‘อำลาพุทธราชาชาตินิยม’ พุทธไทยๆ ในกระแสความเปลี่ยนแปลง

972 views
4 mins
October 5, 2021

          ประเด็นที่สุรพศ ทวีศักดิ์ วิเคราะห์ในหนังสือ ‘อำลาพุทธราชาชาตินิยม: วิพากษ์แนวคิดชาตินิยมแบบพุทธของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตโต)’ ผิดหรือถูก หรือถูกบ้าง ผิดบ้าง เป็นวิจารณญาณโดยชอบของผู้อ่าน มันอาจสำคัญ แต่ผมคิดว่าจุดสำคัญกว่าคือการเปิดประเด็นหรือน่าจะเรียกว่าโยนระเบิดลงไปกลางสังคมพุทธแบบไทยๆ ให้คนจำนวนมากตั้งคำถามหรือปฏิเสธข้อเสนอของสุรพศ

          ผมใช้คำว่า โยนระเบิด ด้วยเหตุผล 2 ข้อ ข้อแรก รู้ๆ กันอยู่ว่าศาสนาพุทธมีอิทธิพลสูงเพียงใดต่อสังคมไทย เวลาเห็นผู้มีอำนาจหรือใครก็ตามกระทำผิดแล้วลอยนวล ถ้านึกอะไรไม่ออกก็พึ่ง ‘กรรม’ ไว้ก่อน หวังให้กรรมตามสนอง ทั้งที่คำนี้แปลว่า การกระทำ ซึ่งก็พิสูจน์ชัดพอสมควรแล้วว่ากรรมทำหน้าที่ของตนได้ไม่ดีนัก

          ข้อต่อมา งานชิ้นนี้หาญท้าทายกับ ป.อ.ปยุตโต ปราชญ์แห่งพุทธศาสนาผู้ได้รับการชื่นชมทั้งจากชาวไทยและต่างประเทศ ผมเคยอ่านเจอว่างานเขียน ‘พุทธธรรม’ ถูกจัดให้เป็นเพชรยอดมงกุฎที่อธิบายคำสอนพุทธศาสนาได้อย่างละเอียด ลุ่มลึก

          ถ้านักวิชาการสักคนป่าวประกาศว่า งานเขียนของ ป.อ.ปยุตโต เป็นเพียงการนำพุทธศาสนาไปรับใช้แนวคิดราชาชาตินิยมและเป็นปฏิปักษ์ต่อสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย แล้วยังเสนอให้แยกศาสนาจากรัฐเสียอีก เป็นไปได้ว่าก้อนอิฐอาจมากกว่าดอกไม้

          สุรพศวิเคราะห์แนวคิดพื้นฐานของชาตินิยมแบบพุทธของ ป.อ.ปยุตโต ว่าประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือการยืนยันว่าศาสนาพุทธเป็นหนึ่งในสถาบันหลักของชาติ ดังนั้นถ้าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ จะทำให้เกิดเสรีภาพทางศาสนายิ่งขึ้น, ไม่สนับสนุนการแยกศาสนากับรัฐ แนวคิดแบบโลกวิสัยไม่เหมาะกับสังคมไทย พระสงฆ์ต้องอยู่เหนือการเมือง แต่นำการเมืองโดยธรรม (อ้าว?) และสุดท้ายคือควรสอนจริยธรรมศาสนาพุทธในโรงเรียนเพื่อใช้นำทางชีวิต การเมือง ประยุกต์ให้เข้ากับประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ปฏิเสธจริยธรรมแบบตะวันตก และวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดเสรีภาพแบบตะวันตก

          ยังไม่ต้องเปิดอ่านการวิเคราะห์ของผู้เขียน เราจะเห็นความคลุมเครือและขัดแย้งกันเองของแนวคิดของ ป.อ.ปยุตโต (อันนี้อยู่บนฐานที่ว่าสุรพศวิเคราะห์ไม่ผิด) เช่น ศาสนาพุทธเป็นสถาบันหลักของชาติจริงหรือ? ถ้าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติจะทำให้เกิดเสรีภาพทางศาสนาได้อย่างไร พระอยู่เหนือการเมืองแต่การนำการเมืองโดยธรรมคืออะไร? หรือการเชื่อว่าคำสอนพุทธประยุกต์หรือแทนที่สิทธิมนุษยชนได้ ลองนึกถึงสิทธิต่างๆ ที่ขยายมากขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงของโลก เช่น สิทธิการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต สิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิที่จะถูกลืม สิทธิที่จะได้รับการการุณยฆาตและจากไปแบบมีศักดิ์ศรี หรือสิทธิการทำแท้ง เป็นต้น

          ด้วยความเป็นพุทธแบบเถรวาทที่นิยามตนว่าเคร่งครัดคัมภีร์และวิถีดั้งเดิม และถูกครอบอีกทีโดยรัฐ การตอบคำถามร่วมสมัยเหล่านี้และอื่นๆ จึงดูยากเหลือเกิน

          สิ่งที่สุรพศทำในหนังสือเล่มนี้ คือการโต้แย้งแนวคิดพื้นฐานของ ป.อ.ปยุตโต ว่าไม่จริง คลุมเครือ ขัดแย้ง อคติ ไม่มีความเข้าใจหลักการโลกวิสัยและจริยธรรมแบบตะวันตกดีพอ ทั้งยังไม่มีความเสมอต้นเสมอปลายในการนำแนวคิดทางพุทธศาสนามาอธิบายเหตุการณ์ในสังคม เหตุการณ์พฤษภาคมปี 2535 เป็นกรณีตัวอย่างที่ผู้เขียนยกมา

          กล่าวโดยย่อ ป.อ.ปยุตโต ให้สัมภาษณ์กรณีเสียสัตย์เพื่อชาติของสุจินดา คราประยูร ว่าให้ดูที่เจตนา หากไม่มีเจตนาโกหกแต่แรกถือว่าผิดธรรม แต่ไม่ผิดศีล ขณะที่การอดอาหารประท้วง ป.อ.ปยุตโต กลับตั้งแง่ ตั้งข้อสงสัยต่อเจตนาของผู้อดอาหารและให้ดูที่พฤติกรรมแทน

          นอกจากนี้ ใครที่คุ้นเคยกับแนวคิดของสุรพศ ย่อมทราบว่าเขาสนับสนุนให้แยกศาสนากับรัฐ ปล่อยความเชื่อ ความศรัทธา เป็นเรื่องส่วนบุคคลไม่ใช่เรื่องที่รัฐจะเข้ามายุ่งเกี่ยว ทั้งยังเสนอให้ยกเลิกการสอนพุทธศาสนาในโรงเรียนโดยอ้างหลักเสรีภาพ

          หลายคนอาจรู้สึกไปว่าผู้เขียนกำลังนำผลงาน การให้สัมภาษณ์ของ ป.อ.ปยุตโต มาจับผิดเพื่อโจมตีมากกว่าวิพากษ์วิจารณ์ รับไม่ได้กับข้อเสนอ อันนี้เป็นเรื่องที่คิดกันได้ตามแต่มุมมอง

          สำหรับผม ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็ว กว้าง และลึก คุณค่าหรือระบบระเบียบทางศีลธรรมแบบพุทธศาสนาถูกท้าทาย ประชันขันแข่งหนักหน่วง เป็นไปไม่ได้อีกแล้วที่พุทธเถรวาทไทย สถาบันสงฆ์ นักบวชจะหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์ หรือแม้กระทั่งถูกตำหนิติเตียน ใครจะคิดล่ะว่าชาดกสำคัญอย่างพระเวชสันดรที่บริจาคลูกเมียของตนจะถูกตั้งคำถามทางศีลธรรมอีกชุดหนึ่ง คำสอนต่างๆ ที่แทบจะแยกไม่ออกแล้วระหว่างพระเซเลบฯ กับไลฟ์โค้ช ถูกตั้งคำถามว่าเป็นเพียงถ้อยคำเก๋ๆ ปลอบประโลมชั่วครั้งคราว แต่ใช้การจริงไม่ได้ในระบบระบอบที่เป็นอยู่

          ‘อำลาพุทธราชาชาตินิยม’ เป็นอีกงานหนึ่งที่อยู่ในกระแสคลื่นของความเปลี่ยนแปลง การท้าทาย สงสัย ต่อจารีต ความเชื่อเดิมๆ แล้วพุทธศาสนาจะเป็นข้อยกเว้นได้อย่างไร หากพุทธเถรวาทแบบไทย สถาบันสงฆ์ นักบวช ดื้อรั้นทานกระแส ก็ต้องยอมรับความศรัทธาที่ร่อยหรอลง ซึ่งเห็นได้ไม่ยากจากการเพิ่มขึ้นของผู้ที่เลือกไม่นับถือศาสนาในปัจจุบัน

          นอกเสียจากจะบังคับให้ศรัทธา…

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก