คุยกับ พุทธิพงศ์ อึงคนึงเวช เพื่อทำความรู้จักเคียร์เคอการ์ดและปรัชญาอัตถิภาวนิยม

1,552 views
7 mins
July 3, 2023

          ซอเรน เคียร์เคอการ์ด (Søren Kierkegaard) เป็นนักปรัชญาชาวเดนมาร์กที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปี 1813 -1855 ชื่อเสียงเรียงนามของเขาอาจไม่คุ้นหูคนไทยเท่าไรนัก แต่แนวคิดของเคียร์เคอการ์ดนั้นมีหลายแง่มุมน่าสนใจและชวนขบคิด ทั้งยังได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งปรัชญาอัตถิภาวนิยม (Existentialism) แนวทางหนึ่งของปรัชญาที่มุ่งศึกษามนุษย์ในฐานะปัจเจกบุคคล โดยเชื่อว่าการตระหนักรู้ถึงเสรีภาพ ทางเลือก และความรับผิดชอบของตน จะทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาตนเองและค้นพบเป้าหมายชีวิตได้ 

          เคียร์เคอการ์ดเขียนหนังสือปรัชญาไว้เป็นจำนวนมาก ผลงานของเขามีความน่าสนใจตรงการนำเสนอแนวคิดสดใหม่ที่ตรงข้ามกับแนวคิดกระแสหลักในยุคสมัยนั้น เช่น การวิพากษ์ว่าศาสนาคริสต์แบบที่คนส่วนใหญ่นับถือ ตีกรอบให้คนเชื่อและทำอะไรเหมือนๆ กัน ซึ่งทำให้เขาขัดแย้งกับคนรอบตัวเพราะใช้วิธีการอธิบายศาสนาแตกต่างจากคนอื่น 

          การวิพากษ์ประเด็นต่างๆ ทางสังคมและการตั้งคำถามเชิงปรัชญากับสิ่งรอบตัว เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สังคมมนุษย์มีพัฒนาการทางความคิด และช่วยให้ปัจเจกบุคคลได้ฝึกทักษะการใช้เหตุผล โอกาสนี้เราจึงชวน พุทธิพงศ์ อึงคนึงเวช หนึ่งในผู้แปลหนังสือ ‘เคียร์เคอการ์ด ฉบับกระชับ’ โดย แพทริก การ์ดิเนอร์ (Patrick Gardiner) มาพูดคุยถึงเรื่องราวเกี่ยวกับวิชาปรัชญา และแนวคิดในการนำประเด็นอันซับซ้อนเหล่านี้มาปรับใช้กับชีวิตประจำวัน เพื่อพัฒนาตัวตนภายในของเราให้เติบโต

          พุทธิพงศ์จบการศึกษาปริญญาโท สาขาปรัชญาจาก University of York ประเทศอังกฤษ โดยเลือกทำวิทยาพนธ์เกี่ยวกับซอเรน เคียร์เคอการ์ด และหลังจากเรียนจบกลับมาเมืองไทย เขารับหน้าที่เป็นอาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนจะมาประจำที่วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งยังเคยจัดรายการพอดแคสต์ ด้วยรักและปรัชญา ทางช่อง MOODY สื่อในเครือ BrandThink ปัจจุบันเขาหยุดพักจากงานสอน เพื่อวางแผนเดินทางไปเรียนต่อปริญญาเอกด้านปรัชญาการเมืองในต่างแดน 

วิชาปรัชญาน่าสนใจยังไง ทำไมถึงเลือกเรียนด้านนี้ตั้งแต่ปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก

          โดยส่วนใหญ่เนื้อหาวิชาปรัชญาจะเป็นการตั้งคำถามเกี่ยวกับบรรทัดฐานบางอย่างเกี่ยวกับชีวิตคนเรา เช่น ชีวิตที่ดีคืออะไร ความตายคืออะไร เราเกิดมาทำไม พระเจ้ามีจริงไหม ประโยชน์หลักๆ ที่เห็นได้ชัดของวิชานี้คือเรื่อง ‘วิธีคิดและการสำรวจวิธีคิด’ เราจะได้ไม่ติดกรอบความคิดบางอย่างที่คนอื่นพยายามใส่มาให้ เช่น การตั้งคำถามว่าพลเมืองที่ดีเป็นแบบไหน แต่ละประเทศแต่ละรัฐก็มีนิยามของพลเมืองที่ดีในทิศทางแตกต่างกัน การตั้งคำถามจะช่วยให้เราเป็นอิสระจากกรอบที่ครอบไว้ ซึ่งเครื่องมือของปรัชญาก็คือการคิด ที่ช่วยให้เราคิดได้ลึกขึ้นหรือมองเห็นแง่มุมที่เฉพาะเจาะจง คนเรียนปรัชญาจึงสามารถต่อยอดไปทำอาชีพที่เกี่ยวกับการคิด หรือใช้การวิเคราะห์เชิงลึกเป็นเครื่องมือในการเข้าใจสิ่งต่างๆ ในสายอาชีพที่แตกต่างกันไปได้

คุยกับ พุทธิพงศ์ อึงคนึงเวช เพื่อทำความรู้จักเคียร์เคอการ์ดและปรัชญาอัตถิภาวนิยม
Photo: เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

เพราะอะไรถึงเลือกทำวิทยานิพนธ์และแปลหนังสือเกี่ยวกับเคียร์เคอการ์ด

          อย่างแรกคือตอนเรียนปริญญาโท ผมมีคำถามเกี่ยวกับภาวะภายในที่อยากหาคำตอบอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น เราจะมีศรัทธาไปทำไม สุดท้ายความรักในความสัมพันธ์บางอย่างมันมีวิธีคิดแบบอื่นไหม หรือถ้าคิดเรื่องเพื่อนมันมีแค่เพื่อนกินกับเพื่อนตายเท่านั้นเหรอ หรือมีรูปแบบอื่นที่เราสามารถคิดกับมันได้อีก ซึ่งเคียร์เคอการ์ดเขาเป็นนักปรัชญาที่สนใจเรื่องภายในของคน

          อย่างที่สองคือเคียร์เคอการ์ดไม่ใช่นักปรัชญาที่อยู่ในกระแสหลัก ไม่ใช่นักปรัชญาที่เขียนงานเป็นภาษาอังกฤษ จึงมีคนศึกษางานของเขาไม่มากนักเมื่อเทียบกับนักปรัชญากระแสหลักคนอื่นๆ ในโลกตะวันตก ผมเลยรู้สึกว่าถ้าเรามีโอกาสได้ศึกษาและทำอะไรต่อยอด มันอาจจะเป็นประโยชน์ก็ได้

          ในแง่นี้ อาจจะมีความนึกคิดคล้ายเคียร์เคอร์การ์ดอยู่ส่วนหนึ่งคือ เคียร์เคอการ์ดรู้สึกว่าสังคมที่เขาอยู่ในช่วงเวลานั้นมีความไม่จริงใจบางอย่าง พอเกิดความรู้สึกแบบนั้นเคียร์เคอการ์ดเลยมีคำถามใหญ่ที่ต้องการหาคำตอบ นั่นคือเราควรมีชีวิตในฐานะมนุษย์ยังไง เราทุกคนเป็นมนุษย์อยู่แล้ว แต่เวลาที่เราเป็นมนุษย์มันมีชอยส์ที่ต้องเลือกแตกต่างกัน แล้วทางเลือกแบบไหนหรือวิถีชีวิตแบบไหนที่ทำให้เราเข้าถึงความจริงมากที่สุด มันเลยเป็นการตั้งคำถามเกี่ยวกับภาวะข้างในของคน เช่น ความรัก ความหวัง ความศรัทธา

เหตุผลที่เลือกแปล ‘เคียร์เคอการ์ด ฉบับกระชับ’ แทนการแปลงานที่เขียนโดยเคียร์เคอการ์ด

          ถ้าเป็นงานปฐมภูมิที่เป็นหนังสือของเคียร์เคอการ์ดเลย ผมไม่แน่ใจว่ามันจะเข้ากับบริบทของประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน เพราะในเนื้อหามีการอ้างอิงเรื่องราวที่เป็นรากวัฒนธรรมฝั่งตะวันตกเยอะมาก ผมเลยเลือกแปลงานที่กรองมาจากคนที่ศึกษาเคียร์เคอการ์ดอีกชั้นหนึ่ง มันเป็นงานขั้นต้นที่พอเข้าใจได้ เนื่องจากเวลาเราจับประเด็นจากแนวคิดอย่างหนึ่งของนักปรัชญา เราต้องเอาเนื้อหาจากงานเขียนหลายๆ เล่มมารวมกัน เพื่อดูว่าเขาคิดอะไร ซึ่งต้นฉบับเป็นภาษาเดนมาร์กผมอ่านไม่ได้อยู่แล้ว และเวลาอ่านงานแปลฉบับภาษาอังกฤษก็จะมีเล่มที่อ่านพอเข้าใจ แล้วก็เล่มที่อ่านยากไปเลย 

          สิ่งที่รู้สึกกับงานเขียนของเคียร์เคอการ์ดคือเขาเขียนในเชิงลึกได้ค่อนข้างดี ใช้การเปรียบเทียบได้ค่อนข้างดี แต่สิ่งที่งานของเคียร์เคอการ์ดประสบปัญหาตลอดมาคือมันไม่สามารถสื่อสารกับคนหมู่มากได้ เพราะใช้ภาษาค่อนข้างยาก พยายามสื่อสารประเด็นที่ลึก และเราก็ห่างไกลจากบริบทของเดนมาร์กทำให้เข้าใจได้ยาก

คุยกับ พุทธิพงศ์ อึงคนึงเวช เพื่อทำความรู้จักเคียร์เคอการ์ดและปรัชญาอัตถิภาวนิยม
หนังสือ เคียร์เคอการ์ด ฉบับกระชับ

ความน่าสนใจปรัชญาอัตถิภาวนิยมคืออะไร

          ถ้าให้พูดแบบเข้าใจง่ายมากๆ อัตถิภาวนิยมคือ ปรัชญาสายที่พยายามเข้าใจประเด็นเกี่ยวกับชีวิตคน ถ้าเราเข้าใจเรื่องนี้ได้ในระดับที่ลึกหน่อย ก็จะทำให้เราเห็นความเป็นไปได้อื่นนอกจากที่เราเห็นอยู่ในโลกรอบๆ ตัวทั่วไปในเรื่องต่างๆ

          เช่นเรื่องความสัมพันธ์ที่เคียร์เคอการ์ดมองว่า การเป็นเพื่อนสนิท เพื่อนทั่วไป หรือกัลยาณมิตรที่ดี ทั้งหมดนี้มันไม่ตอบโจทย์คำว่า Friendship คำอธิบายของเขาคือ สมมติเรามีเพื่อนสนิทเพราะความสนใจใกล้เคียงกัน ก็มีโอกาสที่ความสัมพันธ์นี้จะชี้นำการตัดสินใจของเราไปในทางใดทางหนึ่ง เช่น เพื่อนบอกว่าเค้กส้มอร่อยมาก เราที่ตั้งใจจะกินแค่น้ำเปล่าก็อาจจะอยากลองเค้กส้ม นี่คือตัวอย่างเรื่องเล็กๆ ที่นำไปสู่เรื่องใหญ่ๆ ว่าการมีเพื่อนสนิททำให้ความคิดเรามีไบแอสบางอย่าง

          ขณะเดียวกันการเป็นคนรู้จักเฉยๆ ก็เหมือนจะไม่มากพอ เพราะเวลาคนเรารู้จักกันแต่ไม่สนิท มันมีโอกาสที่เราจะกันอีกฝ่ายออกในเรื่องที่เรารู้สึกว่าเขาไม่เข้ากับเรา เช่น พี่บอกว่าอยากไปพารากอนจัง แล้วผมถามว่าขอไปด้วยได้ไหม พี่ก็มีโอกาสที่จะไม่อยากให้ผมไปด้วย เคียร์เคอการ์ดบอกว่าเรามีโอกาสที่จะตัดสินใจไปทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งคนเดียว กีดกันคนอื่นออกไป ทำให้เกิดความรู้สึกเชิงลบ มากกว่าที่จะเปิดรับคนที่ไม่สนิทเข้ามา

          เคียร์เคอการ์ดจึงเสนอว่า ทางที่ดีการเข้าใจ Friendship ควรจะอยู่บนฐานการต่างตอบแทนที่เข้าใจว่าคุณค่าที่พระเจ้าอยากให้เราทำคืออะไร โดยอยู่บนฐานว่าเราต้องมีความรักต่อกัน แต่เป็นความรักที่เราสื่อสารไปยังพระเจ้า เพื่อที่จะได้ก้าวข้ามข้อจำกัด หรือความรู้สึกเชิงลบที่เรามีต่อคนอื่น และนำไปสู่ประโยชน์สูงสุดบนความสัมพันธ์ที่เรามี เช่น ผมอยากไปซื้อรองเท้าที่พารากอน พี่ก็อยากซื้อรองเท้าเหมือนกัน แต่เราไม่สนิทกัน ระหว่างทางเดินไปด้วยกันอาจจะอึดอัดใจมากๆ ก็ได้ 

          แต่มันมีความเป็นไปได้อยู่นะที่เราจะไปเลือกรองเท้าด้วยกันแล้วเกิดเป็นความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ขึ้น ซึ่งเกินความสามารถของเราในการรับรู้ความเป็นไปได้นี้ล่วงหน้า ฉะนั้นก็ให้วางใจในพระเจ้าแล้วลองไปดู เพราะมันมีความเป็นไปได้อื่นที่พระเจ้ายังไม่ได้บอกเรา แต่เราต้องเดินทางไปให้ถึงแล้วจะรู้เองว่าปลายทางคืออะไร

คุยกับ พุทธิพงศ์ อึงคนึงเวช เพื่อทำความรู้จักเคียร์เคอการ์ดและปรัชญาอัตถิภาวนิยม
Photo: เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ทำไมเคียร์เคอการ์ดถึงได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งปรัชญาอัตถิภาวนิยม

          ชุดความรู้พวกนี้มันมาจากโลกตะวันตก ซึ่งในทางตะวันตกถ้าเราจะเป็นบิดาของอะไรบางอย่าง ก็น่าจะแปลว่าเราได้รับการยอมรับในการศึกษาเรื่องนั้นๆ จากคนที่อยู่ฝั่งยุโรปหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ทางฝั่งตะวันตก  ทีนี้การได้รับการยอมรับมันก็มีเงื่อนไขและมีข้อจำกัด เช่น คุณศึกษาต่อยอดจากความรู้ที่มีก่อนหน้ามากน้อยแค่ไหน รากฐานวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิมสอดรับกับองค์ความรู้ที่เราเสนอไปมากน้อยแค่ไหน เคียร์เคอการ์ดบอกว่าวิธีที่จะเข้าถึงความจริงและเข้าใจเรื่องต่างๆ ได้ดีที่สุด คือการเอาตัวเราเข้าไปอยู่ตรงนั้น ซึ่งมันสอดรับกับคำว่า Existentialism หรือ อัตถิภาวนิยม 

          กล่าวคือ ภาวะของคนแต่ละคนที่เจอเรื่องราวเดียวกันแต่ว่ารู้สึกต่างกัน นอกจากรู้สึกต่างกันแล้ว สิ่งที่เราเข้าใจยังนำไปสู่ ‘ความจริงส่วนตัว’ ที่คนอื่นไม่สามารถทำความเข้าใจได้ ซึ่งการคิดแบบนี้ทำให้เราเริ่มคิดต่อไปได้ว่าความจริงอาจไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียวและ มีความแตกต่างจากวิธีคิดของนักปรัชญาเยอรมันที่ทรงอิทธิพลอยู่ในเวลานั้น จากความคิดนี้ของเคียร์เคอการ์ดทำให้ปรัชญาของเขาแตกออกมาเป็นปรัชญาอีกสายหนึ่ง ซึ่งจริงๆ มันมีหัวข้อบางอย่างที่ถกเถียงกันมาอยู่แล้ว เช่น ชีวิตที่ดีเป็นยังไง ความตายเป็นยังไง ความรัก ความสัมพันธ์ เรื่องพวกนี้มีคนศึกษามาก่อนแล้ว แต่คำอธิบายของนักปรัชญาที่ศึกษาเรื่องเหล่านี้มาก่อนหน้า ไม่ใช่ในแบบที่เคียร์เคอการ์ดอธิบายเท่านั้นเอง

อะไรคือสิ่งที่ได้รับจากการศึกษางานของเคียร์เคอการ์ด

          หลักๆ สิ่งที่ผมได้รับคือวิธีการมองโลกโดยภาพรวม เคียร์เคอการ์ดจะอธิบายในเชิงว่า ‘ความรู้มีหลายชุด’ สมมติเราจะหาคำตอบว่ามนุษย์ควรใช้ชีวิตแบบไหน ถ้าเราชอบแบรนด์เนม ชอบอยู่ในสังคมทุนนิยม คำตอบของเราอาจเป็นเรื่องสิ่งของ เรื่องวัตถุนิยม แต่ถ้าเราชอบเรื่องจิตวิญญาณ เราอาจไปทางธรรมะ วิปัสสนา แต่เคียร์เคอการ์ดเขาจะเปิดวิธีมองโลกที่แตกต่างจากทั้งสองอย่างนี้ แล้วบอกว่าหนทางที่เราเห็นไม่ได้มีแค่นี้ แต่มีวิธีใช้ชีวิตอีกแบบ ถ้าใช้ชีวิตแบบนี้เราจะเข้าถึงความรู้อีกชุดหนึ่ง ที่ไม่ใช่ทั้งเรื่องของวัตถุนิยมและการวิปัสสนาที่แตกต่างกันสุดขั้วแบบนั้น

          เขามองว่าชีวิตคือความเป็นไปได้ เป็นการเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ และการเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ มันเปิดความเป็นไปได้อื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือจากการคิด หรือแม้กระทั่งประสบการณ์ของตัวเรา การที่เราตัดสินว่า ณ ช่วงเวลาหนึ่งชีวิตควรเป็นแบบนี้ อาจจะจำกัดกรอบเกินไป เพราะยังมีความเป็นไปได้อีกมากมายที่เราคาดไม่ถึง

          ซึ่งวิธีที่เราจะเข้าใจอนาคตมันอาจไม่มีทางอื่น นอกจากอยู่กับความเป็นไปได้พวกนี้ สมมติเรามองโลกแบบทุนนิยม เราบอกว่าฉันอยากทำงานที่ได้เงินเดือน 20,000 บาท ทำงานสิบเดือนควรได้เงินสองแสน แต่ถ้าให้เคียร์เคอการ์ดมองเรื่องเดียวกัน เขาจะตั้งคำถามว่า คุณรู้ได้ไงว่าถ้าทำงานประจำที่ได้เงินเดือน 20,000 บาท แล้วชีวิตจะดำเนินไปแบบนี้เป๊ะๆ

          วันหนึ่งคุณเข้าออฟฟิศแล้วเบื่อๆ เดินไปคุยกับคนในที่ทำงาน เขาอาจเปิดให้คุณเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ เช่น ชวนคุณขายของออนไลน์ ซึ่งอาจทำรายได้ให้เราเพิ่มขึ้น สิ่งที่เราคาดการณ์ไว้ก่อนแล้วว่าทำงานสิบเดือนจะได้เงินสองแสนมันก็ไม่เป็นจริง แต่ถามว่าเราจะรู้ได้ยังไงว่าชีวิตจะดำเนินไปแบบนี้ แล้วสุดท้ายจะได้มาขายของออนไลน์ บวกกับได้รับเงินเดือนประจำด้วย ประเด็นก็คือเราไม่รู้ไง ในโลกนี้จะมีความรู้ชุดหนึ่งที่เราต้องรอให้มันเกิดขึ้นก่อน เสร็จปุ๊บแล้วเรามองย้อนกลับมาถึงจะรู้สึกอ๋อ ว่ามันเกิดจากอันนี้บวกกับอันนี้ แล้วมันเป็นอย่างนี้ก็ได้เหรอ

คุยกับ พุทธิพงศ์ อึงคนึงเวช เพื่อทำความรู้จักเคียร์เคอการ์ดและปรัชญาอัตถิภาวนิยม
Photo: เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

คนทั่วไปจะนำแนวคิดเชิงปรัชญาเหล่านี้มาปรับใช้ได้ยังไงบ้าง

          ขอยกตัวอย่างประเด็นใกล้ตัวอย่างคำถามที่ว่า เราควรเลือกเรียนต่อตามค่านิยมของสังคมหรือตามความต้องการของตัวเอง มันจะมีบางอาชีพที่เราอาจจะเห็นได้ชัดเลยว่าคำอธิบายในแบบของเคียร์เคอการ์ดอาจจะเป็นประโยชน์ เราอาจจะบอกว่าเป็นอาชีพที่เห็นทางเดินไม่ชัดเจน และอาจเป็นอาชีพที่กว่าจะประสบความเสร็จบางอย่างต้องใช้เวลานาน เช่น นักวาดรูป นักฟุตบอล อาชีพพวกนี้มักจะเห็นโครงร่างการเดินทางไม่ชัดเจน จึงจำเป็นมากๆ ที่คนจะเก่งในอาชีพเหล่านี้ต้องมีความหวัง มีความหลงใหล มีความศรัทธาว่าเราจะเป็นสิ่งนี้ได้จริงๆ 

          เคียร์เคอการ์ดจึงพยายามเน้นย้ำว่า สิ่งที่เราคิดเกี่ยวกับแพสชันหรือความถนัดเฉพาะของเรามันจำเป็นนะ ถ้าผมเป็นนักฟุตบอลที่ได้เซ็นสัญญากับสโมสรแค่หนึ่งปี โดยที่ยังไม่มีสัญญาณว่าผมจะได้เล่นต่อหรือเปล่าในฤดูกาลหน้า แต่ผมไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องฝึกซ้อมให้หนักที่สุด ต้องแสดงศักยภาพให้มากที่สุด

          ทีนี้ในแต่ละวันที่ผ่านไปวิธีที่เราจะวัดว่าใครมีแพสชันกับฟุตบอลก็คือ สมมติมีเวลาซ้อมแปดโมงเช้าถึงห้าโมงเย็น นักฟุตบอลคนนี้อาจจะซ้อมถึงหนึ่งทุ่ม แสดงว่าคนนี้มีแพสชันมากกว่าคนที่เลิกซ้อมห้าโมง แล้วมันก็ต้องวางใจว่าสุดท้ายการซ้อมจะพาไปสู่ปลายทางที่ดี 

          ในแง่นี้ผมคิดว่ามันเป็นปัญหามาตลอดในทุกยุคสมัย สุดท้ายเราจะเลือกไปตามกระแสสังคม สิ่งที่คนอื่นทำแล้วดี หรือจะลองทำตามความตั้งใจของเราจริงๆ ซึ่งปัญหาคือการวางชีวิตบนความตั้งใจของเราโดยที่ไม่เห็นปลายทาง มันมักจะยากกว่าอีกทางหนึ่งเสมอ แต่ต่อให้ยากมันก็มีวิธีมองอีกแบบหนึ่งคือ ถ้าคุณอยากเป็นนักฟุตบอลที่เก่งจริง แล้วในห้องเรียนไม่มีใครอยากเป็นเหมือนเราเลย หรือช่วงแรกอาชีพนี้อาจจะรายได้ไม่ดี แต่คุณลองทำไปก่อนให้สุดความสามารถดีกว่า แล้วลองดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นในความเป็นไปได้ที่จะเจอต่อไป

คุยกับ พุทธิพงศ์ อึงคนึงเวช เพื่อทำความรู้จักเคียร์เคอการ์ดและปรัชญาอัตถิภาวนิยม

          เคียร์เคอการ์ดเขาอธิบายแนวคิดนี้ผ่านงานหลายเล่ม ทำให้การคิดแบบนี้คำตอบมันไม่ตายตัว แต่ประเด็นคือแม้คำตอบจะไม่ตายตัว แต่มันจะมีแพทเทิร์นบางอย่างที่เคียร์เคอการ์ดบอกว่า ถ้าเราเดินตามทางนี้ชีวิตเราอาจจะดีขึ้นหรือไปในทางที่เรารู้สึกพึงพอใจก็ได้ 

          อย่างการทำความเข้าใจเรื่องแพสชัน สมมติคุณอยากเป็นคนขายแผ่นเสียงไวนิลหรือขายเทปที่เก่งในสังคมที่คนไม่ค่อยฟังเพลงจากแผ่นเสียงหรือเทปแล้ว เคียร์เคอการ์ดไม่ได้บอกว่าคุณก็ทำตามแพสชันไปทื่อๆ อย่างนั้น แต่เขาบอกให้คุณลองใช้ความตั้งใจและชั่งน้ำหนักทุกอย่างดู จากนั้นให้ลองเชื่อจริงๆ ในสิ่งที่คุณประเมินมาแล้วและพาแพสชันของคุณไปให้สุดในทางใดทางหนึ่ง แล้วคุณจะเห็นอะไรบางอย่าง 

          เพราะถ้าเราดูแพทเทิร์นคนที่ประสบความสำเร็จ เราก็มักจะเห็นอะไรบางอย่างที่เป็นจุดร่วมหรือคล้ายกัน เช่น รักในสิ่งที่ทำมากและมีแพสชันเสมอ อาจจะเพิ่มเติมในมุมของเคียร์เคอการ์ดอีกนิดว่า เวลาเรามีภาพอุดมคติว่าอยากมีชีวิตแบบไหน อยากมีอาชีพแบบไหน อยากเป็นคนยังไง หนทางที่จะไปสู่ภาพอุดมคตินั้นจะเปี่ยมด้วยความหมายก็ต่อเมื่อเราผูกโยงตัวเองกับความรับผิดชอบให้มากที่สุด เพราะสิ่งนี้จะเรียกร้องให้เราดูแลคนอื่นไปด้วยระหว่างทางที่เดินไป ความหมายที่ทำให้ชีวิตมีคุณค่าจริงๆ ไม่ได้เกิดจากการพัฒนาชีวิตของเราคนเดียว แต่จะเกิดจากการที่เราได้เห็นชีวิตคนอื่นดีขึ้น หรือเติบโตไปได้ในแบบของตัวเอง

คุยกับ พุทธิพงศ์ อึงคนึงเวช เพื่อทำความรู้จักเคียร์เคอการ์ดและปรัชญาอัตถิภาวนิยม
Photo: เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก