เปลี่ยนโลกการเรียนรู้ของไทยให้ทันโลก

10,533 views
15 mins
January 26, 2022

          เป็นเวลา 20 ปีแล้วที่โลกก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 นับเป็นห้วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากมาย เกิดนวัตกรรมจำนวนมากที่ผู้คนในศตวรรษก่อนเพียงแค่ได้จินตนาการ ในขณะที่หลายสิ่งซึ่งเคยดำรงอยู่มายาวนานกลับสูญสิ้นสลายหายไป

          แน่นอนว่าโลกของเรานั้นไม่เหมือนเดิม เราต่างก็มีชีวิตอยู่ในโลกที่แวดล้อมไปด้วยความเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีคนเรียกสั้นๆ ว่า VUCA คือ ผันผวน (Volatile) ไม่แน่นอน (Uncertain) ซับซ้อน (Complex) และคลุมเครือไม่ชัดเจน (Ambiguous)

          โลกของการเรียนรู้ก็ตกอยู่ในกระแสการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้เช่นกัน การค้นหาคำตอบในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เลื่อนไหลไปมาไม่ชัดเจนเป็นความยากลำบาก

          คำถามสำคัญเรื่องการเรียนรู้ก็คือ เราเรียนรู้ไปเพื่ออะไร?

          ในระดับปัจเจก อาจตอบว่าเพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข รู้จักการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ได้ประกอบอาชีพที่ตนรัก และมีรายได้เพียงพอ จุดมุ่งหมายในระดับปัจเจกเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อการยกระดับคุณภาพสังคมให้ดีขึ้น

          แต่เราควรปล่อยให้การเรียนรู้เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล หรือว่าแท้จริงแล้ว ‘การเรียนรู้’ ควรจะเป็นประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ที่ต้องมีทิศทางและแนวนโยบายในระดับชาติ

          เพื่อนบ้านใกล้ประเทศไทยอย่างเช่นสิงคโปร์ เป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้นโยบายส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาประเทศ เนื่องจากทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของสิงคโปร์คือ ‘คน’

          การปรับวิธีคิดและวิธีทำงานเพื่อรับมือกับยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 41 ถูกวางแผนและดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ ตั้งแต่ระดับยุทธศาสตร์ซึ่งวางตำแหน่งประเทศให้เป็น Smart Nation Singapore ในระดับนโยบายมีการวางแผนยกระดับหรือเปลี่ยนทักษะแรงงาน (Upskill/Reskill) อย่างครอบคลุมทั่วถึง ด้วยการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาใหม่ และการปรับบทบาทสถาบันอุดมศึกษาที่มีอยู่เดิม เน้นการสร้างทักษะเชิงลึก (Deep Skill) และเพิ่มศักยภาพคนในด้านทักษะดิจิทัล รวมถึงเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่การศึกษาระดับพื้นฐาน ส่งเสริมให้เด็กๆ รู้จักคิดสร้างสรรค์ กล้าแสดงออก เน้นการเรียนรู้เชิงประสบการณ์และการแก้ไขปัญหา (Problem-based Learning and Experiential Learning)

          มีการตั้งหน่วยงานใหม่ เช่น Skill Future Singapore ทำหน้าที่ส่งเสริมการฝึกอบรมเพื่อปรับทักษะแรงงานใหม่ ตลอดจนจัดสรรงบประมาณและการช่วยเหลือด้านภาษีสำหรับบริษัทหรือธุรกิจต่างๆ ให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการผลิตและบริการอัตโนมัติ แผนงานใหญ่ที่รัฐบาลประกาศออกมา คือ Industry Transformation Map ใช้วงเงินงบประมาณถึง 4,500 ล้านเหรียญ เป็นโรดแมปเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านทั้งนายจ้างและลูกจ้างเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลงเป็นดิจิทัล กำหนดขั้นตอนเป็นรายอุตสาหกรรมรวมทั้งสิ้น 23 อุตสาหกรรม โดยเน้นประเด็นสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องเห็นพ้องกันว่า ‘การศึกษากับการกำหนดยุทธศาสตร์แรงงาน เป็นลู่ทางสำคัญสำหรับความสำเร็จในอนาคต’2

          กรณีสิงคโปร์ คือตัวอย่างที่ทำให้การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นเรื่องจับต้องได้ มีความสำคัญเฉกเช่นเดียวกับการศึกษา ที่ต้องวางนโยบายอย่างเป็นระบบ มีความสอดคล้องทั้งเป้าหมายและวิธีการ มิใช่การส่งเสริมการเรียนรู้แบบพูดลอยๆ หรือคิดเอาเองว่าทำแล้วดี

Mindset – Skillset

          ความต้องการเรียนรู้นั้นมีจุดเริ่มต้นจากทัศนคติหรือวิธีคิด (Mindset) ซึ่งจะไปกำหนดพฤติกรรมการเรียนรู้อีกทอดหนึ่ง Mindset สำคัญที่กระตุ้นให้เกิดความต้องการเรียนรู้3 เช่น Growth Mindset คือแนวคิดที่มองว่าทุกสิ่งสามารถพัฒนาขึ้นได้ เปลี่ยนแปลงเติบโตได้ มองอุปสรรคเป็นโอกาส รักที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา ไม่กลัวที่จะผิดพลาด มองการล้มเหลวเป็นเรื่องปกติ Agile Mindset คือแนวคิดที่เน้นความยืดหยุ่นและการปรับตัว เชื่อว่าถ้าปรับตัวได้เร็วก็จะอยู่รอดและพัฒนาต่อไปได้ เริ่มจากเปลี่ยนแปลงความคิดความเชื่อเดิมหรือการกระทำแบบเดิม หาทางใหม่ๆ หรือปรับปรุงแก้ไขวิธีการเดิมเพื่อให้ได้คำตอบหรือวิธีการที่ดีกว่าเดิม และเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง Resilient Mindset คือความไม่ย่อท้อต่อปัญหา อุปสรรคคือความท้าทาย เมื่อผิดพลาดแล้วล้มลงต้องลุกขึ้นใหม่ได้เสมอ ด้วยการสรุปบทเรียนและปรับตัวให้แตกต่างเพื่อที่จะกลับมายืนได้อีกครั้ง Learning and Curious Mindset กล้าเผชิญความท้าทายและกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้เพื่อผลักดันตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม

          การส่งเสริมการเรียนรู้ ไม่อาจแยกออกจากกรอบคิดเรื่อง ระบบนิเวศการเรียนรู้4 ซึ่งประกอบด้วย 5 ส่วนที่สำคัญ ได้แก่ (1) ความต้องการเรียนรู้ พฤติกรรมการเรียนรู้ (2) เนื้อหาและสื่อการเรียนรู้ (3) แหล่งหรือพื้นที่การเรียนรู้ ทั้งกายภาพและออนไลน์ (4) เทคโนโลยี (5) กฎหมาย โครงสร้างทางสังคม ปัจจัยด้านวัฒนธรรม

          การสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ครอบคลุมเหมาะสม จะกระตุ้นให้เกิดความอยากรู้ อยากแสวงหาและต้องการเรียนรู้ มีแหล่งความรู้ที่สามารถค้นพบความรู้ที่ต้องการ ได้รับประสบการณ์ใหม่และเกิดแรงบันดาลใจ มีสิ่งแวดล้อมหรือบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนแบ่งปันความรู้ เกิดการไหลเวียนของความรู้ และมีการนำความรู้ไปทดลองปฏิบัติหรือใช้ประโยชน์

เปลี่ยนโลกการเรียนรู้ของไทยให้ทันโลก

          การสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ดี ต้องคำนึงถึงพฤติกรรมการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ (ซึ่งเป็นผู้เรียนรู้กลุ่มใหญ่ที่สุด) 3 ประการได้แก่ (1) Just-in-time อยากรู้ทันที เอาไปใช้ทันที (2) Purposed-driven Learning เป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากความชอบหรือความสนใจเฉพาะของตนเอง (Personalized) มีจุดประสงค์หรือเข็มมุ่งชัดเจน (3) Blended Learning ต้องการเรียนรู้แบบผสมผสาน ไม่ใช่แบบใดแบบหนึ่ง เพราะเนื้อหาที่จะเรียนรู้ต่างก็เหมาะสมกับวิธีการเรียนรู้ที่ไม่เหมือนกัน จึงผสมผสานการเรียนรู้หลายแบบ อาทิ Face-to-face Training, Virtual Classroom, Webinar, Links, Simulation, Test and Assessment, Coaching เป็นต้น5

          เนื้อหาสาระ สื่อการเรียนรู้ และกิจกรรมการเรียนรู้ สำหรับสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ ควรมีความสอดคล้องและเหมาะสมกับการสร้างเสริมทักษะจำเป็นในศตวรรษที่ 216 และคำนึงถึงประสบการณ์หรือรูปแบบการเรียนรู้ที่ผู้เรียนจะได้รับ7 ควรปรับให้เหมาะกับความสามารถเฉพาะบุคคล (Personalized and Self-paced Learning) เข้าถึงง่ายและครอบคลุม (Accessible and Inclusive Learning) และเป็นการเรียนรู้แบบปลายเปิด เน้นการทดลองทำ หาวิธีการแก้ปัญหา ร่วมมือกันเพื่อแบ่งปันความรู้และขยายหรือปรับปรุงแนวคิดของกันและกัน (Problem-based and Collaborative Learning) จึงจะเรียกได้ว่าเป็นการเรียนรู้ที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลางและเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong and Learner-driven Learning)

เปลี่ยนโลกการเรียนรู้ของไทยให้ทันโลก

          ทักษะแห่งอนาคตที่โดดเด่นมากในยุคสมัยที่สารสนเทศท่วมท้น และผู้นำต้องตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ คือทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytic Skill) ซึ่งครอบคลุมการรู้จักสืบค้น เลือกสรร ประเมินค่า ตีความ และการนำข้อมูลไปใช้ เพราะข้อมูลโดยลำพังนั้นไม่มีความหมาย หากปราศจากความสามารถในการวิเคราะห์ จึงเกิดอาชีพดาวรุ่งที่เรียกว่า ‘นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล’ หรือ Data Scientist เป็นหนึ่งในอาชีพที่มีความต้องการสูงในตลาดแรงงาน สะท้อนผ่านเงินเดือนผลตอบแทนติดอันดับต้นๆ ของอาชีพที่ได้รับเงินเดือนสูงที่สุด8

          ทักษะด้าน Soft Skill ที่มีแนวโน้มจะกลายเป็นทักษะจำเป็น คือความเข้าใจด้านอารมณ์และความเห็นอกเห็นใจ (Empathy and Emotion Understanding) ทักษะนี้นำไปใช้กับการคิดและออกแบบที่มีคนเป็นศูนย์กลาง (Human-centered) อันเป็นทักษะและกระบวนการคิดที่ฝึกฝนได้ และยังพิสูจน์แล้วว่าเป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมและการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ที่ส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจำนวนมากในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา

Learning Space

          ไม่ต้องสงสัยอีกเลยว่า พื้นที่กายภาพ (Physical Space) ของห้องสมุดประชาชนจะยังคงมีความสำคัญเพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายยิ่งขึ้น เช่น การพบปะแลกเปลี่ยนความคิด ประสบการณ์ และการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ ทำให้พื้นที่ห้องสมุดยุคใหม่มิได้ถูกยึดครองด้วยชั้นหนังสือและหนังสือปริมาณมหาศาลอีกต่อไป แต่จะเปิดโล่งมากขึ้นและสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างยืดหยุ่น ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานตามความต้องการของผู้ใช้ เปิดรับผู้คนในชุมชนเข้ามาพบปะสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์

          ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้ามาทดแทนและส่งผลให้ผู้คนเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนรู้ ลดความต้องการสืบค้นข้อมูลและการเข้ามาค้นคว้าในห้องสมุด แต่ห้องสมุดจะยังเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมโดยปรับการจัดการพื้นที่ให้สอดคล้องกับความต้องการใหม่ๆ ของผู้ใช้ องค์ความรู้ในเรื่องการออกแบบจัดการใช้งานพื้นที่ (Redesign Learning Space) จะมีความสำคัญและแพร่หลายมากขึ้น ตัวอย่างเช่น แบบจำลองจัตวากาศ (Four Spaces Model) ซึ่งมีการนำไปใช้กับการพัฒนาห้องสมุดหลายแห่งในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย9

           ห้องสมุดประชาชนจะมีบทบาทในเชิงบริการสาธารณะมากขึ้น ไม่เพียงแค่การให้บริการด้านหนังสือ สื่อ และการสืบค้นสารสนเทศ (ซึ่งจะลดความสำคัญลงมากน้อยแตกต่างกันไปแต่ละพื้นที่บริการ ยกเว้นห้องสมุดมหาวิทยาลัยหรือห้องสมุดเพื่อการวิจัย) แต่จะกลายเป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้หรือแหล่งเรียนรู้ที่ตอบสนองตามความต้องการของชุมชน อาทิ การอบรมใช้คอมพิวเตอร์เบื้องต้น การแนะนำใช้แอปพลิเคชันที่จำเป็น การให้ความรู้สุขภาพแม่และเด็ก การให้ความรู้ด้านกฎหมายในชีวิตประจำวัน การเริ่มต้นธุรกิจ การฝึกอบรมทักษะอาชีพ การหางานหรือตลาดนัดแรงงาน เป็นต้น

          อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเรียนรู้ในยุคดิจิทัลจะเป็นการผสมผสานการใช้พื้นที่กายภาพและพื้นที่ออนไลน์ เนื่องจากพื้นที่ทั้งสองแบบต่างก็มีจุดแข็งแตกต่างกัน แต่ถึงที่สุดแล้วมีความเป็นไปได้สูงว่าแพลตฟอร์มออนไลน์จะเป็นรูปการณ์หลักของการเรียนรู้ เนื่องจากความสะดวกในการเข้าถึง โครงสร้างพื้นฐานไอทีที่ครอบคลุม เทคโนโลยีการเรียนรู้และอุปกรณ์ไร้สายที่มีราคาถูกลง พฤติกรรมของผู้เรียน เนื้อหาสาระที่หลากหลายและสามารถเข้าถึงหรือสืบค้นได้อย่างง่ายดาย ในกรณีของไทย ยิ่งมีแรงหนุนจากธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) ที่เข้ามาสนับสนุน EdTech Startup หน้าใหม่จนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ก็ยิ่งสร้างความคึกคักให้กับอุตสาหกรรม EdTech และการพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ให้มีคุณภาพและตอบโจทย์ความต้องการมากยิ่งขึ้น

Digital Matter

          ต้นปี 2563 ผลการสำรวจ Digital Thailand 202010ระบุว่าประเทศไทยมีเลขหมายโทรศัพท์มือถือจำนวน 93.39 ล้านเลขหมาย คิดเป็นร้อยละ 134 ของจำนวนประชากร หรือเฉลี่ยแล้วคนไทยมีโทรศัพท์มือถือมากกว่าคนละ 1 เครื่อง โดยสามในสี่เป็นมือถือระบบเติมเงิน

          ในบรรดาผู้ถือครองเครื่องโทรศัพท์มือถือ ใช้งานสำหรับต่ออินเทอร์เน็ตถึงร้อยละ 97 ระยะเวลาที่ใช้นานเกือบ 5 ชั่วโมงต่อวัน และเป็นการใช้ไปกับโซเชียลมีเดียถึงวันละประมาณ 3 ชั่วโมง

          ในภาพรวม คนไทยรู้จักใช้งานอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียมากถึงกว่า 52 ล้านคนแล้ว จากจำนวนประชากรทั้งหมด 69.71 ล้านคน โดยเป็นการใช้งานอินเทอร์เน็ตประมาณวันละ 9 ชั่วโมง ใช้ดูทีวีประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่ง และใช้โซเชียลมีเดียเกือบ 3 ชั่วโมง โซเชียลมีเดียยอดนิยม 3 อันดับแรกคือ เฟซบุ๊ก ยูทูบ และไลน์ แต่ที่น่าสนใจคือสถิติผู้ใช้งานเฟซบุ๊กเริ่มคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อน (ปี 2562) มีจำนวนผู้ใช้งานอยู่ที่ 47 ล้านคน ขณะที่การใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อฟังพอดแคสต์เพิ่มสูงขึ้นมาก คิดเป็นร้อยละ 44 ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต (เปรียบเทียบกับการฟังเพลงสตรีมมิ่งร้อยละ 68 และการฟังวิทยุออนไลน์ร้อยละ 52 ถือว่าการฟังคอนเทนต์จากพอดแคสต์พุ่งขึ้นมาในสัดส่วนไล่จี้คอนเทนต์การฟังประเภทอื่นอย่างน่าจับตา)

          เนื้อหาสาระในโซเชียลมีเดียนั้นมีทั้งความรู้และความบันเทิง บางแอปพลิเคชันเน้นการติดต่อสื่อสาร ก็มีไม่น้อยที่ผู้ส่งแนบเนื้อหาความรู้มายังผู้รับด้วย จึงไม่ควรด่วนสรุปว่าการใช้งานโซเชียลมีเดียไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ไปเสียทั้งหมด อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาสถิติเว็บไซต์ที่คนไทยนิยมเข้าใช้นอกเหนือจากโซเชียลมีเดียต่างๆ แล้ว จะพบว่าเว็บไซต์เพื่อการสืบค้นหรือ Search Engine อย่างกูเกิล ได้แก่ Google.com และ Google.co.th ก็ยังมียอดผู้เข้าใช้สูงเป็นอันดับ 1 และอันดับ 5 และมีทราฟฟิกต่อเดือนรวมกันแล้วสูงใกล้เคียงกับเว็บอันดับ 2, 3 และ 4 รวมกัน (เว็บไซต์ที่มีจำนวนผู้เข้าใช้งานอันดับ 2 คือเฟซบุ๊ก อันดับ 3 คือยูทูบ อันดับ 4 คือพันทิป) สถิตินี้ก็อาจบ่งชี้ถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพื่อการค้นคว้าหาความรู้ได้อยู่บ้าง

          ผลสำรวจนี้ยังพบความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ คนไทยเข้าไปอ่านเว็บไซต์ทางโทรศัพท์มือถือลดลงถึงร้อยละ 30 อ่านผ่านแท็บเล็ตลดลงร้อยละ 20 แต่หันกลับมาอ่านผ่านพีซีคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊คเพิ่มขึ้นร้อยละ 56 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า หากแนวโน้มในปีต่อๆ ไปยังคงเป็นเช่นนี้ก็สมควรวิเคราะห์สาเหตุปัจจัยของการปลี่ยนแปลงพฤติกรรมดังกล่าว

          เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) กำลังเป็นพระเอกในโลกการเรียนรู้และเทคโนโลยี กล่าวกันว่าช่วงที่ยากที่สุดของ AI ได้ผ่านไปแล้วนั่นคือการวิจัยและพัฒนา (R&D) และกำลังเข้าสู่ยุคของการลงมือทำ ซึ่งเป็นขั้นตอนของการนำอัลกอริทึมมาปรับใช้กับธุรกิจ ทำให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมจะมีความต้องการวิศวกร AI เพิ่มมากขึ้น11

          ข้อเท็จจริงนี้อาจทำให้หลายคนกังวลว่าแรงงานมนุษย์จะถูกกลืนหายไปโดยระบบหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะสุดท้ายแล้วทักษะที่มนุษย์แข่งขันได้และไม่มีทางที่ AI จะเข้ามาแทนที่ ก็คือ Soft Skill ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นความคิดสร้างสรรค์ ทักษะด้านอารมณ์และการเข้าใจความรู้สึก รวมไปถึงทักษะที่ใช้ในการควบคุมสั่งการระบบอัตโนมัติ เช่น การเขียนโปรแกรมหรือการเข้ารหัสภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding)

          ธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีการผสมผสานรสนิยมความรู้สึกเข้ากับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี จะมีความโดดเด่นเป็นธุรกิจสำคัญอีกแขนงหนึ่ง ดังปรากฏร่องรอยให้เห็นบ้างแล้วในสายธุรกิจสตาร์ทอัปที่เรียกตัวเองว่าเป็น MAR Tech (Music, Art and Recreation Technology)12 นับเป็นตัวอย่างของเส้นทางสายใหม่ในธุรกิจและอาชีพที่รู้จักเรียนรู้และปรับตัวไปกับกระแสคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงของโลก

          สภาพแวดล้อมที่กลายเป็นดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ จนแทบจะเป็นเรื่องปกติในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี Internet of Things, Face Recognition, Machine Learning-based Personalization ฯลฯ ทำให้ในช่วงท้ายทศวรรษที่สองของศตวรรษที่ 21 มีการพูดถึงเรื่องของ Digital Transformation หรือการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้กับการทำงานมากขึ้น สร้างความตื่นตัวในองค์กรธุรกิจของประเทศไทยจำนวนมาก (รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐจำนวนหนึ่ง) แต่ที่ปรับตัวและเปลี่ยนแปลงสำเร็จมีเพียงประมาณหนึ่งในสามเท่านั้น โดยมีกลุ่มสื่อสารโทรคมนาคม เทคโนโลยี การเงินและการธนาคาร เป็นธุรกิจที่มีการนำร่องไปก่อน13 ข้อสังเกตต่ออุปสรรคในการทำ Digital Transformation ดูเหมือนว่ายังคงขมวดอยู่ที่เรื่องของ (คุณภาพ) การศึกษา และการพัฒนาคนที่มีทักษะตรงกับความต้องการหรือสอดคล้องความเปลี่ยนแปลง

Social Structure

          สังคมไทยเคลื่อนตัวสู่ศตวรรษที่ 21 พร้อมกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ซึ่งทุกประเทศทั่วโลกต่างเผชิญหน้าและตระหนักถึงหายนะมากน้อยแตกต่างกันไป แต่น่าสังเกตว่าความเคลื่อนไหวของคนรุ่นดิจิทัลซึ่งคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีและรับรู้ข้อมูลสารสนเทศจากหลากหลายแหล่ง จะเป็นกลุ่มซึ่งตอบสนองต่อปัญหาระดับโลกนี้อย่างชัดเจนและเอาการเอางานยิ่งกว่าคนรุ่นก่อนโดยเปรียบเทียบ

          นี่คือหนึ่งในปรากฏการณ์ Youthquake14 ซึ่งเกิดขึ้นและเติบใหญ่ขยายตัวในหลายประเทศ ที่โดดเด่นเป็นที่รู้จักในระดับสากลคือกรณีของเกรตา ทุนเบิร์ก (Greta Thunberg) และขบวนการวันศุกร์เพื่ออนาคต (Fridays for Future movement) ซึ่งเริ่มต้นจากการประท้วงของเด็กผู้หญิงเพียงคนเดียว จุดประกายสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนนับหมื่นนับแสนในหลายประเทศออกมารณรงค์กดดันให้ผู้ใหญ่รวมถึงรัฐบาลหันมาใส่ใจและร่วมมือกันแก้ปัญหาโลกร้อน ส่วนในประเทศไทยนั้นมวลชนนักเรียนปรากฏตัวเรียกร้องในประเด็นเรื่องการศึกษา สิทธิในร่างกาย กฎระเบียบล้าสมัย และความปลอดภัยในโรงเรียน

          ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือการศึกษา การรวมตัวและเคลื่อนไหวของเยาวชนคนรุ่นใหม่คือปฏิกิริยาตอบโต้บรรดาผู้ใหญ่ (หรือคนรุ่นก่อนหน้าพวกเขา) ซึ่งเป็นผู้ผูกขาดการออกแบบอนาคตที่จะส่งมอบให้กับคนรุ่นต่อไป ในขณะที่พวกเขาคือผู้แบกรับมรดกของปัจจุบันโดยที่ตัวเองไม่ได้มีสิทธิมีส่วนในการเลือกหรือแม้แต่ร่วมสะท้อนความคิดความเห็น เมื่อเป็นเช่นนี้มันจึงไม่ใช่เพียงแค่ประเด็นปัญหาช่องว่างระหว่างวัย (Generation Gap) หากแต่เป็นการปะทะกันระหว่างคลื่นวัฒนธรรม 2 ชุดที่มีระบบวิธีคิด มุมมอง และเป้าหมายการใช้ชีวิต ซึ่งแตกต่างขัดแย้งกันในระดับรากฐาน

          เมื่อปี 2560 องค์การอ็อกแฟม (OXFAM) เปิดเผยว่าไทยติดอันดับ 3 ประเทศที่เหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก รองจากรัสเซียและอินเดีย15 ถัดมาอีกเพียงปีเดียวรายงานของอ็อกแฟมระบุว่าประเทศไทยติดอันดับหนึ่งของโลกด้านความเหลื่อมล้ำของทรัพย์สิน โดยคนไทยที่รวยที่สุด 1% ถือครอง 66.9% ของทรัพย์สินทั้งประเทศ16 เป็นไปได้ว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมน่าจะส่งผลต่ออันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ซึ่งลดลงจากอันดับที่ 38 (ปี 2561) เป็นอันดับที่ 40 (ปี 2562) จาก 141 ประเทศ โดยดัชนีย่อยที่ปรับลดลงจนมีผลกระทบต่ออันดับขีดความสามารถในการแข่งขันคือดัชนีด้านทักษะแรงงาน (ทักษะของผู้สำเร็จการศึกษาแย่ลง และการคิดเชิงวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างต่ำ)

          เช่นเดียวกับการประเมินคุณภาพแรงงานในอนาคต ผ่านดัชนีทุนมนุษย์ (Human Capital Index) ของธนาคารโลก ซึ่งไทยอยู่อันดับที่ 64 จาก 174 ประเทศ (ปี 2563) ถือว่าอยู่ในลำดับกลางๆ แม้ว่าค่าดัชนีจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกและของภูมิภาค แต่คะแนนตัวแปรด้านการศึกษา (การทดสอบเชิงเหตุผล) กลับต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยของอาเซียน

          ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และเป็นสาเหตุหนึ่งของความเปราะบางของไทยในเรื่องการศึกษาและการเรียนรู้ เพราะการเข้าถึงคุณภาพการศึกษาที่ดีกลับขึ้นอยู่กับเศรษฐฐานะ ดังนั้นศักยภาพคนจึงถูกกดทับไว้ด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจสังคม รวมถึงแรงเฉื่อยทางวัฒนธรรม17 จนไม่สามารถระเบิดพลังสร้างสรรค์ออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ สะท้อนให้เห็นผ่านข้อมูลด้านขีดความสามารถ ทักษะ และคุณภาพคน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพแรงงาน

          ลาสโล บ็อก (Laszlo Bock) เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งรองประธานอาวุโสด้านบริหารบุคคลของกูเกิล เคยกล่าวไว้ว่า คนเก่งหรือ talent สร้างได้หลายทางและเป็น non-traditional ways บริษัทต้องการคนแบบใหม่ ไม่ใช่เลือกจากคะแนนสอบหรือเกรด เช่น ความเป็นผู้นำ (leadership) ความเป็นมนุษย์ (humanity) การทำงานร่วมกัน (collaboration) ความสามารถในการปรับตัว (adaptability) รักในการเรียนรู้และแสวงหาความรู้ (love to learn and re-learn)18

          กล่าวได้ว่า ยุคของการเรียนเพื่อมุ่งแสวงหาใบปริญญาเป็นเครื่องมือบุกเบิกการทำงานได้สิ้นสุดลงไปแล้ว การประเมินคุณค่าแรงงานในโลกยุคใหม่ที่การเรียนเก่งเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป เช่นเดียวกับทักษะการเรียนรู้แบบเดิมที่มุ่งผลิตคนเพื่อป้อนโรงงาน ให้คิดและทำเหมือนๆ กัน เชื่อฟังโดยไม่มีการตั้งคำถาม

          ทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในศตวรรษที่ 21 ได้ปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงจากศตวรรษก่อนหน้า การเรียนรู้รูปแบบใหม่ การพัฒนาทักษะใหม่ คือความจำเป็นเร่งด่วนของไทยในขณะนี้

          ณ จุดเริ่มต้นของทศวรรษที่สามในศตวรรษที่ 21 นี่คือห้วงเวลาของการร่วมสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนค้นหาความสามารถเฉพาะ ค้นพบความชอบความหลงใหล กล้าคิดกล้าทำ เป็นคนคุณภาพสูง และสนุกกับการปรับปรุงพัฒนาตนเองเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลง


เชิงอรรถ

[1] รูปธรรมที่ชัดที่สุดของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 คือ ระบบเศรษฐกิจอัตโนมัติ (Automation Economy) ซึ่งมีพื้นฐานของหุ่นยนต์และสมองกล จากผลพวงของการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI เทคโนโลยีจักรกลเรียนรู้ (Machine Learning) และความก้าวหน้าของ Big Data ผู้สนใจโปรดอ่าน เคลาส์ ชวาบ, แปลโดย ศรรวริศา เมฆไพบูลย์. การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่. 2561.

[2] ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์. แรงงาน 4.0 กรณีศึกษาจากสิงคโปร์. มติชนรายวัน, 2 ธันวาคม 2562. จาก https://www.matichon.co.th/article/news_1776264  และควรอ่านบทความความก่อนหน้าจากคอลัมนิสต์คนเดียวกันนี้ ใน แรงงาน 4.0 มติชนรายวัน, 25 พฤศจิกายน 2562. จาก https://www.matichon.co.th/article/news_1765636

[3] https://www.facebook.com/AgendaPlatform/photos/4133687169994532 อ้างถึง thegrowthmaster, jobdst, marketthink, brightsidepeople, linkedin, blogpom, blacksheeprunbusiness, ahead และอ่านสัมภาษณ์ อริญญา เถลิงศรี. SEAC ชู 3 เคล็ดลับ ออกแบบชีวิต-อาชีพในโลกยุคใหม่. ประชาชาติธุรกิจ จาก https://www.prachachat.net/csr-hr/news-423831

[4] ผู้เขียนขอทดลองเสนอองค์ประกอบของ ระบบนิเวศการเรียนรู้ ไว้เบื้องต้น เพื่อใช้เป็นกรอบในการอภิปรายถกเถียงแลกเปลี่ยนกันต่อไป แต่ยังไม่ขยายความไว้ในบทความนี้ เนื่องจากไม่ใช่ประเด็นหลักที่ต้องการนำเสนอ

[5] จากการบรรยายของ อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC ศูนย์พัฒนาและส่งสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน หัวข้อ “เรียนรู้แบบคนรุ่นใหม่ ทำอย่างไร หลังโควิด-19” ในงานออนไลน์ทอล์ก Re: Learning for the Future, 15 พฤษภาคม 2563. ผู้สนใจอ่านเพิ่มเติมได้ที่ “โรคใหม่” สร้าง “การเรียนรู้แบบใหม่”. 18 มิถุนายน 2563. จาก https://www.tkpark.or.th/tha/blog_detail/1592453035616/โรคใหม่-สร้าง-การเรียนรู้แบบใหม่

[6] ในที่นี้หมายถึง ทักษะด้านการเรียนรู้และนวัตกรรม ได้แก่ ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Creativity and Innovation) การคิดอย่างมีวิจารณญาณและการคิดแก้ปัญหา (Critical Thinking and Problem Solving Thinking) การสื่อสารและความร่วมมือ (Communication and Collaboration) ทักษะสารสนเทศ สื่อและเทคโนโลยี ได้แก่ ทักษะด้านสารสนเทศ (Information Literacy) ทักษะด้านสื่อ (Media Literacy) ทักษะด้านไอซีที (Information, Communication and Technology Literacy)

[7] กระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการเสริมสร้างทักษะศตวรรษที่ 21 ควรมีองค์ประกอบ 4 ประการได้แก่ 1. การค้นหาความสนใจ การแสวงหาความรู้ การค้นพบตนเอง (Exploring) 2. การทดลองลงมือทำหรือปฏิบัติจริง (Experiment) 3. การเชื่อมต่อประสบการณ์เดิม การสร้างเสริมประสบการณ์ใหม่ (Experience) และ 4. การแบ่งปันความรู้ การแลกเปลี่ยนความคิด (Exchange)

[8] จากผลการสำรวจปี 2564 อาชีพสายไอทีเป็นอาชีพดาวรุ่งที่ได้รับเงินเดือนสูงที่สุด ได้แก่ Software Engineer, Data Scientist และ Data Engineer รองลงไปได้แก่ Programmer และ IT Application Support ดู เปิดเงินเดือน เด็กจบใหม่ สาย IT สูงสุดถึง 6 หมื่นบาท  จาก https://www.youtube.com/watch?v=HfuZtNNeP4s

[9] คือการออกแบบพื้นที่ 4 ลักษณะภายในห้องสมุด ได้แก่ พื้นที่การเรียนรู้ (Learning Space) พื้นที่พบปะ (Meeting Space) พื้นที่แสดงออก (Performative Space) และพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจ (Inspiration Space) ครอบคลุมทุกพฤติกรรมความต้องการของผู้เข้ามาใช้งานห้องสมุด และบรรลุเป้าหมายตามจุดประสงค์ของผู้ออกแบบ คือการสนับสนุนให้ผู้ใช้บริการเกิดประสบการณ์ (Experience) สร้างการมีส่วนร่วม (Involvement) การเสริมพลัง (Empowerment) และเกิดนวัตกรรม (Innovation) ผู้สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมในหนังสือ 2 เล่ม คือ คิดทันโลก (หน้า 22-39) https://www.tkpark.or.th/stocks/library_book/o0x0/00/57/0057ca/คิดทันโลก2.pdf  และ โหล (หน้า 107-116) https://www.tkpark.or.th/tha/book_detail/academic/842/โหล

[10] https://adaddictth.com/knowledge/digital-thailand-2020

[11] “ชัชชาติ” ชวนอ่านหนังสือ AI Superpowers ระบุจะทำให้เข้าใจอนาคตดีขึ้น จาก https://www.matichon.co.th/bullet-news-today/news_1731104  และในเฟซบุ๊กชัชชาติ สิทธิพันธุ์, 28 ตุลาคม 2562 จาก https://www.facebook.com/chadchartofficial

[12] ดูความหมายโดยละเอียดและเข้าใจง่าย ได้ที่ ทำความรู้จัก MARTECH: สตาร์ทอัปพันธุ์ใหม่ที่ทั่วโลกกำลังจับตา จาก https://www.nia.or.th/MARTech

[13] บริษัท ดีลอยท์ ประเทศไทย จัดทำรายงานข้อสังเกตจากผลการสำรวจโดยระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นดิจิทัลของหลายองค์กรไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือตามที่คาดหวัง และเสนอให้ “จัดรูปแบบการบริหารจัดการแบบใหม่ โดยยุบกระบวนการทำงานที่เป็นแบบแยกส่วน (Silo) สร้าง Digital mindset และการมีบุคลากรที่มีความสามารถเหมาะสม” และ “รัฐบาลไทยควรต้องพัฒนาสภาพแวดล้อมด้านดิจิทัลให้แก่ธุรกิจต่างๆ โดยเน้นความสำคัญของประเด็นการปฏิรูประบบการศึกษา และการพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลเป็นหลัก” ดู ผลสำรวจการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลของประเทศไทย ประจำปี 2020 จาก  https://www2.deloitte.com/th/en/pages/technology/articles/the-thailand-digital-transformation-survey-report-2020-th.html

[14] คือการที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ออกมาเคลื่อนไหวแสดงออกทางการเมืองและสังคม อ่านที่มาและความหมายได้ที่ https://www.matichon.co.th/foreign/news_768630 และ https://thestandard.co/youthquake-2017s-word-year-jeremy-corbyns-election-campaign/ มุมมองที่น่าสนใจ ดู https://www.sarakadee.com/blog/oneton/?p=2168

[15] รายละเอียดอื่นที่น่าสนใจ นอกจากอันดับความเหลื่อมล้ำ อาทิเช่น 1. ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา มีคนรวยในไทยเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ในขณะที่ความมั่งคั่งของคนรวย 1 คนสามารถกระจายรายได้ให้คนจนทั่วประเทศได้เกือบทั้งประเทศ 2. ตั้งแต่ปี 2551–2558 มีจำนวนเศรษฐีระดับพันล้านในไทยเพิ่มเป็น 28 คน 3. ทรัพย์สินรวมกันของเศรษฐีไทยเท่ากับ 91.42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 4. โฉนดที่ดินกว่า 61% ในประเทศไทยอยู่ในมือประชากร 10% ที่รวยที่สุด และในกลุ่มคน 10% นั้นเป็นเจ้าของทรัพย์สิน 79% ของประเทศ 5. คนที่รวยที่สุดร้อยละ 1 มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 38.5 เป็นร้อยละ 56 6. ในบรรดากลุ่มคนที่จนที่สุดในประเทศ 10% แรก มีทรัพย์สินรวมกันเพียง 0.1% ของทั้งประเทศ 7. กว่า 3 ใน 4 ของคนไทยไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินใดๆเลย แม้แต่ตารางนิ้วเดียว 8. กว่า 10% ของประชากรไทย (ประมาณ 7 ล้านคน) ยังต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้เส้นความยากจน 9. ผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยน้อยกว่าผู้มีรายได้สูงถึง 19 เท่า  “วีระ เผย อ็อกแฟมเปิดเหลื่อมล้ำในไทย ชี้ คน 7 ล้านคนยังใช้ชีวิตใต้เส้นความยากจน” จาก https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_581804  “อ็อกแฟมเปิดเหลื่อมล้ำในไทย คนรวยสุด 10% เป็นเจ้าของทรัพย์สิน 79% ของประเทศ” จาก https://prachatai.com/journal/2017/02/69913  “เปิดรายงานความเหลื่อมล้ำในไทยคนรวย-จนห่างกัน35เท่า” จาก https://www.posttoday.com/social/general/480051

[16] “‘รวยกระจุก จนกระจาย’ ระดับสาหัส: ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไทยในศตวรรษที่ 21” จาก https://www.the101.world/inequality-in-the-21st-century/

[17] เช่น ระบบอุปถัมภ์ สังคมลำดับชั้น วัฒนธรรมอำนาจนิยม และความสัมพันธ์เชิงอำนาจ

[18] ดูเพิ่มเติมใน Google เผยความลับในการบริหารจัดการคน จาก https://www.ftpi.or.th/2016/9975  และ บริษัทนวัตกรรมระดับโลกอย่าง Google เขาเลือกคนประเภทไหนเข้าทำงาน? จาก https://www.prosoft.co.th/Article/Detail/108342


พิมพ์รวมเล่มในหนังสือ TK Lifelong Learning Focus 01 (2564)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก