‘ตู้ปันอ่าน’ และขบวนการ Little Free Library ตู้หนังสือริมทาง สร้างนักอ่านตลอดชีวิต

1,063 views
6 mins
February 8, 2022

          ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรง หลายประเทศมีนโยบายให้แหล่งเรียนรู้สาธารณะ เช่น ห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ ปิดให้บริการชั่วคราว เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อโรค แม้ว่าผู้อ่านจะมีทางเลือกในการรับข่าวสารความรู้ต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้คนจำนวนหนึ่งยังคิดถึงกลิ่นหนังสือ อยากออกจากบ้านไปพบเจอผู้คน และสัมผัสความรู้สึกที่ตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

          ในเมืองวิกตอเรีย รัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา ผู้ที่สัญจรไปมาจะสามารถสังเกตเห็น ‘ตู้หนังสือ’ ขนาดเล็กตั้งอยู่ข้างทาง กระจายอยู่ทั่วทุกหนแห่ง ทั้งหน้าบ้านคนทั่วไป โรงเรียน อาคารพาณิชย์ หรือในสวนสาธารณะ

          ตู้หนังสือเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะมีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเสกสรรค์ขึ้นมา ทว่าเกิดจากหัวใจของผู้รักในการอ่านที่ร่วมกันจัดหา คัดสรร แบ่งปัน และดูแลรักษา นำไปสู่เรื่องราวที่น่าประทับใจอีกนับไม่ถ้วน

หยิบ 1 เล่มไป นำ 1 เล่มใหม่มาคืน

          ปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ชาวเมืองวิกตอเรียต่างร่วมกันแสดงความยินดีกับ ‘ตู้ปันอ่าน’ ลำดับที่ 500 ของเมือง ซึ่งเป็นหลักไมล์ที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน

          ตู้หนังสือชุมชนไม่ใช่นวัตกรรมใหม่ ก่อนหน้านี้มันเคยถูกติดตั้งประปรายในแคนาดา แต่มักบรรจุหนังสือศาสนา แบบเรียนเก่า หรือหนังสือที่ชำรุด ซึ่งไม่ดึงดูดผู้อ่าน ขาดการดูแลเอาใจใส่ จนหมดความหมายกับผู้คนไปในที่สุด กระทั่งในปี 2016 ได้เกิดขบวนการห้องสมุดจิ๋ว ‘Little Free Library’ ในเมืองวิกตอเรีย ผู้คนจึงหันมาสนใจการทำตู้หนังสือเพื่อแลกเปลี่ยนกันอ่านมากขึ้นตามลำดับ

          Little Free Library เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ตั้งอยู่ในรัฐวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา มีภารกิจในการสร้างแรงบันดาลใจให้นักอ่าน และขยายการเข้าถึงหนังสือผ่านเครือข่ายอาสาสมัคร มีหลักการที่เข้าใจง่ายๆ ว่า ‘Take a Book – Leave a Book’ ปัจจุบันมีตู้แบ่งปันหนังสือที่จดทะเบียนกว่า 90,000 แห่ง ใน 91 ประเทศ (ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา) มีหนังสือถูกแลกเปลี่ยนนับล้านเล่มต่อปี

          ตู้แบ่งปันหนังสือในวิกตอเรีย เป็นตู้แฮนด์เมดที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกัน บางตู้ทำมาจากโต๊ะเก่า ตู้โทรศัพท์เก่า กล่องหนังสือพิมพ์ บางตู้ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ บางตู้หน้าตาเหมือนบ้านของผู้เป็นเจ้าของ นอกจากหนังสือที่บรรจุอยู่ภายใน บางตู้ยังมีเจลล้างมือ หน้ากากผ้า ของเล่น เมล็ดพันธุ์พืช ของที่ระลึก และอีกสารพัดสิ่งที่ผู้คนหยิบยื่นให้กันด้วยความปรารถนาดี

          องค์กร Greater Victoria Placemaking Network (GVPN) ได้พัฒนาระบบปักหมุดบอกพิกัดตู้แลกเปลี่ยนหนังสือไว้ในแผนที่ออนไลน์ ทั้งตู้ที่เปิดให้บริการแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำ ดร. ทีเอล เฟลป์ส บอนแดรอฟ (Teale Phelps Bondaroff) คณะกรรมการ GVPN ผู้มีส่วนในการพัฒนาแผนที่ดังกล่าว ตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงแรกเริ่ม ตู้แบ่งปันหนังสือมีอัตราการเพิ่มค่อนข้างคงที่ แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่ามีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ จนวิกตอเรียกลายเป็นเมืองที่มีตู้หนังสือหนาแน่นที่สุดในแคนาดา แม้บางตู้จะไม่ได้จดทะเบียนในนาม Little Free Library แต่ทุกตู้มีจุดร่วมเดียวกัน คือความพยายามทำให้คนในชุมชนสามารถเข้าถึงหนังสือได้มากที่สุด

‘แนวปะการัง’ ของชุมชน

          บอนแดรอฟจะใช้เวลาช่วงสุดสัปดาห์ปั่นจักรยานไปรอบเมืองเพื่อเติมหนังสือ สิ่งที่ไม่คาดคิดคือ เขามักจะได้พูดคุยกับคนแปลกหน้าที่เดินเข้ามาขอบคุณในสิ่งที่เขาทำ ทำให้เขารู้สึกว่าตู้แบ่งปันหนังสือเหล่านี้ ทำหน้าที่เป็นเหมือน ‘แนวปะการัง’ ของชุมชน เป็นจุดนัดพบที่ทำให้หนอนหนังสือได้มีโอกาสสนทนากันอย่างน่ามหัศจรรย์

          ดุลมา กรุณารัตน์ (Dulma Karunarathna) อาจารย์อาวุโสด้านโบราณคดีชาวศรีลังกา คือหนึ่งในคนที่ถูกชะตากับบรรดาห้องสมุดจิ๋วเป็นอย่างมาก เธอเล่าว่า เธอพบตู้แบ่งปันหนังสือครั้งแรกขณะเดินเล่นกับครอบครัวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2020 “ทีแรกฉันคิดว่ามันเป็นบ้านนก แต่เมื่อเข้าไปดูใกล้ๆ ก็แทบไม่เชื่อสายตาตัวเอง” แล้วเธอก็ตกหลุมรักตู้แบ่งปันหนังสือมานับตั้งแต่นั้น

          “ฉันเดินทั่วเมืองเป็นระยะทางมากกว่า 655 กิโลเมตร จนรู้จักถนนและเพื่อนบ้านจำนวนมาก รวมทั้งคุ้นเคยกับตู้หนังสือ 217 แห่งเป็นอย่างดี” สิ่งนี้จุดประกายให้เธอนำไอเดียนี้ไปปรับใช้ในประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของเธอบ้าง

          ไม่ใช่แค่คิด แต่เธอลงมือทำจนสำเร็จภายในเวลาเพียง 1 สัปดาห์ ใช้วิธีประสานงานออนไลน์เพื่อสร้างตู้แบ่งปันหนังสือ 3 แห่งในศรีลังกา ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากชุมชน ทุกตู้ได้รับการติดตั้งในเดือนกันยายนปี 2020 ในช่วงเวลาที่โรงเรียนส่วนใหญ่ต้องปิดชั่วคราวเพราะสถานการณ์โควิด-19 ภาพที่เกิดขึ้นคือเด็กๆ มายืนต่อแถวรออ่านหนังสือ ม้านั่งที่ได้รับการบริจาคแปรสภาพเป็นโรงเรียนกลางแจ้งชั่วคราว

          หลังจากนั้นไม่นาน เธอได้รับจดหมายจากแม่คนหนึ่ง เขียนมาขอบคุณที่ช่วยให้ลูกได้อ่านหนังสือแทนการดูทีวี ใจความท่อนหนึ่งระบุว่า “ฝันของฉันเป็นจริง… ฉันขอขอบคุณคนที่สร้างตู้แบ่งปันหนังสือในวิกตอเรีย”

          ในเวลาไล่เลี่ยกัน จอห์น เทรลฟอล (John Threlfall) นักเขียนท้องถิ่นซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองนี้มากว่า 30 ปี ตัดสินใจสร้างตู้แบ่งปันหนังสือไว้หน้าบ้าน เพื่อเติมเต็มความรู้สึกของตัวเองที่อยากจะสร้างทางเลือกสำหรับการเข้าถึงหนังสือฟรี

          ช่วงแรกที่นำหนังสือไปใส่ตู้ เขาไม่ได้ดูแลมันเท่าไหร่นัก จนกระทั่งพบว่ามีคนสนใจมาหยิบหนังสือไปจนเกลี้ยง จึงผันตัวเองมาเป็นบรรณารักษ์สมัครเล่น จัดทำทะเบียนหนังสือที่มีอยู่ทุกเล่ม สร้างพื้นที่เก็บหนังสือไว้ในโรงจอดรถ คัดสรรหนังสือที่มั่นใจว่ามีความหลากหลายและดึงดูดใจ ก่อนจะทยอยสร้างตู้แบ่งปันหนังสือเพิ่มอีก 3 ตู้ในเวลาต่อมา

เดินทางออกตามหาหนังสือ บิงโก!

          เพื่อไม่ให้การเดินไปหยิบหนังสือที่ตู้จืดชืดจนเกินไป เทรลฟอลได้ต่อยอดห้องสมุดจิ่วให้มีสีสันมากขึ้นด้วยการสร้างเกมบิงโกขึ้นมา โดยการ์ดบิงโกจะถูกใส่ไว้ในตู้แบ่งปันหนังสือแต่ละแห่ง รวมทั้งมีไฟล์ไว้ให้ดาวน์โหลด การ์ดแต่ละใบระบุโจทย์เกี่ยวกับหนังสือที่แตกต่างกันไป เช่น นิยายเชิงประวัติศาสตร์ วรรณกรรมที่เขียนโดยสตีเฟ่น คิง คู่มือทำอาหาร หนังสือที่ให้แรงบันดาลใจ หนังสือที่มีปกเป็นรูปแมลง เป็นต้น

          เขาเล่าว่า จุดประสงค์ของโครงการนี้ คือสนับสนุนให้ผู้คนออกสำรวจตู้แบ่งปันหนังสือ และสำรวจเมืองวิกตอเรียไปพร้อมกัน

          “มันเป็นเรื่องยากที่จะหาส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างชุมชน ความสร้างสรรค์ และการอ่านหนังสือ เราหวังว่าเกมแบบนี้จะช่วยส่งเสริมความรักในหนังสือ และสนับสนุนให้เด็กๆ กลายเป็นนักอ่านตลอดชีวิตได้”

          คงไม่มีใครสามารถประเมินผลลัพธ์ของ Little Free Library และตู้แบ่งปันหนังสือในวิกตอเรียได้ดีไปกว่าชาวเมืองที่อาศัยอยู่ที่ที่นั่น มิเชล มุลเดอร์ (Michelle Mulder) หนึ่งในเจ้าของห้องสมุดจิ๋วเล่าว่า ถ้าไม่มีตู้แบ่งปันหนังสือ เขาคงไม่มีโอกาสได้พูดคุยหรือสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในละแวกใกล้เคียงมากนัก โดยเขามองว่า ปัจจัยที่สนับสนุนให้ตู้แบ่งปันหนังสือประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชาววิกตอเรียรักหนังสือ อีกส่วนคือการที่เมืองนี้เอื้อต่อการสัญจรโดยเท้าและจักรยาน

          ด้านบอนแดรอฟ ในฐานะผู้มีส่วนสำคัญในการต่อยอดกิจกรรมนี้ กล่าวถึงขบวนการห้องสมุดจิ๋วในวิกตอเรียว่า “มันเป็นเรื่องที่วิเศษมาก และเป็นมากกว่าการแลกเปลี่ยนหนังสือ… ปฏิเสธไม่ได้ว่าตอนนี้วิกตอเรียมีชุมชน ‘บรรณรักษ์จิ๋ว’ และนักอ่านที่เข้มแข็ง”


ที่มา

Canada’s biggest community of little free libraries has only grown stronger through COVID-19 [online]

Under the “B”… it’s Little Free Library Bingo! [online]

Little Free Libraries take off in Victoria as 500th library installed [online]

Little Free Library [online]

Cover Photo : littlefreelibrary.org

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก