โยสไตน์ กอร์เดอร์ : คำถามเชิงปรัชญา ค้นหาความหมายของชีวิต

873 views
4 mins
December 25, 2023

          หากกล่าวถึงนักเขียนสแกนดิเนเวียร่วมสมัยที่มีชื่อเสียง ย่อมต้องมีชื่อของ โยสไตน์ กอร์เดอร์ (Jostein Gaarder) นักเขียนชาวนอร์เวย์ เจ้าของงานประพันธ์ โลกของโซฟี วรรณกรรมซึ่งเต็มไปด้วยคำถามเชิงปรัชญาตลอดทั้งเล่ม ทว่าอ่านง่ายเหมาะกับคนทุกวัย เขาเคยปรารภกับภรรยาว่าหนังสือที่ตั้งใจจะเขียนคงขายไม่ดีนัก หากมีคนซื้อสัก 500 เล่มก็ถือว่าดีแล้ว แต่โลกของโซฟีกลับถูกนำไปแปลเป็นภาษาต่างๆ กว่า 60 ภาษา และขายได้มากกว่า 50 ล้านเล่ม ในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา รวมทั้งถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และเกมคอมพิวเตอร์

          หนังสือเรื่องนี้ได้ปลุกความฉงนสงสัยที่แอบซ่อนอยู่ในหัวใจของผู้คนทั่วโลก หลายคนเขียนจดหมายมาหาเขาเพื่อเล่าว่า พวกเขาเคยคิดว่ามีเพียงตนเองเท่านั้นที่ขบคิดเรื่องราวพวกนี้

          “ผมสนใจปรัชญามานาน ก่อนที่จะรู้จักคำว่า ‘ปรัชญา’ เสียอีก ผมคิดว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่เด็กเล็กๆ มักถามคำถามว่า สิ่งต่างๆ มีที่มาจากอะไร และจุดจบของโลกอยู่ที่ไหน”

          กอร์เดอร์ มีภูมิหลังมาจากครอบครัวที่มีการศึกษา พ่อและแม่ต่างก็เป็นครู ส่งผลให้เขาพัฒนาความสนใจในการอ่านและการเขียนที่หยั่งรากลึกมาตั้งแต่วัยเยาว์ เมื่ออายุ 11 ขวบ เขาเกิดคำถามวนเวียนในหัว จนต้องเอ่ยถามพ่อแม่และครู ว่า “การที่เรามีชีวิตอยู่ไม่ใช่เรื่องแปลกจริงหรือ?” แต่แทนที่ใครสักคนจะช่วยไขข้อข้องใจให้หมดสิ้น กลับตำหนิที่เขาเอาแต่หมกมุ่นอยู่กับคำถามแบบนี้มากเกินไป

          เมื่อโตขึ้นเขาเจริญรอยตามพ่อกับแม่ในการเป็นครู โดยเลือกสอนวิชาปรัชญาในโรงเรียนมัธยม และเริ่มมีงานเขียนออกมาบ้างเป็นระยะๆ สำหรับกอร์เดอร์ ปรัชญาเป็นวิชาที่มีความสำคัญมาก มันเกี่ยวข้องกับมนุษย์ทุกคนซึ่งล้วนมีสิทธิที่จะถามหาชีวิตที่ดี “แน่นอนว่าปรัชญากระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น ที่ทำให้ชีวิตเข้มข้นขึ้น และมันยังช่วยให้เราคิดอย่างมีวิจารณญาณ ผมคิดว่าสังคมของเราขาดการวิพากษ์วิจารณ์ สังคมที่ดีจะสนับสนุนให้คนหนุ่มสาวถามคำถามที่สำคัญ นั่นคือคำว่า ทำไม”

          เขาบอกว่า ที่โรงเรียนในนอร์เวย์มีการสอนเรื่อง ‘จริยศาสตร์’ แต่มันถูกลดทอนเหลือเพียงคำถามทำนองว่า เราจะดำเนินชีวิตอย่างไรโดยไม่ทำร้ายหรือเบียดเบียนผู้อื่น แม้นี่จะเป็นคำถามทางศีลธรรมที่สำคัญมาก แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมคุณค่าทั้งหมด โรงเรียนควรกระตุ้นให้เด็กตั้งคำถามว่า ‘ชีวิตที่มีความสุขคืออะไร’ ตัวอย่างของคำตอบนี้อาจย้อนไปถึงความคิดของอริสโตเติลที่ว่า ‘ชีวิตที่มีความสุขคือชีวิตที่คุณใช้ศักยภาพความสามารถที่มีอยู่ทั้งหมดของคุณอย่างเต็มที่’

          วิชาปรัชญาสำคัญมากก็จริง ทว่าคนส่วนใหญ่มักรับรู้ว่ามันเป็นเนื้อหาที่อ่านยากและน่าเบื่อ กอร์เดอร์จึงหากลวิธีที่จะผูกร้อยมันเป็นเรื่องราวแบบวรรณกรรม หนังสือ โลกของโซฟี (Sophie’s World) ถือกำเนิดขึ้นในปี 1991 ตัวละครหลักคือเด็กสาววัย 15 ปี นามว่า โซฟี เธอได้รับจดหมายลึกลับที่มีคำถามว่า ‘เธอคือใคร’ กลายเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางอันน่ามหัศจรรย์ว่าด้วยประวัติศาสตร์ของปรัชญาตั้งแต่โสเครตีสเรื่อยมาจนถึงฌ็อง-ปอล ซาร์ตร์ ทว่าไม่ได้พูดถึงนักปรัชญาในศตวรรษที่ 20 เลย ไม่ว่าจะเป็นเบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ ลูทวิช วิทเกินชไตน์ มาร์ติน ไฮเดกเกอร์ หรือสำนักแฟรงก์เฟิร์ต ด้วยเหตุผลที่ว่าตัวเขาอยากให้หนังสือเล่มนี้นำเสนอรากฐานในการคิดที่เชื่อมโยงกับบริบทต่างๆ รอบตัว ซึ่งปรัชญาก่อนปี 1900 ช่วยให้เกิดความเข้าใจเช่นนี้ได้ง่ายกว่าปรัชญาในยุคหลัง รวมทั้งตัวเขาเองมีความสนใจคำถามเกี่ยวกับร่างกายและจิตวิญญาณ และคำถามเกี่ยวกับภววิทยา (Ontology) เช่น ‘ธรรมชาติที่แท้ของเอกภพคืออะไร’

หนังสือโลกของโซฟีฉบับภาษาอังกฤษที่ถูกตีพิมพ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี
Photo: Orion Publishing Group
หนังสือโลกของโซฟีฉบับภาษาอังกฤษที่ถูกตีพิมพ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี
Photo: Orion Publishing Group

          กอร์เดอร์เล่าถึงที่มาของการผูกเรื่องไว้เช่นนี้ว่า มาจากความรู้สึกติดค้างในใจจากงานเขียนของเขาเอง ในหนังสือเล่มนั้นเด็กชายอายุสิบสามเข้าไปถามหาหนังสือเกี่ยวกับปรัชญาจากบรรณารักษ์ แล้วได้คำตอบว่า “ไม่มีอะไรที่เหมาะกับเธอ เธอยังเด็กเกินไป กลับออกไปเถอะ” อีกส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ในฐานะครูสอนวิชาปรัชญา ซึ่งเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำให้นักเรียนเข้าใจถึงเป้าหมายของนักปรัชญา

          ความรักในความรู้ไม่เพียงปรากฏอยู่ในหนังสือที่กอร์เดอร์เขียนขึ้น แม้แต่อุปนิสัยและตัวตนของเขาเองก็เป็นนักตั้งคำถามตัวยง เขามีความสนใจรอบตัวอย่างกว้างขวาง และมักมีส่วนร่วมในการวิพากษ์ในประเด็นสำคัญๆ ทั้งด้านสิทธิมนุษยชน สงคราม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสิ่งแวดล้อม เขาเชื่อว่าปรัชญามีบทบาทสำคัญในการช่วยให้มนุษย์เผชิญกับความท้าทาย ซึ่งประเด็นที่สำคัญที่สุดในยุคปัจจุบันก็คือปัญหาสภาพภูมิอากาศ  

          “ในความคิดของผม คำถามที่ว่า ‘เราจะรักษาสภาพความเป็นอยู่ของโลกได้อย่างไร’ เป็นทั้งคำถามเชิงปรัชญา คำถามทางศีลธรรม และยังเป็นคำถามทางปัญญาด้วย เราทุกคนต่างก็รู้ว่ามันจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข แต่เราจะทำให้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร? บางทีมนุษย์อาจเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวในจักรวาลที่มีจิตสำนึกที่เป็นสากลอย่างแท้จริง”

          หนึ่งในเครื่องมือกอบกู้วิกฤตโลกในทัศนะของกอร์เดอร์ ก็คือการใช้พลังของวรรณกรรม หลายคนมองว่าการพูดถึงปัญหาโลกร้อนมักเป็นเรื่องวิชาการที่เต็มไปด้วยข้อมูลวิทยาศาสตร์ แต่ในอีกแง่หนึ่งแล้วการรับมืออย่างมีศิลปะ ด้วยการสร้างจิตสำนึกและความรู้สึกมีส่วนร่วมกับผู้อ่าน ก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ตัวเขาเองรู้ดีว่านี่ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็พยายามสอดแทรกเรื่องดังกล่าวไว้ในหนังสือ เช่น บทสนทนาระหว่างตัวละครในหนังสือเรื่องหนึ่งของเขา – “คุณรู้ไหมว่าทุกวันนี้มีคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมเท่าไร” อีกฝ่ายหนึ่งตอบว่า “ฉันคิดว่าประมาณ 40%” – ซึ่งนั่นเป็นข้อมูลที่ตรงกับข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์

          ตั้งแต่ปี 1998 กอร์เดอร์แบ่งรายได้ส่วนหนึ่งจากการขายหนังสือไว้สำหรับ ‘รางวัลโซฟี’ (Sophie Prize) เพื่อสนับสนุนบุคคลหรือองค์กรที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน เขามองว่ารางวัลนี้จะสามารถช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับโลก มีการมอบรางวัลจำนวน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐเป็นประจำทุกปี จนถึงปี 2013 ก็ต้องยุติลงเนื่องจากขาดเงินทุนสนับสนุน

โยสไตน์ กอร์เดอร์ คำถามเชิงปรัชญา ค้นหาความหมายของชีวิต
โยสไตน์ กอร์เดอร์
Photo: Christoph Kockelmann, CC BY-SA 4.0, via Wikimedia Commons


ที่มา

บทความ “Sophie’s World author turns from philosophy to climate change” จาก thenationalnews.com (Online)

บทความ “Interview mit Jostein Gaarder” จาก die-blaue-seite.de (Online)

บทความ “Gaarder’s World” จาก philosophynow.org (Online)

บทความ “A peak inside the mind of Jostein Gaarder” (Online)


บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ Lifelong Learning Focus issue 03 (2566)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก