คุยกับ ธนา อุทัยภัตรากูร สถาปนิกชุมชน‘อาศรมศิลป์’ เรื่องกระบวนการออกแบบพื้นที่เรียนรู้

2,349 views
6 mins
February 8, 2023

         หากถามว่าพื้นที่การเรียนรู้ที่มีคุณภาพเป็นอย่างไร คำตอบคงไม่ใช่เพียงการมีอาคารสวยๆ แต่ควรจะเป็นสภาพแวดล้อมซึ่งส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสอดรับความต้องการของผู้ใช้งานเป็นหลัก ปัจจุบัน มีแหล่งเรียนรู้สาธารณะหลายแห่งที่มีเอกลักษณ์และได้รับการออกแบบโดยผ่านการรับฟังความเห็นและทำงานร่วมกับผู้ใช้งาน เช่น หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์ กรุงเทพฯ), อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต, บ้านหลวงราชไมตรี จังหวัดจันทบุรี, ห้องสมุดเก๋งเรือลอยฟ้าท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร ฯลฯ ซึ่งเป็นผลงานของ ‘สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์’

         โจ้ – ธนา อุทัยภัตรากูร สถาปนิกและอาจารย์ประจำสาขาวิชาสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ได้บอกเล่าถึงกลวิธีในการทำงานที่ไม่ใช่แค่นั่งเขียนแบบอยู่ในสตูดิโอ แต่ลงพื้นที่คลุกคลีกับผู้คนในชุมชนอย่างใกล้ชิด โดยมีหัวใจสำคัญคือกระบวนการทำงานอย่างมีส่วนร่วม การเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ และการใช้ความคิดสร้างสรรค์ จนออกมาเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีตัวตนแบบไม่เหมือนใคร

สถาปนิกเป็นมากกว่าคนออกแบบสิ่งก่อสร้าง

         มุมมองคนทั่วไปอาจคิดว่าสถาปนิกมีหน้าที่ออกแบบอาคารหรือพื้นที่ต่างๆ ให้มีความสวยงามหรือมีลายเซ็นเป็นของตัวเอง แต่ในความเป็นจริงแล้ว สถาปนิกคือผู้ตอบสนองความต้องการด้านพื้นที่กายภาพของผู้ใช้งาน ด้วยนวัตกรรมการออกแบบ (Innovation Design) ส่วนการเสริมเติมแต่งด้านสุนทรียะ มีความสำคัญเป็นอันดับรองลงมา

          “สถาปัตยกรรมก็เป็นเหมือนคนคนหนึ่งซึ่งมีทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ ถ้าเราจะทำให้สถาปัตยกรรมนี้มีชีวิต มันต้องมีทั้ง 2 ส่วน สถาปนิกออกแบบร่างกาย แต่จิตวิญญาณของอาคารคือผู้คนและกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น สถาปนิกไม่สามารถจินตนาการเองได้ 100% ต้องมีกระบวนการศึกษาความต้องการอย่างละเอียดลึกซึ้ง คนไม่ค่อยอยากทำส่วนนี้หรอก มันเยอะ มันยุ่ง”

         สำหรับการทำงานของสตูดิโอ สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ แบ่งการทำงานออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ งานออกแบบสถาปัตยกรรมทั่วไป สตูดิโอชุมชน และภูมิสถาปัตยกรรม ซึ่งทั้งหมดมีการทำงานอย่างสอดประสานกัน

เบื้องหลังการดีไซน์พื้นที่เรียนรู้แบบ Tailor-made ฉบับสถาปนิกชุมชน

กระบวนการเรียนรู้แบบ Tailor-made

         ไม่ว่าโจทย์การออกแบบพื้นที่จะเป็นอะไร เช่น อาคารเรียน พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด หรือพื้นที่เรียนรู้ต่างๆ การทำงานของทีมสถาปนิกชุมชนมักประกอบด้วยกระบวนการสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ กระบวนการมีส่วนร่วม เป็นการทำความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างคนทำงานและคนในพื้นที่ กระบวนการนี้จะช่วยสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ การเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ โดยเข้าไปสัมผัสวิถีชีวิต พูดคุย และทำกิจกรรมร่วมกับผู้คนในพื้นที่จริง อีกด้านคือ การใช้ความคิดสร้างสรรค์ ตั้งแต่การออกแบบกระบวนการ การออกแบบเครื่องมือ ไปจนถึงการออกแบบพื้นที่ทางกายภาพ ทั้งหมดนี้ จะต้องมีการสะท้อนความคิดและจัดการความรู้ระหว่างคนใช้งานและคนทำงานอย่างเป็นระบบตลอดเส้นทาง

         การออกแบบพื้นที่ใดๆ ก็ตาม ควรสร้างโอกาสให้มีการพูดคุยและรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด เพราะไม่มีใครรู้ความต้องการได้ดีไปกว่าตนเอง หากพวกเขาได้ใคร่ครวญจนเห็นภาพอย่างชัดเจน แม้การก่อสร้างจะยังไม่แล้วเสร็จ ก็สามารถอนุมานได้ว่าผลลัพธ์จะต้องออกมาดี

          “ตอนงานออกแบบคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เราเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามและทำกระบวนการง่ายๆ กับคนในคณะ จนนำมาสู่ข้อสรุปร่วมกันของเขาที่นิยามตัวเองว่า ‘พวกเรานั้น  Humble but Ambitious คือ ถ่อมตนแต่มีความมุ่งมั่นทะเยอทะยาน’ ซึ่งสะท้อนความเป็นตัวเขาได้ดีมาก ในฐานะสถาปนิก ผมคิดว่าการจะได้มาซึ่งประโยคแบบนี้มันยากมากนะ ถ้าไม่มีกระบวนการ”

         อาจารย์โจ้ ยังยกตัวอย่างโครงการส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ ที่วัดท่าพูด อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม “เราไปชักชวน ถามเขาว่าจะทำอะไรดี จนมีข้อเสนอมาว่าปรับปรุงวัดให้เป็นพิพิธภัณฑ์ดีกว่า และก็เป็นผู้สูงอายุเองที่ให้ไอเดียว่า เอ๊ะ! ถ้าเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงของให้เด็กมาดูเฉยๆ ก็น่าเบื่อนะ งั้นเรามาสาธิตการใช้เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ให้คนมาดูรู้ว่าแต่ละอันใช้ยังไง เพราะฉะนั้นแทนที่มันจะเป็นพิพิธภัณฑ์ตายๆ ก็กลายเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต เกิดเป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็กๆ”

กระบวนการทำงานของสถาปนิกชุมชน สถาบันอาศรมศิลป์ ในการฟื้นฟูพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด

ความรู้มีอยู่ในคนทุกคน

         ความรู้ของมนุษย์สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ความรู้ที่ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) หมายถึงความรู้ที่สามารถรวบรวมหรือถ่ายทอดได้โดยวิธีต่างๆ เช่น การบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ทฤษฎี คู่มือต่างๆ บางครั้งจึงถูกเรียกว่าความรู้แบบรูปธรรม อีกประเภทหนึ่งคือ ความรู้ที่ฝังอยู่ในคน (Tacit Knowledge) เป็นความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ พรสวรรค์ หรือสัญชาติญาณของแต่ละคน ค่อนข้างเป็นนามธรรมและถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดหรือตัวอักษรได้ยาก กระบวนการทำงานของสถาปนิกชุมชนเกี่ยวข้องอย่างมากกับความรู้ประเภทหลัง

          “เราชอบคิดว่า การเรียนคือนั่งอยู่ในห้องแล้วก็เรียน แต่ว่าจริงๆ การเรียนรู้คือการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ชาวบ้านในชุมชนต่างๆ เขาเป็นผู้มีความรู้ มีประสบการณ์ แต่เขาอาจคิดว่าตัวเองไม่มี เราก็เลยคิดว่าเป็นไปได้ไหมที่จะจัดการความรู้ที่พวกเขามีอยู่ สำหรับผม การเรียนรู้เกิดจากการคิด การพูด และการทำ นำมาสู่การแลกเปลี่ยนมุมมองกับคนอื่นแบบไม่มีผิดไม่มีถูก และได้บทสรุปในที่สุด”

         การทำงานของสถาปนิกชุมชน ไม่อาจยึดติดความรู้เฉพาะที่อยู่ในตำรา แต่มีจุดยืนที่การเคารพต่อความรู้ และประสบการณ์ของคนทุกคน สถาปนิกจะต้องไม่ตั้งธงตัดสินสิ่งต่างๆ เอง หรือสนใจเพียงความต้องการของตัวเอง แต่ต้องเปิดใจและรับฟังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเท่าเทียม ไม่มีใครต่ำกว่า หรือรู้มากกว่าใคร

          “คนยิ่งมีการศึกษาสูงเท่าไหร่ ยิ่งมีแนวโน้มที่จะฟังคนอื่นน้อยลง เพราะไปตัดสินว่าชาวบ้านไม่รู้ แต่ตัวเองรู้ดีกว่าเพราะเรียนมา ผมรู้สึกว่าจุดเปลี่ยนของชาวอาศรมศิลป์หลายๆ คน คือเราไม่เอากรอบความเข้าใจของตัวเองไปโยนใส่เขาก่อน หรือคิดว่าสิ่งที่เขาพูดไร้สาระ แต่เรารับฟังอย่างเข้าใจและเปิดกว้าง หลายครั้งเราจะพบว่า เขามีคำตอบแบบที่เราคิดไม่ถึง เพราะฉะนั้น ระหว่างทฤษฎีที่ดีแต่เกิดขึ้นจริงไม่ได้ กับสิ่งที่ไม่มีทฤษฎีแต่เกิดขึ้นได้จริงในพื้นที่ เราจะเลือกอะไร”

สกัดความรู้ด้วย ‘คำถาม’ ที่ดี

         การจัดการความรู้ที่มีประสิทธิภาพต้องอาศัยเครื่องมือสำคัญ 2 อย่าง คือ ‘คน’ และ ‘คำถาม’ ที่ดี หมายความว่า คนนอกซึ่งลงไปสร้างกระบวนการเรียนรู้ ช่วยตั้งคำถามให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่เกิดการใคร่ครวญและทบทวนความต้องการของตนเอง

          “หลักในการเก็บข้อมูลชุมชน ไม่ใช่การมุ่งเก็บให้ครบ แต่อยู่ที่การทำความรู้จัก รับฟัง และสร้างปฏิสัมพันธ์อย่างเปิดใจ หน้าที่ของคนทำกระบวนการ คือการสกัดเอาข้อมูลที่ได้เหล่านั้นมาประมวลผล จัดการ แล้วสะท้อนกลับไปยังชุมชน การเรียนรู้ก็จะเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ เราไม่ได้กำหนดว่าจะพาเขาไปยังจุดไหน แต่ข้อมูลหรือความรู้จะพาเขาไปหาสิ่งที่ต้องการเอง”

         อย่างไรก็ดี การทำงานแต่ละครั้งไม่สามารถกำหนดกฎเกณฑ์ไว้ตายตัว เพราะชุมชนแต่ละแห่งมีผู้คนและความซับซ้อนแตกต่างกัน การทำงานแต่ละครั้งจึงต้องคิดและวางแผนใหม่ทุกครั้ง ในกรณีที่บางพื้นที่มีความขัดแย้งรุนแรง หรือมีเหตุการณ์พลิกผันต่างๆ ทีมงานก็ต้องปรับเปลี่ยนหน้างานให้ทันท่วงที เช่น จากขั้นตอนการนำเสนอแบบ ก็ต้องเปลี่ยนเป็นจัดเวทีรับฟังความเห็นใหม่อีกครั้ง

          “ถ้าถามว่า เราทำอะไร เราไปช่วยตั้งคำถามและช่วยสรุปว่าเขาต้องการอะไร เปิดพื้นที่และกระตุ้นให้เขาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน โดยทำหน้าที่ค้นหาว่าแต่ละคนมีศักยภาพแบบไหน แล้วเขายังขาดอะไร อะไรคือสิ่งที่เราต้องเพิ่มเข้าไป ผมคิดว่าความสำคัญของคนจัดกระบวนการ คือการมองเห็นภาพทั้งหมดและพยายามที่จะดำเนินสถานการณ์ให้มันเป็นไปได้”

เบื้องหลังการดีไซน์พื้นที่เรียนรู้แบบ Tailor-made ฉบับสถาปนิกชุมชน
โครงการบ้านหลวงราชไมตรี จันทบุรี
Photo : สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์
เบื้องหลังการดีไซน์พื้นที่เรียนรู้แบบ Tailor-made ฉบับสถาปนิกชุมชน
บรรยากาศในกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชน โครงการบ้านหลวงราชไมตรี
Photo : สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์

นิยามของ ‘ความสำเร็จ’

         ผลสำเร็จในการทำงานของสถาปนิกชุมชน อาจไม่สามารถวัดจากความสวยงามของพื้นที่กายภาพ เพราะสิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นคือเรื่องราวระหว่างทาง ทั้งของคนทำงานและคนในชุมชน ซึ่งนำพาไปถึงผลลัพธ์สุดท้าย

          “บางคนมองผลงานอย่างเดียวแล้วอาจจะตั้งคำถามว่า อย่างนี้เรียกว่าสำเร็จแล้วใช่ไหม แต่คนทำงานและคนในชุมชนจะรู้ อย่างเช่น สนามเด็กเล่นที่ชาวบ้านออกแบบกันเองง่ายๆ สร้างจากเศษเหล็ก มีป้าคนขายก๋วยเตี๋ยวเป็นคนคุมงาน และเด็กๆ ช่วยกันทาสี มันอาจไม่ใช่สิ่งที่ดูดีในมุมคนทั่วไป แต่เรารู้ดีว่า กว่าจะมาเป็นแบบนี้ต้องผ่านอะไรมาบ้าง”

         ใช่ว่าทุกโครงการของอาศรมศิลป์จะประสบความสำเร็จแบบไร้ข้อกังขา บางโครงการอาจมีปมปัญหา หรือส่งผลกระทบต่อความรู้สึกกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ทีมงานจำเป็นต้องทบทวน วิเคราะห์ และแลกเปลี่ยนกัน เพื่อเป็นบทเรียนสำหรับปรับทิศทางการทำงานให้ระมัดระวังขึ้นในครั้งต่อไป

อนาคตของการส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ชุมชน

         เมื่อถามถึงความเห็นต่อสถานการณ์ของพื้นที่เรียนรู้ชุมชนในประเทศไทย จากมุมมองของสถาปนิกและนักจัดกระบวนการที่ทำงานด้านนี้มานาน อาจารย์โจ้บอกกับเราว่า ปัญหาสำคัญที่สุดในปัจจุบัน คือความยั่งยืนในการบริหารจัดการระยะยาว เพราะแม้จะมีการผลักดันให้เกิดการสร้างแหล่งเรียนรู้มากมาย แต่ส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาเฉพาะจุด ที่ยังขาดการเชื่อมโยงกัน

         ดังนั้น หากสังคมไทยอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านพื้นที่เรียนรู้ให้มากขึ้นและเพียงพอต่อความต้องการ สิ่งสำคัญคือการสนับสนุนจากภาครัฐให้เกิดการทำงานร่วมกันของแต่ละภาคส่วนอย่างเป็นระบบ เช่น มีนโยบายสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน ระบบอาสาสมัครที่เป็นคนรุ่นใหม่ เรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องเปลี่ยนทั้งเชิงโครงสร้างและบุคลากร ซึ่งต้องใช้เวลา

          “ถ้าเทียบจำนวนกลุ่มคนที่ทำงานเพื่อสังคมกับภาพรวมทั้งประเทศถือเป็นสัดส่วนที่เล็กมาก และใช่ว่าเขาจะอยู่รอดได้ ปัญหาคือระบบแบบนี้มันจะยั่งยืนได้อย่างไร ผมมองว่า คนหรือกลุ่มคนที่ทำงานเพื่อสังคม คือ คนที่คิด Social Innovation ส่วนรัฐก็สามารถเลือกหยิบเครื่องมือเหล่านี้ไปใช้ได้ตามความเหมาะสม คงจะเป็นเรื่องดีมากถ้ารัฐเจียดงบประมาณส่วนหนึ่งมาสนับสนุนนักนวัตกรรมสังคม ในแต่ละปีอาจจะจัดประกวดก็ได้ ว่าใครอยากจะทำเรื่องอะไร ผมคิดว่าสังคมเรายังขาดความสัมพันธ์แบบนี้”

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก