The LITTLE Gallery – Silent Auction

509 views
5 mins
December 9, 2022

          โรงเรียนเราตั้งอยู่ที่ภาคเหนือของประเทศไทย ตึกทุกตึกในโรงเรียนถูกสร้างมาจากดินก่อขี้นภายใต้หลังคาไม้ไผ่ โต๊ะและเก้าอี้ทุกตัวก็ทำมาจากไม้ไผ่เช่นกัน โรงเรียนของเราให้ความสำคัญกับ”ธรรม-ชาติ” เรามีผืนนาที่ชุมชนของเราได้ร่วมกันดำนาปลูกข้าวเพื่อนำมาหุงมื้อกลางวันทานในโรงเรียน เรามีสถานีสิ่งของที่นำกลับมาใช้หรือประดิษฐ์ใหม่อยู่หลายๆ มุมทั่วโรงเรียน เรามีป่าไผ่ที่เด็กสามารถเข้าไปเล่นช่วงเวลาพักและมักลงเอยด้วยการสร้างอาณาเขตเผ่าตนเอง

          ในทุกๆ วันศุกร์คาบสุดท้ายของเราจะเป็นวิชาที่มีชื่อว่า “Becoming an Expert” ซึ่งเด็กนักเรียนชั้นประถมต้นได้ใช้เวลาประมาณ 55 นาที ในการเลือกหัวข้อ ค้นคว้า ทดลอง และลงมือทำโปรเจกต์ที่ตัวเองสนใจ อะไรก็ได้ที่มีขอบเขตในรั้วโรงเรียนและปลอดภัยต่อตนเองและชุมชน โดยมีคุณครูทั้งระดับชั้นประถมเป็นผู้ช่วยและให้การสนับสนุนตามแต่เด็กๆ จะร้องขอความช่วยเหลือ ในวิชานี้คุณครูจะไม่มีหน้าที่ในการสอนใดๆ แต่สามารถลงมือทำและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเด็กๆ ได้

          เรามาลองจินตนาการสิ่งที่เด็กๆ สนใจลงมือทำกันนะคะ โปรเจกต์มีตั้งแต่การทดลองทำขนมและนำไปขายหน้าโรงเรียนเพื่อนำเงินไปช่วยสัตว์จรจัด การทดลองลงมือทำของเล่นจากเศษไม้ที่หาได้ในป่าไผ่ของเรา โดยฝึกใช้เครื่องมือจากมุมช่างภายใต้ศาลาเรียนของคุณครูผู้สอนวิชาทักษะชีวิต (Life Skills) การทำเครื่องประดับจากอะไรก็ได้รอบตัว ใครรักขนมไทยก็จะต้องลองหาข้อมูลแล้วฝึกทดลองทำขนมตามแต่ความชอบ(ทาน)ของตน เสร็จสรรพหน้าเตาก็จะได้เดินไปขายขนมให้คุณครูในโรงเรียนลองชิม ชม และติ รายได้จาการขายขนมนำมาใช้ซื้อวัตถุดิบในเมนูครั้งต่อไป

          จุดมุ่งหมายของวิชานี้มิได้เน้นผลสำเร็จปลายทาง หากแต่มองถึงกระบวนการคิด วิเคราะห์ และลงมือทำ การเก็บร่องรอยการเรียนรู้ระหว่างทาง เด็กคนไหนทำไปแล้วรู้สึกว่าตนเองล้มเหลวหรือผลลัพธ์ไม่ได้เป็นไปดังที่คาดหวัง การเขียนบันทึกและทำความเข้าใจถึงข้อผิดพลาดก็เป็นเรื่องที่จำเป็นไม่แพ้กันกับการได้ลงมือทำแล้วพัง

          ครูทุกท่านทราบดีว่าทุกโปรเจกต์ที่สำเร็จและล้มเหลวนั้นคือการเรียนรู้ที่ควรได้รับการเฉลิมฉลองและยกย่องอย่างเท่าเทียมกัน เด็กบางคนก้าวแรกเริ่มที่ความสับสนยังไม่รู้จักตัวเอง พอไปได้ยินในสิ่งที่เพื่อน(สนิท)สนใจ จนตัวเองไขว้เขว คิดไปเองว่าฉันก็ชอบและสนใจอยากทำเหมือนกัน หรือกลัวการลงมือทำอะไรคนเดียว พอได้ลงมือทำตามเพื่อนๆ แล้วจึงรู้สึกว่ามันไม่ใช่ งานไม่เดินหน้าเพราะสมองไม่แล่นเหมือนเจ้าของไอเดีย ผ่านไปหลายสัปดาห์ก็มักจะล้มเลิกความสนใจ แล้วตั้งต้นใหม่ด้วยสิ่งที่ท้าทายความหลงใหลอยากลองของตนเองจริงๆ

          เราให้ความสำคัญกับทุกกระบวนการ มีข้อจำกัดแค่เวลา 1 ปีการศึกษา และความปลอดภัยของทุกๆ คน ยิ่งถ้ามีผู้ปกครองบ้านไหนติดตามบวกกับใส่ใจไปในแนวทางเดียวกัน คอยถามไถ่พูดคุย พาออกไปท่องโลกนอกรั้วโรงเรียนเพื่อช่วยจุดประกายความใฝ่รู้ เติมเต็มกองไฟแห่งการค้นหาในตัวลูกและพร้อมให้อิสระกับพื้นฐานกระบวนการเรียนรู้ โปรเจกต์ของเด็กๆ ก็จะงอกงามและเบ่งบานจากความภูมิใจในตัวตนของเขาและเธอ แต่ละโปรเจกต์มีทั้งความสุข สนุกและน้ำตา รวมไปถึงการทำความรู้จักตนเองในมุมมองที่ครูและผู้ปกครองก็อาจไม่เคยได้เห็นเขาและเธอมาก่อน

          ย้อนกลับไปอาชีพแรกในเมืองกรุงของครูแพท (ผู้เขียน) ระหว่างกำลังเรียนปริญญาโท คืออาชีพผู้ประสานงานให้กับแกลเลอรีขายงานศิลปะแห่งหนึ่งย่านสีลมและสุขุมวิท การได้อยู่ท่ามกลางงานศิลปะในพื้นที่เงียบสงบ มีแสงไฟพอเหมาะ เดินช้าๆ ค่อยๆ ย่อยแล้วหยุดเสพงานศิลปะตรงหน้ากับบรรยากาศเย็นๆ เป็นสวรรค์อย่างหนึ่งสำหรับชีวิตที่วุ่นวายของคนกรุง

          ตั้งแต่ย้ายถิ่นฐานมาเป็นครูอยู่บนดอย การได้มาช่วยดูแลเด็กๆ ชั้นประถม 2 ในวิชา “Becoming an Expert” และได้อยู่ในกลุ่มที่เด็กๆ ให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องวาดรูปและระบายสี จึงช่วยจุดประกายให้คิดถึงบรรยากาศการเสพงานศิลป์แบบชาวเมืองที่จำกัดอยู่แต่ในกรอบ ในปีการศึกษานี้ ชั้น ป.2 ของเรามีกลุ่มเด็กที่สนใจในเรื่องวาดรูปจำนวนกว่า 10 คน ครูแพทและครูอีกท่านหนึ่งก็ได้ลงมือทำงานศิลปะของตนเองไปพร้อมๆ กับเด็กๆ ด้วย ครูแพทได้เห็นถึงวิธีการทำงานของเด็กแต่ละคนที่แตกต่างกันไป ความสนใจในเทคนิค รูปแบบ การหาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับสิ่งที่เขาอยากวาด เวลาที่ทุ่มเทและชิ้นงานที่ประดิษฐ์ออกมา รวมไปถึงจำนวนชิ้นงานที่ได้ลงมือทำสำเร็จ

          เราทุกคนลงความเห็นว่า จุดหมายปลายทางคือการได้นำรูปที่พวกเรารังสรรค์นั้นไปแสดงให้เพื่อนๆ และชุมชนโรงเรียนของเราได้ชมและมีส่วนร่วมกันทำประโยชน์ต่อสังคม จะมีสถานที่ไหนในรั้วโรงเรียนที่เราจะสามารถสื่อถึงคุณค่าทางด้านศิลปะและแสดงเจตนารมณ์ในการเป็นศูนย์รวมพลังที่ดีไปกว่า “ห้องสมุดโรงเรียนของเรา”

          ขอบเขตงานของเด็ก ป.2 นั้น ถ้านักเรียนคนไหนสนใจอยากจัดแสดงงานพร้อมเพื่อนๆ และครู เขาหรือเธอจะต้องมีชิ้นงานเข้าร่วมจัดแสดงอย่างน้อย 1 ชิ้น ข้อตกลงของพวกเราขึ้นอยู่ตามความสมัครใจที่อยากเข้าร่วมและส่งงานตามกำหนด 1 อาทิตย์ก่อนปิดภาคเรียน แต่ในขอบเขตของครูผู้มีหน้าที่จุดประกายให้เด็กๆ เห็นถึงเป้าหมายปลายอุโมงค์ เราจำเป็นต้องใช้ห้องสมุดเป็นเวทีที่จะสามารถบอกเล่าได้มากกว่าการเป็นแค่ที่จัดแสดงโชว์ผลงานนักเรียน

          ห้องสมุดโรงเรียนของเราไม่เพียงตอบโจทย์แค่เป็นสถานที่สงบ ร่มเย็น และสวยงามในเชิงสถาปัตยกรรมนอกกรอบเท่านั้น หากที่นี่ยังเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ มีงานศิลปะหลายๆ ชิ้นที่อ้างอิงข้อมูลการค้นคว้าที่ได้มาจากห้องสมุด เด็กบางคนใช้เวลาในคาบนี้ไปกับการมาห้องสมุดเพื่อหาหนังสือที่ตนเองสนใจและนำมาฝึกวาดทันที บางคนเป็นแฟนพันธุ์แท้หนังสือเล่มโปรดก็หยิบเอาตัวละครในนั้นมาวาดรูปแสดงผลงานของตนเอง เด็กชายคนหนึ่งค้นคว้าข้อมูลเรื่องชนิดพันธุ์สัตว์น้ำบางจำพวกก็หมกมุ่นวาดมันออกมาหลากหลายสายพันธุ์ดูน่าตื่นตาตื่นใจมาก ในทุกสัปดาห์ครูแพทจะได้เห็นลายเส้นที่สนุกสนานตามแต่อุปนิสัยของสัตว์ตัวนั้นๆ

          และแล้วกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนเล็กๆ ก็เกิดขึ้นในมุมมองที่เราแต่ละคนไม่คาดคิดมาก่อน เมื่อได้ห้องสมุดเป็นอาณาเขตแห่งการบันทึกประสบการณ์ เราจึงเปิดโอกาสให้ทั้งนักเรียนและครูทุกท่านในโรงเรียนสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งโดยการส่งผลงานตนเองมาร่วมแสดงตามวันเวลาที่กำหนดพร้อมๆ กับพวกเราชาวประถม 2

          ช่วงสุดท้ายที่ขาดเสียไม่ได้คือการประกาศชวนเชิญผู้ปกครองมาเป็นส่วนหนึ่งของบทเรียนแสนสนุกนี้ นี่จึงเป็นที่มาของ “The LITTLE Gallery” (Silent Auction) หรืองานแสดงนิทรรศการศิลปะในรูปแบบการเปิดประมูลเงียบ 2 วัน ความน่าตื่นเต้นและท้าทายของงานคือ เวลาที่มีไม่มากนักกับศิลปินที่มีความหลากหลายในช่วงอายุและประสบการณ์ ชิ้นงานจึงออกมาแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ครูจะช่วยติดชื่อชิ้นงานและสอบถามเรื่องแรงบันดาลใจข้างหลังภาพ ใครที่สนใจจะประมูลงานนั้นจะต้องเริ่มต้นที่ราคาขั้นต่ำเหมือนกัน วิธีการคือแค่เขียนชื่อ เบอร์โทรติดต่อกลับ และราคาที่ต้องการ เมื่อการประมูลสิ้นสุดลง ครูจะเป็นคนติดต่อผู้โชคดีชนะการประมูลและได้เป็นเจ้าของชิ้นงานนั้นๆ

          มันเป็นเวลา 2 วันเต็ม ที่ทั้งครูและนักเรียนวิ่งผลัดกันไปห้องสมุดบ่อยๆ วันละหลายๆ รอบ แม้งานชิ้นที่ไม่ได้เสร็จสมบูรณ์หรืออาจจะดูธรรมดาในสายตาของใครบางคน แต่กลับมีคุณค่าสำหรับใครอีกหลายๆ คนและถูกลงชื่อประมูลแข่งกันอย่างน่าแปลกใจ บางผลงานที่เขียนว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือที่มีอยู่ในห้องสมุด ดูจะเป็นชิ้นงานที่มีการกล่าวถึงจากผู้ชมในหลายๆ แง่มุมของบทสนทนา และจะมีนักเรียนแวะเวียนมายืนดูเงียบๆ คนเดียวอยู่บ่อยครั้ง

          ในวันสุดท้ายของการประมูลงานมีบางคนตกใจที่ตนเองสามารถประมูลงานได้ และบางคนเสียใจที่อดได้ชิ้นงานที่ตนเองหมายตา

the LITTLE gallery – Silent Auction
Photo: วรินทร วัดแก้ว
the LITTLE gallery – Silent Auction
Photo: วรินทร วัดแก้ว

          กระบวนการเรียนรู้ครั้งนี้ไม่ได้จบลงที่แค่ห้องสมุด เนื่องจากโรงเรียนของเรายึดหลักวิถีพุทธ เราจึงให้คุณค่าและเล็งเห็นความสำคัญในเรื่องความรักและเมตตาต่อโลกที่เราอาศัยอยู่ ชุมชนของเราจับมือกันส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสังคมทุกรูปแบบ ครั้งนี้ก็เช่นกันที่เรานำงานศิลปะกลับไปชื่นชมที่บ้านและนำเงินที่ได้จากการประมูลนั้นไปบริจาคเพื่อรักษาช้างที่โรงพยาบาลช้าง (สถาบันคชบาลแห่งชาติ จังหวัดลำปาง) ส่วนกิจกรรมสุดท้ายคือการที่เราเชื้อเชิญเด็กๆ และครอบครัวไปต่อยอดเรื่องคุณธรรมความเมตตา ดั่งคำกล่าวที่ว่า “It takes a village to raise a child” (“ต้องใช้คนทั้งหมู่บ้านในการเลี้ยงเด็ก 1 คน”)

the LITTLE gallery – Silent Auction
Photo: วรินทร วัดแก้ว
Photo: วรินทร วัดแก้ว

          ถึงแม้กระบวนการการเรียนรู้นี้จะเริ่มต้นจากความคิดเล็กๆ เพียงแค่อยากลงมือทำในสิ่งที่ตนเองสนใจใน 1 คาบของทุกๆ สัปดาห์ที่มาโรงเรียน แต่ในทุกๆ ก้าวที่เขาเลือกเดิน เราในฐานะครู พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ยังคงจำเป็นที่จะต้องอยู่เคียงข้างเขา เมื่อเขาล้มเราต้องช่วยปลุกแรงนักสู้ออกมา และเมื่อเขาเริ่มมั่นใจพร้อมที่จะวิ่งไปสู่ความสำเร็จ เราก็ควรร่วมภูมิใจไปกับหนทางที่เขาสร้างมัน

          นิทรรศการศิลปะ “The LITTLE Gallery” (Silent Auction) ทำให้ห้องสมุดโรงเรียนของเราได้กลายมาเป็นศูนย์รวมของกิจกรรมสร้างสรรค์ที่หลากหลาย ไม่ใช่เป็นแค่พื้นที่จำกัดไว้วางเพียงชั้นหนังสือ ห้องแห่งความเงียบ ตึกที่นักเรียนแค่ก้าวเข้ามาแล้วเดินจากไป ที่นี่กลายเป็นพื้นที่ซึ่งช่วยส่งเสริมสายสัมพันธ์ สร้างความประทับใจ ปลุกพลังการเรียนรู้ตลอดชีวิต สำหรับครูแพทเองก็ยังมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้และเติบโตไปพร้อมๆ กับนักเรียน จึงกล่าวได้ว่าห้องสมุดเป็นอีกสถานที่ที่ช่วยจุดประกายให้จินตนาการมีชีวิต เป็นพื้นที่แบ่งปันที่ทุกคนในโรงเรียนอยากเข้ามาใช้งาน และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในความทรงจำดีๆ อันเป็นพื้นฐานสู่การเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต


ที่มา

Cover Photo: วรินทร วัดแก้ว

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก