ย้อนประวัติศาสตร์การท่องเที่ยวชาวสยาม คนไทยเริ่มเที่ยวเมื่อไหร่และเที่ยวอย่างไร?

8,627 views
8 mins
April 4, 2023

          การท่องเที่ยว หรือ Tourism ตามนิยามที่คนทั่วไปเข้าใจกันในปัจจุบันนั้น หมายถึงการเดินทางเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ เพื่อความสุข ความสนุกสนาน หรือเดินทางเพื่อความรู้เป็นสำคัญ การท่องเที่ยวจึงมักสัมพันธ์กับแนวคิดสุขนิยม โดยแพร่หลายในสังคมตะวันตกอย่างน้อยตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโรมัน เริ่มจากกลุ่มผู้มีฐานะและชนชั้นสูงชาวโรมันที่เดินทางไปพักผ่อนหย่อนใจ เช่น การสปาและพักแรมที่รีสอร์ทริมชายฝั่งทะเล

          ลักษณะดังกล่าวต่างจากสังคมรูปแบบจารีตของไทยในอดีตที่ทุกคนอยู่ภายใต้สังกัดมูลนาย ต้องมีวัตถุประสงค์ในการเดินทางชัดเจน จะเป็นรูปแบบอิสระเพื่อความพึงใจของตนเองนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะถูกยึดโยงกับผู้ที่มีฐานานุศักดิ์สูงกว่า ดังนั้นการท่องเที่ยวจึงถือได้ว่าเป็นของใหม่และสะท้อนความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยอย่างมีนัยสำคัญ

คนไทยไม่ท่องเที่ยวก่อนสมัยรัชกาลที่ 4 จริงหรือ?

          การท่องเที่ยวในความหมายของการเดินทางไปยังพื้นที่อื่นที่ไม่ใช้ภูมิลำเนาของตน ทั้งเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ หรือสรรหาความรู้และความบันเทิงนั้น ไม่ใช่โลกทัศน์ในการรับรู้ของคนไทยก่อนสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สิ่งที่อาจพออนุโลมได้ว่าใกล้เคียงกับการท่องเที่ยวในอดีต คือการจาริกแสวงบุญ ไหว้พระพุทธบาทและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา ไปเยี่ยมญาติมิตร ไปช่วยงาน หรือเดินทางด้วยกิจราชการ การสงครามหรือลี้ภัย

          อีกทั้งการจัดระเบียบทางสังคมที่เรียกว่า ระบบไพร่ ซึ่งราษฎรมีฐานะเป็นไพร่ในสังกัดของมูลนายและต้องถูกเกณฑ์แรงงาน จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะเดินทางไกลได้ตามชอบใจ นอกจากจะถูกเรียกเกณฑ์ ส่วนเจ้านายที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางก็มีธรรมเนียมข้อปฏิบัติห้ามเดินทางไปต่างถิ่น เนื่องจากถือเป็นการฝ่าฝืนพระราชปฏิบัติ เกรงจะทำให้พระมหากษัตริย์ระแวง เป็นความผิดทางการเมือง

          การจาริกแสวงบุญ จึงอาจเป็นรูปแบบการเดินทางห่างบ้านที่ชาวสยามคุ้นเคยที่สุด เช่น ในสมัยสุโขทัย พระมหาเถรศรีศรัทธา เดินทางจากสุโขทัยไปนมัสการพระพุทธบาทที่ศรีลังกา ชาวล้านนานิยมเดินทางไปไหว้พระธาตุประจำปีเกิดทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือการที่คนอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์เดินทางไปไหว้พระพุทธบาทสระบุรี ความนิยมนี้ทำให้เกิดประเพณีนมัสการพระพุทธบาททุกวันขึ้น 15 ขึ้น เดือน 3 และวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชา และเป็นประเพณีที่มีผู้สืบทอดปฏิบัติกันมาตั้งแต่เมื่อมีการค้นพบรอยพระพุทธบาทในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม แห่งกรุงศรีอยุธยา เรื่อยมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยแรงจูงใจสำคัญประการหนึ่ง คือความเชื่อว่าถ้ามีโอกาสไปนมัสการรอยพระพุทธบาทได้ถึง 7 ครั้งในชั่วชีวิตนี้ เมื่อตายไปจะไม่ตกนรก

          การเดินทางไปไหว้พระพุทธพระบาทในอดีตค่อนข้างเป็นเรื่องยากลำบากและใช้ระยะเวลามาก เพราะการคมนาคมที่ยังไม่สะดวกสบาย แต่อีกนัยหนึ่งก็นับเป็นความรื่นเริง ได้เพลิดเพลินกับธรรมชาติระหว่างการเดินทาง ชื่นชมทัศนียภาพของแม่น้ำ ป่าเขา ถือเป็นการพักผ่อนหย่อนใจและเป็นโอกาสได้พบปะกันของคนหนุ่มสาวในยุคนั้น

          ในวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น นิราศพระบาท ของสุนทรภู่ มีการกล่าวถึงสถานที่ต่างๆ บริเวณรอบพระพุทธบาทว่าเหมือนเป็นสถานที่รื่นรมย์ ผู้คนมักเดินเที่ยวชม อีกทั้งยังเป็นงานเทศกาลที่มีทั้งสินค้าพื้นเมือง ดนตรี มหรสพ การไปงานเทศกาลดังกล่าวจึงเป็นที่นิยม และเป็นความใฝ่ฝันปรารถนาของผู้คนว่าจะไปไหว้อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต ดังนั้นจึงอาจถือได้ว่าการไปไหว้พระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี คือเส้นทางและสถานที่ท่องเที่ยวแห่งแรกๆ ของชาวสยามก็ว่าได้

ภาพลายรดน้ำการนมัสการรอยพระพุทธบาทบนตู้พระธรรม สมัยรัตนโกสินทร์
ภาพลายรดน้ำการนมัสการรอยพระพุทธบาทบนตู้พระธรรม สมัยรัตนโกสินทร์
ที่มา: ก่องแก้ว วีระประจักษ์และนิยะดา ทาสุคนธ์, เรียบเรียง. ตู้ลายทองภาค 2 ตู้ลายทองสมัยรัตนโกสินทร์ ตอนที่ 1 ตู้เลขที่ กท.1-กท.95. กรุงเทพฯ: สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, 2529.

          เช่นเดียวกับในชาติตะวันตก ราวยุคกลาง (คริสต์ศตวรรษที่ 5 -15) ซึ่งเป็นช่วงของการเกิดสงครามครูเสดระหว่างชาวคริสต์กับชาวมุสลิมเพื่อแย่งชิงดินแดนเยรูซาเล็มอันศักดิ์สิทธิ์ การเดินทางจึงมีเพียงการสู้รบและการจาริกแสวงบุญทางศาสนา โดยมีเส้นทางไปสู่จุดหมายสำคัญ เช่น กรุงโรม กรุงเยรูซาเล็ม ระหว่างเส้นทางการจาริกแสวงบุญเหล่านี้จะมีผู้ให้บริการที่พักและอาหารเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้แสวงบุญ มีการทำสินค้าที่ระลึกที่เกี่ยวกับศาสนาจำหน่ายแก่ผู้แสวงบุญ และมีมัคคุเทศก์แนะนำข้อควรปฏิบัติและการทำพิธีกรรรม

          จนกระทั่งเมื่อสังคมมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจและอาชีพ ทำให้ชนชั้นกลางที่มีฐานะทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีกำลังทรัพย์ในการแสวงหาความรู้และความสุขมากกว่าเรื่องของปากท้อง เกิดเป็นการเดินทางเพื่อความสำราญที่เรียกว่า แกรนด์ทัวร์ (Grand tour) เมื่อประมาณ พ.ศ. 2043 – 2363 เริ่มต้นจากการเป็นกิจกรรมของลูกผู้ดีชาวอังกฤษ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่นเดียวกับการเดินทางเพื่อไปพักฟื้นและรักษาโรคในบริเวณแหล่งน้ำพุแร่และชายทะเล ตามคำแนะนำของแพทย์แผนปัจจุบัน ก็เริ่มเป็นที่รู้จักในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 22 และเป็นที่นิยมอย่างมากในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 23 ทำให้เกิดการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทั้งสองประเภทนี้เป็นจำนวนมากในทวีปยุโรป

เมื่อทำงานหนักก็ต้องพักผ่อน ‘เปลี่ยนอากาศ’ และ ‘ตากอากาศ’

          ราวสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ไทยเริ่มทำการค้าและมีปฏิสัมพันธ์กับชาวตะวันตก จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 4 มีการลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริง พ.ศ.2398 ทำให้สยามต้องเปิดประเทศ มีชาวตะวันตกเข้ามาอาศัยอยู่ในพระนครมากขึ้น จึงมีการรับเอาค่านิยมและธรรมเนียมตะวันตกหลายอย่าง รวมถึงธรรมเนียมการพักผ่อน เช่น การขี่ม้าชมเมือง และการรักษาสุขภาพตามคำแนะนำของมิชชันนารีที่มีความรู้เรื่องแพทย์แผนปัจจุบัน ให้ผู้ป่วยและผู้ที่ต้องการพักผ่อนไป ‘เปลี่ยนอากาศ’ ในบริเวณที่มีอากาศดี เช่น ชายทะเล

          นับแต่นั้นพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนาง จึงเห็นความสำคัญของการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนและพักฟื้นสุขภาพ เห็นได้ชัดเจนจากการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสอ่างศิลา เกาะสีชัง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างพระราชจุฑาธุชราชสถาน เพื่อเป็นพระราชฐานที่ประทับเปลี่ยนอากาศบนเกาะสีชัง ในรัชกาลนี้ชนชั้นสูงต่างนิยมเดินทางไปเปลี่ยนอากาศเมื่อเจ็บไข้ ส่วนผู้ที่มีสุขภาพปกติและทำงานหนักมาตลอดทั้งปีนั้น มีคำแนะนำให้หยุดพักผ่อนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อผ่อนคลายความเครียดจากหน้าที่การงาน และเพื่อสร้างความสดชื่นแก่ร่างกายและจิตใจ

“ธรรมดาเกิดมาเป็นคนทำการงาน มีธรรมเนียมอยู่หลายประเทศ ซึ่งเกิดมีแก่คนโดยมากที่เห็นว่าการเที่ยวเปลี่ยนอากาศเปลี่ยนที่ และพักผ่อนการงานหยุดการที่ทำเป็นคราวๆ นั้น เป็นเครื่องซึ่งจะบำรุงร่างกายให้เจริญและแข็งแรงขึ้น เพื่อว่าเมื่อได้พักแล้วและกลับมาจับทำการงานของตนต่อไปอีกคงจะแข็งแรงได้การงานมากกว่าที่จะตรากตรำ…”

(สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช กราบบังคมทูลถึงเหตุผลในการ ‘เปลี่ยนอากาศ’ พ.ศ.2427)

          ในหมู่ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ก็เดินทางไปเปลี่ยนอากาศเช่นกัน เช่น พระยาไชยสมบัติข้าราชการกระทรวงพระคลังมหาสมบัติซึ่งมีโรคประจำตัว ผู้เป็นบุตรก็ได้อธิบายไว้ในหนังสือ เด็กบ้านสวน “หมอฝรั่งเขาบอกว่าอากาศในกรุงเทพฯ ในฤดูร้อน ร้อนจัดเกินไปไม่เหมาะกับโรคของพ่อ ดังนั้นทุกๆ ปี พ่อจึงไปเปลี่ยนอากาศราวปีละครั้ง…” และ “พ่อไปเปลี่ยนอากาศ ไม่ใช่ตากอากาศอย่างที่นิยมกัน…”

          ดังนั้นการ ‘ตากอากาศ’ จึงมีความหมายเพื่อการไปพักผ่อนเพลิดเพลินมิใช่พักฟื้นร่างกาย โดยเป็นที่นิยมในหมู่ชาวต่างชาติและส่งอิทธิพลต่อมา ซึ่งนิยมการเดินทางไปพักผ่อนตามสถานที่ชายทะเล แต่ก็ไม่ได้มีความหมายเหมือนกับการท่องเที่ยวในปัจจุบันเสียทีเดียว เพราะเป็นการจัดการกันในครอบครัว ไม่ใช่การซื้อบริการบ้านพักเช่นในปัจจุบัน

ทหารเรือช่วยลำเลียงสัมภาระในกระบวนเสด็จประพาสชายทะเลตะวันตก ภาพถ่ายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ที่มา: สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, นิทรรศการออนไลน์ “ฟิลม์กระจก เรื่องราวเหนือกาลเวลา”

การเที่ยวเตร่

          คำว่า เที่ยว ปรากฏในพระนิพนธ์ ‘เที่ยวเดินทางในเขตสยาม’ โดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช กล่าวถึงประโยชน์ของการเดินทางไว้ว่า “เปนของที่จะบำรุงกายแห่งกุลบุตรผู้จะแสวงหาความสบาย…”  และในบทความ “อธิบายการไปเที่ยว” ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ให้ความหมายของคำว่า เที่ยวเตร่ ว่าเป็นการเดินทางพักผ่อน แสวงหาความสุขสำราญและได้ความรู้ เนื่องจากภูมิประเทศและผู้คนในสถานที่แปลกถิ่นทำให้ได้รับความเพลิดเพลิน ในข้อที่ว่า (การไปเที่ยว) ได้ความรู้นั้น เปนข้อสำคัญ ควรจะอธิบายให้ชัดเจน … การอย่างใดๆ ที่คนเราจะรู้นั้น อาไศรยเหตุ 3 อย่าง รู้ได้โดยรู้สึกเอง กล่าวคือที่ได้เห็นได้ยินได้ถูกต้องแลชิมรสเปนต้นอย่าง 1 รู้ได้โดยความรู้สึกของผู้อื่นกล่าวคือได้ฟังคำหรือได้อ่านหนังสือผู้อื่นเขาได้รู้สึกมาเองแล้วมาพรรณนาให้เข้าใจอย่าง 1 แลตริตรองตามด้วยสติปัญญาของตนอีกอย่าง 1…”

          การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาตให้พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางเดินทางเพื่อพักผ่อนและพักฟื้นสุขภาพ ประกอบกับการที่พระองค์ทรงเยือนสถานที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศหลายครั้งตลอดรัชกาล ทั้งเพื่อพักฟื้น เยี่ยมเยียนราษฎร ประพาสส่วนพระองค์ หรือเจริญสัมพันธไมตรียังต่างประเทศ โดยมีพระบรมวงศานุวงศ์แลขุนนางร่วมตามเสด็จหรือไปศึกษาต่อ ทำให้ธรรมเนียมการท่องเที่ยวนั้นแพร่หลายและเป็นที่คุ้นเคยมากขึ้นของคนทั่วไป

          ดังในพระนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วงในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยากเธอเจ้าฟ้ามหาวชาวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ความว่า “ได้ยินอยู่มิได้หยุด ว่าคนไทยสมัยนี้พอมีเงินมีทองสักหน่อยก็ต้องไปเที่ยว (เรียกกันว่าไปตากอากาศ) ในเมืองต่างประเทศ”

เจ้านายฝ่ายหน้าประทับนั่งบนขอนไม้หน้าถ้ำพระนอน เขานอ เมืองนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2449
ที่มา: สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, นิทรรศการออนไลน์ “ฟิลม์กระจก เรื่องราวเหนือกาลเวลา”

มากกว่าความเพลิดเพลิน คือการหาความรู้

          ยานพาหนะที่ได้รับการพัฒนาประสิทธิภาพ ทั้งเรือกลไฟ เรือเดินสมุทรขนาดใหญ่และรถไฟ ทำให้สามารถเดินทางไกลได้สะดวก รวดเร็วและปลอดภัยขึ้นกว่าเดิม บรรดาเจ้านายและขุนนางผู้มีความรู้ จึงนิยมเดินทางไปเที่ยวหรือศึกษายังสถานที่ต่างๆ และมักเขียนเล่าประสบการณ์ของตนเองในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นจดหมาย การจดบันทึก หรือไปรษณียบัตร

          สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ทรงอธิบายประโยชน์ของการท่องเที่ยวไว้ว่า

“ถ้าจะอธิบายคุณวิเศษในการเที่ยวมีหลายอย่าง…ถ้าไปเที่ยวแล้วก็คงได้ลมเย็นบริสุทธิ์สะอาด…การเที่ยวเป็นของจะบำรุงชีวิตท่านผู้ดีผู้มีปัญญาให้เจริญยืนนานพร้อมด้วยสติกำลังความคิด…”

          นอกจากนี้ อาจกล่าวได้ว่าส่วนหนึ่งของการปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยตลอดรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เกิดจากการเสด็จทัศนาบ้านเมืองในต่างประเทศ เริ่มจากการเสด็จพระราชดำเนินไปเยือนอาณานิคมของตะวันตก อย่างสิงคโปร์และเกาะชวาเมื่อ พ.ศ. 2413 อินเดียและพม่าเมื่อ พ.ศ. 2414 ปีนังและมะละแหม่งเมื่อ พ.ศ. 2415 รวมถึงการเสด็จประพาสยุโรป 2 ครั้ง ใน พ.ศ. 2440 และ พ.ศ. 2450 และโปรดให้พระราชโอรสและนักเรียนไทยไปศึกษาต่างประเทศเพื่อที่จะได้นำความรู้ที่ได้เล่าเรียนมาสร้างความเจริญ ดังพระราชดำรัสว่า

“ความเจริญรุ่งเรืองทั้งหลายนี้ ได้เกิดขึ้นเพราะความสังเกตแล้วคิดการประกอบแลเล่าเรียนต่อๆ กันมา อาไศรยความอุส่าห์แลความเพียรเปนที่ตั้งเท่านั้น เขาหาได้เปนอย่างอื่นนอกจากเปนมนุษย์เหมือนเราไม่… แต่เพราะว่าเรามีความรู้น้อยกว่าเขาเท่านั้น จึงได้เห็นเปนผิดกันบ้าง แต่เปนการดีหนักหนาที่เขาไม่ได้ซ่อนเร้นความรู้เขาเลย เราอยากรู้อันใดเราเรียนรู้ได้เหมือนเขาทั้งสิ้น…” 

มีส่งอิทธิพลต่อการศึกษาวัฒนธรรมของประเทศไทยอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย วิถีชีวิต ความบันเทิง รวมไปถึงสาธารณูปโภคและงานสถาปัตยกรรม

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและประธานาธิบดีฟัลลิแยร์แห่งฝรั่งเศส ณ ชาโตเดอรงบุลเย วันอังคารที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2450
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและประธานาธิบดีฟัลลิแยร์แห่งฝรั่งเศส
ณ ชาโตเดอรงบุลเย วันอังคารที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2450

          ความเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อยในช่วงการเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตก ทำให้คนไทยเริ่มคุ้นเคยกับการท่องเที่ยวมากขึ้น ทั้งการท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ เพื่อพักผ่อนฟื้นฟูสุขภาพตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อศึกษาหาความรู้ และท้ายที่สุดการท่องเที่ยวก็แพร่หลายมาสู่ประชาชนทั่วไป โดยในช่วงแรกเป็นการเดินทางท่องเที่ยวของประชาชนในกลุ่มที่มีกำลังทรัพย์พอจะเดินทางเลียนแบบวิถีของชนชั้นสูง

          ต่อมาเมื่อประเทศไทยพัฒนามาสู่สังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ช่วงทศวรรษ 2500 การรับรู้วิทยาการต่างๆ ของชาวตะวันตกส่งผลต่อการท่องเที่ยวและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างมาก การท่องเที่ยวอันเคยเป็นกิจกรรมที่จำกัดอยู่ในกลุ่มจึงกระจายลงสู่ประชาชนทั่วไปมากยิ่งขึ้น

          ติดตามเรื่องราวประวัติศาสตร์การท่องเที่ยวในไทย ประวัติการไปรษณีย์อันถือเป็นหนึ่งในกิจการที่รัชกาลที่ 5 ทรงเล็งเห็นความสำคัญ และให้จัดตั้งขึ้นตามแบบต่างประเทศ รวมทั้งไปรษณียบัตรส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเก็บรวบรวมไว้ ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นเอกสารจดหมายเหตุประเภทหนึ่งที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวในอดีต และสะท้อนความผูกพันและรักใคร่ระหว่างผู้ส่งและผู้รับได้เป็นอย่างดี ในสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ ‘ขุมทรัพย์ของแผ่นดิน’ ซึ่ง TK Park จัดทำขึ้น ในรูปแบบอีบุ๊ค “ไปรษณียบัตรจดหมายเหตุ”


ที่มา

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร. ไปรษณียบัตรจดหมายเหตุ และเอกสารประกอบ. [online]

อรวรรณ ศรีอุดม. การศึกษาเรื่องการท่องเที่ยวในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.2453-2468). 2543. [online]

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. คนไทยเริ่มออกเดินทางท่องเที่ยวตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5. 2563. [online]

โศจิลักษณ์ กมลศักดาวิกุล. วิวัฒนาการ: การท่องเที่ยวในประเทศไทย. 2551. [online]

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก