจุดหนึ่งที่ภาครัฐผลักภาระให้กับประชาชน ในแง่ของพื้นที่เพื่อการพักผ่อนหรือการทำงานที่สัมพันธ์กับการศึกษา รัฐผลักภาระให้เด็กรุ่นใหม่ต้องจ่ายเงินเองเพื่อเข้าถึงพื้นที่เหล่านั้น

ดร.สิงหนาท แสงสีหนาท

แล้วถ้าเป็น ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ จะมีลักษณะเป็นอย่างไร ต่างจากเมืองการศึกษาในแง่ไหนบ้าง

          เมืองแห่งการเรียนรู้จะมีความไม่เป็นทางการมากกว่า ผมมองว่าการเรียนรู้คือกระบวนการทางประสบการณ์แบบหนึ่ง ดังนั้นถ้าถามว่าเกี่ยวกับเมืองยังไง เมืองก็เป็นแหล่งรวมประสบการณ์แบบหนึ่ง ในแง่ของการเรียนรู้ เราอาจต้องมองไปว่า ประสบการณ์การเรียนรู้ในเมืองหรือในย่านนั้นถูกส่งเสริมอยู่หรือเปล่า

แล้วเราจะสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ได้อย่างไร

          ถ้าพูดถึงเมืองแห่งการเรียนรู้ สิ่งแรกที่ต้องมีเลยคือต้นทุน จากนั้นก็ต้องมีคนเล่าเรื่อง มีกระบวนการเล่าเรื่อง สัมพันธ์กันอยู่บนพื้นที่นั้นๆ

          ผมขอยกตัวอย่างในแง่ของความเป็นท้องถิ่น ซึ่งเชื่อมโยงศิลปะวัฒนธรรมไทย อ้างอิงจากงานวิจัยของคณะสถาปัตย์ฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่เพิ่งเสร็จสมบูรณ์เมื่อไม่นานมานี้เรื่อง แผนแม่บทการจัดการเชิงพื้นที่ของการท่องเที่ยวเมืองเพชรบุรีและเส้นทางเลียบชายทะเล

          งานวิจัยนี้พูดถึงเมืองเพชรบุรี เราได้เรียนรู้จาก case study คือกลุ่มเยาวชนที่รวมตัวกันในชื่อ ‘กลุ่มลูกหว้า’ เขารู้ว่าจุดเด่นของเขาคือการมีต้นทุนทางวัฒนธรรม งานสกุลช่าง ซึ่งเขาเองก็อยากเรียนรู้ เริ่มต้นจากการลองไปเรียนกับพวกครูช่าง ผนวกกับการได้รับทุนสำหรับการสร้างเส้นทางการเรียนรู้ เขาจึงเริ่มสำรวจในเมืองว่ามีแหล่งเรียนรู้อยู่ตรงไหนบ้าง ตรงนี้ผมถือว่าเป็นต้นทุน จากนั้นสิ่งที่เยาวชนกลุ่มนี้ทำ คือการเป็นคนเล่าเรื่อง ทำหน้าที่ร้อยเรียงแหล่งเรียนรู้เหล่านี้ออกมา เพื่อสร้างเส้นทางการเรียนรู้ของเขา

          ผมยกตัวอย่างนี้เพื่อจะตอบคำถามว่า ถ้าเราอยากสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ เราอาจต้องมองไปที่ต้นทุนของเมืองนั้นๆ ก่อน หลายเมืองในประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ความเป็นมา มีต้นทุนหลายอย่างที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธรรมชาติ ระบบนิเวศ ประเพณีวัฒนธรรม และอื่นๆ อีกมากมาย นั่นคือข้อแรก เป็นเรื่องต้นทุนเดิมในแต่ละพื้นที่  

          ข้อต่อมา ผมคิดว่าเมืองแห่งการเรียนรู้ต้องถูกขับเคลื่อนกระบวนการทางสังคม โดยคนในชุมชนหรือสังคมนั้นเอง ข้อสุดท้ายคือเรื่องกระบวนการ ว่าจะทำให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาอย่างไร พอมีครบทุกองค์ประกอบแล้ว ก็ค่อยมาปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวย

สมมติว่ามองเห็นต้นทุนแล้ว จะนำมาพัฒนาต่อให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไร

          ปกติเวลาพูดถึงเมืองหรือการพัฒนาเมือง ในฐานะของคนนอก ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ หรือแม้แต่รัฐวิสาหกิจ จะชอบมองว่าต้องพัฒนาพื้นที่ก่อน คิดก่อนเลยว่าจะทำพื้นที่อะไร จะสร้างอะไร แต่ในมุมของผม พื้นที่ยังไม่จำเป็นต้องรีบทำ แต่คุณต้องลงไปดูก่อนว่าเขามีต้นทุนอะไร มีคนขับเคลื่อนไหม แล้วค่อยมาดูว่าต้องสร้างอะไรเสริมเข้าไป

          ถ้าทำได้แบบนี้ จะเกิดเป็นกระบวนการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ความยั่งยืนในที่นี้คือเขาต้องเรียนรู้เอง ทำเอง และดูแลด้วยตัวเอง นี่คือสิ่งที่ผมคิดเกี่ยวกับกลไกการพัฒนาเมืองเพื่อการเรียนรู้

หมายความว่าการพัฒนาเนื้อหา ควบคู่ไปกับการสร้างกระบวนการ อาจสำคัญกว่าการพัฒนาพื้นที่ทางกายภาพ

          ใช่ ต้องมอง content ของเขาก่อน มองให้เห็นต้นทุนของเขา อย่างที่บอกว่าเมืองแห่งการเรียนรู้ คนนอกเป็นคนเริ่มเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าห้ามเริ่มจากคนนอกนะครับ เพียงแต่ถ้าเป็นคนนอกเข้าไปทำ วิธีการพัฒนาจะถูกตีกรอบจากส่วนกลาง ซึ่งไม่ยั่งยืนเท่าไหร่

          หน้าที่ของเราคือเข้าไปขับเคลื่อนกระบวนการ เริ่มจากฐานรากขึ้นมา สมมติว่าในชุมชนนั้นมีกลุ่มโรงเรียน มีกลุ่มครูช่าง มีกลุ่มผู้นำอยู่ เราต้องค่อยๆ คุยกับเขา ให้เขาค้นหาและนำเสนอ content ของตัวเอง สร้างเป็นเส้นทางการเรียนรู้ แล้วมันจะกลายเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ จากนั้นค่อยเข้ามาดูในแง่ของพื้นที่ว่าจะเสริมได้ยังไงบ้าง เช่น เส้นทางการเรียนรู้ อย่างการเดินเท้า ทางมันน่าเดินไหม ปลอดภัยไหม พื้นที่การเรียนรู้แต่ละแห่ง สภาพแวดล้อมเป็นยังไง ต้องอนุรักษ์ในเชิงที่เป็นแหล่งเรียนรู้ไหม ดูว่าอะไรที่ขาด แล้วค่อยเสริมเข้าไป

          ในกรณีของเมืองเก่า บางทีเราแทบไม่ต้องสร้างอะไรใหม่เลย อย่างเมืองเพชรบุรีที่ยกตัวอย่างไปก่อนหน้านี้ เราจะเห็นว่าต้นทุนงานศิลปกรรมทั้งหลายอยู่ในวัด ในแง่นี้วัดสามารถเป็นศูนย์กลางได้ เป็นแหล่งการเรียนรู้แบบหนึ่ง เหมือนที่สมัยก่อนเราชอบบอกว่าวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน ในแง่การเรียนรู้ทางศิลปะวัฒนธรรมก็เป็นแบบนั้น

          อีกประเด็นที่ผมอยากเสนอ คือเมืองแห่งการเรียนรู้อาจไม่จำเป็นต้องครอบคลุมทั้งเมือง อาจเป็นแค่บางย่าน หรือบางพื้นที่ ถ้ามองในแง่นี้จะเห็นว่ามีพื้นที่มากมายที่สามารถพัฒนาได้ เริ่มจากเครือข่ายเล็กๆ แล้วค่อยๆ ส่งเสริมกันไป เมื่อเครือข่ายเล็กๆ หลายแห่งมาเชื่อมกัน ก็เกิดเป็นโครงข่ายขนาดใหญ่ได้ ถึงจุดนั้นมันอาจกลายเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ในแบบที่ไม่เป็นทางการก็ได้ ดังนั้นถ้าถามว่าควรเริ่มจากตรงไหน ผมว่าควรเริ่มจากย่านชุมชนก่อน

จากที่ฟังมา หมายความว่าเราไม่สามารถนำ concept หรือกระบวนการของต่างประเทศมาใช้แบบ 100% ได้ เพราะว่าแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน

          ใช่ครับ ผมคิดว่าทฤษฎีหรือแนวคิดต่างๆ จากตะวันตกอย่าง Smart City หรือ Knowledge City เราเรียนรู้ได้ แต่เราเอาคำตอบของเขามาใช้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้

          สิ่งที่เราเรียนรู้ได้ คือคำตอบที่ได้เขาคิดมาจากกระบวนการแบบไหน ปัญหาที่เขาเจอคืออะไร อ๋อ ปัญหาแบบนี้ เขาแก้ด้วยกระบวนการนี้ แล้วก็กลับมาดูของเรา ดูว่าปัญหาของเราคืออะไร แล้วเราจะแก้ปัญหายังไง อันนี้เป็นหลักพื้นฐาน แต่ถ้าจะเอารูปแบบหรือแนวคิดมาเทียบกับของไทยเลยทันที แบบนั้นคงใช้ไม่ได้

ถ้าอยากผลักดันให้เกิดย่านการเรียนรู้ในไทย ต้องอาศัยความร่วมมือจากใครบ้าง ควรเริ่มต้นอย่างไร

          อันดับแรกเลย ต้องไม่ใช้กระบวนการแบบ top down หมายความว่าหน่วยงานหรือองค์กรของรัฐต้องสนับสนุนอยู่ แต่ต้องสนับสนุนให้เกิดกระบวนการจากภาคชุมชนขึ้นมาก่อน ให้เขามองตัวเองก่อนว่า ในย่านชุมชนเขาต้องการอะไร การเรียนรู้ของเขาที่อยากจะส่งเสริมคืออะไร

          ขณะเดียวกัน พวกเราในฐานะที่เป็นคนนอก ต้องอย่ายึดติดกับกรอบว่าการเรียนรู้ต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ มันอาจไม่สำคัญในมุมเรา แต่สำคัญกับเขา สิ่งเหล่านี้จะยั่งยืนได้ก็ต่อเมื่อมันเกิดและเป็นความต้องการจากคนในพื้นที่ หัวใจสำคัญคืออย่ามองแค่ตัวพื้นที่ แต่ให้มองที่เรื่องราวของพื้นที่นั้น

          ในแง่หนึ่งก็ถูก ที่บอกว่าเมืองต้องมีโน่น ต้องมีนี่ แต่เราไม่สามารถเอาแนวคิดสำเร็จรูปมาวางลงไปได้ เพราะสุดท้ายถ้าเราฝืน ทำออกแล้วมันจะไม่ได้ใช้

          ท้ายที่สุดการพัฒนาหรือส่งเสริมให้เกิดพื้นที่เพื่อการเรียนรู้นั้น ไม่อาจเกิดขึ้นและสำเร็จได้จากเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่จะเกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง การออกแบบเมืองที่ดีและช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ ไม่ใช่แค่หน้าที่ของสถาปนิกหรือใครคนใดคนหนึ่ง แต่ทุกๆ คนในพื้นที่ต่างมีส่วนร่วมและสามารถออกแบบพื้นที่ของเราได้

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก