มิตรบำรุงเมือง บำรุงความไฉไลให้ย่านเก่าเป็นมิตรและมีชีวิตชีวา

779 views
7 mins
March 9, 2023

          ทุกวันนี้ในกรุงเทพฯ มีพื้นที่ทรุดโทรมที่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพแฝงตัวอยู่หลายแห่ง เมื่อนำองค์ความรู้ด้านการพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่เข้ามาช่วยกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อดีตพื้นที่รกร้างก็เป็นเหมือนกับ ‘ห้องทดลอง’ ให้ศิลปิน และนักสร้างสรรค์ รวมถึงผู้เสพงานศิลป์มาร่วมเรียนรู้ด้วยกัน

          หนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจ คือโปรเจกต์ ‘มิตรบำรุงเมือง’ ที่ Urban Ally (เออเบิ้นอัลไล) หรือศูนย์มิตรเมือง ศูนย์ออกแบบและวิจัยเรื่องเมืองภายใต้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดร่วมกับเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 หรือ Bangkok Design Week 2023 ที่ผ่านมา

          โปรเจกต์นี้ต่อยอดมาจากโครงการพัฒนาย่านเมืองเก่าด้วยงานออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ ชื่อธีม ‘มิตรบำรุงเมือง’ สื่อความหมายถึง ‘ถนนบำรุงเมือง’ พื้นที่หลักที่กลุ่ม Urban Ally เลือกทำกิจกรรมกับดีไซน์วีค และยังสอดคล้องไปกับแนวคิดการรวมมิตรสหายทั้งคนในย่านและนอกย่านมาช่วยกันบำรุงเมืองให้ดีขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือชูจุดเด่นของย่านพระนครผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อสะท้อนภาพเมืองที่เป็นมิตรต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ส่งเสริมให้เกิดการต่อยอดพัฒนาอัตลักษณ์ของย่าน ผ่านงานออกแบบชุมชนเมือง รักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของย่านเมืองเก่าไว้ไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา และเพิ่มพื้นที่สาธารณะให้ทุกคนแวะเวียนมาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้

          ภารกิจของ Urban Ally จึงไม่ได้มีแค่การจัดกิจกรรมในงานดีไซน์วีค แต่ยังครอบคลุมไปถึงการเชื่อมโยงองค์ความรู้และงานวิจัยมาสู่การปฏิบัติการบนพื้นที่จริง เพื่อเปิดพื้นที่ใหม่ทางวิชาการและสร้างระบบนิเวศใหม่ให้กับการศึกษาเรื่องเมือง

เมืองอยู่ดี ที่ถูกละทิ้ง

          อาจารย์พี ดร.พีรียา บุญชัยพฤกษ์ ภาควิชาการออกแบบและวางผังเมืองชุมชน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และรองผู้อำนวยการศูนย์ Urban Ally บอกเล่าข้อมูลจากการทำวิจัยว่า นอกจากย่านเมืองเก่าจะมีประวัติศาสตร์และทุนทางวัฒนธรรมดั้งเดิมน่าสนใจหลายอย่างแล้ว ย่านเมืองเก่าในเขตพระนครถือว่าเป็นเมืองอยู่ดีใน 15 นาที ซึ่งหมายความว่าคนในชุมชนสามารถเดินทางไปทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น ไปสวนสาธารณะ ตลาด โรงพยาบาล หรือโรงเรียนได้ ภายในเวลาไม่เกิน 15 นาที

          ถึงจะเป็น ‘ย่านอยู่ดี’ แต่ผู้คนกลับย้ายออกจากย่านเป็นจำนวนมาก ทำให้บรรยากาศซบเซาและอาคารต่างๆ ถูกทิ้งร้างให้ทรุดโทรมอย่างน่าเสียดาย หากมีการฟื้นฟูความเป็นย่านขึ้นใหม่ และพัฒนาการใช้งานพื้นที่สาธารณะให้ตอบโจทย์ ก็น่าจะนำไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่เกิดประโยชน์กับชุมชนในระยะยาว และทำให้เมืองมีชีวิตชีวามากขึ้น

ฟื้นเมืองให้เป็นมิตรด้วยกิจกรรม

          หนึ่งในวิธีคลาสสิกที่ใช้ในการกระตุ้นเมืองให้มีชีวิตชีวา คือการใช้กิจกรรมด้านการท่องเที่ยว หรือวัฒนธรรม เพื่อหรือผลักดันให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ดึงดูดผู้คนเข้ามาเยี่ยมเยือน ก่อให้เกิดผลมาแล้วในหลายพื้นที่

          มิตรบำรุงเมือง ก็นับว่าเป็นกิจกรรมที่ฟื้นย่านที่เงียบเหงาให้มีความเคลื่อนไหวอีกครั้ง โดยพื้นที่จัดกิจกรรมหลักมีทั้งหมด 3 แห่ง ย่านแรกคือบริเวณมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ และหอประติมากรรมต้นแบบ กรมศิลปากร ซึ่งมีการจัดแสดงแสงสีเสียง การแสดง Contemporary Dance และศิลปะจัดวางที่ได้แรงบันดาลใจมาจากหอประติมากรรม รวมถึงมีเทศกาลภาพยนตร์ที่หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดร่วมกับภาคีเครือข่าย

           ส่วนที่สอง พื้นที่ลานคนเมือง ที่ถูกเนรมิตให้กลายเป็น Playing Room – พื้นที่ลานละเล่น ชักชวนให้คนกรุงมาสนุกไปกับการแสดงดนตรีจากคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร การแสดงดนตรีเปิดหมวกของเยาวชน การออกกำลังกายแบบไทยฟิตที่นำท่ารำไทยมาผสมผสาน กิจกรรมเต้นสวิง หนังกลางแปลง กิจกรรมเล่นสร้างเมืองสำหรับเด็ก

           และส่วนที่สาม ประปาแม้นศรี เป็นการชุบชีวิตพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่ถูกทิ้งร้างมานานกว่า 20 ปี ให้กลายเป็น Living Room – พื้นที่นั่งเล่นของคนเมือง ซึ่งมีทั้งการออกแบบแสง โชว์เคส เสวนา เวิร์กชอป ป๊อปอัพคาเฟ่ และกิจกรรมหลากหลายเกิดขึ้นตลอดระยะเวลาที่จัดงานดีไซน์วีค

ประปาแม้นศรีมีอะไรซุกซ่อนอยู่

          เมื่อนึกถึงพื้นที่ทรุดโทรมที่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ในเขตพระนคร หนึ่งในนั้นคือหอเก็บน้ำเก่าบริเวณแยกแม้นศรีที่ถูกทิ้งร้างมากว่า 20 ปี ในฐานะที่เติบโตและใช้ชีวิตในย่านแม้นศรี เมื่อมีโอกาสทำโปรเจกต์พัฒนาย่านเมืองเก่า ‘ประปาแม้นศรี’ จึงเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่อาจารย์พีรียาสนใจและอยากทดลองตั้งคำถามดูว่า แนวคิดเรื่องการออกแบบจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงพื้นที่ที่ถูกทิ้งร้างตรงนี้ยังไงได้บ้าง ไฮไลต์ของประปาแม้นศรีคือ ‘หอเก็บน้ำประปาแห่งแรกในประเทศไทย’ ซึ่งเป็นโครงสร้างที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีคุณค่าเชิงสถาปัตยกรรมไม่น้อยไปกว่าวัดวังใดๆ แม้จะปลดระวางจากการทำหน้าที่หอเก็บน้ำไปแล้ว แต่เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ซุกซ่อนอยู่ภายในนั้นก็ควรค่าแก่การศึกษาเรียนรู้และไม่ควรปล่อยให้เลือนหายไปตามกาลเวลา

          ก่อนหน้าที่ Urban Ally จะเข้ามาทำโปรเจกต์ ‘มิตรบำรุงเมือง’ พื้นที่ประปาแม้นศรีเคยถูกใช้ประโยชน์ชั่วคราวอยู่บ้าง เช่น เป็นศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งในมุมมองของนักสร้างสรรค์เล็งเห็นว่าประปาแม้นศรีมีศักยภาพที่จะพัฒนาไปได้ไกลกว่านั้น จึงริเริ่มจุดประกายให้เกิดความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ขึ้นในพื้นที่ ด้วยการระดมกำลังและพลังความคิดสร้างสรรค์เข้ามาเปลี่ยนพื้นที่ร้างให้กลายเป็น Living Room – พื้นที่นั่งเล่นของคนเมือง ภายใต้โจทย์สำคัญคืออยากให้คนที่มาร่วมงานเกิดการสร้างบทสนทนาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

สอดแทรกกระบวนการเรียนรู้ผ่าน Typography

          นอกจากกิจกรรมที่จัดขึ้นในย่าน โปรเจกต์ ‘มิตรบำรุงเมือง’ ยังพยายามสอดแทรกกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับย่านเมืองเก่าไว้ในทุกรายละเอียด อย่างโลโก้สวยเด่นสะดุดตาที่ออกแบบโดย ‘พจน์ อักษรสนาน’ หรือ อาจารย์ธีรวัฒน์ พจน์วิบูลศิริ จากกลุ่มเซียมไท้ ก็เป็นโลโก้ที่ไม่ธรรมดา นักออกแบบตัวอักษรมากฝีมือตีความโจทย์การออกแบบตัวอักษรให้สะท้อนอัตลักษณ์ของย่านเก่าแก่ที่เคยรุ่งเรืองในอดีต ด้วยการหยิบยืมรูปแบบตัวอักษรมาจากป้ายร้านรวง สถานที่สำคัญ วัดวาอาราม และสะพาน ตั้งแต่หัวถนนบำรุงเมืองไปจนถึงท้ายถนน

          รูปแบบตัวอักษรที่แตกต่างกัน สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายซึ่งเป็นอัตลักษณ์อย่างหนึ่งของย่านเมืองเก่าที่เดินทางผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน มองปราดแรกก็สัมผัสได้ถึงกลิ่นอายย้อนยุคและร่องรอยอดีตที่ปรากฏชัดผ่านงานออกแบบ

          ผลงานชิ้นนี้จึงไม่ได้ถูกใช้เป็นเพียงโลโก้เท่านั้น แต่ยังต่อยอดไปสู่การจัดนิทรรศการ ‘ฟอนต์บำรุงเมือง’ บริเวณประปาแม้นศรี ร่วมกับกิจกรรมอื่นๆ ที่บอกเล่าเรื่องราวของย่านอย่างถึงแก่น นอกจากจะนำ Typography จากป้ายบนถนนบำรุงเมืองมาจัดแสดงแล้ว ยังมีกิจกรรมที่ชักชวนผู้ชมให้เข้ามาเล่นสนุกกับตัวอักษรเหล่านี้ด้วย

ชักชวนนักสร้างสรรค์มาพำนักที่ย่านพระนคร

          ในแวดวงศิลปะ Artist Residency หรือ ศิลปินในพำนัก นับเป็นเครื่องมือสำคัญที่ได้รับความนิยมในหลายประเทศ โปรแกรมนี้คือการเชิญศิลปิน นักสร้างสรรค์ คิวเรเตอร์ หรือนักวิชาการไปใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหรือย่านใดย่านหนึ่ง และสนับสนุนทรัพยากรด้านต่างๆ เพื่อให้ศิลปินสร้างผลงานขึ้นมา ทำให้เกิดการสร้างสายสัมพันธ์และเกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ที่สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาวงการหรือพัฒนาเมืองได้

          เพื่อเติมให้โปรเจกต์ ‘มิตรบำรุงเมือง’ สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น Urban Ally จึงร่วมกับคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดทำโปรแกรมนักสร้างสรรค์ในถิ่นพำนัก (Creator in Residence) เชิญชวนนักสร้างสรรค์ 8 กลุ่ม ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ จากญี่ปุ่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และจีน มาทดลองใช้ชีวิตในย่านพระนคร เพื่อนำอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมมาต่อยอดเป็นงานศิลปะและงานออกแบบร่วมกับชุมชนย่านเมืองเก่า โดยเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาแต่ที่ผ่านมายังไม่ได้ถูกกระตุ้นด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์เท่าที่ควร และหลังจากนั้นผลงานก็จะถูกนำไปจัดแสดงที่ประปาแม้นศรี ชุมชนบ้านบาตร ร้านอิ่มในเมือง Once Again Hostel และ Double B Hostel

 พื้นที่ทดลองมองหาความเป็นไปได้

          บางคนอาจตั้งคำถามว่าโปรเจกต์หรืออีเวนต์ระยะสั้นอย่างดีไซน์วีค จะทำให้เกิดการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนได้จริงหรือ อาจารย์พีรียาให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ในอีกแง่มุมหนึ่งว่า การทำโปรเจกต์ขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาเมืองมีข้อจำกัดหลายอย่างที่ทำให้เกิดขึ้นได้ยาก แต่พอปรับลดสเกลลงมาเป็นพื้นที่ทดลองหรือแพลตฟอร์มชั่วคราว การประสานงานขอความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่ายก็เป็นเรื่องง่ายขึ้น หลังจากนั้นเมื่อพื้นที่เป็นที่รู้จักในวงกว้างและมีคนเห็นศักยภาพ ก็มีความเป็นไปได้ที่การพัฒนาต่อยอดจะเกิดขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงควรเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ค่อยๆ ผสมผสานกลมกลืนไปกับอัตลักษณ์เดิมของพื้นที่

          โปรเจกต์ลักษณะหนึ่งที่ในต่างประเทศนิยมทำกันเยอะมาก คือการนำพื้นที่หรืออาคารที่ถูกทิ้งร้างระหว่างรอการพัฒนามาสร้างสรรค์เป็นพื้นที่ Pop-up Activities เพื่อกระตุ้นให้เกิดความเคลื่อนไหวและเกิดประโยชน์ต่อชุมชนโดยรอบ เป็นโมเดลที่นำมาปรับใช้กับพื้นที่ ‘โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ’ ถนนบำรุงเมือง อดีตโรงพิมพ์เก่าแก่ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งในอนาคตอาจมีการปรับปรุงให้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ แต่ระหว่างรอการพัฒนาก็เปิดพื้นที่เป็นอาร์ตสเปซ โดยเริ่มใช้เป็นสถานที่จัดงานดีไซน์วีคเมื่อปีที่แล้ว และมีทีม Craftsman Roastery เข้าไปทำป๊อปอัพ คาเฟ่ชั่วคราวจนถึงสิ้นปี 2565 ในปีนี้แม้คาเฟ่จะโยกย้ายออกไปแล้ว แต่ยังมีสองนิทรรศการจากงานดีไซน์วีค ได้แก่ ธรรม-ทอง เล่าเรื่องย่านผ่านเรื่องทอง และ Dialogue ”_Between_”  ที่นำประวัติศาสตร์ของย่านและตัวอาคารมาเล่าใหม่ให้ร่วมสมัยยิ่งขึ้น

ร่วมคิดและสร้างเมืองแบบที่เราต้องการ

          หลายครั้งเรามักตั้งคำถามว่า “ทำไมเมืองถึงไม่เป็นแบบที่เราต้องการ” ในงานดีไซน์วีคที่ผ่านมา Urban Ally จึงชวนทุกคนมาระดมความคิดสร้างสรรค์ ร่วมลงมือทำบนโจทย์ที่ท้าทายว่า “จะทำอย่างไรให้เมืองน่าอยู่และเป็นไปในแบบที่เราคาดหวัง” และพยายามกระตุ้นให้เกิดการสร้างบทสนทนาในทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้น เชื่อมร้อยผู้คนเข้าสู่เครือข่ายแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน

          อย่างน้อยสิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นการจุดประกายให้สังคมเห็นความหวังว่า เมืองของเรายังดีกว่านี้ได้ และแน่นอนว่าเราไม่อาจฝากความหวังนี้ไว้กับใครเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นเราทุกคนที่ต้องลุกขึ้นมาช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ทำความรู้จัก Urban Ally เพิ่มเติมได้ที่ www.urbanally.org และ เพจ UrbanAlly.SU


ที่มา

เว็บไซต์ Bangkok Design Week 2023 (online)

เพจ Urban Ally (online)  

เว็บไซต์  Urban Ally (online)  

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก