ห้องสมุดเมืองเบอร์มิงแฮม หมุดหมายด้านวัฒนธรรมและความท้าทายในอนาคต

499 views
10 mins
March 31, 2021

ปฐมบทของห้องสมุดเมืองเบอร์มิงแฮม

          เบอร์มิงแฮมเป็นนครที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศอังกฤษ มีประชากรราวหนึ่งล้านคน มีขนาดเท่ากับประเทศขนาดเล็กในทวีปยุโรปอย่างเดนมาร์กหรือนอร์เวย์ ตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศอังกฤษ ไม่มีทางออกไปยังทะเลและปราศจากทรัพยากรธรรมชาติใดๆ แต่เมืองนี้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งมาหลายยุคสมัย น่าจะกล่าวได้ว่าการเติบโตของเมืองเกิดจากความคิดสร้างสรรค์และความชาญฉลาดของชาวเมือง

          เบอร์มิงแฮมยังเป็นมหานครที่มีเปอร์เซ็นต์ประชากรที่เป็นเด็กและคนหนุ่มสาวสูงที่สุดในยุโรป และมีความหลากหลายทางประชากรเป็นอันดับสองรองจากเมืองอัมสเตอร์ดัม สิ่งท้าทายสำหรับเมืองสมัยใหม่แห่งนี้มีทั้งปัญหาด้านการว่างงาน ทักษะแรงงานต่ำ การขาดการรู้หนังสือ การใช้ชีวิตที่ขาดสุขภาวะ และภาพลักษณ์ที่ไม่น่ารื่นรมย์ของเมือง นอกเสียจากห้องสมุดแล้วคงไม่มีสถาบันใดเหมาะที่จะทำหน้าที่สร้างต้นทุนทางสังคมมากไปกว่านี้

          ห้องสมุดเมืองเบอร์มิงแฮมเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2556 ด้วยเงินลงทุนในการปรับปรุงใหม่ถึง 189 ล้านปอนด์ แขกคนสำคัญที่มาร่วมงานในวันเปิดคือมาลาลา ยูซัฟไซ วัยรุ่นหญิงชาวปากีสถาน ผู้ทำงานรณรงค์ส่งเสริมสิทธิด้านการศึกษาของผู้หญิง จนถูกยิงที่ศีรษะโดยนักรบกลุ่มตาลีบัน และต่อมาเธอได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

          ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของพิธีเปิดห้องสมุด เด็กหญิงผู้เป็นแรงบันดาลใจของคนทั้งโลกได้มอบหนังสือเรื่อง The Alchemist เขียนโดย เปาโล โคเอลโย (Paulo Coelho) (แปลเป็นภาษาไทยแล้วในชื่อ ขุมทรัพย์ที่ปลายฝัน โดย ชัยวัฒน์ สถาอานันท์) ให้กับห้องสมุดเป็นเล่มสุดท้ายที่นำไปขึ้นวางบนชั้น (ส่วนเล่มแรกที่นำขึ้นชั้นวาง คือ The Hobbit เขียนโดย เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน)

“หนังสือเป็นสิ่งมีค่า หนังสือบางเล่มทำให้คุณเดินทางย้อนเวลากลับไปหลายศตวรรษ และบางเล่มก็นำคุณไปยังอนาคต บางเล่มนำพาคุณสู่แก่นกลางด้านในของหัวใจ และบางเล่มก็นำคุณออกไปไกลโพ้นสู่จักรวาลแสนกว้างใหญ่ มีคนเขียนไว้ว่าห้องซึ่งปราศจากหนังสือก็เหมือนร่างกายไร้ซึ่งวิญญาณ เมืองที่ไร้ห้องสมุดก็คงเหมือนกับป่าช้าหรือสุสาน”

มาลาลา ยูซัฟไซ
วีดิทัศน์ มาลาลา ยูซัฟไซ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ พ.ศ. 2557 ร่วมกล่าวในพิธีเปิดห้องสมุด

การแปลงโฉมห้องสมุดเมืองเบอร์มิงแฮมอย่างมีส่วนร่วม

          ว่ากันว่ารูปลักษณ์อาคารเดิมของห้องสมุดเมืองเบอร์มิงแฮมนั้นดูน่าเกลียด เก่าและค่อนข้างทรุดโทรม ถึงกับมีคนวิจารณ์กึ่งประชดว่าคล้ายอาคารจอดรถที่คนขับต้องคิดแล้วคิดอีกว่าจะเสี่ยงเอารถเข้าไปจอดทิ้งไว้ข้างในดีหรือไม่ บ้างก็ว่าเหมือนตึกร้างน่ากลัวอย่างที่เห็นในหนังเรื่อง ‘Attack the Block’ แม้แต่เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ก็ยังเคยเอ่ยถึงห้องสมุดแห่งนี้ว่า มองดูเหมือนสถานที่ที่เก็บหนังสือซึ่งเตรียมจะเอาไปเผาทิ้งมากกว่าที่จะมีหนังสือเอาไว้อ่าน

          การแปลงโฉมอาคารห้องสมุด ได้รับการออกแบบใหม่โดยสถาปนิกชาวดัตช์จากบริษัทเมคานู (Mecanoo)* พื้นที่ใช้สอยกว่า 31,000 ตารางเมตร ใหญ่กว่าพื้นที่เดิมประมาณ 20% ทำให้กลายเป็นห้องสมุดประชาชนที่ใหญ่ที่สุดในอังกฤษและยุโรป มีหนังสือมากถึงหนึ่งล้านเล่ม (ข้อมูลบางแหล่งระบุว่ามีมากกว่าสองล้านเล่ม) แต่ให้บริการยืมคืนประมาณ 4 แสนเล่ม (อีกจำนวนหลายแสนเล่มถูกเก็บไว้ในห้องเก็บเอกสารสำคัญ)

          ในกระบวนการออกแบบ ห้องสมุดเมืองเบอร์มิงแฮมได้ใช้เครื่องมือการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มี “ทูตชุมชน” จำนวน 26 คน เป็นตัวแทนของประชากรที่หลากหลายของเมืองในด้านอายุ เพศ เชื้อชาติ มีทั้งคนไร้บ้านและผู้ทุพพลภาพ ห้องสมุดศึกษาความคาดหวังของพวกเขาที่มีต่อห้องสมุดสาธารณะในศตวรรษที่ 21 ในอีกด้านหนึ่งพวกเขาก็นำเรื่องราวที่ห้องสมุดกำลังพยายามทำ กลับไปบอกเล่ากับชุมชนของพวกเขา แรงงานซึ่งว่างงานมาเป็นเวลานานได้รับโอกาสให้มาทำงานก่อสร้างห้องสมุด ชาวเมืองนับพันคนได้เข้ามาเยี่ยมชมไซต์งานก่อสร้าง และนักเรียนจำนวนมากก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการก่อสร้าง ทั้งหมดนี้ทำให้ห้องสมุดได้รับการสนับสนุนจากประชาชน เมื่อห้องสมุดเปิดให้บริการมีผู้ลงทะเบียนแสดงความจำนงเพื่อเป็นอาสาสมัครกว่า 250 คน

          ห้องสมุดแห่งใหม่มีความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมจนเป็นสถานที่อันเป็นหมุดหมายสำคัญในเมืองอุตสาหกรรมอย่างเบอร์มิงแฮม เมืองซึ่งมีศิลปะและวัฒนธรรมเจริญรุ่งเรืองอยู่แล้ว แนวคิดโดยย่อของการออกแบบอาคารประกอบด้วยแนวความคิดเชิงวิสัยทัศน์สามข้อ (1) จะต้องเชื้อเชิญต้อนรับและเข้าถึงง่าย (2) จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สาธารณะและผสมผสานกลมกลืนไปกับที่ตั้งศูนย์กลางเมือง (3) ดึงดูดผู้ใช้ให้ก้าวเข้ามาสู่การเดินทางแห่งการเรียนรู้และการสำรวจค้นหา

          สถาปนิก ฟรานซีน ฮูเบน (Francine Houben) กล่าวถึงผลงานการออกแบบของเธอไว้ว่า

“ห้องสมุดเบอร์มิงแฮมเป็นเสมือน ‘พระราชวังของสามัญชน’ (People’s Palace) ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากพลังของเมืองที่ยิ่งใหญ่ ฉันหวังว่าการผจญภัยในการเดินเข้าไปในสถาปัตยกรรมจะดึงดูดผู้คนมากมายให้เข้ามามีความสุขกับการเรียนรู้และการอ่าน หรือแม้แต่เกิดประสบการณ์ที่ดีในการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งพื้นที่สาธารณะสามารถมอบสิ่งเหล่านี้ให้”

           การบูรณะปรับปรุงที่ดูเรียบง่ายมากๆ อย่างหนึ่งคือ การทำผนังเป็นกระจก ซึ่งให้ความรู้สึกเชิญชวนผู้คนที่เดินผ่านไปมามากกว่า สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงหลักคิดที่เปลี่ยนไปจากเดิมว่าห้องสมุดคือแหล่งหนังสือมาเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าแสวงหาความรู้ ซึ่งการคิดเช่นนี้ไม่ได้ทำให้มีต้นทุนใดๆ เพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การอนุญาตให้กลุ่มการละครเข้ามาใช้ซ้อมในห้องที่ยังไม่มีคนจองโดยไม่คิดค่าเช่า แล้วแลกเปลี่ยนเป็นการแสดงที่เปิดให้ชมฟรีในช่วงเวลาเย็นสักครั้งหนึ่ง ในทางกลับกันห้องสมุดสามารถเชื่อมโยงการแสดงฟรีกับกิจกรรมส่งเสริมการอ่านหนังสือเกี่ยวกับหนังหรือละครที่มีอยู่ในห้องสมุดได้ด้วยซ้ำ เรื่องเช่นนี้ขอเพียงให้มีนวัตกรรมการคิดบวกกับจินตนาการอีกเล็กน้อยก็ทำได้ไม่ยาก

การทำผนังเป็นกระจก ซึ่งให้ความรู้สึกเชิญชวนผู้คนที่เดินผ่านไปมามากกว่า
M8scho, CC BY-SA 4.0, via Wikimedia Commons
โถงกลางภายในห้องสมุดเมืองเบอร์มิงแฮม
Photo: Bs0u10e01, CC BY-SA 4.0, via Wikimedia Commons

หน้าร้านของเมือง วัฒนธรรมของเมือง

          ห้องสมุดเมืองเบอร์มิงแฮมตั้งอยู่ในย่านที่มีผู้คนหนาแน่นมากที่สุด บริเวณจัตุรัสเซนทีนารี (Centenary Square) ใจกลางเมือง เป็นอาคารสูง 10 ชั้น มีทางเดินบนดาดฟ้าหลังคาซึ่งตกแต่งไว้ด้วยสวนต้นไม้ร่มรื่น ส่วนยอดเป็นโดมสีทอง อุปมาเปรียบดั่งกระโจมไฟสัญญาณ (ทางวัฒนธรรม) ที่กำลังส่องแสง พื้นที่ชั้นล่างของอาคารจะมีทางเดินเชื่อมกับ Birmingham Repertory Theatre โดยแบ่งใช้เคาน์เตอร์ต้อนรับร่วมกันสำหรับทั้งสองหน่วยงาน

          ห้องสมุดเป็นโครงการสำคัญ (flagship project) ของสภาเมืองเบอร์มิงแฮมตามแผนพัฒนาเมืองใหญ่ระยะ 20 ปี และเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าห้องสมุดสามารถกลายเป็นส่วนสำคัญที่ตั้งอยู่ใจกลางพื้นที่ของชุมชนได้ วิธีการซึ่งถูกนำมาใช้บริหารภายใต้แนวคิดดังกล่าวคือการกำหนดให้ห้องสมุดมีฐานะเป็นศูนย์กลางทางด้านวัฒนธรรม (cultural hub) ดังนั้นจึงต้องมีคอลเลกชั่นระดับโลก ทั้งที่เป็นเอกสารจดหมายเหตุ รูปภาพ และหนังสือหายาก ตัวอย่างเช่นการจัดทำห้องเชคสเปียร์รำลึก (Shakespeare memorial room)รวบรวมหนังสือของเชคสเปียร์ไว้มากกว่า 4 หมื่นเล่ม รวมทั้งต้นฉบับผลงานของมหากวีผู้นี้ครบชุดนับตั้งแต่การพิมพ์ครั้งที่หนึ่งถึงสี่ นอกจากนั้นยังมีพื้นที่สำหรับนักอ่านวรรณกรรมที่คุ้นเคยกับเครื่องมือดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นแท็บเล็ต จอภาพระบบสัมผัส และไอแพด มีห้องสมุดสำหรับเด็ก ห้องจัดแสดงนิทรรศการและงานศิลปะ ห้องประชุมสำหรับจัดกิจกรรมหรือฉายภาพยนตร์ขนาด 300 ที่นั่ง ห้องสมุดดนตรีและห้องปฏิบัติการทางดนตรี ศูนย์รวมมัลติมีเดีย ลานกิจกรรมการแสดงและอัฒจรรย์ที่นั่งชม ร้านกาแฟ ร้านจำหน่ายของที่ระลึก ทั้งหมดนี้บ่งชี้ว่าห้องสมุดเป็นไปได้มากมายทั้งการแสดงออกเชิงสร้างสรรค์และการแสดงในฐานะที่เป็นการเรียนรู้

ห้องเชคสเปียร์รำลึก
ห้องเชคสเปียร์รำลึก
Photo: Bs0u10e01, CC BY-SA 4.0, via Wikimedia Commons

ห้องสมุดเพื่อการค้นคว้าและการค้นพบ

          ห้องสมุดทั่วไปอาจเป็นสถานที่สำหรับ “การค้นคว้า” หาสารสนเทศที่เรารู้ว่ามีอยู่ แต่คงจะดีไม่น้อยหากยังสามารถเป็นสถานที่ซึ่งสนับสนุนให้เกิด “การค้นพบ” สารสนเทศที่เราไม่เคยตระหนักถึงมาก่อนด้วย ห้องสมุดควรได้รับการออกแบบให้ผู้ใช้บริการได้มีปฏิสัมพันธ์กับกายภาพ สารสนเทศดิจิทัล รวมถึงทรัพยากรมนุษย์

          ห้องสมุดเมืองเบอร์มิงแฮมให้บริการ wi-fi ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ตระหนักถึงภาวะสารสนเทศท่วมท้นในระบบสมองของมนุษย์ อันเกิดจากเสรีภาพในการเข้าถึงสารสนเทศที่มีอยู่มหาศาลอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน อันทำให้ผู้บริโภคข้อมูลเกิดความสับสนและตัดสินใจได้แย่ลง

          ดังนั้นแล้วห้องสมุดในอนาคตจึงควรจะมีบทบาทในการส่งเสริมให้ผู้คนรู้จักแปลงสารสนเทศให้กลายเป็นความรู้ผ่านกระบวนการค้นหาและเรียนรู้ สร้างโอกาสให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเพื่อนำมาซึ่งเครือข่ายของผู้คนและความรู้รูปแบบใหม่ การร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์ และการสร้างนวัตกรรมของสังคม ที่ห้องสมุดเมืองเบอร์มิงแฮมมีบริการเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานความรู้ของเมือง ซึ่งมิใช่เพียงการให้บริการสารสนเทศแบบดั้งเดิม แต่เน้นการให้ความรู้ประชาชนที่ต้องการดำเนินธุรกิจแต่ขาดความรู้หรือทักษะที่จำเป็น มีบริการให้คำปรึกษาแนะนำ อบรมสัมมนา กิจกรรมสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ เป็นต้น

          ไบรอัน แกมเบิลส์ ผู้อำนวยการห้องสมุดเมืองเบอร์มิงแฮม กล่าวว่า “เราต้องการกระตุ้นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ผู้คนสามารถสืบค้นข้อมูลสารสนเทศได้จากทุกแหล่ง ไม่ใช่เพียงหนังสือ แต่รวมถึงแหล่งที่เพิ่มพูนทักษะในการเรียนรู้ด้วย เช่น ดนตรี ภาพยนตร์ รวมถึงสิ่งต่างๆ มากมายเท่าที่จะเป็นไปได้ที่เกี่ยวข้องกับการคิด หนังสือเป็นเครื่องมือชั้นเลิศในการจับประเด็นและสื่อสารการคิด แต่หนังสือก็ไม่ใช่เครื่องมือเพียงชนิดเดียว เวลานี้ข้อมูลสารสนเทศที่ส่งมอบแก่ผู้ใช้กำลังกลายเป็นดิจิทัลมากขึ้น บทบาทของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-books) ในห้องสมุดอนาคตจะทวีความสำคัญขึ้น แต่ห้องสมุดยังเตรียมการเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่รอบด้านและลงมือทำน้อยเกินไป เราจะต้องพยายามสร้างรูปแบบการดำเนินงานที่รองรับการขยายตัวของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ให้มากขึ้น

          “จุดมุ่งหมายของห้องสมุดควรจะเป็นไปเพื่อการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชน เปลี่ยนชะตากรรมของพวกเขา และให้แรงบันดาลใจแก่พวกเขาสำหรับอนาคต ดังนั้นห้องสมุดจึงต้องเชิญชวนผู้คนให้มาร่วมเดินทางจากข้อมูลสารสนเทศ (ค้นหา) ไปสู่การเรียนรู้ (ค้นพบ) เพื่อบรรลุถึงผลลัพธ์คือการสร้างความรู้สำหรับตนเอง จุดเน้นของห้องสมุดสมัยใหม่นั้นอยู่ที่การค้นคว้าและเรียนรู้ เพราะคนเราเรียนรู้ได้มากมายหลายวิธีนอกเหนือไปจากตำรา พวกเขาสามารถเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมที่เขาอยู่ ผ่านการสนทนากับคนอื่นๆ ผ่านการสอนในรูปแบบบรรยายหรือเวิร์คช็อป หรือผ่านบางสิ่งที่ไม่ใช่การเรียนรู้โดยตรง เช่น ภาพยนตร์หรือแม้แต่การเต้นรำ ผู้คนเรียนรู้ด้วยการตีความและแปลความหมายของสารสนเทศทางวัฒนธรรมตามโลกทัศน์ของเขาให้กลายเป็นความรู้ของตัวเอง” ไบรอัน อธิบาย

          “เราเคยเถียงกันว่าควรจะเรียกสิ่งนี้ว่า ‘ห้องสมุด’ หรือไม่? ผมคิดว่าแนวความคิดโดยรวมเกี่ยวกับมโนทัศน์ ‘ห้องสมุด’ จำเป็นต้องถูกสร้างและนำเสนอขึ้นใหม่ อันที่จริงรูปแบบการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับหนังสือและสารสนเทศไม่ได้เปลี่ยนไปมากกว่าเดิมสักเท่าไหร่นักหรอก แต่สถานที่แห่งนี้ไปไกลกว่าความเป็น ‘ห้องสมุด’ เสียแล้ว เพราะได้กลายเป็น ‘ศูนย์กลางความรู้’ (knowledge hub) อย่างแท้จริง”

อนาคตที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

          ห้องสมุดเมืองเบอร์มิงแฮมคือหนึ่งในห้องสมุดสายพันธุ์ใหม่ที่เป็นห้องสมุดขนาดยักษ์ ซึ่งเกิดขึ้นมาในขณะที่ห้องสมุดขนาดเล็กกำลังต่อสู้เพื่อความอยู่รอด โดยมีขอบเขตการให้บริการที่กว้างขวางขึ้น มีพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย ด้วยแนวคิดที่ว่าห้องสมุดขนาดใหญ่ซึ่งมีฟังก์ชั่นการใช้งานหลากหลายย่อมดีกว่าและเหมาะสมกับความต้องการของชุมชนและผู้ใช้ที่มีความแตกต่างหลากหลาย อีกทั้งยังสามารถนำเสนอกิจกรรมวัฒนธรรมและความบันเทิง นอกเหนือไปจากการเรียนรู้และการเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศ

          กระนั้นก็ตาม เพียงแค่ปีเศษหลังจากเปิดให้บริการห้องสมุดเมืองเบอร์มิงแฮมแห่งใหม่ วิกฤติด้านงบประมาณก็ส่งผลกระทบต่อห้องสมุด ในเดือนธันวาคม 2557 สภาเมืองเบอร์มิงแฮมแถลงถึงแผนงานพัฒนาห้องสมุด โดยประกาศลดเวลาการให้บริการลงจาก 73 ชั่วโมง เหลือ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และจะเลิกจ้างเจ้าหน้าที่ซึ่งทำงานซ้ำซ้อนและมีอยู่มากเกินไปประมาณครึ่งหนึ่งหรือกว่า 100 ตำแหน่ง เพื่อที่จะสามารถตัดงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการลงได้ปีละ 1.5 ล้านปอนด์จากทั้งหมด 10 ล้านปอนด์

          ภายหลังการแถลงของสภาเมือง ไบรอัน แกมเบิลส์ ก็ประกาศจะลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการห้องสมุดในต้นปี 2558

          ก่อนหน้านี้ ไบรอัน เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นการตัดงบประมาณห้องสมุดไว้ว่า เขาค่อนข้างสงสัยว่าเหตุใดห้องสมุดจึงมักจะเป็นหน่วยงานลำดับแรกๆ ที่ถูกตัดงบประมาณ ในขณะที่ข้อเท็จจริงก็ชัดเจนว่าห้องสมุดประชาชนได้รับงบประมาณเป็นสัดส่วนที่น้อยมากๆ เมื่อเทียบกับเงินรายได้ของรัฐ “ต่อให้คุณตัดรายการเกี่ยวกับห้องสมุดประชาชนทั้งหมดออกจากงบประมาณ มันก็แทบจะไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤติงบประมาณที่เรากำลังเผชิญกันอยู่นี้เลย”

          ปัญหาด้านงบประมาณน่าจะส่อเค้าลางให้เห็นมาก่อนหน้านี้แล้ว จากการให้สัมภาษณ์หลังเปิดให้บริการห้องสมุดแห่งใหม่เพียงไม่กี่เดือนว่า

          “เราจำเป็นต้องหาหนทางสร้างรายได้ในเชิงพาณิชย์ให้มากขึ้น ต้องคิดหาวิธีนำเอาทรัพย์สินบางส่วนไปใช้ก่อให้เกิดมูลค่า ไม่ว่าจะเป็นการให้เช่าเครื่องไม้เครื่องมือ เปิดให้เช่าพื้นที่เป็นร้านค้าหรือขายเครื่องดื่มและของว่าง รวมไปถึงการหาผู้สนับสนุนทางการเงินจากภาคธุรกิจหรือองค์กรการกุศลเอกชน และถ้าหากมีการลดชั่วโมงการให้บริการและลดจำนวนเจ้าหน้าที่ห้องสมุด การให้ยืมอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อาจจะต้องนำระบบบริการตนเองเข้ามาแทน”

          นอกจากนี้ เขายังบอกเล่าถึงแผนการที่จะดึงหน่วยงานพันธมิตรเข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมในอาคารแห่งนี้ โดยอาศัยฐานลูกค้าที่เข้ามาใช้ห้องสมุด ซึ่งประมาณการว่าน่าจะสูงถึง 3.5-4 ล้านคนในปีแรกที่เปิดบริการ มาเป็นปัจจัยดึงดูด ในเวลานั้นมีข้อตกลงร่วมกันแล้วกับ 2 หน่วยงาน คือ British Film Institute ซึ่งจะจัดหาภาพยนตร์เก่าหายากมาไว้ให้กับห้องสมุดสำหรับจัดฉาย และความร่วมมือกับหน่วยงานพัฒนาวรรณกรรม ชื่อ Writing West Midlands เตรียมการจัดงานเทศกาลหนังสือเบอร์มิงแฮม (Birmingham Book Festival) ส่วนรายอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการเจรจามีทั้งมหาวิทยาลัย บริษัทเทคโนโลยีระดับสูงของเอกชน ธุรกิจและผู้ให้บริการด้านสุขภาพ

          แผนดำเนินการหลายอย่างอาจหยุดชะงักหลังจากที่สภาเมืองประกาศตัดงบประมาณ แต่อาคารห้องสมุดที่ออกแบบปรับปรุงใหม่จนกลายเป็นหมุดหมายของเมือง (landmark) ทั้งด้านวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยว มีผู้ใช้บริการจำนวนมหาศาลและกิจกรรมที่ตอบสนองพฤติกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย คือรูปธรรมซึ่งแสดงให้เห็นว่าความปรารถนามุ่งมั่นที่จะเป็นห้องสมุดแห่งอนาคต สำหรับเมืองแห่งอนาคต คงไม่ได้ลบเลือนหายไปง่ายๆ ดังเช่นที่ไบรอัน แกมเบิลส์เคยตั้งความหวังเอาไว้ว่า

“สิ่งสำคัญที่เราทำไม่ใช่แค่การก่อสร้างห้องสมุด แต่เราเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูก่อร่างสร้างชีวิตใหม่ให้กับเมืองเบอร์มิงแฮม เราเป็นส่วนหนึ่งของการเก็บรักษาและสืบทอดมรดกที่ได้รับมาจากบรรพบุรุษซึ่งจะยืนยงคงอยู่ต่อไปอีกหลายทศวรรษ และด้วยความหวังว่าวัฒนธรรมของเมืองจะให้นิยามความหมายใหม่แก่ห้องสมุด นั่นคือสิ่งซึ่งเป็นความภาคภูมิใจอย่างแท้จริง”

          ชะตากรรมของห้องสมุดเมืองเบอร์มิงแฮมจะเดินหน้าต่อไปสู่จุดหมายที่วาดหวังไว้ได้หรือไม่และอย่างไร จึงน่าสนใจและน่าติดตามอย่างยิ่ง

วิดีทัศน์ ห้องสมุดเมืองเบอร์มิงแฮม โดย บริษัท Mecanoo


คลิกเพื่อชมภาพการออกแบบห้องสมุดเมืองเบอร์มิงแฮของบริษัท Mecanoo


ที่มา

เรียบเรียงจาก บทความเรื่อง ห้องสมุดเบอร์มิงแฮม ศูนย์กลางวัฒนธรรมของเมือง เปลี่ยนหลักคิดเรื่องห้องสมุดกับอนาคตที่เต็มไปด้วยอุปสรรค ตีพิมพ์ในหนังสือ คิดทันโลก (ธันวาคม 2558) และสรุปประเด็นจากการบรรยายเรื่อง Future City, Future Library: Experiences and Lessons Learned from the Library of Birmingham โดยไบรอัน แกมเบิลส์ (Brian Gambles) ในการประชุมวิชาการประจำปี 2559 (TK Forum2016)

Cover Photo: Bs0u10e01, CC BY-SA 3.0, via Wikimedia Commons


เผยแพร่ครั้งแรก ธันวาคม 2558
เผยแพร่ซ้ำ (ปรับปรุงใหม่) ตุลาคม 2562
พิมพ์รวมเล่มในหนังสือ คิดทันโลก (2558) , โหล (2560)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก