20 ปี ของความสุขกับการเดินทางของกะทิ และงามพรรณ เวชชาชีวะ

428 views
7 mins
January 30, 2024

          “แม่ไม่เคยบอกว่าจะกลับมา” คือคำโปรยบทแรกของหนังสือ ‘ความสุขของกะทิ’ ซึ่งจัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2546 เรื่องราวของเด็กหญิงกะทิวัย 9 ขวบ ที่อาศัยอยู่กับคุณตาคุณยายที่บ้านริมคลอง ภาพในบ้านไม่มีรูปของแม่ ไม่มีใครพูดถึงแม่ และกะทิจำหน้าแม่ไม่ได้แล้ว แต่กะทิก็คิดถึงแม่ทุกวัน จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อกะทิรู้ว่าแม่ป่วยและกำลังจะจากไป… เด็กคนหนึ่งต้องเผชิญกับความสูญเสียครั้งใหญ่ในชีวิต แต่เธอก้าวผ่านเหตุการณ์ทั้งสุขและทุกข์ ความผูกพันและการพลัดพราก ด้วยกำลังใจและความรักจากคนรอบข้าง

          เสน่ห์ของนวนิยายเรื่องนี้ คือ กลวิธีเล่าเรื่องด้วยภาษาเรียบง่ายแต่กินใจ ผู้เขียนค่อย ๆ เผยปมปัญหาผ่านมุมมอง รายละเอียด และเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่แทรกไว้อย่างละเมียดละไม เรื่องราวที่ไต่ระดับความเข้มข้น พาอารมณ์ผู้อ่านให้ติดตาม ร่วมประสบการณ์ และอิ่มเอมไปกับรสชาติของชีวิตที่แม้จะเศร้าแต่ก็งดงาม 

          หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลซีไรต์ประจำปี 2549 มีการแปลและเผยแพร่ในฉบับภาษาต่างประเทศมากมาย หลายคนอาจไม่รู้ว่า ‘ความสุขของกะทิ’ ยังมีภาคต่อมาอีก 3 ภาคด้วยกัน คือ ตามหาพระจันทร์ ในโลกใบเล็ก และเธอคือของขวัญซึ่งเป็นภาคสุดท้าย รวมถึงเรื่องราวยังถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน ออกฉายในปี 2552

          กว่า 20 ปีแล้วที่กะทิโลดแล่นอยู่ในความทรงจำของนักอ่านทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่าจำนวนไม่น้อย หลายคนมีกะทิเป็นเพื่อน และเติบโตมาพร้อมกับเด็กหญิงตัวน้อยคนนั้น สถิติการพิมพ์ซ้ำกว่าร้อยครั้ง คงเป็นเครื่องการันตีได้ดี The KOMMON ได้มีโอกาสนั่งคุยกับพี่เจน-งามพรรณ เวชชาชีวะ ผู้เขียน ถึงเรื่องราวว่าด้วย ‘ความสุขของกะทิ’ จากวันนั้นจนถึงวันนี้

หมายเหตุ : มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนในนวนิยายเรื่อง ‘ความสุขของกะทิ’ โดยงามพรรณ เวชชาชีวะ

สําหรับพี่เจนในฐานะผู้เขียน คิดว่า ‘ความสุข’ ของกะทิ คืออะไร

          พี่คิดว่าเป็นคําถามที่ตั้งมาตั้งแต่ตอนที่ตัวเองเริ่มเขียนว่า นิยามความสุขของแต่ละคนต่างกัน มีอะไรตรงไหนบ้างที่ทำให้เราคิดว่า คนคนนี้ที่ดูมีครบทุกอย่างตามความเข้าใจของคนทั่วไป เขาควรจะต้องมีความสุขใช่มั้ย หรือคนที่ขาดอะไรสักอย่างหนึ่งในชีวิตไม่มีสิทธิ์ที่จะมีความสุขใช่มั้ย เลยเป็นสิ่งที่ใส่อยู่ในเนื้อเรื่อง จําลองภาพของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่ได้อยู่กับแม่ เล่าเรื่องว่าเขาเองก็รู้สึกอยากเจอ คิดถึงแม่ตลอดเวลา

          ไม่รู้ว่าแบบนี้คือเขามีชีวิตที่มีความทุกข์ใช่มั้ย และการที่มีคนอื่นมาช่วยดูแล ช่วยให้เขามีชีวิตอยู่ได้ แค่นี้พอมั้ย แบบนี้จะเรียกว่ามีความสุขได้มั้ย เคยมีคนแซวพี่นะ ว่าคุณตั้งชื่อผิดรึเปล่า มันน่าจะเป็นเรื่องความทุกข์ของกะทิมากกว่า (หัวเราะ)

           เราต้องการคล้าย ๆ กับให้คนอ่านช่วยกันคิดว่า อะไรที่เรียกว่าความสุข อะไรที่เรียกว่าความทุกข์ ถ้าถามพี่ว่าความสุขของกะทิคืออะไร มันน่าจะเป็นคําถามปลายเปิดให้คนอ่านได้คิดเอง ตีความเอง วันนี้มาถึง 20 ปี เราเพิ่งเปิดแคมเปญให้คนเขียนจดหมายถึง ‘กะทิ’ ส่งเข้ามา พี่อ่านแล้วก็ตกใจเหมือนกันที่ทุกคนรู้สึกว่าการอ่านเรื่องนี้ทําให้เขามองหาความสุขในชีวิตของตัวเองว่าคืออะไร บางคนบอกว่าค้นพบ ‘กะทิ’ ของตัวเอง ซึ่งสําหรับคนเขียนก็ดีใจนะ ที่เราได้จุดประกายคําถามไป

           เพราะเราคงไปตีกรอบความสุขของใครคนหนึ่งไม่ได้ แต่ว่าท้ายที่สุดความรัก หรือความเข้าใจจะประคับประคองให้ชีวิตที่อาจจะไม่สมบูรณ์ได้มีความสุข หรือพี่เองมักจะใช้คำว่า ชีวิตที่พอรับได้ เพราะคงไม่มีใครสมบูรณ์แบบทุกอย่าง หรือแม้แต่ถ้าเขาสมบูรณ์แบบก็ไม่ได้การันตี หรือรับรองได้ว่าเขาจะมีความสุข

20 ปี ของความสุขกับการเดินทางของกะทิ และงามพรรณ เวชชาชีวะ

ชื่อหนังสือ ‘ความสุขของกะทิ’ มีที่มาอย่างไร

          พี่เป็นคนตั้งชื่อหนังสือไม่เป็น เราเขียนเสร็จแล้วก็เอาชื่อนี้ไปก่อนละกัน ซึ่งไม่ได้คิดว่ามันน่าจะเป็นชื่อหนังสือ เราหวังมากเลยว่าบรรณาธิการคงไปตั้งให้ใหม่ ต้องตั้งชื่อที่ดูเป็นชื่อหนังสือนิยายมากกว่านี้ การเดินทาง… อะไรแบบนั้น แต่ตัวเองคิดไม่ได้หรอก ไปหวังพึ่งบรรณาธิการว่าจะตั้งชื่อเก๋ ๆ ให้

          พอคุณเอ๋ บรรณาธิการ (เอ๋-อริยา ไพฑูรย์) บอกว่า พี่เจน เอ๋ว่าชื่อนี้ดีแล้ว เราก็แบบ คุณเอ๋ พี่ผิดหวังมากเลย เขาก็ถามทำไมล่ะคะ อ่านแล้วมันคือชื่อหนังสือเลยนะ เราก็เอ๊ะ จริงหรือ และก็กลายเป็นใช้ชื่อนี้มาจนวันนี้ ก็เกินความคาดหมาย พอมีคนบอกว่า มันใช่เรื่องราวความสุขของกะทิจริงหรือ เราก็นึกในใจว่าคงปฏิเสธไม่ได้เพราะเป็นคนตั้งชื่อนี้เอง แต่ตอนตั้งน่ะไม่ได้คิดมาก คิดในใจว่าเดี๋ยวคงโดนเปลี่ยน ปรากฏว่าบรรณาธิการบอกชื่อนี้ดีแล้ว (หัวเราะ)

หากลองให้พี่เจนมองผ่านสายตาของกะทิ พี่เจนคิดว่าภายใต้เรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้น กะทิค้นพบความสุขของตัวเองไหม

          เวลาเล่าเรื่อง พี่ใช้มุมมองแบบสมมติถึงเด็กอายุ 9 ขวบ พี่ว่าเด็กเขาไม่ได้มองอะไรสูงเท่าระดับสายตาผู้ใหญ่ เขามองประมาณนี้ (พี่เจนพูดพร้อมกับทำมือกะระยะความสูง) เพราะฉะนั้นความเข้าใจของเขาก็ไม่น่าจะเท่ากับผู้ใหญ่ แต่เราไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วเขาเห็นและคิดอะไร

          เราในฐานะผู้เขียนก็พยายามให้เรื่องราวดำเนินไป ไม่ได้เป็นการบอกเล่าแบบ 2+2 เป็น 4 เท่าไหร่ พยายามให้มีการเดินทาง เราเล่าเรื่องราวธรรมดาที่จริง ๆ แล้วเหมือนมีมิติซ้อนอยู่ เช่น เวลานั่งรถสองแถวไปโรงเรียน เราก็พยายามให้คนอ่านเข้าใจถึงความคิดที่ว่าตลอดเวลาเด็กคนนี้เห็นเพื่อนมีแม่ ตนเองก็อยากมีแต่ไม่ได้อยู่กับแม่ แต่ถามว่ามันทุกข์มากจนถึงขนาดไหน เราก็ทําให้เห็นว่า มันก็ไม่มากหรอกนะ

          เด็กเขามีธรรมชาติของความเป็นเด็ก บวกกับความเข้าใจ ความรักของคนรอบข้างที่มอบให้ก็น่าจะช่วยชดเชยได้ แต่เรื่องก็เล่ามาถึงจุดที่เขาต้องตัดสินใจว่าจะไปพบแม่มั้ย ซึ่งอันนั้นก็เป็นเรื่องเศร้าและเป็นความทุกข์ที่เขาต้องเจอ เรื่องนี้เป็นทำนอง Coming of Age เด็กคนหนึ่งเมื่อผ่านประสบการณ์หนึ่ง มุมมองและโลกทัศน์เขาจะโตขึ้นขนาดไหน การต้องไปรู้จักแม่มากขึ้น การตัดสินใจว่าอยากเจอพ่อมั้ย ทุกอย่างเป็นสิ่งที่ทําให้เขาเปลี่ยนแปลง
          เพราะงั้น ถามว่าตัวกะทิเองก็คงมีความคิดหลากหลายตามอารมณ์ของเรื่องราวที่ผ่านเข้ามา โดยเฉพาะในภาคต่อ ๆ ไป เราก็ทําให้เห็นภาพว่าเขามีเพื่อน มีเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว แต่ในภาคแรกเนี่ยเขาก็ค่อนข้างอยู่กับตัวเอง เราก็พยายามใส่ให้เห็นว่าเขาเป็นเด็กช่างคิด ช่างสังเกต แล้วก็รับรู้ถึงสิ่งที่ตัวเองไม่มี

          มันก็จะเป็นโชคดีของกะทิ ถ้าเขาคิดได้ว่าเขาโชคดีที่มีอะไร ถ้าเขาไม่คิดว่าเขาได้อะไรมาชดเชยความไม่มี ชีวิตของเขาก็คงหาความสุขได้ยาก ซึ่งสุดท้ายเราก็ไม่ได้บอกตรง ๆ ว่าเขาทําได้หรือทําไม่ได้ เลยเป็นตัวละครที่ทุกคนคาดหวังว่าจะพบกับความสุข

20 ปี ของความสุขกับการเดินทางของกะทิ และงามพรรณ เวชชาชีวะ
Photo : แพรวสำนักพิมพ์

ผ่านเวลามากว่า 20 ปี จากกะทิเด็กหญิง 9 ขวบ จนกลายมาเป็นผู้ใหญ่อายุ 29 ปี กะทิเป็นยังไงบ้าง ยังมีความสุขอยู่ไหม

          ก็หวังนะคะ พี่เขียนภาคพิเศษ ‘เธอคือของขวัญ’ และแถมท้ายเติมเรื่องราว ‘เพียงรำพึงถึงเธอ’ สมมติให้กะทิอยู่ในเหตุการณ์ปัจจุบัน ถ้ากะทิสามารถนําสิ่งที่ตัวเองมีมาใช้ คือต้นทุนชีวิตของเขา กะทิมีต้นทุนชีวิตที่ค่อนข้างสูง เขาโตมาในครอบครัวที่เรียกว่าเป็นปัญญาชน มีคนที่สอนให้เขาได้รู้คิด เราก็ได้แต่หวังว่าในอายุ 29 ปี เขาคงจะรู้จักชีวิตมากขึ้นและสามารถรับมือสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมได้ เพราะมันก็เกิดความเปลี่ยนแปลงเยอะมากในช่วงที่ผ่านมา ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเขาจะใช้ชีวิตไปทิศทางไหน แต่การที่เขาเติบโตมาด้วยความรัก พี่ก็คิดว่าจะทําให้เขาสามารถอยู่ ณ ตอนนี้อย่างเข้มแข็ง

          เวลาเขียนนิยาย มีคนพูดบ่อย ๆ ว่าสุดท้ายตัวละครจะพานักเขียนไป เมื่อก่อนเราก็แปลกใจเวลานักเขียนบอกว่าตัวละครพาเรื่องไปดังนั้นจบอย่างอื่นไม่ได้หรอก เหมือนเราสร้างจุดเริ่มต้นให้เขาเติบโตแบบนี้ มีบุคลิกนิสัยแบบนี้ หรือว่ามีประสบการณ์แบบนี้แล้ว พอโตมาเขาจะกลายเป็นกะทิที่ไม่สนใจเพื่อนมนุษย์มันก็คงไม่ใช่ พี่ก็คิดว่ากะทิก็คงเติบโตเป็นอย่างดีเหมือนที่ผู้อ่านหลายคนวาดภาพไว้

ในภาคพิเศษที่เล่าเรื่องตอนกะทิเติบโตขึ้น ทําไมพี่เจนถึงเลือกให้กะทิสนใจการถ่ายภาพ

          เป็นคำถามที่ดีนะ พี่คิดว่ามันมาด้วยกันกับการที่พี่สร้างให้กะทิเป็นคนช่างสังเกต มีคนบอกว่าจริง ๆ แล้วก็คือพี่นี่แหละที่ช่างสังเกต ชอบมอง แล้วก็ไม่ค่อยพูด มีโลกส่วนตัว ก็เหมือนคนที่น่าจะชอบมองผ่านเลนส์ ซึ่งอาจจะเป็นภาพเคลื่อนไหว หรือภาพนิ่งก็ได้

          เวลาเราผูก Character ตัวละคร พอถึงจุดหนึ่ง อย่างเด็กก็ต้องมีจุดเลือกเรียนเนอะ ว่าจะเป็นเด็กสายวิทย์ เด็กสายศิลป์ อะไรอย่างนี้ คิดอยู่นานเหมือนกันว่ากะทิน่าจะไปทางไหนได้นะ ที่สําคัญก็คือ คนรอบตัวกะทิอยู่ในแวดวงที่ ถ้าเป็นสมัยนี้คงเรียกว่าทำเกี่ยวกับ Content ก็อาจจะช่วยพาให้กะทิสนใจด้านนี้ กะทิสนใจเรื่องการจัดดอกไม้เหมือนลุงตอง (เพื่อนสนิทของแม่กะทิ) แปลว่า ตาของเขาก็ต้องมองเห็นความงาม ดูเรื่ององค์ประกอบ พอเขาต้องมาถ่ายรูปเอง พี่เชื่อว่าเขาก็น่าจะได้ใช้ประโยชน์ขององค์ประกอบทางศิลปะพวกนี้ แต่ก็แล้วแต่ว่าเขาจะไปต่อยังไงนะ (หัวเราะ)

20 ปี ของความสุขกับการเดินทางของกะทิ และงามพรรณ เวชชาชีวะ
Photo : แพรวสำนักพิมพ์

ถ้าสมมติว่ากะทิไม่ได้เติบโตมาด้วยต้นทุนทางสังคมสูง ไม่มีญาติ ๆ คอยดูแลด้วยความรักและความเข้าใจ พี่เจนคิดว่ามุมมองของกะทิที่มีต่อโลกจะเปลี่ยนไปไหม

          มีหลายทฤษฎีเกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็ก บางคนก็เชื่อเรื่องดีเอ็นเอ หมายถึงว่าเขามีพื้นนิสัยเดิมเป็นแบบนั้นอยู่แล้ว หรืออาจจะเชื่อเรื่องของการเลี้ยงดูว่ามีส่วนชักจูงให้เขาไปในทางใดทางหนึ่ง พี่เชื่อว่ามีทั้ง 2 ส่วนผสมกัน ถ้าคนเลี้ยงมองออกว่าเด็กคนนี้จะไปทางไหนแล้วส่งเสริมได้ถูกทาง เขาก็คงไปได้ไกล ขณะเดียวกันถ้าดูออกว่าเด็กคนนี้อาจจะมีข้อด้อยด้านไหน แล้วก็ไปดูแลไม่ให้ข้อด้อยนั้นมีผลกับชีวิต เขาก็ยังไปได้อยู่

          เขาต้องได้รับการศึกษาที่เข้าถึงได้ พี่ยังเชื่อเหมือนเดิมว่า การศึกษา การเลี้ยงดู เป็นสิ่งที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งไปได้ไกลแค่ไหน เหมือนเราปลูกต้นไม้นั่นแหละ ถ้าเราไม่ได้ดูแล ไม่ได้เล็มกิ่งเลย เขาก็คงโตลามไปทั่ว แต่ถ้าเราคอยดูแล รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย แล้วก็เล็มกิ่งก้าน เขาก็คงออกมาเป็นต้นไม้ที่มีดอกมีผลให้เราชื่นชม เด็กก็เหมือนกัน

แปลว่าถ้ากะทิเติบโตในสังคมปัจจุบัน เรื่องราวของกะทิก็อาจจะเปลี่ยนไปจากเดิมหรือเปล่า

          ใช่ ทั้งเรื่องอาชีพ ทัศนคติในการใช้ชีวิต ค่านิยมในสังคม ทุก ๆ อย่างเปลี่ยนไปหมด เพราะฉะนั้น ก็เลยบอกว่ามีอย่างเดียวที่เราจะสอนเด็กได้คือ ให้เขารู้จักใช้ความคิด ให้มีปัญญา เวลาเราพูดถึงการเรียน เช่น การเรียนสายศิลปศาสตร์ คุณไม่ได้สอนให้มีความรู้เฉพาะทางนะ แต่สอนให้มีความคิด สามารถวิเคราะห์ใช้เหตุผลได้ เพราะเวลาเราไปทํางานจริง ๆ คุณก็รู้ว่าวิชาที่เราเรียนมา อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นแค่นั้นเอง เราสามารถปรับตัวเข้ากับเพื่อนร่วมงานได้ไหม เข้ากับเจ้านาย เข้ากับงานได้ไหม มันเป็นเรื่องของทัศนคติกับอีกหลายอย่าง ซึ่งสังคมเปลี่ยนเร็ว เรื่องพวกนี้ก็เปลี่ยนเร็ว ก็กลัวเหมือนกันว่ากะทิจะเชย ไม่เข้ากับยุคสมัยแล้ว แต่โชคดีที่เล่าอะไรกลาง ๆ ไว้ ก็เลยยังไม่ตกสมัยสักเท่าไหร่ ถ้าเป็นสมัยนี้กะทิไม่ต้องส่งจดหมายถึงพ่อหรอกนะ กดส่ง WhatsApp แล้ว (หัวเราะ)

หากให้ยกตัวอย่างจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตของกะทิ พี่เจนเลือกเหตุการณ์ใด และทำไมถึงเป็นเหตุการณ์นั้น

          พี่คิดว่าเหตุการณ์ใหญ่ในความคิดของกะทิ น่าจะเป็นวันที่คุณยายให้โอกาสว่าอยากจะไปพบแม่มั้ย ซึ่งยากกว่าตอนตัดสินใจว่าจะเขียนหรือไม่เขียนจดหมายถึงพ่ออีกนะ เป็นเรื่องท้าทายมาก ลองคิดดูว่าถ้าเราเป็นเด็ก 9 ขวบ อยากเจอแม่ทุกวัน พอมีคนบอกว่าจะพาไปหาแม่แต่ว่าแม่ป่วยอยู่ ถ้าเราโตกว่านี้เราอาจจะเลือกยากเหมือนกัน

          บางทีเราก็ตีความซ้อนว่า การที่คุณยายให้โอกาส ก็เพราะว่าคุณยายเลือกแล้วที่จะให้โอกาสเหมือนกัน ยายจะไม่ให้โอกาสนี้เลยก็ได้ ซึ่งในที่สุดกะทิก็ตัดสินใจที่จะไป เพราะก็คงอยากจะเจอแม่ด้วย แต่ไม่รู้ว่าแม่ที่ไปเจอจะลงเอยด้วยอะไรแบบไหน คนเขียนก็ใจร้ายอยู่นะ (หัวเราะ) มันเป็นการตัดสินใจ ถือเป็นเหตุการณ์ใหญ่

20 ปี ของความสุขกับการเดินทางของกะทิ และงามพรรณ เวชชาชีวะ

ความสูญเสีย เป็นส่วนสำคัญหนึ่งในเรื่องราวของกะทิ พี่เจนคิดว่าสิ่งนี้มอบอะไรให้คนอ่านบ้าง

          มีหลายคนบอกว่าเอาหนังสือเล่มนี้ไปให้เด็ก ๆ อ่าน บางอย่างอธิบายยากก็เลยใช้หนังสือเล่มนี้เล่า เคยมีคุณแม่คนหนึ่งเขียนจดหมายมาเล่าว่า เอาหนังสือเล่มนี้ให้ลูกอ่านเพื่อให้เด็กรู้ว่าในชีวิตจริงมีเรื่องของการสูญเสีย ฟังดูเศร้านะแต่ว่าก็จริง ครอบครัวอาจจะมีคุณตาคุณยายที่เสียชีวิต หรือว่ามีอาการป่วยแล้วผู้ใหญ่ก็ไม่รู้จะอธิบายให้เด็กฟังยังไง

          ข้อได้เปรียบของนิยายก็คือการจําลองอารมณ์ เขาบอกว่าบางทีมันก็เหมือนเวลาอ่านหนังสือท่องเที่ยว เราไม่เคยไปหิมาลัยแต่ว่าเราเคยอ่านหนังสือที่เขาเล่าถึงความสวยงาม อากาศบางเบาทำให้หายใจไม่ออก อะไรแบบนั้น เราอ่านแล้วก็ได้รับอารมณ์ร่วม

          ขณะเดียวกัน เวลาเราบรรยายถึงการเดินทางของอารมณ์มนุษย์ อารมณ์บางอย่างเราไม่เคยได้สัมผัสเรื่องจริงแต่เราสัมผัสผ่านการอ่าน เหมือนที่บางคนอ่านหนังสือแล้วร้องไห้ ซึ่งบางทีเราก็ไม่เคยเจอความรู้สึกแบบนั้นหรอก แต่ว่าเราเจอผ่านตัวละคร เพราะฉะนั้นก็เลยมีคนใช้หนังสือเล่มนี้ให้เด็ก ๆ สัมผัสความรู้สึกของการสูญเสียผ่านตัวละคร เพื่อว่าวันหนึ่งเขาเกิดความรู้สึกอย่างนั้นขึ้นมาจริง ๆ เขาก็เหมือนจะมีจุดยึดโยงว่าอารมณ์แบบนี้เขาเคยผ่านมาแล้วจากการอ่านหนังสือ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจากการอ่าน ข้อดีของการอ่านก็คือ ได้เดินทางด้วยอารมณ์ ได้เรียนรู้หาจุดเชื่อมต่อกับชีวิตได้

พี่เจนตั้งใจแต่แรกอยู่แล้วหรือเปล่า ว่าอยากให้เรื่องการสูญเสียเป็นประเด็นหลักในเนื้อเรื่องและถูกนำไปต่อยอด

          ไม่ เพียงแต่ตอนที่เขียนเรื่องมันก็หนีไม่พ้น เพราะเราไปวางให้แม่ไม่อยู่ เลยวาดภาพว่าต้องเป็นเรื่องของการเจ็บป่วยและลงเอยแบบนั้น มันเหมือนกับโยนก้อนหินลงไปในน้ำ เราไม่รู้เลยว่าหนังสือเล่มหนึ่งที่เราเขียนจะถูกเอาไปตีความอย่างไร เช่น มีคนไปตีความทั้งเรื่องบทบาทของผู้หญิง บทบาทของการเป็นแม่ การเป็นยาย เรื่องของการสูญเสีย เรื่องของความสุข เรื่องของเด็ก การเลี้ยงดูเด็ก ครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวอะไรแบบนั้น แต่ทั้งหมดคือภาพจําลอง ซึ่งถ้ามีคนเอาไปใช้ประโยชน์ได้ เอาไปเชื่อมต่อได้ ก็เป็นความดีใจของคนเขียน

เวลานักอ่านเขียนจดหมายมาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความรู้สึกของเขาที่มีจากการอ่านหนังสือเล่มนี้ พี่เจนรู้สึกอย่างไรบ้าง

          พี่น้ำตาไหลหลายรอบแล้วนะ ทุกคนเขียนมาด้วยความจริงใจในอารมณ์ ในแบบที่ว่าเขาเคยอ่านสมัยเป็นเด็กแล้วยังจํากันได้ เขียนมาเล่าว่าตอนเป็นเด็กอ่านแล้วรู้สึกอะไร ทําไมอ่านแล้วรู้สึกอย่างนั้น และเหมือนมีกะทิเป็นเพื่อนมาตลอด พี่ก็ดีใจที่ทางอมรินทร์ทําแคมเปญนี้ขึ้นมา

          ตอนเขามาชวนทำ เราก็ไม่รู้ ถามว่าเรามีแฟนคลับจริงหรือ น้อง ๆ ทีมงานก็บอกว่า อ้าว มีสิพี่เจน ตอนแรกเราก็ไม่ค่อยเชื่อว่าจะมีคนเขียนเข้ามา แต่พอได้อ่านจดหมายแต่ละฉบับต้องบอกตรงนี้เลยว่าซาบซึ้งมาก

20 ปี ของความสุขกับการเดินทางของกะทิ และงามพรรณ เวชชาชีวะ

สำหรับผู้อ่านที่เติบโตมาพร้อมกับกะทิและอาจจะยังไม่ค้นพบความสุขของตัวเอง พี่เจนคิดว่ากะทิจะบอกอะไรถึงพวกเขา

          มีคนบอกว่าชีวิตวัยเด็กจะส่งผลต่อชีวิตในวัยโตขึ้น บางคนอาจจะบอกว่าเรามีชีวิตวัยเด็กที่ไม่สมบูรณ์ มองย้อนหลังไปแล้ว เราไม่มีจุดอะไรในชีวิตที่ชุบชูใจ เข้าใจนะ แต่ว่าถ้าเมื่อไหร่เรารู้ว่าอะไรที่เราไม่มี แต่เรายอมรับถึงความไม่มีและยังก้าวต่อไปได้ เช่น ถ้ากะทิหมกมุ่นอยู่แต่เรื่องที่ว่าเขาไม่มีแม่ มันก็คงก้าวต่อไปไม่ได้ ประสบการณ์ทุกอย่างของทุกคนขึ้นอยู่กับตัวเขาเอง พี่ต้องพูดว่าถ้าเขาก้าวพ้นความไม่มีได้ เขาก็อาจจะถึงจุดที่วันหนึ่งจะเป็นผู้ให้กับผู้อื่นได้

          ในทางธรรมะก็จะพูดกันว่าถ้าเมื่อไหร่เรารู้ว่าที่มาของทุกข์คืออะไร ก็ถือว่าเราโชคดี มาได้ไกลแล้ว ถ้าเรารู้ว่าสิ่งไหนคือสิ่งที่สร้างความทุกข์ให้แก่เรา เราก็ต้องจัดที่ทางให้เขาดี ๆ เพื่อที่เราจะได้ก้าวต่อไป เพราะยังไงชีวิตก็ต้องก้าวต่อ เรื่องสุข ทุกข์ มันยาก เรามักจะพูดว่า ขอให้ใช้ชีวิตพอได้ พออยู่ได้ ไม่ทุกข์มาก ไม่สุขมาก

          เป็นกําลังใจให้ทุกคน และก็คิดว่ากะทิก็น่าจะเป็นตัวแทนของกําลังใจในรูปแบบหนึ่งที่ถ้าใครมาอ่านเรื่องราวนี้ก็อาจจะได้หยุดพักความทุกข์จริง ๆ เก็บความรู้สึกจากการอ่าน อาจจะเอาไว้ใช้ในวันที่ท้อแท้ หรืออาจจะเก็บเป็นความรู้สึกที่ดี ๆ เราก็จะดีใจ

ถ้ามองกลับมาที่ตัวพี่เจนเอง ความสุขของพี่เจน ณ วันนั้นที่เริ่มเขียนหนังสือเล่มนี้ จนกระทั่งวันนี้ยังเหมือนเดิมหรือมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปไหม

          ความสุขในตอนนั้น เรามีความฝันหรือไล่ตามความฝันของการเป็นนักเขียน ซึ่ง ‘ความสุขของกะทิ’ ก็คือฝันเป็นจริงนะ อย่างน้อยในความคิดคือได้เขียนเสร็จ ไม่ได้คิดต่อว่าจะได้รับรางวัล หรือว่าจะได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มีคนอ่านต่อเนื่องมาถึง 20 ปีต่อมา อันนี้ไม่ได้อยู่ในหัวแน่นอน อันนี้ไกลเกินฝัน แต่ว่าความฝันแรกที่อยากจะเป็นนักเขียนก็เป็นภาพความสุขที่อยู่ในหัวใจ แล้วมานั่งคิดดูว่าถ้าความสุขของกะทิครบรอบ 20 ปี แปลว่าพี่เป็นนักเขียนมา 20 ปีเหมือนกัน ก็เป็นเส้นทางอันยาวนาน

          ถ้าถามว่าความสุขยังเหมือนเดิมไหม ในเรื่องการทำงานก็ยังเหมือนเดิมนะ ยังพยายามจะหาอะไรที่มาท้าทายตัวเองให้เขียนต่อไป ยังเป็นความสุขอยู่

          ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวปีนี้พี่อายุ 60 ก็เลยเริ่มทําตัวเป็นคนในวัยเกษียณ (หัวเราะ) เพราะว่าหลายอย่างเราได้ปักหมุดมองไปว่าเราทำได้แค่นี้ เราคงไม่ทําอะไรแบบนี้อีกแล้วก็จบไป มองไปข้างหน้าว่าจากนี้จะทำอะไร มันก็จะมองอีกแบบนะ หลายอย่างที่มองว่า เอ๊ะ ไม่ต้องทําแล้วนี่ เพราะเราไม่ได้นึกอยากทํา ถ้าอย่างนั้นก็ต้องตัดออกไป ก็เลยมองว่าเป็นความสุขจากการปล่อยวาง  ลดความคาดหวังลงมาก็เป็นความสุขอีกแบบหนึ่ง

20 ปี ของความสุขกับการเดินทางของกะทิ และงามพรรณ เวชชาชีวะ
Photo : แพรวสำนักพิมพ์

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก