‘แฟรงก์ โอเวน เกห์รี’ ออกแบบให้แหกคอก หลุดจากโลกสถาปัตย์ยุคโมเดิร์น

3,394 views
6 mins
May 18, 2022

          ปลายศตวรรษที่ 20 ย่างเข้าศตวรรษที่ 21 เป็นยุคที่สถาปัตยกรรมห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ และแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ได้เริ่มก้าวข้ามไปจากขนบการออกแบบเดิมๆ มันจะไม่ใช่พื้นที่ที่ผู้คนเดินเข้าไปรับความรู้อย่างเชื่องๆ เหมือนในอดีตที่ผ่านมา แต่เป็นยุคซึ่งพื้นที่ (space) ถูกออกแบบเพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายของผู้คนในสังคมอนาคต 

          เมื่อแหล่งเรียนรู้คลายความศักดิ์สิทธิ์ลง กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตอย่างใกล้ชิด จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกเลยที่วันนี้คนจำนวนหนึ่งไปที่พิพิธภัณฑ์หรือห้องสมุดเพื่อจัดการแสดงทางวัฒนธรรม งานเทศกาล นัดเจรจาทางธุรกิจ สร้างสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งจัดงานแต่งงาน ในขณะเดียวกันสถานที่เหล่านั้นก็ยังคงรักษาบทบาทในการให้บริการด้านการเรียนรู้และสารสนเทศไว้อย่างเหนียวแน่น 

          แหล่งเรียนรู้ยุคมิลเลนเนียมสามารถออกแบบให้มีรูปลักษณ์ที่แปลกใหม่และมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว ส่วนหนึ่งก็เพราะวิทยาการด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมที่ก้าวหน้ามากขึ้น และส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยก็คือนักออกแบบซึ่งต้องตีโจทย์ทำความเข้าใจวิถีชีวิตของชุมชน จนกระทั่งแปรจินตนาการที่กว้างไกลให้กลั่นตัวเป็นสถาปัตยกรรมที่น่าจดจำ 

          ซีรีส์ชุด “เบื้องหลังความคิดและจินตนาการของนักออกแบบแหล่งเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21” จำนวน 6 ตอน นำเสนอเรื่องราวและผลงานเจ้าของไอเดียแหล่งเรียนรู้ที่โดดเด่น 7 ราย ได้แก่ เร็ม คูลฮาส (Rem Koolhaas) โจชัว ปรินซ์-รามุส (Joshua Prince-Ramus) อึน ยัง ยี (Eun Young Yi) แฟรงก์ โอเวน เกห์รี (Frank Owen Gehry) ซาฮา ฮาดิด (Zaha Hadid) นอร์แมน ฟอสเตอร์ (Norman Foster) และโตโย อิโตะ (Toyo Ito)

          แฟรงก์ โอเวน เกห์รี (Frank Owen Gehry) เป็นสถาปนิกชาวอเมริกัน เจ้าของผลงานการออกแบบที่โดดเด่นสะดุดตา ด้วยรูปทรงอาคารแบบหลุดโลกและการเลือกใช้วัสดุที่ไม่มีใครคาดถึง เกห์รีเกิดที่แคนาดามีปู่และย่าเป็นชาวยิว ส่วนแม่ก็เป็นผู้อพยพชาวโปแลนด์เชื้อสายยิว ซึ่งเกห์รีกล่าวว่าทำให้เขามี “ยีนแห่งความสร้างสรรค์” เมื่อครั้งยังเด็ก ย่าใช้เวลาเล่นกับเกห์รีเป็นชั่วโมงๆ โดยนำเศษวัสดุจากร้านที่ปู่ทำงานอยู่มาให้เขาต่อเป็นเมืองในจินตนาการจนเต็มห้องนั่งเล่น เวลาว่างเกห์รีมักจะใช้เวลาวาดภาพกับพ่อ หรือไม่ก็ติดตามแม่ไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์หรือชมการแสดงดนตรี ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นวิถีที่นำพาเขาไปสู่โลกแห่งศิลปะ

          หลังจากจบการศึกษาด้านสถาปัตยกรรม เกห์รีได้ลงหลักปักฐานในการทำงานที่ลอสแอนเจลิสโดยก่อตั้งบริษัท Frank Gehry Association ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น Gehry Partner เขามองถึงการหนีออกไปจากสไตล์แบบโมเดิร์น ผลงานการออกแบบแต่ละชิ้นล้วนแล้วแต่สะท้อนถึงจิตวิญญาณแห่งการทดลอง กล้าเลือกใช้วัสดุแปลกๆ สีสันแปลกๆ บางครั้งดูดิบหยาบหรือเหมือนกับยังสร้างไม่เสร็จ

          มีผู้วิเคราะห์ว่า งานออกแบบของเมืองลอสแอนเจลิสมีอิทธิพลต่อกระแสงานสถาปัตยกรรมแบบโพสต์โมเดิร์นของโลก ซึ่งหมายถึงสำนักคิดของแฟรงก์ เกห์รี ด้วย ทำให้สไตล์การออกแบบของเขาถูกเรียกว่า “Los Angeles School” หรือ “Santa Monica School” แต่ในอีกด้านหนึ่งงานของเกห์รีก็ได้รับเสียงวิจารณ์เชิงลบอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ความสูญเปล่าของทรัพยากร การสร้างรูปทรงที่ไร้ประโยชน์ใช้สอย และการไม่คำนึงถึงความกลมกลืนกับบริบทของที่ตั้งและภูมิอากาศท้องถิ่น

          นอกจากผลงานด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมแล้ว เกห์รียังสนุกกับงานออกแบบอื่นๆ โดยแตกไลน์ไปผลิตเฟอร์นิเจอร์ ออกแบบเครื่องประดับให้กับแบรนด์ดัง ออกแบบขวดเหล้า แจกัน แก้วน้ำ ถ้วยรางวัล รวมทั้งหมากรุก

Weisman Art Museum ที่มหาวิทยาลัยมินนิโซตา, สหรัฐอเมริกา
Weisman Art Museum ที่มหาวิทยาลัยมินนิโซตา, สหรัฐอเมริกา
Photo: McGhiever,CC BY-SA 4.0,via Wikimedia Commons

พิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์แห่งบิลเบา Guggenheim Museum Bilbao
บาสก์, สเปน

          พิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์แห่งบิลเบา (Guggenheim Museum Bilbao) เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของสเปน ตั้งอยู่ที่แคว้นบาสก์ (Basque) รัฐบาลท้องถิ่นตัดสินใจ “ซื้อเเฟรนไชส์” พิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ จากมูลนิธิ Solomon R. Guggenheim โดยลงทุนการก่อสร้าง 89 ล้านเหรียญสหรัฐ จ่ายค่าธรรมเนียมตั้งต้นให้กับมูลนิธิฯ 20 ล้านเหรียญ และค่าธรรมเนียมรายปีอีกปีละ 12 ล้านเหรียญ เพื่อเป็นค่าดำเนินการจัดหาและหมุนเวียนผลงานศิลปะที่มีชื่อเสียง ค่าใช้จ่ายดังกล่าวนับว่าสูงมากสำหรับประเทศซึ่งขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจดังเช่นสเปน

          แฟรงก์ เกห์รี ขึ้นไปบนยอดเขา Artxanda เพื่อมองหาทำเลในการสร้างพิพิธภัณฑ์ เขาชี้ไปยังบริเวณท่าเรือซึ่งในยุคอุตสาหกรรมเคยเป็นย่านที่สร้างรายได้หลักให้กับเมือง อาคารที่เขาออกแบบเป็นสัญลักษณ์ของเรือที่จอดเทียบท่าอยู่ริมแม่น้ำ Nervión มันดูเหมือนประติมากรรมมากกว่าสถาปัตยกรรม วัสดุภายนอกทำจากหิน กระจก และไทเทเนียมซึ่งมีคุณสมบัติเปลี่ยนสีไปตามแสงสะท้อนจากท้องฟ้าและผืนน้ำ หลักการทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนของเกห์รีสำเร็จเป็นจริงได้ ด้วยความร่วมมือกับบริษัทซอฟต์แวร์ด้านการผลิตชิ้นส่วนยานอวกาศ

          พิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์แห่งบิลเบามีพื้นที่ถึง 24,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่สำหรับนิทรรศการ 11,000 ตารางเมตร ประกอบด้วย 20 แกลเลอรี มีหอประชุมกว่า 300 ที่นั่ง ร้านค้า ร้านหนังสือ และร้านอาหารระดับมิชลินสตาร์ นอกจากตัวอาคารแล้ว พื้นที่ด้านนอกอาคารก็เป็นสถานที่ในดวงใจของผู้ที่ชื่นชอบศิลปะ เพราะมีทั้งประติมากรรมกลางแจ้ง การเล่นดนตรีสด กีฬา และสนามเด็กเล่น

          ทันทีที่พิพิธภัณฑ์เปิดตัวในปี 1997 พิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์แห่งบิลเบากลายเป็นสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกนับล้านคนต่อปี ทำให้เม็ดเงินมากมายหลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย ได้รับการโหวตจากผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพให้เป็นหนึ่งในงานมาสเตอร์พีซแห่งศตวรรษที่ 20 มีการวิเคราะห์ว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของเมืองให้คึกคัก ค่าเข้าชมและภาษีซึ่งแคว้นบาสก์จัดเก็บได้จากการท่องเที่ยวทำให้ท้องถิ่นสามารถถอนทุนคืนภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี ความสำเร็จดังกล่าวก่อให้เกิดกระแส “Bilbao Effect” นั่นคือการเห็นคุณค่าของการออกแบบสถาปัตยกรรม ในการสร้างหมุดหมายใหม่ด้านการท่องเที่ยวและผลกระทบด้านเศรษฐกิจ 

 

พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมป๊อป The Museum of Pop Culture (MoPOP)
ซีแอตเทิล, สหรัฐอเมริกา

          พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมป๊อป The Museum of Pop Culture (MoPOP) หรือชื่อเดิมคือพิพิธภัณฑ์ EMP (Experience Music Project Museum) ที่เมืองซีแอตเทิล เป็นหน่วยงานไม่แสวงหากำไร ก่อตั้งเมื่อปี 2000 โดยพอล อัลเลน หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ เพื่อเป็นโครงการทดลองทางด้านดนตรี นิยายวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมร่วมสมัย พิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ติดกับหอคอย Space Needle แลนด์มาร์กที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเมือง อีกทั้งยังมีรถไฟโมโนเรลวิ่งทะลุผ่านกลางอาคาร

          แฟรงก์ เกห์รี เปรียบเทียบรูปลักษณ์ของสถาปัตยกรรมแห่งนี้ว่าเหมือน “กีตาร์ไฟฟ้าที่ถูกขยำ” พื้นผิวภายนอกเป็นลอนคลื่นรูปทรงอิสระ ทำจากวัสดุต่างๆ ที่มีสีสันหลากหลาย ทั้งสีทอง สีเงิน สีแดงสด และม่วงเหลือบ ซึ่ง “สะท้อนประสบการณ์ร็อคของอเมริกันชน” ในขณะที่สื่อบางสำนักจัดอันดับให้พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมป๊อปเป็น 1 ใน 10 อาคารที่น่าเกลียดที่สุดในโลก บ้างก็เปรียบเทียบว่ามันเหมือน “สิ่งมีชีวิตบางอย่างที่คืบคลานขึ้นมาจากทะเล แล้วก็ตาย”

          พื้นที่สำคัญของอาคารได้แก่ Sky Church โถงคอนเสิร์ตซึ่งสร้างขึ้นเพื่อสดุดี Jimi Hendrix นักกีตาร์ชาวซีแอตเทิลผู้โด่งดัง สามารถจุผู้เข้าชมได้ถึง 800 คน Sound Lab ซึ่งสร้างประสบการณ์และปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เยี่ยมชมกับดนตรี วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเต็มไปด้วยสื่อการเรียนรู้มัลติมีเดีย

          พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมป๊อป มุ่งเน้นบทบาทด้านการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเยาวชน อาทิ ค่ายสร้างสรรค์ เวิร์คช็อปบ่มเพาะศิลปิน การโค้ชและวิจารณ์ด้านการแสดง การสนับสนุนหลักสูตรและฝึกหัดศิลปินในโรงเรียน ฯลฯ ที่นี่เป็นแหล่งสะสมบันทึกหายากกว่า 140,000 รายการ บทประพันธ์เพลงฉบับลายมือ จดหมายเหตุประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าซึ่งภัณฑารักษ์เก็บข้อมูลจากศิลปินท้องถิ่นกว่า 1,000 รายการ ด้วยขอบเขตงานที่กว้างขวางทำให้พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมป๊อปมีบุคลากรกว่า 160 คน ซึ่งประกอบด้วยอาสาสมัครนับร้อยคน และนักศึกษาฝึกงานอีกจำนวนมากในแต่ละปี กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากพิพิธภัณฑ์สร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าถึงประมาณปีละ 35 ล้านเหรียญสหรัฐ

‘แฟรงก์ โอเวน เกห์รี’ ออกแบบให้แหกคอก หลุดจากโลกสถาปัตย์ยุคโมเดิร์น
พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมป๊อป The Museum of Pop Culture (MoPOP)
Photo: Cacophony,CC BY-SA 3.0,via Wikimedia Commons

ที่มา

Anita Woo. EMP Museum → Museum of Pop Culture. (2016).

Kurt Schlosser. Meet MoPOP: Paul Allen’s EMP Museum changes name to Museum of Pop Culture. (2016).

Wikipedia. Frank Gehry.

Wikipedia. Guggenheim Museum Bilbao.

Wikipedia. Museum of Pop Culture.


เผยแพร่ครั้งแรก พฤษภาคม 2560
เผยแพร่ซ้ำ ธันวาคม 2561

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก