กว่า 2 ทศวรรษ การเรียนรู้แบบ Constructionism ในประเทศไทย

138 views
9 mins
February 19, 2024

          คลาสเรียนเขียนเกมคอมพิวเตอร์ โครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ต้องลงสำรวจชุมชน โครงการลดปริมาณอาหารเหลือเพื่อลดโลกร้อน โปรเจกต์หนังสั้นและมิวสิกวิดีโอ แผนธุรกิจของผู้ประกอบการอายุน้อยร้อยล้าน เครื่องมือเหล่านี้ มักจะถูกนำมาใช้ในคลาสเรียนแบบ Constructionism ทฤษฎีการเรียนรู้ที่นำเสนอโดยซีมัวร์ แพเพิร์ต (Seymour Papert) ตั้งแต่ช่วงปี 1960s

          การเรียนการสอนแบบ Constructionism มุ่งเน้นส่งเสริมให้ผู้เรียนทำความเข้าใจโลกและสิ่งแวดล้อมรอบตัว สร้างองค์ความรู้ใหม่ด้วยตนเองจากการ ‘ลงมือทำ’ และนำมาเชื่อมโยงกับความรู้เดิมที่มีอยู่ เกิดเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถต่อยอดความรู้ของตนเองได้ตลอดชีวิต

          กระบวนการเรียนรู้เช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม และมีกระบวนการที่กระตุ้นให้ผู้เรียนตั้งคำถาม ทดลอง และที่สำคัญที่สุดคือการลงมือทำหรือสร้างสิ่งใหม่ ตรงกับคำว่า ‘Construct’ ในภาษาอังกฤษ เพราะนั่นคือช่วงเวลาที่ผู้เรียนจะประกอบสร้างองค์ความรู้หรือทฤษฎีใหม่ด้วยตนเอง

กว่า 2 ทศวรรษ การเรียนรู้แบบ Constructionism ในประเทศไทย
ซีมัวร์ แพเพิร์ต ผู้นำเสนอแนวคิด Constructionism
Photo: Matematicamente.it, CC BY-SA 3.0, via Wikimedia Commons

          ผู้อ่านบางท่านอาจสงสัยว่า แล้วการเรียนการสอนในระบบของไทย ทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา หรือแม้กระทั่งอุดมศึกษา ไม่ได้สอดคล้องกับแนวคิด Constructionism อยู่แล้วหรือ? ในเมื่อผู้สอนก็พยายามนำกระบวนการที่กระตุ้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียนมาใช้ในชั้นเรียน ไม่ว่าจะเป็นการทำโครงงาน การวิจัย การลงพื้นที่ การทำกิจกรรมต่างๆ นอกห้องเรียน ยังไม่นับการใช้เทคโนโลยีมาช่วยสร้างสรรค์วิธีการสอนอีกไม่น้อย

          ส่วนหนึ่งจากบทความ “The Seeds That Seymour Sowed” ของ มิตเชล เรสนิก (Mitchel Resnick) โปรเฟสเซอร์จาก MIT Media Lab ซึ่งเคยทำงานร่วมกันกับแพเพิร์ต อาจตอบคำถามข้างต้นได้เป็นอย่างดี

          “หลังจากได้กลับมาอ่านหนังสือเรื่อง Mindstorms (Mindstroms: Children, Computers and Powerful Ideas) อีกครั้ง เป็นเวลา 40 ปี (ในปี 1980) ตั้งแต่หนังสือได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรก ความคิดของผมก็แตกออกเป็น 2 ทาง ในทางหนึ่ง ผมมองว่าแนวคิดของซีมัวร์ที่คนคิดว่าล้ำยุคมากๆ ในช่วงปี 1980s กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษากระแสหลักไปเรียบร้อยแล้ว แต่ในอีกทางหนึ่ง เมื่อพิจารณาดีๆ ความฝันของเขาก็ยังไม่ได้รับการเติมเต็มเท่าที่ควร”

          ในช่วงที่แพเพิร์ตเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีมักจะถูกนำมาใช้เป็นสื่อการสอน แน่นอนว่าสื่อในยุคนั้นยังคงเป็นรูปแบบดั้งเดิม เช่น คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer Aided Instruction: CAI) และการออกแบบบททดสอบสำหรับผู้เรียน แต่แพเพิร์ตกล่าวไว้ในหนังสือ Mindstorms ว่า บทบาทของคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี ไม่ควรจะเป็น ‘ผู้ช่วยครู’ ที่คอยสอนหรือออกคำสั่งในห้องเรียน แต่ควรเป็นเด็กๆ ต่างหาก ที่สามารถออกแบบและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นในรูปแบบที่สอดคล้องกับจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง

          ถึงแม้ว่าเนื้อหาส่วนมากในหนังสือ Mindstorms จะพูดถึงภาษา Logo สำหรับเขียนโปรแกรม แต่แก่นของหนังสือเล่มนี้ คือ เด็กๆ จะเกิดการเรียนรู้ก็ต่อเมื่อได้ลงมือ ‘สร้าง’ ไม่ว่าจะเป็นการก่อปราสาททราย สร้างแอนิเมชัน หรือเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แนวคิดนี้ของแพเพิร์ตมีผลต่อการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนในระยะเวลาต่อมา

          ในปัจจุบัน โรงเรียนบางแห่งมีเมกเกอร์สเปซ และชั้นเรียน Coding สำหรับเยาวชน มีสื่อการสอนประเภท VR ให้นักเรียนได้เข้าไปทดลองใช้สัมผัสประสบการณ์เสมือนจริงและออกแบบบทเรียนได้เอง หลายแห่งมีแม้กระทั่งเครื่องพิมพ์ 3 มิติให้เด็กๆ ทดลองใช้งาน เรสนิกกล่าวไว้ในบทความว่า หากแพเพิร์ตมีชีวิตอยู่จนถึงทุกวันนี้ เขาอาจจะคิดว่าการเรียนการสอนในปัจจุบันให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีมากจนเกินไป (Technocentric) เป้าหมายของการเรียนรู้แบบ Constructionism ไม่ได้มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับเครื่องมือ แต่เป็น ‘Mindset’

          ดังนั้น เทคโนโลยีต่างๆ จะเกิดประโยชน์ก็ต่อเมื่อถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ของผู้เรียน และผู้เรียนใช้เครื่องมือเหล่านั้นเชื่อมโยงความรู้ และสร้างความรู้ใหม่ด้วยตนเองเท่านั้น

          เมื่อมองย้อนกลับมาดูประเทศไทย ซึ่งพยายามกระตุ้นให้การเรียนการสอนในทุกระดับใช้กระบวนการ Active Learning หรือ Flipped Classroom ในห้องเรียน ผู้สอนพยายามปรับใช้กระบวนการและเครื่องมือที่หลากหลาย แต่เราเข้าใกล้ความเป็น Constructionism หรือกระตุ้นให้ผู้เรียนประกอบสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองมากน้อยแค่ไหน? บทความนี้ชวนมองย้อนไปตั้งแต่กระบวนการเรียนรู้แบบ Constructionism เริ่มหยั่งรากลงสู่ประเทศไทย

กว่า 2 ทศวรรษ การเรียนรู้แบบ Constructionism ในประเทศไทย

กว่า 2 ทศวรรษ การเรียนรู้แบบ Constructionism ในประเทศไทย

ปลูกเมล็ดพันธุ์ Constructionism ในประเทศไทย

          การจัดการเรียนรู้ตามแนวทาง Constructionism ในประเทศไทย เริ่มต้นขึ้นในปี 2539 จากวงเสวนาอย่างไม่เป็นทางการ โดยนักวิชาการด้านการศึกษาและบุคลากรจากภาคเอกชนเข้าร่วมหลายท่าน อาทิ ดร.คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา และ ดร.พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา และในปี 2540 ดร.พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ได้เชิญซีมัวร์ แพเพิร์ต จาก MIT Media Lab มานำเสนอและจัดเวิร์กชอป นำไปสู่การทดลองใช้กระบวนการเรียนรู้แบบ Constructionism ในวงการการศึกษาไทย

          โครงการนำร่องนี้ชื่อว่า Lighthouse Project หรือ โครงการแสงสว่างแห่งปัญญา เริ่มต้นด้วยการนำแนวคิด constructionism หรือชื่อภาษาไทยว่า ‘การเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา’ มาเผยแพร่ให้กับคนกลุ่มเล็กๆ ในระยะเริ่มต้น ต่อมาได้ร่วมมือกับมูลนิธิไทยคม นำแนวคิดมาประยุกต์ใช้กับโรงเรียน ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน และชุมชน เกิดเป็นเครือข่าย Constructionism ขึ้น และส่งต่อแนวคิดนี้ไปยังหมู่บ้าน โรงเรียน มหาวิทยาลัย และองค์กรภาคเอกชนหลายแห่ง โรงเรียนดรุณสิกขาลัย เป็นโรงเรียนสาธิตที่นำแนวคิดนี้มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ

          ผ่านไปหลายปี โครงการ Constructionism Consulting Center (CCC) เกิดขึ้นในปี 2561 โดยความร่วมมือของโรงเรียนดรุณสิกขาลัยแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มูลนิธิศึกษาพัฒน์ สมาคมศิษย์เก่า MIT แห่งประเทศไทย เพื่อถอดบทเรียนและขยายผลจากประสบการณ์การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ทั้งจากการศึกษาภายในระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย การพัฒนาชุมชนเกษตรกรและกระบวนการพัฒนาบุคลากรในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม

          หากพิจารณาจากวงเสวนาในงาน Thailand Constructionism Forum 2024 ผู้เขียนคิดว่า 20 กว่าปีที่ผ่านมา ถือเป็นการ ‘ปลูก’ แนวคิด Constructionism แล้วรอให้หยั่งรากอย่างมั่นคง เพื่อให้ออกดอกออกผล สามารถส่งต่อแนวคิดสู่กลุ่มผู้ใช้ที่ใหญ่ขึ้น 

          นอกจากภาคการศึกษาแล้ว ภาคอุตสาหกรรมและชุมชน ก็นำแนวคิด Constructionism มาช่วยพัฒนาการทำงานมากยิ่งขึ้น เช่น ภาคอุตสาหกรรมนำแนวคิดไปใช้ในการพัฒนาบุคลากรให้ ‘รู้ว่าตนเองไม่รู้อะไร’ สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว  (บอกเล่าโดย เสมา พูลเวช จากบริษัทปูนซิเมนต์ไทยจำกัด: SCG)  ส่วนกลุ่มเกษตรกรกล้วยไม้นำแนวคิด Constructionism มาใช้ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคเกษตรกรรม มีการจัดวงสนทนาเพื่อพูดคุยวิเคราะห์ปัญหา แลกเปลี่ยนประสบการณ์เรียนรู้ร่วมกัน วิเคราะห์ประเด็นเรื่องต้นทุน รวมถึงใช้การวิจัย โครงงาน การทดลอง และเทคโนโลยีมาช่วยออกแบบการทำงานในรูปแบบต่างๆ  (บอกเล่าโดย สุวิทชัย แสงเทียน)

          ถ้าตั้งคำถามว่า การนำแนวคิด Constructionism มาใช้ในการเรียนการสอนเกิดผลกับผู้เรียนแค่ไหน? วงเสวนาของ ‘Constructionist’ หรือศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบันของโรงเรียนดรุณสิกขาลัย น่าจะพอตอบคำถามนี้ได้ ประเด็นสำคัญที่วงเสวนาวงนี้ได้ฝากไว้มีหลายข้อ เช่น

          การเรียนรู้แบบ Constructionism ทำให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในโลกการทำงานจริง ทั้งการประสานงาน การสื่อสาร และการทำงานร่วมกับผู้อื่น ที่อาจจะเรียกรวมๆ ได้ว่า Soft Skills ยิ่งไปกว่านั้น การเผชิญกับอุปสรรคระหว่างทางทำให้เยาวชนกลุ่มนี้มีความกล้าที่จะเผชิญกับปัญหาไม่ว่าจะในรูปแบบไหน เพราะช่วงที่อยู่ภายใต้การดูแลของผู้สอน เมื่อล้มเหลวก็มีโอกาสแก้ไข ได้รับคำปรึกษา และเรียนรู้จากข้อผิดพลาด ท้ายที่สุด ผู้เรียนจะมีความมั่นใจในตนเอง เชื่อว่ามนุษย์สามารถเรียนรู้และลงมือทำสิ่งใดก็ได้ กล้าที่จะทดลองทำสิ่งใหม่ หรือเรียกได้ว่ามี ‘sense of possibility’ นั่นเอง

          อีกประเด็นที่สำคัญจากวงเสวนา คือ การสอนแบบ Constructionism ไม่ได้ทำให้ผู้เรียนตระหนักรู้ และเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาตนเองเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้รู้จักมองภาพกว้าง เข้าใจสังคม เข้าใจผู้คน และพร้อมจะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมอีกด้วย

          เสียงสะท้อนจากวงเสวนาของ ‘เด็กๆ’ ปิดท้ายด้วยข้อเสนอที่ว่า อยากให้สถานศึกษาแห่งอื่นๆ ในระบบ รวมถึงหน่วยงาน องค์กร ภาคส่วนต่างๆ ลองพิจารณานำแนวคิดนี้ไปลองปรับใช้ เพราะผลลัพธ์ที่ได้คือบุคลากรที่มีสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต

          ข้อเสนอจากวงเสวนาของศิษย์เก่า Constructionism ราวกับจะส่งโจทย์ต่อให้กับวงเสวนาปิดท้ายหัวข้อ ‘การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ Constructionism ของประเทศไทย’

          มุมมองจากภาคการศึกษา คือ การเรียนรู้แบบ Constructionism ถูกนำมาใช้ในประเทศไทยถึงกว่า 20 ปี แล้ว แต่ด้วยข้อจำกัดของโครงสร้างระบบการศึกษาหลายประการ เช่น ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ การไม่ได้แบ่งแยกการศึกษากับการเรียนรู้ออกจากกัน การวัดผลประเมินผลที่มุ่งเน้นตัวผลผลิตมากกว่ากระบวนการเรียนรู้ ความไม่คุ้นเคยกับการเรียนรู้แบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง กระบวนการเรียนรู้แบบ Constructionism จึงไม่ได้แพร่หลายในวงกว้างเท่าที่ควร แต่อย่างน้อยในตอนนี้ ก็มีแรงส่ง (Momentum) จากเครือข่ายที่นำกระบวนการไปใช้และเกิดผลลัพธ์ที่ดี (Success Cases) มีการประเมินข้อจำกัดและโอกาสในการนำมาใช้ มีแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่ชัดเจน เรียกได้ว่ามีความพร้อมในการส่งต่อแนวคิด

          ดังนั้น ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้หลอมรวมการเรียนรู้แบบ Constructionism กับการเรียนรู้ในระบบได้สำเร็จ ก็คือ ‘Mindset’ ของผู้มีอำนาจในการเลือกว่าจะใช้หรือไม่ใช้แนวคิด Constructionism ในระบบการศึกษานั่นเอง

กว่า 2 ทศวรรษ การเรียนรู้แบบ Constructionism ในประเทศไทย
วงเสวนางาน Thailand Constructionism Forum 2024 แลกเปลี่ยนเรื่องราวการนำ Constructionism ไปช่วยพัฒนาการทำงานในภาคการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม และภาคชุมชน

ถอดประสบการณ์ Constructionism จาก มิตเชล เรสนิก

          เรสนิก มีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า Mindset และ โครงสร้างระบบการศึกษา คืออุปสรรคสำคัญในการนำกระบวนการเรียนรู้แบบ Constructionism มาใช้ และไม่ได้เป็นปัญหาแค่ในประเทศไทยเท่านั้น

          เมื่อครั้งเยี่ยมเยือนมหาวิทยาลัยซิงหวา (Tsinghua University) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีในประเทศจีน อธิการบดีในช่วงเวลานั้นได้จุดประเด็นการสนทนาว่า นักศึกษาโดยส่วนมากที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ เป็นนักศึกษาเรียนดีแบบ ‘A Students’ เด็กกลุ่มนี้ทำข้อสอบได้ดี คะแนนสอบเข้าสูงลิ่ว มีผลการเรียนดีเยี่ยม และในขณะเดียวกันก็ยึดมั่นในกฎระเบียบมากจนไม่อาจพลิกแพลงสร้างสรรค์ได้ แต่ผู้เรียนในอุดมคติของเขากลับแตกต่างออกไป นั่นคือ นักศึกษาแบบ ‘X Students’ เป็นกลุ่มคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ดี มีความยืดหยุ่น เข้าใจธรรมชาติของปัญหาต่างๆ และเรียนรู้ด้วยตนเองได้ เรสนิกเห็นด้วย และเล่าประสบการณ์ของตนเองเกี่ยวกับการใช้ LEGO Mindstorms ในกระบวนการเรียนรู้ให้ฟัง

          LEGO Mindstorms คือ ผลิตผลที่เกิดจากความร่วมมือของ MIT Media Lab กับบริษัท LEGO โดยทั้งสองฝ่ายศึกษาทดลองร่วมกันมานานกว่า 20 ปี จนกระทั่ง LEGO Mindstorms เปิดตัวขึ้นในปี 1998 ความพิเศษของนวัตกรรมชุดนี้คือ มีเซนเซอร์และมอเตอร์ฝังอยู่ในตัวต่อแต่ละชิ้น ทำให้ตัวต่อเหล่านั้นสนองตอบผู้สั่งงานได้ในหลายรูปแบบ ผู้เล่นสามารถเขียนโปรแกรมออกคำสั่งและสร้างหุ่นยนต์ได้ตามจินตนาการของตนเอง ไม่ใช่แค่เด็กและวัยรุ่นเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากนวัตกรรมนี้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยังสามารถนำ LEGO Mindstorms ไปใช้ในการออกแบบ Prototype ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้อีกด้วย

กว่า 2 ทศวรรษ การเรียนรู้แบบ Constructionism ในประเทศไทย
มิตเชล เรสนิก

          ตั้งแต่เปิดตัว LEGO Mindstorms มีผู้ที่ทดลองต่อเลโก้เป็นหุ่นยนต์และสิ่งประดิษฐ์หลากหลายรูปแบบตามคู่มือ แต่กลับไม่ค่อยมีการดัดแปลง สร้างสรรค์ และต่อยอดตามแบบ Constructionism ดังที่คาดหวังไว้ จนกระทั่งเรสนิกเดินทางมาร่วมเวิร์กชอป LEGO Mindstorms ที่จัดขึ้นในประเทศไทย หลังจาก LEGO Mindstorms เปิดตัวได้ไม่นานเขาก็พบกรณีตัวอย่างที่น่าทึ่ง

          ในเวิร์กชอปนี้ มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งครอบครัวขุดสระเลี้ยงปลาในสวน เธอต้องเดินไปเปิดปิดสวิตช์ไฟที่อยู่รายรอบสระทุกๆ วัน ในช่วงเช้า-เย็น เพื่อให้แมลงที่บินมาล้อเล่นแสงไฟตกลงไปเป็นอาหารของปลา ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นกิจวัตรประจำวันที่ต้องใช้แรงกาย ผู้เข้าร่วมเวิร์กชอปคนนี้จึงตั้งคำถามว่า LEGO Mindstorms จะช่วยผ่อนแรงได้อย่างไร จนในที่สุดก็ค้นพบว่า สามารถติดตั้งชิ้นส่วนตัวต่อที่มีเซนเซอร์แสงสว่างใกล้ๆ กับสวิตช์ไฟได้ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของแสงอาทิตย์ เซนเซอร์จากตัวต่อจะเริ่มทำงาน และปิดเปิดสวิตช์ไฟโดยอัตโนมัติ เพียงเท่านี้ก็สามารถอำนวยความสะดวก ทำให้เธอไม่ต้องเดินไปเปิดปิดสวิตช์ไฟทุกเช้าเย็น

          เรสนิกคิดว่า การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ที่เริ่มต้นจากระบุปัญหาและใช้เทคโนโลยีเข้ามาแก้ไขแบบนี้แหละ คือสิ่งที่เขาคาดหวังจะให้เกิดขึ้นในทุกๆ คลาสเรียน ดังนั้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เขาจึงไม่เพียงแต่คิดค้นเครื่องมือหรือเทคโนโลยี แต่ให้ความสำคัญกับกระบวนการคิดของผู้สอนและผู้เรียนด้วย

          จากประสบการณ์ที่ผ่านมา การเรียนรู้แบบสร้างสรรค์และการประกอบสร้างองค์ความรู้ใหม่ในมุมมองของเรสนิก จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีองค์ประกอบ 4P ซึ่งตัวเขาเองได้พัฒนาต่อยอดมาจากทฤษฎี Constructionism ของแพเพิร์ต ดังนี้

          Project (โครงงาน) – โจทย์ในการสร้างสรรค์อาจเริ่มต้นจากระบุปัญหา ผู้สอนอาจจะสอนหลักคิดก่อนที่จะมอบหมายให้ทำโครงงาน แต่กระบวนการทำงานเป็นกลุ่มจะเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เด็กๆ มีโอกาสเรียนรู้ในขณะที่ลงมือทำ

          Passion (ความสนใจ) – ความสนใจ หลงใหล ชื่นชอบ ในสิ่งที่ทำ จะทำให้เด็กๆ มีใจจดจ่อกับประเด็นที่กำลังเรียนรู้ และสำรวจประเด็นนั้นๆ ได้อย่างลึกซึ้งกว่า

          Peers (ทำงานเป็นทีม) – การเรียนรู้ร่วมกับคนในสังคมที่มีความหลากหลาย จะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน และเรียนรู้จากกันและกัน

          Play (เรียนด้วยความสนุก) – การเรียนรู้ด้วยความสนุก จะทำให้เกิดการทดลองแบบไม่รู้จบ ผู้เรียนมีความกล้าที่จะเสี่ยง กล้าที่จะล้มเหลว กล้าที่จะทำในสิ่งที่ยากและท้าทาย

          ไม่ว่ารูปแบบการสอนจะเป็นแบบใด ใช้เครื่องมือแบบไหน มีทรัพยากรพร้อมหรือไม่ หากครบด้วยองค์ประกอบดังกล่าว ก็มีโอกาสที่ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ได้

จาก LEGO Mindstorms ถึง OctoStudio: พัฒนาการเครื่องมือการสอนแบบ Constructionism

          นับจากปีที่หนังสือเรื่องMindstorms ของแพเพิร์ตตีพิมพ์ครั้งแรกจนถึงวันนี้ การเรียนการสอนแบบ Constructionism มีการเปลี่ยนแปลงหลายประการ เรสนิกมองว่า มันไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงแบบรวดเร็ว (Revolution) แต่ค่อยเป็นค่อยไปแบบมีพัฒนาการ (Evolution)

          แม้ว่าการใช้เทคโนโลยีจะไม่ใช่หัวใจสำคัญของ Constructionism แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เทคโนโลยีคือเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ได้อย่างไร้ข้อจำกัดมากขึ้น จาก LEGO Mindstorms หลายสิบปีต่อมาจึงมีการพัฒนาเครื่องมือสนับสนุนการเรียนรู้หลายรูปแบบ เช่น แพลตฟอร์มโค้ดดิง โปรแกรมสร้างแอนิเมชัน เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ทดลองสร้างสรรค์สิ่งใหม่โดยไม่ต้องกลัวว่าจะทำให้เกิดความเสียหายในเชิงกายภาพ สามารถรื้อแก้ ล้มเหลว และทำใหม่ได้อยู่เรื่อยๆ

          เรสนิก ก่อตั้งกลุ่ม Lifelong Kindergarten ชุมชนที่ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์ของเยาวชน เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างได้       

          ผลงานที่ได้รับความนิยมจากคลาสเรียนทั่วโลก คือ Scratch แพลตฟอร์ม Coding สำหรับเด็ก ที่สามารถเข้าถึงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ใช้เขียนเกม แอนิเมชัน หรือโปรแกรมง่ายๆ ก็ได้ และสามารถแชร์สิ่งประดิษฐ์ของตนเองกับคนในชุมชนผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ซึ่งมีผู้ใช้งานกว่า 100 ล้าน คน นับตั้งแต่เปิดตัวในปี 2007  เครื่องมือนี้ ทำให้เด็กๆ หลายคนใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบผลงาน ฝึกการใช้เหตุและผล และทำงานร่วมกับผู้อื่นไปพร้อมกับการฝึกทักษะด้านคอมพิวเตอร์และคณิตศาสตร์ ในปัจจุบันมีโปรเจกต์เกิดขึ้นใน Scratch ถึงกว่า 20 ล้านโปรเจกต์แล้ว

          แม้ว่า Scratch จะเป็นที่นิยม และถือว่าประสบความสำเร็จด้วยดี แต่ เรสนิก ยังคงคิดว่าต้องมีการปรับปรุงเครื่องมือสำหรับการเรียนรู้อยู่เรื่อยๆ ประดิษฐกรรมล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวไปคือ OctoStudio แอปพลิเคชันสำหรับ Coding แบบออนไลน์ในโทรศัพท์มือถือ ที่ต่อยอดมาจาก Scratch ซึ่งต้องใช้งานในเครื่องคอมพิวเตอร์เท่านั้น เพื่อปรับให้เข้ากับพฤติกรรมของมนุษย์ในปัจจุบันที่พกโทรศัพท์สมาร์ทโฟนตลอดเวลา สโลแกนของ OctoStudio จึงสะท้อนภาพของการใช้งานจริง ‘Create Anytime Anywhere’ หรือ สร้างสรรค์ได้ทุกที่ทุกเวลา

วิดีโอแนะนำ Lifelong Kindergarten

วิดีโอตัวอย่างการใช้งาน OctoStudio

          เมื่อย้อนกลับมามองโรงเรียนต้นแบบในประเทศไทย แม้ในระยะเริ่มต้นจะเป็นการรับเอาแนวคิดจาก MIT Media Lab มาปรับใช้ แต่ก็มีการพัฒนาแนวทางการเรียนการสอนของตนเอง ในปัจจุบันโรงเรียนดรุณสิกขาลัยก็มีการประยุกต์ใช้เครื่องมือที่หลากหลาย ทั้งแบบที่ใช้และไม่ใช้เทคโนโลยี โดยผู้สอนจะทำหน้าที่เป็นผู้จัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นต่อการสร้างสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้แก่เด็กๆ

          ครูดวงฤทัย พรหมพิชัย แห่งโรงเรียนดรุณสิกขาลัย กล่าวว่า กระบวนการสอนแบบ Constructionism ก็ต้องมีการพัฒนาอยู่เสมอ หลังจากทดลองสอนมาหลายปีก็ถึงเวลาต้องปรับ ‘โมเดล’ ให้กระบวนการเรียนรู้เกิดผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น จากเดิมที่เคยยึดถือโมเดล Think – Make – Reflect (คิด – ลงมือทำ – ทบทวน) ในการออกแบบการสอน ครูดวงฤทัยเล็งเห็นว่าสิ่งที่ขาดไปคือการ ‘Connect’ หรือ การเชื่อมโยงในหลายมิติ จึงได้มีการเพิ่มกระบวนการเชื่อมโยงเข้าไปในหลายจุด

          เชื่อมโยงกับผู้สอนท่านอื่นๆ เพื่อร่วมสร้างสรรค์เนื้อหาและกลวิธีในการสอน ทบทวนข้อคิดเห็นจากผู้เรียนในปีก่อนๆ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในกลุ่ม ‘Facilitator’ ด้วยกันเอง

          เชื่อมโยงผู้สอนกับผู้เรียน พยายามสื่อสารให้เข้าใจ เพื่อเพิ่มประสิทธิผลของกระบวนการเรียนรู้

          เชื่อมโยงกับผู้ปกครอง เพราะผู้ปกครองก็มีบทบาทสำคัญในการสร้างสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้

          และ เชื่อมโยงผู้เรียนกับชุมชนและสังคม เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจสภาพความเป็นไปรอบตัว

          สิ่งแวดล้อมโลกการศึกษาเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ย้อนกลับไปสู่คำถามแรกในช่วงต้นของบทความนี้ ว่า การเรียนการสอนในระบบการศึกษาของไทยเข้าใกล้ Constructionism มากน้อยแค่ไหน?

          ข้อมูลจาก Thailand Constructionism Forum 2024 บ่งบอกได้ว่า ในประเทศไทยมีเครือข่ายที่พร้อมจะเผยแพร่ส่งต่อแนวคิด มีต้นแบบสถานศึกษา อุตสาหกรรม และชุมชนที่ทดลองนำกระบวนการเรียนรู้แบบ Constructionism ไปใช้หลายแห่ง มีศิษย์เก่าที่พร้อมบอกเล่าประสบการณ์ รอเวลาที่จะเกิดการผสมผสานแนวคิดนี้เข้ากับการศึกษาในระบบและปรับใช้ให้เหมาะสม ปัญหาคงไม่ได้อยู่ที่การขาดแคลนเทคโนโลยีและทรัพยากรในทุกกรณีไป แต่อยู่ที่จะปรับ ‘Mindset’ และ ‘โครงสร้าง’ อย่างไร ให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้เดิมและเพิ่มองค์ความรู้ใหม่ได้ตลอดชีวิต นี่ยังเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องยังต้องคิดอย่างละเอียดกันต่อไป

          หากตั้งคำถามว่า แล้วสังคมไทยจำเป็นต้องใช้แนวคิด Constructionism ในการเรียนการสอนหรือไม่?  ส่วนหนึ่งของบทความ “The Seeds That Seymour Sowed” โดย เรสนิก ก็อาจจะพอตอบคำถามนี้ได้

          “สิ่งแวดล้อมการเรียนรู้พัฒนาไปไม่น้อย นักการศึกษาเริ่มตระหนักว่าระบบการศึกษาในปัจจุบันไม่ตอบโจทย์สังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงที่นักปฏิรูปการศึกษาคาดหวังนั้น เป็นไปในทิศทางเดียวกับแนวคิดที่ซีมัวร์เคยเสนอไว้ นั่นแปลว่าไม่ว่าจะเชื่อหรือยึดถือในแนวคิดใดก็ตาม ผู้ที่พยายามจะสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษา กำลังพยายามสร้างสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็นและศักยภาพของตนเองมากขึ้น มีโอกาสได้เรียนรู้จากการสำรวจ ทดลองทำ เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ที่สามารถคิดอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งก็เป็นไปในแนวทางที่สอดคล้องกับแนวคิด Constructionism ของซีมัวร์เช่นกัน”


ที่มา

การประชุม Thailand Constructionism Forum 2024

บทความ “Engaging people in creative learning experiences” จาก media.mit.edu (Online)

บทความ “Scratch hits a major milestone—100 million global users!” จาก media.mit.edu (Online)

บทความ “The Seeds That Seymour Sowed” จาก (Online)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก