‘นอร์แมน ฟอสเตอร์’ ผู้ออกแบบ ‘สมองแห่งเบอร์ลิน’ สถาปนิกที่เชื่อมั่นในพลังสร้างสรรค์ของคนหนุ่มสาว

1,372 views
8 mins
May 18, 2022

          ปลายศตวรรษที่ 20 ย่างเข้าศตวรรษที่ 21 เป็นยุคที่สถาปัตยกรรมห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ และแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ได้เริ่มก้าวข้ามไปจากขนบการออกแบบเดิมๆ มันจะไม่ใช่พื้นที่ที่ผู้คนเดินเข้าไปรับความรู้อย่างเชื่องๆ เหมือนในอดีตที่ผ่านมา แต่เป็นยุคซึ่งพื้นที่ (space) ถูกออกแบบเพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายของผู้คนในสังคมอนาคต 
          เมื่อแหล่งเรียนรู้คลายความศักดิ์สิทธิ์ลง กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตอย่างใกล้ชิด จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกเลยที่วันนี้คนจำนวนหนึ่งไปที่พิพิธภัณฑ์หรือห้องสมุดเพื่อจัดการแสดงทางวัฒนธรรม งานเทศกาล นัดเจรจาทางธุรกิจ สร้างสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งจัดงานแต่งงาน ในขณะเดียวกันสถานที่เหล่านั้นก็ยังคงรักษาบทบาทในการให้บริการด้านการเรียนรู้และสารสนเทศไว้อย่างเหนียวแน่น 
          แหล่งเรียนรู้ยุคมิลเลนเนียมสามารถออกแบบให้มีรูปลักษณ์ที่แปลกใหม่และมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว ส่วนหนึ่งก็เพราะวิทยาการด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมที่ก้าวหน้ามากขึ้น และส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยก็คือนักออกแบบซึ่งต้องตีโจทย์ทำความเข้าใจวิถีชีวิตของชุมชน จนกระทั่งแปรจินตนาการที่กว้างไกลให้กลั่นตัวเป็นสถาปัตยกรรมที่น่าจดจำ 
          ซีรีส์ชุด “เบื้องหลังความคิดและจินตนาการของนักออกแบบแหล่งเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21” จำนวน 6 ตอน นำเสนอเรื่องราวและผลงานเจ้าของไอเดียแหล่งเรียนรู้ที่โดดเด่น 7 ราย ได้แก่ เร็ม คูลฮาส (Rem Koolhaas) โจชัว ปรินซ์-รามุส (Joshua Prince-Ramus) อึน ยัง ยี (Eun Young Yi) แฟรงก์ โอเวน เกห์รี (Frank Owen Gehry) ซาฮา ฮาดิด (Zaha Hadid) นอร์แมน ฟอสเตอร์ (Norman Foster) และโตโย อิโตะ (Toyo Ito)

‘นอร์แมน ฟอสเตอร์’ ผู้ออกแบบ ‘สมองแห่งเบอร์ลิน’ สถาปนิกที่เชื่อมั่นในพลังสร้างสรรค์ของคนหนุ่มสาว
นอร์แมน ฟอสเตอร์ (Norman Foster)
Photo: www.fosterandpartners.com

          นอร์แมน ฟอสเตอร์ (Norman Foster) สถาปนิกรุ่นใหญ่ชาวอังกฤษ เติบโตที่เมืองแมนเชสเตอร์ซึ่งเป็นศูนย์รวมประดิษฐกรรมที่ยิ่งใหญ่ของยุคอุตสาหกรรม พ่อของเขาเป็นแรงงานในบริษัท Metrovicks และเขตอุตสาหกรรม Trafford Park ซึ่งจุดประกายให้ให้ฟอสเตอร์สนใจงานด้านวิศวกรรมศาสตร์และการออกแบบ ครอบครัวของเขาเช่าบ้านหลังเล็กๆ อยู่ริมทางรถไฟ สำหรับเด็กชายคนหนึ่ง การนั่งอยู่ริมระเบียงมองรถไฟที่แล่นผ่านไปมา ได้นำพาจินตนาการโบยบินไปแสนไกล ใครจะคิดว่าวันหนึ่งเขาจะกลายมาเป็นนักออกแบบสถาปัตยกรรมล้ำโลก ตั้งแต่สนามบินที่ทันสมัย ท่าอากาศยานไร้คนขับ ท่าอวกาศยาน หรือแม้แต่แคมป์พักอาศัยบนดวงจันทร์

          ในวัยหนุ่มฟอสเตอร์มีโอกาสทำงานหลายแห่ง เช่น แผนกทรัพย์สินของสำนักงานเมืองแมนเชสเตอร์ซึ่งทำให้ได้รู้จักกับเพื่อนที่กำลังเรียนด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ กองทัพอากาศสหราชอาณาจักรซึ่งเขาได้เก็บเกี่ยวแรงบันดาลใจด้านอากาศยานอย่างเต็มเปี่ยม และต่อมาได้เป็นลูกจ้างแผนกสัญญาของบริษัทสถาปนิกในท้องถิ่น ซึ่งมีคนยุให้เขาลองทำพอร์ทฟอลิโอ (portfolio) เสนอฝีไม้ลายมือการวาด ปรากฏว่าเขาได้เลื่อนตำแหน่งให้ไปอยู่แผนกวาดภาพ จนกระทั่งต่อมาตัดสินใจสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยด้านสถาปัตยกรรม

          ฟอสเตอร์เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทสถาปนิกขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของโลก คือ Foster + Partners ผลงานการออกแบบในระยะต้นมักเป็นอาคารอุตสาหกรรม งานแหกคอกชิ้นแรกๆ คือการสร้างสำนักงานใหญ่ให้กับ Willis Faber & Dumas ซึ่งต้องการสถานที่ทำงานที่มีกลิ่นอายของความเป็นชุมชน หลังจากนั้นฟอสเตอร์ก็ได้รังสรรค์สถาปัตยกรรมสาธารณะอย่างต่อเนื่อง อาทิ หอศิลป์ Sainsbury Centre สะพานคนเดินข้ามแม่น้ำเทมส์ (Millennium Bridge) สนามกีฬาเวมบลีย์ (Wembley Stadium) และส่วนต่อเติมโถงระหว่างอาคารของ British Museum พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย The Carré d’art ในฝรั่งเศส ตำหนักแห่งสันติภาพและความปรองดอง (Palace of Peace and Reconciliation) ที่คาซัคสถาน

          ความสามารถของฟอสเตอร์ได้รับการการันตีด้วยรางวัลพริตซ์เกอร์ (Pritzker Prize) ซึ่งเปรียบได้กับรางวัลโนเบลของคนทำงานด้านการออกแบบ ฟอสเตอร์เชื่อว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการทำงานสร้างสรรค์ก็คือพลังพรสวรรค์ของคนหนุ่มสาว ดังนั้นตั้งแต่ปี 1967 จวบจนปัจจุบัน อายุเฉลี่ยของพนักงานบริษัท Foster + Partners จึงอยู่ที่ 32 ปีเท่านั้น

ลานระหว่างอาคาร British Museum ซึ่งไม่ได้มีการใช้ประโยชน์เท่าที่ควร ได้รับการออกแบบใหม่ โดยสร้างเพดานโปร่งแสงปกคลุม กลายเป็นห้องโถงที่มีชีวิตชีวา
ภาพภายนอกของลานระหว่างอาคาร British Museum ซึ่งไม่ได้มีการใช้ประโยชน์เท่าที่ควร ได้รับการออกแบบใหม่
Photo: www.fosterandpartners.com
Photo by Viktor Forgacs on Unsplash
บริเวณภายในลานระหว่างอาคาร British Museum จากการสร้างเพดานโปร่งแสงปกคลุม กลายเป็นห้องโถงที่มีชีวิตชีวา
Photo by Viktor Forgacs on Unsplash

ห้องสมุดอักษรศาสตร์ The Philological Library of Free University
เบอร์ลิน, เยอรมนี

          Free University ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1945 เพื่อฟื้นฟูการศึกษาด้านศิลปศาสตร์ในเบอร์ลินภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดของเมือง มีนักศึกษากว่า 39,000 คน ปลายศตวรรษที่ 20 มหาวิทยาลัยวางแผนบูรณะอาคารให้ทันสมัยขึ้น รวมถึงการสร้างห้องสมุดอักษรศาสตร์ (The Philological Library) แห่งใหม่ โดยบูรณาการเข้ากับอาคารเดิม ซึ่งเรียกว่า ‘Rostlaube’ (หรือ rusty shack อันเป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบหนึ่ง ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายยุค 60) อีกทั้งยังเป็นการควบรวมห้องสมุดด้านมนุษยศาสตร์ 10 แห่ง ที่แต่เดิมแยกกันอยู่อย่างกระจัดกระจาย

          นอร์แมน ฟอสเตอร์ ได้ออกแบบ “สมองแห่งเบอร์ลิน” เพื่อสะท้อนบทบาทของห้องสมุดในฐานะที่พึ่งทางสติปัญญาของเมือง อาคารมีรูปทรงโค้งคล้ายกะโหลกของมนุษย์ ภายในแบ่งออกเป็น 5 ชั้น แต่ละชั้นแบ่งออกเป็นฝั่งซ้ายและฝั่งขวา เหมือนกับการทำงานของสมองที่แบ่งออกเป็นสองฝั่ง ตรงกลางเป็นช่องบันไดเชื่อมชั้นต่างๆ และนำพาผู้อ่านไปยังโต๊ะนั่งทำงานหรืออ่านหนังสือ เพียบพร้อมไปด้วยอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ต ห้องสมุดแห่งนี้สามารถจุหนังสือได้ถึง 8 แสนเล่ม มีที่นั่งเรียงรายเป็นแถวริมขอบระเบียงรองรับผู้ใช้บริการได้ 650 คน เรียกได้ว่าเป็นอาณาจักรสำหรับหนอนหนังสือเลยก็ว่าได้

          The Philological Library เป็นหนึ่งในอาคารเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ก้าวหน้าที่สุดของฟอสเตอร์ โดยได้มีการวิจัยและทดลองถึงประสิทธิภาพในการลดการใช้พลังงานในสตูดิโออย่างเป็นระบบ ผนังของห้องสมุดถูกสร้างไว้ 2 ชั้น ชั้นนอกทำด้วยแผ่นอลูมิเนียม 60% และแผ่นกระจกอีก 40% เพื่อคงความแข็งแรงพร้อมกับใช้ประโยชน์จากแสงสว่างธรรมชาติ บางส่วนสามารถเปิดออกเพื่อนำอากาศจากภายนอกเข้าไหลเวียนภายในอาคาร ทำให้ห้องสมุดสามารถ “หายใจ” ผ่านช่องหน้าต่างที่เปิดปิดสลับกัน อีกทั้งยังมีการเดินท่อน้ำไว้ระหว่างผนังทั้ง 2 ชั้นซึ่งช่วยลดความร้อนของอาคาร ส่วนผนังชั้นในทำจากกระจกไฟเบอร์โปร่งแสงซึ่งช่วยกรองแสงอาทิตย์ให้นุ่มนวลลง

          ช่วงที่อากาศมีอุณหภูมิต่ำกว่า 6 องศา ผนังด้านนอกจะปิดทั้งหมดเหมือนกับรังไหม แล้วดึงอากาศอบอุ่นขึ้นมาจากห้องใต้ดิน ในขณะที่ช่วงเวลาส่วนใหญ่ของปีห้องสมุดสามารถเปิดรับอากาศจากธรรมชาติภายนอกด้วยการเปิดบานหน้าต่างผสมกับอากาศจากห้องใต้ดิน อาคารนี้จึงใช้พลังงานน้อยลงถึง 35% เมื่อเทียบกับอาคารที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกัน

          ที่นี่เป็นห้องสมุดมหาวิทยาลัยแห่งแรกของเยอรมนีที่มีบริการนำชมอาคารแต่ละชั้นด้วยอุปกรณ์หูฟัง เกี่ยวกับรายละเอียดการออกแบบสถาปัตยกรรม นวัตกรรมด้านการประหยัดพลังงาน และการจัดการพื้นที่ ผู้เยี่ยมชมยังสามารถนั่งพักผ่อนบนโซฟาในห้องเลานจ์ เพื่อรับชมวีดิทัศน์ซึ่งนอร์แมน ฟอสเตอร์ ได้บอกเล่าแนวคิดในการออกแบบอาคาร

The Philological Library of Free University
ภายใน ห้องสมุด The Philological Library ที่ได้รับแสงธรรมชาติพอดี
Photo: www.fosterandpartners.com

ห้องสมุดจอห์น สปัวร์ บรูม John Spoor Broome Library
แคลิฟอร์เนีย, สหรัฐอเมริกา

          ห้องสมุดจอน์น สปัวร์ บรูม (John Spoor Broome Library) เป็นส่วนหนึ่งของ California State University วิทยาเขต Channnel Island พันธกิจของวิทยาเขตนี้มุ่งเน้นด้านสหวิทยาการ การต่างประเทศ พหุวัฒนธรรม และบริการการเรียนรู้ ผ่านความร่วมมือระหว่างนักศึกษา คณะ และเจ้าหน้าที่ เพื่อสนับสนุนให้นักศึกษาเกิดทักษะการรู้สารสนเทศ (information literacy) และการเรียนรู้ตลอดชีวิต

          ห้องสมุดแห่งนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศจาก California Construction magazine ด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นในปี 2008 บางส่วนของห้องสมุดถูกสร้างขึ้นใหม่ และบางส่วนปรับปรุงจากอาคารเดิมซึ่งเคยเป็นโรงพยาบาลจิตเวชของรัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นอาคารเดียวของวิทยาเขตที่มีรูปลักษณ์ทันสมัย แกนของอาคารวางตรงกับทิศเหนือ ใต้ ตะวันออก และตะวันตก ชั้นที่ 1 และ 2 ให้บริการคอมพิวเตอร์ หนังสือ แท็บเล็ต และห้องเรียน ส่วนชั้นที่ 3 เป็นเป็นพื้นที่เรียนรู้นอกอาคาร เพดานห้องอ่านหนังสือทำด้วยกระจกซึ่งมีคุณสมบัติเป็นฉนวนกันความร้อน เพดานบางโซนทำเป็นม่านบานเกล็ดซึ่งช่วยกรองแสงสว่างเพื่อป้องกันไม่ให้แสงอาทิตย์สัมผัสหนังสือที่อยู่บนชั้นโดยตรง

          ห้องสมุดพยายามผสมผสานระหว่างลักษณะความเป็นขนบดั้งเดิมกับนวัตกรรม กายภาพกับภูมิปัญญา สิ่งพิมพ์กับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ การสอนกับการเรียนรู้ เป็นพื้นที่สำหรับการพบปะและไซเบอร์สเปซ (cyberspace) ซึ่งนักศึกษาสามารถแปรเปลี่ยนจินตนาการให้กลายเป็นความรู้ และที่ซึ่งหนังสือกระดาษและหนังสืออิเล็กทรอนิกส์อยู่ด้วยกันอย่างลงตัว ที่นี่มีหนังสือเล่มและหนังสืออิเล็กทรอนิกส์กว่า 230,000 รายการ วารสารและหนังสือพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ 20,000 รายการ ฐานข้อมูลต่างๆ คอลเลกชันไฟล์ภาพดิจิทัล หนังสือและสื่อการสอนสำหรับสำหรับเด็ก และคอลเลกชันพิเศษอีกหลายชุด

          อาคารห้องสมุดเป็นที่ตั้งของศูนย์การเขียน ศูนย์ทรัพยากรการเรียนรู้ และจุดให้คำแนะนำด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้วยการออกแบบพื้นที่และบริการซึ่งจูงใจให้ค้นคว้าและเรียนรู้ทั้งแบบรายบุคคลและเป็นกลุ่ม ห้องสมุดมีคอมพิวเตอร์ให้บริการ 130 เครื่อง รวมทั้งคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คสำหรับยืมกลับบ้าน และยังให้บริการยืมกล้องดิจิทัล กล้องวิดีโอ เครื่องบันทึกเสียง และเครื่องฉายภาพ แต่ละปีห้องสมุดจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้จำนวนมาก เช่น งานนักเขียนเยาวชนและนักอ่านรุ่นเยาว์ ถนนศิลปะ ฯลฯ และเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงในช่วงสอบ พร้อมกับมีการเสิร์ฟขนมและเครื่องดื่มตอนเที่ยงคืน นอกจากนั้นบรรณารักษ์ยังทำงานร่วมกับบุคลากรของคณะต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้มีการบรรยายโดยวิทยากรหลากหลายแขนงและการจัดอบรมความรู้เฉพาะทาง

John Spoor Broome Library
ห้องสมุดจอห์น สปัวร์ บรูม (John Spoor Broome Library) แคลิฟอร์เนีย, สหรัฐอเมริกา
Photo: www.fosterandpartners.com

ที่มา

Wikipedia. Norman Foster, Baron Foster of Thames Bank.

Klaus U. Werner, Monika Diecks. “The Brain” – The Philological Library, Free University of Berlin. (2004).

Wikipedia. John Spoor Broome Library.

ภาพ Cover : www.ralphrichter.com


เผยแพร่ครั้งแรก พฤษภาคม 2560
เผยแพร่ซ้ำ มกราคม 2562

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก