Museum of Sex ตอบสนองความใคร่(รู้)เรื่องเพศ ในมิติประวัติศาสตร์ วิวัฒนาการ และวัฒนธรรม

753 views
7 mins
May 4, 2023

          เมื่อพูดถึงอารมณ์ความรู้สึกทางเพศของมนุษย์ หลายคนมักมองว่าหัวข้อนี้เป็นเรื่องน่าอายที่ควรพูดคุยกันเฉพาะในที่ลับ ทั้งที่จริงๆ แล้วประเด็นนี้มีมิติที่หลากหลายและกระตุ้นความสนใจของผู้คนได้มากทีเดียว เพียงแต่เรามักสงวนท่าทีและไม่กล้าพูดเรื่องเพศอย่างตรงไปตรงมาเท่าไรนัก ทำให้หลายครั้งเกิดความไม่เข้าใจกันตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงระดับสังคม หรือบางทีประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศก็ถูกทำให้เลือนหายไป โดยไม่มีใครเก็บรวบรวมเรื่องราวเหล่านี้เอาไว้เป็นกรณีศึกษา

          ด้วยเหตุนี้ แดเนียล กลัค (Daniel Gluck) จึงก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้เพื่อความหลากหลายทางเพศ Museum of Sex ขึ้น เมื่อเดือนตุลาคม 2002 ที่ถนนฟิฟท์ อเวนิว (Fifth Avenue) ใจกลางนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นพื้นที่เก็บรักษาและนำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วิวัฒนาการ และประเด็นทางวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับเรื่องเพศของมนุษย์

          หลังเปิดทำการมากว่า 20 ปีและจัดนิทรรศการหมุนเวียนมาแล้วมากกว่า 40 งาน ก็มีข้อมูลอัปเดตล่าสุดที่น่าตื่นเต้นคือ ในฤดูใบไม้ผลิปี 2023 Museum of Sex จะมีสาขาน้องใหม่เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่งในเมืองไมอามี รัฐฟลอริดา โดยตั้งอยู่ในย่านอัลลาพัททาห์ (Allapattah) บนพื้นที่ขนาด 32,000 ตารางฟุตที่รีโนเวตมาจากโกดังสินค้า ภายในจะมีทั้งพื้นที่จัดนิทรรศการขนาดใหญ่ พื้นที่ขายสินค้าสำหรับผู้ใหญ่ และบาร์ ซึ่งร่วมออกแบบโดย Snøhetta สตูดิโอออกแบบที่มีชื่อเสียงจากนอร์เวย์ โอกาสนี้จึงอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักที่มาที่ไปและกิจกรรมต่างๆ ของมิวเซียมแห่งนี้ เพื่อให้เราขยับใกล้ความเข้าใจเรื่องเพศมากขึ้นกว่าเดิม

ทำไมการเรียนรู้เรื่องเพศถึงน่าสนใจ

          นอกจากเป็นกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่เกี่ยวข้องกับการดำรงเผ่าพันธุ์มนุษย์แล้ว ในหลายๆ ครั้งเรายังพบว่าพฤติกรรมและรสนิยมทางเพศมีความเชื่อมโยงกับประเด็นการเมืองด้วย ในบทความ Letter from the Founder บนเว็บไซต์ Museum of Sex แดเนียล กลัค เล่าถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เป็นส่วนหนึ่งในการจุดประกายให้เขาสนใจก่อตั้งมิวเซียมแห่งนี้ขึ้นมาว่า ในปี 1919 แมกนัส เฮิร์ชเฟลด์ (Magnus Hirschfeld) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเพศศาสตร์ชาวเยอรมันเชื้อสายยิว ได้ก่อตั้งสถาบันเพศวิทยา (Institute for Sexology) ขึ้นที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เพื่อศึกษาวิจัยรวมถึงให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโรคทางเพศและการแปลงเพศ นอกจากนี้เขายังมีบทบาทเป็นนักเคลื่อนไหวที่เรียกร้องเรื่องความเท่าเทียมทางเพศด้วย

          สถาบันเพศวิทยาเก็บรวบรวมงานศิลปะ ภาพถ่าย หนังสือ และต้นฉบับเกี่ยวกับการวิจัยเรื่องเพศหลายพันชิ้นไว้ที่ห้องสมุดใจกลางกรุงเบอร์ลิน แมกนัส เฮิร์ชเฟลด์ ถือเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการศึกษาเรื่องเพศที่สำคัญมากคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ แต่แทนที่จะได้รับการยกย่องให้เกียรติ เขากลับตกเป็นเป้าโจมตีในยุคที่พรรคนาซีมีอำนาจเด็ดขาดในการปกครองเยอรมนี ในเดือนพฤษภาคม 1933 ม็อบนักศึกษาลัทธินาซีได้บุกค้นห้องสมุดของสถาบันและเผาทำลายคอลเลกชันต่างๆ จนหมดสิ้น ซึ่งมีการสันนิษฐานว่านอกจากทำไปเพื่อต่อต้านเฮิร์ชเฟลด์ที่เป็นชาวยิวแล้ว ยังอาจเป็นไปได้ว่ากลุ่มม็อบต้องการทำลายหลักฐานการรักร่วมเพศของเจ้าหน้าที่นาซีหลายคนที่เคยเป็นคนไข้ของเฮิร์ชเฟลด์

ทีมงานเบื้องหลังมิวเซียมที่ไม่ธรรมดา

          แดเนียล กลัค เชิญนักวิชาการและนักประวัติศาสตร์ชั้นนำหลายคน มาร่วมเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาของ Museum of Sex โดยพยายามคัดเลือกผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและความสนใจหลากหลาย เพื่อให้ตอบโจทย์สำหรับพื้นที่เรียนรู้แห่งนี้มากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น

          ดอกเตอร์ทิโมธี เจ กิลฟอยล์ (Timothy Gilfoyle, Ph.D.) นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน ผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์และสังคมเมืองอเมริกันที่ Loyola University Chicago ผลงานโดดเด่นของเขาคือหนังสือ City of Eros: New York City, Prostitution, and the Commercialization of Sex, 1790-1920 ซึ่งได้รับรางวัล Allan Nevins Prize

          ดอกเตอร์จูน ไรนิช (June Reinisch, Ph.D.) ในช่วงปี 1982-1993 เธอรับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสถาบัน Kinsey เพื่อการวิจัยเรื่องเพศ เพศภาวะ และการสืบพันธุ์ และอาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยาและจิตเวชศาสตร์ที่ Indiana University หลังเกษียณอายุเธอได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้อำนวยการกิตติคุณและสมาชิกคณะกรรมาธิการของสถาบัน Kinsey

          โจน เนสเทิล (Joan Nestle) นักเขียนและบรรณาธิการ ผู้ร่วมก่อตั้ง Lesbian Herstory Archives หรือหอจดหมายเหตุเลสเบียน ในย่านบรูคลิน นครนิวยอร์ก ซึ่งถือว่าเป็นหอจดหมายเหตุที่รวบรวมคอลเลกชันเกี่ยวกับเลสเบียนไว้มากที่สุดในโลก

          นอกจากนี้ Museum of Sex ยังมีการประสานความร่วมมือกับมิวเซียมอื่นๆ แกลเลอรี สถาบัน และศูนย์การศึกษาเรื่องเพศอีกกว่า 50 แห่ง เพื่อสร้างเครือข่ายและพลวัตการเรียนรู้เรื่องเพศอย่างมีประสิทธิภาพให้เกิดขึ้น เรื่องราวที่ถูกนำเสนอในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จึงไม่ใช่การตีความฉาบฉวย หวือหวา แต่เป็นการนำเสนอแง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมที่หลากหลายเกี่ยวกับเรื่อง ‘เพศ’

เรียนรู้ความหลากหลายทางเพศในนครนิวยอร์ก

          นิทรรศการแรกที่เป็นหมุดหมายสำคัญในการเปิดตัว Museum of Sex จัดแสดงช่วงเดือนตุลาคม 2002 ถึงตุลาคม 2003 ในชื่อ NYC Sex: How New York City Transformed Sex in America เพื่อนำเสนอประวัติศาสตร์อันเร่าร้อนเกี่ยวกับเรื่องเพศในหลากหลายแง่มุมที่เกิดขึ้น ณ นครนิวยอร์ก ตั้งแต่ช่วงกลางคริสต์ศวรรษที่ 19 เป็นต้นมา นิทรรศการนี้ พาเราขุดคุ้ยประวัติศาสตร์ของการค้าประเวณี การคุมกำเนิด ข่าวใหญ่ที่เชื่อมโยงกับเรื่องทางเพศ ทั้งยังมีการจัดแสดงคอลเลกชันต่างๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกยึดและจัดอยู่ในประเภทสิ่งของลามกอนาจาร

          มีหลายประเด็นทางสังคมที่ถูกพูดถึงในเนื้อหานิทรรศการนี้ เช่น การสร้างเครือข่ายสนับสนุนเกย์และเลสเบียน ความสัมพันธ์นอกสมรสหรือการหย่าร้าง ความรักข้ามพรมแดนทางเชื้อชาติและศาสนา เพื่อชี้ให้เห็นว่านอกจากอัตลักษณ์ความเป็นหญิงเป็นชายแล้ว สังคมของเรายังมีวัฒนธรรมย่อยทางเพศอีกมากมาย ซึ่งควรถูกมองให้เป็นเรื่องปกติโดยไม่แบ่งแยกและทุกคนควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม

สิ่งประดิษฐ์ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ทางเพศ

          คอลเลกชันถาวรของ Museum of Sex นิวยอร์ก มีการรวบรวมสิ่งประดิษฐ์ที่บอกเล่าวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ทางเพศจากทั่วทุกมุมโลกกว่า 15,000 ชิ้น จัดแสดงภายใต้ชื่อนิทรรศการ Artifact (XXX): Selections from Secret Locations นิทรรศการนี้พาเราไปสำรวจอย่างใกล้ชิดว่าประเด็นเรื่องเพศถูกแสดงออกผ่านศิลปะ การออกแบบ และวิทยาศาสตร์อย่างไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น ไวเบรเตอร์รุ่นแรกๆ ของโลกที่ผลิตขึ้นในบริเตนใหญ่ รองเท้าดอกบัวของจีนที่บีบรัดจนกระดูกเท้าเสียรูป นิตยสาร Playboy ฉบับอักษรเบรลล์ ฯลฯ ข้าวของเหล่านี้สะท้อนถึงค่านิยม ความเชื่อ และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่และยุคสมัย แสดงให้เห็นอิทธิพลของเรื่องราวทางเพศที่แผ่กว้างมาตลอดช่วงเวลาของประวัติศาสตร์มวลมนุษยชาติ

ดำดิ่งสู่โลกสีชมพูของพอร์เทีย มันสัน

          นิทรรศการหมุนเวียนน่าสนใจล่าสุดของ Museum of Sex ที่เพิ่งเปิดตัวในช่วงต้นปีที่ผ่านมาคือ Portia Munson: The Pink Bedroom จัดแสดงระหว่าง 27 มกราคม ถึง 26 กรกฎาคม 2023 เป็นนิทรรศการของพอร์เทีย มันสัน (Portia Munson) ศิลปินทัศนศิลป์ชาวอเมริกันวัย 62 ปี ที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะขึ้นมาจากสื่อหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย จิตรกรรม ประติมากรรม และศิลปะ โดยประเด็นที่เธอสนใจเป็นพิเศษคือเรื่องสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมจากมุมมองสตรีนิยม

          ผลงานสร้างชื่อของมันสันคือ Pink Project จัดแสดงครั้งแรกในปี 1994 ที่ New Museum นครนิวยอร์ก โดยเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ Bad Girls ศิลปินนำข้าวของสีชมพูหลายพันชิ้นที่ถูกทิ้งมาจัดเรียงบนโต๊ะขนาดใหญ่ มีทั้งกิ๊บติดผม จุกนมหลอก เล็บปลอม หวี เซ็กซ์ทอย ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ของเล่น ผ้าอนามัยแบบสอด อุปกรณ์ในครัว และสิ่งของอื่นๆ อีกมากมาย ที่ผลิตขึ้นเพื่อตอกย้ำว่าผู้หญิงต้องคู่กับสีชมพู ซึ่งสื่อถึงความเป็นเด็กและความไร้เดียงสา สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของการตลาดในโลกทุนนิยมที่พยายามตีกรอบผู้หญิงผ่านการนำเสนอสินค้าเหล่านี้

          คอนเซปต์ Pink Project ถูกผลิตซ้ำอีกหลายครั้งหลายคราในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป บางครั้งก็จัดแสดงอยู่บนโต๊ะ ในตู้โชว์ กองเป็นเนินที่มุมหนึ่งของห้อง หรืออัดแน่นอยู่ในโลงแก้ว ทำให้มันสันมีโอกาสทำงานร่วมกับมิวเซียมและแกลเลอรีหลายแห่ง เช่น Yoshii Gallery, Bruce Silverstein Gallery, ARS ฟินแลนด์, SUNY Ulster, P·P·O·W Gallery, P·P·O·W Gallery, MASS MoCA และล่าสุดคือ Museum of Sex ที่เธอนำโลกสีชมพูมาจัดแสดงในรูปแบบของห้องนอน

Museum of Sex พื้นที่เรียนรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศใจกลางนิวยอร์ก
Photo : Museum of Sex/ Daniel Salemi

นิทรรศการเปิดตัว Museum of Sex ไมอามี

          อย่างที่เกริ่นไปตอนต้นว่า Museum of Sex ไมอามี จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2023 นี้ ทางมิวเซียมจึงได้มีการจัดเตรียม 3 นิทรรศการไฮไลต์ไว้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ

          นิทรรศการแรกคือ Hajime Sorayama: Desire Machines ผลงานของศิลปินชาวญี่ปุ่นชื่อดังระดับโลก ฮาจิเมะ โซรายามะ งานนี้จะมีการจัดแสดงประติมากรรม ‘Sexy Robot’ ความสูง 9 ฟุต จำนวน 4 ชิ้น พร้อมกับภาพวาดอีโรติกแนวโลกอนาคตและย้อนยุคที่ไม่เคยจัดแสดงที่ไหนมาก่อน เอกลักษณ์ของเขาคืองานศิลปะแบบไฮเปอร์เรียลลิสม์ที่มุ่งสำรวจความงามของร่างกายมนุษย์และเครื่องจักร.

Museum of Sex พื้นที่เรียนรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศใจกลางนิวยอร์ก
Photo : NANZUKA

          ถัดมาคือ Modern Sex: 100 Years of Design and Decency นิทรรศการที่รวบรวมงานออกแบบผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศตั้งแต่ทศวรรษที่ 1920 จนถึงปัจจุบัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของสินค้ากลุ่มนี้ ทั้งในแง่ของบรรจุภัณฑ์และการโฆษณา โดยมีชิ้นงานน่าสนใจจัดแสดงกว่า 500 รายการ

          ทั้งยังมี Super Funland: Journey into the Erotic Carnival นิทรรศการติดตั้งถาวรที่เคยเปิดตัวที่นิวยอร์กมาแล้วในปี 2019 แต่ที่ไมอามีจะมีการเสริมกิจกรรมใหม่เพิ่มขึ้นให้ปังยิ่งกว่าเดิม เป็นการบอกเล่าเรื่องราวของงานคาร์นิวัลสุดรื่นเริง ผ่านการใช้เกมอินเทอร์แอคทีฟเร้าอารมณ์

          Museum of Sex ไมอามี มุ่งหวังจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนชุมชนศิลปะที่มีชีวิตชีวาของเมืองชายหาดที่คึกคักไปด้วยแสงสียามค่ำคืน นอกจาก 3 นิทรรศการไฮไลต์แล้ว จึงมีคอลเลกชันและสิ่งประดิษฐ์อีกกว่า 20,000 ชิ้น ทั้งภาพถ่าย เครื่องแต่งกาย สิ่งประดิษฐ์ทางเทคโนโลยี หนังสือ จดหมายเหตุ และต้นฉบับสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องเพศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

เรียนรู้เรื่องเพศเพื่อเข้าใจตนเองและผู้อื่น

          หันกลับมามองที่ประเทศไทยของเรากันบ้าง หากสนใจศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านมุมมองเรื่องเพศแต่ไม่สะดวกบินลัดฟ้าไปไกลถึงนิวยอร์กหรือไมอามี ก็มีสถานที่อย่าง ‘พัฒน์พงศ์มิวเซียม’  (Patpong Museum) ในซอยพัฒน์พงศ์ 2 ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของถนนพัฒน์พงศ์ ย่านสถานบันเทิงเชิงวาบหวิวที่อยู่คู่กรุงเทพฯ มานับร้อยปี

          หรือหากต้องการพูดคุยเรื่องเพศในพื้นที่ปลอดภัย Day/Dm Cafe คาเฟ่เล็กๆ บรรยากาศอบอุ่นในย่านเยาวราชที่ขับเคลื่อนโดยนักเพศวิทยา ก็พร้อมเปิดประตูต้อนรับคนทุกเพศทุกวัย และมีการจัดกิจกรรมเวิร์กชอปเกี่ยวกับประเด็นทางเพศบ่อยครั้ง

          นอกจากนี้ เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ยังมีงาน GENDER FAIR 2023 ณ สโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจัดขึ้นเพื่อให้เป็นพื้นที่เรียนรู้และแลกเปลี่ยนเรื่องความหลากหลายทางเพศ

          จะเห็นว่าในไทยก็มีนักกิจกรรมที่รวมตัวกันขับเคลื่อนเรื่องความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศอย่างต่อเนื่อง หากสนใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อทำความเข้าใจตนเองและผู้อื่นมากขึ้น ก็ไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใดที่จะเข้าถึงพื้นที่เรียนรู้เหล่านี้ แม้จะมีความคิดเห็นหรือรสนิยมทางเพศแตกต่างกัน แต่เราเชื่อว่าทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเกื้อกูลโดยไม่จำเป็นต้องแบ่งแยก


ที่มา

บทความ “รู้จัก แมกนัส เฮิร์ชเฟลด์ บิดาแห่งเกย์ศึกษา” จาก thepeople.co (Online

บทความ Museum of Sex to open new outpost in Miami จาก edition.cnn.com (Online)

เฟซบุ๊ก Museum of Sex (Online)

เว็บไซต์ Museum of Sex (Online

เว็บไซต์ Portia Munson (Online)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก