บทบาทของรัฐกับมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมหนังสือ

244 views
10 mins
January 19, 2024

          หนังสือราคาแพง…

          นักแปลเป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้ยาก ต้องมีช่องทางรายได้จากที่อื่น แล้วทำงานแปลด้วยใจรัก…

          เราไม่เคยมีมาตรการห้ามหนังสือใหม่ลดราคา หนังสือออกวางขายก็ตัดราคากันสนั่นเมืองแล้ว…

          เราไม่มีสถาบันการแปลทำหน้าที่นำเสนอวรรณกรรมดีๆ ให้กับสำนักพิมพ์ต่างชาติ…

          คนไทยอ่านหนังสือน้อยเกินไปหรือเปล่า ทำไมวัฒนธรรมการอ่านของคนไทยจึงไม่เข้มแข็ง…

          เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างของสารพันปัญหาที่ผู้เขียนมักจะได้ยินได้ฟังมาจากการพูดคุยปฏิสัมพันธ์กับคนในแวดวงการอ่านและสิ่งพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นจากการสัมภาษณ์ หรืองานเสวนาต่างๆ บ่อยครั้งที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาใหญ่ คือไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเท่าที่ควร ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านอย่างจริงจัง พบว่ารัฐบาลในหลายประเทศมีการวางแผน ผลักดัน และดำเนินการอย่างเป็นระบบ รวมถึงมีอำนาจบริหารจัดการและประสานความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ทำให้ผู้เขียนตระหนักว่าหากต้องการจะสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านและอุตสาหกรรมหนังสือให้เข้มแข็ง ต้องเริ่มจากการมีมาตรการที่ครอบคลุม และเอื้อให้ทุกองค์ประกอบของอุตสาหกรรมหนังสือได้รับการพัฒนาไปพร้อมกัน

          บทความนี้ ชวนมาดูตัวอย่างการดำเนินงานของต่างประเทศในมิติเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะเครื่องมือทางกฎหมาย เทียบเคียงกับการดำเนินมาตรการการส่งเสริมอุตสาหกรรมหนังสือของไทยที่ผ่านมา เป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อให้ช่วยกันมองไปข้างหน้าว่า แนวคิดริเริ่มที่จะพัฒนาวงการหนังสือในฐานะหนึ่งในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ตามนโยบายยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ (รวมไปถึงการพัฒนาห้องสมุดและส่งเสริมการอ่าน) ซึ่งกำลังจะดำเนินการต่อไปให้เป็นรูปธรรมนั้น มีโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายสู่ความสำเร็จได้หรือไม่

มาตรการเชิงกฎหมาย เศรษฐกิจ และโครงสร้าง กรอบที่สำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมหนังสือ

          โครงข่ายขนาดใหญ่ของอุตสาหกรรมหนังสือในมุมมองของผู้เขียนมีความเกี่ยวข้องของคนหลายกลุ่ม ตั้งแต่ต้นน้ำของกระบวนการผลิตไปจนถึงปลายน้ำ ประกอบด้วย 1.นักเขียน นักวาดภาพประกอบ บรรณาธิการ 2. ผู้ผลิตหรือนำเข้ากระดาษ น้ำหมึก และแรงงานของผู้ผลิต 3. โรงพิมพ์ 4. การขนส่ง 5.ผู้จัดจำหน่าย เช่น ร้านหนังสือ ห้างร้านต่างๆ 6. นักการตลาด 7. สถาบันการศึกษา และสุดท้าย 8. นักอ่าน

          ด้วยความซับซ้อนและเชื่อมโยงกับผู้คนมากมายหลายอาชีพ นโยบายที่จำเป็นในการผลักดัน ส่งเสริม และพัฒนาจึงควรเอื้อต่อการผลักดันให้อุตสาหกรรมหนังสือก้าวไปข้างหน้าได้อย่างพร้อมเพรียง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านการพัฒนาสื่อ การส่งเสริมด้านวรรณกรรม ศิลปะ ห้องสมุด กลไกราคา การส่งเสริมธุรกิจ ภาษี หรือแม้กระทั่งนโยบายด้านการศึกษา

          รายงานเรื่อง Ambitious Literary Policies: International Perspectives ซึ่งกล่าวถึงนโยบายส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านและอุตสาหกรรมหนังสือของประเทศจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก มีการนำเสนอมุมมองที่เกี่ยวกับนโยบายด้านหนังสือและการอ่านได้อย่างครอบคลุม โดยแบ่งรูปแบบมาตรการออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ มาตรการทางกฎหมาย มาตรการด้านเศรษฐกิจ และมาตรการเชิงโครงสร้าง ถือว่าเป็นการมองรอบด้านที่น่าจะช่วยให้การพัฒนาอุตสาหกรรมหนังสือเกิดขึ้นในทุกมิติ โดยแต่ละด้านมีรายละเอียด ดังนี้

          มาตรการด้านกฎหมาย ถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยปกป้อง คุ้มครอง หรือให้สิทธิขั้นพื้นฐานต่อผู้ผลิตผลงาน เช่น การทำสัญญาระหว่างนักเขียนกับสำนักพิมพ์ การคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์ การให้สิทธิต่อองค์กรที่ไม่หวังผลกำไรใช้ประโยชน์จากผลงานสร้างสรรค์ รวมถึงให้เสรีภาพในการแสดงออกของผู้ผลิตผลงานด้วย โดยมาตรการด้านกฎหมาย เป็นมาตรการที่มีความเกี่ยวข้องกับมาตรการด้านอื่นๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจและโครงสร้าง

          กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหนังสือ มีทั้งกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งว่าด้วยสิทธิมนุษยชน การคุ้มครอง ส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรม และกฎหมายภายในประเทศที่จะแตกต่างกันไปตามแต่ละนโยบาย บางแห่งมีกฎหมายที่ครอบคลุมเรื่องของวัฒนธรรมและศิลปะ เช่น กฎหมายส่งเสริมวัฒนธรรม กฎหมายห้องสมุดประชาชน (Public Library Act) ซึ่งมีผลให้ห้องสมุดประชาชนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างของงบประมาณรัฐ ช่วยรับรองคุณภาพ กำหนดผู้รับผิดชอบ ที่มาของงบประมาณและบุคลากรของห้องสมุดแต่ละแห่ง อีกทั้งกฎหมายสถานะศิลปิน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่ทำให้เกิดการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของศิลปิน โดยกฎหมายจะให้ความคุ้มครองศิลปินในฐานะอาชีพสร้างสรรค์ ปกป้องสิทธิด้านต่างๆ ของศิลปิน ส่งเสริมความเท่าเทียม พัฒนาสภาพแวดล้อมและสวัสดิการที่ดีสำหรับศิลปิน เป็นต้น

          มาตรการทางเศรษฐกิจ เป็นการช่วยสนับสนุนด้านการเงินและการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับหนังสือและการอ่าน โดยปกติแล้วมาตรการนี้มีหน้าที่ควบคุมตลาดให้เป็นไปอย่างสมดุล ทำให้เกิดกลไกขับเคลื่อน ผลักดันให้มีการแข่งขันด้านราคาอย่างยุติธรรม ภาครัฐในหลายประเทศจึงมีระบบสนับสนุนกระบวนการผลิตและจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการให้ทุนสนับสนุนการผลิตหนังสือ การให้ความช่วยเหลือด้านการส่งเสริมการตลาดให้กับผู้ผลิตผลงาน สำนักพิมพ์ และผู้ประกอบการ หรือแม้กระทั่งสถาบันการศึกษา จัดตั้งรางวัลด้านวรรณกรรมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงาน สนับสนุนทางการเงินแก่องค์กรที่เกี่ยวข้องกับหนังสือและการอ่าน การลดภาษีมูลค่าเพิ่ม  จัดสรรเงินทุนสาธารณะ เป็นต้น

          มาตรการเชิงโครงสร้าง เป็นการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมทักษะ ปลูกฝังวัฒนธรรมการอ่าน และกระจายความเจริญไปยังแต่ละพื้นที่ให้มีความทัดเทียมกัน

          สำหรับมาตรการนี้อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ด้านกว้างๆ คือหนึ่งด้านการศึกษา ซึ่งหมายความรวมถึงการก่อตั้งโครงการหรือสถาบันที่ส่งเสริมการผลิตและกระจายหนังสือ ตัวอย่างเช่น สถาบันการแปล หลักสูตรอบรมและพัฒนานักเขียน นักแปล หรือบรรณาธิการ การส่งเสริมให้องค์กร สถาบันที่มีอยู่แล้วเข้ามาทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนระบบนิเวศหนังสือและการอ่านให้เข้มแข็ง อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ผ่านสถาบันศึกษา งานวิจัย และบุคลากรในสายการศึกษา สองคือการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานในแวดวงหนังสือและการอ่าน เช่น ห้องสมุด เทคโนโลยี ฐานข้อมูล แพลตฟอร์ม และมาตรการการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านต่างๆ

          หากรัฐใด ประเทศใด มีมาตรการเชิงนโยบายที่ครอบคลุมในแต่ละด้าน ผู้ที่อยู่ในภาคส่วนต่างๆ ของอุตสาหกรรมหนังสือคงได้รับการสนับสนุนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่คาดหวังไว้ได้ไม่ยากนัก

สำรวจมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมหนังสือในต่างประเทศ

          เมื่อผู้เขียนลองศึกษามาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมหนังสือของหลากหลายประเทศก็พบว่า หลายกรณีตัวอย่างมีภาครัฐเป็นแกนหลักในการออกแบบ พัฒนา และบังคับใช้มาตรการด้านต่างๆ เพื่อให้ระบบนิเวศหนังสือมีความเข้มแข็งในทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนของธุรกิจการผลิต ผู้พัฒนาเนื้อหา วัฒนธรรมการอ่าน ห้องสมุด รวมไปถึงการส่งเสริมให้หนังสือเป็นเครื่องมือพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ มาตรการของประเทศเหล่านั้น มีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป บางประเทศก็ครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน บูรณาการรอบทิศได้อย่างน่าชื่นชม

เยอรมนี

          ได้ออกกฎหมายกำหนดราคาหนังสือมาตรฐานมาตั้งแต่ปี 2002 โดยรัฐจะจัดทำข้อตกลงระหว่างสำนักพิมพ์และร้านหนังสือว่าจะขายหนังสือในราคาไม่ต่ำกว่าที่กำหนด เพื่อให้ตลาดหนังสือมีความเท่าเทียมและยุติธรรม โดยห้ามลดราคาหนังสือรวมทั้งอีบุ๊กเป็นเวลาหนึ่งปีครึ่ง และมีกฎหมายระบุว่าไม่ว่าจะขายหนังสือเยอรมันในประเทศใดๆ ก็ตาม ต้องใช้ราคาหนังสือมาตรฐานเหมือนราคาขายภายในประเทศเท่านั้น

          ผลการศึกษาของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งเยอรมนี ระบุว่า กฎหมายดังกล่าวเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีส่วนทำให้ตลาดหนังสือของเยอรมนีเป็นแบบอย่างที่มีชื่อเสียง ราคาหนังสือคงที่ช่วยทำให้หนังสือเป็นสินค้าที่ได้รับการดูแล อีกทั้งช่วยรักษาเครือข่ายร้านหนังสืออิสระ มีข้อมูลจากการศึกษาบ่งชี้ว่าสหราชอาณาจักรที่ยกเลิกกฎหมายกำหนดราคาหนังสือมาตรฐานนั้น มีจำนวนร้านหนังสืออิสระลดน้อยลงถึง 15% ในช่วงปี 1995-2001 แต่ราคาหนังสือกลับเพิ่มขึ้นกว่า 80% ในช่วงเวลาระหว่างปี 1995-2018 อีกทั้งยังมีร้านหนังสือใหญ่ๆ ที่กินส่วนแบ่งตลาดไปกว่าครึ่ง เมื่อเทียบกับเยอรมนีที่ระบบนิเวศยังมีความหลากหลาย จำนวนร้านหนังสืออิสระในช่วงเวลาเดียวกันนั้นลดลงเพียง 3% และไม่มี ‘ขาใหญ่’ หรือ monopoly ที่ถือส่วนแบ่งตลาดอุตสาหกรรมหนังสือไว้ในมือ ผลประโยชน์กระจายตัวไปในธุรกิจขนาดน้อยใหญ่ในระบบนิเวศอย่างทั่วถึง แตกต่างจากหลายประเทศที่ยอดขายส่วนใหญ่ถูกผ่องถ่ายไปยังตลาดหนังสือออนไลน์ อย่างไรก็ดี มาตรการข้อตกลงราคาหนังสือมาตรฐานก็ยังคงมีข้อถกเถียงว่าก่อให้เกิดประโยชน์กับวงการหนังสือได้ในทุกกรณีหรือไม่ เพราะหลายประเทศก็เคยบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ แต่ยกเลิกไปในภายหลัง

มองบทบาทรัฐกับนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมหนังสือ
ร้านหนังสืออิสระในเยอรมนี
Photo: Jim Nix, CC BY-NC-SA 2.0, via Flickr

นอร์เวย์

          ถือว่าเป็นประเทศที่มีมาตรการครอบคลุมรอบด้านตลอดห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมหนังสือ ทั้งมาตรการเชิงกฎหมาย โครงสร้าง และเศรษฐกิจ หนึ่งในเครื่องมือสำคัญคือ มาตรการยกเว้นภาษีสำหรับวารสารและสิ่งตีพิมพ์ รวมถึงหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ นิตยสาร และวารสาร อัตราภาษีศูนย์เปอร์เซ็นต์นี้ยังใช้กับสิ่งพิมพ์ที่มีเสียง ภาพเคลื่อนไหว การสตรีมและการดาวน์โหลดหนังสือเสียงก็ได้รับการยกเว้น ถือเป็นการสนับสนุนที่ไม่ใช่ตัวเงิน แต่ช่วยลดต้นทุนการผลิตหนังสือที่ได้ผลดีทีเดียว

          นอกจากนี้ นอร์เวย์ยังมีมาตรการกำหนดราคาหนังสือใหม่เช่นกันโดยถูกใช้ไปพร้อมกับโครงการจัดซื้อหนังสือใหม่ที่มีคุณภาพให้กับห้องสมุดประชาชน และนักเขียนจะได้รับการชดเชยรายได้ที่หายไปจากการที่ผลงานของตนถูกเผยแพร่สาธารณะ กลไกเหล่านี้ช่วยส่งเสริมให้ตลาดวรรณกรรมของนอร์เวย์มีคุณภาพ นักเขียน และสำนักพิมพ์สามารถจัดการทิศทางของต้นฉบับ ทราบแนวโน้มความต้องการของตลาด

          มีการจัดตั้ง สภาศิลปะนอร์เวย์ (Kulturdirektoratet) ที่เป็นองค์การอิสระเพื่อมาดำเนินงานเรื่องการให้ทุนสนับสนุน ในรูปแบบต่างๆ ผ่านสมาคมและสถาบันที่เกี่ยวข้อง ส่วนกระบวนการตัดสินใจเลือกซื้อหนังสือดำเนินการโดยคณะกรรมการที่ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรม ผู้จัดพิมพ์ ผู้ค้าหนังสือ และบรรณารักษ์ ระบบสนับสนุนของนอร์เวย์จึงมีองค์กรรับผิดชอบที่ชัดเจนและเกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

มองบทบาทรัฐกับนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมหนังสือ
TILOVERSMARI หนึ่งในหนังสือที่ได้รับทุนจากสภาศิลปะนอร์เวย์
Photo: Kulturdirektoratet

ฮังการี

          มีมาตรการพัฒนาห้องสมุดประชาชนที่มีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการห้องสมุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ หน่วยงานท้องถิ่นสามารถทำสัญญากับหอสมุดแห่งชาติ เพื่อรับความช่วยเหลือเกี่ยวกับบริการทางวัฒนธรรมและบริการห้องสมุดด้วยงบประมาณของส่วนกลาง

          นอกจากนี้ ห้องสมุดประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ยังมีโอกาสได้รับงบประมาณจากหน่วยงานภาครัฐที่ต่างกันไป เช่น งบประมาณในการดูแลขั้นพื้นฐานจากรัฐบาลท้องถิ่น งบประมาณในการจัดกิจกรรมด้านวัฒนธรรมจากกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรม งบประมาณการพัฒนาด้าน ICT จากโครงการพัฒนาระดับประเทศ ด้วยมาตรการเหล่านี้ ห้องสมุดในพื้นที่ห่างไกลก็จะยังคงรักษาคุณภาพเอาไว้ได้ และมีโอกาสเข้าถึงแหล่งงบประมาณได้ไม่ต่างกัน         

มองบทบาทรัฐกับนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมหนังสือ
หอสมุดแห่งชาติ Széchényi ฮังการี
Photo: Karasz lajos/ National Széchényi Library, CC BY-SA 2.0, via Flickr

มองมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมหนังสือไทยจากภาครัฐ

          มองย้อนกลับมาสำรวจมาตรการภาครัฐของไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ลองนำกรอบ 3 ด้านจากจากรายงานเรื่อง Ambitious Literary Policies: International Perspectives  มาวางทาบดูว่า มีด้านไหนที่เราเดินมาไกล ด้านไหนที่ยังต้องใส่เกียร์เดินหน้า ถ้าอยากบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมหนังสือของไทยให้เข้มแข็งทัดเทียมกับนานาประเทศ

          เริ่มต้นที่มาตรการด้านกฎหมายว่าด้วยอุตสาหกรรมหนังสือ ไทยเราก็เคยมีมาหลายฉบับไม่ว่าจะเป็นมาตรการควบคุมการเผยแพร่ผลงานหนังสือ เช่น พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 ที่ให้อำนาจเบ็ดเสร็จแก่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในการห้ามนำเข้าสิ่งพิมพ์ที่กระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก เรื่องกำหนดประเภทของสินค้าให้เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก พ.ศ.  2565 โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่กำหนดให้แบบเรียน หนังสือเป็นสินค้าควบคุมฉลาก เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน สร้างความมั่นใจก่อนตัดสินใจซื้อ

          ส่วนกฎหมายที่ประเทศอื่นๆ มีการบังคับใช้ และส่งผลลัพธ์ที่ดีต่ออุตสาหกรรมหนังสือในประเทศ แต่ประเทศไทยยังไม่มี คือกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องของเสรีภาพในการแสดงออกในการผลิตหนังสือและสื่อต่างๆ ที่จะช่วยให้ผลงานเปิดกว้าง แตกต่าง และสร้างสรรค์ ยังไม่นับรวมกฎหมายที่ช่วยกำหนดราคาหนังสือ คุ้มครองศิลปิน บริหารจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรม อีกทั้งกฎหมายห้องสมุดประชาชน ที่จะช่วยกำหนดแหล่งทรัพยากร งบประมาณ และบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ

          มาตรการทางเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยในยุคก่อนๆที่ผ่านมามีตัวอย่างให้เห็นหลายโครงการ เช่น โครงการช้อปดีมีคืน ปี 2562 ที่มีการออกนโยบายให้ยอดการซื้อหนังสืออย่างเดียว ไม่เกิน 15,000 บาท สามารถยื่นขอลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ถือว่าเป็นการสร้างมาตรการ ‘incentive’ กระตุ้นการซื้อหนังสือที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม แต่หลังจากนั้นในปี 2563 – 2565 หนังสือได้ถูกนำไปรวมเข้ากับรายการจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ

          นอกจากนี้ ยังมีมาตรการส่งเสริมการตลาด เช่น โครงการส่งเสริมวัฒนธรรมร้านหนังสือที่ริเริ่มในปี 2563 โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมร่วมกับมูลนิธิวิชาหนังสือ โครงการดังกล่าวสนับสนุนร้านหนังสืออิสระให้เป็นสถานที่ส่งเสริมการอ่าน และแหล่งเรียนรู้พื้นฐานของชุมชน โดยผู้ที่ซื้อหนังสือจากร้านหนังสืออิสระที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับเล่ม Book Passport พร้อมตราประทับของแต่ละร้าน เพื่อให้นักอ่านมีเป้าหมายสะสมตราประทับให้ครบ และหากซื้อหนังสือถึงยอดที่กำหนดก็จะได้รับบัตรแลกซื้อหนังสือ และมีกิจกรรมลุ้นรับรางวัล

มองบทบาทรัฐกับนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมหนังสือ
Book Passport คู่มือ ที่คั่นหนังสือ และบัตรแลกซื้อ
Photo: หนังสือเดินทางร้านหนังสือ : Book Passport

          มาตรการด้านเศรษฐกิจเท่าที่ผ่านมา เน้นไปที่การกระตุ้นทางฝั่งผู้ซื้อเสียเป็นส่วนใหญ่ แทบจะยังไม่เห็นการสนับสนุนในลักษณะของเงินทุน มาตรการลดภาษี ลดราคา หรือการสนับสนุนผู้ผลิตอย่างเป็นรูปธรรม ดังที่พบเจอในกรณีตัวอย่างจากนานาประเทศ

          ในด้านมาตรการเชิงโครงสร้าง พบว่ารัฐบาลมีบทบาทดำเนินการค่อนข้างต่อเนื่อง อาทิ ในปี 2515 กระทรวงศึกษาธิการได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ เพื่อดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการอ่านและพัฒนาหนังสือ เช่น การจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมให้สำนักพิมพ์พัฒนาหนังสือให้มีคุณภาพ ซึ่งต่อมาสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบ การประกวดหนังสือดีเด่น เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการผลิตหนังสือทั้งของเด็กและผู้ใหญ่

          ในปี 2519 กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งศูนย์พัฒนาหนังสือของกรมวิชาการ มีหน้าที่พัฒนาหนังสือตามหลักสูตร หนังสืออ่านเพิ่มเติม และสิ่งตีพิมพ์ประเภทอื่นๆ ในปี 2547 จัดตั้ง สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) และเปิดให้บริการอุทยานการเรียนรู้ต้นแบบ ในต้นปี 2548 และในปี 2552 คณะรัฐมนตรีมีมติให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ และกำหนดให้ปี 2552 – 2561 เป็นทศวรรษแห่งการอ่าน สำนักงานสถิติแห่งชาติ เริ่มจัดทำผลสำรวจสถิติการอ่านของประชากรไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ในลักษณะของการให้ทุน มอบสิ่งของ จัดกิจกรรมรณรงค์ขับเคลื่อนการอ่าน

          ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีข้อเสนอมาตรการเชิงโครงสร้างที่น่าสนใจหลายประเด็น แต่ยังไม่ปรากฏเป็นรูปธรรม เช่น สถาบันหนังสือแห่งชาติ สถาบันการแปล หรือสถาบันอื่นใดที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง สามารถให้ทุน สร้างองค์ความรู้ ผลิตบุคลากร หรือจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมหนังสือและวัฒนธรรมการอ่าน การพัฒนาศักยภาพแหล่งเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ห้องสมุด’ ให้ทั่วถึงเท่าเทียมทุกภูมิภาค

          เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย เริ่มจากการจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 11 สาขา โดย ‘อุตสาหกรรมหนังสือ’ เป็นหนึ่งในสาขาที่ได้รับการสนับสนุน และเตรียมจะจัดตั้ง Thailand Creative Content Agency (THACCA) ขึ้นในระยะถัดไป ทางคณะกรรมการฯ มีแผนดำเนินการระยะยาวคือการจัดตั้งสถาบันหนังสือและการอ่านแห่งชาติ เป็นองค์กรหลักทำหน้าที่สนับสนุน ส่งเสริมกิจการด้านหนังสือในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมนักเขียน นักแปล การพัฒนาห้องสมุด และอื่นๆ ซึ่งจะช่วยให้การขับเคลื่อนด้านหนังสือเป็นไปอย่างยั่งยืน

          ณ เวลานี้คงต้องรอความชัดเจนจากการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ และติดตามความคืบหน้าต่อไปว่า ในสถานการณ์ที่รัฐบาลให้ความสำคัญและชูนโยบายส่งเสริมพัฒนาเพื่อส่งออกอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หนังสือจะได้รับความใส่ใจและมีพัฒนาการปรับเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง อีกทั้งจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน อย่างน้อยหากมีการดำเนินการที่ครอบคลุมทุกองค์ประกอบ พร้อมรับฟังอย่างเปิดกว้าง สร้างเครือข่ายความร่วมมือจากทุกฝ่าย อุตสาหกรรมหนังสือก็คงถูกผลักดันไป ‘ไกลกว่าที่เป็นอยู่’ และผลประโยชน์ก็คงเกิดกับพวกเราทุกคน


ที่มา

บทความ “Ambitious Literary Policies. International Perspectives” (Online)

บทความ “The Hungarian Library System Today” จาก mek.oszk.hu (Online)

บทความ “Promoting and Democratizing Literature: A Norwegian Policy Success” จาก academic.oup.com (Online)

บทความ “WHY THE INFLATION CRISIS IS A CHALLENGE FOR ANY PUBLISHER” จาก blackspringpressgroup.com (Online)

บทความ “The system of fixed book prices according to German law” จาก boersenverein.de (Online)

บทความ “Fixed book prices: German studies shows positive effects on dissemination and diversity of books” จาก internationalpublishers.org (Online)

บทความ “ตรวจสัญญาณชีพวงการสิ่งพิมพ์ ส่องตลาดหนังสือ 1.25 หมื่นล้าน” จาก mgronline.com (Online)

บทความ “สวธ. ขับเคลื่อนโครงการวัฒนธรรมร้านหนังสือทั่วประเทศ ชวนนักอ่านสนุกกับกิจกรรม Book Passport” จาก thailandplus.tv (Online)

บทความ “งบ “ซอฟต์พาวเวอร์” 5 พันล้าน เหตุใดอุดหนุนด้าน “หนังสือ” น้อยที่สุด แค่ 69 ล้านบาท” จาก bbc.com (Online)

บทความ “”บอร์ดซอฟต์พาวเวอร์” ทุ่ม 5,164 ล้านบาท ดัน “เฟสติวัล-อาหาร-ท่องเที่ยว”” จาก thaipbs.or.th (Online)

บทความ “แนวคิดสถาบันหนังสือแห่งชาติ” จาก bflybook.com (Online)

บทความ “สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ’ ร้องเรียน ‘สคบ.’ กรณีติดฉลากหมดอายุ ‘หนังสือ” จาก bangkokbiznews.com (Online)

เอกสารประกอบการประชุมวิชาการ “นโยบายส่งเสริมการอ่านของประเทศไทย” จาก tkpark.or.th (Online)

คลิป “อุตสาหกรรมหนังสือ ซอฟท์เพาเวอร์ : UpSwing เศรษฐกิจดี-ดี” จาก 3PlusNews (Online)

คลิป “อ่าน ฝัน ไกล : อุตสาหกรรมหนังสือไทย ฝันให้ไกล ไปให้ถึง” จาก CARE คิดเคลื่อนไทย (Online)

เฟซบุ๊ก Theerapat Charoensuk (Online)

เฟซบุ๊ก mowojo.com โดย น้าเดช จันทรคีรี (Online)

เว็บไซต์ Creative Europe (Online)

เว็บไซต์ Justice Laws Website (Online)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก