คุณเชื่อในหัวใจของมนุษย์ไหม? หัวใจที่เปราะบางและไม่ได้งดงามดวงนั้น

1,039 views
7 mins
October 3, 2023

[มีการเปิดเผยเนื้อหาของหนังสือบางส่วน]

          หัวใจมนุษย์มันเป็นแบบไหนกันนะ?

          “เธอเชื่อในหัวใจมนุษย์หรือเปล่า ฉันไม่ได้หมายถึงแค่อวัยวะ ฉันกำลังพูดถึงในแง่กวี หัวจิตหัวใจของมนุษย์น่ะ เธอเชื่อว่ามีอะไรอย่างนั้นหรือเปล่า สิ่งที่ทำให้เราแต่ละคนพิเศษและมีลักษณะเฉพาะตัว”

          ฉันถามตัวเองหลังอ่านข้อความบนโปรยปกนี้ซ้ำๆ หลายครั้งก่อนตัดสินใจเปิดหน้าแรกของหนังสือแล้วเริ่มอ่านเนื้อใน ถามและทายในใจว่าบริบทของข้อความนี้คืออะไร หัวใจมนุษย์มันเป็นแบบไหนกันนะ ตัวละครไหนล่ะที่จะเป็นคนเอ่ยถาม ฉากไหนที่จะเฉลยถ้อยความที่เป็นคำตอบของคำถามนี้ออกมา แล้ว ‘หัวใจ’ ของมนุษย์ที่ถูกวาดขึ้นด้วยหนังสือเล่มนี้จะงดงามและพิเศษสักแค่ไหนกัน…

          ฉันหยิบ ‘คลาราและดวงอาทิตย์ (Klara and the Sun)’ ผลงานของคาซึโอะ อิชิงุโระ (Kazuo Ishiguro) ขึ้นมาจากกองหนังสือรออ่านเพราะข้อสงสัยข้างต้นนี้ และเพราะเรื่องย่อคร่าวๆ ที่จั่วเอาไว้บนชั้นที่ร้านหนังสือว่า นิยายเล่มนี้ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านสายตาของ ‘คลารา’ หุ่นยนต์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อทำหน้าที่เพื่อนปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Friend: AF) ของเด็กสาวขี้โรคคนหนึ่งในโลกอนาคต ก่อนที่จะได้เริ่มอ่านแล้วพบว่าแต่ละหน้าในหนังสือค่อยๆ ลงสีให้ภาพ ‘โลก’ ใบที่ว่าแสดงสีสันเฉพาะอันแจ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ

          ซึ่งสำหรับฉัน มันไม่ใช่สีสันแจ่มจ้าเหมือนแสงจากดวงอาทิตย์ที่คลาราชอบหรอก…

          โลกของคลาราเริ่มต้นขึ้นในร้านขายหุ่นยนต์เอเอฟที่มีตู้กระจกอยู่ด้านหน้า มันคือตู้กระจกโชว์สินค้าที่เหล่าเอเอฟจะได้สับเปลี่ยนกันไปนั่งดึงดูดความสนใจและเชื้อเชิญให้เด็กสักคนที่ถูกใจตัดสินใจพาพวกเขาตัวใดตัวหนึ่งกลับไปเป็น ‘เพื่อน’ แต่อาจเพราะคลาราเป็นเอเอฟรุ่นที่ได้รับพลังงานจากแสงอาทิตย์ หรืออาจเพราะดวงอาทิตย์จากมุมมองหน้าตู้กระจกนั้นกระจ่างจ้างดงามจับใจ หรืออาจเพราะต่อให้เป็นเอไอก็มีเรื่องที่ไม่รู้ได้เหมือนกัน ในโลกไร้เดียงสาของหุ่นยนต์ช่างสังเกตช่างจดจำอย่างคลารา ดวงอาทิตย์จึงเป็นเพื่อนผู้ยิ่งใหญ่ที่คอยมอบพลังไร้ที่สิ้นสุด มอบสารบำรุงกำลังแก่เธอและสิ่งมีชีวิตมากมายอย่างไม่แบ่งแยก และมีพลังแสนวิเศษรักษา-ชุบชีวิตคนได้เสมอ ก่อนที่โลกหน้าตู้กระจกของคลาราจะค่อยๆ กว้างขวางขึ้น เมื่อ ‘โจซี’ เด็กสาวร่างกายอ่อนแอวัย 14 ปีและแม่ตัดสินใจรับเธอกลับไป 

          คลาราค่อยๆ ได้ทำความรู้จักกับโลกที่มนุษย์ถูกแบ่งระดับชนชั้น โลกที่โอกาสในการเข้าถึงการศึกษาและหลุดพ้นจากการเป็นพลเมืองชั้นสองเพื่อจะมีชีวิตที่ดีได้นั้นขึ้นอยู่กับการผ่าตัดปรับแต่งพันธุกรรม 

          ใช่ ‘โจซี’ เด็กสาวผู้มารับคลาราไปเป็น ‘เพื่อน’ ก็เป็นหนึ่งใน ‘พลเมืองชีวิตดี’ เหล่านั้น 

          โจซีเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่ดี เข้าถึงการศึกษาที่ดี แต่ก็เป็นเพียงการศึกษาที่ดีผ่านหน้าจอออนไลน์ ในโลกยุคที่ทุกอย่างถูกจัดสรรตามชนชั้น การจะมีเพื่อนฝูงและสังคมได้ยังต้องเกิดขึ้นผ่านการจัดกลุ่มพบปะโดยผู้ปกครอง ไม่ใช่แค่โจซี แต่เด็กๆ ชีวิตดีเหล่านี้ขาดไร้ทั้งเพื่อนฝูงและสังคมแบบที่เราคุ้นเคย (จนไม่น่าแปลกใจที่ ‘เพื่อนปัญญาประดิษฐ์’ อย่างคลาราจะเป็นสินค้าสำคัญของยุคสมัย) ยิ่งไปกว่านั้น การผ่าตัดปรับแต่งพันธุกรรมเพื่อยกระดับตัวตนให้เป็นไปตามมาตรฐานสังคมยังทำให้โจซีมีชีวิตที่แขวนอยู่บนเส้นด้ายของร่างกายอันเปราะบางราวจะแตกสลายได้ทุกเมื่อ คลาราค่อยๆ ทำความรู้จักโลกของโจซีไปพร้อมกับการเรียนรู้ว่าโจซีนั้นไม่อาจวิ่งเล่นบนทุ่งหญ้าอย่างสนุกสนานได้อย่างเด็กทั่วไป ต้องเผชิญกับอาการป่วยไข้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าไปพร้อมๆ กับความเปลี่ยวเหงาเดียวดาย และเพราะอย่างนั้น คลาราจึงยิ่งตั้งมั่น ปรารถนาจะเป็น ‘เพื่อนที่ดีที่สุด’ สำหรับโจซีผู้น่าสงสารให้ได้

          หัวใจของมนุษย์มันเป็นแบบไหนกันแน่นะ?

          ฉันเชื่อว่านี่อาจไม่ใช่คำถามแรกๆ ของคลาราผู้มุ่งมั่นจะเรียนรู้ จดจำ เข้าใจโลกกว้าง และเป็นเพื่อนที่สมบูรณ์แบบของมนุษย์ แต่เป็นคำถามจากฉัน เมื่อได้เห็นโลกทั้งใบนั้นและเหล่ามนุษย์ผู้เปราะบางผ่านความทรงจำและสายตาของคลารา 

          หัวใจของแม่บ้านเมลาเนียเป็นแบบไหนนะ… แม่บ้านเมลาเนียที่คอยยืนยันความเป็นหุ่นยนต์ของคลาราด้วยการเรียกเธอว่า “เอเอฟ” และคอยระแวดระวังจนแน่ใจว่าเธอไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์ที่เป็นภัยต่อโจซี 

          หัวใจของริกเป็นแบบไหนกันนะ ริก เด็กหนุ่มข้างบ้านที่วาดฝันสัญญาว่าจะใช้อนาคตร่วมกันตลอดชีวิตไปกับโจซี ริกผู้แข็งแรงและเปี่ยมพรสวรรค์คนนั้นที่ต้องกลายเป็นพลเมืองชั้นรองและไม่อาจเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้เมื่อไม่ได้ผ่านกระบวนการปรับแต่งพันธุกรรมอย่างเด็กคนอื่น 

          หัวใจของโจซีเป็นแบบไหนกันนะ… โจซีที่ปรารถนาจะมีชีวิตและว้าวุ่นละล้าละลัง พยายามจะมีตัวตนในสายตาแม่และเด็กหนุ่มที่ตัวเองชอบพอ พร้อมๆ กับที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของเหล่าเพื่อนๆ ร่วมชนชั้นจนไม่อาจ ‘เป็นตัวเอง’ ได้จริงๆ โจซีที่ชอบวาดรูป สดใส โจซีที่โดดเดี่ยว เปลี่ยวเหงา อารมณ์เหวี่ยงขึ้นลงไปมาด้วยความกังวลและหวาดกลัวสุดหัวใจว่าจะไม่ได้เติบโตอย่างแข็งแรงและทำทุกอย่างที่ฝันไว้ในร่างกายที่ไม่เป็นใจนี้

          หัวใจของพ่อเป็นแบบไหนกันนะ… พ่อที่หย่าขาดจากทั้งแม่และขบวนของผู้คนร่วมยุคสมัยเพราะไม่เชื่อในสังคมแบ่งชนชั้นและโลกอนาคตอย่างที่กำลังเป็นไป พ่อผู้ไม่เชื่อว่าจะมีหัวใจใดมาแทนที่หัวใจของลูกสาวตัวเองได้ 

          หัวใจของแม่เป็นแบบไหนกันนะ… แม่ผู้นิ่งขรึม จริงจัง แม่ผู้ผ่านความร้าวรานจากการสูญเสียลูกคนโตด้วยการตัดแต่งพันธุกรรมและพยายามไขว่คว้าเชือกเส้นสุดท้ายไม่ให้ตัวเองต้องเผชิญกับความสูญเสียอีกครั้ง ด้วยการเตรียมการโอนย้ายปัญญาประดิษฐ์คลาราเข้าไปยังหุ่นยนต์เอเอฟรูปเหมือนโจซี เพื่อให้คลารา ‘เป็นโจซีต่อไป’ ในวันที่โจซีตัวจริงตายจาก…

          “ฉันกำลังขอให้เธอทำในสิ่งที่อยู่ในขอบเขตพลังของเธอ และคิดว่ามันจะมีความหมายยังไงกับเธอบ้าง…เธอจะเป็นโจซีและฉันจะรักเธอเหนือสิ่งอื่นใดตลอดไป ฉะนั้น ทำเพื่อฉันนะ ฉันกำลังขอให้เธอทำเพื่อฉัน เป็นโจซีต่อไปเพื่อฉัน…”

          “ฉันสงสัยว่าถ้าฉันจะเป็นโจซีต่อไป ถ้าฉันจะเข้าไปอยู่ในโจซีคนใหม่ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับ…ทั้งหมดนี้” ฉันยกแขนขึ้นชูกลางอากาศ และเป็นครั้งแรกที่แม่มองมาทางฉัน เธอมองหน้าฉัน จากนั้นไล่สายตาลงไปที่ขาก่อนมองไปทางอื่น แล้วพูดว่า

          “มันจะสำคัญตรงไหน มันก็เป็นแค่ผ้า…”

คุณเชื่อในหัวใจของมนุษย์ไหม? หัวใจที่เปราะบางและไม่ได้งดงามดวงนั้น

          ขณะที่แม่พยายามจะรักษาหัวใจของตัวเองไว้ทุกวิถีทาง กระทั่งจะให้หุ่นยนต์ตัวหนึ่งมาเป็นลูกต่อไป โดยไม่สนใจที่จะเข้าใจด้วยซ้ำว่า ‘ทั้งหมดนี้’ ในคำถามของหุ่นยนต์ชื่อคลาราอาจไม่ได้หมายถึงเพียงร่างกายที่ถูกสร้างขึ้นมา แต่รวมถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘หัวใจ’ ในฐานะ ‘ตัวตน (being)’ หนึ่งที่มีความรู้สึกนึกคิดและมีความสามารถในการจดจำได้ดียิ่งกว่าใคร 

          เธอเอาแต่บอกซ้ำๆ ราวกับไร้หัวใจ ให้คลาราเรียนรู้ที่จะเป็นโจซีอย่างครบถ้วนสมบูรณ์เท่านั้น

          เราอาจติ๊ต่างเข้าข้างตัวเองก็ได้ว่า ‘หัวใจ’ ของคลารานั้นอาจเป็นแค่หน่วยความจำไร้ความหมายสำหรับมนุษย์ แต่เรื่องราวพยายามฉายให้เห็นว่ามากกว่าการรับรู้ คลารานั้นกลับ ‘เข้าใจ’ เป็นอย่างดี ถึงความจำเป็นที่เธอจะต้อง ‘เป็นโจซี’ ต่อไปเพื่อแม่ ขณะที่ก็ ‘เข้าใจ’ เหตุผลที่ทำให้พ่อของโจซีดูกระอักกระอ่วนทุกครั้งที่พบเธอโดยปริยาย 

          และข้อความบนโปรยปกซึ่งถูกยกมาเป็นข้อความเปิดของบทความนี้ก็มาจากบริบทที่แสนกระอักกระอ่วนและมีความหมายบีบรัดหัวใจ

          มันคือตอนที่พ่อเอ่ยถามคลาราว่าแน่ใจแล้วหรือ…

          แน่ใจแล้วหรือว่าเธอจะทำหน้าที่ ‘เป็นโจซี’ ต่อไปได้ เธอที่แม้จะเป็นหุ่นยนต์ที่ฉลาดรู้ ช่างจดจำ และสามารถลอกเลียนทุกอิริยาบถของโจซีได้เป็นอย่างดี แต่ก็ไม่ใช่โจซี 

          ไม่ใช่มนุษย์…

          แม้ไม่อาจเป็นมนุษย์ แต่หุ่นยนต์อย่างคลารานี่แหละที่มอบความหวังและความเชื่อให้กับมนุษย์อย่างพ่อและแม่ แม้เธอจะใคร่ครวญถึงความเป็นไปได้และได้ข้อสรุปตามหลักเหตุผลว่าเธอย่อมหาทางเรียนรู้ที่จะเป็นโจซีได้และโจซีอาจตายจากไป แต่เธอก็เชื่อมั่นว่ายังมีหนทางที่ดีกว่า หนทางที่ว่าคือการภาวนาด้วยความเชื่อมั่นให้โจซีแข็งแรงยืนยาว และเธอจะทำทุกทางให้คำภาวนานั้นสัมฤทธิผล 

          คลาราเชื่อมั่นอย่างหมดหัวใจว่าแสงอาทิตย์จะช่วยให้พรและบำรุงรักษาผู้คนได้ จึงวอนขอต่อดวงอาทิตย์โดยสัญญาว่าจะทำลายเครื่องจักรกลก่อมลภาวะที่เธอเชื่อว่าดวงอาทิตย์ไม่ชอบให้สิ้นไป แม้ไม่แน่ใจว่าการสละสารเหลวในศีรษะเพื่อทำลายเครื่องจักรนั้นจะทำให้ประสิทธิภาพของตัวเองในฐานะหุ่นยนต์ถดถอยลงแค่ไหน แม้ไม่รู้เลยว่าคำขอจะเป็นจริงหรือไม่หากทำลายเครื่องจักรนั่นได้ แม้ไม่รู้เลยว่าจริงๆ แล้วเครื่องจักรเหล่านั้นมีนับร้อยนับพันเกินกว่าหน่วยความจำและประสบการณ์เทียบเท่าเด็กไร้เดียงสาของเธอจะจินตนาการถึง แม้ไม่เคยเฉลียวใจสักนิดว่ามันคุ้มค่าหรือไม่ที่จะพยายามรักษาหัวใจของมนุษย์ที่แสนไม่ยั่งยืน

          แล้วมนุษย์อย่างพ่อที่รู้แก่ใจว่าความพยายามของคลารานั้นอาจสูญเปล่าและเสนอให้เธอสละบางส่วนของตัวเองเพื่อความหวังนั้นจะมองเห็นมันไหม

          เขาจะมองว่าหุ่นยนต์ที่อยู่ตรงหน้านี้พิเศษและมีหัวใจอย่างที่ใครก็เลียนแบบไม่ได้เหมือนกันบ้างหรือเปล่า?

          หัวใจมนุษย์มันเป็นแบบไหนกันนะ?

          ฉันถามซ้ำกับตัวเองและกับหนังสือตรงหน้าด้วยความขุ่นมัว ถามแล้วถามอีกว่า หัวใจมนุษย์มันเป็นหัวใจที่ยิ่งใหญ่หรือเลอค่าสักแค่ไหนกันเชียวถึงได้กล้าถามคำถามแบบที่พ่อถามคลารา ใช่หัวใจที่ขี้ขลาดหวาดกลัวแต่แสนทะนงในความพิเศษของเผ่าพันธุ์และตัวตนแบบนี้หรือเปล่า หัวใจที่นึกถึงแต่หัวใจของตัวเองและคนที่ตัวเองรักอย่างไม่เหลือที่เผื่อแผ่ให้ใครอีกเลยอย่างนี้หรือเปล่า หัวใจที่หวั่นไหว โลเล คอยควานหาความหวังในความไร้หวังสลับกับโยนทิ้งความหวังและบ้าคลั่งเกินจะหยั่งเหล่านี้ใช่หรือไม่ที่เป็นตัวอย่างเชิงประจักษ์ของหัวใจมนุษย์อันแสน ‘พิเศษ’

คุณเชื่อในหัวใจของมนุษย์ไหม? หัวใจที่เปราะบางและไม่ได้งดงามดวงนั้น
Photo: ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

          ในทางกลับกัน 

          หัวใจของคลาราผู้เปี่ยมด้วยความเชื่อมั่นต่อโลกและมนุษย์จนนาทีสุดท้าย คลาราผู้ยังคงเชื่อมั่นในแสงแจ่มจ้าของดวงอาทิตย์เสมอไปเหมือนกับที่เชื่อว่าหัวใจของโจซีแสนพิเศษสำหรับคนที่รักเธอ คลาราผู้เฝ้าวิงวอนต่อดวงอาทิตย์และวาดหวังให้โจซีมีชีวิตแข็งแรงยืนยาว พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้การวิงวอนนั้นบรรลุผลอย่างไร้เดียงสาและไม่สมเหตุสมผลตามหลักตรรกะอย่างที่ปัญญาประดิษฐ์พึงมีนั้นนับเป็นหัวใจที่พิเศษหรือไม่

          นับเป็นหัวใจได้หรือเปล่า…

          ยิ่ง ‘คลาราและดวงอาทิตย์’ ถ่ายทอดโลกและหัวใจของผู้คนเหล่านี้ผ่านความทรงจำและสายตาของหุ่นยนต์อย่างคลารา ขนานไปกับการฉายความรู้สึกนึกคิดอันเถรตรงแต่บริสุทธิ์ไร้เดียงสาของเธอที่ไม่มีใครล่วงรู้ไปด้วยพร้อมๆ กัน ฉันกลับยิ่งรู้สึกว่าเป็นมนุษย์เสียอีกที่ไร้หัวใจ คลาราค่อยๆ เข้าใจว่าหัวใจของโจซีนั้นแสนพิเศษและหวังจะทำเพื่อโจซีอย่างไร้เงื่อนไข ขณะที่พวกเขาเหล่านั้นมุ่งหมายตะกายคว้าสิ่งที่ใจปรารถนาโดยไม่ได้มองเห็นความพยายามนั้นของเธอ คลาราเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เธอเฝ้าภาวนาและทุ่มเทจะคุ้มค่า หวังว่าเธอจะได้ช่วยรักษาหัวใจอันแสนพิเศษของพวกเขาไว้ให้เติบโตไปทำในสิ่งที่ปรารถนาและได้เป็นในสิ่งที่เฝ้ารอ แต่เมื่อเวลาผ่านไปหัวใจมนุษย์กลับแปรผัน สัญญาใดๆ ก็ไร้ความหมาย เหมือนที่คลาราก็เป็นเพียงหุ่นยนต์เพื่อนปัญญาประดิษฐ์ที่มีความสำคัญเพียงในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น

          มนุษย์ก็เป็นเสียอย่างนั้น

          เป็นความจริงแสนเรียบง่ายที่บีบหัวใจสิ้นดี

          ต้องยอมรับตรงๆ ว่าฉันไม่เคยอ่านงานของอิชิงุโระมาก่อน แม้กระทั่ง ‘แผลลึก หัวใจสลาย (Never Let Me Go)’ ผลงานอันโด่งดังที่ส่งเขาไปถึงรางวัลโนเบลก็ไม่เคยอ่าน เพียงแต่รู้มาบ้างว่าเอกลักษณ์หนึ่งในงานเขียนของเขาคือการขุดค้นเข้าไปในแง่มุมชีวิตอันละเอียดอ่อนของผู้คนผ่านความทรงจำแล้วทิ้งคำถามสั่นสะเทือนหัวใจเอาไว้ให้เราได้ครุ่นคิด หลายครั้งก็เป็นคำถามที่อาจไม่สามารถหาคำตอบได้ โดยเฉพาะคำถามที่เกี่ยวเนื่องกับศีลธรรม เจตจำนง และความเป็นมนุษย์

          ด้วยหนังสือเล่มนี้ อิชิงุโระทำได้ดีเหลือเกินในการกระแทกฉันซ้ำๆ ด้วยคำถามที่หาคำตอบไม่เจอเหล่านั้น เรื่องเล่าเรียบเรื่อยราวกับไร้ไคลแมกซ์ในตอนแรกกลับบีบคั้นหัวใจอย่างเลือดเย็นขึ้นเรื่อยๆ ในความสงบนิ่งไปจนถึงหน้าสุดท้ายด้วยคำถามที่ว่า จริงๆ แล้วสิ่งที่เรียกว่า ‘หัวใจ’ มันเป็นของแบบไหนกันแน่นะ พร้อมๆ กับที่ตีรวนให้ความไม่เชื่อมั่นในหัวใจผู้คนปะทุฟุ้งขึ้นมาในอก ทั้งๆ ที่รู้ว่ามนุษย์ก็เป็นแบบนี้ หัวใจเรามันก็เป็นแบบนี้ เผลอๆ ก็เราเองนี่แหละที่ผันแปรและใจร้ายได้มากยิ่งกว่าที่ตัวละครในเรื่องเป็น

          ด้วย what if แบบโลกไซไฟดิสโทเปียและตัวละครที่ไม่ใช่มนุษย์แต่แสนอ่อนโยนแบบคลารา คำถามที่ว่าจึงยิ่งเข้มข้นขึ้นและชวนให้นึกย้อนไปถึงดีเบตสำคัญของโลกอนาคตที่เคยได้อ่านจากไหนสักแห่งซึ่งบอกเอาไว้ว่า สิ่งสำคัญกว่าการจินตนาการว่าเอไอจะรุดหน้าไปได้ถึงขั้นไหน คือการมีคำตอบที่ชัดเจนว่ามนุษยชาติต้องการจะสัมพันธ์กับสิ่งที่ตัวเองสร้างขึ้นยังไงกันแน่ เราจะจัดวางความสัมพันธ์กับมันแบบใด จะให้มันเป็นทาสรับใช้ เป็นเพื่อน เป็นพระเจ้า หรือเป็นแค่เครื่องมืออีกชิ้นหนึ่ง ศีลธรรมยิ่งใหญ่ที่มนุษย์พยายามวางเป็นกรอบสากลนั้นครอบคลุมเผื่อแผ่ไปถึงสิ่งประดิษฐ์ไร้ชีวิตจิตใจที่ถูกสร้างขึ้นหรือไม่ แต่ก็ยังไม่ได้คำตอบอะไรเลย

          ได้แต่ร้องไห้ให้กับหุ่นยนต์ใจดีชื่อคลาราที่เฝ้าเชื่อมั่นในคำสัญญาของเหล่ามนุษย์หัวใจเปราะบางเท่านั้น

          ฉันคิดว่าอิชิงุโระเป็นมือฉมังในการถ่ายทอดตัวตนและหัวใจมนุษย์ โดยเฉพาะในส่วนเสี้ยวที่เปราะบาง ไม่งดงาม ไปจนถึงขั้นบิดเบี้ยวอย่างเลือดเย็นในหลายมิติจนรักไม่ลง (และบางจังหวะก็เผลอโกรธ) ใช่ มันไม่งดงามเอาเสียเลย แต่ก็เรียลและบ้าคลั่งสุดหยั่งจนต่อให้โกรธและเต็มไปด้วยคำถามมากมาย อย่างน้อยสุดท้ายก็เข้าใจได้เรื่องหนึ่งโดยไม่ต้องพยายาม คือเรื่องที่ว่าทำไมหัวใจคนมันถึงบิดเบี้ยวพิกลพิการอย่างนี้ และฉันเชื่อว่าในบางช่วงบางตอน พวกคุณสักคนที่ได้อ่านโลกใบนี้ผ่านสายตาของคลาราก็อาจรู้สึกเหมือนกันกับฉัน คือต่อให้ไม่ได้อยู่ในโลกยุคไซไฟ เราย่อมเคยสัมผัสประสบการณ์ของความรู้สึกปรารถนาอย่างนั้น หวาดกลัวอย่างนั้น ชักเย่อไขว่คว้าอย่างสิ้นหวังและตื้นเขินอย่างนั้น เหมือนกับตัวละครสักตัวในเรื่อง

          หัวใจมนุษย์มันเป็นแบบนั้นแหละ ไม่สวยงาม ไม่สมเหตุสมผล ไม่เท่เอาเสียเลยอย่างนั้น

          ใช่ ยอมรับเถอะ หัวใจเราเป็นแบบนั้นแหละ…

          คุณเชื่อในหัวใจมนุษย์ไหมคะ?

          หัวใจที่แสนพิเศษเพราะมันทั้งเปราะบางและไม่งดงามนั่นน่ะ

          ฉันอยู่ในกลุ่มที่เชื่อนะ เชื่อว่าต่อให้ชัง เราก็ยังจะมีชีวิตอยู่กับหัวใจพิกลพิการดวงนี้ จะต้องพบเจอกับหัวใจแสนพิเศษของผู้คนนับร้อยนับพันที่ลึกสุดหยั่งและบ้าคลั่งเกินคาดเดา แต่เพราะอย่างนั้นฉันก็อยากจะเชื่อด้วยว่าในห้องหับซับซ้อนของหัวใจคน ยังคงมีที่ว่างเล็กๆ ให้บรรจุแสงสว่างแห่งความปรารถนาดีจากดวงอาทิตย์ดวงนั้นไว้เสมอ เพราะนั่นก็คือสิ่งที่คลารามีได้ แม้จะไม่สามารถมีหัวใจที่เป็นโจซีได้

          “ฉันจ้องมองกระจกเหล่านั้น แม้เงาสะท้อนของดวงอาทิตย์จะยังคงเป็นสีส้มเข้ม ทว่าไม่ทำให้ตาพร่าแล้ว และเมื่อพินิจพิเคราะห์ใบหน้าของดวงอาทิตย์ที่ถูกล้อมอยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยมชั้นนอกสุด ฉันก็เริ่มสำนึกว่าตัวเองไม่ได้มองดูภาพภาพเดียวอยู่ ที่จริงมีใบหน้าของดวงอาทิตย์หลากหลายรูปแบบอยู่บนผิวกระจกอย่างละแผ่น และสิ่งที่ตอนแรกฉันคิดว่าเป็นภาพซึ่งรวมกันเป็นหนึ่งเดียว แท้จริงแล้วเป็นภาพแรกเจ็ดภาพทับซ้อนกัน เมื่อสายตาของฉันค่อยๆ สอดส่ายจากแผ่นแรกไปถึงแผ่นสุดท้าย แม้ว่าใบหน้าของเขาบนกระจกแผ่นนอกสุดจะดูน่ากลัวและเย็นชา และบนแผ่นที่อยู่ติดกันข้างหลังพอจะบอกได้ว่าดูไม่เป็นมิตรยิ่งกว่า แต่ในกระจกสองแผ่นถัดไป ใบหน้าเขากลับดูอ่อนโยนและใจดีกว่า ยังมีกระจกอีกสามแผ่น และถึงจะมองเห็นไม่ค่อยถนัดเนื่องจากอยู่ลึกเข้าไป ฉันก็ยังอดไม่ได้ที่จะคะเนว่า บนกระจกเหล่านั้นต้องมีสีหน้าขบขันปนใจดีอยู่แน่ๆ แต่ไม่ว่าภาพบนกระจกแต่ละแผ่นจะเป็นเช่นไร เมื่อฉันมองดูพวกมันแบบรวมๆ ก็จะส่งผลให้เห็นภาพใบหน้าเพียงหนึ่งเดียว ทว่ามีโครงหน้าและอารมณ์ความรู้สึกหลากหลาย….”

คุณเชื่อในหัวใจของมนุษย์ไหม? หัวใจที่เปราะบางและไม่ได้งดงามดวงนั้น

          บางช่วงตอน ฉันคิดว่าความเชื่อมั่นและความเข้าใจที่คลารามีให้มนุษย์ใจโลเลในเรื่องนั้นแสนจะไม่สมเหตุสมผลจนอาจเรียกได้ว่าเป็นช่องโหว่ ทว่าขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ดวงตาและดวงใจที่แสนบริสุทธิ์และกระจ่างจ้าของคลาราท่ามกลางโลกดิสโทเปียที่มืดมนไม่ได้เพียงกำลังบอกเราว่ามนุษย์มันใจร้ายหรือหุ่นยนต์ก็อาจมีหัวใจ 

          แต่มันกำลังบอกเรากลายๆ ว่าไม่ว่าเมื่อไร ที่ไหน ดวงอาทิตย์ก็สาดแสงไปถึงได้เสมอ

          มันกำลังย้ำเตือนเราว่าอย่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของใครแต่ฝ่ายเดียวเลย การใช้ชีวิตอย่างใจดีเพื่อใครสักคนน่ะ

          ดวงอาทิตย์ของคลาราอาจเป็นตัวแทนของแสงจ้าแห่งความหวังและความไร้เดียงสา 

          ทว่าดวงอาทิตย์ดวงนั้นและตัวคลาราเองสำหรับฉันคือตัวแทนของความปรารถนาดีต่อใครสักคน ความปรารถนาดีที่ทำให้โลกนี้จ้ากระจ่างขึ้นอีกนิดแม้เพียงชั่วแวบหนึ่ง

          แม้อาจดูเกินเลยและเพ้อฝันเลื่อนลอยไปสักหน่อย แต่ฉันภาวนากับดวงอาทิตย์

          ขอให้เราใจดี หมายถึงมีสักส่วนเสี้ยวหนึ่งของหัวใจที่ดี อย่างที่จะทำให้เรารู้สึกรู้สาและอยากโอบกอดคลาราผู้เฝ้าภาวนากับดวงอาทิตย์หรือใครสักคนที่เป็นเหมือนเธอสักครั้ง

          ขอให้เราทุกคนยังคงมีที่ว่างเล็กๆ ในหัวใจอันไม่งดงามไว้บรรจุแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ดวงนั้นเสมอ

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก