ประวัติศาสตร์โลกในประวัติศาสตร์ไทย เรียนประวัติศาสตร์อย่างไรให้เกิดประโยชน์

2,483 views
8 mins
November 29, 2023

          จำได้ไหมว่า คุณได้ยินคำว่าประวัติศาสตร์ครั้งแรกเมื่อไหร่

          ฟังดูเป็นคำถามง่ายๆ แต่พอลองนึกย้อนกลับไป คำตอบของแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน คนหนึ่งอาจบอกว่า เคยได้ยินคำนี้จากการ์ตูนสักเรื่องหนึ่งที่เคยอ่านในวัยเด็ก ขณะที่บางคนอาจบอกว่า รู้จักคำว่าประวัติศาสตร์เป็นครั้งแรกจากวิชาสังคมศึกษาสมัยประถม แต่ไม่ว่าครั้งแรกที่แต่ละคนรู้จักคำนี้จะเป็นอย่างไร ประวัติศาสตร์ดูเหมือนจะเป็นคำที่วนเวียนอยู่ในชีวิตของพวกเราอย่างน้อยก็พักใหญ่ๆ คำถามต่อไปที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ แล้วประวัติศาสตร์ที่ว่า หมายถึงประวัติศาสตร์อะไรกันล่ะ

          สำหรับผู้เขียนเมื่อลองมองย้อนกลับไป ด้วยความที่เรียนอยู่ในระบบการศึกษาไทย ในโรงเรียนรัฐทั่วไป ปฏิเสธไม่ได้ว่า คำว่าประวัติศาสตร์ที่ผู้เขียนได้ยินเป็นครั้งแรกๆ ดูจะผูกโยงอยู่กับ ‘ความเป็นไทย’ เป็นพิเศษ คนไทยมาจากไหน ประเทศไทยเกิดขึ้นได้อย่างไร ไล่ตามไทม์ไลน์มาจนถึงอยุธยา สุโขทัย คงไม่ผิดอะไรหากจะบอกว่า ประวัติศาสตร์ที่ผู้เขียนรับรู้เป็นครั้งแรกๆ ดูจะวนเวียนอยู่กับอะไรไทยๆ ในความหมายที่รัฐอยากให้นักเรียนไทยจดจำ

          ย้อนกลับไปเมื่อปลายปีที่แล้ว กระทรวงศึกษาธิการมอบหมายให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานร่างแนวทางบริหารจัดการ แยกวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ออกจากกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ให้เป็นอีกหนึ่งวิชาเรียนที่มีจุดประสงค์ชัดเจนคือการปลูกฝังความรักชาติให้กับเยาวชนไทย ซึ่งก็ได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการที่ประวัติศาสตร์ดูจะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ชัดเจนยิ่งขึ้นกว่าเดิม และเมื่อต้นปี 2566 ประกาศกระทรวงศึกษาธิการก็ถูกเผยแพร่อย่างเป็นทางการ

          หนึ่งในความเห็นที่น่าสนใจต่อกรณีนี้มาจาก ผศ.ดร.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มองว่า การแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมาเป็นเรื่องไม่จำเป็น ปัญหาสำคัญจริงๆ ของวิชาประวัติศาสตร์ในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา คือการขาดหลักสูตรที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมและความคิดของผู้คนในปัจจุบัน รวมเนื้อหาของวิชาที่ไม่ทันสมัยและตามความก้าวหน้าของความรู้ทางวิชาการไม่ทัน

          อาจารย์พิพัฒน์ ได้ให้สัมภาษณ์กับมติชนออนไลน์เอาไว้ว่า ถ้าต้องการจะมองไปข้างหน้า ต้องเริ่มต้นก่อนว่า หัวใจสำคัญของวิชาประวัติศาสตร์สอนให้คนเข้าใจว่าอดีตเป็นมาอย่างไร จะนำมาใช้ประโยชน์ในปัจจุบันอย่างไรเพื่อมองไปสู่อนาคต ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไปมากแล้ว เราควรสอนให้นักเรียนใช้ประวัติศาสตร์ในฐานะเป็นทุนทางวัฒนธรรม เป็นฐานความรู้ในการมองโลก เพราะประวัติศาสตร์สามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลในการอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคมไทย ในประเทศเพื่อนบ้านหรือในโลก

          ถึงตรงนี้ประเด็นหนึ่งที่พอจะเห็นได้คือ วิชาประวัติศาสตร์ในประเทศไทยดูจะวนรอบตัวเอง หรือพูดให้ชัดขึ้นคือ ‘สำนึกชาตินิยม’ และ ‘ความเป็นชาติไทย’ เสียจนมองไม่เห็นความกว้างใหญ่ของประวัติศาสตร์ที่อยู่ข้างนอก ถึงตรงนี้เราเลยอยากชวนไปสำรวจว่า ประวัติศาสตร์โลกในการศึกษาไทยนั้นถูกรับรู้อย่างไร รวมถึงคำถามที่ว่า แล้วการศึกษาประวัติศาสตร์โลกสำคัญอย่างไรต่อการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ทั้งของคนอื่นและของตัวเรา

ประวัติศาสตร์โลกในการศึกษาไทย

          ในบทความวิชาการ “‘ประวัติศาสตร์โลก’ ตามการรับรู้และการเรียนรู้ในประเทศไทย: เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์อย่างย่อ” ของ ผศ.ดร.วัชระ สินธุประมา ได้ตั้งต้นเรื่องการรับรู้ประวัติศาสตร์โลกในประเทศไทยไว้อย่างน่าสนใจ

           “สำหรับวงการประวัติศาสตร์นานาชาติหรือวงวิชาการสากล ‘ประวัติศาสตร์โลก’ ดูเหมือนจะเป็นหมวดหมู่หรือสาขาวิชาซึ่งรู้จักคุ้นเคยกันดีพอสมควรแล้ว แม้ว่าการรับรู้ความเข้าใจ หรือการให้ความสำคัญแก่กลุ่มวิชานี้จะแตกต่างกันออกไปอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นในเชิงคุณสมบัติหรือเชิงปริมาณ อย่างไรก็ตามในกรณีของประเทศไทยและวงวิชาการไทย ประวัติศาสตร์โลกยังคงเป็นเพียงเสี้ยวส่วนหนึ่งของเนื้อหาสาระในทางวิชาการ ที่เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับอดีตอันยาวไกลของผู้คนและชุมชนในดินแดนต่าง ๆ มาจนถึงยุคสมัยแห่งรัฐชาติและสังคมนานาชาติในปัจจุบัน” 

          สำหรับผู้เขียน ความน่าสนใจของบทความวิชาการนี้คือการชี้ให้เห็นข้อจำกัดของการศึกษาประวัติศาสตร์โลกในประเทศไทย ที่หมายถึงการรับรู้เรื่องราวที่ผ่านไปของพื้นที่อื่นเพียงอย่างเดียว โดยปราศจากการกลับมาเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งวิธีการศึกษาเช่นนี้สะท้อนนัยยะของการเรียนประวัติศาสตร์ในไทยที่มักจะหยุดอยู่ที่การท่องจำ จดจำแต่สิ่งที่เป็นไป แต่ไม่ได้พยายามทำความเข้าใจหรือหาจุดเชื่อมโยงภายใต้กระแสธารของประวัติศาสตร์โลกที่พัดผ่านไปอยู่ตลอดเวลา

          “นับตั้งแต่ทศวรรษ 2500 สาระของประวัติศาสตร์สากลได้เข้าไปอยู่ในหลักสูตรของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษามากขึ้น โดยในบางช่วงใช้ชื่อวิชาประวัติศาสตร์ทั่วไปและปรากฏหนังสือแบบเรียนวิชานี้ที่เรียบเรียงโดยอาจารย์มหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง มโนทัศน์เรื่องประวัติศาสตร์โลกในแนวหนึ่งจึงได้เข้าไปอยู่ในระบบการศึกษาระดับมัธยมมายาวนานพอสมควร โดยอยู่เคียงกับประวัติศาสตร์ไทย ตามนัยที่ว่าประวัติศาสตร์สากลคือประวัติศาสตร์ของดินแดนนอกประเทศไทย แต่ในระดับอุดมศึกษา (ซึ่งมีบุคลากรผู้ผลิตตำรา) ยังมีการใช้ประโยชน์จากสาระทางวิชาการเรื่องประวัติศาสตร์สากลอย่างจำกัด เฉพาะความสนใจแคบๆ ของบางสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง เช่น อักษรศาสตร์ รัฐศาสตร์ (การทูตและการปกครองของตะวันตก) หรือเศรษฐศาสตร์ (ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ) ซึ่งมีการบรรจุเนื้อหาประวัติศาสตร์สากลในวิชาของหลักสูตรเฉพาะทางวิชาการหรือวิชาชีพเหล่านั้น แต่มิได้มุ่งปลูกฝังความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนโลกทัศน์ใหม่ในหมู่นิสิตนักศึกษาโดยภาพรวม”

          ดังนั้น ต่อให้มีเนื้อหาที่ว่าด้วยพื้นที่อื่นๆ เข้ามาในการศึกษาประวัติศาสตร์ในประเทศไทย แต่ท้ายที่สุดก็ยังไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงและมองภาพกว้าง ในยุคของผู้เขียน สิ่งที่ได้เรียนคือไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์ศิลปะตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุคประวัติศาสตร์ กรีก โรมัน เรอเนสซองซ์ หรือพัฒนาการทางการเมืองการปกครองตามยุคสมัย แต่สุดท้ายก็ยังมองไม่ออกอยู่ดี ว่าชาวกรีก โรมัน มีความสัมพันธ์ในรูปแบบใดกับทวีปเพื่อนบ้าน เหตุใดจึงมีเทวสถานและโครงสร้างอาคารแบบซุ้มโค้งในเขตเอเชียไมเนอร์มากมายนัก หรือการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองของบางประเทศในยุโรปจะมีนัยสำคัญอย่างไรกับภูมิภาคอื่นๆ ของโลก

          หากเราลองปรับเปลี่ยนวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์โลก ไม่เพียงแต่มันจะช่วยให้มุมมองต่อคุณค่าวิชาประวัติศาสตร์เปลี่ยนไปเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เราหลุดพ้นจากประวัติศาสตร์ไทยที่หมุนวนรอบการเล่าเรื่องราวของผู้คนบางกลุ่ม ในประเทศของตนเองด้วย

ประวัติศาสตร์คือการเข้าใจความเปลี่ยนแปลง

          ใน ‘วิชาประวัติศาสตร์ควรสอน(ฝึกฝน)อะไร?’ เนื้อหาของบทความนี้ว่าด้วยแนวทางซึ่ง ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ได้เสนอต่อโรงเรียนสาธิตธรรมศาสตร์ว่าควรปรับการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ไปในทิศทางใด โดยอาจารย์ธงชัยมองว่า ปัญหาของวิชาประวัติศาสตร์ระดับมัธยมในไทยนั้นไม่ได้อยู่ที่เทคนิคการสอนของครูผู้สอนที่ไม่น่าสนใจพอจะดึงดูดผู้เรียน แต่มันเป็นเรื่องของความไม่เข้าใจว่าความรู้ทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างไร ควรสอนแบบไหนต่างหาก ข้อเสนอหนึ่งที่น่าสนใจคือ

          “การเรียนวิชาประวัติศาสตร์ระดับมัธยมควรเปลี่ยนจากเน้นให้รู้เนื้อหาสาระ (Content-oriented) ไปเป็นการเน้นให้ฝึกฝนทักษะ (Skill-oriented) ในการคิดวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์ (Historical thinking) เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจประวัติศาสตร์อย่างวิพากษ์วิจารณ์และเป็นตัวของตัวเอง”

          ความแตกต่างระหว่างวิชาประวัติศาสตร์กับวิชาสังคมศาสตร์อื่นๆ อยู่ที่การมุ่งความสนใจไปที่เรี่องของ ‘การเปลี่ยนแปลง’ ซึ่งหมายถึง ความสำคัญของทักษะทางประวัติศาสตร์จึงอยู่ที่ความสามารถในการวิเคราะห์ เข้าใจ และอธิบายได้ว่า ปรากฏการณ์หนึ่งๆ เปลี่ยนแปลงมาอย่างไร และเหตุใดมันจึงเปลี่ยนแปลงมาสู่เหตุการณ์นี้ ซึ่งสอดคล้องไปด้วยกัน

          “ประวัติศาสตร์ของภูมิภาคและของโลกควรเลือกสรรให้สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ไทย เช่น ให้เห็นบริบทที่กว้างกว่าสยาม/ไทย ที่มีผลต่อความเปลี่ยนแปลงของสยาม/ไทย”

          หากเราพิจารณาจากข้อเสนอจะเห็นว่า การศึกษาประวัติศาสตร์ไทยเพียงอย่างเดียวนั้น อาจไม่เพียงพอต่อการเรียนประวัติศาสตร์ในระดับมัธยม เช่นเดียวกับที่การศึกษาประวัติศาสตร์โลกเองก็ไม่ควรจะแยกขาดออกจากประวัติศาสตร์ไทย แต่ควรจะเป็นการสอนเพื่อให้เห็นความเชื่อมโยง และความเปลี่ยนแปลงที่เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ส่งผลกระทบระหว่างกัน

          ผู้เขียนคิดว่า ข้อเสนอนี้สะท้อนให้เห็นหัวใจของการศึกษาประวัติศาสตร์โลกนั่นคือ ไม่ใช่การเรียนไปเพื่อจะท่องจำว่าเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นที่ไหน ปีอะไร แต่คือการพยายาม ‘มองให้กว้างเข้าไว้’ เพื่อจะได้ตระหนักว่า ไม่มีประวัติศาสตร์ใดแยกขาดจากกันอย่างสิ้นเชิง กล่าวให้ชัดขึ้นคือ ต่อให้หัวข้อที่เราศึกษาอยู่จะได้ชื่อว่าประวัติศาสตร์ไทย เราควรจะถอยออกมามองในมุมที่กว้างขึ้นเพื่อให้ตระหนักถึงบริบทและความเป็นไปของโลก ณ ช่วงเวลานั้นๆ เพื่อในท้ายที่สุดแล้วเราจะสามารถเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ กลับมายังประวัติศาสตร์ไทยด้วยมุมมองที่แหลมคม และรอบด้านขึ้นนั่นเอง

ประวัติศาสตร์คือการถ่อมตัว

          ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ปี 2562 อาจารย์ธงชัย เคยได้มาบรรยายที่งานเสวนา ‘จะ ‘หาเรื่อง’ กับประวัติศาสตร์อย่างไร?’ ซึ่งจัดโดยภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีประโยคหนึ่งที่น่าสนใจ 

          “จงหาเรื่องกับประวัติศาสตร์ เราเข้าใจความเปลี่ยนแปลง เราเข้าใจสังคมหนึ่งว่าไม่ได้มีคำตอบเดียว เราเกิดคำถามใหม่ๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ เราก็ควรจะกล้าว่าคำอธิบายประวัติศาสตร์เรื่องใดๆ ก็ตามสามารถอธิบาย สามารถหาเรื่องใหม่ได้เสมอ และกรุณาช่วยกันหาเรื่อง ไม่ใช่สถาปนาความยิ่งใหญ่ของเรื่องที่คุณเสนอ แต่เพื่อป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์เรื่องใดทั้งสิ้นมีอำนาจมากเกินไป”  

          คุณูปการสำคัญของการศึกษาประวัติศาสตร์โลกนั้น คือการเปิดพื้นที่ให้เห็นความเป็นไปได้ของเรื่องเล่าประวัติศาสตร์แบบอื่นๆ ที่แตกต่างไปจากเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่เราร่ำเรียนมา  สอดคล้องกับที่อาจารย์วัชระเองก็ได้เสนอว่า หากกรอบการศึกษาประวัติศาสตร์ขยายกว้างไปจากการหมกมุ่นอยู่แค่กับเรื่องภายในพื้นที่หนึ่งๆ ไม่เพียงแต่จะช่วยให้เราเข้าใจถึงประวัติศาสตร์ของพื้นที่นั้นๆ ได้อย่างรัดกุมขึ้นเท่านั้น หากยังรวมถึงการทำให้เราตระหนักถึงตำแหน่งแห่งที่และสถานะของตัวเราบนโลกใบนี้อีกด้วย

          “กรอบการศึกษาที่ขยายเลยกรอบรัฐชาติออกไป เช่น ภูมิภาคอาเซียน ทำให้คนเริ่มเห็นประเด็นของการข้ามพรมแดน (ที่ยังมีพรมแดนอยู่) เริ่มเห็นการดำรงอยู่การพึ่งพาอาศัยร่วมมือกันของชาติในฐานะที่เป็นสมาชิกของชุมชนที่ใหญ่ขึ้นไป”

ประวัติศาสตร์โลก – โรงเรียนมัธยมในต่างประเทศเรียนกันอย่างไร

          แล้วจะทำอย่างไรให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงความเป็นไปของโลกกับประวัติศาสตร์ในพื้นที่ได้ และมองเห็นภาพรวมการเปลี่ยนแปลงของแต่ละภูมิภาคในแต่ละช่วงเวลา ตัวอย่างการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ในระดับ A-level (เทียบเท่ากับมัธยมปลายในประเทศไทย) จากโรงเรียนแห่งหนึ่งในเมืองเคมบริดจ์ ประเทศสหราชอาณาจักร คงพอจะทำให้มองเห็นได้ว่า การออกแบบการเรียนประวัติศาสตร์ อาจจะไม่ได้เริ่มที่การท่องจำเนื้อหา หรือยุคสมัยเสมอไป

          วิธีแรก ที่ผู้สอนใช้เพื่อให้มองเห็นภาพความเป็นไปของโลก คือชวนให้ผู้เรียนลองเทียบดูว่าในช่วงเวลาเดียวกันนั้น เกิดเหตุการณ์ใดบ้างในพื้นที่ต่างๆ กัน เช่น ในช่วงคริสต์ศักราช ที่ 200-300 มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอะไรบ้างในโลกใบนี้

          หากมองในภูมิภาคเอเชีย ต้องเรียกว่าเป็นยุคที่แผ่นดินจีนแตกออกเป็น 3 ก๊ก คือก๊กของ เล่าปี่ โจโฉ และซุนกวน ต่างแย่งชิงความเป็นใหญ่จนแบ่งเป็น 3 แคว้น ในช่วง ค.ศ. 260-280 ทั้ง 3 ก๊กทยอยล่มสลาย โดยก๊กสุดท้าย คือก๊กของซุนกวน ล่มสลายไปในปี ค.ศ. 280  ในฟากฝั่งยุโรป อาณาจักรโรมันกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง มีการปฏิวัติ และพยายามจะแยกตัวออกเป็นอิสระอยู่หลายครั้ง ในทวีปอเมริกา อารยธรรมของชาวมายากำลังเปลี่ยนผ่านจาก มายาโบราณ มาเป็น มายาคลาสสิค ที่เริ่มตั้งถิ่นฐานก่อร่างสร้างเมือง ในช่วงเวลาเดียวกัน แผ่นดินแหลมทอง (ซึ่งเป็นที่ตั้งของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในปัจจุบัน) อาณาจักรฟูนันกำลังเฟื่องฟูปกครองดินแดนแถบนั้น

          วิธีนี้อาจจะทำให้พอจะเปรียบเทียบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน และมองเห็นพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่ต่างๆ เป็นบทสนทนาชวนให้ผู้เรียนลองระลึกถึงความเป็นไปในแต่ละมุมของโลก แต่อาจจะยังไม่ได้ช่วยให้ผู้เรียนมองเห็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงระหว่างพื้นที่มากนัก อย่างน้อยก็เป็นการเริ่มต้นที่ดี ที่ช่วยให้ผู้เรียนได้เริ่ม ‘ปักหมุด’ พื้นที่ต่างๆ ในโลกลงไปบนแผนที่ในจินตนาการของตน

          วิธีการที่สอง คือ ผู้สอนเปิดประเด็นชวนสนทนาให้เกิดการเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ระหว่างพื้นที่ โดยทำความเข้าใจกับผู้เรียนว่า การเปลี่ยนแปลงบริบททางสังคมหรือวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ไม่ได้เกิดขึ้นแบบแยกส่วน แท้จริงแล้วมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยง เป็นเหตุหรือปัจจัยที่มีผลต่อกันและกัน หากไม่ยึดติดกับความเป็นพื้นที่ ผู้เรียนจะมองเห็นพลวัตทางสังคมมากขึ้น อาจเปิดด้วยประโยคชวนพิศวง เรื่องราวกอสซิปของบุคคลในประวัติศาสตร์ แล้วขยายออกไปให้ครอบคลุมประเด็นที่ต้องการสำรวจ

          ยกตัวอย่างเช่น หลักสูตรกำหนดให้ศึกษาเรื่อง ‘The Emancipation of Serfs’ หรือการเลิกทาสในรัสเซีย ค.ศ. 1861 แต่ผู้สอนไม่ได้เริ่มต้นจากการบอกให้ผู้เรียนท่องจำ หรือเล่าข้อมูลให้ฟังว่าการเลิกทาสเกิดในยุคใด สมัยใด มีคุณูปการอย่างไรต่อรัสเซียและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเท่านั้น ผู้สอนเปิดประเด็นด้วยประโยคที่ว่า การเลิกทาสในครั้งนี้  ‘too little and too late’ หรือ ‘ไม่เพียงพอและช้าเกินไป’ พร้อมทั้งชวนพูดคุยต่อ ทำให้ผู้เรียนสงสัย และตั้งคำถามกลับว่า…

          ‘เปลี่ยนแปลงไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับอะไร ช้าเกินไปเมื่อเทียบกับใคร…’

          นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้สอนนำพาผู้เรียนไปสู่บทสนทนาว่าด้วยการเชื่อมโยง ‘การเลิกทาส’ ในรัสเซีย กับบริบทพื้นที่อื่นๆ ของโลก เช่น การเลิกทาสในยุโรป ผลกระทบของระบบเจ้าขุนมูลนาย (Feudalism) ในยุโรป การปฏิวัติในฝรั่งเศส (ค.ศ. 1789) หรือแม้กระทั่งการยกเลิกขบวนเรือค้าทาสที่เรียกว่า ‘Triangular Trade’ ในปี 1807 (ขบวนเรือที่ขนผ้าไหม หรือเหล็กกล้า จากอังกฤษ ไปแลกซื้อทาสจากทวีปแอฟริกา ตามมาด้วยขนทาสเหล่านั้นไปส่งที่ทวีปอเมริกาเพื่อใช้แรงงานในโรงงานผลิตน้ำตาล และขนเอาผลิตภัณฑ์จากดินแดนโลกใหม่กลับมายังยุโรป)

          ในบางวัน คำถามเริ่มต้นคาบเรียนของอาจารย์ผู้สอนประวัติศาสตร์ อาจเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร กับพระราชนัดดา อเล็กซานดรา ซึ่งเป็น ‘ซารินา’ หรือ พระราชินีแห่งราชวงศ์โรมานอฟ เพื่อทำความเข้าใจถึงสายสัมพันธ์ฉันเครือญาติระหว่างราชวงศ์ยุโรปในยุคนั้น หรือในบางวัน ผู้สอนก็เริ่มต้นด้วยข้อความลายพระหัตถ์ระหว่างซาร์นิโคลัสที่ 2 และซารินาอเล็กซานดรา ที่สะท้อนให้เห็นถึงความตึงเครียดระหว่างชนชั้นปกครองและประชาชนในช่วงหลังจากการเลิกทาส

          เทคนิคการสอนแบบนี้ นอกจากจะทำให้ผู้เรียนพอจะมองเห็นบริบทแวดล้อมแล้ว ยังเข้าใจจุดยืน มุมมอง รู้จักหลักฐาน (เอกสารทางประวัติศาสตร์ที่ผู้สอนหยิบยกมาเปิดบทสนทนาชี้ชวนให้คิด) ตระหนักถึงผลที่เกิดจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน สุดท้ายคือสามารถวิเคราะห์ รวมถึงถ่ายทอดออกมาเป็นงานเขียนหรือบทความเพื่อประเมินผลการเรียนรู้ได้ (Historiography)

          ดังนั้น แทนที่จะได้เรียนเนื้อหาเกี่ยวกับการเลิกทาสในรัสเซียตามที่หลักสูตรกำหนดเท่านั้น ผู้เรียนยังพอจะสามารถเชื่อมโยงเหตุและผล และมองเห็นภาพใหญ่ของ ‘slavery’ หรือ ทาส ในประเทศต่างๆ อีกทั้งเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่หนึ่งอาจส่งผลต่ออีกพื้นที่หนึ่ง จนสุดท้ายก็เข้าใจความหมายของคำว่า ‘too little and too late’ ของการเลิกทาสในรัสเซีย เมื่อพิจารณาเทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลก ที่นำมาซึ่งความทุกข์ร้อนของประชาชน ความไม่สงบภายในประเทศ การขาดเสถียรภาพทางการเมือง จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่อมา

          ที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงตัวอย่างของห้องเรียนประวัติศาสตร์ในต่างประเทศที่หยิบยกมาเล่าให้ฟัง การเรียนการสอนกระตุ้นให้ผู้เรียนเข้าใจประวัติศาสตร์โลกที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์พื้นที่โดยอัตโนมัติ เมื่อหันมามองย้อนดูการศึกษาประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ผู้เขียนคิดว่าการให้ความสำคัญกับพื้นที่ของตนมากเกินไป อาจทำให้ติดอยู่กับเรื่องราวจากมุมมองของตัวเอง หรือมุมมองที่รัฐอยากจะให้มอง หากลองเปิดใจและสายตาให้กว้างขึ้นจะพบว่า แท้ที่จริงแล้วประเทศไทยก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโลก

          ประวัติศาสตร์คือการศึกษาเรื่องราวของการเปลี่ยนแปลง ไม่มีประวัติศาสตร์ใดที่ยิ่งใหญ่เหนือประวัติศาสตร์ใด ซึ่งหากไม่ได้ยึดถือเป็นสรณะ หรือเครื่องมือสร้างอคติ เนื้อหาเหล่านั้นก็คืออุปกรณ์ที่ช่วยฝึกทักษะการคิด วิเคราะห์ เพื่อทำความเข้าใจสังคมโลกเท่านั้นเอง


ที่มา 

บทความ ““ประวัติศาสตร์โลก” ตามการรับรู้และการเรียนรู้ในประเทศไทย: เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์อย่างย่อ” จาก tci-thaijo.org (Online)

บทความ “อจ.ค้านไอเดียประยุทธ์ แยกวิชาประวัติศาสตร์” จาก matichon.co.th (Online)

บทความ “อย่าปล่อยให้ประวัติศาสตร์เรื่องใดมีอำนาจมากเกินไป” จาก prachatai.com (Online)

บทความ “วิชาประวัติศาสตร์ควรสอน(ฝึกฝน)อะไร?” จาก prachatai.com (Online)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก