ญี่ปุ่นป็อป: ประดิษฐกรรมจากโลกที่นำเราไปก้าวหนึ่งเสมอ

392 views
8 mins
November 29, 2023

          “Japan really is Living in the Future!”

          ในช่วงเวลาก่อนที่บทความนี้จะเผยแพร่ One Piece ฉบับซีรีส์ไลฟ์แอ็กชันของเน็ตฟลิกซ์ที่เพิ่งจบไป ได้รับเสียงฮือฮาจากแฟนตัวยงทั่วโลก (โดยเฉพาะโลกตะวันตก!) บรรดาเพจต่างๆ ในเฟซบุ๊กเขียนถึงนิทรรศการ The World of Studio Ghibli’s Animation Exhibition Bangkok 2023 ซึ่งยกมาจัดแสดงที่กรุงเทพฯ และได้รับความนิยมจนขยายเวลาจัดถึงต้นปีหน้า ชาวทวิตเตอร์ถกเถียงร้อนแรงหลากประเด็นถึงแอนิเมชัน เกิดใหม่เป็นลูกโอชิ (Oshi no Ko) หนังสือนวนิยายของฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) ฉบับแปลไทยเพิ่งตีพิมพ์ซ้ำและวางแผงไปไม่กี่เดือนก่อนหน้า พร้อมๆ กันกับที่ผู้ใช้ TikTok และอินสตาแกรมรีลนับล้านทั่วโลก (รวมฉันด้วยแล้วกัน) เอนจอยกับกระแสคลิปวิดีโอมีม (meme) “Japan really is Living in Future” ซึ่งฉายภาพหลากนวัตกรรมและวิถีชีวิตล้ำสมัยของชาวญี่ปุ่นให้เห็นกันจะจะ ที่ดูแล้วอยากส่งต่อให้คนอื่นดูด้วย เพราะยิ่งดูก็ยิ่งชวนให้รู้สึกว่า

           “เออ… คนญี่ปุ่นนี่เหมือนใช้ชีวิตอยู่ในโลกอนาคตของพวกเราอีกทีจริงๆ”

ใครๆ ก็อยากเข้าใจญี่ปุ่น

          มันจะล้ำอะไรขนาดนั้น มันจะคาวาอี้กันไปถึงไหน มันเบียวจนได้ดีขนาดนี้ได้ยังไง ไม่ว่าจะเป็นคนที่รักและคลุกคลีกับสารพัดสิ่งเมดอินเจแปนโดยตั้งใจ คนที่งงๆ ปนไม่เข้าใจ คนที่หมั่นไส้กระทั่งเกลียดเข้ากระดูกดำด้วยเหตุผลนานา ฉันว่าพวกคุณก็ต้องเคยสงสัยและอยากเข้าใจมันบ้างสักครั้ง (ครั้งแรกของฉันคือตอนที่ร้องไห้น้ำมูกยืดเพราะมังงะแนวอบอุ่นหัวใจเมดอินเจแปน) มองกว้างออกไปจากระดับปัจเจกช่างสงสัย ญี่ปุ่นยิ่งเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจเป็นอันดับต้นๆ อย่างไร้ข้อกังขา ในฐานะประเทศแพ้สงครามที่โจนทะยานขึ้นเป็นเสือเศรษฐกิจตัวสำคัญของเอเชียและสะเทือนโลกทั้งใบไปพร้อมๆ กับที่ทำให้เราร้อง งื้อออออ ได้พร้อมกันทั้งโลก และเพราะใครๆ ก็อยากเข้าใจญี่ปุ่น ตลอดชีวิตฉันจึงมั่นใจว่าน่าจะผ่านตารายการสารคดี หนังสือ หรือบทวิเคราะห์มากมายจากหลายวงการไม่น้อยกว่าร้อยชิ้นที่พยายามจะถอดรหัส ไขความลับของมนต์ขลังแบบญี่ปุ่น 

          ญี่ปุ่นป็อป: จากประดิษฐกรรมแห่งฝันสู่มหาอำนาจทางจินตนาการ (Pure Invention: How Japan Made the Modern World) โดยแมตต์ ออลต์ (Matt Alt) เลือกเล่าเรื่องราวของมนต์ขลังเมดอินเจแปนผ่านข้าวของหรือผลิตภัณฑ์ที่เขาเรียกว่า ‘เครื่องจัดส่งจินตนาการ’ (fancy delivery devices) หรือข้าวของที่มีความหมายกับจิตใจผู้คน เป็นส่วนหนึ่งของรสนิยมและวิถีชีวิตอย่างแยกไม่ออก แม้อาจไม่ใช่ข้าวของที่จำเป็น 

           “ประเทศที่สร้างสรรค์สิ่งเหล่านี้ขึ้นมาได้ต้องเป็นประเทศแบบไหนกัน”

          เรื่องราวเหล่านี้ก็เริ่มต้นจากความสงสัยของเขาสมัยยังเป็นเด็กชายอเมริกันที่อ่านการ์ตูนญี่ปุ่น ผูกพันกับเกมและของเล่นจากญี่ปุ่น สืบเนื่องมาจนถึงวัยหนุ่ม และยืดยาวมาจนถึงปัจจุบันที่เขาทำอาชีพโลคอลไลเซอร์ (localizer) ในประเทศญี่ปุ่นมากว่า 20 ปี ฝังตัวอยู่ท่ามกลางเครือข่ายป็อปคัลเจอร์ญี่ปุ่น แปลเกม การ์ตูน และเนื้อหาต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษเพื่อผู้บริโภคต่างประเทศ พร้อมกับสร้างครอบครัวและชีวิตในสังคมญี่ปุ่น

          ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ไม่ได้อยู่ที่ผู้เขียนเป็นไอ้หนุ่มตะวันตกที่อยากเล่าเรื่องตะวันออก แต่เป็นเพราะเรื่องราว 2 ตอนใหญ่จาก 2 ช่วงเวลาหลัก คือยุคที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นผงาดขึ้นหลังสงครามโลก และทศวรรษที่สาบสูญหลังฟองสบู่แตกของญี่ปุ่นนั้น เล่าผ่าน ‘ข้าวของ’ อันเป็นตัวแทนอำนาจแห่งจินตนาการ ซึ่งบ้างก็ถูกจดจำในฐานะตำนานผู้บุกเบิก บ้างก็ยังคงเป็นความนิยมที่ไม่เคยพ้นสมัย โดยถักร้อยเข้ากับเรื่องราวชีวิตของผู้ที่สร้างมันขึ้นมา (ซึ่งหลายคนก็ไม่มีใครเคยรู้จัก) รวมถึงฉากหลังทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ขึ้นสุดลงสุดราวรถไฟเหาะของญี่ปุ่นตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นรถจี๊ปกระป๋อง เจ้าหนูปรมาณู (Astro Boy) ตู้เพลงคาราโอเกะ เครื่องเล่นวอล์กแมน เฮลโล คิตตี้ (Hello Kitty) เกมนินเทนโด (Nintendo) อีโมจิ มังงะ อนิเมะ ไปจนถึงเว็บบอร์ดและคอมมูนิตี้ที่แชร์จักรวาลทั้งใบของเหล่าโอตาคุ

          และแน่นอนว่าเมื่อเรื่องราวเหล่านี้ถูกเล่าผ่านชายผู้หลงใหล รสและเรื่องของมนต์ขลังแบบญี่ปุ่นที่ได้จึงเข้มข้นต่างออกไปจากบทวิเคราะห์ของนักเศรษฐศาสตร์หรืออาจารย์ด้านสังคมวิทยา เป็นความเรียงวิเคราะห์วัฒนธรรมร่วมสมัยที่คู่ขนานกับประวัติศาสตร์ที่อ่านเข้มข้น มีเลือดเนื้อ และแสนจะปลุกไฟในใจไม่ต่างจากตอนอ่านการ์ตูนโชเน็น!

ญี่ปุ่นป็อป: ประดิษฐกรรมจากโลกที่นำเราไปก้าวหนึ่งเสมอ
Photo: Stefan – Photography on Pexels

ญี่ปุ่น “แท้”

“…ตอนนี้ ปรากฏการณ์สำคัญต่างๆ ที่ญี่ปุ่นประสบในหลายทศวรรษก่อนหน้า ตั้งแต่วิกฤตการเงินขนาดใหญ่ ความปั่นป่วนทางการเมือง และการหลบหนีความจริงเข้าสู่โลกเสมือนที่ซับซ้อนของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ด้วย สิ่งที่ญี่ปุ่นผลิตขึ้นไม่ได้เป็นเพียงผลิตภัณฑ์ แต่เป็นเครื่องมือนำทางภูมิทัศน์ใหม่แสนพิสดารที่ผู้คนทั้งเชื่อมโยงถึงกันและโดดเดี่ยวมากกว่าที่เคย ผู้ผลิตและผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นไม่ได้เป็นเพียงผู้นำด้านรสนิยม แต่พวกเขาเป็นผู้มาก่อนกาลสำหรับความแปลกประหลาดทั้งหลายของชีวิตในโลกทุนนิยมยุคปลายที่พวกเราอาศัยอยู่…” 

          วัฒนธรรมมวลชน (pop culture) ย่อมบ่งบอกเรื่องราวของผู้คน รวมถึงมวลรวมของสังคมที่รายล้อมผู้คนในยุคสมัยนั้นๆ เมื่อคิดอย่างนี้แล้ว เรื่องราวตลอดเล่มที่เผยให้เห็นญี่ปุ่นที่ผ่านความบอบช้ำในฐานะผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เผชิญฟองสบู่แตกครั้งใหญ่หลังเศรษฐกิจฟื้นคืนได้ไม่กี่สิบปี ต้องวิ่งหนีสุดกำลังเพื่อไม่ให้ตกขบวนในเวทีโลกท่ามกลางข้อจำกัดทางการค้า และเผชิญกับก้นบึ้งความสิ้นหวังมาซ้ำแล้วซ้ำเล่ายิ่งยืนยันกับเราว่า จะแปลกอะไรถ้าประเทศที่ผ่านด่านยากขนาดนี้จะมีชีวิตปัจจุบันและเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์มากมายที่เหมือนมาจากโลกอนาคตหลายสิบปีข้างหน้าของพวกเรา 

          เมื่อสถานการณ์บีบคั้นเขม็งเกลียวให้ต้องสู้มากพอๆ กับที่ทำให้หดหู่จนอยากหลบหนีเข้าสู่จินตนาการอันอบอุ่นปลอดภัย ผลลัพธ์จึงกลายเป็นบรรดาเครื่องจัดส่งจินตนาการชวนฝันที่มีเบื้องหลังจริงจังและทรงพลังเป็นบ้า แต่ขณะเดียวกันก็นำมาซึ่งข้อกังขาต่อความ ‘จริง’ และภาพลักษณ์สุดขั้วเกินเข้าใจของ ‘ญี่ปุ่น’ ที่มีมิติมากกว่าหนึ่ง

“เอาเข้าจริงแล้วทุกส่วนของญี่ปุ่นนี้เป็นประดิษฐกรรมโดยแท้ ประเทศนี้ไม่มีอยู่จริง คนเหล่านี้ก็ไม่มีอยู่จริง คนญี่ปุ่นนั้น ดังที่ข้าพเจ้าได้เคยกล่าวไปแล้ว เป็นเพียงรูปแบบของรสนิยมประเภทหนึ่ง หรือเป็นงานศิลปะอันประณีตสวยงาม”

(ออสการ์ ไวลด์ ใน ‘The Decay of Lying’)

          การตั้งใจเล่นล้อกับภาพลักษณ์สุดขั้วหลากมิตินี้คือที่มาของชื่อหนังสือ Pure Invention คำที่ผู้เขียนหยิบยกมาจากข้อความของออสการ์ ไวลด์ ในปี 1891 ยุคที่โลกตะวันตกกำลังคลั่งไคล้งานศิลปะและประดิษฐกรรมประณีตเนี้ยบแบบญี่ปุ่น โดยคำนี้มาจากทัศนะของไวลด์ที่มองว่า ผู้คนแค่หลงใหลในมุมมองประดิษฐ์ (superficial aspect) ของวัฒนธรรมญี่ปุ่น และญี่ปุ่นเองก็เป็นประดิษฐกรรมโดยแท้

          แมตต์ ออลต์ ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่าด้วย ‘pure invention’ ในการสัมภาษณ์ของเขาว่า ‘ประดิษฐกรรม’ หรือ ‘invention’ นี้มีความหมายซับซ้อนหลากหลาย โดยอาจหมายความได้ทั้งการคิดค้นสร้างสรรค์ ไปจนถึงสิ่งปั้นแต่ง เรื่องโกหก และจินตนาการ 

          เช่นเดียวกับที่สำหรับคนมากมาย ญี่ปุ่นอาจจะเป็นได้ทั้งความจริงอันสร้างสรรค์ เป็นจินตนาการอันน่าเคลือบแคลง เป็นความน่ากลัวในลูกกวาดสีหวานสดใสจากประเทศที่ว่ากันว่าผู้คนเจ้าระเบียบและเคร่งเครียดมืดทะมึนที่สุดประเทศหนึ่งในโลก เป็นความมีชีวิตชีวาคาวาอี้ที่คำนวณสัดส่วนองศาพอเหมาะพอเจาะ เป็นระเบียบเรียบร้อยราวกับตั้งโปรแกรม เป็นความพอดีเป๊ะของความนิยมที่มาจากการคิดคำนวณ เป็นของปลอมที่ดูจริงแท้ เป็นของแท้ที่ดูจอมปลอม…

          แต่หากเราไม่ลืมว่าโลกนี้มันก็ซับซ้อนและแบ่งซ้าย-ขวา ดำ-ขาวไม่ได้ มันก็คงไม่แปลกอะไรอีกนั่นแหละถ้าคนที่จริงจังสุดๆ จะเป็นคนเดียวกับที่สดใสให้พลังแจ่มจ้าสุดๆ และถ้าวันคืนที่แสนหดหู่จะจุดไฟของจินตนาการขึ้นใหม่ และมนต์ขลังของญี่ปุ่นก็อาจไม่ทรงพลังได้ขนาดนี้หากไม่มีเงื่อนไขซับซ้อนสอดแทรกท้าทายเหล่านั้น เรื่องราวใน ญี่ปุ่นป็อป ที่เล่าโดยบรรจุเลือดเนื้อและน้ำเสียงของบรรดาเจ้าของประดิษฐกรรมแท้เหล่านั้นก็ราวจะยืนยันเรื่องนี้อย่างแข็งขัน

          รถจี๊ปของเล่นของมัตสึโซ โคสุเกะ จึงครองใจเด็กๆ ยุคหลังสงครามหมาดๆ รถจี๊ปที่แม้จะชวนให้นึกถึงอดีตที่ขื่นขมและกองทัพอเมริกัน แต่ก็เติมฝันให้เด็กน้อยมองเห็นจินตนาการอื่นๆ นอกเหนือไปจากการละเล่น “การประท้วงสมมติ” หรือ “อาชญากรรมสมมติ” ที่แปลงรูปมาจากสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญชินตาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

          อนิเมะและมังงะหลากรสหลายแนวจึงพุ่งทะยานไปทำความรู้จักคนทั้งโลกพร้อมเหล่าคาแรกเตอร์สีสันสดใส สัดส่วนไม่สมจริง มีพลังเหนือมนุษย์ ที่ชวนตั้งคำถามกับสังคมแห่งเทคโนโลยี ฉายพลังของการต่อสู้และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยคนตัวเล็กๆ ท้าทายต่ออำนาจและข้อจำกัดที่กรอบไว้

          ความคาวาอี้ การท้าทาย และเสียงของผู้หญิงจึงแผ่ขยายไปทั่วทั้งโลกอีกครั้งในโลกของผู้ชาย ผ่านตัวการ์ตูนน่ารักสดใสที่แปะลงไปบนข้าวของในชีวิตประจำวัน

          โลกของคนที่เหงาและเดียวดายแปลกแยกจึงยิ่งแจ่มชัดและเกิดสายใยเชื่อมโยงระหว่างความแปลกแยกแตกต่างเข้าด้วยกันบนโลกออนไลน์ไร้พรมแดน ด้วยวัฒนธรรมย่อยจากจินตนาการและความเป็นไปได้ไร้ที่สิ้นสุดของเหล่าผู้คนพังๆ ที่พยายามสร้างโลกใบใหม่ให้ตัวเองได้หลบหนีจากโลกจริง

“ท่ามกลางดิสโทเปียทางเศรษฐกิจในชีวิตจริงนี้ คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ได้หันเข้าหาจินตนาการภายในของตน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงให้กับการเติบโตของวัฒนธรรมและวัฒนธรรมย่อยแบบใหม่ๆ”

          เราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าครึ่งหนึ่งในความสำเร็จของวัฒนธรรมป็อปเมดอินเจแปนก็คือความพยายามอย่างกัดไม่ปล่อย สู้ไม่ถอย วินัยแน่วแน่ รวมถึงความมานะเข้าขั้นบ้าระห่ำของเหล่าผู้สร้างประดิษฐกรรมเหล่านั้นขึ้นมา

          แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกัน ว่าประดิษฐกรรมที่กลายเป็นเครื่องจัดส่งจินตนาการอันทรงพลังของทั้งโลก ย่อมไม่อาจงอกเงยมาจากผู้คนที่ปราศจากจิตวิญญาณอันจริงแท้ของความหวัง ความฝัน จินตนาการ และการขบถ

          และญี่ปุ่นมีสิ่งนั้นอยู่เต็มเปี่ยม

ญี่ปุ่นป็อป: ประดิษฐกรรมจากโลกที่นำเราไปก้าวหนึ่งเสมอ
เจ้าหนูปรมาณู หนึ่งในคาแรกเตอร์จากอนิเมะและมังงะที่ได้รับความนิยม
Photo: James Vaughan, CC BY-NC-SA 2.0, via Flickr

ไม่มีใครเป็นที่หนึ่งตลอดไป แต่ญี่ปุ่นก็ไม่เคยเป็นที่สอง

          แม้จะเป็นเรื่องราวเปี่ยมมนต์ขลังมลังเมลืองของวัฒนธรรมป็อปญี่ปุ่น ตลอดเรื่องราวของหนังสือก็เผยให้เห็นไปพร้อมๆ กันถึงปัญหาและความไม่ลงรอยมากมาย รวมถึงบาดแผลภายในของญี่ปุ่นที่ขาดวิ่นจากสงครามและวิกฤตเศรษฐกิจต่อเนื่องยาวนาน มาจนกระทั่งปัจจุบันที่วัฒนธรรมป็อปญี่ปุ่นถูกโถมทับด้วยคลื่นวัฒนธรรมลูกใหม่ๆ ทั่วโลก และระเบิดปัญหาในตัวมันเองออกมาเป็นอาชญากรรมและปัญหาสังคมมากมาย แต่พลังของเครื่องจัดส่งจินตนาการเมื่อหลายสิบปีก่อนก็ยังคงวนเวียนแนบสนิทกับวิถีชีวิตผู้คนต่อไป และฉายซ้ำขึ้นมาอย่างไม่ได้ตั้งใจครั้งแล้วครั้งเล่า

“…ระหว่างที่เขียนเล่มนี้ ผมได้พบผู้คนและเรื่องเล่าเยอะมากจนใส่ลงไปในเล่มได้ไม่หมด และทุกคนก็เชื่อมโยงกันอย่างไม่น่าเชื่อ เช่น วิศวกรนินเทนโดบอกว่าเขาตอบรับการสัมภาษณ์เพราะว่าผมเขียนเกี่ยวกับรถจี๊ป ซึ่งเขาชอบเล่นมากๆ เมื่อสมัยเด็ก และอยากรู้มาตลอดว่าใครเป็นคนคิดค้นมัน จุดเชื่อมโยงเล็กๆ เหล่านี้ทำให้ผมรู้สึกเหมือนได้รู้ความลับเบื้องหลังความเป็นไปของโลกเลย…”*

(*บางส่วนจากบทสัมภาษณ์ผู้เขียน ใน Bookscape, “Brief – ‘ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ใหญ่แค่ไหน จงอย่าหยุดเล่น’ – ถอดรหัสวัฒนธรรมป็อป (สร้างโลก) ฉบับเมดอินเจแปน กับ แมตต์ ออลต์,” bookscape.co/brief-pure-invention-matt-alt )

          ราวกับจะยืนยันว่าหัวใจของ ‘pure invention’ แบบญี่ปุ่นไม่ใช่การสร้างสิ่งแรกหรือสิ่งใหม่ ไม่ใช่การสร้างประดิษฐกรรมด้วยเจตจำนงยิ่งใหญ่ตั้งแต่ต้น แต่คือการสร้างสิ่งบรรจุจิตวิญญาณที่แตกต่าง ทำให้แม้เกมบอยจากนินเทนโดจะไม่ใช่เครื่องเล่นเกมพกพาเครื่องแรก แต่กลายเป็นตัวแทนของมนต์ขลังแห่งการเล่นเกมสำหรับทุกคน ทำให้เฮลโลคิตตี้ที่ไม่ใช่ตัวการ์ตูนแมวน้อยน่ารักตัวแรก กลายเป็นตัวแทนของความเป็นผู้หญิงข้ามยุคข้ามสมัย และทำให้วิถีชีวิตแบบญี่ปุ่น ประเทศหมู่เกาะห่างไกล กลายเป็นทั้งความประทับใจวัยเด็ก ความตื่นตาตื่นใจในวัยผู้ใหญ่ กลายเป็นสิ่งเชื่อมโยงเรากับผู้คนและโลกที่ไม่รู้จักอย่างน่าอัศจรรย์ กลายเป็นมีมแทนโลกอนาคตเกินเอื้อมที่คนทุกชาติทุกภาษาเข้าใจตรงกัน และเป็นภาพฝันทรงเสน่ห์แสนไกลที่นำเราไปก้าวหนึ่งสำหรับคนทั้งโลกเสมอไปอย่างไร้ข้อกังขา

ญี่ปุ่นป็อป: ประดิษฐกรรมจากโลกที่นำเราไปก้าวหนึ่งเสมอ
Photo: Nik on Unsplash

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก