เปิดบ้าน Readery Studio โอเอซิสสำหรับคนรักการอ่านและการเขียน

448 views
8 mins
January 19, 2024

          ย้อนเวลากลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน ความหลงใหลในการอ่านและเขียน ทำให้นักเขียนบทภาพยนตร์อย่าง โจ้ – อนุรุจน์ วรรณพิณ และนักออกแบบเว็บไซต์อย่าง เน็ต – นัฏฐกร ปาระชัย ตัดสินใจเปิดร้านหนังสือออนไลน์ร่วมกันในชื่อ Readery ซึ่งต่อมากลายเป็นชื่อติดหูนักอ่าน และขยับไปสู่การจัดรายการพอดแคสต์แนะนำหนังสือน่าอ่านด้วยความเชื่อว่า อาจมีหนังสือสักเล่มที่เปลี่ยนแปลงความคิดและชีวิตคนฟังได้

          เรามาพูดคุยกับโจ้และเน็ต ถึงโปรเจกต์น่าสนใจที่ชักชวนผู้คนมาเรียนรู้วิธีเขียน Freewriting เพื่อปลดปล่อยสิ่งที่อยู่ข้างในออกมา พวกเขาใช้พื้นที่บ้านในย่านสวนหลวง ร.9 ทำเป็น Readery Studio บรรยากาศร่มรื่นและมีผนังด้านหนึ่งอัดแน่นไปด้วยหนังสือบนชั้นไม้สูงตั้งแต่พื้นจรดเพดาน มีพลังงานบางอย่างในสถานที่แห่งนี้ ที่ชวนให้รู้สึกว่าที่นี่คือบ้านของคนรักหนังสืออย่างแท้จริง

เปิดบ้าน Readery Studio โอเอซิสสำหรับคนรักการอ่านและการเขียน

ตอนนี้มีโปรเจกต์อะไรที่กำลังทำอยู่บ้าง

          เน็ต : สิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้คือคลาส Creative Writing Workshop ที่ใช้ชื่อว่า Rewrite และช่องยูทูบ Jo and Nes ที่มีไลฟ์ทุกคืน ไม่รู้ว่าใช่งานหรือเปล่า มันคือการแคปเจอร์ช่วงเวลาที่เราคุยกันสองชั่วโมง แล้วบังเอิญเรื่องปกติที่เราคุยกันดันเป็นคอนเทนต์ได้ ก็เลยเอามาเปิดช่องยูทูบละกัน ทำให้เราได้เจอคอมมูนิตี้ใหม่ๆ บางทีก็มาจากนักเรียนในคลาส บางทีก็มาจากคนที่ดูไลฟ์ แต่สุดท้ายแล้วคอมมูนิตี้ของเรามันเบลนด์กันไปมา เช่น คนที่ดูไลฟ์พอรู้ว่าเราทำเวิร์กชอปก็มาเข้าร่วม ถึงตอนนี้จะพักงานร้านหนังสือ แต่เราก็พยายามจะทำบุ๊กคลับ ทำสิ่งต่างๆ ที่เชื่อมโยงผู้คนผ่านหนังสือ

ช่อง Jo and Nes มีความแตกต่างจากพอดแคสต์ที่เคยทำอย่างไร

          เน็ต : Readery Podcast เป็นโปรเจกต์ระหว่างเรากับ The Standard เหมือนเราเป็นโฮสต์พอดแคสต์ เตรียมคอนเทนต์ เตรียมการพูดคุยให้ได้วัตถุดิบ ซึ่งจะมีทีมหลังบ้านอีกหลายคน ทั้งโปรดิวเซอร์ ทีมตัดต่อ เนื้อหาโฟกัสที่หนังสือเป็นตัวตั้งแล้วเราจะพาหนังสือไปสู่เรื่องต่างๆ ส่วนช่องยูทูบ Jo and Nes มีเราเป็นตัวตั้ง หนังสืออาจเป็นส่วนหนึ่ง แต่เราไม่ได้เป็นแค่คนอ่านหนังสืออย่างเดียว เราดูหนัง ฟังเพลง ใช้ชีวิต เลี้ยงหมา เลี้ยงแมว ทำสวน ทำบ้าน มันก็จะขยายขอบเขตของตัวเราออกไปสู่แง่มุมอื่นๆ นอกเหนือไปจากสิ่งที่นำเสนอใน Readery Podcast

           โจ้ :  Jo and Nes เป็นงานที่เราทำตามใจฉันสุดๆ เช่น อยู่มาวันหนึ่งตอนตี 2 ฉันอยากไลฟ์ขึ้นมาก็สามารถทำได้เลย Readery Podcast มันผูกติดอยู่กับร้านหนังสือ แต่ Jo and Nes คือพี่โจ้ พี่เน็ต เราอยากให้คนรู้จักโดยไม่ต้องแปะป้ายว่าคนนี้ชอบดูหนัง ชอบอ่านหนัง หรือชอบเล่นกีฬา คนเรามันก็ทำทุกสิ่งนั่นแหละ

เปิดบ้าน Readery Studio โอเอซิสสำหรับคนรักการอ่านและการเขียน

ตั้งใจอยากให้ Readery Studio เป็นพื้นที่แบบไหน

          เน็ต : สเปซนี้เกิดขึ้นจากการแบก่อนว่าเราทำอะไรบ้าง แล้วสเปซที่เรามีจะสามารถซัพพอร์ตทุกอย่างโดยไม่ต้องออกจากบ้านได้ยังไง นอกจากไม่ออกจากบ้านแล้วยังต้อนรับคนอื่นเข้ามาด้วย เราไม่ได้มองว่าคนที่มาใช้พื้นที่ของเราเป็นลูกค้า สิ่งที่เราทำอยู่ไม่ใช่งานบริการลูกค้า เราทรีตทุกคนเหมือนเป็นเพื่อนใหม่ ด้วยแนวคิดแบบนี้เลยเกิดเป็นความสัมพันธ์ที่สร้างขึ้นใหม่ในทุกๆ ช่องทางที่เราทำงานอยู่ และเราก็พยายามเอาสิ่งที่เขาแชร์มาทำเป็นคอนเทนต์ร่วมกันด้วย เป็นการสร้างความสัมพันธ์ทีละเล็กทีละน้อย

          โจ้ : เมื่อวันอาทิตย์มีปาร์ตี้หลังคลาส ทีแรกกินข้าวกันธรรมดาแล้วมันก็ฮึกเหิมขึ้นเรื่อยๆ ฉันจะอยู่รอพระอาทิตย์ขึ้นเหมือนอยู่ภูกระดึง สักประมาณเที่ยงคืนพี่เน็ตเริ่มเหลือแบตห้าขีด สักประมาณตีสามพี่เน็ตไม่ไหวแล้ว พวกที่นั่งกันอยู่ 20-30 คนก็บอกว่ากู๊ดไนท์พี่เน็ต เจ้าของบ้านไปนอน แขกก็อยู่กันเองเนอะ จัดการปิดไฟให้พี่ด้วย มันเป็นความสัมพันธ์แบบนี้  

          เน็ต : เราจัดคลาสออนไซต์อาทิตย์เว้นอาทิตย์ ครั้งแรกปลายเดือนเมษายน แพลนของเราคือเริ่มบ่ายโมงเลิกประมาณห้าโมงเย็น หกโมงเย็นทุกคนควรกลับบ้านได้แล้ว ปรากฏว่าปาร์ตี้ครั้งแรกกลับกันตีหนึ่ง เพราะนักเรียนบางส่วนรู้จักเราผ่านคลาสออนไลน์อยู่แล้ว โอกาสมันน้อยที่จะได้มาเจอกันกินข้าวกันจนกว่าใครจะอยากกลับบ้าน แต่ไม่มีใครอยากกลับก็เลยอยู่ถึงตีหนึ่ง คลาสครั้งที่สองพอคนรู้ว่าพวกแรกกลับตีหนึ่งก็เกิดการทำลายสถิติขึ้น แล้วทุกคนก็ไม่ยอมกันจนกระทั่งครั้งล่าสุดที่รอดูพระอาทิตย์ขึ้น

          โจ้ : ต่างคนต่างมาเรียนแบบไม่รู้จักกันเลยนะ มาเจอกันในคลาสแล้วก็ค่อยๆ รู้จักกัน ช่วงตีสามมีคนทยอยกลับไปทีละคนสองคน แต่ยังมีอีกหลายคนนอนอยู่ตรงมุมนั้นมุมนี้ หรือบางคนก็ยังนั่งคุยกัน สั่งข้าวเหนียวหมูปิ้งมากิน พี่ไม่รู้ว่าสิ่งนี้เรียกว่างานหรือเปล่า คลาสออนไซต์มันคือประสบการณ์การรับพลังงานจากคนที่อยู่ในห้องเดียวกัน สมมติเรามีเรื่องไม่สบายใจมา แล้วมานั่งอยู่ท่ามกลางคนที่พร้อมให้กำลังใจ ข้างในมันจะรับพลังงานนี้ได้ง่ายกว่าการพูดคุยผ่านจอคอมพิวเตอร์

เปิดบ้าน Readery Studio โอเอซิสสำหรับคนรักการอ่านและการเขียน
โจ้ – อนุรุจน์ วรรณพิณ

เปิดบ้าน Readery Studio โอเอซิสสำหรับคนรักการอ่านและการเขียน

ความรู้สึกชอบอยู่บ้านมันเพิ่มขึ้นหรือมีการเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงวัยด้วยไหม

          โจ้ : มันเปลี่ยนมาเรื่อยๆ แต่จริงๆ เรามีพื้นฐานที่ชอบอยู่คนเดียวอยู่บ้างแล้ว แต่ในช่วง 4-5 ปีหลังเราได้เรียนรู้ว่าบ้านมีฟังก์ชันหรือตอบแทนเราได้มากกว่าแค่กลับมานอนแล้วมีหลังคาคลุมหัว บ้านสามารถเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของเราได้ เวลาดูรีวิวแล้วเห็นรีสอร์ตแต่งได้สวยเหมือนบ้านเลย หรือเห็นบ้านที่แต่งได้สวยเหมือนรีสอร์ต เหมือนคาเฟ่ ก็จะงงๆ ว่าทำไมไม่แต่งบ้านให้สวยเหมือนบ้าน พี่เลยค่อยๆ สะสมความรู้เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากบ้าน การตกแต่งบ้าน การจัดการบ้าน แล้วพบว่าบ้านให้พลังงานสำหรับการมีความคิดสร้างสรรค์ได้มากกว่าที่เราคิดเยอะเลย เช่น เก็บของรกๆ ออกไปให้หมด แค่นั้นก็รู้สึกผ่อนคลายขึ้นมาทันที

          เน็ต : เมื่อเร็วๆ นี้เราคุยกันเรื่องคำว่า Extroverted Introvert ความหมายคือบางทีเราก็เป็น Introvert บางทีเราก็เป็น Extrovert เราชอบมีเวลาส่วนตัว ชอบอยู่บ้าน เพราะบ้านเป็นพื้นที่ส่วนตัว ขนาดอยู่ด้วยกันเรายังมีพื้นที่ส่วนตัวของกันและกันเลย นอกจากจัดสรรพื้นที่แล้วเรายังจัดสรรเรื่องเวลาด้วย ช่วงเวลาไหนเป็นของใคร ช่วงเวลาไหนที่ต้องมีกิจกรรมร่วมกัน

          จริงๆ เรานิยามตัวเองว่าเป็นคน Introvert ไว้ก่อนแหละ แต่มีติ่งเอาไว้เพราะเราก็ชอบปาร์ตี้ ยังชอบเจอผู้คนอยู่ แต่ไม่ใช่ตลอดเวลาหรือทุกวัน ยังมีเปิดโหมดไว้ว่าทุกๆ สองอาทิตย์ก็ยังอยากเจอคนเยอะๆ อยู่ในบรรยากาศสนุกสนานเฮฮา เพียงแต่เราจะรู้ตัวว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ไปปาร์ตี้ต้องพกแบตไปสองก้อน สนุกสนานเอนจอยเต็มที่ หลังจากนั้นอีกสองวันไม่ต้องโทรหา เพราะเราจะชาร์จแบตอย่างเดียวเลย

          โจ้ : พอเราให้เวลากับตัวเอง นั่งคุยกับตัวเอง หรือเขียน Freewriting กับตัวเองเยอะๆ มันทำให้เรารู้จักตัวเองเพิ่มขึ้นหลายอย่าง เช่น เราชอบอ่านหนังสือ ชอบดูหนัง ถามหน่อยว่าเราต้องใช้คนกี่คนในการอ่านหนังสือ พี่กับพี่เน็ตอยู่กันสองคนก็ต่างคนต่างอ่านคนละเล่ม

          เน็ต : แต่เราก็ชวนเพื่อนๆ มาอ่านในบุ๊กคลับบางโอกาส เราเชื่อว่าแต่ละคนไม่สามารถนิยามได้เหรอกว่าฉันเป็น Introvert อย่างเดียว เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราน่าจะโชคดีที่สามารถออกแบบการใช้ชีวิตและการทำงานในพื้นที่ของเราได้

เปิดบ้าน Readery Studio โอเอซิสสำหรับคนรักการอ่านและการเขียน
เน็ต – นัฏฐกร ปาระชัย

เปิดบ้าน Readery Studio โอเอซิสสำหรับคนรักการอ่านและการเขียน

ค้นพบอะไรจากการเขียน Freewriting ทำไมถึงอยากแนะนำสิ่งนี้ให้คนอื่นๆ

          เน็ต : สมัยก่อนเวลานัดเจอกันตามคาเฟ่หรือไปเที่ยวต่างจังหวัด เราจะมีสมุดคนละเล่ม ต่างคนก็ต่างเขียนบนโต๊ะอาหารเช้า พวกพี่สองคนชอบเขียนบันทึกกันอยู่แล้ว แต่ก่อนเรายังไม่ได้เรียกมันว่า Freewriting มันคือการเขียนอะไรก็ได้ในสมุดบันทึกของเราเอง สิ่งที่เขียนเป็นเรื่องราวของตัวเรา แต่พยายามมองเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันให้เป็นเรื่องแต่ง ฉะนั้น วิธีการบันทึกเราก็จะเขียนราวกับว่าเป็นนักเขียนคนหนึ่งกำลังเล่าเรื่องของตัวละครซึ่งคือตัวเรา แต่เขียนเหมือนเป็นนิยาย ด้วยความที่เราชอบอ่านนิยาย สิ่งที่เราเรียนรู้จากภาษา วิธีเล่าเรื่องของนิยาย ก็จะถูกถ่ายทอดมาสู่วิธีการเขียนของเราเรื่อยมา

          เราเพิ่งมารู้จักความหมายและวิธีการของ Freewriting ตอนเริ่มทำคลาส เอาเข้าจริงๆ สิ่งที่เราเขียนมาตลอดก็เป็น Freewriting แบบหนึ่ง เพียงแต่เราไม่เคยนิยามกฎของมันว่ามีอะไรบ้าง พอใส่กฎเข้าไปมันก็อธิบายให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นสำหรับการไปบอกคนอื่นว่ามี Framework ของการเขียนแบบนี้ สเต็ปที่หนึ่งห้ามคิด สเต็ปที่สองห้ามหยุดมือ ซึ่งจะทำให้เขาไม่กลัวการเขียน

          ความสำคัญของมันไม่ใช่แค่วิธีการเขียนอย่างเดียว แต่เป็นวิธีจัดการกับสิ่งที่คิดอยู่ข้างในแล้วพยายามถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือให้ได้ สิ่งนี้ยากที่สุด Freewriting ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ขนาดนั้น ทุกคนรู้จักการเขียนอยู่แล้ว เราแค่เอามาทำให้มันเป็นชุดความคิดที่เข้าใจง่าย

          พี่มีสมุดหลายเล่มที่หน้าปกเขียนว่า How Writing Saved My Life หลายๆ ครั้งเวลาปัญหาถูกถ่ายทอดออกมาบนหน้ากระดาษปุ๊บ มันทำให้เราไม่ตัดสินใจอะไรงี่เง่า ทำให้เราอดทนกับความคิดของตัวเอง เวลาคิดจะทำอะไรโง่ๆ หรือเรื่องบางอย่างที่อาจกระทบความสัมพันธ์ให้บานปลาย

          ทุกอย่างที่อยู่ข้างในและพร้อมจะระเบิดออกไปใส่ผู้คนหมูหมากาไก่ เมื่อเขียนลงไปในสมุดมันคือความกล้าเผชิญหน้ากับความคิดของตัวเองทั้งด้านดีและไม่ดี เบสิกมีแค่นี้ ทำยังไงก็ได้ให้เราสามารถถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ในหัวลงมาในหน้ากระดาษผ่านวิธี Freewriting ให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก เดี๋ยวอันดับสอง สาม สี่ จะตามมาเต็มไปหมด

          สิ่งที่ Saved My Life ของพี่มีสองอย่าง หนึ่ง การเขียน สอง Storytelling สองสิ่งนี้ทำให้เราเข้าใจว่าเรากำลังเผชิญกับอะไรอยู่ แล้วจุดที่เราเผชิญอยู่มันมีสเต็ปต่อไปไหม มีทางออกไหม หรือสาเหตุที่เราต้องเผชิญกับเรื่องยากๆ เรื่องแย่ๆ เรื่องหนักๆ มันต้องการอะไรจากเรา เราต้องการการเปลี่ยนแปลงอะไร ซึ่งเลเยอร์นี้คำว่า Storytelling ช่วยได้เยอะ

เปิดบ้าน Readery Studio โอเอซิสสำหรับคนรักการอ่านและการเขียน

          โจ้ : การเขียนมันเป็นเรื่องง่ายๆ เหมือนการหายใจ ทุกคนหายใจได้อยู่แล้ว แต่มันก็มีการเรียนเรื่องการหายใจเนอะ การเขียนก็เหมือนกัน สิ่งที่เราทุกคนเข้าใจผิดอย่างหนึ่งคือ เราคิดว่าการเขียนมีไว้สำหรับนักเขียนนิยาย นักเขียนบทหนัง คนทำงานด้านการเขียนบทความ แต่ถ้าลองคิดดีๆ มันไม่มีสิ่งมีชีวิตไหนที่สามารถเขียนยกเว้นมนุษย์ พระเจ้าอาจมีเหตุผลอะไรบางอย่างก็ได้ที่ทำให้มนุษย์สามารถเขียนได้ ที่ผ่านมาในสังคมบ้านเรา การเขียนส่วนใหญ่ถูกใช้เพื่อการศึกษามาตลอดชีวิต หรือใช้การเขียนเพื่อการทำงาน เราเลยคิดว่าการเขียนต้องเป็นแบบนั้นเท่านั้น

          แต่ Freewriting เป็นการเขียนแบบไม่ต้องคิด คนชอบพูดกันว่าเราต้องรักเองนะเว้ย ต้องคุยกับตัวเองบ่อยๆ ไหนลองทำให้ดูหน่อยไปนั่งหน้ากระจกแล้วพูด โจ้วันนี้อารมณ์ไม่ดีเหรอ ก็จะมุนินทร์มุตตาไปหน่อย พี่เลยคิดว่าการเขียนสิ่งที่อยู่ในหัวลงไปในกระดาษเป็นการคุยกับตัวเองที่ปกติที่สุดแล้ว คิดอะไร รู้สึกอะไร ก็เขียนลงไปเลยแบบไม่ต้องหยุดคิด Freewriting ทำให้เราก้าวข้ามการเซนเซอร์ว่าอันนี้เขียนได้หรือเปล่าวะ คิดได้หรือเปล่าวะ จะด่าใครสักคนแบบหยาบคายได้ไหม ถ้ามัวแต่คิดก็ไม่ได้เขียนอะไรทั้งนั้น

          สิ่งนี้เป็นการสื่อสารกับตัวเองแบบเฮลตี้ที่สุดแล้ว หนึ่ง มันคือการเอาก้อนมวลๆ ในหัว ถุยลงไปในกระดาษ พออยู่ในกระดาษแล้วมันก็เป็นพื้นปลอดภัยของเรา ถ้าจะด่าใครก็ซ่อนไว้ให้ดีอย่าให้แม่เห็น ก็จะไม่มีใครรับรู้เรื่องนี้ สอง หลายเรื่องในชีวิตเราพูดกับใครไม่ได้ ด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ เช่น กลัวทำร้ายความรู้สึกเขา หรือบางเรื่องเล่าให้เพื่อนฟังรอบที่เจ็ดแล้วแต่ข้างในยังไม่หาย เราจำเป็นต้องเล่ามันออกมา การเขียนใช้ทำงานได้หลายแบบตั้งแต่สะท้อนสิ่งที่เราคิด หรือเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับวางแผนทำงาน สำหรับพี่มันคือการคิดในกระดาษ สุขในกระดาษ ทุกข์ในกระดาษได้ทั้งหมดเลย

เปิดบ้าน Readery Studio โอเอซิสสำหรับคนรักการอ่านและการเขียน

อยากให้เล่าให้ฟังถึงคลาส Creative Writing Workshop ของ Rewrite

          โจ้ : มันมาจากศาสนาของพี่โจ้พี่เน็ตที่เรียกว่า Story = Life หมายถึง ชีวิตคือเรื่องเล่าเรื่องหนึ่ง หรือในทางกลับกันเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งมันก็มีชีวิต ลองคิดดูว่าสมมติเราตายแล้วเพื่อนมางานสวด คงมีเพื่อนบางกลุ่มคุยกันว่าจำตอนที่เราไปเที่ยวเสม็ดกับโจ้ได้ไหม สนุกมากเลยเนอะ อีกกลุ่มเป็นที่ทำงาน แกจำตอนทำโปรเจกต์นั้นได้ป่ะ ไม่ได้นอนตั้งหลายคืนแต่งานออกมาดีมากเลย ทั้งชีวิตเราเหมือนเป็นเรื่องเล่าเรื่องหนึ่ง

          ซึ่งมันก็มีทฤษฎี Storytelling ไม่ว่าจะเรื่องธีม พล็อต คาแรกเตอร์ และต่างๆ นานาอีกมากมาย หลังจากศึกษาเรื่อง Storytelling มาพี่ก็ค้นพบว่าเวลาพูดถึงการคิดคาแรกเตอร์หรือการคิดธีมหนัง มันคือสิ่งเดียวกับการมองธีมหรือคาแรกเตอร์ของชีวิตเลยนะ เช่น ใครคนหนึ่งพยายามทำอะไรยากๆ เพื่อให้ได้บางสิ่งมา แต่สุดท้ายเขากลับได้พบความเป็นตัวเอง คลาสต่างๆ ของ Rewrite เลยเอาทฤษฎีการเล่าเรื่องมานำเสนอมุมมองใหม่ว่า นอกจากคุณจะเอาไปใช้เขียนนิยาย เขียนบทหนังแล้ว คุณยังจะได้รู้จักการใช้ชีวิตอย่างยอดเยี่ยมด้วยว่ามันคืออะไร

          เน็ต : เราคิดว่าคนที่มาทำเวิร์กชอปกับ Rewrite ไม่ได้อยากทำงานเขียนบทหนังหรือเขียนนิยายทั้งหมดหรอก หลายคนอยากมาเรียนกับเราเพราะเขาอยากอ่านหนังสือสนุกขึ้น อยากดูหนังดูซีรีส์เข้าใจมากขึ้นไม่ใช่แค่เพื่อความบันเทิง อย่างที่พี่โจ้บอกว่า Story = Life เป็นศาสนาของเรา ในที่นี้หมายถึง เราเรียนรู้หลายๆ เรื่องจากการอ่านหนังสือ ดูหนัง ดูซีรีส์ เราเรียนรู้จากการทำความเข้าใจว่าคนเขียนใช้วิธีการทำงานของพล็อตยังไง เขาใส่ธีมอะไรลงไป เขาสร้างคาแรกเตอร์ที่มีความเชื่อและมีการเปลี่ยนแปลงตลอดทั้งเส้นเรื่องนั้นยังไงบ้าง เพื่อให้ได้บทเรียนชีวิตอะไร

          กระบวนการทำงานของคนเขียนบทคนเขียนนิยายกับการใช้ชีวิตของเรามันเหมือนกัน เพียงแต่ว่าคนเขียนเขาแค่แคปเจอร์บางส่วนของชีวิตตัวละครมาเล่าให้เราฟัง เขาพาเราไปรู้จักตัวละคร ข้างนอกเป็นยังไง ข้างในตัวละครเป็นยังไง ความคิดความเชื่อของเขา วิธีการตัดสินใจเมื่อเจอสถานการณ์ต่างๆ เขาจะตัดสินใจยังไง โยนสถานการณ์ที่เหมือนกันให้ตัวละคร A กับ B เขาก็อาจจะตัดสินใจไม่เหมือนกัน เพราะเขามีบุคลิกและความเชื่อต่างกัน

          ในขณะที่นักเขียนพยายามสร้างชีวิตให้ตัวละคร โยนตัวละครไปเจออุปสรรคเพื่อให้ได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง แต่มองกลับกันถ้าเราเป็นตัวละคร แล้วตอนนี้ใครกำลังเขียนเรื่องชีวิตเราอยู่ แต่ก่อนถ้าเราไม่คุยกันประเด็นนี้ เราก็จะคิดว่าโชคชะตากำหนดชีวิตเราอยู่มั้ง สิ่งที่เราใช้ชีวิตอยู่ก็คือการเล่นไปตามบทที่ใครก็ไม่รู้เขียนให้เรา

          แต่ถ้ารู้เรื่อง Storytelling เราจะไม่อนุญาตให้โชคชะตาเป็นคนเขียนเรื่องชีวิตเราแล้ว เรารู้แล้วนี่ว่านักเขียนทำงานยังไง เขาสร้างตัวละครยังไง สร้างสถานการณ์ยังไง สร้างจุดพีคจุดต่ำสุดเพื่อให้ตัวละครเปลี่ยนแปลงยังไงบ้าง เราก็แค่มองกลับกันว่า เรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตไม่ว่าจะในอดีตหรือเส้นทางที่จะเดินต่อไป เราสามารถย้ายตัวเองจากการเป็นผู้เล่นอย่างเดียว มาเป็นคนเขียนเพื่อทำความเข้าใจกับเรื่องราวในชีวิตแต่ละอย่างได้

          ที่ผ่านมาเราอาจไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเกิดเรื่องแบบนี้ ทำไมชีวิตต้องไปเจอคนนี้ด้วยวะ ทำไมต้องถูกไล่ออก ทำไมแม่ต้องตาย แต่ถ้าคุณเขียนเป็นและรู้เรื่อง Storytelling รู้จักว่าธีมคืออะไร พล็อตคืออะไร คาแรกเตอร์คืออะไร คุณจะสามารถมองย้อนกลับไปแล้วเอาเรื่องของตัวเองมาวางเป็นโครงสร้างของสตอรี เพื่อค่อยๆ ทำความเข้าใจชีวิต เรื่องที่เคยคาใจ หาทางออกไม่ได้ ขบคิดไม่ได้ การเขียนเพื่อเล่าเรื่องของตัวเองขึ้นมาใหม่รอบนี้ จะทำให้เรามีชุดข้อมูลมากขึ้น มีมุมมองกว้างขึ้น

          คนที่มาเข้าคลาสจะได้รู้จักการเขียน รู้จักวิธีการมองแบบ Storytelling วิธีเปลี่ยนจากการเป็นตัวละครอย่างเดียวออกมาเป็นผู้เขียน เพื่อเล่าเรื่องชีวิตของตัวเอง มันเลยสนุกที่จะเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ ที่เป็นความทรงจำและประสบการณ์ให้กลายเป็นเรื่องราว นอกจากได้เขียนแล้วเรายังได้ฟังเรื่องราวของคนอื่น เหมือนได้อ่านหนังสืออีก 20 เล่ม คลาสของเราทำงานครึ่งหนึ่ง แต่ตัวคนที่มาแชร์ก็เป็นอีกครึ่งหนึ่งของคลาสที่สำคัญมากๆ

เปิดบ้าน Readery Studio โอเอซิสสำหรับคนรักการอ่านและการเขียน

          โจ้ : สิ่งที่พี่เน็ตพูดคือคลาสที่ชื่อว่า Rewrite Your Life ซึ่งพี่เอาคำว่า Rewrite มาเป็นชื่อของ Creative Writing Workshop ที่จัดด้วย เพราะพวกเราเชื่อกันว่าชีวิตมันเขียนขึ้นมาใหม่ได้ มันมาจากทฤษฎีการเขียนหนังสือบันทึกประสบการณ์ ที่เราต้องนึกย้อนไปตอนเจอเรื่องราวต่างๆ แล้วมันมีคลาสหนึ่งชื่อว่า I Remember มันคือการเล่นสนุกกับความทรงจำของมนุษย์ รู้ไหมว่าความทรงจำของเรามันเป็นระบบเซฟทับ แปลว่าเราสามารถเขียนเรื่องใหม่เซฟทับลงไปได้ หรืออย่างเรื่องธีมเคยสังเกตไหมว่าเรามักตกหลุมรักคนเลวๆ คล้ายเดิมซ้ำๆ แฟนคนที่หนึ่งเลิกไป แฟนคนที่สองเหมือนคนที่หนึ่งเลย จนกว่าเราจะเบรกแพทเทิร์นนี้ได้ เราถึงจะเจอคนที่ใช่จริงๆ

          สตอรีอยู่ในชีวิตเราตั้งแต่โบร่ำโบราณ อย่างในยุคมนุษย์ชนเผ่า เด็กหนุ่มทั้งหมู่บ้านกำลังเตรียมไปล่าสัตว์ที่ริมแม่น้ำ ทุกคนรู้ว่าริมแม่น้ำมีเสืออยู่ตัวหนึ่งต้องระวังให้ดี คุณย่าก็เรียกหลานชายเข้ามาในเต็นท์ แล้วเล่าว่ารู้ไหมสิ่งที่น่ากลัวกว่าเสือคือเพื่อนที่ไปด้วยกันนี่แหละ เพราะปู่แกตายเพราะมันมาแล้ว มนุษย์เราอยู่กันแบบนี้ เราอยู่ด้วยเรื่องเล่าแบบนี้ เรามีชีวิตอยู่รอดด้วยเรื่องเล่า เรื่องเล่ามันอยู่ในชีวิตของพวกเราอยู่แล้ว

          เป้าหมายสูงสุดในคลาสคือพี่ต้องการให้ทุกคนรู้จักคอนเนกต์กับตัวเอง คอนเนกต์กับสิ่งที่เขียน ยิ่งเขียนยิ่งรู้จักตัวเอง พอรู้จักตัวเองก็ยิ่งมีความสุข รู้ว่าฉันชอบสิ่งนี้ฉันไม่ชอบสิ่งนี้ เวลาเลือกอะไรก็จะเลือกได้ชัดเจนขึ้น เคยอ่านบทความแล้วรู้สึกว่ามันลอยๆ น่าเบื่อๆ ป่ะ แต่ในคลาสเราพอคนเขียนเขาคอนเนกต์กับสิ่งที่เขาเขียน มันไม่เคยพลาดความสนุกเลย แล้วคนอื่นจะมาคอนเนกต์กับเขาเอง นั่นหมายความว่าเราทั้งหลายจะคอนเนกต์กัน เพราะในความเป็นมนุษย์เราไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว เราสามารถยืมเรื่องของคนอื่นมาใช้ประโยชน์ได้ เราแชร์เรื่องราวแล้วเรามีประโยชน์ต่อกัน

          เน็ต : เวลาอ่านแคปชันโฆษณาในเฟซบุ๊ก ไอจี เราจะรู้เลยว่าอันนี้คือมาร์เก็ตติ้งเขียน เพราะมันไม่มีชีวิต แต่ในเวิร์กชอปเราให้ความสำคัญกับชีวิตของคนเล่าเรื่องแต่ละคน มันไม่ใช่การเขียนแต่มุมที่ตัวเองอยากเปิดเผยด้านดีด้านบวกเท่านั้น ทุกคนที่มานั่งเขียนยังไงก็ต้องไปเจอเรื่องที่ตัวเองเคยซ่อนไว้ เรื่องที่เคยเจ็บปวดแล้วไม่กล้าเผชิญหน้ากับมัน

          ส่วนหนึ่งของคลาสที่มันทำงานกับทุกคน คือการทำให้ทุกคนยอมรับทุกๆ ด้านของตัวเอง และเห็นคุณค่าของทุกๆ ด้านด้วย บางคนอาจรู้สึกว่าคุณค่าควรเป็นเรื่องที่พาชีวิตของเราบวกๆ ขึ้นไปอีก แล้วด้านที่มันไม่ค่อยบวกเราก็เอาไปซ่อนไว้ กดทับมันไว้ ถ้าไปสัมภาษณ์คนสาย Mental Health จะรู้ว่าสิ่งนี้ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตในคนยุคปัจจุบัน การเขียนเลยช่วยให้หลายๆ คนมั่นใจขึ้นที่จะยอมรับความบ๊อง ความแย่ ความไม่ดี ความงี่เง่าหลายๆ อย่างในตัวเอง

          การเขียนเป็นกระบวนการที่ดีในการเล่าหลายๆ เรื่องที่เราไม่กล้าเผชิญหน้าในอดีต เพราะการเอามาเล่าซ้ำโดยที่มีความเข้าใจและมีชุดความคิดของนักเขียน มันทำให้เรายอมรับว่าเรื่องนี้เคยเกิดขึ้น และมันเปลี่ยนแปลงให้เรากลายมาเป็นแบบนี้ ประเด็นของเรื่องทั้งหมดไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วให้อะไรกลับมา จนกลายเป็นตัวเรา ณ วันนี้

          โจ้ : พี่นึกถึงเรื่องนี้ แบทแมนจะไม่เป็นแบทแมนถ้าไม่มีโจ๊กเกอร์ ไม่เชื่อลองตัดโจ๊กเกอร์ออกไปจากหนังแบทแมนสิ กระจอกเลยอะ เราก็เหมือนกัน ด้านมืดหรืออะไรที่เรากดทับซ่อนเร้นไว้ เราคิดว่ามันไม่ดีเราถึงซ่อนไว้ แต่จริงๆ มันมีฟังก์ชันหรือมีหน้าที่ของมัน แม้แต่อุปสรรคปัญหาต่างๆ นานาที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ถ้าเราเข้าใจ เราจะสามารถคว้ามันมาเป็นของขวัญหรือพระพรดีๆ กลายเป็นเครื่องมือที่เอามาใช้กับชีวิตใน Episode ต่อไปได้

เปิดบ้าน Readery Studio โอเอซิสสำหรับคนรักการอ่านและการเขียน

สังคมการอ่านการเขียนแบบไหนที่อยากสร้างให้เกิดขึ้น

          เน็ต : เรารู้สึกว่าประเทศไทยเป็นทะเลทรายสำหรับสังคมการอ่าน จำนวนร้านหนังสือไม่ได้เยอะ หนังสือไทยที่ผลิตก็ไม่ได้เยอะ หนังสือที่เอามาแปลก็ไม่ได้เยอะ กลุ่มคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมการเขียนการอ่านไม่ได้เป็นกลุ่มใหญ่มาก ถ้ามองว่าทั้งประเทศของเราคือทะเลทรายผืนหนึ่ง เรามองว่าผู้คนหลายๆ กลุ่มกำลังพยายามสร้างโอเอซิสของตัวเองอยู่ ถ้าคุยเรื่องธุรกิจกับคนที่เปิดร้านหนังสือจะรู้ว่ากำไรมันไม่ได้เยอะ สมมติหนังสือเล่มละร้อย หักค่าใช้จ่ายทั้งหมดไปแล้วคนทำร้านหนังสืออาจจะได้กำไรประมาณห้าบาท ลองนึกดูว่าการใช้ชีวิตหนึ่งเดือน ขายหนังสือได้เล่มละห้าบาท เขาจะต้องขายกี่เล่มเพื่อเอาตัวเองให้รอด คนที่เปิดร้านหนังสือส่วนใหญ่เลยอาจจะเป็นคนที่ไม่ได้ดิ้นรนมาก

          สิ่งที่พวกเขาทำอยู่คือการพยายามสร้างโอเอซิสไว้เป็นหย่อมๆ เต็มทะเลทราย เพื่อพยายามผลักดันให้ประเทศเรายังมีสิ่งนี้อยู่ ยังมีการเขียน ยังมีการผลิตหนังสือ ยังมีร้านหนังสือ ยังมีชุมชนการเขียนการอ่าน คนอ่านหนังสือก็เหมือนคนเร่ร่อนที่บอกว่า ดีจังเลยเนอะที่เรามาเจอโอเอซิสแห่งนี้ ได้เจอร้านหนังสือเล็กๆ ซ่อนอยู่ตรงนี้ เรายังไม่กล้ามองภาพใหญ่ เพราะสิ่งที่เราทำไม่ได้ทำงานกับผู้คนภาพใหญ่ ถ้าสามารถเป็นโอเอซิสให้กับผู้คนในวันที่เขารู้สึกว่าจะตายแล้วถ้าไม่ได้น้ำ เราก็รู้สึกมีคุณค่าอยู่ประมาณหนึ่งในการเป็นประชากรในประเทศทะเลทรายแห่งนี้

          โจ้ : ถามว่าพี่คิดยังไงกับการสร้างสังคมการอ่านการเขียน ขอตอบว่า ฉันไม่แคร์ แล้วฉันก็ไม่ว่างด้วย ฉันยังดู Celebrity ไม่จบเลย ฉันต้องดูซีรีส์ให้จบก่อน พี่ไม่ว่างจริงๆ เพราะหลังไมค์พี่เยอะมาก คนมาถามว่าพี่โจ้อ่าน Norwegian Wood แล้วคิดยังไง ฉันก็ตอบไป คนฟัง Readery Podcast บางตอนก็หลักแสนหรือจะเป็นล้านอยู่แล้ว ก็เยอะพอแล้วไหม หรือเวลาทำบุ๊กคลับก็มีคนมาตั้งแต่หลักสิบไปจนถึง 150 คน นั่งคุยกับคนแค่นี้ก็ไม่ว่างแล้ว พี่ไม่แคร์หรอกว่าใครจะอ่านหนังสือหรือไม่อ่านหนังสือ ใครอยากอ่านก็อ่านนะครับ ไม่อยากอ่านก็ไม่ต้องอ่าน ไปทำอย่างอื่น อยากทำอะไรก็ทำ แต่พี่แคร์ว่าชีวิตเป็นไง มีความสุขกันอยู่หรือเปล่า ถ้าชีวิตกำลังไม่มีความสุขอยู่ การอ่านหนังสือหรือเขียนหนังสือช่วยให้แกมีความสุขขึ้นได้นะเว้ย เพราะพี่เห็นคาตามาแล้ว ถ้าอยากมีความสุขก็ลองดู

เปิดบ้าน Readery Studio โอเอซิสสำหรับคนรักการอ่านและการเขียน

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก