สอนวรรณคดีไทยให้ใกล้หัวใจ Generation Z

2,986 views
4 mins
December 2, 2022

          “วรรณคดีไทย” แค่ได้ยินคำนี้ก็ชวนให้รู้สึกกระสับกระส่าย หายใจไม่ทั่วท้อง และคงยากที่จะเข้าถึงสำหรับเด็กในยุคที่ไถไอจีไปก็เต็มไปด้วยข้อความสั้นๆ ชิคๆ คูลๆ ให้แชร์เต็มหน้าฟีด โดยไม่ต้องสรรหางานเขียนที่พรรณนาเรื่องราวไว้ยาวเหยียดด้วยถ้อยคำภาษาคร่ำครึ ตลอดจนการร้อยเรียงด้วยฉันทลักษณ์ที่ไม่คุ้นตา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากการเรียนวิชาภาษาไทย โดยเฉพาะกับเนื้อหาที่เป็นวรรณคดีนั้นจะเปรียบเสมือนโลกคู่ขนานสำหรับเด็กไทยในยุคนี้

          จากโจทย์ข้างต้นนับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายแต่ก็ไม่ได้ยากเกินไปนักสำหรับครูภาษาไทยในยุคนี้ เพราะด้วยความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างไม่มีที่สิ้นสุดของโลกปัจจุบัน นับว่ามีส่วนช่วยในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ในรายวิชาต่างๆ ให้น่าสนใจและเข้าถึงผู้เรียนได้เป็นอย่างดี

          หากแต่สิ่งที่สำคัญที่ครูควรเน้นย้ำให้ผู้เรียนในทุกๆ คาบเรียน นั่นก็คือการสอดแทรกกระบวนการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหาซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญมากในยุคปัจจุบัน อันจะเป็นแนวทางให้ผู้เรียนสามารถนำเรื่องที่ได้เรียนรู้นั้นไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนใช้กระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวแสวงหาความรู้ในเรื่องอื่นๆ ต่อไป

          ผู้เขียนมีไอเดียในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ในเนื้อหาวรรณคดีที่ทั้งสนุกและสอดแทรกไปด้วยทักษะต่างๆ ที่ครูภาษาไทยสามารถนำไปปรับใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของตนเองได้ไม่ยาก ซึ่งนำมาจากประสบการณ์ของผู้เขียนที่เคยใช้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนของตนเอง

          โดยวรรณคดีที่ผู้เขียนจะนำมาเป็นแบบอย่างในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ก็คือ “บทละครพูดคำฉันท์ เรื่องมัทนะพาธา” ซึ่งเป็นวรรณคดีที่ปรากฏอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ทั้งนี้ผู้เขียนขอแบ่งเนื้อหาในการเรียนรู้ออกเป็น 3 คาบเรียน โดยคาบเรียนที่ 1 เป็นการเล่าถึงที่มาที่ไปของวรรณคดีเรื่องดังกล่าว ประวัติผู้ทรงพระราชนิพนธ์ ตลอดจนโครงเรื่องเพื่อให้ผู้เรียนได้เห็นภาพอย่างกว้างขวางก่อนจะไปเรียนรู้เรื่องราวทั้งหมด คาบเรียนที่ 2 เป็นการเรียนรู้เรื่องราวของวรรณคดีว่ามีตัวละครใดบ้าง ดำเนินเรื่องไปอย่างไร และมีจุดจบอย่างไร ในคาบนี้ผู้เรียนจะได้ใช้ทั้งกระบวนการคิดวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาโดยการจำลองสถานการณ์ของครูเพื่อนำมาแลกเปลี่ยนและวิพากษ์ร่วมกันภายในชั้นเรียน และคาบเรียนที่ 3 เป็นการสรุป ทบทวนคำศัพท์ และวิเคราะห์คุณค่าด้านต่างๆ ที่ปรากฏในวรรณคดี ซึ่งครูสามารถจัดกิจกรรมได้โดยใช้วิธีการดังต่อไปนี้

          คาบที่ 1 “ใช้เรื่องใกล้ตัวกระชับความสัมพันธ์กับวรรณคดี” ก่อนจะกล่าวไปถึงประวัติของวรรณคดีเรื่องดังกล่าว ครูสามารถนำเข้าสู่บทเรียนด้วยการเชื่อมโยงเรื่องราวใกล้ตัวของผู้เรียนให้พวกเขารู้สึกว่าเรื่องที่จะเรียนต่อไปนี้มันไม่ใช่เรื่องไกลตัวแต่อย่างใด เนื่องจากมัทนะพาธานั้นเป็นวรรณคดีที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตำนานของดอกกุหลาบและความเจ็บปวดจากความรัก ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องได้พบเจอเป็นธรรมดา

          โดยการสมมติสถานการณ์ให้ผู้เรียนเขียนจดหมายถึงความทรงจำเกี่ยวกับความรักที่ตนเคยประสบพบเจอมา อาจกำหนดหัวข้อเพื่อกำหนดขอบเขตเนื้อหาที่ผู้เรียนจะต้องเขียน อาทิ

  • นิยามความรักสำหรับนักเรียนคืออะไร?
  • เล่าความทรงจำเกี่ยวกับความรักที่เคยพบเจอมา
  • ได้บทเรียนอะไรจากรักครั้งนั้น

         และให้นักเรียนเลือกดอกไม้ 1 ชนิดเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนความรักในครั้งนั้น โดยครูอาจสุ่มให้นักเรียนที่อยากแชร์เรื่องราวในจดหมายของตนอ่านให้เพื่อนในชั้นเรียนฟัง 2-3 คน จากนั้นครูสรุปและเชื่อมโยง 4 ประเด็นข้างต้นเข้าสู่ความเป็นมาของเรื่องมัทนะพาธา

          ซึ่งในระหว่างที่ครูอธิบายความเป็นมาของเรื่อง ครูสามารถสอดแทรกกิจกรรมเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ อาทิ การใช้เกมตอบปัญหาเกี่ยวกับผู้ทรงพระราชนิพนธ์เพื่อวัดความรู้เดิมของผู้เรียน การใช้คำถามกระตุ้นความคิด ในคาบนี้ผู้เรียนดูจะตื่นเต้นกับการแชร์เรื่องราวความรักแบบไม่ลับของเพื่อนๆ ในชั้นเรียน นอกจากนี้ยังได้เห็นมุมมองที่มีต่อความรักของผู้เรียนที่แตกต่างกันไป จากการสังเกตพฤติกรรมของผู้เรียนพบว่าผู้เรียนมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้และสนใจที่จะฟังเรื่องราวความรักในวรรณคดีในยุคที่แตกต่างจากพวกเขา

          คาบที่ 2 “มอบภารกิจ…พิชิตเรื่องราว” ในคาบเรียนนี้เป็นคาบเรียนที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะเป็นตัวชี้วัดว่าผู้เรียนสามารถเข้าใจและเข้าถึงเรื่องราวที่ได้เรียนรู้ได้มากน้อยเพียงใด ครูจึงควรมอบหมายให้ผู้เรียนกลับไปอ่านเนื้อเรื่องทั้งหมดของวรรณคดีเพื่อทำความเข้าใจต่อเหตุการณ์และตัวละคร อันจะนำไปสู่การทำกิจกรรมในชั้นเรียนคาบเรียนนี้ แต่หากเป็นวรรณคดีที่มีคำศัพท์ยากหรือใช้ฉันทลักษณ์ที่เข้าใจยาก ครูอาจมอบหมายให้ผู้เรียนช่วยกันศึกษาค้นคว้าและสรุปเรื่องราวนั้นเป็นกลุ่ม โดยมีครูคอยให้คำแนะนำ

          เมื่อผู้เรียนเข้าใจเนื้อเรื่องทั้งหมดแล้วครูจึงให้ผู้เรียนทำกิจกรรมได้โดยการสมมติสถานการณ์ว่าผู้เรียนคือบุคคลที่อยู่ในเรื่องราวดังกล่าว โดยให้ผู้เรียนเลือกว่าอยากสวมบทบาทเป็นตัวละครใด เพื่อเข้าไปแก้ไขปัญหาปมขัดแย้งในวรรณคดีเรื่องนี้ เมื่อผู้เรียนเลือกบทบาทที่ตนเองสนใจแล้ว ครูกำหนดหัวข้อในการทำภารกิจให้แก่ผู้เรียน ซึ่งเป็นขั้นตอนของการแก้ปัญหา (เกศรา คณฑา, 2559, หน้า 32-33) ดังนี้

  1. ระบุปัญหา ให้ผู้เรียนเขียนประเด็นปัญหาต่างๆ ที่ปรากฏในเรื่องราว โดยสามารถมีได้มากกว่า 1 ปัญหา
  2. ระบุสาเหตุของปัญหา ให้ผู้เรียนเขียนสาเหตุของปัญหาแต่ละข้อว่าเกิดจากสาเหตุใด
  3. เสนอทางเลือกในการแก้ปัญหา ให้ผู้เรียนคิดหาแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าวว่าสามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการใดบ้าง
  4. ระบุวิธีปฏิบัติเพื่อการแก้ปัญหา ให้ผู้เรียนบอกวิธีปฏิบัติในการแก้ปัญหาของแต่ละตัวละคร
  5. ประเมินผลการแก้ปัญหา ให้ผู้เรียนคาดการณ์ว่า หากแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่เลือกมาในข้างต้นนั้นจะส่งผลให้เรื่องราวเป็นอย่างไร มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขไปในทิศทางใดบ้าง

          ในแต่ละขั้นตอนนั้น ครูควรให้คำแนะนำและทำไปพร้อมๆ กับผู้เรียนเพื่อเป็นตัวอย่าง จากนั้นครูสุ่มผู้เรียนอ่านสิ่งที่ตนเองเขียน 2-3 คนเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในชั้นเรียน จากกิจกรรมดังกล่าวครูอาจต่อยอดโดยการมอบหมายชิ้นงานให้ผู้เรียนนำเรื่องราวที่ได้แก้ปัญหาไปผนวกกับเรื่องเดิมและแต่งเป็นเรื่องราวใหม่พร้อมกับตั้งชื่อเรื่องใหม่ หรืออาจให้นักเรียนนำไปผนวกกับวรรณคดีเรื่องอื่นๆ ที่นักเรียนพิจารณาแล้วว่ามีเนื้อเรื่องสอดคล้อง เป็นไปในทิศทางเดียวกับ และจะสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในวรรณคดีเรื่องดังกล่าวให้มีเนื้อเรื่องที่สมบูรณ์ตามแบบฉบับของตนเอง ในคาบนี้ครูจะได้เห็นวิธีคิดที่หลากหลายของผู้เรียน ตลอดจนได้เห็นไอเดียสุดเจ๋งในการสรรค์สร้างเรื่องราวของผู้เรียน

          คาบที่ 3 “ทบทวนคำสอน…สะท้อนคุณค่า” จาก 2 คาบเรียนที่ผู้เรียนได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ มา ในคาบเรียนนี้ครูสามารถสรุปและทบทวนความรู้ที่ได้จากวรรณคดีเรื่องดังกล่าว โดยสามารถสร้างสถานการณ์โดยการนำตัวละครเอกของเรื่องอย่าง สุเทษณ์ นางมัทนา และท้าวชัยเสน ตั้งเป็นชื่อทีม และให้ผู้เรียนแต่ละคนเลือกทีมว่าจะอยู่ทีมใคร จากนั้นให้แต่ละทีมร่วมกันหาเหตุผลมาแลกเปลี่ยนกันว่าเหตุใดจึงเลือกอยู่ทีมตัวละครดังกล่าว และแต่ละตัวละครนั้นให้แง่คิดอะไรแก่ผู้เรียน โดยให้แต่ละทีมเขียนสรุปเป็นแผนผังความคิดหรือสรุปเป็นประเด็น จากนั้นออกมานำเสนอประเด็นของกลุ่มตนเอง ซึ่งในกิจกรรมดังกล่าวครูควรคอยให้คำแนะนำและสะท้อนความคิดให้แก่ผู้เรียนอยู่เป็นช่วงๆ และอาจปิดท้ายด้วยการนำคำศัพท์ที่น่าสนใจมาเล่นเกมบิงโกเพื่อหาความหมายของคำศัพท์นั้น ทีมใดที่สามารถตอบความหมายได้อย่างถูกต้องและบิงโกไปก่อนจะเป็นผู้ชนะ

          ในตอนท้ายครูต้องไม่ลืมที่จะตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นความคิดให้แก่ผู้เรียนได้ทบทวนว่า “เราเรียนเรื่องดังกล่าวไปเพื่ออะไร และสามารถนำความรู้ที่ได้จากเรื่องนี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร?” เพื่อเป็นการทำให้ผู้เรียนตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้เรื่องดังกล่าว ซึ่งผู้เขียนเชื่อมั่นเหลือเกินว่า หากใน 2 คาบแรก ผู้เรียนสามารถปฏิบัติกิจกรรมได้อย่างเข้าใจและมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ คาบเรียนนี้จะเป็นคาบเรียนที่สนุก เต็มไปด้วยสาระความรู้ และรอยยิ้ม และตั้งแต่คาบเรียนนี้เป็นต้นไปวรรณคดีไทยจะไม่ใช่เรื่องไกลหัวใจ Generation Z อย่างแน่นอน

สอนวรรณคดีไทยให้ใกล้หัวใจ Generation Z
Photo : เกศแก้ว คงคล้าย

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก