เทคโนโลยีโลกเสมือนกับพิพิธภัณฑ์ เมื่ออดีต อนาคต ปัจจุบัน ผสานกันอย่างไร้รอยต่อ

2,799 views
6 mins
April 7, 2022

          หลายปีก่อน ผู้คนทั่วโลกได้สัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่ จากการเล่นเกม Pokémon GO ที่นำพาให้หลายคนออกจากบ้านเพื่อตามล่ามอนสเตอร์ตามสถานที่ต่างๆ นี่คือคุณูปการสำคัญของเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) ที่ช่วยเสกโลกเสมือนให้ปรากฏซ้อนทับกับโลกความเป็นจริง

          ในวันนี้ เทคโนโลยีสมัยใหม่ทั้ง AR, VR และ MR ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในหลากหลายวงการ ทั้งวงการโฆษณา วงการการศึกษา รวมถึงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ให้มีความทันสมัย นำเสนอเนื้อหาและประสบการณ์ใหม่ๆ แก่ผู้ชม

          ยิ่งในช่วงวิกฤตโรคระบาด พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบโดยตรง ส่งผลให้ต้องเร่งปรับตัว คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ โดยมีเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นกุญแจสำคัญ

          พิพิธภัณฑ์ที่เคยถูกมองว่าเป็นสถานที่น่าเบื่อสำหรับคนรุ่นใหม่ เมื่อผนวกเข้ากับเทคโนโลยีล้ำสมัย กลายเป็นความหวังที่ส่องแสงให้เห็นว่า นอกจากพิพิธภัณฑ์จะยังไม่ตาย มันอาจกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ผสานอดีต อนาคต และปัจจุบัน ไว้ด้วยกันอย่างน่าทึ่ง

          ต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ยุคใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีโลกเสมือนในการสร้างสรรค์และนำเสนอเนื้อหารูปแบบใหม่ๆ ได้อย่างน่าประทับใจ

หอศิลป์แห่งชาติ (The National Gallery), อังกฤษ

          ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา องค์กรด้านศิลปะหลายแห่งในกรุงลอนดอนได้ร่วมกันขบคิดหาทางออก เพื่อให้ผู้คนสามารถเดินรับชมงานศิลปะโดยไม่ต้องมารวมตัวกันในอาคาร เป็นที่มาของโครงการที่ชื่อว่า ‘Art of London’

          โครงการนี้ริเริ่มขึ้นในปี 2021 โดยการนำคอลเลกชันศิลปะที่มีชื่อเสียงจากหอศิลป์แห่งชาติ (The National Gallery) หอศิลป์ภาพเหมือนแห่งชาติ (National Portrait Gallery) และราชบัณฑิตยสถาน (Royal Academy of Arts) ออกไปยังท้องถนนและพื้นที่สาธารณะที่ผู้คนสัญจรไปมาในชีวิตประจำวัน เกิดเป็นแกลเลอรีกลางแจ้งทอดยาวผ่านใจกลางเมือง จากทางตะวันตกของพิคคาดิลลี เซอร์คัส ไปทางทิศตะวันออกของจัตุรัสเลสเตอร์ มีจุดเริ่มต้นที่หอศิลป์แห่งชาติและสิ้นสุดที่ราชบัณฑิตยสถาน

          แผ่นโลหะหน้าตาเหมือนกรอบรูปซึ่งมีเครื่องหมาย Art of London และ QR Code จะถูกติดไว้บนกำแพงหรือฝาผนังตามจุดต่างๆ เมื่อผู้คนใช้โทรศัพท์มือถือสแกน พวกเขาจะได้รับชมผลงานศิลปะชิ้นเอกของศิลปินที่มีชื่อเสียง เช่น ทิเซียโน เวเชลลี (Tiziano Vecelli) วินเซนต์ แวน โก๊ะ (Vincent van Gogh) และ เทรซี เอมิน (Tracey Emin) นี่เป็นการนำเทคโนโลยี AR มาใช้แบบง่ายๆ ตรงไปตรงมา แต่ได้ผลตอบรับเกินคาด ด้วยความที่มันกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น ชักชวนให้คนรักศิลปะอยากออกตามหาว่า QR Code เหล่านั้นซ่อนอยู่ตรงจุดไหนบ้าง และผลงานที่ปรากฏออกมานั้นจะน่าตื่นตาตื่นใจเพียงใด

          นอกจากนี้ บนถนนสายเดียวกันยังมีการติดตั้งประติมากรรมในธีมภาพยนตร์ ซึ่งกำลังเปิดฉายในโรงภาพยนตร์ ภายใต้โครงการ ‘Scenes in the Square’ ทั้งหมดนี้ มีเป้าหมายที่สอดคล้องกันก็คือ การสร้างการเข้าถึงและการมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรมให้กับผู้คน รวมทั้งดึงดูดให้ผู้ใช้บริการหวนกลับมาเยือนพิพิธภัณฑ์ แม้ในปัจจุบันการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะยังไม่จบสิ้นก็ตาม

Art of London

พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติ (Muséum national d’Histoire naturelle), ฝรั่งเศส

          ใครจะคิดว่า สัตว์ที่เคยสูญพันธุ์ไปแล้วจะฟื้นคืนชีพและปรากฏกายต่อหน้ามนุษย์ได้อีกครั้ง

          เมื่อปี 2021 พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติฝรั่งเศส เปิดตัวโครงการ REVIVRE สร้างประสบการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจในการรับชมนิทรรศการ ‘Gallery of Evolution’ ซึ่งจัดแสดงซากพืชและสัตว์หายาก รวมทั้งที่ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว ตั้งแต่แมลงเต่าทองไปจนถึงเต่ายักษ์ พร้อมบอกเล่าเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ และสาเหตุแห่งความสูญสิ้นซึ่งส่วนใหญ่มาจากน้ำมือมนุษย์

          เทคโนโลยี AR ซึ่งทำงานควบคู่กับแว่นตาโฮโลเลนส์ของ Microsoft ได้เปลี่ยนบรรยากาศการรับชมวัตถุจัดแสดงที่ดูน่าเบื่อ ให้กลายเป็นการเดินทางไปพบกับสัตว์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ในรูปแบบโมเดล 3 มิติขนาดจริงที่เคลื่อนไหวได้ เช่น นกตัวใหญ่เท่าช้าง เป็ดโดโด เสือเขี้ยวดาบ วัวทะเลชเต็ลเลอร์ เสือแทสเมเนีย ฯลฯ ท่ามกลางทิวทัศน์ที่สวยงาม เสมือนกำลังยืนอยู่ในป่า ทุ่งหญ้า หรือท้องทะเล อันเป็นที่อาศัยของสัตว์เหล่านั้น

          ในช่วงสุดท้ายของการเดินทาง สัตว์แอนิเมชันทุกสายพันธุ์จะเดินมารวมตัวกัน เพื่อโบกมืออำลามนุษย์เป็นครั้งสุดท้าย เป็นการปิดฉากการรับนิทรรศการที่สะเทือนอารมณ์ และจะยังอยู่ในความทรงจำของผู้รับชมไปแสนนาน

นิทรรศการ Gallery of Evolution ของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติ (Muséum national d’Histoire naturelle)

พิพิธภัณฑ์ศิลปะออนตาริโอ (Art Gallery of Ontario), แคนาดา

          ผลงานศิลปะนอกจากมีคุณค่าในเชิงสุนทรียะแล้ว อีกด้านหนึ่งยังเป็นหลักฐานที่ช่วยบันทึกเรื่องราวและวิถีชีวิตของคนแต่ละยุคสมัยอีกด้วย

          พิพิธภัณฑ์ศิลปะออนตาริโอ ได้ร่วมมือกับศิลปินดิจิทัล อเล็กซ์ เมย์ฮิว (Alex Mayhew) นำเสนอนิทรรศการศิลปะ ‘ReBlink’ ด้วยเทคโนโลยี AR ผ่านโทรศัพท์มือถือ เพื่อชวนให้ผู้คนได้คิดไตร่ตรองและมองเห็นแง่มุมใหม่ๆ ที่ถูกต่อยอดในงานจิตรกรรม

          หนึ่งในนั้นคือภาพวาด ‘Drawing Lots’ ของ จอร์จ แอ็กนิว รีด (George Agnew Reid) อายุกว่าร้อยปี จากเดิมที่เป็นภาพชายสามคนกำลังก้มศีรษะเล่นเกมด้วยกันท่ามกลางบรรยากาศที่เงียบสงบ ถูกดัดแปลงเป็นภาพเวอร์ชันร่วมสมัยใหม่ แต่ละคนต่างนั่งจ้องหน้าจอโทรศัพท์ของตนเองท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยควันพิษ ตัวอย่างดังกล่าว มิใช่การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อนำเสนองานศิลปะอย่างทื่อๆ แต่ได้ผ่านการตีความ พร้อมแทรกความคิดและบริบทของศตวรรษที่ 21 ลงไปในงานยุคเก่า

          พิพิธภัณฑ์ศิลปะออนตาริโอได้นำแนวทางนี้ไปต่อยอด ด้วยการจัดแสดงแบบ pop up ทั้งในและต่างประเทศ เช่น เม็กซิโก โปแลนด์ สหรัฐอเมริกา และจาไมก้า รวมทั้งกำลังพัฒนา ‘ReBlink Plus’ นำเสนอผลงานศิลปะด้วยเทคโนโลยี AR ในพื้นที่และบริบทอื่นๆ ที่พ้นไปจากพิพิธภัณฑ์ เช่น ร้านกาแฟ ซูเปอร์มาร์เก็ต การ์ด ไปจนถึงเสื้อผ้า เพื่อเชื่อมโยงเรื่องราวของศิลปะให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทุกคน

นิทรรศการศิลปะ ‘ReBlink’ ของพิพิธภัณฑ์ศิลปะออนตาริโอ (Art Gallery of Ontario)

พิพิธภัณฑ์ศิลปะเปเรซ (The Pérez Art Museum), สหรัฐอเมริกา

          พิพิธภัณฑ์ศิลปะเปเรซ ในรัฐไมอามี ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ร่วมมือกับ Felice Grodin จิตรกรหญิงผู้มีพื้นฐานความรู้ด้านสถาปัตยกรรม จัดนิทรรศการ ‘Invasive Species’ โดยใช้เทคโนโลยี AR เนรมิตสัตว์ประหลาดให้คืบคลานอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ เช่น ลานกลางแจ้ง ทางเดิน ระเบียง และโรงละคร

          ศิลปินตั้งใจสร้างโมเดลดิจิทัล 3 มิติ เพื่อกระตุกให้ผู้คนฉุกคิดเกี่ยวกับความเปราะบางของระบบนิเวศและวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลงานศิลปะแอนิเมชัน ‘Terrafish’ ที่มีโครงสร้างคล้ายแมงกะพรุนสูง 49 ฟุต ซึ่งเข้ามารุกรานและเขมือบสวนลอยฟ้าของพิพิธภัณฑ์ สื่อถึงสัตว์ต่างถิ่นที่พบในน่านน้ำฟลอริดาตอนใต้เมื่อหลายสิบปีก่อน บ่งบอกถึงการเสียเสถียรภาพของสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจส่งผลกระทบด้านลบต่อมนุษย์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

          ในบริบทนี้ งานศิลปะจึงกลายเป็นการสื่อสารที่สามารถนำไปสู่การสนทนาและถกเถียงกันในประเด็นสำคัญๆ ของมนุษยชาติ ด้วยรูปแบบที่น่าดึงดูดและสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คนได้

นิทรรศการ ‘Invasive Species’ ของพิพิธภัณฑ์ศิลปะเปเรซ (The Pérez Art Museum)

ศูนย์อวกาศเคนเนดี (The Kennedy Space Centre), สหรัฐอเมริกา

          โครงการบุกเบิกการสำรวจอวกาศ เป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ชาวอเมริกันมีความภาคภูมิใจ ศูนย์อวกาศเคนเนดีได้ใช้เทคโนโลยี AR เพื่อนำเสนอนิทรรศการ ‘วีรบุรุษและตำนาน’ ว่าด้วยการเดินทางที่มีทั้งความตื่นเต้นและเต็มไปด้วยอันตราย โดยเนรมิตบรรยากาศให้สมจริงราวกับว่าผู้เยี่ยมชมได้เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจนั้น

          หนึ่งในไฮไลต์สำคัญ คือการใช้โฮโลแกรมถ่ายทอดใบหน้าและความรู้สึกของ จีน เคอร์แนน (Gene Cernan) นักบินอวกาศของยาน Gemini 9 เมื่อครั้งออกสำรวจอวกาศในปี 1996 เขาต้องประสบกับเหตุการณ์เลวร้ายประหนึ่งอยู่ในนรก เมื่อตัวเขาหมุนเคว้งไปรอบๆ อย่างไร้การควบคุมภายใต้ชุดอวกาศที่ร้อนอบอ้าว

          นิทรรศการดังกล่าว นอกจากจะช่วยถ่ายทอดเรื่องราวนอกโลก ซึ่งยากที่คนทั่วไปจะจินตนาการออก ให้สามารถเข้าถึงอย่างมีอรรถรสแล้ว ในอีกด้านหนึ่งยังเป็นความพยายามในการสร้างนิยามใหม่ให้กับคำว่า ‘วีรบุรุษ’ ซึ่งไม่ใช่เพียงผู้ปกครองหรือทหารผู้พลีชีพเพื่อการสู้รบ แต่นักบินอวกาศก็เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่คู่ควรแก่การถูกจารึกไว้ในหอเกียรติยศของชาติด้วยเช่นกัน

นิทรรศการ ‘วีรบุรุษและตำนาน’ ของศูนย์อวกาศเคนเนดี (The Kennedy Space Centre)

          แม้การใช้เทคโนโลยีโลกเสมือนในพิพิธภัณฑ์และเรียนรู้สมัยใหม่ จะเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นในปัจจุบัน แต่ในอีกมุมหนึ่ง ยังมีบางประเด็นที่พิพิธภัณฑ์ยุคใหม่พึงตระหนักในการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ เช่น ตำแหน่งของภาพจำลองที่ถูกนำเสนอ จะต้องไม่บดบังหรือรบกวนงานคอลเลกชันอื่นๆ ที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยี การเข้าถึงของผู้ใช้บริการสูงอายุที่อาจขาดทักษะทางเทคโนโลยี รวมถึงการนำผลงานศิลปะยุคเก่ามาตีความและนำเสนอในบริบทร่วมสมัย โดยที่คุณค่าเดิมไม่ถูกบิดเบือนหรือจางหายไป เป็นต้น


ที่มา

How Museums are using Augmented Reality [online]

REVIVRE, Extinct animals in augmented reality. [online]

Using Augmented Reality, London Takes Its Art to the Streets. [online]

Felice Grodin: Invasive Species [online] ReBlink : Art, augmented Reality. [online]

Cover Photo : SAOLA Studio / MNHN

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก