‘ให้มันจบที่รุ่นเราฯ’ ความฝันที่ต้องสานต่อให้จบ

279 views
5 mins
November 7, 2023

          เชื่อว่าหลายคนมีคำถามคล้ายผมว่าการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลสืบทอดอำนาจจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ของนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่เกิดขึ้นกระจายไปในหลายจังหวัดในช่วงปี 2563 นั้นจะจบลงอย่างไร ถ้าไม่เจอกับการระบาดของโควิด-19 เสียก่อน

          จะจบหรือไม่จบในรุ่นเราเป็นเรื่องเกินความพยายามจะตอบ แต่สิ่งที่ต้องยอมรับคือเป็นการเคลื่อนไหวที่เหนือความคาดหมาย คำถามที่ว่านักเรียน นิสิต นักศึกษาหายไปไหนจากการเมืองไทยเป็นสิ่งที่ถามกันมากว่า 4 ทศวรรษนับตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏอย่างท้าทาย แหลมคม และลงลึกในระดับโครงสร้างสังคม

          การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีสโลแกนสั้นๆ แต่ทรงพลังว่า ‘ให้มันจบที่รุ่นเรา’

          สื่อนัยว่าโครงสร้างอันบิดเบี้ยวพิกลพิการที่ดำรงอยู่ในสังคมการเมืองไทยมาเนิ่นนานต้องจบในรุ่นของพวกเขา มรดกบาปต้องไม่ถูกส่งทอดต่อไปยังรุ่นลูก รุ่นหลานอีก

          ‘ให้มันจบที่รุ่นเรา: ขบวนการเยาวชนไทยในบริบทสังคมและการเมืองร่วมสมัย’ หนังสือที่รวบรวมเส้นเรื่อง ปัจจัยการก่อตัว แนวทางการเคลื่อนไหว ฯลฯ เปรียบได้กับการบันทึกประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในปี 2563 ที่ค่อนข้างละเอียดครอบคลุม โดยนักวิชาการ 5 คน อนุสรณ์ อุณโณ, สามชาย ศรีสันต์, เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์, อสมา มังกรชัย และ ชัยพงษ์ สำเนียง

          ปฏิเสธไม่ได้ว่าการชุมนุมประท้วงรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชาของเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษาในปี 2563 เป็นการเคลื่อนไหวที่ใหญ่ที่สุดนับจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทั้งยังกระจายไปทั่วประเทศ จากเดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคม 2563…

‘ให้มันจบที่รุ่นเราฯ’ ความฝันที่ต้องสานต่อให้จบ
Photo: PrachataiCC BY-NC-ND 2.0, via Flickr

          “มีการจัดการชุมนุมทางการเมือง 385 ครั้งใน 62 จังหวัดโดยกลุ่มต่างๆ 112 กลุ่ม ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยและเป็นการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเมืองไทยครั้งใหญ่”

          ส่วนคำว่า ‘ให้มันจบที่รุ่นเรา’ เกิดขึ้นในวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 เมื่อเพจของสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ประกาศว่า

          “ไม่ทนอีกต่อไป…”

          “เวลาไหนกันที่เราจะออกมาเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างก่อนที่มันจะสายเกินไป?”

          “เวลาที่เพื่อนๆ ของคุณ ถูกจับไปทีละคนสองคน”

          “เวลาที่พ่อแม่พี่น้องของคุณ อดอยากและแร้นแค้น”

          “เวลาที่เขาปลูกฝังอำนาจนิยมบ้าๆ ลงในเวลาเรียนของลูกๆ คุณ”

          “ถ้ารอให้ถึงเวลานั้น มันอาจจะสายเกินไป เรารอมากว่า 80 ปีแล้ว จะต้องรอไปอีกนานซักเท่าไหร่กัน”

          “เวลานี้เราไม่ทนอีกแล้ว! 17:00น. เป็นต้นไป 18 กรกฎาคมนี้! มุ่งตรงไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ลุกขึ้นสู้กับต้นตอของปัญหา ถอนโคนเผด็จการที่ฝังรากลึกมายาวนาน”

          “อย่าให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องของลูกหลานเราที่ต้องมาเรียกร้องความยุติธรรมไม่จบสิ้น ให้มันจบในรุ่นของเรา”

          ส่วนแรกของหนังสือนำเสนอแนวคิดทางมานุษยวิทยาในการศึกษาเรื่อง ‘รุ่น’ ตามด้วยเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการชุมนุมของนักศึกษาในลักษณะแฟลชม็อบในรั้วมหาวิทยาลัย หนังสือวิเคราะห์ว่าเกิดจากเงื่อนไข 3 ประการ ข้อแรกคือ นักศึกษาในรุ่นนี้เติบโตขึ้นภายใต้สภาวะความไม่แน่นอนและซึมซับรับรู้ความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงต่อเนื่อง สอง การจำกัดสิทธิเสรีภาพและการเข้าไปแทรกแซงชีวิตส่วนตัวของพวกเขาเช่นกรณีการพยายามแบนเพลง ‘ประเทศกูมีเงื่อนไขสุดท้ายคือ การสืบทอดอำนาจทหารของรัฐธรรมนูญผ่านกลไกวุฒิสภา (และอื่นๆ) การทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ไร้ประสิทธิภาพ กรณียุบพรรคอนาคตใหม่ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก “พวกเขารู้สึกคับแค้นที่สิทธิเสียงของพวกเขาที่ได้มีโอกาสแสดงออกเป็นครั้งแรกได้ถูก ‘ปล้น’ ไปต่อหน้า” รุ่นเขาจึงชุมนุมประท้วงคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เกิดความรู้สึกร่วมกันถึงความเป็น ‘รุ่น’ ที่เผชิญกับสถานการณ์เดียวกัน

          ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจ ‘ลงถนน’ คือการอุ้มหายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองในกัมพูชาและการจับกุมตัวแทนเยาวชนภาคตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย 2 คนที่จังหวัดระยองขณะประยุทธ์ จันทร์โอชาลงพื้นที่

          จากนั้นหนังสือบอกเล่าและวิเคราะห์การชุมนุมเคลื่อนไหวของเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษาทั้งในกรุงเทพและภูมิภาค ในโลกออนไลน์และโลกออฟไลน์ว่ามีลักษณะอย่างไร ซึ่งในแต่ละภูมิภาคต่างพบเจอแรงสนับสนุนและแรงต้านต่างกันไป

          อนุสรณ์ อุณโณ อธิบายให้ผมฟังว่าการเคลื่อนไหวในภูมิภาคที่มีความเข้มข้นคือภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากมีสำนึกทางประวัติศาสตร์ที่ต่อต้านส่วนกลางมาแต่อดีต ไม่ว่าจะเป็นกรณีครูบาศรีวิชัยหรือกบฏผู้มีบุญ อีกทั้งภาคเหนือก็มีกลุ่มนักวิชาการและภาคประชาชนที่เข้มแข็งคอยสนับสนุน ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็เป็นฐานที่มั่นของคนเสื้อแดง

          แต่ภาคใต้มีความเคลื่อนไหวน้อยกว่าและไม่ค่อยรับการสนับสนุนจากคนในพื้นที่เนื่องจากความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับส่วนกลางมาอย่างต่อเนื่องทำให้มีความเป็นอนุรักษนิยม อย่างไรก็ตาม อนุสรณ์ย้ำว่าคนใต้ไม่ได้เกลียดชังเยาวชนเหล่านี้ แต่มีมุมมองในลักษณะว่าเป็นเด็กอ่อนประสบการณ์จึงถูกนักการเมืองหลอกใช้

          ส่วนสามจังหวัดชายแดนใต้การเคลื่อนไหวก็ค่อนข้างจำกัดเช่นกัน เป็นผลจากการทับถมของปัญหาหลากหลาย ทั้งเรื่องความมั่นคงในพื้นที่ กลุ่มผู้นำทางศาสนาที่ไม่ต้องการข้องเกี่ยวกับการเมือง จิตสำนึกความเป็นมลายู-ปาตานี ถึงกระนั้น ในกลุ่มเยาวชนที่เคลื่อนไหวเรื่องสันติภาพและการปกครองตนเองในพื้นที่ก็เกิดความตระหนักรู้ว่าเป้าหมายของตนไม่มีทางเป็นไปได้หากการเมืองระดับประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย

          หนังสือเก็บรายละเอียดอย่างครบถ้วน ประหนึ่งว่าถ้าคุณอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในปี 2563 มันก็ให้คำตอบได้ดี เช่น กระบวนการที่พวกเขาจัดขบวนการชุมนุม การพูดคุยประสานงานระหว่างส่วนกลางกับภูมิภาค รูปแบบองค์กรที่แตกต่างจากการชุมนุมในอดีต กิจกรรมอันหลากหลายในสถานที่ชุมนุม การใช้โซเชียลมีเดียเป็นอีกพื้นที่หนึ่งในการเคลื่อนไหวอย่างเห็นผล และการยื่นข้อเรียกร้องชนิด ‘ทะลุเพดาน’ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เป็นต้น

          มีคนสนับสนุนย่อมมีคนต่อต้าน ข้อเรียกร้องของนักศึกษาไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีการพูดคุยเจรจา รัฐใช้กำลังเจ้าหน้าที่ปราบปรามและสลายการชุมนุม ดำเนินคดี ขณะที่กลุ่มขวาจัดก็เดินสายแจ้งความเยาวชนที่ออกมาชุมนุมจำนวนหนึ่งด้วยมาตรา 112

          ผมไม่รู้ว่าผู้อ่านจะมีคำถามคล้ายๆ ผมหรือเปล่า ที่ว่าในการชุมนุมแต่ละครั้งไม่ได้มีแค่เยาวชน แต่มีคนหลากหลายวัยตั้งแต่วัยทำงานถึงผู้สูงอายุ ถ้าคำว่า ‘รุ่นเรา’ จำกัดขอบเขตเฉพาะเยาวชนก็ดูแปลกๆ อยู่ เพราะถ้าใช้อายุเป็นเกณฑ์ระบุความเป็น ‘รุ่น’ ย่อมมีคนตกรุ่นจำนวนมาก

          แต่ไม่ได้มีเพียง ‘อายุ’ หรอกที่ทำให้ผู้คนต่างวัยรู้สึกเป็นคน ‘รุ่นเดียวกัน’ มันมีอีก 2 สิ่งที่ก่อรูปรุ่นขึ้นมา นั่นคือประสบการณ์ร่วมและอุดมการณ์ความคิด

          ‘อนุสรณ์อธิบายว่าเขาใช้แนวคิดเรื่องรุ่นใน 2 ความหมาย ความหมายที่หนึ่งคือคนหลายช่วงวัยที่เกาะเกี่ยวกันด้วยประสบการณ์ร่วมจนก่อให้เกิดสำนึกร่วมกัน ขณะเดียวกันก็มีการเกาะเกี่ยวกันด้วยความคิดด้วยซึ่งถูกผลิตโดยปัญญาชน รุ่นจึงไม่ได้หมายถึงคนช่วงวัยใดช่วงวัยหนึ่ง แต่หมายถึงคนหลากหลายช่วงวัยที่เกาะเกี่ยวด้วยประสบการณ์ร่วมกันและความคิด’ (อ้างอิงจากเว็บไซต์ประชาไท ‘ให้มันจบที่รุ่นเรา’ และบางสิ่งที่ ‘จบ’ ไปแล้ว)

          การตกหลุมหล่มความเหลื่อมล้ำ ถูกกดขี่บีฑาจากโครงสร้าง การถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ การประจักษ์ในความอยุติธรรม การใช้กฎหมายอย่างสองมาตรฐาน เป็นต้น และความคิด ความฝันทางการเมืองที่ต้องการเห็นสังคมที่ดีกว่าเดิม หลอมรวมร้อยรัดผู้คนต่างวัย ต่างฐานะให้กลายเป็น ‘รุ่นเรา’ ที่มีความฝันเดียวกัน

          ไม่มีใครรู้ว่ามันจะจบที่รุ่นเราหรือไม่ เพราะกลุ่มคนที่ไม่ต้องการให้จบก็พยายามยื้อยุดเข็มนาฬิกาไม่ให้เดินไปข้างหน้า มันอาจจะต้องใช้เวลาสิบปี ยี่สิบปี หรือตลอดรุ่นคน สิ่งที่บอกได้คือ ‘ความคิด’ เมื่อเกิดขึ้นแล้วไม่มีทางทำให้หายไปได้ มันจะดำรงอยู่และงอกงามแม้ว่าต้องหลบซ่อน

          ถึงกระนั้น ใช่ว่าการต่อสู้ในปี 2563 จบสิ้นไปแล้ว เปล่าเลย มันยังคงดำรงอยู่ในหลากหลายรูปแบบ แม้ว่าทุกความฝันของ ‘รุ่นเรา’ จะไม่ได้จบลงอย่างสมบูรณ์ตามที่หวัง…

          ทว่า ก็มีบางสิ่งบางอย่างจบลงไปแล้วโดยไม่มีทางรื้อฟื้นขึ้นมาอีก

‘ให้มันจบที่รุ่นเราฯ’ ความฝันที่ต้องสานต่อให้จบ
Photo: PrachataiCC BY-NC-ND 2.0, via Flickr

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก