‘Bibliotourism’ เชื่อมโยงห้องสมุดกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

2,366 views
7 mins
March 29, 2023

          การเดินทางและการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญที่สามารถสร้างความเจริญเติบโตให้เศรษฐกิจทั่วโลก เพราะช่วยเพิ่มการขยายตัวของ GDP เกิดการสร้างงาน รวมทั้งกระตุ้นการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลด้านการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ

          ไม่นานมานี้มีการบัญญัติคำว่า ‘Bibliotourism’ ซึ่งเป็นการบูรณาการระหว่างการท่องเที่ยวกับห้องสมุด มีที่มาที่ไปเนื่องจากการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว และการเปลี่ยนผ่านของสังคมเข้าสู่ยุคความรู้และสารสนเทศ ห้องสมุดสามารถสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้ในทุกขั้นตอนการเดินทาง ตั้งแต่การเตรียมข้อมูลหรือความรู้ การมอบประสบการณ์ทางวัฒนธรรม และการเก็บรักษาความทรงจำไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา และในอีกด้านหนึ่งห้องสมุดได้กลายเป็นหมุดหมายยอดนิยมของผู้คน ที่ต้องการยลความงามของสถาปัตยกรรม และพักผ่อนหย่อนใจแบบมีสไตล์

          บทความนี้ จะยกตัวอย่างกรณีศึกษาของประเทศจีน ซึ่งการท่องเที่ยวและห้องสมุดได้หลอมรวมเข้ากันอย่างกลมกลืน มีความชัดเจนตั้งแต่ระดับนโยบาย และการขานรับของหน่วยงานต่างๆ ในการดำเนินงานภาคปฏิบัติ แนวทางดังกล่าวจะยิ่งเสริมสร้างความแข็งแกร่งการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจีน ให้สามารถดึงดูดนักเดินทางทั้งในท้องถิ่นและจากต่างแดน รวมถึงกระตุ้นกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจมรดกทางวัฒนธรรมมากขึ้น

เปิดประเทศสู่การท่องเที่ยว

          ช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่จีนเริ่มปฏิรูปและเปิดประเทศ ประกอบกับชนชั้นกลางเกิดใหม่ และการคมนาคมที่สะดวก การท่องเที่ยวจีนขยายตัวอย่างรวดเร็วและสร้างมูลค่าสูงติดอันดับต้นๆ ของโลก โดยในปี 2017 มีมูลค่า 1.45 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 11 ของ GDP ประเทศ และสามารถสร้างงานกว่า 66 ล้านตำแหน่ง

          ต่อมาเมื่อปี 2018 จีนปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานรัฐ โดยควบรวมกระทรวงวัฒนธรรมกับสำนักการท่องเที่ยวให้เป็นหน่วยงานเดียวกัน คือ กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว มีเป้าหมายเพื่อยกระดับสถาบันด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวยุคใหม่ให้มีมาตรฐานระดับสากล เอื้อต่อการทำงานอย่างสอดประสานกัน และนำไปสู่ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคม

          รัฐบาลทุ่มงบประมาณพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางวัฒนธรรมควบคู่ไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ มีการก่อสร้างและบูรณะพิพิธภัณฑ์ โรงละคร รวมทั้งห้องสมุด ซึ่งเป็นภูมิทัศน์ที่ขาดไม่ได้ทั้งในเมืองและชนบท เพราะเป็นพื้นที่สะท้อนอัตลักษณ์และจิตวิญญาณของผู้คนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

บทบาทห้องสมุดจีนในการส่งเสริมการท่องเที่ยว

จุดศูนย์รวมข้อมูลสำหรับนักเดินทาง

          ห้องสมุดจีนมีจุดแข็งด้านการรวบรวมและอนุรักษ์เอกสารของท้องถิ่น ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้มีเสน่ห์และความลุ่มลึกมากขึ้น โดยให้บริการหนังสือ สร้างฐานข้อมูล จัดนิทรรศการ และจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว กรณีตัวอย่างเช่น ห้องสมุดเป่าอัน ให้บริการหนังสือมากกว่า 4,300 เล่ม ทั้งด้านแหล่งท่องเที่ยวในและต่างประเทศ กลยุทธ์การท่องเที่ยว บันทึกการเดินทาง และวิดีโอ มีกิจกรรม ‘ค้นหาขุมทรัพย์และตามรอย 10 จุดชมวิวเป่าอัน’ และจัดทริปให้ผู้อ่านได้สัมผัสกับคุณค่าของวัฒนธรรมท้องถิ่น ด้าน ห้องสมุดเหอเฝย จัดชั้นหนังสือพิเศษ “Poems and Futures” เพื่อส่งเสริมการอ่าน ประเภทบันทึกการเดินทางทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง พร้อมแนะนำแหล่งท่องเที่ยวละแวกใกล้เคียง

          นอกจากให้บริการทรัพยากรในรูปแบบหนังสือหรือจดหมายเหตุแล้ว ห้องสมุดจีนยังนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้สร้างประสบการณ์ใหม่ให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจประวัติศาสตร์วัฒนธรรม เช่น ห้องสมุดหนิงโป นำเสนอคุณค่าของถ้ำมั่วเกาด้วยสื่อการเรียนรู้ผ่านโลกเสมือน (VR) จำลองสถานการณ์ประหนึ่งกำลังฉายไฟชมพุทธศิลป์อายุกว่า 1,600 ปี ในอดีตที่นี่เคยเป็นหนึ่งในจุดค้าขายสำคัญบนเส้นทางสายไหม และปัจจุบันได้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก

‘Bibliotourism’ ดึงห้องสมุดเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจีน
ประติมากรรมภายในถ้ำมั่วเกา
Photo : Ismoon, CC BY-SA 4.0, via Wikimedia Commons
VR นำเสนอความงามภายในถ้ำมั่วเกาที่จัดทำโดยห้องสมุดหนิงโป

แลนด์มาร์กการท่องเที่ยว

          ห้องสมุดไม่เพียงเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับนักเดินทาง แต่ยังเป็นหนึ่งในเป้าหมายการท่องเที่ยวที่หลายคนอยากไปเยือน ในประเทศจีนมีอาคารห้องสมุดสวยงามหลายแห่ง ทั้งที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยโบราณและเพิ่งสร้างขึ้นใหม่ ตัวอย่างเช่น หอสมุดเทียนอี้ ซึ่งตั้งอยู่ในบ้านของขุนนางแห่งราชวงศ์หมิง มีอายุมากกว่า 400 ปี การวางผังและส่วนประกอบต่างๆ ยึดตามขนบการออกแบบอาคารในสมัยนั้น หลังสงครามฝิ่นอาณานิคมอังกฤษนำหนังสือออกไปจำนวนมาก แต่ก็ยังหลงเหลือหนังสือโบราณกว่า 300,000 เล่ม และงานศิลปะล้ำค่าให้ชนรุ่นหลังได้ชื่นชม

‘Bibliotourism’ ดึงห้องสมุดเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจีน
หอสมุดเทียนอี้
Photo : Zhangzhugang, CC BY-SA 3.0, via Wikimedia Commons
‘Bibliotourism’ ดึงห้องสมุดเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจีน
หนังสือในสมัยราชวงศ์หมิง
Photo : Gisling, CC BY 3.0, via Wikimedia Commons

          เมื่อปี 2017 มีการเปิดตัวห้องสมุดแห่งใหม่ซึ่งสร้างกระแสนิยมในโลกดิจิทัล จนมีผู้คนทั้งในและต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาเยี่ยมชม คือ ห้องสมุดเทียนจินปินไห่ใจกลางห้องสมุดมี ‘ดวงตา’ โอบล้อมไปด้วยคลื่นชั้นหนังสือที่ดูราวไม่มีจุดสิ้นสุด บริเวณนี้เองนักท่องเที่ยวมักมาถ่ายรูปและแชร์ลงโซเชียลมีเดีย อีกแห่งหนึ่งที่มหาชนตอบรับอย่างล้นหลาม คือ ห้องสมุดเสี่ยวซง ในเมืองโบราณเหลียงจู่ ห้องสมุดแห่งนี้ก่อตั้งโดย เกา เสี่ยวซง ผู้กำกับภาพยนตร์และนักดนตรีชื่อดัง ภายในมีหนังสือ 50,000 เล่ม ทั้งสาขาวรรณกรรม ศิลปะ ประวัติศาสตร์ ปรัชญา และจิตวิทยา มีผู้เข้าชมประมาณ 140,000 คนต่อปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่

ห้องสมุดเสี่ยวซง

แหล่งทัศนศึกษาทางวัฒนธรรม

          ห้องสมุดจีนเป็นแหล่งเรียนรู้นอกโรงเรียนเรื่องประวัติศาสตร์วัฒนธรรม พร้อมกับส่งเสริมการอ่านวรรณกรรมท้องถิ่น ห้องสมุดเขตเซี่ยงเฉิง เมืองซูโจว มีแคมเปญ ‘A bit of Xiangcheng’ เพื่อกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่มีสำนึกรักบ้านเกิด รูปแบบเป็นกิจกรรมนอกสถานที่ให้นักเรียนสัมผัสวัฒนธรรมด้านอาหาร โดยสร้างความร่วมมือกับชุมชน วิสาหกิจ และภาคอุตสาหกรรม

          ด้าน ห้องสมุดฉางหนิง จัดกิจกรรมทัวร์เดินเท้า ‘Walking Hudak’ ชวนคนหนุ่มสาวเยี่ยมชมอาคารเก่า 15 หลังที่ออกแบบโดยลาซโล ฮูเดค สถาปนิกเชื้อสายออสเตรีย-ฮังการี ผู้มีบทบาทเปลี่ยนโฉมสถาปัตยกรรมของเซี่ยงไฮ้ ในยุคที่เมืองนี้ได้รับการขนานนามว่า ‘ปารีสแห่งตะวันออก’ ห้องสมุดยังเชิญคอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมร่วมบรรยายเรื่อง ‘ถอดรหัสความสำเร็จของฮูเดค’ เสริมให้นักเรียนเข้าใจบริบททางประวัติศาสตร์และความคิดเบื้องหลังของผู้ออกแบบได้ดียิ่งขึ้น

‘Bibliotourism’ ดึงห้องสมุดเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจีน
Park Hotel Shanghai หนึ่งในอาคารที่เป็นผลงานการออกแบบโดย ลาซโล ฮูเดค
Photo : WiNG, CC BY 3.0, via Wikimedia Commons
‘Bibliotourism’ ดึงห้องสมุดเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจีน
Wukang Building อีกหนึ่งอาคารที่ออกแบบโดย ลาซโล ฮูเดค
Photo : Architectuul, CC BY-SA 3.0

เปิดสาขาใหม่ในแหล่งท่องเที่ยว

          ห้องสมุดหลายแห่งตัดสินใจเปิดห้องสมุดสาขาใหม่ไว้บริเวณจุดชมวิว เติมเต็มแหล่งท่องเที่ยวให้โดดเด่นและน่าเยี่ยมชมยิ่งขึ้น เช่น ในวนอุทยานฝูโจวมีชั้นหนังสือพิเศษเกี่ยวกับพันธุ์พืช นก และสัตว์ป่า ทั้งภาษาจีนและภาษาต่างประเทศกว่า 2,500 เล่ม และยังติดตั้งโปรแกรมบริการสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งสามารถให้ข้อมูลและตอบคำถามพื้นฐานแก่นักท่องเที่ยว ด้านสถาบันวิจัยถ้ำร่วมกับห้องสมุดปาจง สร้างจุดให้บริการอ่านหนังสือบริเวณถ้ำหนานกง พร้อมสื่ออินเทอร์แอคทีฟ และกิจกรรม DIY ที่ใช้อุปกรณ์น้อยและเคลื่อนย้ายได้ง่าย ส่วนเมืองถ่ายทำภาพยนตร์นานาชาติ ในฉงชิ่ง มีการสร้างห้องสมุดท้องถิ่นสาขาใหม่ เพื่อเผยแพร่ประวัติศาสตร์ของเมืองให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง คอลเลกชันโดดเด่นของที่นี่คือโปสเตอร์และสื่อโฆษณา ซึ่งสามารถสะท้อนบริบทของสังคมวัฒนธรรมแต่ละยุคสมัย

Chongqing Yongchuan Library ห้องสมุดในฉงชิ่ง ที่มีบริการและการบูรณาการทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว

ปัจจัยความสำเร็จของห้องสมุดการท่องเที่ยว

          นักวิชาการมหาวิทยาลัยหางโจวเตี้ยนจื่อ ได้วิเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จของห้องสมุด ด้านความสามารถในการแข่งขันและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งพบว่า แหล่งท่องเที่ยวแต่ละประเภทมีปัจจัยความสำเร็จไม่เหมือนกัน

          กรณี แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เสน่ห์ของห้องสมุดสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมและรูปลักษณ์สถาปัตยกรรมที่โดดเด่น เช่น ห้องสมุดเทียนจินปินไห่ ซึ่งออกแบบโดย MVRDV บริษัทสถาปนิกสัญชาติดัชต์ บรรยากาศห้องสมุดดูเหมือนหลุดไปอยู่ในโลกอนาคต นอกจากมีความสวยงามสะดุดตาแล้วยังมีฟังก์ชันการใช้งานตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ จนได้รับรางวัลจากสถาบันสถาปนิกแห่งอเมริกา (AIA) ด้าน 24 Hours City Study ในเมืองเวินโจว ผสมผสานอย่างลงตัวระหว่างห้องสมุด ร้านกาแฟ โรงน้ำชา ร้านดอกไม้ และธุรกิจอื่นๆ ซึ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้อ่าน ที่นี่เป็นหมุดหมายใหม่ของการท่องเที่ยวและเป็นภาพสะท้อนพื้นที่อ่านสาธารณะแบบใหม่ใจกลางเมือง

          อีกแห่งหนึ่งซึ่งเลือกทำเลไม่เหมือนใคร คือ ห้องสมุดในเมืองฉินหวงเต่า ที่นี่ถูกขนานนามว่าเป็นห้องสมุดสุดเปล่าเปลี่ยว เพราะอยู่กลางหาดโล่งแจ้งไม่มีทางเดิน ผู้เยี่ยมชมต้องเดินลุยทรายหลายร้อยเมตร แต่อาคารที่น่าใช้บริการและสามารถชมวิวริมทะเล ทำให้ห้องสมุดแห่งนี้ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมาก

‘Bibliotourism’ ดึงห้องสมุดเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจีน
Seashore Library ห้องสมุดริมหาดทราย ในเมืองฉินหวงเต่า ที่ถูกเรียกว่า ห้องสมุดสุดเปล่าเปลี่ยว
Photo : Su Shengliang/ Vector Architects
‘Bibliotourism’ ดึงห้องสมุดเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจีน
Photo : He Bin, Xia Zhi, Sun Dongping/ Vector Architects

          ด้าน แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ห้องสมุดสามารถนำคุณค่าและภูมิปัญญาท้องถิ่นไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ ให้กลมกลืนกับคอลเลกชันที่มีอยู่ สินค้ารูปธรรมเหล่านี้ช่วยให้นักท่องเที่ยวสัมผัสมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เช่น ขนบธรรมเนียมประเพณี หรือเรื่องเล่าพื้นบ้าน กรณีของ ห้องสมุดไห่หนาน ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะ นำมะพร้าวจำนวนมากในท้องถิ่นมาออกแบบเป็นกาและอุปกรณ์ชงชาลวดลายเฉพาะ รวมทั้งมีบริการคัดลอกอักษรจีนเป็นของที่ระลึก โดยนักอ่านสามารถเลือกข้อความจากวรรณกรรมเล่มโปรด

          อีกหนึ่งแนวโน้มที่น่าจับตามองคือ อุตสาหกรรมที่พักในจีนบูรณาการกับห้องสมุดมากขึ้น เช่น โรงแรมกลางกรุงปักกิ่ง มี ‘เลาจน์หนังสือ’ ขนาดใหญ่บรรยากาศน่าพักผ่อน ให้บริการหนังสือท่องเที่ยว วัฒนธรรม วรรณกรรม และบทความ นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการ กิจกรรมศิลปวัฒนธรรม และห้องสำหรับทำงานหรืออ่านหนังสือ ส่วนกลางป่าเขาเขียวขจีในมณฑลเจ้อเจียง มีโรงแรมห้องสมุดเปิดให้บริการนักอ่านผู้หลงใหลความเงียบสงบ เตียงนอนแบบแคปซูลแทรกตัวอยู่ท่ามกลางชั้นหนังสือ ซึ่งผู้เข้าพักสามารถหยิบอ่านได้ 24 ชั่วโมง

‘Bibliotourism’ ดึงห้องสมุดเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจีน
โรงแรมห้องสมุดในมณฑลเจ้อเจียง
Photo : Su Shengliang/ Atelier tao+c
‘Bibliotourism’ ดึงห้องสมุดเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจีน
Photo : DX/ Atelier tao+c

          สำหรับ แหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่ เมืองหรืออาคารบ้านเรือนต่างๆ ศักยภาพของห้องสมุดขึ้นอยู่กับการนำเสนอคุณค่าทางวัฒนธรรมให้ผู้มาเยี่ยมชมสามารถสัมผัสได้อย่างเด่นชัด เช่น ในกรุงปักกิ่ง หอสมุดแห่งชาติ ได้รวบรวมเอกสารและจดหมายเหตุล้ำค่า ที่ดึงดูดผู้สนใจประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมทั้งระดับชาติและท้องถิ่น ส่วนห้องสมุดซูเจียงลี ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางชุมชนโบราณเยียนไถ่ พยายามรักษาร่องรอยความเก่าแก่ตามกาลเวลา ห้องสมุดคงบรรยากาศแบบย้อนยุค และคัดสรรคอลเลกชันที่เป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยว

‘Bibliotourism’ ดึงห้องสมุดเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจีน
ชุมชนโบราณเยียนไถ
Photo : Su Shengliang/ Vector Architects
‘Bibliotourism’ ดึงห้องสมุดเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจีน
ห้องสมุดซูเจียงลี
Photo : Su Shengliang/ Vector Architects
‘Bibliotourism’ ดึงห้องสมุดเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจีน
Photo : Su Shengliang/ Vector Architects

          ประเภทสุดท้าย แหล่งท่องเที่ยวเชิงบริการ ซึ่งเน้นการพักผ่อนและความบันเทิงเป็นหลัก ห้องสมุดสามารถพัฒนาบริการที่หลากหลาย เช่น จัดหาสารสนเทศที่มีความถูกต้องน่าเชื่อถือ พัฒนาคอลเลกชันพิเศษ วางเส้นทางท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับเรื่องราวในหนังสือให้สอดคล้องกับผู้คนวัยต่างๆ หรือจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่ช่วยสร้างความเข้าใจเชิงลึกในท้องถิ่น อาจมีกิจกรรมวาดภาพ เขียนอักษรจีน หรือพูดคุยกับศิลปินที่มีชื่อเสียง  นอกจากนี้ ห้องสมุดสามารถใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์และความรู้สึกที่แตกต่างให้กลุ่มเป้าหมาย

ทิศทางของ ‘Bibliotourism’ จีน

          การบูรณาการการท่องเที่ยวกับห้องสมุดในจีนกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยเอกลักษณ์ที่มีการผสมผสานมรดกศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาเก่าแก่ รวมทั้งจับมือกับภาคีต่างๆ อย่างกว้างขวาง ทั้งผู้ประกอบการ ชุมชน และโรงเรียน บางบริการมีความแปลกใหม่ยังไม่มีใครทำมาก่อน เช่น ‘ห้องสมุดก้อนเมฆ’ บนสายการบินยูนนานเสียงเผิง ซึ่งแอร์โฮสเตสช่วยแนะนำหนังสือน่าอ่าน หรือเลือกสร้างห้องสมุดไว้ในแหล่งท่องเที่ยวที่เข้าถึงยากอย่างทะเลทราย เพื่อเป็นที่หลบร้อนพักผ่อนสำหรับนักเดินทาง

          ในอนาคตห้องสมุดเพื่อการท่องเที่ยวของจีนยังคงเดินหน้ายกระดับคุณภาพการให้บริการ โดยคำนึงถึงความหลากหลายของบริบทด้านสังคมวัฒนธรรม มุ่งตอบโจทย์ความต้องการของปัจเจกที่มีความแตกต่างเฉพาะตัว รวมถึงเน้นการสร้างประสบการณ์อันน่าประทับใจและตราตรึงอยู่ในความทรงจำของนักท่องเที่ยว

          แม้จะยังไม่พบงานศึกษาที่ระบุถึงผลลัพธ์เป็นตัวเงินอย่างชัดเจน แต่กระแสการตอบรับของนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศที่มีอย่างไม่ขาดสาย ก็อนุมานได้ว่าห้องสมุดเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสให้ห้องสมุดจีนพัฒนาไปไกลอีกขั้นจนมีมาตรฐานระดับสากล รองรับบทบาทซึ่งเป็นมากกว่าพื้นที่อ่านหนังสือที่รอให้ผู้ใช้บริการเดินเข้ามาหา


ที่มา

บทความ “Library + Tourism”: A New Direction for the Sustainable Development of Libraries” จาก library.ifla.org (Online)

บทความ “Muji Hotel” จาก uds-hotels.com (Online)

บทความ “Reading The Tourist Destination: Bibliotourism And Place Perception” จาก repositorio.ucp.pt (Online)

บทความ “Suochengli Neighborhood Library, Yantai” จาก arquitecturaviva.com (Online)

บทความ “The Man Who Changed Shanghai” จาก ladislavhudec.eu (Online)

บทความ “Tianyi Pavilion – Oldest Private Library in China” จาก chinadiscovery.com (Online)

บทความ “Tourism in China” จาก en.wikipedia.org (Online)

บทความ “Visit Replica of Famous Historical Library in “Chongqing Liangjiang Movie City”” จาก ichongqing.info (Online)

Cover Photo : Su Shengliang/ Atelier tao+c

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก