‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ พัฒนาคนพัฒนาเมืองให้ก้าวไกลไปแข่งโลก

5,326 views
8 mins
March 2, 2022

          ช่วงไม่กี่ทศวรรษมานี้ คำว่า ‘เมืองการเรียนรู้’ (Learning City) หรือ ‘เมืองความรู้’ (Knowledge City) ได้รับความสนใจมากขึ้น ในฐานะองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาแนวทางการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์โลกยุคใหม่ ปัจจุบันมีหลายเมืองที่พยายามผลักดันแนวคิดดังกล่าวให้เป็นจริง และสามารถสร้างสรรค์เมืองความรู้ที่มีเอกลักษณ์และเป็นตัวของตัวเอง แก้ไขจุดอ่อนต่อยอดจุดแข็งของเมืองจนกลายเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง

          องค์การยูเนสโก มีโครงการสนับสนุนส่งเสริมให้มีการพัฒนาเมืองที่เกิดจากการมีส่วนร่วมระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นกับภาคประชาสังคม ชื่อว่าโครงการ The UNESCO Global Network of Learning Cities (GNLC) ได้รับความสนใจจากเมืองต่างๆ ทั่วโลก และต้องผ่านการคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกตามเกณฑ์ที่กำหนด นับจนถึงปี 2021 เครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก มีสมาชิกทั้งหมด 229 เมือง จาก 64 ประเทศ โดยประเทศไทยมีเมืองที่เป็นสมาชิก UNESCO GNLC แล้ว จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ เทศบาลนครเชียงราย เทศบาลนครภูเก็ต เทศบาลนครเชียงใหม่ และเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา

          นอกจากยูเนสโกแล้ว ยังมีองค์กรและสถาบันนานาชาติที่ให้การสนับสนุนเมืองต่างๆ ทั่วโลก ทั้งในรูปของการประชาสัมพันธ์ การมอบรางวัล การให้คำปรึกษาแนะนำ และอื่นๆ

          เพื่อให้เห็นภาพของเมืองการเรียนรู้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ประสบการณ์จาก 4 เมือง ได้แก่ เมลเบิร์น บาร์เซโลนา ชิคาโก และโอซัน เป็นตัวอย่างของ ‘เมืองการเรียนรู้’ ที่เกิดขึ้นท่ามกลางบริบทอันหลากหลาย เป็นเมืองความรู้ที่กำเนิดขึ้นจากจุดเริ่มต้นที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจช่วยให้เห็นความเป็นไปได้ว่า หากต้องการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ในแบบฉบับของตนเอง ควรเริ่มคิดและลงมือทำอย่างไร

เมลเบิร์น ออสเตรเลีย : เมืองแห่งศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา

          เมลเบิร์น เมืองหลวงของรัฐวิกตอเรีย คือเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศออสเตรเลีย รองจากนครซิดนีย์ เป็นเมืองที่มีความแข็งแกร่งทั้งด้านเศรษฐกิจ การเงิน ไอที การศึกษา การขนส่ง และการท่องเที่ยว ได้รับการเสนอชื่อเป็นเมืองน่าอยู่โดย Economist Intelligence Unit ติดต่อกันหลายปี

          แผนพัฒนา Future Melbourne 2026 ตั้งเป้าให้เมลเบิร์นเป็นเมืองระดับโลกที่สร้างแรงบันดาลใจและพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นเมืองต้นแบบหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือการเป็นเมืองความรู้ ที่เน้นพลังแห่งความคิดและประสบการณ์ สนับสนุนระบบการศึกษาและการวิจัยที่มีทรัพยากรครบครัน ส่งเสริมภาคธุรกิจโดยการผลิตแรงงานที่มีทักษะความสามารถสูง ส่งเสริมวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย

          ในแง่กระบวนการ มีการเปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้แลกเปลี่ยนความรู้และการรับฟังความคิดเห็น เช่น จัดให้มีงาน ‘Melbourne Knowledge Week’ เป็นประจำทุกปี ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ เวิร์กชอป เสวนา นิทรรศการ และการแสดง เพื่อให้ผู้คนได้ค้นพบไอเดียใหม่ๆ เกิดแรงบันดาลใจ และทำความรู้จักเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนโฉมเมืองในอนาคต มี ‘Open Data Platform’ ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาสืบค้นดูข้อมูลของสภาเมืองได้ผ่านระบบออนไลน์ มีการจัดกิจกรรม ‘Melbourne Conversations’ ที่เปิดให้ประชาชนได้พูดคุยแสดงความเห็นอย่างเสรีเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองหรือประเด็นปัญหาต่างๆ

วิดีโอ แนะนำงาน Melbourne Knowledge Week

          นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาแหล่งเรียนรู้เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และศิลปวัฒนธรรม เช่น โครงการ ‘Creative Spaces’ เป็นความร่วมมือระหว่าง City of Melbourne และ Arts Victoria เริ่มต้นมาจากการจัดทำฐานข้อมูลออนไลน์ของอาคารที่ไม่ได้ใช้งานในเขตเมือง และประสานงานกับเจ้าของอาคารเหล่านั้นเพื่อขออนุญาตให้กลุ่มศิลปินเข้าใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ทำงานและจัดแสดงผลงาน มีการสร้างและปรับปรุงพื้นที่สาธารณะ เช่น พิพิธภัณฑ์เมลเบิร์น ศูนย์ศิลปะร่วมสมัย หอศิลป์ ห้องสมุด โรงละคร ทำให้เมลเบิร์นกลายเป็นศูนย์กลางทางศิลปวัฒนธรรม มีแกลเลอรี่น้อยใหญ่รวมกว่า 100 แห่ง มีหอศิลป์ The National Gallery of Victoria ที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของประเทศ โดยข้อมูลทุกอย่างจะถูกรวบรวมไว้ในเว็บไซต์อย่างเป็นระบบ และมีโทรศัพท์สายด่วนเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งเรียนรู้ต่างๆ

          จุดเด่นอีกประการของเมลเบิร์น คือการเป็นเมืองแห่งมหาวิทยาลัยและการศึกษา เมลเบิร์นเป็นที่ตั้งของวิทยาเขตหลายสิบแห่ง เป็นหนึ่งในเมืองเป้าหมายด้านการศึกษาของนักเรียนและนักศึกษานานาชาติ และมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้ของเมือง ในฐานะแหล่งผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ และศูนย์รวมการค้นคว้าวิจัย การพัฒนานวัตกรรม โดยมีการสร้างความร่วมมือระหว่างเมือง มหาวิทยาลัย และธุรกิจเอกชน พัฒนาเป็นเขตนวัตกรรมเพื่อดึงดูดธุรกิจขนาดเล็ก สตาร์ทอัป และวิสาหกิจเพื่อสังคมเข้ามาในพื้นที่ เช่น โครงการ Melbourne Connect

         มหาวิทยาลัยในเมืองเมลเบิร์นยังปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการและความท้าทายใหม่ของตลาดแรงงาน โดยวางบทบาทใหม่ให้เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต นำเอาศักยภาพที่มีอยู่เดิมคือการเป็นศูนย์รวมความรู้ขั้นสูงและหลากหลาย มาพัฒนาเป็นหลักสูตรเพื่อเพิ่มทักษะการทำงาน โดยคำนึงถึงข้อจำกัดและภาระของคนวัยทำงานให้สามารถจัดสรรเวลาในการศึกษาเล่าเรียนเพิ่มเติมได้ มีการร่วมมือกับองค์กรชั้นนำจัดทำเป็นหลักสูตรขนาดย่อม (micro credential) เช่น หลักสูตรของ Melbourne School of Professional and Continuing Education (MSPACE) ซึ่งก่อตั้งโดยมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น เป็นต้น

บาร์เซโลนา สเปน : พัฒนาเมืองบนพื้นฐานของเทคโนโลยี

          ในปี ค.ศ. 1988 เมืองบาร์เซโลนาเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำและการว่างงาน จึงมองหานโยบายพัฒนาเมืองในทิศทางใหม่เพื่อตอบรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลก จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1992 สภาเมืองบาร์เซโลนาจึงใช้โอกาสนี้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง และประกาศว่าจะพัฒนาบาร์เซโลนาให้เป็นเมืองอัจฉริยะแห่งแรกของประเทศสเปนใน ค.ศ. 2013

          บาร์เซโลนากำหนดเป้าหมายการพัฒนาบนพื้นฐานของการใช้ประโยชน์จากความรู้และเทคโนโลยี เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ควบคู่ไปกับความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม มีการนำเทคโนโลยีไปปรับปรุงและพัฒนาการให้บริการต่างๆ ทั้งขนส่งสาธารณะ ระบบไฟส่องทาง การจัดการขยะ การจัดการน้ำ การบริการด้านสุขภาพและสังคม

          ในการส่งเสริมภาคธุรกิจ บาร์เซโลนาวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ หรือ ‘Barcelona Growth’ เพื่อเพิ่มการจ้างงาน ส่งเสริมการลงทุนและการระดมทุน ดึงดูดการสร้างสรรค์ของภาคเอกชน ออกมาตรการช่วยเหลือกลุ่มบริษัทหรือผู้ประกอบการ จัดตั้ง Barcelona Empren เป็นบริษัทร่วมทุนเพื่อตอบสนองความต้องการทางการเงินขององค์กรนวัตกรรมขนาดเล็ก จัดให้มีพื้นที่ส่งเสริมการสร้างองค์ความรู้ ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เช่น ใน ค.ศ. 2004 ริเริ่มโครงการ 22@ มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับ Knowledge Economy ภายในโครงการประกอบด้วยศูนย์ฝึกอบรม สถาบันวิจัย ที่พักอาศัย สิ่งอำนวยความสะดวก พื้นที่สีเขียว สามารถดึงดูดบริษัทให้เข้ามาประกอบกิจการในพื้นที่โครงการมากกว่า 1,500 แห่ง และเกิดการจ้างงานกว่า 44,600 ตำแหน่ง

          สเปนเป็นประเทศหนึ่งที่เผชิญกับปัญหาโครงสร้างประชากร โดยกลุ่มคนสูงวัยมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น ประชากรมีอายุขัยเฉลี่ย (Life Expectancy) สูงเป็นลำดับต้นๆ ของโลก คือ 83.2 ปี ด้วยเหตุนี้ในปี ค.ศ. 2014 เทศบาลเมืองบาร์เซโลนาจึงริเริ่มโครงการที่ชื่อว่า VinclesBCN (ในภาษาท้องถิ่น คำว่า Vincles แปลว่า เครือข่ายสังคม) ออกแบบและพัฒนาแอปพลิเคชันบนแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน เพื่อสร้างเครือข่ายและส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้สูงอายุ เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการทั่วเมืองบาร์เซโลนาเมื่อต้นปี 2018 และมีส่วนช่วยให้ผู้สูงวัยที่อาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยวกลับมามีความสุขอีกครั้ง ขณะเดียวกันยังทำให้คนกลุ่มนี้คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น เสียงตอบรับจากกลุ่มเป้าหมายเป็นไปในทางบวก โดยกว่า 80% เห็นคุณค่าในตนเองมากขึ้น (Self-esteem) 70% มีกลุ่มเพื่อนเพิ่มขึ้น และ 60% เห็นว่าตนเองมีสภาพจิตใจดีขึ้น

วีดิโอ แนะนำโครงการ VinclesBCN บาร์เซโลนา

ชิคาโก สหรัฐอเมริกา : ฤดูร้อนแห่งการเรียนรู้ พัฒนาเมืองโดยมีเยาวชนเป็นศูนย์กลาง

         ในปี ค.ศ. 2013 มีข้อมูลที่ชี้ว่า เด็กวัยเรียนในชิคาโกประสบปัญหาความรู้ถดถอยในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน เทศบาลเมืองชิคาโกจึงริเริ่มโครงการ ‘Chicago Summer of Learning’ เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชนในเมืองสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ที่สนุกและมีคุณภาพในช่วงที่โรงเรียนยังไม่เปิด โดยได้รับความร่วมมือจากองค์กรต่างๆ กว่าร้อยแห่ง ช่วยกันจัดโปรแกรมส่งเสริมการเรียนรู้จำนวนมากถึง 135,000 รายการ

          ตัวอย่างโปรแกรมที่น่าสนใจ เช่น การจัดตั้งสภาเยาวชน เปิดโอกาสให้เยาวชนมีบทบาทร่วมกับผู้นำในการดำเนินนโยบายสาธารณะ การจัดทำหลักสูตรออนไลน์แบบเข้มข้นโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เช่น สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) เปิดหลักสูตรเบื้องต้นเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ‘A Taste of Python Programming’ ซึ่งนักเรียนจะได้เรียนพื้นฐานและแนวคิดหลักเกี่ยวกับภาษา Python หรือการจัดกิจกรรมการอ่านร่วมกับห้องสมุดประชาชน ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องใช้เวลาอ่านหนังสือ 500 นาที แล้วแปลงเวลาในการอ่านเป็นมูลค่าหรือหน่วยนับสำหรับนำไปร่วมกิจกรรมการเรียนรู้กับองค์กรพันธมิตร เช่น ได้เรียนฟรีใน Khan Academy เป็นเวลา 500 นาที เป็นต้น

         เด็กนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมและปฏิบัติตามรายละเอียดของโปรแกรมต่างๆ ครบถ้วน จะได้รับ Digital Badge เพื่อการันตีความสามารถและทักษะ เมื่อผู้เรียนสะสมทักษะไปเรื่อยๆ จะสามารถนำ Digital Badge ไปแลกของรางวัลต่างๆ พร้อมสร้างแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) ส่วนตัวเพื่อการศึกษาต่อหรือการทำงานในอนาคตได้อีกด้วย

          การศึกษาโดย Chapin Hall แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก พบว่าเด็กที่เข้าร่วมโครงการนี้ ใช้เวลากับการอ่านเพิ่มขึ้น 15% และมีทักษะคณิตศาสตร์เพิ่มขึ้น 20% ผลลัพธ์ดังกล่าวนำมาสู่การต่อยอดเป็นโครงการ Chicago City of Learning (CCOL) เพื่อสนับสนุนระบบนิเวศการเรียนรู้ 24 ชั่วโมงภายในเมือง ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ที่ร่วมพัฒนาโดย Digital Youth Network (DYN) แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก

          CCOL จัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ โดยการจินตนาการว่าชิคาโกเป็นวิทยาเขตหนึ่งของมหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้ และพันธมิตรต่างๆ มีหน้าที่สร้างสรรค์และพัฒนาหลักสูตรซึ่งผู้เรียนสามารถเลือกเรียนได้อย่างอิสระ โดยอ้างอิงจากองค์ความรู้และผลการประเมินความรู้จาก Digital Badge ซึ่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน เพื่อสร้างเป็นรายวิชาเฉพาะที่ประกอบขึ้นมาจากการสั่งสมองค์ความรู้ของตนเอง

          แพลตฟอร์มออนไลน์นี้ได้รับการออกแบบให้มีลักษณะเรียบง่าย เป็นมิตรต่อผู้ใช้ สามารถค้นหา ระบุสิ่งที่สนใจ และปรับแต่งการเรียนรู้ตามความสนใจของตนเองได้ตลอดเวลา เชื่อมต่อการเรียนรู้ทั้งบนโลกออนไลน์และโลกจริง เช่น หากผู้เรียนสนใจด้าน Earth and Science ก็สามารถไปที่ Chicago Botanic Garden และค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างดินที่อุดมด้วยสารอาหาร เก็บพืชผักผลไม้สดๆ จากสวน และนำไปฝึกปรุงอาหารเพื่อสุขภาพที่บ้าน หรือหากผู้เรียนสนใจด้านการออกแบบ อาจลองไปสำรวจโมเดลคฤหาสน์โรบี (Frederick C. Robie) และทดลองสร้างอาคารของตัวเองได้ที่ LEGO Studio

          นอกจากนี้ เมื่อถึงวัยที่ต้องเข้าโรงเรียน นักเรียนทุกคนจะมี Online ID Account ของตนเองโดยอัตโนมัติ พวกเขาจึงสามารถสร้างแฟ้มสะสมผลงานได้ตั้งแต่อายุยังน้อย ขณะเดียวกันก็เชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของ CCOL  โดยข้อมูลของเด็กทุกคนและเยาวชนจะถูกรวบรวมและนำมาวิเคราะห์ จัดทำเป็นแผนที่เปรียบเทียบระดับรายได้ ทำเลที่พักอาศัย และกิจกรรมที่พวกเขาสนใจ เพื่อประมวลความสัมพันธ์ระหว่างโปรแกรมกิจกรรมการเรียนรู้กับการเข้าถึง ซึ่งในแง่ของการเข้าถึงนั้น CCOL ได้จัดหา ‘รถตู้ติดตั้งอุปกรณ์’ ที่มีคอมพิวเตอร์หลายสิบเครื่อง เทคโนโลยีไร้สาย และพี่เลี้ยงจำนวนมากคอยช่วยเหลือเด็กๆ ซึ่งอาศัยอยู่ในย่านที่เดินทางไม่สะดวก เป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงความรู้และสำรวจความสนใจของพวกเขา เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีเด็กคนใดหลุดออกจากระบบการเรียนรู้

วีดิโอ แนะนำโครงการ Chicago City of Learning (CCOL)

          ในเวลาต่อมา โครงการ CCOL ของเมืองชิคาโก ได้กลายเป็นโครงการตัวอย่างที่ถูกนำไปปรับใช้ทั่วประเทศ เป็นแนวปฏิบัติที่สามารถเชื่อมโยงทุกภาคส่วนของเมืองเข้าด้วยกัน ตั้งแต่รัฐบาลท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ บริษัทเอกชน ครอบครัว พ่อแม่ผู้ปกครอง และเยาวชน ผ่านวิธีการดำเนินงานง่ายๆ คือการร่วมมือกันจัดโปรแกรมกิจกรรมการเรียนรู้ภาคฤดูร้อนที่มีคุณภาพและเปิดกว้างอย่างเท่าเทียม

โอซัน เกาหลีใต้ : เมืองแห่งการเรียนรู้ 100 ปี

          เมืองโอซันได้รับเลือกเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก (GNLC) ในปี 2016 และได้รับรางวัล UNESCO Learning Cities Award ในปี 2021 ซึ่งมอบให้แก่สมาชิกเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ที่มีผลงานโดดเด่น เป็นประจำทุก 2 ปี

          เมืองโอซันตั้งเป้าหมายการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ภายใต้วิสัยทัศน์ ‘เมืองแห่งการเรียนรู้ 100 ปี’ ที่พลเมืองและการเรียนรู้เป็นหนึ่งเดียวกัน โดยส่งเสริมการเรียนรู้ตั้งแต่ระดับครอบครัว และสนับสนุนให้มีการใช้เทคโนโลยีการเรียนรู้ที่ทันสมัย เน้นให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชน เป้าหมายคือเด็กและผู้ใหญ่จะได้รับประโยชน์จากโอกาสในการเรียนรู้ที่ส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการ ปลูกฝังจิตสำนึกความเท่าเทียม การเป็นพลเมืองโลก และการพัฒนาที่ยั่งยืน

          ตัวอย่างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม และสถาบันการศึกษา เช่น โครงการ ‘Osan’s Stepping Stone’ โดยการปรับอาคารสำนักงาน โบสถ์ มหาวิทยาลัย ให้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมการเรียนรู้ในช่วงนอกเวลาทำการ เพื่อให้คนในชุมชนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ในระยะการเดินไม่เกิน 10 นาทีจากบ้านพัก โดยก่อนช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผู้ได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมโปรแกรมดังกล่าวถึง 41,824 คน ผ่าน 216 สถานที่

          อีกโปรแกรมที่น่าสนใจ คือโปรแกรม ‘100-Year Citizens’ University ที่เน้นการมีส่วนร่วมของพลเมืองสูงวัยและคนชายขอบ โดยเปิดให้พลเมืองที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป สมัครเข้าเรียนหลักสูตรอบรมการเป็นผู้นำและพัฒนาชุมชน เมื่อจบการศึกษาจะได้รับใบรับรอง และทำงานร่วมกับชุมชนในฐานะวิทยากรท้องถิ่น นอกจากนั้นยังมีการแต่งตั้งผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพของตน ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญประจำท้องถิ่นในสาขาต่างๆ ช่วยเสริมพลังให้คนในชุมชนเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจและมองเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาที่ถูกละเลยหรือมองข้ามไป

          นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนให้ประชาชนได้ทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น โครงการ TTASUM Mask-Sharing ดำเนินการผลิตและแบ่งปันหน้ากากผ้าฝ้าย เนื่องจากภาวะขาดแคลนหน้ากากอนามัยในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โครงการนี้เกิดจากความคิดริเริ่มของคนในท้องถิ่นเอง ซึ่งนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้แล้ว ยังเป็นการบ่มเพาะวัฒนธรรมการแบ่งปันและสร้างเสริมมิตรภาพอันอบอุ่นอีกด้วย

           โดยปกติแล้ว เมืองโอซันจะมีเทศกาลตลอดทั้งปี จึงมีการส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ผ่านงานเทศกาลต่างๆ และกำหนดให้มีกิจกรรมการเรียนรู้เทคโนโลยีของศตวรรษที่ 21 ในโรงเรียนของรัฐ เช่น กิจกรรมทดลองการบินโดรน การเขียนโค้ด การใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ

          จากความตั้งใจและการผลักดันกิจกรรมโครงการต่างๆ จนเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้เมืองโอซันได้รับเลือกให้เป็น ‘เขตความร่วมมือปกครองตนเองด้านการศึกษาในอนาคต’ ของกระทรวงศึกษาธิการเกาหลีใต้ ในปี ค.ศ. 2020 ตามมาด้วยรางวัล UNESCO Learning Cities Award ประจำปี 2021

สร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ให้เป็นจริง

          จากกรณีตัวอย่างทั้ง 4 เมือง เราอาจมองเห็นปัจจัยร่วมบางประการของเมืองแห่งการเรียนรู้ อาทิ การให้ความสำคัญกับความต้องการจากฐานราก การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ มีแพลตฟอร์มที่รวบรวมข้อมูลและองค์ความรู้ในทุกมิติทุกรูปแบบ และความมุ่งมั่นเพื่อการส่งเสริมการเรียนรู้ของพลเมืองจากหน่วยงานที่มีอำนาจตัดสินใจ

          การพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ จะมีความยั่งยืนก็ต่อเมื่อผู้พัฒนามีความเข้าใจเมืองหรือพื้นที่อย่างละเอียดรอบด้าน และเลือกหยิบสิ่งเหล่านั้นมาใช้อย่างสร้างสรรค์ โดยนำแนวทางสากลมาประยุกต์ต่อยอดผ่านกระบวนการของท้องถิ่น เพื่อสร้างเมืองการเรียนรู้ในแบบฉบับของตน

          เหนืออื่นใด คือการตระหนักว่าเมืองแห่งการเรียนรู้ไม่อาจเกิดขึ้นได้จากความพยายามของภาคส่วนใดส่วนหนึ่งเพียงลำพัง แต่จำเป็นต้องเกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบและค่อยเป็นค่อยไป


ที่มา

วสศ. เมืองแห่งการเรียนรู้ คืออะไร. [Online]

The Urbanis. เมืองแห่งการเรียนรู้คืออะไร เมื่อการเรียนรู้ > การศึกษา. [Online]

กรุงเทพธุรกิจ.  ‘Learning City’ สร้างบ้าน Plan เมือง จุดประกาย ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’. [Online]

ระวี สัจจโสภณ. อนาคตภาพรูปแบบเมืองแห่งการเรียนรู้ตามแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาภาวะพฤฒิพลังของผู้สูงอายุไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญาครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต คณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2012.

NG Thai. เรียนรู้ไปกับ Melbourne เมืองแบบไหนที่เราเรียกว่า Knowledge City? [Online]

Ron Dvir. “Knowledge City, seen as a Collage of Human Knowledge Moments”. 2006.

Chicago City of Learning. [Online]

My CHI. My Future. Connecting YOU to passions and possibilities. [Online]

We Built The City of Learning! [Online]

Knowledge Is Key: The Case of Melbourne. 2018. [Online]

Future Melbourne 2026 Plan. [Online]

Osan City wins the 2021 UNESCO Learning Cities Award. [Online]

UNESCO Learning City Awardee 2021: Osan, Republic of Korea. [Online]

Cover Photo : Melbourne Knowledge Week

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก