สื่อสารประวัติศาสตร์ให้ป๊อปปูลาร์สนุกชวนคิดกับภาณุ ตรัยเวช – “เราต้องอนุญาตให้สังคมตั้งคำถามกับทุกเรื่อง”

2,207 views
8 mins
September 4, 2022

          ภาณุ ตรัยเวช คือ อดีตตัวแทนนักเรียนไทยที่ไปแข่งขันวิชาฟิสิกส์โอลิมปิกถึง 3 สมัย เขาสอบได้อันดับ 1 ทุนเล่าเรียนหลวง ก่อนบินลัดฟ้าไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ และได้รับปริญญาเอกด้านอุตุนิยมวิทยาและสมุทรศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (UCLA) สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

          ในอีกแง่มุมหนึ่ง ภาณุ เป็นนักเขียนที่มีผลงานนิยายและเรื่องสั้นเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ถึง 3 สมัย[1] รวมถึงผลงานเขียนแนวประวัติศาสตร์เล่มแรก ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หนังสือเนื้อหาเข้มข้น ขนาด 480 หน้า ซึ่งได้รับกระแสการตอบรับที่ดี ก่อนจะต่อยอดไปสู่เรื่องย่อฉบับการ์ตูนที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน นอกจากนี้ ภาณุ ยังผลิตผลงานเขียนแนวประวัติศาสตร์อีกหลายเล่ม เช่น America First รบเถิดอรชุน ประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 อ่อนโยนหนักหนาคือราตรี หนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของสตรีในอดีต 5 คน และผลงานเขียนไลท์โนเวลแนวประวัติศาสตร์ชุด Aesthetica สาวใช้กับปริศนาคดีศิลป์

          The KOMMON ชวนมาพูดคุยกับ ภาณุ ในฐานะนักสื่อสารเรื่องราวประวัติศาสตร์แง่มุมใหม่แก่สังคม พร้อมชวนขบคิดว่าแท้จริงแล้วประวัติศาสตร์คืออะไร ผ่านงานเขียนที่เจ้าตัวให้คำจำกัดความว่าเป็น ‘Popular History’

จากนักเรียนทุนสายวิทยาศาสตร์ คุณหันมาสนใจงานเขียนและเรื่องประวัติศาสตร์ได้อย่างไร

          ผมชอบอ่าน ชอบเล่า ชอบงานเขียนมาตั้งแต่เด็ก แล้วก็ชอบดูหนัง ชอบอ่านการ์ตูน แต่การสร้างหนังมีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อน หรือถ้าจะทำการ์ตูนก็ต้องวาดเป็น ซึ่งผมไม่ได้มีความสามารถด้านนั้น แต่สำหรับงานวรรณกรรมมันเป็นสื่อประเภทหนึ่งที่ทำได้ง่ายและผมก็สนุกกับมัน

          ผมมีความชัดเจนในตัวเองว่าชอบวิชาประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม ขณะที่เพื่อนๆ ไม่ค่อยมีใครชอบสักเท่าไหร่ ระหว่างที่ผมไปเรียนต่อต่างประเทศในด้านวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ และอุตุนิยมวิทยา ผมก็พยายามลงเรียนในรายวิชาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวรรณกรรมด้วย

วรรณกรรมเล่มโปรดในวัยเยาว์ของคุณคือเรื่องอะไร

          เล่มที่ผมชอบมากคือ Nation ของเทอร์รี แพร็ตเช็ตต์ (Terry Pratchett) วรรณกรรมกึ่งประวัติศาสตร์ว่าด้วยเรื่องราวของควีนเอลิซาเบธที่ 1 ก่อนขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ เธอต้องไปติดอยู่ที่เกาะกับอยู่เด็กคนหนึ่ง ซึ่งคนทั้งเผ่าตายหมดเลย เพราะถูกสึนามิถล่ม สองคนนี้จึงต้องช่วยเหลือกัน ฟันฝ่าอุปสรรคและเรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างไปด้วยกัน

          สิ่งที่ผมชอบมาก คือ ข้อสังเกตเกี่ยวกับโลกใหม่และการตั้งคำถามกับโลกเก่า แม้จะเป็นวรรณกรรมเยาวชนแต่ในเรื่องมีประเด็นหลายๆ อย่างที่น่าสนใจมาก เรื่องนี้ยังไม่มีการแปลเป็นภาษาไทย อาจเป็นเพราะเต็มไปด้วยมุกตลก ซึ่งอาจจะแปลให้เกิดอรรถรสได้ยาก

บางคนอาจมีความคิดว่าความรู้ระหว่างสายวิทย์กับสายศิลป์นั้นแยกกัน คุณมองเห็นความเชื่อมโยงของสองศาสตร์นี้อย่างไร

          ในความเห็นผมสองศาสตร์นี้เชื่อมกันแน่นอน จริงๆ แล้วพัฒนาการของวิทยาศาสตร์ ก็ดำเนินมาเป็นสเต็ป เหมือนเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราจะอธิบายว่าควอนตัมคืออะไร แบบให้เด็กๆ เข้าใจง่าย วิธีที่ดีที่สุดคือ การสอนประวัติศาสตร์ของสิ่งนั้น เล่าว่าลำดับการคิดค้นของพวกนี้มาจากไหน เริ่มต้นอย่างไร คือการใช้ประวัติศาสตร์ไปอธิบายความรู้ทางวิทยาศาสตร์

          ผมไม่ได้มีจุดเลือกชัดเจนระหว่างวิทยาศาสตร์กับประวัติศาสตร์ แต่ละอย่างมันก็มีข้อดีของมัน เวลาเขียนหนังสือเยอะๆ หมกมุ่นกับวรรณกรรมมากๆ การได้เปลี่ยนไปทำสมการ ทำงานวิทยาศาสตร์ หรือเขียนโปรแกรม มันก็ช่วยให้ผ่อนคลาย ในทางกลับกันเวลาทำงานวิทยาศาสตร์มากๆ รู้สึกเหนื่อย ก็อาจจะต้องเปลี่ยนไปอ่านหนังสือหรือเขียนอะไรบ้าง ผมเลยรู้สึกว่าต้องรักษาไว้ทั้งสองอย่าง

ผลงานหนังสือแนวประวัติศาสตร์เล่มแรกของคุณ มีที่มาที่ไปอย่างไร

          ตอนที่เรียนจบแล้วกลับมาทำงานที่เมืองไทย นอกจากงานด้านวิทยาศาสตร์ ผมก็ยังคงมีงานเขียนหนังสือ เขียนนิยาย เขียนเรื่องสั้นควบคู่กันไปด้วย แต่จุดที่ทำให้ผมหันมาสนใจงานเขียนด้านประวัติศาสตร์เต็มตัว คือ ประเด็นคำถามหนึ่งที่มีการถกเถียงกันของผู้คนในตอนนั้นว่า อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ มาจากการเลือกตั้งหรือเปล่า ซึ่งก็จะมีฝ่ายหนึ่งที่บอกว่าฮิตเลอร์มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นเราไม่ควรจะเชื่อใจคนที่มาจากการเลือกตั้งเสมอไป เพราะเราอาจเลือกคนแบบฮิตเลอร์มาก็ได้ ขณะที่อีกสายหนึ่งจะบอกว่าไม่ใช่นะ เรื่องราวของฮิตเลอร์มีอะไรที่ซับซ้อนและอยู่เบื้องหลังมากไปกว่าแค่การเลือกตั้ง

          โดยส่วนตัว ผมค่อนข้างชอบอะไรที่เกี่ยวกับเยอรมันอยู่พอสมควร เลยอยากจะเขียนหนังสือขึ้นสักเล่มหนึ่งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ประเทศเยอรมนียุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ซึ่งขณะนั้นมีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า สาธารณรัฐไวมาร์

          นอกจากการเขียนหนังสือ ผมยังเปิดแฟนเพจ Our History: เรื่อง เล่า เรา โลก เวลาไปค้นข้อมูลอะไรมา หรือเจออะไรน่าสนใจก็จะมาถ่ายทอดทางแฟนเพจควบคู่กันไป จนในที่สุดก็ออกมาเป็นผลงานหนังสือ ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างดี ก็เลยเขียนเกี่ยวกับเรื่องประวัติศาสตร์ที่น่าอ่าน น่าสนใจ ต่อมาเรื่อยๆ

ภาณุ ตรัยเวช นักเล่าประวัติศาสตร์แง่มุมใหม่สไตล์ Popular History
หนังสือ ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
ผลงานเขียนแนวประวัติศาสตร์เล่มแรกของ ภาณุ ตรัยเวช

คุณมีกลวิธีอย่างไรในการคัดเลือกและนำเสนอแต่ละเรื่องราวผ่านสื่อหลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ บทความ รายการพอดแคสต์ และยูทูบ

          ถ้าเป็นการจัดรายการทางยูทูบ พอดแคสต์ หรือเนื้อหาบนแฟนเพจ เนื้อหาจะเป็นเรื่องอะไรก็ได้ในชีวิตประจำวัน ที่เราชอบ รู้สึกว่าเล่าเรื่องแล้วสนุก หรือน่าจะมีคนสนใจก็จะหยิบมาเล่า ตัวอย่างเช่น การเล่าเรื่องสงครามดอกทิวลิป อันนั้นเป็นเนื้อหาประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับบอร์ดเกมซึ่งผมชอบอยู่แล้ว และผมมองว่าเป็นการทำงาน 2 ทาง ทั้งกับนักเล่นบอร์ดเกมที่ไม่ได้สนใจประวัติศาสตร์ และกับคนสายประวัติศาสตร์ที่อาจยังไม่เคยสนใจบอร์ดเกมมาก่อน

          แต่ถ้านำมาเขียนเป็นหนังสือจะละเอียดกว่า คือ จะต้องคิดว่าเรื่องนี้น่าสนใจและมีวัตถุดิบพอที่จะนำมาทำเป็นเนื้อหาหรือไม่ และสุดท้ายอยู่ที่ว่าเราชอบ อยากเล่า หรืออยากทำงานเรื่องนี้จริงๆ รึเปล่า เพราะการเขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง เราต้องอยู่ด้วยกันเป็นปีๆ ดังนั้นจึงต้องดูด้วยว่าเป็นเรื่องที่เรามีศักยภาพและเราเล่าได้ อีกอย่างหนึ่งคือ เรื่องที่เคยเขียนลงแฟนเพจแล้วมีคนสนใจ มียอดไลก์ ยอด Engagement เยอะ ก็จะทำให้เรารู้ว่าคนชอบเรื่องนี้ น่าเอาไปขยายต่อ

คุณเคยบอกว่างานเขียนแนวประวัติศาสตร์ของคุณเป็นแนว ‘Popular History’ อยากให้คุณช่วยอธิบายถึงคำจำกัดความนี้

          ในวงการหนังสือมีคำว่า ‘Popular Science’ ซึ่งเป็นเรื่องแนววิทยาศาสตร์ที่อ่านสนุก อ่านง่าย อย่างเช่น เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ ของ ยูวัล โนอาห์ แฮรารี เล่มนี้ก็ถือเป็นงาน Popular Science ถึงแม้ว่าอาจจะดูเป็นเชิงประวัติศาสตร์สังคม หรือเรื่องที่ดังมากอีกเล่มก็คือ ประวัติย่อของกาลเวลา ผลงานของสตีเฟน ฮอว์กิง

          บางคนอาจจะมองว่าหนังสือประวัติศาสตร์เป็นอะไรที่ Popular อยู่แล้ว ใครๆ ก็อ่านได้ แต่ผมว่าไม่จริงเสมอไป ตอนที่ผมเขียนเรื่อง ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มีคนถามผมว่าทำไมถึงไม่เลือกแปลหนังสือประวัติศาสตร์สาธารณรัฐไวมาร์สักเล่มหนึ่งแทน แต่เท่าที่อ่านเรื่องเหล่านั้นมา ผมกลับคิดว่าต่อให้แปลดีแค่ไหน ผู้อ่านที่เป็นคนไทยก็อาจจะไม่สนุก หรือไม่เข้าใจ เพราะไม่มีจุดที่ทำให้เกิดความรู้สึกเชื่อมโยงได้

          เวลาเราอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ตะวันตก บางเรื่องอาจเป็นเรื่องพื้นฐานซึ่งคุณต้องรู้ ถ้าคุณเป็นนักเรียนชาตินั้น แต่ว่าบางทีเราไม่ได้เรียนรู้อะไรแบบนั้น ดังนั้น การอ่านเรื่องประวัติศาสตร์ที่ีแปลมา บางครั้งอาจไม่ได้อรรถรสจริงๆ และไม่เกิดความเข้าใจด้วย ผมเลยตั้งใจที่จะเขียนให้อ่านง่าย และได้อรรถรสสำหรับคนไทย เลยเรียกสิ่งนี้ว่าเป็น Popular History

คุณมีเทคนิคอย่างไรในการเขียนเรื่องประวัติศาสตร์ให้อ่านง่ายและได้อรรถรส

          บางทีมันไม่น่าสนใจถ้าเรารู้แค่เพียงว่า มีอะไรเกิดขึ้นในอดีต แต่จะน่าสนุกกว่าถ้ามองเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตเรา หรือเชื่อมโยงอะไรกับสังคมในปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้เราสามารถเอามาเล่าให้น่าสนใจขึ้นได้ เรื่องบางอย่างที่เป็นรายละเอียดเล็กน้อยมาก คนต่างชาติอาจไม่ได้สนใจ แต่ว่าในสายตาของคนไทย สิ่งนั้นอาจจะเป็นอะไรที่สนุกและเชื่อมกับเราได้

          ตัวอย่างเช่น ในงานเขียนของผม เรื่อง อ่อนโยนหนักหนาคือราตรี ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับนักเขียนหรือศิลปินหญิงที่มีชื่อเสียง หนึ่งในคนที่ผมหยิบมาเล่าถึง คือ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ[2] ผมเลือกเปิดเรื่องด้วยเหตุการณ์ที่ ลีโอนาร์ด วูล์ฟ สามีของเธอต้องมาทำงานที่ประเทศศรีลังกา เล่าการใช้ชีวิตของเขา ว่าเขาเจออะไร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ยังไงบ้าง

          มีคนถามว่าทำไมต้องเปิดเรื่องด้วยซีนนี้ สำหรับผม ผมไม่อยากเปิดเรื่องในอังกฤษ ในเวลส์ หรือที่อื่นๆ ที่ไกลจากเรา แต่ศรีลังกาคือประเทศที่อยู่ใกล้เรา มันก็ช่วยดึงเรื่องให้ใกล้ประเทศเราขึ้นมาหน่อย แค่นี้เราก็จะรู้สึกเชื่อมโยงได้ดีขึ้น สนุกขึ้น แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นแอฟริกา ผมก็คงไม่เลือกที่จะเล่าถึงเพราะมันอยู่ไกลตัวเราออกไป รายละเอียดอะไรพวกนี้ที่ผมคิดว่าช่วยได้

ภาณุ ตรัยเวช นักเล่าประวัติศาสตร์แง่มุมใหม่สไตล์ Popular History
หนังสือชุด อ่อนโยนหนักหนาคือราตรี โดยภาณุ ตรัยเวช มีเนื้อหาเกี่ยวกับศิลปิน นักเขียน นักร้องหญิงที่มีชื่อเสียงในอดีต 5 คน
ร้อยเรียงเข้าด้วยกันโดยการบอกเล่าผ่านช่วงเวลา ที่แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ช่วงละ 10 ปี

คุณมีความคิดเห็นยังไงกับความเห็นที่ว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของอดีต น่าเบื่อ หรือเป็นเรื่องที่ตายแล้ว

          มักมีคำพูดติดปากหรือความยึดติดของคนบางคนว่า “ถ้าคุณเป็นสายประวัติศาสตร์ แปลว่าคุณต้องเป็นสายอนุรักษ์นิยม ต้องชอบอะไรเก่าๆ หรือคุณจะต้องเห็นด้วยกับการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยทุกอย่าง” แต่ผมรู้สึกว่ามันไม่จำเป็นเสมอไป และเอาเข้าจริงๆ แล้ว หลายครั้งสิ่งที่สังคมไทยเราเรียกกันว่า ประวัติศาสตร์มันเป็นโฆษณาชวนเชื่อมากกว่า หรือการเล่าสืบทอดต่อกันมา แล้วเราก็มาพุ่งเป้าว่าสิ่งนั้นคือประวัติศาสตร์ ยกตัวอย่างที่เคยเป็นประเด็นในช่วงหนึ่ง เช่น ประเด็นเขาพระวิหาร ที่มีคนลุกขึ้นมาสู้กัน ผมรู้สึกว่านั่นเป็นเรื่องที่ ‘อประวัติศาสตร์’ มากๆ (ไม่เป็นประวัติศาสตร์)

          ผมคิดว่าเราสามารถเป็นนักประวัติศาสตร์ที่มองข้ามอะไรพวกนี้ได้ ไม่ใช่ว่านักประวัติศาสตร์จะต้องอนุรักษ์ของเก่าอย่างเดียว หรือว่าเชื่อแต่สิ่งที่พูดต่อๆ กันมาอย่างเดียว แต่ประวัติศาสตร์น่าจะหมายถึง การบอกเล่าเรื่องราวที่เราได้ยินมา และนำมาตั้งคำถามว่าสิ่งที่เราได้ยินมามันจริงหรือเปล่า ถ้าไม่จริงยังไง หรือว่ามีแง่มุมไหนที่ยังไม่เคยมีใครพูดถึง และเราก็พยายามพูดถึงสิ่งเหล่านั้น

          ประวัติศาสตร์จะน่าเบื่อ ถ้าเป็นเรื่องที่ถูกนำมาเป็นเครื่องมือเพื่อโฆษณาชวนเชื่อบางอย่าง เพราะเราจะตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์ประเภทนั้นไม่ได้เลย เหมือนมีแต่ข้อเท็จจริงให้เรามานั่งท่องจำ ว่าปีนี้เกิดเหตุการณ์ตรงนี้ คนนี้ทำอะไร ซึ่งประวัติศาสตร์สไตล์นี้จะไม่ชวนให้คิดต่อ และไม่ชวนให้เราสร้างความเชื่อมโยงอะไรทั้งสิ้น ในขณะที่ผมมองว่า ถ้าเรามองประวัติศาสตร์ในแบบที่ตั้งคำถามชวนให้เราสงสัย ชวนให้เราใคร่ครวญในเรื่องต่างๆ ตั้งแต่อดีตแล้วโยงมาปัจจุบันได้ ผมคิดว่าเรื่องประวัติศาสตร์แบบนั้นจะเป็นเรื่องสนุก

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่ถูกบอกเล่าหรือบอกต่อกันมา อาจจะมีอคติหรือทัศนคติส่วนตัวแฝงอยู่ เราควรพิจารณา หรือหลบหลีกทัศนคติเหล่านั้นอย่างไร

          เราอาจไม่ต้องหลบ เพราะว่าโดยนิยามประวัติศาสตร์ คือ สิ่งที่เกิดไปแล้ว และหลายครั้งก็ไม่มีใครได้เห็น หรืออยู่ตรงนั้นเลยด้วยซ้ำ ผมมองว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่เอื้อต่อการที่คนหยิบเอามาเล่นหรือเล่าใหม่ในมุมมองของตัวเองได้ ไม่ว่าเราจะหยิบอะไรมาพูด มันก็จะต้องมีอุดมการณ์ การเมือง หรือความเชื่อแทรกอยู่ จึงไม่ใช่เรื่องที่เราต้องไปหลบเสียจนขยับเนื้อขยับตัวไม่ได้

          ผมเคยถกเถียงกับเพื่อนชาวต่างชาติในประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ มีญาติผู้ใหญ่ของเขาเคยไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วเราก็มาเถียงกันว่า เรื่องเล่าของคนที่เคยอยู่ในเหตุการณ์จะเป็นเรื่องจริงทั้งหมดเลยไหม คนรุ่นใหม่ๆ ที่ไม่ได้เข้าไปอยู่ตรงนั้นจะสามารถแยกแยะได้ไหม ซึ่งถ้าเรามาดูกันจริงๆ สมมติว่าคุณเป็นทหารไปร่วมรบ คุณคือคนที่อยู่ในสนามรบ แต่ในเวลาที่เราพูดถึงสงครามมันมีแง่มุมมากกว่าที่ทหารคนหนึ่งจะเห็น สำหรับข้อมูลจากประสบการณ์ตรง เราจะได้รับรู้ถึงความโหดร้าย รูป รส กลิ่น สี รายละเอียดต่างๆ ซึ่งมีคุณค่ามากๆ แต่ว่าก็ไม่ใช่ทั้งหมดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

          ผมคิดว่าสิ่งที่เป็นคีย์เวิร์ด คือ ‘ครอบคลุม’ เรื่องพวกนี้ตัดสินถูกผิดยาก และยากที่จะบอกว่าอะไรที่น่าเชื่อถือกว่ากัน สำหรับผมสิ่งที่รวบรวมรายละเอียดได้ครอบคลุมมากกว่าเป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือ แม้ว่าอาจจะไม่ได้ถูกต้องกว่าเสมอไป แต่อย่างน้อยเป็นสิ่งที่เราสบายใจที่จะเชื่อ เพราะว่าไม่ได้มองข้ามอะไรไปเลย

มีคำกล่าวของ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่ว่า “หากคุณไม่รู้ประวัติศาสตร์ก็ตาบอดข้างหนึ่ง แต่ถ้าคุณเชื่อประวัติศาสตร์โดยไม่มีข้อกังขา คุณตาบอดสองข้าง” ในความเห็นของคุณ เราควรจะมีกระบวนการอะไร เพื่อทำให้การรับรู้ประวัติศาสตร์เปิดกว้างมากขึ้นในสังคม

          สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องอนุญาตให้สังคมตั้งคำถามกับทุกเรื่องให้ได้ หมายถึงว่า ถ้าเราสงสัยอะไร เราคิดว่าอะไรที่ไม่ Make Sense เราก็ต้องสนับสนุนให้คนตั้งคำถามกับสิ่งนั้น ผมคิดว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้การเรียนรู้ ซึ่งไม่ใช่แค่ด้านประวัติศาสตร์อย่างเดียวแต่หมายถึงทุกด้าน ถึงจะสามารถก้าวไกลและเฟื่องฟูขึ้นมาได้ ถ้ามองไปที่เด็กรุ่นใหม่และสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ผมมองว่าเป็นไปได้ เพราะคนหนุ่มสาวปัจจุบันรู้จักตั้งคำถามใหม่ๆ ขึ้นมาเยอะมากกับเรื่องราวรอบตัว เพราะฉะนั้นผมก็รู้สึกว่าฝากความหวังไว้กับพวกเขาได้

          ความเห็นของผม ในอนาคตประวัติศาสตร์แบบตรงทื่อจะมีบทบาทน้อยลงไปเรื่อยๆ ในสังคม คือไม่หายไปหรอก ยังไงก็ยังต้องมีอยู่ มีพื้นที่เป็นพื้นฐานข้อมูลที่เราใช้สอนเด็กๆ แต่ผมก็หวังว่าพอพวกเขาเริ่มโตขึ้น เริ่มฟอร์มความคิดเป็นของตัวเอง จะถึงจุดที่สามารถพูดถึงประวัติศาสตร์ ด้วยการสงสัย ตั้งคำถาม และพยายามตอบคำถามในเรื่องต่างๆ มากขึ้น


เชิงอรรถ

[1] นวนิยาย  เด็กกำพร้าแห่งสรวงสวรรค์ เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ปี 2549, รวมเรื่องสั้น วรรณกรรมตกสระ ได้รับรางวัลดีเด่น Young Thai Artist Award ครั้งที่ 1 และเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ปี 2551, นวนิยาย คดีดาบลาวยาวแดง เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ปี 2555

[2] เวอร์จิเนีย วูล์ฟ เป็นนักเขียนและผู้สนับสนุนสิทธิสตรีชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียง และมีบทบาทสำคัญในแวดวงวรรณกรรม ยุคศตวรรษที่ 20


ที่มา

Cover Photo : Our History: เรื่อง เล่า เรา โลก

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก