สูด ‘กลิ่น’ เรื่องราว ปลุกเร้าจินตนาการด้วยการ ‘ดม’

1,707 views
9 mins
August 25, 2023

          หากการเที่ยวพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่คุณโปรดปราน คงพอจะสังเกตได้ว่าการจัดแสดงในนิทรรศการในช่วง 2 – 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ได้มีแค่ตัวหนังสือเรียงราย หรือวัตถุโบราณอัดแน่นเต็มตู้กระจกอีกต่อไป แหล่งเรียนรู้จำนวนมากทวีความนิยมในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์และกระตุ้นความรู้สึกร่วมของผู้รับชม

          โดยส่วนมากเทคนิคที่นำมาใช้ จะเน้นการรับรู้ผ่านการมองเห็นและการได้ยิน แต่หนึ่งในประสาทสัมผัสที่สามารถส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และกระตุ้นจินตนาการได้อย่างน่าสนใจ อีกทั้งเริ่มถูกนำมาใช้ในแหล่งเรียนรู้ รวมถึงการจัดแสดงนิทรรศการต่างๆ คือการ ‘ดมกลิ่น’ ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีนำสมัย แต่ต้องใช้ ‘การออกแบบประสบการณ์’ ที่ละเมียดละไมและสร้างสรรค์

          ควรเลือกกลิ่นแบบไหน ถึงจะสื่อสารได้ตรงกับเนื้อหา

          ข้อควรคำนึงในการออกแบบกลิ่นมีอะไรบ้าง

          บทความนี้จะพาคุณไปสำรวจวิธีการและตัวอย่างการใช้กลิ่นเพื่อสื่อความหมาย โปรดหลับตา ปล่อยใจ และเปิดประสาทรับรู้ไปพร้อมๆ กัน

กลิ่นนั้นสำคัญไฉน

          “กลิ่นเป็น sense เดียวที่เราหยุดไม่ได้ คุณหลับตาคุณก็มองไม่เห็น อุดหูก็ไม่ได้ยิน ไม่อยากกินเราก็ปิดปาก ไม่อยากสัมผัสเราก็ไม่ไปจับ ไม่ไปแตะ แต่ว่าเราหยุดหายใจไม่ได้นะ กลิ่นคือส่วนหนึ่งของลมหายใจ” ก้อย – ชลิดา คุณาลัย นักออกแบบกลิ่นมากประสบการณ์และผู้ก่อตั้ง Nosestory กล่าวไว้ เมื่อเราเริ่มต้นบทสนทนาว่าด้วยเรื่องของกลิ่น ก้อยยังเล่าอีกว่า กลิ่นชวนให้ผู้รับรู้หวนระลึกถึงความรู้สึก อารมณ์ ประสบการณ์ และความทรงจำได้ชัดเจนที่สุดในประสาทสัมผัสทั้งหมด

          จากการสำรวจเชิงสถิติพบว่ามนุษย์สามารถจดจำกลิ่นได้มากถึง 35% ในขณะที่จำสิ่งที่เคยเห็นได้เพียง 5% เท่านั้น อาจเพราะประสาทการรับกลิ่นอยู่ใกล้กับสมองส่วนที่ทำหน้าที่เก็บรักษาความทรงจำระยะยาวและตอบสนองต่ออารมณ์ กลไกการทำงานของประสาทสัมผัสรับกลิ่นจึงเชื่อมโยงกับความทรงจำอย่างใกล้ชิด มนุษย์จึงสามารถบันทึกและเชื่อมโยงกลิ่นกับเรื่องราวจากประสบการณ์ที่ตนประสบ

          ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อบางคนได้กลิ่นขนมหวานเมนูโปรดก็จะรู้สึกเหมือนได้ย้อนกลับไปสู่วัยเยาว์ หรือกลิ่นน้ำหอมที่ลอยมาตามลมอาจทำให้นึกถึงอ้อมกอดอบอุ่นของใครสักคน กลิ่นยังสามารถกระตุ้นความทรงจำ รวมถึงส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึก เช่น กลิ่นของดอกไม้หรือสมุนไพรบางชนิดอาจทำให้รู้สึกสงบและผ่อนคลาย

          การรับรู้ด้วย ‘กลิ่น’ จึงจัดเป็นการสร้าง ‘Immersive Experience’ รูปแบบหนึ่งที่สามารถใช้เติมเต็มประสบการณ์แก่ผู้เยี่ยมชม เพื่อให้สามารถรับรู้ เข้าใจ และมีอารมณ์ร่วมกับการจัดแสดงได้ดียิ่งขึ้น

สูด ‘กลิ่น’ เรื่องราว ปลุกเร้าจินตนาการด้วยการ ‘ดม’
ระบบการดมกลิ่น
Photo: Karly Gerharts/ Mediamatic

‘กลิ่น’ เล่าประวัติศาสตร์

          ประโยชน์แรกของการใช้กลิ่นเพื่อส่งเสริมการรับรู้ คือ กลิ่นช่วยทำให้ภาพประวัติศาสตร์ที่เราไม่เคยมีโอกาสพบเจอนั้นชัดเจนยิ่งขึ้น ลองนึกถึงการเดินชมนิทรรศการจำลองยุควิกตอเรียน แล้วได้กลิ่นที่คล้ายกับเครื่องเทศอาหารฝรั่งผสมผสานกับกลิ่นยาสมุนไพรจากร้านค้าในตรอก หรือเดินผ่านการจัดแสดงอุโมงค์ใต้ดินฐานปฏิบัติการในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองแล้วได้กลิ่นดินปืนผสมกับหนังเก่าๆ ของรองเท้าบูตทหาร ผู้ชมย่อมรู้สึกเชื่อมโยงกับภาพบรรยากาศที่ดูห่างไกลจากชีวิตประจำวันได้มากกว่าการอ่านป้ายข้อมูล ชมนิทรรศการ หรือรับฟังบรรยาย

          อาจารย์จิ๊บ – ดร.นลินณัฐ ดีสวัสดิ์ จากวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เป็นที่ปรึกษาและนักออกแบบกลิ่น เล่าถึงกระบวนการทำงานออกแบบกลิ่นในพิพิธภัณฑ์ว่า

          “หน้าที่ของเราคือ นักออกแบบประสบการณ์รับรู้ (Sense Experience Designer)… ถ้าเราจะใช้กลิ่นเป็นตัวเล่าในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ ก็ต้องเข้าใจเรื่องราวของประวัติศาสตร์ก่อน เพราะกลิ่นจับต้องไม่ได้ และเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าใจในบริบทเดียวกัน เพราะฉะนั้น เราต้องตีความสัญญะที่อยู่ในเรื่องราวและถ่ายทอดออกมาผ่านกลิ่น”

สูด ‘กลิ่น’ เรื่องราว ปลุกเร้าจินตนาการด้วยการ ‘ดม’
อาจารย์จิ๊บ – ดร.นลินณัฐ ดีสวัสดิ์
Photo: วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยศิลปากร

          อาจารย์จิ๊บ ยกตัวอย่างกรณีการทำงานใช้กลิ่นเพื่อเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ ณ พระราชวังพญาไท “เรื่องราวอาจจะมีเป็น 10 เรื่อง เพราะประวัติศาสตร์แต่ละพื้นที่มีหลายยุคหลายสมัย พระราชวังพญาไทมีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ครั้งก่อสร้างเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมารัชกาลที่ 6 ทรงใช้เป็นที่ประทับ หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองที่นี่ก็ถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นโรงแรมและโรงพยาบาล ดังนั้น ก่อนจะทำการออกแบบหรือเลือกใช้กลิ่น เราต้องถามก่อนว่าผู้เกี่ยวข้องต้องการเล่าอะไร เช่น ถ้าต้องการเล่าเรื่องสมัยรัชกาลที่ 6  เราก็ต้องค้นหาว่าอะไรที่เกี่ยวข้องกับท่าน จนพบบทพระนิพนธ์มัทนะพาธา และพบว่าภาพจิตรกรรมเฟรสโกที่เขียนประดับในพระราชวังนั้นส่วนใหญ่เป็นภาพดอกไม้ และมีลายดอกไม้ที่รัชกาลที่ 6 ทรงออกแบบด้วยพระองค์เอง ภาพวาดดอกไม้ที่โดดเด่นคือดอกกุหลาบ เช่น ภาพในห้องทรงพระอักษรที่ตกแต่งด้วยดอกกุหลาบสีน้ำเงิน เราจึงใช้จุดนี้มาตีเป็นกลิ่นเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ชมกับสถานที่”

สูด ‘กลิ่น’ เรื่องราว ปลุกเร้าจินตนาการด้วยการ ‘ดม’
การจัดแสดงผลงาน ‘The aesthetic experience: Scent-Love-Lost in time’ โดย ดร.นลินณัฐ ดีสวัสดิ์ ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน เพื่อทดลองการออกแบบประสบการณ์เล่าเรื่องประวัติศาสตร์พระราชวังพญาไทด้วยการใช้กลิ่น
Photo: ดร.นลินณัฐ ดีสวัสดิ์

          การใช้กลิ่นเล่าประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องใหม่ พิพิธภัณฑ์ทางฟากฝั่งตะวันตกหลายแห่งมีการนำกลิ่นมาใช้ตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์ของตัวบุคคล หรือสถานที่ เช่น พระราชวังคิว (Kew Palace) ซึ่งตั้งอยู่ในสวนคิว (Kew Gardens) สวนดอกไม้เลื่องชื่อใจกลางกรุงลอนดอน ที่นี่เคยเป็นสถานที่พักผ่อนของพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร  เกร็ดประวัติศาสตร์เล่าว่า ที่พระราชวังแห่งนี้จะวางดอกลาเวนเดอร์ไว้ในห้องสรงน้ำตามคำแนะนำของแพทย์เผื่อให้พระองค์เกิดความผ่อนคลาย โล่งใจ และสงบ ด้วยเหตุนี้ ปัจจุบันผู้ดูแลจึงนำดอกไม้ดังกล่าวมาวางไว้คู่กับการจัดแสดงภายในพระราชวังซึ่งช่วยให้ผู้เข้าชมสัมผัสและเข้าถึงความรู้สึกของกษัตริย์จอร์จในช่วงเวลาที่ทรงพยายามเอาชนะพระอาการประชวรทั้งทางร่างกายและจิตใจ

          ความน่าสนใจประการหนึ่งของการใช้กลิ่นเพื่อเล่าเรื่องในประวัติศาสตร์ คือกลิ่นที่ใช้ในการสื่อสารไม่ได้จำกัดอยู่แค่กลิ่นหอมจรรโลงใจแบบน้ำหอมหรือกลิ่นดอกไม้เท่านั้น  แต่พิพิธภัณฑ์หลายแห่งเลือกใช้กลิ่นเพื่อเล่าเรื่องตามบริบทของการจัดแสดง เช่น กลิ่นของอาหารที่กำลังปรุงในห้องครัวของบ้านโบราณ หรือกลิ่นของกระป๋องอาวุธในห้องประวัติศาสตร์สงคราม

          ก้อย – ชลิดา คุณาลัย เสนอความคิดเห็นว่า ยามเมื่อพูดถึงการใช้กลิ่นเพื่อสื่อความหมาย หลายคนอาจนึกว่าต้องเป็นกลิ่นหอม หรือเป็นเรื่องของศาสตร์อโรมาเธอราปี เช่น กลิ่นพืชพันธุ์ หรือสมุนไพรเพื่อการบำบัด แต่ในมุมมองของนักออกแบบกลิ่น ก้อยมองว่าการกำหนดว่ากลิ่นไหนเหม็นหรือกลิ่นไหนหอมนั้นเป็นเพียงอคติที่คนเรากำหนดขึ้น การเปิดใจรับกลิ่นใหม่ๆ ยังถือเป็นหนึ่งในการเปิดประสบการณ์เรียนรู้ส่วนบุคคลที่น่าสนใจ

          “คนไปให้ค่าความหอมเสียเยอะ จริงๆ มันขึ้นกับวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ คนไปกำหนดกันว่าอันนี้หอม อันนี้เหม็น เช่น กลิ่นเขียว คนไทยเรียกเหม็นเขียว เห็นไหมว่าเราไปกำหนดตั้งแต่ต้นแล้ว ถ้าเราเริ่มต้นไปบอกเลยว่าเหม็น มันคือการปฏิเสธ พอเราปฏิเสธ เราก็ไม่ได้เรียนรู้ พอไม่เรียนรู้ เราก็จะไม่รู้อะไรเลย”

สูด ‘กลิ่น’ เรื่องราว ปลุกเร้าจินตนาการด้วยการ ‘ดม’
ก้อย – ชลิดา คุณาลัย
Photo: Nosestory 

          ตัวอย่างแรกๆ ของพิพิธภัณฑ์ ‘กลิ่นเหม็นที่น่าจดจำ’ คือ พิพิธภัณฑ์ยอร์วิค ไวกิ้ง เซ็นเตอร์ (JORVIK Viking Centre) เมืองยอร์ค สหราชอาณาจักร ซึ่งเริ่มใช้กลิ่นในการสื่อความหมายมาตั้งแต่ปี 1984 ภัณฑารักษ์ต้องการสร้างหมู่บ้านกลิ่นเหม็นที่ว่ากันว่าเป็นลักษณะของเมืองไวกิ้งโบราณขึ้นมา จึงมีการร่วมมือพัฒนากลิ่นกับบริษัทผลิตกลิ่น AromaPrime

          การออกแบบกลิ่นในนิทรรศการครั้งนั้นเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักออกแบบกลิ่นกับนักโบราณคดี ที่เริ่มตั้งแต่การศึกษาไม้และเศษผ้าเก่าแก่ที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ ไปจนถึงศึกษาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับอาหารของชาวไวกิ้ง การค้นคว้านี้นำไปสู่การผลิตกลิ่นควันไม้ แอปเปิล ปลา หนังสัตว์ และมูลแพะ ฯลฯ เฟรด เดล (Fred Dale) ผู้ก่อตั้งบริษัท AromaPrime ยังได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมถึงวิธีการกระจายกลิ่น โดยเขาพิจารณาเทคนิคการให้กลิ่นร่วมกับผังทางกายภาพของพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้แน่ใจว่ากลิ่นต่างๆ ที่ผ่านกระบวนการวิจัยและออกแบบมาอย่างถี่ถ้วนจะถูกนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นที่น่าจดจำ

          นอกจากกลิ่นเหล่านี้จะช่วยให้ผู้เยี่ยมชมสัมผัสความเป็นไวกิ้งได้ชัดเจน ราวกับย้อนอดีตไปเมื่อพันกว่าปีที่แล้ว ข้อมูลจากการสำรวจยังบอกอีกว่า กลิ่นช่วยสร้างความทรงจำดีๆ เกี่ยวกับตัวพิพิธภัณฑ์ เมื่อผู้เข้าชมมีโอกาสกลับมาเยี่ยมเยือนพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อีกครั้งในหลายปีต่อมา การได้ดมกลิ่นเดิมที่จัดแสดงในนิทรรศการนั้น ทำให้ความทรงจำอันสดใสเมื่อครั้งมาเยือนพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ในวัยเยาว์หวนกลับคืน

          แม้ว่ายอร์วิค ไวกิ้ง เซ็นเตอร์จะเผชิญกับน้ำท่วมใหญ่ในปี 2015 การจัดแสดงกลิ่นยังคงถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการหลังการตกแต่งใหม่ โดยครั้งนี้ AromaPrime ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจาก York Archaeological Trust เพื่อระบุกลิ่นพืชป่าในศตวรรษที่ 10 อีกทั้งนำเสนอนวัตกรรมระบบสร้างกลิ่นอันน่าทึ่งและทันสมัยยิ่งขึ้น โดยส่งกลิ่นผ่านท่อใต้ดินที่นำกลิ่นมาจากสถานีที่ซ่อนอยู่ในกระท่อมไวกิ้งหลังหนึ่ง

สูด ‘กลิ่น’ เรื่องราว ปลุกเร้าจินตนาการด้วยการ ‘ดม’
บรรยากาศการจัดแสดงหมู่บ้านไวกิ้งจำลอง ที่พิพิธภัณฑ์ยอร์วิค ไวกิ้ง เซ็นเตอร์ ซึ่งมีการซ่อนท่อส่งกลิ่นเอาไว้
Photo: JORVIK Viking Centre
สูด ‘กลิ่น’ เรื่องราว ปลุกเร้าจินตนาการด้วยการ ‘ดม’
Photo: JORVIK Viking Centre

‘กลิ่น’ สร้างบรรยากาศ เติมเต็มจินตนาการและสุนทรียะ

          ประโยชน์อีกประการของการใช้กลิ่นในการจัดแสดง คือ เสริมบรรยากาศและจินตนาการเพื่อให้ผู้ชมรู้สึกเชื่อมโยงกับบริบทที่ต้องการนำเสนอ หรือที่เรียกว่า ‘Ambient Scenting’ ในกรณีนี้ กลิ่นที่นักออกแบบเลือกใช้อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของตัวนิทรรศการโดยตรง แต่ทำหน้าที่เสริมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น การออกแบบกลิ่นจะมีความซับซ้อนไปในอีกรูปแบบ โดยเฉพาะขั้นตอนของการตีความ

          “อย่างแรกเลยคือ เราต้องเข้าใจก่อนว่าข้อความที่เราอยากจะสื่อมันคือการสื่อสาร เราคุยกันแบบนี้ เราใช้การพูดในการสื่อสารกัน แต่นักออกแบบกลิ่นใช้กลิ่นเป็นสาร…ถ้าจะออกแบบกลิ่น มันคือการส่งสารให้คนเข้าใจ”

          ก้อยเล่าถึงกระบวนการทำงานของนักออกแบบกลิ่น พร้อมทั้งยกตัวอย่างกรณีการสร้างสรรค์กลิ่นประกอบการจัดแสดงงานศิลปะภายใต้เรื่องราวเกี่ยวกับหมอฟัน

          “เราถามศิลปินก่อนเลย หมอฟันที่ว่านี่เป็นคุณหมอใจดี หรือคุณหมอใจร้าย เพราะกลิ่นต่างกันนะ พอได้แล้วเราก็มาถอดรหัสและนำเสนอกลิ่นออกมา”

          ไม่เพียงแต่กระบวนการตีความเกี่ยวกับกลิ่นที่นักออกแบบต้องคำนึง วิธีการที่จะกระจายกลิ่นก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะแต่ละงานนั้นมีรายละเอียด ความต้องการ หน้าที่ และงบประมาณที่แตกต่างกัน ก้อย อธิบายเพิ่มเติมว่านั่นเป็นเพราะ การใช้กลิ่นควบคุมได้ยากกว่าผัสสะประเภทอื่นๆ

          “อยู่ที่การออกแบบของเรา เราอยากให้เป็น instant แบบกดปุ๊บมีกลิ่น หรืออยากให้เป็น ambient ให้คนเหมือนจะรู้สึกแต่ก็ไม่รู้สึก เราอยากจะสื่อแบบไหนและจะใช้เทคนิคอะไร เช่น ตอนนั้นเราทำกลิ่นในละครเวทีที่ให้ปิดตาชมและเราไม่มีงบประมาณมาก เราก็ใช้การสเปรย์แล้ววิ่งกันเอา (หัวเราะ) เพราะกลิ่นไม่เหมือนการใช้เทคนิคประเภทอื่น แสงใช้การเปิด-ปิดสวิตช์ก็จบ แต่กลิ่นใส่เข้าไปบอกให้ปิดมันปิดไม่ได้ทันทีนะ ดังนั้นเวลาจะใช้จึงต้องวางแผนกันเยอะ” ก้อยกล่าว

          ในปัจจุบันศิลปินร่วมสมัยและภัณฑารักษ์เริ่มสนใจนำกลิ่นมาใช้สร้างเสริมบรรยากาศในส่วนจัดแสดงนิทรรศการกันมากขึ้น เมื่อผนวกกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการกระจายกลิ่น พิพิธภัณฑ์ซึ่งนำกลิ่นมาสร้างความรู้สึกและอารมณ์ที่เข้ากันได้กับผลงานศิลปะจึงมีหลายแห่งและเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ เช่น การใช้กลิ่นกำยานอินเดียในนิทรรศการ ‘The Arts of the Sikh Kingdoms’ ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะและการตกแต่ง V&A (Victoria and Albert Museum) ใจกลางกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร หรือการใช้กลิ่นชาเขียวและไม้จันทน์หอมที่ ‘The Österrichische Galerie Belvedere’ ในเมืองเวียนนา ประเทศออสเตรีย

          ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือโครงการพิเศษของพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ในปี 2019 ที่ระดมผู้เชี่ยวชาญเรื่องกลิ่น เช่น นักปรุงน้ำหอม มาช่วยออกแบบกลิ่นที่เข้ากันได้กับงานศิลปะชิ้นเอก 8 ชิ้น ทั้งภาพวาดและรูปสลัก เพื่อเพิ่มมิติในการชมงานศิลปะ เปิดผัสสะผู้ชมงานศิลป์ให้ครบถ้วน ตัวอย่างงานศิลปะที่อยู่ในโครงการนี้ คือ ภาพศิลปะแนวนู้ดของ ฌ็อง-โอกุสต์-ดอมินิก แองกร์ (Jean Auguste-Dominique Ingres) The Valpinçon Bather และ  La Grande Odalisque และรูปสลัก Venus de Milo ผลงานคลาสสิกที่ขุดค้นได้จากประเทศกรีซ

          ความยากของการใช้กลิ่นเพื่อสร้างบรรยากาศในครั้งนี้คือผลงานศิลปะถูกจัดแสดงอยู่ในแกลเลอรี ซึ่งเป็นพื้นที่เปิด แถมยังเต็มไปด้วยงานศิลปะชิ้นอื่นๆ ในบริเวณที่จะปล่อยกลิ่น นั่นแปลว่าผู้ชมงานศิลปะชิ้นอื่นก็จะพลอยได้กลิ่นเหล่านี้ไปด้วย อีกทั้งยังมีผู้ชมจำนวนมากเดินไปเดินมาอยู่เสมอ การปล่อยกลิ่นในห้องจัดแสดงจึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก ดังนั้น ท้ายที่สุดแล้วโครงการนี้จึงจบลงที่การจำหน่ายน้ำหอมกลิ่นพิเศษที่ได้แรงบันดาลใจจากงานศิลปะชิ้นเอกในร้านขายของที่ระลึกของพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์เอง

สูด ‘กลิ่น’ เรื่องราว ปลุกเร้าจินตนาการด้วยการ ‘ดม’
น้ำหอมที่ได้รับแรงบันดาลใจจากงานศิลป์ชิ้นเอกภายในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์
Photo: Officine Universelle Buly

          ตัวอย่างการใช้กลิ่นเสริมจินตนาการผู้ชมในอีกเทคนิคหนึ่งคือนิทรรศการ ‘The Essence of a Painting. An Olfactory Exhibition’ ที่ The Museo Nacional del Prado พิพิธภัณฑ์ในสเปน แทนที่จะปล่อยกลิ่นไปในห้องจัดแสดง ที่นี่กลับให้ผู้เข้าชมเลือกภาพดอกไม้ผ่านจออินเตอร์แอกทีฟและรับกลิ่นที่ส่งออกมาผ่านระบบการจ่ายลม

          วัตถุประสงค์ของนิทรรศการคือการเนรมิตภาพวาดให้มีชีวิตขึ้นมาด้วยกลิ่น โดยภัณฑารักษ์ทำงานร่วมกับนักปรุงน้ำหอม เพื่อรังสรรค์กลิ่นหอมของมวลดอกไม้นานาพรรณที่อยู่ในภาพวาดสมัยบาโรก The Sense of Smell ซึ่งเป็นผลงานความร่วมมือของ ยัน เบรอเคิล (Jan Brueghel) และ ปีเตอร์ พอล รูเบนส์  (Peter Paul Rubens) มีกลิ่นกว่า 10 ชนิดที่ได้รับการรังสรรค์ขึ้นเพื่อพาผู้ชมย้อนไปยังศตวรรษที่ 17 ตั้งแต่กลิ่นมวลดอกไม้ที่ปรากฏอยู่ในภาพ เช่น มะลิ กุหลาบ ไอริส ดอกส้ม ไปจนถึงกลิ่นแปลกใหม่ที่อาจไม่ค่อยมีคนรับรู้ว่ามีกลิ่นเป็นอย่างไร เช่น กลิ่นชะมด

สูด ‘กลิ่น’ เรื่องราว ปลุกเร้าจินตนาการด้วยการ ‘ดม’
ภาพ The Sense of Smell
Photo: Museo Nacional del Prado
สูด ‘กลิ่น’ เรื่องราว ปลุกเร้าจินตนาการด้วยการ ‘ดม’
บรรยากาศการจัดแสดงนิทรรศการ ผู้เข้าชมสามารถเลือกสัมผัสที่ภาพบนหน้าจอ และดมกลิ่นซึ่งจะพ่นออกมาผ่านท่อกระจายลม
Photo: AirParfum

คลิปบรรยากาศการจัดแสดงนิทรรศการ The Essence of a Painting. An Olfactory Exhibition

          ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมาริทเฮาส์ (Mauritshuis) เนเธอร์แลนด์ เป็นอีกแห่งหนึ่งที่นำกลิ่นมาช่วยนำเสนอมิติการรับรู้ศิลปะให้มีชีวิตชีวา ในนิทรรศการ ‘Smell the Art: Fleeting Scents in Colour’ ทีมงานได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับกลิ่นและเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในประวัติศาสตร์ผ่านผลงานศิลปะจากศตวรรษที่ 17 ไม่ว่าจะเป็นภาพวาด ภาพพิมพ์ และสิ่งของต่างๆ เกือบ 50 ชิ้น ซึ่งถูกจัดแสดงร่วมกับการติดตั้งเครื่องกระจายกลิ่นที่ผู้ชมจะได้สัมผัสกับกลิ่นต่างๆ พร้อมเนื้อหาความรู้ที่น่าสนใจ เช่น กลิ่นเหม็นของคลองในอัมสเตอร์ดัมเมื่อ 400 กว่าปีก่อน ที่เชื่อกันว่าเป็นกลิ่นเหม็นที่อันตรายต่อสุขภาพจนคนต้องหากรรมวิธีต่างๆ มากลบกลิ่น หรือบทบาทของกลิ่นในศาสนา รวมไปถึงกลิ่นอื่นๆ ที่ตีความจากภาพวาด เช่น กลิ่นทุ่งหญ้า กลิ่นอำพันทะเล (ambergris) กลิ่นมดยอบ เป็นต้น

สูด ‘กลิ่น’ เรื่องราว ปลุกเร้าจินตนาการด้วยการ ‘ดม’
ผู้เข้าชมนิทรรศการ ‘Smell the Art: Fleeting Scents in Colour’ สามารถใช้เท้ากดอุปกรณ์ที่ติดตั้งอยู่ใต้ภาพเพื่อสูดกลิ่น
Photo: Mauritshuis
คลิปแนะนำแนวคิดของนิทรรศการ Smell the Art: Fleeting Scents in Colour

 ‘กลิ่น’ ในฐานะสิ่งจัดแสดงที่มีแรงดึงดูดใจ

          เล่ามาถึงตรงนี้ หลายคนอาจมองภาพของกลิ่นเป็นเพียงพระรองหรือตัวประกอบที่ทำหน้าที่ส่งเสริมให้เรื่องราวในพิพิธภัณฑ์นั้นโดดเด่นขึ้น แต่กลิ่นก็สามารถเป็นตัวเอกในฐานะสิ่งจัดแสดงหลักได้เช่นกัน

          ตัวอย่างแรกคือ นิทรรศการศิลปะแห่งกลิ่น 1889-2012 (The Art of the Scent) ของพิพิธภัณฑ์ศิลปะและการออกแบบในนิวยอร์ก นิทรรศการนี้จัดแสดงกลิ่นน้ำหอม 12 กลิ่นที่คัดสรรโดย แชนด์เลอร์ เบอร์ (Chandler Burr) ภัณฑารักษ์และนักวิจารณ์น้ำหอม ภายในนิทรรศการประกอบด้วยพื้นที่ให้ผู้เข้าชมได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดมกลิ่น และส่วนเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการสร้างกลิ่นหอม ผ่านการนำเสนอแบบอินเทอร์แอกทีฟจากการออกแบบของ Diller Scofidio + Renfro บริษัทสถาปัตยกรรมชื่อดัง ทีมงานออกแบบซุ้มคูหาขนาดเล็กที่เชิญชวนให้ผู้เข้าชมสามารถยื่นหน้าเข้าไปในช่องดังกล่าว หลังจากนั้นเซนเซอร์จะส่งสัญญาณไปยังอุปกรณ์เพื่อปล่อยกลิ่นให้ผู้ชมได้สูดดม

          การจัดแสดงนี้ ถือเป็นครั้งแรกๆ ที่กลิ่นทำหน้าที่สื่อสารเรื่องราวของตัวเอง ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์เล็งเห็นว่าในแวดวงศิลปะไม่ยกย่องกลิ่นมากเท่าที่ควรจะเป็น เพราะสำหรับกลิ่นแล้วไม่ว่าจะยิ่งใหญ่และเจิดจรัสเพียงใด ก็ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นงานศิลปะ และผู้สร้างสรรค์กลิ่นเหล่านั้นก็มักไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นศิลปิน

สูด ‘กลิ่น’ เรื่องราว ปลุกเร้าจินตนาการด้วยการ ‘ดม’
บรรยากาศการจัดแสดงนิทรรศการ The Art of the Scent
Photo: Diller Scofidio + Renfro
สูด ‘กลิ่น’ เรื่องราว ปลุกเร้าจินตนาการด้วยการ ‘ดม’
ภาพภายในอุปกรณ์ปล่อยกลิ่นของนิทรรศการ The Art of the Scent
Photo: Diller Scofidio + Renfro

          เป้าหมายของนิทรรศการนี้ คือ ให้ผู้ชมได้เรียนรู้ว่ากว่าจะมาเป็นกลิ่นน้ำหอมหนึ่งกลิ่นนั้น ต้องผ่านการออกแบบอย่างไร ทั้งหมดทั้งมวลเพื่อส่งสัญญาณว่ากลิ่นที่ถูกออกแบบมาเป็นอย่างดีย่อมมีฐานะเป็น ศิลปะ เสมอกับ จิตรกรรม ประติมากรรม และดนตรี อย่างเต็มภาคภูมิ

          “น้ำหอมคือศิลปะอย่างหนึ่ง” เบอร์กล่าว “อย่างที่ปิกัสโซกล่าวไว้ว่า ‘ศิลปะเป็นสิ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นอย่างสมบูรณ์’ ไม่มีงานศิลปะใดที่ธรรมชาติสร้างขึ้น ศิลปะถูกสร้างขึ้นโดยจิตใจ ดังนั้นกลิ่นจึงเป็นสื่อในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะชั้นยอด ความหอมของน้ำหอมสามารถให้มุมมองแก่ผู้ชม และความหอมนั้นสมควรได้รับการจัดแสดง”

          ในประเทศไทยเองก็เคยมีตัวอย่างการจัดนิทรรศการที่ใช้กลิ่นเป็นส่วนหนึ่งของวัตถุจัดแสดง เช่น  ‘ค้าของป่า’ โดยมิวเซียมสยาม การจัดแสดงนี้อยากชวนผู้เข้าชมมาสะกิดต่อมคิดถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาของคนในอดีต กบ-พาฉัตร ทิพทัส ภัณฑารักษ์เล่าว่า ภายในนิทรรศการมีการนำเสนอเครื่องเทศและของป่า ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารและยา รวมถึงเป็นสินค้าสำคัญของอยุธยา เช่น กระเทียม พริกไทย อบเชย และโป๊ยกั้ก ถูกซ่อนไว้ในฝาชีรูปต่างๆ ให้ผู้ชมเข้าไปทดลองทำความรู้จักสูดกลิ่นด้วยตัวเอง พร้อมนำเสนอเกร็ดความรู้อื่นๆ ที่น่าสนใจด้วย เช่น เครื่องเทศบางชนิดสามารถขจัดเชื้อแบคทีเรีย ช่วยในการถนอมอาหาร รวมถึงกระบวนการที่มาซึ่งมีความน่าสนใจ อย่างต้นกฤษณาต้องมีเชื้อราเกิดขึ้นก่อนจึงจะได้กลิ่นหอม หรือต้นจันทน์ที่จะต้องตายขณะยืนต้นเท่านั้นจึงจะหอม เป็นต้น

          อีกตัวอย่างหนึ่ง คือนิทรรศการว่าด้วยเรื่องของ ‘พรหมลิขิต’ ซึ่งถูกเล่าผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของมนุษย์ ผ่านมุมมองของศิลปินกว่า 30 ชีวิต จัดแสดงที่อาคาร Erawan Bangkok ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน – 31 สิงหาคม 2566 ภายในงานนี้ ก้อย-ชลิดา ได้ร่วมออกแบบผลงาน Scent of DESTINY ประกอบด้วยกลิ่นทั้งหมด 4 กลิ่น เป็นตัวแทนของ 4 คำในชีวิต ได้แก่ ละมุน บากบั่น อลวน และปัญญา ผู้เข้าชมสามารถลองเลเยอร์กลิ่นด้วยตนเอง กลิ่นถูกออกแบบให้เบลนด์กันในจุดที่พอดี หากเอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไปก็อาจเปลี่ยนจากความหอมเป็นความเหม็นได้ เช่นเดียวกับประสบการณ์ชีวิตที่มีทั้งดีและร้าย แต่ก็คือชีวิต

สูด ‘กลิ่น’ เรื่องราว ปลุกเร้าจินตนาการด้วยการ ‘ดม’
ผลงานจัดแสดงในนิทรรศการ Scent of DESTINY ออกแบบโดย ก้อย – ชลิดา คุณาลัย
Photo: NOSEstory

          การใช้กลิ่นในพิพิธภัณฑ์ รวมถึงแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เป็นวิธีสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่กระตุ้นและเร้าความทรงจำสำหรับผู้เยี่ยมชม กลิ่นช่วยเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องราวกับผู้รับสาร การนำเสนอกลิ่นในงานจัดแสดงอาจดูเหมือนง่าย แต่ความจริงแล้วต้องใช้ทักษะและการวิเคราะห์อย่างรอบคอบ และพิจารณาในหลากมิติ ทั้งเนื้อหาที่ต้องการจะเล่า ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ วิธีการนำเสนอ และที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือผู้ชม สิ่งที่ควรระวังเป็นพิเศษ คือประเด็นเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้รับกลิ่น โดยเฉพาะการใช้กลิ่นสังเคราะห์ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว และบางคนอาจแพ้กลิ่นบางชนิดอย่างรุนแรงทั้งที่เป็นกลิ่นจากธรรมชาติ

          “กลิ่นจะทำงานไม่เหมือนกันในแต่ละช่วงเวลา 5 นาทีแรกที่ได้กลิ่น กลิ่นจะทำงานกับความจำ เราอาจจะคิดก่อนเลยว่ากลิ่นนี้เหมือนกลิ่นโน้น หรือเหมือนกลิ่นอะไรสักอย่าง พอ 15 นาทีผ่านไป จะเป็นเรื่องของความทรงจำและประสบการณ์ พอผ่านไปครึ่งชั่วโมง กลิ่นจะทำงานลึกลงไปกว่านั้น เพราะฉะนั้น การออกแบบกลิ่นที่ใช้ในพื้นที่ก็ต้องคำนึงถึงช่วงเวลาที่ผู้ใช้งานจะอยู่ในพื้นที่นั้นๆ ด้วย” อาจารย์จิ๊บเล่าถึงความละเอียดอ่อนในการออกแบบกลิ่น

          ท้ายที่สุด ในมุมมองของนักออกแบบกลิ่นผู้คร่ำหวอดในวงการมากว่า 20 ปี ก้อย-ชลิดา ได้กล่าวทิ้งท้ายเอาไว้ว่า “เราอยู่ในงานเกี่ยวกับกลิ่นมานานแล้ว และก็อยากให้มีคนทำเรื่องนี้อีกเยอะๆ ที่เมืองนอกมีการทำเกี่ยวกับกลิ่นเยอะมาก ทั้งในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ หรือสายศิลปะสมัยใหม่ ในไทยก็เริ่มมีบ้าง มีคนรุ่นใหม่ที่สนใจงานด้านนี้มากขึ้น แต่การรับรู้ยังถือว่าน้อย เพราะบ้านเราพอพูดเรื่องกลิ่น คนส่วนใหญ่อาจคิดถึงแค่เรื่องน้ำหอม แต่จริงๆ คำว่ากลิ่นมันใหญ่มาก น้ำหอมเป็นแค่ซับเซตเดียวของกลิ่น

          กลิ่นเป็นส่วนหนึ่งของลมหายใจ ปกติเราสังเกตโลก ด้วยตา ด้วยหู  แต่ถ้าเราหยุดคิดนิดหนึ่ง สังเกตโลกด้วยจมูก แล้วเปลี่ยนทุกลมหายใจเป็นการเรียนรู้ ไม่ต้องทำอะไรมากเดี๋ยวทุกอย่างก็ตามมาเอง”


ที่มา

บทความ “Ambient Scent Marketing Systems For Museum Environments” จาก airscent.com (Online)

บทความ “How Sensory Memory and Your 5 Senses Can Improve Study Effectiveness” จาก pocketprep.com (Online)

บทความ “Le Grand Musée Du Parfum, Paris” จาก www.feeldesain.com (Online)

บทความ “The Art of Scent 1889-2012” จาก dsrny.com (Online)

บทความ “The Mauritshuis Museum Captures The Smell Of Art With The Art Of Smell” จาก jingculturecrypto.com (Online)

บทความ “The smell of success: how scent became the must-have interpretative tool” จาก blooloop.com (Online)

บทความ “What does great art smell like? Louvre commission 8 fragrances based on their most famous artworks” จาก museumnext.com (Online)

บทความ “York’s Viking smell maker celebrates 50th birthday – and releases rare old footage of Jorvik” จาก yorkmix.com (Online)

บทความ “แนวทางการนำกลิ่นมาใช้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์: กรณีศึกษาพิพิธภัณฑ์เอสโตเนียนเฮลธ์แคร์ ประเทศเอสโตเนีย และ พิพิธภัณฑ์เฮลซิงกิ ซิตี้ ประเทศฟินแลนด์” จาก he02.tci-thaijo.org (Online)

วิทยานิพนธ์ “การออกแบบประสบการณ์เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ไทยด้วยการใช้กลิ่น” โดย นลินณัฐ ดีสวัสดิ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (Online)

เว็บไซต์ AirParfum Timeless (Online)

เว็บไซต์ JORVIK Viking Centre (Online)

เว็บไซต์ Mauritshuis (Online)

เว็บไซต์ MUSEO DEL PRADO (Online)

Cover Photo: Judit Szalipszki/ Mediamatic

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก