เรียนเล่นเร้นลึก ใช้ ‘การ์ตูน’ สร้างสำนึก ‘ความเป็นพลเมือง’

878 views
4 mins
October 3, 2023

          ปัจจุบันมายาคติที่ว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัวหรือไม่เกี่ยวข้องกับเยาวชน ถูกพิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่เรื่องจริง มีผลสำรวจว่า 4 ใน 5 ของประชากรอายุ 16-25 ปีในอังกฤษมีความสนใจด้านการเมือง โดยพวกเขาส่วนใหญ่รู้สึกสบายใจที่จะพูดคุยหรืออภิปรายเรื่องดังกล่าวกับเพื่อนๆ เช่นเดียวกับข้อมูลของสหรัฐอเมริกาที่ระบุว่า เยาวชนกว่า 76% เชื่อว่าคนหนุ่มสาวมีพลังในการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ โดยพวกเขา 1 ใน 3 คนเคยลงนามเรียกร้องในประเด็นสาธารณะ และ 1 ใน 7 คนเคยเข้าร่วมการเดินขบวนหรือการประท้วง  

          สำหรับการเรียนการสอนในโรงเรียน เนื้อหาว่าด้วยเรื่องการเมือง ประชาธิปไตย สิทธิ และหน้าที่ ถูกบรรจุไว้ในวิชาสังคมศึกษา วิชาหน้าที่พลเมือง หรือวิชาพลเมืองศึกษา เป้าหมายก็เพื่อเตรียมความพร้อมเยาวชนให้มีความเข้าใจในคุณค่าของประชาธิปไตย มีทัศนคติและพฤติกรรมในการเป็นพลเมืองที่ดี นอกเหนือจากการเรียนรู้เนื้อหาที่เป็นตำราแล้ว การนำการ์ตูนมาใช้เป็นสื่อการสอนก็เป็นอีกกลวิธีหนึ่ง ที่จะช่วยทำให้การเรียนรู้เรื่องนี้มีชีวิตชีวา  สนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้เรียนในการคิดวิเคราะห์ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างเต็มที่

          กราฟิกหรือภาพเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการเรียนรู้ มีการศึกษาพบว่าการดูภาพหรือวิดีโอช่วยให้เกิดการจดจำที่มีประสิทธิภาพกว่าการอ่าน ทั้งนี้ สื่อภาพประเภทการ์ตูนมีการใช้สัญลักษณ์เพื่อเล่าเรื่องผ่านข้อความอย่างรวดเร็วและรัดกุม ลดเนื้อหาที่เป็นข้อความหรือถ้อยคำ ผลก็คือทำให้ผู้อ่านจับประเด็นที่เป็นนามธรรมได้ง่ายขึ้น เกิดอารมณ์ความรู้สึกคล้อยตาม รวมทั้งมีอิทธิพลต่อทัศนคติและพฤติกรรมของผู้อ่านอีกด้วยยกตัวอย่างเช่น หากครูอยากให้นักเรียนเข้าใจว่าพลเมืองที่ดีหรือไม่ดีเป็นอย่างไร การหยิบยกตัวการ์ตูนมาเป็นสิ่งเปรียบเทียบ จะช่วยสร้างความเข้าใจได้ง่ายกว่าการอธิบายตามหลักการหรือทฤษฎีในตำรา

          องค์กรที่มีบทบาทด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ประชาธิปไตย อาจออกแบบการ์ตูนเพื่อเป็นสื่อถ่ายทอดเนื้อหาแทนแบบเรียนหรือตำราที่เต็มไปด้วยตัวหนังสือ กรณี สถาบันเพื่อการ์ตูนศึกษา (The Center for Cartoon Studies) สหรัฐอเมริกา ได้สร้างสรรค์การ์ตูนเพื่อใช้ส่งเสริมพลเมืองศึกษาหลายเล่ม ตัวอย่างเช่น This is What Democracy Looks Like ชื่อนี้มาจากประโยคที่มักถูกเอ่ยถึงในการเดินขบวนและการประท้วงตามท้องถนน สะท้อนว่าแม้ในประเทศแห่งประชาธิปไตย ก็ยังมีความจำเป็นในการถกเถียงถึงนิยามว่าประชาธิปไตยน่าจะหมายถึงอะไรกันแน่

          การ์ตูนเล่มนี้ไม่ได้ทำหน้าที่เพียง ‘ให้ความรู้’ แทนครูหรือตำรา แต่กระตุ้นให้นักเรียนเกิดคำถามต่างๆ อันเป็นจุดตั้งต้นให้ครูออกแบบกิจกรรมอันนำไปสู่การหาคำตอบที่เป็นไปได้มากมาย น้ำเสียงของเรื่องนี้ไม่ได้มองโลกในแง่ดีจนเกินไป แต่กล้านำเสนอให้เห็นถึงข้อบกพร่องของรัฐบาลด้วย ตบท้ายด้วยการเชิญชวนให้ผู้อ่านร่วมกันขบคิดว่า ทุกคนจะสามารถมีส่วนร่วมอย่างไรให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในอนาคต

หนังสือ This is What Democracy Looks Like จาก The Center for Cartoon Studies
Photo: The Center for Cartoon Studies

          เจมส์ สตรัม (James Sturm) นักเขียนการ์ตูนและผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันเพื่อการ์ตูนศึกษากล่าวถึงประโยชน์ของการนำสื่อประเภทนี้ไปใช้ว่า “แม้กระทั่งผู้อ่านที่ไม่เต็มใจนัก การ์ตูนก็สามารถให้ข้อมูลและสร้างการมีส่วนร่วมแก่พวกเขาได้ ส่วนผู้ที่มีความกระหายอยากรู้เกี่ยวกับหน้าที่พลเมือง การ์ตูนเรื่องประชาธิปไตยก็ยิ่งตอบสนองความต้องการนั้น”

          ในอีกด้านหนึ่ง ครูสามารถนำการ์ตูนในวัฒนธรรมป๊อปที่แฝงเนื้อหาเรื่องการเมือง อำนาจ หรือคุณค่าทางประชาธิปไตย เพื่อประยุกต์ใช้กับวิชาพลเมืองศึกษาได้ นับตั้งแต่ปี 1960 เป็นต้นมา การ์ตูนมากมายถูกใช้เป็นสื่อนำเสนอเรื่องความไม่เท่าเทียม สิทธิพลเมือง และการอยู่ร่วมกันของผู้ที่มีความแตกต่างหลากหลาย

          หนึ่งในการ์ตูนระดับตำนานก็คือ เอ็กซ์เมน (X-Men) ของมาร์เวลคอมิกส์ ซึ่งเปิดตัวในปี 1963 ว่าด้วยมนุษย์กลายพันธุ์ที่ช่วยปกป้องมนุษย์แต่กลับถูกผู้คนเกลียดชัง ในเวลานั้นมีการนำเอ็กซ์เมนไปเปรียบเทียบเชิงสัญลักษณ์กับมาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King, Jr.) นักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อปี 1964 และต่อมาในปี 1966 มาร์เวลคอมิกส์ก็ได้วางแผงแบล็คแพนเธอร์ (Black Panther) การ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่ผิวสีซึ่งสอดแทรกเรื่องสิทธิพลเมือง ความอดกลั้น และการยอมรับ

ตัวอย่างคอมิกส์ของ X-Men
Photo: Ashley Buttle, CC BY 2.0, via Flickr
Black Panther ปรากฏตัวครั้งแรกในคอมิกส์ของ Fantastic Four ซึ่งตรงกับปี 1966
Photo: Ashley Buttle, CC BY 2.0, via Flickr

          สแตน ลี (Stan Lee) นักเขียนการ์ตูนและอดีตผู้บริหารของมาร์เวลคอมิกส์ซึ่งล่วงลับไปแล้ว เคยกล่าวว่า “ทุกวันนี้การเหยียดเชื้อชาติเป็นหนึ่งในความเลวร้ายทางสังคมที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก… มันไม่มีเหตุผลเลยที่จะดูถูกเผ่าพันธุ์ เชื้อชาติ หรือศาสนาใดๆ เราควรเรียนรู้ที่จะตัดสินกันและกันจากความดีของตัวเราเอง ซึ่งจะต้องอาศัยดวงใจที่เต็มไปด้วยขันติ”

          แม้การ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่จะมีบางฉากที่รุนแรง แต่นักจิตวิทยาก็มองว่า สามารถใช้เป็นสื่อสำหรับเรียนรู้เรื่องพลเมืองให้แก่เด็กๆ ได้ เมื่อพิจารณาถึงพัฒนาการของเด็กตามทฤษฎีกำหนดตัวเอง (Self-determination theory หรือ SDT) เด็กแต่ละคนมีพฤติกรรมและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาเรียนรู้ที่จะให้ความสำคัญกับอะไรมากที่สุดระหว่างแบบแผนทางสังคม ศีลธรรม หรือแรงจูงใจอย่างอิสระ ด้วยเหตุนี้การ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่อย่างแบล็คแพนเธอร์ ที่มีตัวละครสะท้อนความดีความชั่ว จึงสามารถเป็นแม่แบบทางศีลธรรมที่ครูสามารถหยิบยกไปต่อยอดในห้องเรียนพลเมืองศึกษาได้

          ส่วนการ์ตูนร่วมสมัยอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจก็คือวันพีซ (One Piece) ซึ่งบรรณกร จันทรทิณ ผู้วิจัยเรื่อง ความคิดทางการเมืองในหนังสือการ์ตูนเรื่อง “วันพีซ” ของเออิจิโระ โอดะ วิเคราะห์ว่า ผู้เขียนเรื่องนี้มีแนวคิดสนับสนุนอุดมการณ์ทางการเมืองแบบเสรีนิยม สังคมนิยม และอนาธิปัตย์นิยม อีกทั้งยังสอดแทรกความคิดเปรียบเทียบการเมืองระดับประเทศและระดับโลก ทั้งการปฏิวัติรัฐประหาร และการสร้างสถานการณ์สมคบคิด ฯลฯ การ์ตูนเรื่องนี้จึงทำให้ผู้อ่านได้วิเคราะห์การใช้อำนาจที่ฉ้อฉลของผู้ปกครอง โดยไม่หลงเชื่อตามกระแสข่าวสารที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า

ตัวอย่างหนังสือการ์ตูนเรื่อง วันพีซ (One Piece)

          ในความคิดของครูบัสโซ – ทัศวัฒน์ ซอแก้ว ครูกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม โรงเรียนคลองลานวิทยา ซึ่งเคยนำการ์ตูนมาใช้ในวิชาการป้องกันการทุจริต เล่าว่า แต่เดิมเคยสอนเรื่องบทบาทและหน้าที่พลเมืองโดยใช้วิธีตั้งคำถามบนกระดานแล้วให้นักเรียนวิเคราะห์ พบว่าบางครั้งนักเรียนไม่สามารถแยกแยะความหมายของทั้ง 2 คำได้ มีช่วงหนึ่งครูสังเกตเห็นว่าเด็กนิยมเล่นเกมซึ่งมีตัวการ์ตูนที่แฝงเรื่องสิทธิและหน้าที่ จึงลองปรับกิจกรรมการสอนโดยเริ่มจากการเกริ่นปูความรู้เนื้อหาก่อน แล้วให้เด็กเปิดมือถือค้นหาตัวการ์ตูนจากเกมหรือหนังสือการ์ตูนมาอภิปรายร่วมกันกับเพื่อนๆ สิ่งที่เกิดขึ้นคือห้องเรียนที่มีชีวิตชีวาและมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง การ์ตูนบางเรื่องครูอาจจะไม่รู้จัก หรือมีเนื้อหาบางเรื่องที่เพื่อนยังไม่เข้าใจ นักเรียนก็จะช่วยอธิบายแลกเปลี่ยนกันเอง

          “ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเลยก็คือเรื่องเวลา การสอนแบบเดิมครูต้องใช้เวลาในการอธิบายพอสมควร แต่การ์ตูนซึ่งเป็นภาพทำให้เขาเกิดความเข้าใจได้เร็วขึ้น อีกอย่างหนึ่งที่ชัดเจนก็คือรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ เมื่อการเรียนรู้มีความสัมพันธ์กับเรื่องที่เขาคลุกคลีอยู่แล้ว เขาก็เปิดใจมากขึ้น”

          ครูบัสโซยังเสนออีกว่า “ทุกอย่างรอบตัวถ้าสังเกตดีๆ มันมีคีย์บางอย่างซ่อนอยู่ ครูสามารถนำมาวิเคราะห์ว่าจะเป็นประโยชน์ในการสื่อสารกับนักเรียนได้อย่างไรบ้าง การ์ตูนไม่เพียงแต่สามารถหยิบมาใช้สอนเรื่องพลเมือง แต่ยังมีอีกหลากมิติแฝงอยู่ ทั้งเรื่องปรัชญา ความคิด และวัฒนธรรม ถ้าครูมีมุมมองกว้างและรู้จักวิเคราะห์ก็จะเป็นประโยชน์กับนักเรียน ซึ่งตรงนี้ค่อนข้างเป็นความสามารถเฉพาะตัวของครูแต่ละคน”

          ในสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งเยาวชนในกรุงเทพฯ หรือส่วนกลางมีความสนใจเรื่องสังคมส่วนรวมและการเมือง รวมทั้งเข้าร่วมการเคลื่อนไหวในการเรียกร้องต่างๆ อย่างแข็งขัน ครูบัสโซมองว่านักเรียนในจังหวัดห่างไกลอาจแสดงออกหรือให้ความสนใจเรื่องนี้ไม่มากนัก สาเหตุอาจเป็นเพราะมีบริบททางสังคมและวัฒนธรรมหลายอย่างกดทับพวกเขาอยู่ เช่น แม้จะมีสภานักเรียนแต่บางครั้งข้อเสนอของนักเรียนก็อาจไม่ได้รับการยอมรับ อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่โลกออนไลน์นักเรียนค่อนข้างเป็นตัวของตัวเองในการแสดงความคิดเห็นต่างๆ อย่างอิสระ

          แน่นอนว่า การประยุกต์ใช้การ์ตูนเป็นสื่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ สามารถทำให้การเรียนพลเมืองศึกษาเป็นเรื่องสนุก เข้าใจง่าย กระตุ้นให้นักเรียนคิด และรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น แต่ลำพังเพียงเท่านี้อาจยังไม่พอสำหรับการเตรียมความพร้อมเยาวชนให้เป็นพลเมืองตื่นรู้ สิ่งที่ไม่อาจมองข้ามเลยก็คือเรื่องวัฒนธรรมในการอยู่ร่วมกันของเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งในอาณาเขตของครอบครัว โรงเรียน และสังคม เชื่อว่าบรรยากาศในการเรียนรู้อย่างเปิดกว้างและมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างเท่าเทียม จะเป็นพื้นฐานอย่างดีที่ให้เยาวชนได้ซึมซับคุณค่าประชาธิปไตยในชีวิตประจำวันควบคู่ไปกับการเรียนรู้พลเมืองศึกษาในห้องเรียน


ที่มา

บทความ “Engaging Student Civic Action: How to Use Comics to Inspire and Engage” จาก meryljaffe.com (Online)

บทความ “How Black Panther can be a template for a psychologically sound civics education for kids” จาก inlander.com (Online)

บทความ “How Stan Lee’s X-Men Were Inspired by Real-Life Civil Rights Heroes” จาก history.com (Online)

บทความ “The role of comic media in learning of innovative civics education in forming character of primary school students” จาก researchgate.net (Online)

บทความ “This is What Democracy Looks Like” จาก tcj.com (Online)

บทความ “Young People with High Interest in Politics More Likely to View Government as Responsive to Their Concerns” จาก redfieldandwiltonstrategies.com (Online)

บทความ “Youth Are Interested in Political Action, but Lack Support and Opportunities” จาก circle.tufts.edu (Online)

บทความ “ความคิดทางการเมืองในหนังสือการ์ตูนเรื่อง “วันพีซ” ของเออิจิโระ โอดะ” จาก tci-thaijo.org (Online)

Cover Photo: The Center for Cartoon Studies

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก