ดูหนัง นั่งคุย นิ่งคิดกับ ‘ธิดา ผลิตผลการพิมพ์’ เรียนรู้ความแตกต่างหลากหลายผ่านโลกของภาพยนตร์และโรงหนัง

1,007 views
7 mins
August 24, 2022

          เมื่อได้ยินคำว่า ‘โรงหนัง’ คุณนึกถึงอะไร

          บ้างอาจนึกถึงจอภาพยนตร์ขนาดยักษ์คุณภาพสูง บ้างอาจนึงถึงเก้าอี้นวมนุ่มๆ และแอร์ที่หนาวจับใจ และบ้างก็อาจนึงถึงสารพัดหนังฟอร์มยักษ์ที่คงจะฟินไม่น้อยหากได้ดูไปพร้อมๆ กับป๊อปคอร์นถังใหญ่เต็มสองมือ

          พูดอีกอย่างว่า โรงหนังคือพื้นที่สำหรับประสบการณ์ความบันเทิง

          ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรที่ภาพจำของโรงหนังจะเป็นเช่นนั้น แต่คำถามคือ จำเป็นแค่ไหนกันที่โรงหนังจะต้องเป็นพื้นที่ของความบันเทิงเพียงอย่างเดียว

          ในยุคสมัยที่โรงภาพยนตร์กับห้างสรรพสินค้ามักจะถูกจับคู่อยู่ด้วยกันอย่างแยกไม่ขาด Doc Club & Pub คือโรงหนังขนาดกะทัดรัดที่เลือกเดินในเส้นทางที่ต่างออกไป นั่นเพราะ Doc Club & Pub ไม่ฉายหนังบล็อกบัสเตอร์ และไม่ได้ตั้งอยู่ในห้าง แต่โรงภาพยนตร์เลือกที่จะนำเสนอหนังและสารคดีที่หลากหลายและแตกต่าง และที่สำคัญคือ มีพื้นที่ให้อ้อยอิ่ง พูดคุย และถกเถียงกันได้ต่อหลังดูหนังจบ

          “สำหรับเรา การดูหนังมันไม่ได้สิ้นสุดแค่สองชั่วโมง เพราะสิ่งสำคัญคือบทสนทนาที่เกิดขึ้นต่อจากนั้น ภาพยนตร์สามารถนำไปสู่การเรียนรู้ใหม่ๆ ได้” ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Doc Club & Pub เล่าให้เราฟังระหว่างการสนทนา

          ความหลากหลายของภาพยนตร์สำคัญอย่างไร เหตุใดโรงภาพยนตร์จึงควรมีอิสระ ไปจนถึง อะไรคือปัญหาของวัฒนธรรมการดูหนังทุกวันนี้

          ไม่แน่ว่า หลังจากได้อ่านคำตอบของธิดา คุณอาจจะอยากย้อนกลับไปทบทวนนิยามของโรงหนังในความทรงจำอีกครั้งก็เป็นได้

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

Q : คุณมีความทรงจำต่อการดูหนังและโรงภาพยนตร์อย่างไรในช่วงที่เติบโตขึ้นมา

A : เราเติบโตมาในครอบครัวคนจีน ซึ่งเวลาส่วนใหญ่คือการทำมาหากิน การไปดูหนังมันเลยเป็นเหมือนมหกรรมพิเศษสำหรับครอบครัว อย่างสมมติว่าศุกร์นี้ป๊ากับม๊าจะพาไปดูหนัง เราก็จะต้องรีบอาบน้ำแต่งตัว มันดูเป็นเรื่องใหญ่มาก (หัวเราะ) ตอนนั้นโรงหนังจะเป็นแบบ stand alone ที่แต่ละโรงจะฉายหนังแตกต่างกันไป

Q : แล้วพอโตขึ้นล่ะ ประสบการณ์ต่อโรงภาพยนตร์ของคุณเปลี่ยนไปอย่างไร

A : จากที่ครั้งหนึ่งเราตามคนอื่นไปดูตลอด พอเราโตขึ้นก็เริ่มไปดูหนังคนเดียว ได้เลือกหนังที่อยากจะดูด้วยตัวเอง ความรู้สึกของการดูหนังมันเลยเริ่มจะเป็นเรื่องส่วนตัวมากขึ้น แต่ในแง่ของบรรยากาศของโรงภาพยนตร์ เราคิดว่ามันเปลี่ยนไปจริงๆ ช่วงที่เริ่มมีโรงหนังมัลติเพล็กซ์เกิดขึ้นนั่นแหละ พอดีว่าตอนนั้นเราทำงานนิตยสารภาพยนตร์พอดี (นิตยสาร Bioscope) เลยได้มีโอกาสไปร่วมงานเปิดตัวโรงภาพยนตร์ใหม่ๆ ในฐานะสื่อมวลชน ช่วงนั้นเราก็เลยเริ่มสัมผัสได้ถึงบรรยากาศของโรงภาพยนตร์อีกแบบหนึ่งที่แตกต่างไป นั่นคือโรงภาพยนตร์ที่โปรโมตเรื่องความล้ำเลิศของเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบเสียง ความคมของจอภาพยนตร์ มันเป็นครั้งแรกที่เราเพิ่งมารู้สึกว่า ประสบการณ์ดูหนังในเชิงเทคโนโลยีมันสำคัญขนาดนี้ 

เราคิดว่าตัวเองเติบโตในยุคเปลี่ยนผ่าน จากยุคหนึ่งที่เรื่องคุณภาพในการดูหนังคือประเด็นสุดท้ายที่คนจะนึกถึง ไปสู่ยุคมัลติเพล็กซ์ที่เทคโนโลยีทางภาพยนตร์กลายเป็นมาตรฐาน มันกลายเป็นสิ่งที่โรงหนังทุกโรงหลังจากนั้นต้องให้ความสำคัญ เพราะคนดูจะเริ่มตั้งคำถามหากโรงภาพยนตร์ของคุณไม่ได้อัปเกรดตัวเองไปสู่ระดับเดียวกัน เช่น ทำไมเบาะนั่งไม่สบาย ทำไมจอมืดจัง 

Q : พูดได้ไหมว่า เทคโนโลยีทางภาพยนตร์คือสาเหตุที่ทำให้โรงหนัง stand alone หดหายไป

A : เทคโนโลยีก็อาจเป็นส่วนหนึ่ง แต่เราคิดว่า สาเหตุสำคัญคือรูปแบบของธุรกิจภาพยนตร์ที่เปลี่ยนไป ภายใต้การเข้ามาของโรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์ที่เลือกจะขยายกิจการด้วยการร่วมมือกับห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ หรือพัฒนาตัวเองเป็นอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ เน้นการขยายสาขา เปิดรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ลงทุนสูง กลยุทธ์พวกนี้ก็ทำให้โรงภาพยนตร์ stand alone ปรับตัวสู้ยากและยิ่งอยู่ยากขึ้นเรื่อยๆ

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

Q : คุณมองว่า โมเดลธุรกิจแบบโรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์ ส่งผลให้ความหลากหลายของภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ลดลงไหม

A : เราคิดว่ามันมีหลายปัจจัยเกิดขึ้นพร้อมกัน เพราะอย่างโรงหนัง stand alone ที่เราดูตอนเด็กๆ โมเดลธุรกิจมันจะเป็นอีกแบบ นั่นคือมันจะมีโรงภาพยนตร์ที่เป็นเครือเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง กระจัดกระจายกันไป มันเลยจะมีผู้เล่นที่เป็นเจ้าของโรงภาพยนตร์แห่งต่างๆ ที่ค่อนข้างหลากหลาย และแต่ละโรงก็จะจับมือกับผู้จัดจำหน่ายหรือตัวแทนภาพยนตร์ต่างๆ กันไปด้วย ทำให้เกิดโรงที่ฉายหนังอินเดียเป็นหลัก ฉายหนังไต้หวันเป็นหลัก หนังไทยเป็นหลัก 

แต่การเกิดขึ้นของโรงมัลติเพล็กซ์ซึ่งเป็นโรงหลายๆ จอรวมตัวกันอยู่ในสถานที่เดียวกัน และกระจายเครือข่ายออกไปสู่พื้นที่มากมาย มันมาพร้อมๆ กับแนวคิดในการจัดโปรแกรมหนังเพื่อตอบสนองพฤติกรรมแบบ “ลูกค้ามาถึงโรงกี่โมงต้องได้ดูหนังทันที” ทำให้เกิดการจัดรอบถี่ๆ จำนวนมากๆ ให้กับหนังที่มีศักยภาพทางการตลาดที่สุด ซึ่งก็หนีไม่พ้นหนังจากสตูดิโอฮอลลีวู้ดซึ่งมีวิธีทำการตลาดรุนแรงที่สุด พอจัดรอบด้วยวิธีคิดนี้ หนังอื่นๆ ก็ถูกเบียดขับออกไป หนังที่ทำการตลาดสู้ได้น้อยกว่าก็ถูกปัดไปเป็นหนังชายขอบ หนังนอกกระแส และได้รับทั้งพื้นที่ทั้งเวลาน้อยลงทุกทีๆ สุดท้ายโรงหนังที่มีเป็นร้อยเป็นพันจอทั่วประเทศก็เลยเหลือหนังยึดครองครั้งละแค่ไม่กี่เรื่อง

Q : แม้ว่ารูปโมเดลธุรกิจของโรงภาพยนตร์จะเปลี่ยนไปมากจนส่งผลให้จำนวนโรงหนัง stand alone ลดลงไป แต่อะไรคือสาเหตุที่ทำให้โรงหนัง stand alone บางแห่งยังเลือกจะสู้ต่อ

A : เราคิดว่าเจ้าของโรงหนังบางคนก็ยังมีความผูกพันในธุรกิจของตัวเองแหละ ยังมีคนที่เชื่อมั่นในตลาดของตัวเอง และพยายามที่จะต่อสู้ โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด แต่ถ้าเราขยับมาดูในกรุงเทพฯ เราจะเห็นว่า โรงหนังอิสระมันหายไปเยอะจริงๆ นะ ตอนนี้เหลืออยู่แค่ไม่กี่แห่งแล้ว 

ในแง่หนึ่งมันก็น่านับถือใจคนที่เขาสู้นะ เพียงแต่สิ่งที่น่าเสียดายคือ อย่างเมื่อก่อนที่โรงภาพยนตร์มันหลากหลาย มันจะไม่มีใครมาพูดหรอกว่า ฉันคือโรงหนังกระแสหลัก ส่วนคุณคือโรงหนังทางเลือก เพราะทุกคนต่างทำกิจการโรงหนังของตัวเองในโมเดลที่ตัวเองเชื่อ

Q : ในฐานะที่คุณเองก็มีโรงภาพยนตร์ของตัวเอง คุณมองว่า ความอิสระสำคัญยังไงต่อโรงภาพยนตร์

A : การมีอิสระแปลว่า คุณจะมีอำนาจบริหารจัดการคอนเทนต์ที่เหมาะสมกับคนที่คุณมองว่าเป็นลูกค้า มันไม่ได้แปลว่า ทุกครั้งที่มีการโปรโมตหนังใหญ่สักเรื่องขึ้นมา แล้วโรงภาพยนตร์ทุกแห่งจะต้องเล่นอยู่ในเกมเดียวกันจนผู้บริโภคเลือกอะไรไม่ได้ สังคมที่ทุกคนต้องดูหนังเรื่องเดียวกันหมดมันจะสนุกได้ยังไง อิสระคือความมีสีสัน ซึ่งเราคิดว่านั่นแหละคือวัฒนธรรมของการดูหนัง มันมีทางเลือก มีความสนุกหลากหลายแบบสำหรับคนหลายๆ คน

Q : อย่างตอนที่คุณเริ่มก่อตั้ง Documentary Club ขึ้นมาเมื่อหลายปีก่อน คุณก็เลือกนำเข้าหนังสารคดีที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนักมาฉาย อะไรคือสาเหตุให้คุณเลือกนำเข้าหนังสารคดีแทนที่จะเป็นหนังนอกกระแส

A : Documentary Club เกิดขึ้นจากความคิดที่เราอยากจะบอกกับคนดูว่า บนโลกนี้มันยังมีหนังที่หลากหลายอยู่เต็มไปหมดที่มันไม่ค่อยได้ปรากฏให้เห็นในโรงภาพยนตร์ ยังมีหนังอีกนับไม่ถ้วนที่ไม่เคยมีโอกาสได้เข้าฉายในประเทศไทย ไม่มีพื้นที่ให้คนได้รู้จักและเสพมันจริงๆ แต่ด้วยความที่หนังนอกกระแสเองก็มีคนอื่นๆ ในวงการภาพยนตร์ทำอยู่ก่อนแล้ว เราก็เลยนึกถึงหนังสารคดี เพราะสำหรับเรา หนังสารคดีมันสนุกมากนะ แถมยังสามารถสร้างบทสนทนากับสังคมไทยได้เยอะมาก แต่มันกลับไม่เคยมีพื้นที่ตลาดของมันจริงๆ เลย 

Q : นับจากวันนั้นถึงวันนี้ คุณคิดว่ามุมมองที่คนไทยมีต่อหนังสารคดีเปลี่ยนแปลงไปบ้างไหม

A : มันอาจเปลี่ยนบ้าง แต่เราไม่ได้กำลังจะบอกว่าเป็นเพราะ Documentary Club นะ เราคิดว่ามันเป็นเพราะการทำอย่างต่อเนื่องของหลายๆ คนหลายๆ กลุ่ม รวมถึงการมาของแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีหนังสารคดีมากมายด้วย ทำให้การดูหนังสารคดีที่เป็นฟีเจอร์ฟิล์มกลายเป็นสิ่งที่คนคุ้นเคยมากขึ้นๆ ถ้ายกตัวอย่างจากประสบการณ์ส่วนตัวของเรา ในช่วงแรกที่เริ่มทำ Documentary Club เวลาเราจะเอาหนังสารคดีไปขายใคร คำตอบที่ได้มักจะเป็น “ใครจะอยากไปโรงหนังเพื่อดูหนังสารคดี” หรือไม่ก็ “ช่องสารคดีอย่าง National Geographic หรือ Discovery Channel มันก็มีอยู่แล้วไง ดูฟรีได้อยู่แล้วไม่เห็นต้องเสียเงินไปดูในโรง” แต่ปัจจุบันเราแทบจะไม่ต้องอธิบายแล้วทำไมเราถึงอยากฉายหนังสารคดีให้คนดู 

อีกเหตุผลที่เราคิดว่าทำให้หนังสารคดีได้รับการยอมรับกว้างขวางขึ้นด้วย ก็คือการเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่ๆ ซึ่งมีความตื่นตัวต่อประเด็นทางสังคม และอาจเพราะคนรุ่นใหม่ๆ มีโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือสื่อสารสำคัญ ทำให้เขาได้รับรู้ความเป็นไปของโลกภายนอกกว้างขวางขึ้น เรื่องราวของพื้นที่และผู้คนหลากหลายที่ถูกเล่าในหนังสารคดีก็เลยเป็นที่สนใจของคนรุ่นใหม่มากขึ้นตามไปด้วย

Q : คุณเคยนิยาม Doc Club & Pub ว่าเป็น Learning Space อะไรคือเงื่อนไขที่โรงภาพยนตร์แห่งหนึ่งจะเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้

A : ทุกที่มันสามารถเป็น Learning Space ได้หมดแหละ เพียงแต่พอเป็นโรงหนังมันก็จะมีหนังเป็นเครื่องมือในการสร้างการเรียนรู้  อย่างเราเองก็จะชอบคุยเรื่องหนังที่ได้ดูมาตั้งแต่เด็กๆ คุยได้เป็นชั่วโมงๆ กับพี่ชายที่ชอบหนังเหมือนกัน แล้วพอโตขึ้นมาเราก็มีโอกาสได้อ่านงานวิจารณ์ภาพยนตร์ซึ่งก็ยิ่งเปิดโลกสุดๆ สำหรับเราการดูหนังมันไม่ได้สิ้นสุดแค่สองชั่วโมง เพราะสิ่งสำคัญคือบทสนทนาที่เกิดขึ้นต่อจากนั้น 

ภาพยนตร์สามารถนำไปสู่การเรียนรู้ใหม่ๆ ได้ โดยที่พื้นที่ของโรงหนังมันก็ควรจะสนับสนุนตรงนี้นะ ไม่ว่าจะในเชิงการจัดกิจกรรมที่ตอบสนองการเรียนรู้จริงๆ เช่น จัดวงสนทนาแลกเปลี่ยนหลังดูหนัง หรือจะในเชิงบรรยากาศที่เอื้อให้คนดูสามารถนิ่งคิดถึงหนังต่อได้หลังเดินออกจากโรง แต่โรงหนังปัจจุบันกลับไม่ค่อยให้ความสำคัญกับอะไรเหล่านี้ ไม่ว่าจะด้วยความเอะอะมะเทิ่งของห้างสรรพสินค้า หรือการที่โรงหนังรีบเปิดไฟไล่คนดูทันทีเมื่อหนังจบ โรงหนังที่ทำให้เรารู้สึกว่าได้ใช้เวลากับหนังอย่างเต็มที่มันไม่เหลือแล้ว หนังแทบจะถูกทำให้กลายเป็นสินค้าที่ต้องรีบซื้อรีบกินให้เสร็จๆ ไป

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

Q : แล้วอย่างวัฒนธรรมการดูหนังในปัจจุบันล่ะ มีประเด็นไหนที่คุณมองว่าเป็นปัญหาไหม

A : คิดว่าการที่เราไม่ค่อยมีโอกาสได้ใช้เวลากับการใคร่ครวญถึงหนัง แลกเปลี่ยนรับฟังความเห็นคนอื่น หรือหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำหนังเรื่องนั้นๆ เพื่อจะได้เข้าใจมันมากขึ้นเนี่ยแหละที่เรารู้สึกว่าเป็นปัญหาเหมือนกัน พอทุกอย่างมันถูกตลาดทำให้กลายเป็นของต้องรีบกินรีบย่อยและมีโซเชียลมีเดียเป็นตัวกระตุ้นให้เรารู้สึกว่าต้องรีบแสดงความเห็น ก็เลยนำมาซึ่งวัฒนธรรมการตัดสินหนังแบบเร่งรีบ แบบยึดเอาความชอบส่วนตัวเป็นความถูกต้อง แล้วก็ลดทอนความสำคัญของความเห็นคนอื่นๆ หรือความสำคัญของหนังแบบต่างๆ ลงไป 

เช่นว่า ถ้าเราเจอหนังที่เราดูไม่เข้าใจ เราจะไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการวิจารณ์แบบสร้างสรรค์กันแล้ว เราไม่ถามคนอื่นว่าเขาคิดยังไง ทำไมเขาคิดไม่เหมือนเรา เรามองข้ามอะไรไปไหม มีอะไรที่เราน่าค้นคว้าเพิ่มไหม แต่เราจะสรุปว่าหนังเรื่องนั้นแย่หรือไม่ควรให้ค่า ราวกับเราหลงลืมไปแล้วว่า ภาพยนตร์จริงๆ มันไม่ได้มีอยู่แบบเดียว สิ่งที่เราคุ้นเคยมันเป็นแค่เสี้ยวเดียวของโลกภาพยนตร์เท่านั้น และคุณค่าของการเสพมันในฐานะงานศิลปะควรจะอยู่ตรงที่เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ที่ท้าทายตัวเราเองไปเรื่อยๆ 

Q : เหมือนที่คนบอกว่า ไปดูหนังก็ต้องได้รับความบันเทิงสิ

A : ความบันเทิงมันมีได้หลายแบบไง อย่าไปปิดกั้นตัวเองว่าฉันจะมีความสุขได้แต่กับสิ่งนี้แบบนี้เท่านั้นตลอดชีวิต หรือถ้าเราคิดแบบนั้น ก็อย่าไปตัดสินคนที่คิดไม่เหมือนเรา บางคนดูหนังสนุกเฮฮาแล้วบันเทิง บางคนดูหนังที่ต้องขบคิดแล้วบันเทิง หรือคนเดียวกันก็อาจจะต้องการความบันเทิงที่ต่างกันในแต่ละช่วงเวลาก็ได้ การดูหนังที่เข้าใจยากและพยายามหาคำตอบว่าคนทำกำลังต้องการทำอะไรกับเรา มันก็เป็นความบันเทิงแบบหนึ่งเหมือนกัน

Q : อย่างช่วงหลังๆ มานี้ เราเห็น Doc Club เองก็ไปจับมือกับพื้นที่อิสระต่างๆ ในต่างจังหวัดเพื่อจัดฉายหนังมากขึ้น มีกิจกรรมเสวนาหลังหนังจบ ซึ่งก็ดูได้รับเสียงตอบรับจากคนในพื้นที่เป็นอย่างดี คุณรู้สึกอย่างไรกับการได้เห็นภาพเหล่านี้

A : เราคิดว่าหนังแบบที่เรานำมาฉายก็มีคนที่สนใจอยากดูอยู่ในหลายๆ พื้นที่นะ ไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ เพียงแต่โรงหนังที่กระจายตัวไปยังต่างจังหวัดอาจยังไม่เห็นความสำคัญของหนังที่แตกต่างเพื่อคนกลุ่มอื่นๆ มากนัก กลุ่มคนดูที่ไม่ใช่คนดูหนังกระแสหลักอย่างเดียว ซึ่งพอมันเกิดพื้นที่อิสระในต่างจังหวัดมากขึ้น เขาเองก็อยากให้มีกิจกรรมเพิ่มเติมในพื้นที่ของเขา ขณะที่เราก็อยากให้หนังเรามีโอกาสได้ไปฉายพอดีแล้วมันก็ทำให้เราได้เห็นภาพของกิจกรรมหลังจากฉายหนังจบจะมีการนั่งล้อมวงคุยกัน ทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่ ซึ่งทุกคนดูคุยกันจริงจังมาก เราโคตรประทับใจเลย

เราคิดว่าพื้นฐานของวัฒนธรรมการวิจารณ์ ในแง่หนึ่งมันก็คือเรื่ององค์ความรู้ที่ต้องนำมาใช้ในการตัดสินประเมินคุณค่าแหละ แต่อีกองค์ประกอบที่สำคัญมันคือการพูดคุย แลกเปลี่ยน ถกเถียง ซึ่งอะไรพวกนี้มันเป็นกิจกรรมที่ใช้เวลา และใช้ empathy มากเลยนะ

Q : สำหรับคุณ ความหลากหลายของภาพยนตร์สำคัญต่อสังคมไทยอย่างไร

A : หนังเป็นสื่อที่ทำงานกับคนวงกว้างที่สุดในบรรดาสื่อทั้งหมด ซึ่งพอมันมีหนังหรือสารคดีที่ประเด็นของมันเชื่อมโยงกับทัศนคติของโลกที่เปลี่ยนไปมากขึ้น มันก็ยิ่งจำเป็นสำหรับสังคมที่มีความอนุรักษ์สูงอย่างสังคมไทย หรืออย่างหนังที่ใช้วิธีการเล่าแบบอื่นๆ ที่แตกต่างออกไป เราคิดว่ายิ่งสำคัญเลย สังคมไทยทุกวันนี้มักจะตัดสินว่า อะไรก็ตามที่แตกต่างไปจากการรับรู้ของเราคือผิด ฉันเท่านั้นคือความถูกต้อง ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่เรารับรู้มามันอาจเป็นเพียงสิ่งหนึ่งสิ่งเดียว อาจเป็นแค่วิธีเล่าแบบเดียวท่ามกลางอีกร้อยแปดพันเก้าวิธีของโลกภาพยนตร์เท่านั้น โดยที่วิธีการซึ่งต่างออกไปนั้นก็ไม่ได้แปลว่าผิดด้วยไง

เราก็หวังนะว่าความหลากหลายของภาพยนตร์จะช่วยให้สังคมคุ้นเคยกับความแตกต่างและมองเห็นเฉดสีอื่นๆ บนโลกนี้มากขึ้น

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก