เล่าเรื่องสื่อสร้างสรรค์สาระท้องถิ่นสมุทรสาคร

639 views
4 mins
April 4, 2023

         ศิลปินผู้เขียนและผู้วาดสื่อสร้างสรรค์สาระท้องถิ่นสมุทรสาคร ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดและเบื้องหลังการจัดทำหนังสือทั้ง 4 เล่มคือ สมุทรสาคร สนุกสาคร, สนุกใกล้บ้านที่สมุทรสาคร, สำรวจเมืองสมุทร และสาระสนุกสู่การเรียนรู้ ว่ากว่าจะเป็นสื่อการเรียนรู้ที่สร้างสร้างสรรค์ ชวนให้เด็กๆ รู้สึกรักและภูมิใจในท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสาครได้นั้น  ผู้เขียนผู้วาดแต่ละท่านได้ใช้ทั้งความทุ่มเท ความละเอียดอ่อน มุมมองที่ช่างสังเกต และคำนึงถึงพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กๆ แต่ละวัยเป็นสำคัญ

เก็บข้อมูลจากสถานที่จริง

         แม้ว่าปัจจุบันจะมีวิธีเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกง่ายดายเช่นอินเทอร์เน็ต  แต่ทีมงานผู้เขียนผู้วาดสื่อสร้างสรรค์สาระท้องถิ่นสมุทรสาครก็ไม่ได้ทำงานโดยการใช้ข้อมูลจากกองหนังสือหรืออินเทอร์เน็ตเป็นหลัก  ทุกท่านให้ความสำคัญกับการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล ดังนั้นภาพวาดที่ปรากฏในหนังสือจึงเป็นภาพของสถานที่จริง  มีชีวิตของผู้คนที่โลดแล่นอยู่เช่นนั้นจริงๆ  คุณครูที่นำสื่อชุดนี้ไปใช้สามารถเปิดภาพอาคาร หรือภาพตลาดในหนังสือ แล้วให้นักเรียนลองทายได้ว่าเป็นบริเวณไหนของสมุทรสาคร  เช่น ภาพตลาดที่ตึกมีตราสัญลักษณ์กรมธนารักษ์ จะทำให้เด็กรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวได้ด้วย บางภาพที่เด็กได้เห็นจากหนังสือ เช่นแผนที่บอกทางในชุมชน แล้วเด็กได้ลองเดินกลับไปดูของจริง ก็จะรู้ว่าท้องถิ่นของตัวเองยังขาดข้อมูลสาธารณะ  เขาก็จะจดจำประเด็นเหล่านี้  และเมื่อวันหนึ่งที่เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งอาจมีบทบาทด้านการพัฒนาชุมชน เขาก็จะใส่ใจกับสิ่งเล็กน้อยที่สำคัญเหล่านี้

ผูกเรื่องจากสิ่งใกล้ตัว

เด็กๆ จะสามารถเข้าถึงเนื้อหาในหนังสือได้ง่ายขึ้นเมื่อใช้การผูกเรื่องราวจากเรื่องใกล้ตัว อย่างเรื่อง สมุทรสาคร สนุกสาคร  ก็เล่าเรื่องผ่านตัวละครที่เป็นครอบครัว มีพ่อ แม่ พี่ชาย น้องสาว  หนังสือเริ่มด้วยการแนะนำตัวละครง่ายๆ ว่า คุณประหยัดชอบวาดรูป คุณนายน้อยหน่าชอบปลูกต้นไม้ น้องหางดาวชอบเล่นดนตรี พี่โตแมงชอบเลี้ยงแมลง คุณครูก็สามารถเชื่อมโยงคำถามให้เด็กคิดทบทวนได้ว่า ตัวเขาชอบอะไร ครอบครัวเขาเป็นอย่างไร เรื่องราวในเล่มนี้ดำเนินไปง่ายๆ เกี่ยวพันกับกิจวัตรปกติในชีวิตประจำวัน คือ ดู เล่น กิน และวาด

“เห็น” ในสิ่งที่คนทั่วไปไม่ทันมอง

         คณะผู้เขียนเล่าว่า  ในกระบวนการทำหนังสือชุดนี้ ก่อนอื่นต้องมองเห็นจุดเด่นของจังหวัดสมุทรสาครที่คนอื่นมองไม่เห็น  หรือคนสมุทรสาครซึ่งได้เห็นทุกวันอาจมองข้ามไปเพราะความเคยชิน แต่ผู้เขียนในฐานะคนต่างถิ่นกลับสามารถมองเห็นจุดเด่นในสมุทรสาคร มองเป็นเรื่องแปลก เรื่องน่าสนใจ และนำมุมมองเหล่านี้มาใช้ชวนให้เด็กในท้องถิ่นกลับมามองเห็นในสิ่งที่คุ้นเคยในชีวิตประจำวัน

         ตัวอย่างเช่น อ่างกะปิ ที่ดูเป็นสินค้าแสนธรรมดาของสมุทรสาคร หนังสือเรื่อง สมุทรสาคร สนุกสาคร ก็ได้หยิบยกมาเล่าคู่กับสำนวน ‘อย่าไปเหยียบอ่างกะปิ’ ซึ่งมีนัยยะสอนให้เด็กรู้จักระมัดระวังในการเดินทาง  นั่นก็เพราะ สมัยก่อนพ่อค้าแม่ขายมักจะวางกะปิไว้บนพื้นริมด้านนอกสุดของร้าน ไม่ได้วางบนโต๊ะหรือพื้นที่ยกสูงขึ้นอย่างในปัจจุบัน ถ้าใครไม่ระวังเดินใจลอย ก็อาจเหยียบอ่างกะปิ  ชาวกรุงเทพฯ วัยผู้ใหญ่ตอนปลายก็สามารถหวนนึกถึงภาพวิถีชีวิตเช่นนี้ได้ ถ้าเคยไปเดินตลาดรอบสนามหลวง  เรื่องต่างๆ เหล่านี้คุณครูสามารถเชื่อมโยงเรื่องธรรมดาใกล้ตัว ไปยังเรื่องน่าสนใจอื่นๆ ได้อีกมากมายไม่รู้จบ

การเรียนรู้ของเด็กต้องมาก่อน

         การสอนเด็กและการเรียนรู้เป็นคนละสิ่งกัน  บางครั้งครูตั้งใจสอน แต่เด็กอาจจะไม่ตั้งใจเรียน หรือเรียนแล้วไม่เกิดการเรียนรู้ก็ได้  นั่นเป็นเพราะการสอนยังไม่สอดคล้องกับกระบวนการเรียนรู้  ครูต้องเข้าใจว่าเด็กแต่ละวัยมีวิธีการเรียนรู้อย่างไร

         ยกตัวอย่างเช่น ในวัยเด็กเล็ก ที่เด็กกำลังหัดเรียนรู้ภาษา เด็กจะสนุกกับคำใหม่ๆ แปลกๆ ที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน จะเห็นได้ว่าเวลาเด็กไปโรงเรียนแล้วไปได้ยินได้ฟังคำหยาบ  เด็กจะจำแล้วพูดตามได้ง่าย ผู้ใหญ่ต้องคอยช่วยบอกว่าอะไรเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม  บางครั้งเด็กอาจจะพูดคำยากๆ ผิดไป เช่นพูดว่า ‘นั่งสมาชิก’ แทนที่จะพูดว่า ‘นั่งสมาธิ’ ผู้ใหญ่ไม่ควรที่จะไปกล่าวโทษว่าเด็กพูดผิด เพราะจะไปขัดขวางสิ่งที่เด็กกำลังเรียนรู้  แต่ถ้าเด็กได้ยินสิ่งที่ถูกต้องบ่อยๆ ก็จะสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง

         ในเรื่อง สมุทรสาคร สนุกสาคร ก็นำกลวิธีเรื่องคำแปลกใหม่มาใช้  ปกติเด็กจะเคยได้ยินคำว่า สมุทรสาคร พอผู้เขียนแผลงเป็นคำที่เสียงใกล้เคียงกันว่า สนุกสาคร ก็จะทำให้เรื่องดูน่าสนใจขึ้นมาในสายตาเด็ก  ชื่อตัวละคร โตแมง เด็กก็จะแผลงออกว่ามาจากชื่อ แตงโม  ส่วนตัวละครอีกตัวในเรื่อง คือ หางดาว  ก็มักจะสร้างภาษาของตัวเองขึ้นมาตลอดเวลา เช่น กระทุ่มแบนกับบานจะรงค์

นำเสนอข้อมูลให้สอดคล้องกับวัย

          เบื้องหลังการทำหนังสือสาระท้องถิ่นสมุทรสาคร อันที่จริงแล้วผู้เขียนทั้ง 4 เรื่อง ล้วนได้รับข้อมูลดิบชุดเดียวกัน  แต่ได้รับโจทย์ให้นำเสนอกับเด็กที่ช่วงอายุแตกต่างกันออกไป เช่นเรื่อง  สนุกใกล้บ้านที่สมุทรสาคร เป็นหนังสือสำหรับเด็กเล็กอายุ 4-6 ขวบ ก็จะต้องลดทอนรายละเอียด ย่อยข้อมูลให้อ่านง่ายที่สุด  โดยผู้เขียนนำเสนอบรรยากาศที่ใกล้ตัว เป็นเอกลักษณ์ของ เมืองสมุทร นั่นก็คือบ้านที่ติดน้ำ ติดทะเล แบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ส่วน คือ ชายฝั่ง เรือ อาหาร ป่าชายเลน

          เรื่อง สำรวจเมืองสมุทร เป็นหนังสือสำหรับเด็กชั้นประถม 4-6 ซึ่งสามารถอ่านเรื่องราวที่ซับซ้อนขึ้นได้  ผู้เขียนได้พยายามทำให้เรื่องที่มีรายละเอียดน่าเบื่อให้สนุกน่าอ่าน  โดยใช้ หมี เป็นตัวละครแทนผู้อ่าน  แล้วก็นำเด็กๆ ไปสำรวจเรื่องราวต่างๆ ของสมุทรสาคร  นอกจากนี้ยังใช้ภาพและสีเข้ามาช่วยอธิบายเรื่องราวให้ง่ายขึ้น เช่น เมืองสามน้ำ ก็ใช้สีขาว สีฟ้า สีน้ำเงิน แทนน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม  สำหรับบางตอนที่เนื้อหาชวนให้เบือนหน้าหนี  ผู้เขียนได้พยายามแบ่งเนื้อหาแต่ละก้อนให้อยู่กระจายกันในหน้านั้น โดยมีภาพสบายตาคั่น ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านได้พักสายตาและความคิด

ใช้มุมมองภาพที่หลากหลาย

           ในแต่ละเรื่องจะวาดโดยใช้มุมมองภาพที่หลากหลาย บางหน้าจะวาดจากมุมบนไม่ได้วาดจากมุมตรงเหมือนคนมองฉากลิเก  เช่นรูปเรือตังเกใน สนุกใกล้บ้านที่สมุทรสาคร และเมื่อเปิดไปหน้าอื่น  บางรูปก็จะนำเสนอมุมใกล้ ตัวละครก็จะดูใหญ่ ดูโดดเด่นแต่บางหน้าตัวละครก็จะดูเล็ก เหมือนยืนอยู่ไกลออกไป มุมมองภาพที่หลากหลายจะช่วยให้ไม่น่าเบื่อ

รู้จักเน้น และลดทอนรายละเอียด

          ผู้เขียนผู้วาดพยายามหาวิธีสื่อสารให้เด็กได้เห็นชัดที่สุดในสิ่งที่ต้องการจะบอกเล่า ตัวอย่างเช่นในเรื่อง สำรวจเมืองสมุทร ภาพตึกธนาคารกรุงเทพ ที่ชาวสมุทรสาครจะต้องเดินทางไปทางเรือ ก็ทำ Di-Cut ภาพถ่ายตึก แต่ภาพแวดล้อมอื่นๆ ถูกแทนที่ด้วยภาพวาดทั้งหมด โดยเฉพาะภาพคลองก็เป็นภาพวาด และมีตัวละครหมีกับกระต่ายกำลังพายเรือไปธนาคาร เทคนิคนี้ทำให้วิถีชีวิตเมืองน้ำถูกเน้นให้โดดเด่นขึ้นมา

          ในทางกลับกัน  บางภาพที่รายละเอียดมาก เช่นในตอน ของดีเต็มวัด  ซึ่งอัดแน่นไปด้วยภาพถ่ายสถาปัตยกรรมต่างๆ ไม่ชวนอ่าน  ก็ได้ทอนรายละเอียดส่วนประกอบของอาคารบางจุดโดยทำเป็นลายโครงเส้นโปร่งๆ  เพียงเท่านี้ก็ช่วยลดความกระด้าง ดูสบายตาน่าอ่านมากยิ่งขึ้น

ซ่อนลูกเล่นจุดประกายใฝ่รู้

สมุทรสาคร สนุกสาคร เต็มไปด้วยลูกเล่นเล็กๆ น้อยๆ ดึงความสนใจของเด็ก  เช่นจะมีคำว่า สมุทรสาคร ตัวเล็กๆ ซ่อนอยู่ตามซอกมุมต่างๆ ของหน้าหนังสือ  ซึ่งครูสามารถบอกให้เด็กค้นหาว่ามีคำนี้ทั้งหมดกี่คำ  แต่ควรทิ้งช่วงหลายๆ สัปดาห์ค่อยบอกคำเฉลย  เพื่อให้เด็กกลับมาพลิกหนังสือซ้ำแล้วซ้ำอีก  เป็นกุศโลบายให้เด็กได้อ่านหนังสือด้วยอีกทางหนึ่ง   ส่วนในตอนเบญจรงค์ก็จะมีภาพเครื่องถ้วยชามหลายภาพ  น้องหางดาวไม่รู้ว่าใบไหนบ้างที่เป็นเบญจรงค์ ก็เป็นคำถามที่กระตุ้นให้เด็กไปค้นหาความรู้เรื่องเบญจรงค์ต่อ 

รู้จักนำสื่อไปใช้

          คณะผู้เขียนผู้วาดได้กล่าวทิ้งท้ายว่าหนังสือที่อยู่ในมือไม่ใช่สาระของสิ่งทั้งหมดที่เด็กจะต้องเรียนรู้ แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่จะต้องอาศัยครูช่วยสร้างสรรค์กระบวนการนำไปสู่ความงอกงามทางความรู้และความคิดที่กว้างขวางออกไป ซึ่งอาจดูตัวอย่างคำแนะนำได้จากหนังสือ  เทคนิคการนำสื่อสร้างสรรค์สาระท้องถิ่นสมุทรสาครไปใช้ สรุปได้ว่า

  1. เริ่มจากสิ่งที่คุ้นเคย
  2. ตามด้วยสิ่งที่ผิดไปจากความคุ้นเคย
  3. เริ่มจากง่ายไปหายาก
  4. เมื่อสิ่งใหม่มา ต้องทบทวนเรื่องเดิม
  5. เปิดโอกาสให้เด็กคิด จินตนาการ มีส่วนร่วม

ท่านที่สนใจหนังสือชุดสาระท้องถิ่นภาคกลางของสถาบันอุทยานการเรียนรู้ สามารถอ่านและยืมหนังสือได้ที่อุทยานการเรียนรู้ต้นแบบและบริการ (ทีเคพาร์ค) หรือ อ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ได้ที่นี่


ที่มา

สรุปความจากวงเสวนา “เล่าเรื่องสื่อสร้างสรรค์สาระท้องถิ่นสมุทรสาคร” ณ อุทยานการเรียนรู้สมุทรสาคร อ.เมือง จ.สมุทรสาคร วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม 2555 วิทยากรผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ อาจารย์ชีวัน วิสาสะ ผู้เขียนเรื่อง สมุทรสาคร สนุกสาคร คุณชาญศิลป์ กิตติโชติพาณิชย์ ผู้เขียนเรื่อง สนุกใกล้บ้านที่สมุทรสาคร คุณวชิราวรรณ ทับเสือ ผู้ออกแบบรูปเล่มและภาพประกอบเรื่อง สำรวจเมืองสมุทร คุณระพีพรรณ พัฒนาเวช บรรณาธิการและผู้เขียน คู่มือสาระสนุกสู่กิจกรรมการเรียนรู้


เผยแพร่ครั้งแรก ตุลาคม 2557

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก