GLAMhack ปลดล็อกข้อมูลวัฒนธรรม ปั้นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ผู้ใช้

169 views
7 mins
January 29, 2024

          เป็นเวลา 2 วันเต็มที่ห้องออดิทอเรียมของ Musée d’ethnographie de Genève หรือเรียกย่อๆ ว่า MEG พิพิธภัณฑ์ใจกลางกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คลาคล่ำไปด้วยผู้เชี่ยวชาญสายไอที และนักวิชาการสายวัฒนธรรม แต่ละกลุ่มพูดคุยกันอย่างคร่ำเคร่งเพื่อร่วมกันวิเคราะห์โจทย์ของกลุ่มตนเองที่เตรียมการล่วงหน้ามาแล้ว ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ‘hackathon’ หลายสิบชีวิตต่างระดมสมองปั้นโปรเจกต์ แม้ในช่วงอาหารเย็นหรือช่วงเวลาพักจิบชากาแฟ ก็ยังไม่หยุดพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เผื่อว่าไอเดียจะพุ่งกระฉูด จุดไฟติดขึ้นมา เมื่อได้เปลี่ยนอิริยาบถและสิ่งแวดล้อม

          ในที่สุดเวลาก็ดำเนินมาถึงช่วงสุดท้าย คือการนำเสนอโปรเจกต์ที่แต่ละทีมสกัดไอเดียกลั่นกรองมาอย่างดีจนเกิดเป็นต้นแบบ หรือ ‘Prototype’

          บ้างก็เป็นผลงานง่ายๆ แต่แก้ไขปัญหาที่ถูกนำมาเป็นโจทย์ตั้งต้นอย่าง Chatbot  

          บ้างก็ทำแผนที่แบบอินเทอร์แอคทีฟ นำเสนอข้อมูลทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมให้เข้าใจง่าย

          บ้างพยายามคิดค้นวิธีแก้ไขปัญหาการทำงานหลังบ้านให้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ AI หรือ OCR (Optical Character Recognition) หรือแม้กระทั่งการทำฐานข้อมูลเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลจากเอกสารและวัตถุในคอลเลกชันให้เป็นระบบมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการทำงานจากโจทย์ที่ได้รับในแต่ละปี

          นี่คือบรรยากาศของงาน GLAMhack หรือชื่อเต็มคือ The Swiss Open Cultural Data Hackathon กิจกรรมที่เกิดขึ้นปีละครั้งในสวิตเซอร์แลนด์ คำว่า GLAM ไม่ใช่ตัวย่อของคำว่า Glamour ที่แปลว่า ความสวยงาม หรือ เสน่ห์ แต่มาจากอักษรตัวแรกของคำว่า Gallery, Library, Archive และ Museum ดังนั้น GLAMhack จึงเป็นชุมทางของโปรแกรมเมอร์ นักวิเคราะห์ข้อมูล ภัณฑารักษ์ นักประวัติศาสตร์ นักจัดการความรู้ นักวิจัย และนักวิชาการสายมนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์ ที่มารวมตัวกันใช้เทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนารูปแบบบริการที่ทำให้ผู้ใช้โดยทั่วไปเข้าถึงข้อมูลทางวัฒนธรรมอย่างสะดวกง่ายดาย สามารถนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น

          ผ่านไป 9 ครั้งแล้ว และกำลังจะเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปีในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ GLAMhack ยังได้รับความนิยมจากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสายงาน มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วม ‘hack’ ปัญหาไม่ห่างหาย สถานที่จัดงานสลับเปลี่ยนเวียนกันไป มีทั้งพิพิธภัณฑ์ หอสมุดแห่งชาติ ห้องสมุดมหาวิทยาลัย หรือในบางครั้งที่สภาวะของโลกไม่เป็นใจ ทีมงานก็ยังมุ่งมั่นที่จะจัดงานแบบออนไลน์ ถือเป็นอีเวนต์ใหญ่ที่เคยมีโปรแกรมเมอร์เดินทางข้ามประเทศ หรือแม้กระทั่งข้ามทวีปมาร่วมสร้างสรรค์ผลงานเลยทีเดียว

GLAMhack ปลดล็อกข้อมูลวัฒนธรรม ปั้นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ผู้ใช้
Photo : Lorenzo di Lernia and Alessandro Plantera, CC BY 4.0, via Wikimedia Commons

GLAMhack ปลดล็อกข้อมูลวัฒนธรรม ปั้นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ผู้ใช้
Photo : Lorenzo di Lernia and Alessandro Plantera, CC BY 4.0, via Wikimedia Commons

GLAMhack คืออะไร? สำคัญอย่างไร?

          ในยุโรป องค์กรสายวัฒนธรรมไม่ว่าจะเป็นห้องสมุด หอสมุด หอจดหมายเหตุแห่งชาติ หอศิลป์ หรือ พิพิธภัณฑ์ ต่างมองว่าการทำงานร่วมกันจะนำมาซึ่งไอเดียในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ครอบคลุมรอบด้านมากกว่าโชว์เดี่ยว หน่วยงานเหล่านั้นจึงเกาะกลุ่มร่วมมือกันอยู่เนืองๆ เพราะทรัพยากรที่มีอยู่ล้วนเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน คำว่า GLAM ซึ่งเป็นคำที่เรียกขานถึงหน่วยงานสายวัฒนธรรม จึงมักจะปรากฏอยู่ในเอกสารเชิงนโยบายอยู่บ่อยครั้ง

          ผู้ประสานงานหลักของงาน GLAMhack คือ คณะทำงาน OpenGLAM สาขาสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมตัวแทนจากองค์กรด้านวัฒนธรรม สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย และสถาบันที่ให้ทุนต่างๆ ที่มีเป้าหมายคือการส่งเสริมให้หน่วยงานทางวัฒนธรรมเปิดเผย ‘ข้อมูล’ ให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงได้โดยเสรี โดยเฉพาะข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล

          ทีมงานจะเชิญสถาบัน GLAM ที่มี open data ให้ประชาชนเข้าถึงได้มาร่วมตั้งโจทย์ แล้วเชิญผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ นักมนุษยศาสตร์ดิจิทัล ศิลปิน นักออกแบบ นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ ให้มาร่วมระดมสมอง ทดลองออกแบบวิธีการนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ ไม่ว่าจะในรูปของงานวิจัย ฐานข้อมูล เว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือรูปแบบอื่นๆ

          ธีมประจำปีของ GLAMhack ปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ จากโจทย์ในปีแรกๆ ที่เป็นเรื่องของการแปลงข้อมูลแอนะล็อกให้เป็นดิจิทัล และขยายเครือข่าย open data กลายเป็นโจทย์ที่เริ่มมีความเฉพาะทาง ท้าทาย และประยุกต์ข้ามศาสตร์มากขึ้นเรื่อยๆ บางครั้งก็แตะประเด็นด้านธรณีวิทยาหรือธรรมชาติวิทยา ส่วนงานครั้งล่าสุดนั้นเป็นธีมเฉพาะทางเกี่ยวกับการสลายแนวคิดอาณานิคมในพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด หอศิลป์ และหอจดหมายเหตุต่างๆ เรียกได้ว่านอกจากจะต้องมีความรู้เรื่องการจัดการข้อมูลแล้ว แต่ละทีมยังต้องมีนักวิชาการสายวัฒนธรรมที่เข้าใจประเด็นเรื่อง ‘แนวคิดอาณานิคม’ ด้วย

          เมื่อกำหนดสถานที่และธีมของงาน hackathon แล้ว ผู้จัดจะนำเสนอชุดข้อมูล พร้อมโจทย์ปัญหาประจำปี (Challenges) ที่ต้องการนักสร้างสรรค์มาร่วมหาทางพิชิต หลังจากนั้นจะจัดบรรยายพิเศษทั้งแบบออนไลน์และออนไซต์ในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาที่ต้องการจะ ‘hack’ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ด้านการเขียนโปรแกรม กฎหมาย หรือกรณีศึกษาที่เป็น ‘good practice’

          อาจจะฟังดูเหมือนเป็นกิจกรรมที่จริงจังและหวังผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม แต่แท้จริงแล้ว เป้าหมายแรกเริ่มของ GLAMhack แสนเรียบง่าย คือการส่งเสริมให้หน่วยงานด้านวัฒนธรรมเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงชุดข้อมูลที่มีอยู่ให้มากที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ว่ามีสิทธิเข้าถึงชุดข้อมูลใดได้บ้าง และสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ต่อได้ด้วยวิธีใด หากท้ายกิจกรรม นักออกแบบจะปั้นโปรเจกต์ที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอด ก็ล้วนเป็นผลพลอยได้ที่ผู้จัดมองว่าเป็นกำไรทั้งสิ้น

GLAMhack ปลดล็อกข้อมูลวัฒนธรรม ปั้นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ผู้ใช้
Photo : Lorenzo di Lernia and Alessandro Plantera, CC BY 4.0, via Wikimedia Commons

GLAMhack ปลดล็อกข้อมูลวัฒนธรรม ปั้นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ผู้ใช้
Photo : Lorenzo di Lernia and Alessandro Plantera, CC BY 4.0, via Wikimedia Commons

Open Data, Open Culture, Open Knowledge

          ในระยะหลังมานี้ มีการรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญและองค์กรต่างๆ เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม หรือ GLAM เปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย  

          จุดยืนของความเคลื่อนไหวนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า องค์กรวัฒนธรรม หรือ GLAM คือ หน่วยงานที่เป็นประตูสู่ ‘ความรู้’ และ ‘วัฒนธรรม’ ที่สามารถนำพาสังคมไปสู่ความหลากหลายและเข้มแข็งได้ ที่ผ่านมาหน่วยงาน GLAM ยืนหยัดทำหน้าที่ต่อสังคม ทั้งในฐานะแหล่งเรียนรู้ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจและให้ความเพลิดเพลิน อีกทั้งเป็นแหล่งข้อมูลพื้นฐานสำหรับงานวิจัยและนวัตกรรม สถานที่เหล่านี้จึงเป็นพื้นที่ที่เอื้อให้พลเมืองทุกคนมีสิทธิจะเข้าถึงความรู้ และการพัฒนาตนเองอย่างเท่าเทียม

          ดังนั้น เมื่อโลกเคลื่อนเข้าสู่ยุคดิจิทัล กลุ่มความร่วมมือและองค์กรเหล่านั้นจึงเริ่มตระหนักว่า หน่วยงาน GLAM ซึ่งทำหน้าที่เป็นแหล่งรวบรวมทรัพยากร จัดแสดง และส่งต่อความรู้ได้เป็นอย่างดีมาตลอดในรูปของ ‘physical space’ กลับมีบทบาทที่จำกัดในส่วนของ ‘digital space’ ผู้เล่นสำคัญในโลกดิจิทัลกลับเป็นองค์กรธุรกิจต่างๆ ที่มักจะเปิดให้ประชาชนใช้ประโยชน์จากข้อมูลแบบมีเงื่อนไขหรือค่าใช้จ่าย บทบาทของ GLAM ในโลกดิจิทัลในเรื่องของการส่งเสริมการเข้าถึงความรู้ยังไม่ชัดเจนเท่าบทบาทในโลกจริง และยังตามหลังภาคธุรกิจอยู่มาก ประชาชนเองก็ยังไม่มีสิทธิเข้าถึงความรู้ในโลกดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียม

          หน่วยงาน GLAM หลายๆ แห่งก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และกำลังพยายามเปลี่ยนข้อมูลแอนะล็อกในคอลเลกชันให้เป็นข้อมูลดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ แต่การเปลี่ยนผ่านจากแหล่งเรียนรู้ทางกายภาพสู่ดิจิทัล ทำให้หน่วยงาน GLAM ต้องเผชิญกับความท้าทายไม่น้อย องค์กรหรือกลุ่มความร่วมมืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงพยายามสรรหามาตรการและร่างกฎระเบียบหรือข้อควรปฏิบัติที่จะทำให้ข้อจำกัด หรืออุปสรรคในการเปิดข้อมูลให้เป็นสาธารณะหมดไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมาย ลิขสิทธิ์ หรือประเด็นอื่นใดก็ตาม

          OpenGLAM และ Creative Commons เป็นหน่วยงานที่จับมือเป็นพันธมิตรกันเพื่อขับเคลื่อนให้ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงความรู้อย่างเท่าเทียมมาตั้งแต่ช่วงปี 2010 โดย OpenGLAM ในระดับนานาชาติเริ่มรวมตัวกันอย่างเป็นทางการในปี 2011 ต่อมาในปี 2013 สมาชิกก็เริ่มร่างหลักการ 5 ข้อเพื่อส่งเสริมให้สมาชิกและเครือข่ายนำไปปฏิบัติตาม คือ

          1. เปิดให้ข้อมูลของวัตถุในความดูแลเป็นสาธารณะสมบัติ (Public Domain) โดยใช้เครื่องมืออย่าง Creative Commons

          2. หากลิขสิทธิ์ของงานชิ้นใดหมดอายุแล้ว จงยกเลิกการต่อลิขสิทธิ์และเปิดให้เป็นสาธารณสมบัติ

          3. ส่งเสริมให้ประชาชนนำข้อมูลจาก GLAM ไปใช้ต่อ มีข้อความแสดงเจตจำนงอย่างเด่นชัด

          4. ทำข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่อ่านง่าย เข้าถึงได้โดยสะดวก

           5. สร้างสรรค์วิธีการมีส่วนร่วมกับผู้ใช้ข้อมูลในรูปแบบใหม่ๆ ในช่องทางออนไลน์

          ช่วงเวลานี้เอง ที่ประเทศต่างๆ ในยุโรป เริ่มก่อตั้งกลุ่ม OpenGLAM ในพื้นที่ของตนเองขึ้นมา และกลุ่ม OpenGLAM ของสวิตเซอร์แลนด์ก็เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันโดยอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ Opendata.ch ที่ประกอบไปด้วยคณะทำงานในสายงานด้านไอที ผู้ประกอบการ และนักออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้ ตั้งแต่นั้นมา OpenGLAM ก็เริ่มจัดกิจกรรมที่สนองตอบเป้าหมายของกลุ่ม โดยมี hackathon เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่นอกจากจะทำให้ประชาชนรู้จักแหล่งข้อมูลเพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังช่วยให้เกิดการสร้างเครือข่ายทั้งฝั่งผู้ให้ข้อมูล และผู้นำข้อมูลไปใช้

Hackathon คือเครื่องมือ

           “hackathon เป็นเครื่องมือที่ช่วยปล่อยข้อมูลทางวัฒนธรรมออกมาสู่สาธารณะ”

          บีท เอสเทอร์มาน (Beat Estermann) ผู้ก่อตั้งคณะทำงาน OpenGLAM ของสวิตเซอร์แลนด์ และกำลังสำคัญของ GLAMhack ได้กล่าวเอาไว้ เขาเชื่อว่าการจัด hackathon คือโอกาสอันดีที่จะกระตุ้นให้องค์กรด้านมรดกวัฒนธรรมทั้งหลายเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนรู้ ว่าจะเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างไร มีข้อมูลชุดไหนที่สามารถนำมาใช้เพื่อการวิจัยและการศึกษาได้บ้าง ในขณะเดียวกันการรวมตัวของผู้คนที่มาจากหลากหลายสาขาความเชี่ยวชาญ ก็จะช่วยให้พวกเขาปรับเปลี่ยนมุมมอง มองโลกในแง่มุมที่ต่างออกไปด้วย

           “ผู้ให้ข้อมูล (Data Provider) หลายๆ แห่ง เริ่มให้ความสำคัญกับความต้องการของผู้ใช้มากขึ้น ในขณะที่ผู้ใช้เองก็มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลชุดใหม่ๆ ข้อมูลทางวัฒนธรรมก็จะถูกป้อนเข้าสู่ฐานข้อมูลที่เข้าถึงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายมากขึ้นเรื่อยๆ ผมว่าเป็นกิจกรรมที่ วิน-วิน ทั้งสองฝั่ง แล้วก็เป็นประโยชน์ต่อการเรียนและการทำวิจัยด้วย อาจจะมีอะไรที่สร้างสรรค์เกิดขึ้นก็ได้”

          แล้วเอสเทอร์มานก็เล่าถึงกระบวนการ hackathon

           “สำหรับฝ่ายที่จะมาแฮก สิ่งแรกที่ต้องทำคือไล่ดูข้อมูลเพื่อหาไอเดีย อาจจะลองวางไอเดียเริ่มต้นสักเล็กน้อย เพราะเวลา 2 วันนี่ถือว่าน้อยมากเลยนะ เราต้องรีวิวข้อมูลก่อนที่จะเริ่มกิจกรรม พอถึงวันงานก็นำไอเดียมาเสนอคร่าวๆ ถ้าเจอคนที่มีความสนใจตรงกันก็สามารถฟอร์มทีม และพัฒนาโปรเจกต์ไปพร้อมกันได้เลย แต่ก็ต้องทำใจเอาไว้ ว่าไอเดียเริ่มต้นคงจะเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร”

          ในระหว่าง 2 วันที่แต่ละทีมพยายามแก้ปัญหาและระดมไอเดีย ผู้จัดยังเตรียม ‘side program’ เป็นคู่ขนานกันไป เพื่อให้บริการข้อมูลหรือความรู้เพิ่มเติม การนำเสนอ prototype หรือต้นแบบในช่วงเย็นของกิจกรรม hackathon ในวันที่ 2 นั้น ถือเป็นส่วนที่สำคัญ เพราะหน่วยงานเจ้าของข้อมูลเหล่านั้น และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการให้ทุนจะมาร่วมรับฟังด้วย โอกาสที่โปรเจกต์ไหนจะได้ไปต่อล้วนวัดกันตรงนี้

          ในช่วงปีหลังๆ ของการจัด GLAMhack ผู้เข้าร่วมงานและองค์กรต่างๆ เริ่มตระหนักว่าการพบปะและสร้างเครือข่ายในงาน hackathon เอื้อประโยชน์ต่อการทำงานในอนาคต ทำให้เกิดแรงบันดาลใจใหม่ๆ นอกจากนี้ไอเดียเริ่มต้นในต้นแบบของหลายๆ โปรเจกต์ ก็ถูกนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในการทำงานอีกด้วย

          ในปี 2021 ห้องสมุด ETH เมืองซูริค เป็นเจ้าภาพในการจัดงานแบบออนไลน์ ผู้เข้าร่วมแฮกปัญหา นำเสนอโปรเจกต์ที่น่าสนใจหลายโปรเจกต์ โดยห้องสมุด ETH เองนั้น เสนอโจทย์ไว้ 3 ข้อ

          โจทย์ข้อแรก มาจากแผนกหนังสือหายาก ห้องสมุดมีเอกสารโบราณที่เต็มไปด้วยสมการมากมาย ดังนั้น ระหว่างกระบวนการเปลี่ยนเอกสารให้เป็นข้อมูลดิจิทัล (OCR) เครื่องหมายเหล่านี้อาจตกหล่นและหายไป ห้องสมุดต้องการวิธีที่จะช่วยแก้ไขการทำงานหลังบ้านตรงจุดนี้

          โจทย์ข้อสอง มาจากแผนกคลังรูปภาพ ที่อัปโหลดชิ้นงานกว่า 60,000 ภาพ ขึ้นสู่ Wikimedia Commons ต่อมาในฐานข้อมูลของห้องสมุดมีอาสาสมัครที่รับหน้าที่อัปเดตข้อมูล แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ ห้องสมุด ETH จะอัปเดตข้อมูลของภาพที่ได้อัปโหลดสู่ Wikimedia Commons ไปแล้วได้อย่างไร

          โจทย์และชุดข้อมูลที่เกี่ยวข้องสองข้อแรกนั้นถูกแจกล่วงหน้า แต่โจทย์ข้อสุดท้ายได้มาอย่างกะทันหันจากเจ้าหน้าที่ ETH Lab ซึ่งเปิดประเด็นขึ้นในวันที่เริ่มกิจกรรม ว่าการโหลดข้อมูลจำนวนมากใน Open Data มักจะใช้เวลานานและอยู่ในรูปแบบที่เข้าใจยาก ทางห้องสมุดจึงต้องการเครื่องมือที่ช่วยสรุปให้เห็นภาพรวมของข้อมูล

          หลังจากทีมต่างๆ ได้นำเสนอต้นแบบในกิจกรรมวันสุดท้าย ห้องสมุด ETH ก็ยินดีรับข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์มาพิจารณาต่อ และนำแนวคิดต้นแบบเหล่านั้นไปพัฒนาต่อยอด เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นต่อไป  

          นอกจากนี้ เจ้าของบางโปรเจกต์ยังรู้สึกว่าต้นแบบที่สร้างขึ้นมา ยังสามารถพัฒนาต่อได้ ถึงกับนำกลับมา ‘hack’ ต่อ ในงาน hackathon ปีถัดไป เช่น ในปี 2020 ‘Culture inTime’ แอปพลิเคชันข้อมูลทางวัฒนธรรมในรูปแบบปฏิทิน (Cultural Calendar) ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อนำเสนอข้อมูลกิจกรรมทางวัฒนธรรมทั้งในปัจจุบันและในอดีตของประเทศสวิตเซอร์แลนด์และแคนาดา โดยตัวแอปพลิเคชันเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลที่มีอยู่แล้ว ทางผู้พัฒนาต้นแบบมองว่าเป็นการนำเสนอข้อมูลในรูปแบบที่ user-friendly มากกว่าการใช้ฐานข้อมูลแบบเดิม และผู้ใช้ยังสามารถค้นหากิจกรรมทางวัฒนธรรมที่สนใจได้อีกด้วย ในปี 2021 ทีมงานนำต้นแบบของปี 2020 กลับมาพัฒนาต่อยอด โดยเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ เช่น ปรับ User Interface เพิ่มช่องทางให้ผู้ใช้สามารถเพิ่มข้อมูลได้ด้วยตนเอง

การนำเสนอโปรเจกต์ ‘Culture inTime’ แอปพลิเคชันข้อมูลทางวัฒนธรรมในรูปแบบปฏิทิน

          ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา ผู้เข้าร่วม GLAMhack เกิน 50 คนเสมอ บางปีมีผู้เข้าร่วมถึงกว่า 100 คน และหลายๆ คนคือสมาชิกเก่าที่แวะเวียนกลับมาช่วยกัน ‘hack’ อีกครั้ง หากวัดจากการทำแบบสอบถามในแต่ละปีแล้ว สิ่งที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับมากที่สุดคือ แรงบันดาลใจและไอเดียใหม่ๆ ที่จะกลับไปต่อยอดการทำงานของตนเองในการจัดการและนำเสนอข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงได้มากขึ้น ตามมาด้วยโอกาสในการสร้างเครือข่ายกับองค์กรในสาย GLAM และสายงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพียงเท่านี้ก็นับว่าตอบโจทย์ของ OpenGLAM แล้ว เพราะวัตถุประสงค์แรกเริ่มคือ…

          กระตุ้นให้องค์กร GLAM เปิดเผยข้อมูล และเปิดให้ประชาชนเข้าถึงได้แบบไม่มีค่าใช้จ่าย..

          แจ้งให้ผู้ใช้รู้ว่าจะเข้าถึงข้อมูลทางวัฒนธรรมได้อย่างไร…

          มีข้อมูลใหม่ๆ ออกสู่สายตาประชาชน และเข้าสู่ฐานข้อมูลฟรีอย่าง Wikidata หรือ Wikimedia Commons มากขึ้นเรื่อยๆ

          ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงวัฒนธรรม และ ความรู้ได้อย่างเท่าเทียม เกิดเป็นชุมชนการเรียนรู้ที่เข้มแข็งและยั่งยืน

          โจทย์ของ GLAMhack ในปีหน้าคือ Re:collecting Peregrinations หรือ มรดกวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับ ‘การเดินทาง’ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางของมนุษย์ จะอยู่ในรูปแบบใดได้บ้าง นักออกแบบจะแปลงข้อมูลออกมานำเสนอได้น่าสนใจ และใช้งานง่ายแค่ไหน…คงจะต้องรอติดตามข่าวในเดือนกันยายน ปีนี้

GLAMhack ปลดล็อกข้อมูลวัฒนธรรม ปั้นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ผู้ใช้
Photo : Lorenzo di Lernia and Alessandro Plantera, CC BY 4.0, via Wikimedia Commons


ที่มา

บทความ “GLAMhack 2023” จาก infoclio.ch (Online)

บทความ “Hackathons” จาก opendata.ch (Online)

บทความ “GLAMhack, Where Heritage Meets Digital Magic” จาก opendata.ch (Online)

บทความ “Hacker Portrait” จาก opendata.ch (Online)

บทความ “GLAMhack 2021 Cultural data goes creative” จาก ibrary.ethz.ch (Online)

Cover Photo : Ida Tietgen Høyrup/ SMK Foto

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก