‘นักบรรณบำบัด’ ผู้ขจัดความวิตกและซึมเศร้าด้วยการ ‘ป้ายยา’ หนังสือ

967 views
5 mins
October 3, 2023

          พลังของหนังสือไม่เพียงแต่ช่วยสร้างสติปัญญาให้แก่มนุษย์ แต่ยังมอบความสุขสงบ และช่วยฟื้นฟูความรู้สึกนึกคิดของผู้ที่กำลังเผชิญปัญหาในชีวิต การใช้หนังสือเพื่อประโยชน์ด้านการบำบัดมีมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว โดยมีการค้นพบอักษรจารึกว่า ‘สถานที่เยียวยาทางจิตใจ’ บริเวณทางเข้าห้องสมุดของกษัตริย์รามเสสที่ 2 แห่งอียิปต์ ในเมืองธีบส์และอเล็กซานเดรีย และในช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 หนังสือถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือช่วยเหลือทหารที่ทุกข์ทรมานจากความทรงจำอันโหดร้ายในสมรภูมิ

          ปัจจุบันผู้คนมีความเครียดและวิตกกังวลจากแรงกดดันต่างๆ ของสังคมและสภาพแวดล้อมที่พลิกผันอย่างรวดเร็ว รวมทั้งความท้าทายด้านเศรษฐกิจ ภัยพิบัติ และโรคระบาด การบำบัดด้วยหนังสือเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่นักจิตวิทยานำมาใช้ วิธีนี้เป็นการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy) คือเน้นการเข้าไปแก้ไขความคิดด้านลบที่ส่งผลต่ออารมณ์และพฤติกรรม เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่อาจยั่งยืนกว่าการใช้ยารักษาเพียงอย่างเดียว โดยมีผู้ที่เป็น ‘หมอหนังสือ’ หรือ ‘นักบรรณบำบัด’ (Bibliotherapist) ทำหน้าที่ ‘จ่าย’ รายการหนังสือให้ผู้รับบริการเป็นรายบุคคล

เครียด ซึมเศร้า หนังสือช่วยได้

          การบำบัดด้วยหนังสือสามารถจำแนกได้หลายประเภท ได้แก่ การบำบัดเชิงสร้างสรรค์ โดยใช้วรรณกรรม บทกวี หรือนิทาน มักเป็นกระบวนการแบบกลุ่มที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้อภิปรายแลกเปลี่ยนกัน การบำบัดด้านพัฒนาการ มีความเกี่ยวข้องกับปัญหาของวัยเด็กและวัยรุ่น กระบวนการนี้มักจัดในสถานศึกษา การบำบัดตามใบสั่งแพทย์ เพื่อช่วยปรับเปลี่ยนรูปแบบความคิด ความรู้สึก และการกระทำ และ การใช้หนังสือร่วมกับวิธีการรักษาอื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหาทางจิตวิทยา

          มีผลการวิจัยหลายฉบับยืนยันถึงผลของการบำบัดด้วยหนังสือ เช่น มีประสิทธิผลในการลดอาการซึมเศร้าของผู้ใหญ่ในระยะยาว โดยให้ผลการรักษาที่รวดเร็ว ราคาไม่แพง และลดการใช้ยา รวมทั้งอาจมีบทบาทสำคัญในการรักษาปัญหาสุขภาพจิตที่ร้ายแรง สำหรับกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยที่เข้ารับการบำบัดด้วยหนังสือ ผลพบว่ามีภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล และความเครียด ลดลงอย่างมีนัยสำคัญและคุณภาพชีวิตโดยรวมเพิ่มขึ้นทั้งร่างกายและจิตใจ ส่วนการบำบัดเชิงสร้างสรรค์ พบว่าได้ผลระดับเล็กน้อยถึงปานกลางในการช่วยเหลือเด็กอายุ 5 ถึง 16 ปีที่มีปัญหาฝังลึก เช่น ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า และความก้าวร้าว

          อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการบำบัดด้วยหนังสือจะเป็นประโยชน์ต่อคนทุกวัย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์เท่ากัน มีข้อแนะนำว่าการบำบัดด้วยหนังสือไม่ควรถูกนำมาใช้ในบางกรณี เช่น ผู้รับการบำบัดที่ไม่สามารถแยกแยะโลกแห่งความเป็นจริงออกจากโลกจินตนาการ ผู้มีความสามารถทางสติปัญญาหรือความสนใจในระยะเวลาที่จำกัด และผู้ไม่ชอบอ่านหนังสือ

‘นักบรรณบำบัด’ ผู้ขจัดความวิตกและซึมเศร้าด้วยการ ‘จ่าย’ หนังสือ
Photo: cottonbro studio on Pexels

วรรณกรรมบำบัด พบหนังสือที่ใช่ในเวลาที่เหมาะ

          นักบรรณบำบัดส่วนใหญ่มักใช้หนังสือหมวดจิตวิทยาหรือการพัฒนาตัวเอง แต่นักบำบัดบางคนก็นิยมเลือกใช้หนังสือวรรณกรรมมากกว่า หนึ่งในนั้นคือ เอลลา เบอร์ธูด (Ella Berthoud) และ ซูซาน เอลเดอร์คิน (Susan Elderkin) แห่ง The School of Life ซึ่งเป็นองค์กรด้านการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาในลอนดอน

          สมมติฐานที่ว่า วรรณกรรมสามารถช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตคนให้ดีขึ้นได้ มาจากประสบการณ์ที่เอลลาและซูซานประสบมาด้วยตัวเอง ทั้งสองคนได้รู้จักและเป็นเพื่อนสนิทกันสมัยเรียนที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ขณะนั้นซูซาน มีความฝันอยากเป็นนักประพันธ์แต่เกิดความกังวลและความกลัวขึ้นมา แล้ววันหนึ่งซูซานก็ได้พบถุงกระดาษวางอยู่หน้าห้อง ข้างในมีหนังสือเรื่อง Archy and Mehitabel ตัวละครหลักคือเจ้าแมลงสาบที่เมื่อชาติที่แล้วเคยเกิดเป็นกวีมาก่อน เมื่อมันเห็นเครื่องพิมพ์ดีดจึงพยายามพุ่งตัวไปที่แป้นตัวอักษรทีละตัวเพื่อสร้างบทประพันธ์ขึ้นมา ผู้ที่นำหนังสือเล่มนี้มาให้กำลังใจซูซานก็คือเอลลานั่นเอง นับจากนั้นทั้งสองคนต่างเลือกหนังสือให้กันและกันเสมอมา และตระหนักถึงคุณค่าของการได้พบหนังสือที่เหมาะกับตัวเอง ณ เวลาที่เหมาะสม

          “หนังสือช่วยให้ฉันรอดพ้นทุกช่วงเวลาที่ยากลำบากในชีวิต ทั้งตอนสอบปลายภาคสมัยเรียนปริญญาตรี การเป็นครูครั้งแรก หรือแม้กระทั่งตอนเจ็บท้องคลอด…  เราอ่านด้วยเหตุผลหลายประการ อ่านเพื่อการหลบหนีอะไรบางอย่าง อ่านเพื่อลดความฟุ้งซ่าน หรืออ่านเพื่อความเพลิดเพลิน ไม่ว่าเราจะตระหนักหรือไม่ก็ตาม เรื่องราวเหล่านั้นจะแฝงอยู่ในตัวเราและส่งผลกระทบต่อเราอย่างลึกซึ้ง หนังสือบางเล่มให้แสงสว่างในการแก้ปัญหา บางเล่มเป็นแรงบันดาลใจให้คุณทำสิ่งต่างๆ บางเล่มปลอบใจและทำให้เห็นว่าคุณไม่ได้อยู่คนเดียว” ซูซานกล่าว

          เมื่อเรียนจบทั้งคู่ต่างก็เติบโตบทเส้นทางของตัวเอง เอลลาศึกษาต่อด้านวิจิตรศิลป์ที่มหาวิทยาลัยอีสต์ลอนดอน เธอเป็นครูสอนศิลปะทั้งในโรงเรียนและเรือนจำ ส่วนซูซานเรียนต่อด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์ที่มหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย และกลายเป็นนักเขียนนวนิยายที่คว้ารางวัลมากมาย จนอีก 10 กว่าปีต่อมา พวกเธอก็ร่วมกันริเริ่มกระบวนการบำบัดโดยใช้วรรณกรรมตามที่เคยใฝ่ฝันไว้เมื่อวัยเยาว์

ใช้หนังสือเป็นสื่อสำรวจก้นบึ้งความคิดและจิตใจ

          บ่อเกิดความทุกข์ของแต่ละคนมีสาเหตุแตกต่างกันไป อาจเป็นเรื่องงาน ความสัมพันธ์ในครอบครัว เพื่อน ความผิดหวัง ความเจ็บป่วย การพลัดพราก ฯลฯ การบำบัดด้วยวรรณกรรมเป็นกระบวนการที่ช่วยให้ผู้รับการปรึกษาได้สำรวจความสัมพันธ์ของตนเองกับหนังสือตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีการแนะนำหนังสือที่เหมาสำหรับผู้นั้นโดยเฉพาะ รวมไปถึงข้อแนะนำเกี่ยวกับองค์ประกอบในการอ่าน เช่น สถานที่ เวลา หรือคนที่อ่านด้วย

          ตามหลักจรรยาบรรณวิชาชีพเรื่องราวของผู้ได้รับการเยียวยาจะไม่ถูกนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะ เว้นแต่ผู้นั้นจะยินดีนำเสนอหรือบอกเล่าประสบการณ์ของตัวเอง เช่นกรณีของ จอห์น เครซ (John Crace) นักข่าวและนักวิจารณ์ชาวอังกฤษ เขาเป็นผู้หนึ่งที่เคยเข้ารับกระบวนการบำบัดทางจิตวิทยาแบบทั่วไปมาก่อน แต่รู้สึกไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควรและหยุดรักษามาแล้วราว 20 ปี เมื่อมีโอกาสเขาจึงลองเข้าร่วมกระบวนการวรรณกรรมบำบัด

          “เอลลาเริ่มต้นด้วยการถามผมเกี่ยวกับนิสัยการอ่านตั้งแต่ตอนเด็กๆ ผมจำไม่ได้ว่าพ่อหรือแม่เป็นคนอ่านหนังสือให้ฟัง ตลอดหนึ่งชั่วโมง ผมพูดถึงสิ่งที่ได้อ่าน สิ่งที่ไม่เคยอ่าน และสิ่งที่อยากได้จากหนังสือซึ่งก็คือความบันเทิงและความท้าทาย แต่ผมก็ไม่อยากเสียเวลามากเกินไป”

          จากนั้น 2-3 วัน เครซได้รับ ‘ใบสั่งยา’ ทางอีเมล นักบำบัดมองว่าเขาเป็นคนอ่านหนังสือเยอะก็จริงแต่มีเวลาจำกัด กระบวนการรักษาจึงใช้นวนิยายที่มีความหนาไม่เกิน 350 หน้า หนังสือที่เครซได้รับ ได้แก่ The Holy Sinner อ้างอิงจากเรื่องราวตำนานของสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรี เนื้อหาชวนให้ผู้อ่านสำรวจความคิดเกี่ยวกับศีลธรรม บาป และการไถ่บาป เล่มที่ 2 คือเรื่องสั้น Tobermory and Other Stories เกี่ยวกับแมวที่ถูกฝึกให้พูดได้ เรื่องนี้เสียดสีสังคมของชนชั้นกลางค่อนข้างสูงที่เต็มไปด้วยความเสแสร้งและความเจ้าเล่ห์ อีกเล่มหนึ่งคือ Depresso หนังสือภาพซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้า ส่วนเล่มสุดท้ายคือ Flowers for Algernon เรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ท้าทายศีลธรรม ว่าด้วยเรื่องของชายหนุ่มต่ำต้อยผู้พิการทางสมองที่ได้รับการผ่าตัดเพื่อเพิ่มความฉลาด ทันทีที่เครซเห็นรายชื่อหนังสือและคำอธิบาย เขาก็รู้สึกตื่นเต้นและรีบสั่งซื้อหนังสือจาก Amazon ทันที เพราะอยากรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตนเองเมื่อได้อ่านหนังสือเหล่านั้น

‘นักบรรณบำบัด’ ผู้ขจัดความวิตกและซึมเศร้าด้วยการ ‘จ่าย’ หนังสือ
Photo: cottonbro studio on Pexels

ไม่ต้องพบนักจิตวิทยา ก็สามารถหาหนังสือมาอ่านเองได้

          วรรณกรรมที่ถูกนำมาใช้ในการบำบัดอาจเป็นผลงานคลาสสิก งานเขียนร่วมสมัยใหม่ รวมถึงหนังสือทรงคุณค่าที่หลายคนอาจไม่เคยได้ยินมาก่อน ผู้ที่สนใจลองหาหนังสือเหล่านี้มาอ่านเพื่อค่อยๆ ทำความเข้าใจตนเองหรือปลดปล่อยความทุกข์ออกจากจิตใจ ก็สามารถเลือกจากรายการหนังสือสำหรับการเยียวยาที่เอลลาและซูซานได้รวบรวมไว้นับพันเล่ม ใน The Novel Cure: An A-Z of Literary Remedies รายชื่อต่างๆ ถูกจัดแบ่งตามประเภทของปัญหาในชีวิต เรียงไว้ตามตัวอักษร ตั้งแต่อักษร A จนถึง Z มีทั้งปัญหาสำคัญๆ เช่น การทำแท้ง การหย่าร้าง ความรู้สึกต่ำต้อย การตกงาน ความหวาดระแวง ไปจนถึงเรื่องที่อาจสร้างความไม่สบายใจเล็กๆ น้อยๆ หรือปัญหาแปลกๆ เช่น อาการปวดฟัน หรือการหลงรักแม่ชี

          หนังสือเล่มนี้มีกลวิธีการเล่าอย่างมีไหวพริบ ชวนให้คนหลงใหลและอยากตามหาหนังสือเหล่านั้นมาอ่าน มันเหมาะสำหรับคนทำงานด้านจิตวิทยา ผู้ที่กำลังประสบปัญหาบางอย่าง รวมทั้งนักอ่านที่ชอบอ่านบทรีวิวหนังสือเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ๆ สำหรับตนเอง หนังสือดังกล่าวมีการแปลเป็นภาษาต่างๆ กว่า 10 ภาษา โดยมีการเพิ่มเติมรายชื่อหนังสือที่สอดคล้องกับบริบทของผู้คน สังคม และวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ อีกด้วย เวอร์ชันที่มีการเติมรายการหนังสือใหม่มากที่สุดคืออินเดีย เช่นเรื่องการแต่งงานแบบคลุมถุงชน ความไม่ตรงต่อเวลา ความหลงใหลกีฬาคริกเก็ต และการปัสสาวะในที่สาธารณะ

‘นักบรรณบำบัด’ ผู้ขจัดความวิตกและซึมเศร้าด้วยการ ‘จ่าย’ หนังสือ
หนังสือ The Novel Cure: An A-Z of Literary Remedies
Photo: Canongate
‘นักบรรณบำบัด’ ผู้ขจัดความวิตกและซึมเศร้าด้วยการ ‘จ่าย’ หนังสือ
Photo: Canongate

          หลังจากนั้นมีการจัดทำหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน แต่เน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กและวัยรุ่น นั่นก็คือ The Story Cure: An A-Z of Books to Keep Kids Happy, Healthy and Wise ซึ่งมีตั้งแต่หนังสือภาพไปจนถึงนิยายวาย รายชื่อหนังสือที่ถูกหยิบยกผ่านตัวอักษรต่างๆ เช่น ความสกปรก การผจญภัย สิว การบูลลี่ทางไซเบอร์ ความตื่นเต้น ความกลัวสัตว์ เหล้า ฯลฯ เล่มนี้เหมาะสำหรับพ่อแม่หรือครูที่เชื่อมั่นว่าหนังสือสามารถช่วยหล่อหลอมให้เด็กๆ เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ

          หากในชีวิตของคนเรามีโอกาสพบหนังสือหรือวรรณกรรมดีๆ สักเล่ม นอกจากจะได้รับประสบการณ์อ่านแสนวิเศษแล้ว มันอาจกลายเป็น ‘ยา’ ที่ช่วยบรรเทาความทุกข์ร้อนในความคิดและจิตใจได้อย่างไม่น่าเชื่อ และบางเล่มอาจเป็น ‘วัคซีน’ ที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ชีวิตแข็งแกร่งสามารถเผชิญอุปสรรคต่างๆ ได้อย่างมั่นคง รวมทั้งสร้างความหวังและแรงบันดาลใจในชีวิตอีกด้วย

‘นักบรรณบำบัด’ ผู้ขจัดความวิตกและซึมเศร้าด้วยการ ‘จ่าย’ หนังสือ
หนังสือ The Story Cure: An A-Z of Books to Keep Kids Happy, Healthy and Wise
Photo: Canongate
‘นักบรรณบำบัด’ ผู้ขจัดความวิตกและซึมเศร้าด้วยการ ‘จ่าย’ หนังสือ
Photo: Canongate

ที่มา

บทความ “A Bibliotherapy Session & Interview with Ella Berthoud” จาก northcornwallbookfest.wordpress.com (online)

บทความ “The Novel Cure: An A to Z of Literary Remedies” จาก livemint.com (online)

บทความ “Visit a bibliotherapist” จาก theguardian.com (online)

บทความ “What Is Bibliotherapy?” จาก verywellmind.com (online)

เว็บไซต์ Ella Berthoud (online)

เว็บไซต์ Susan Elderkin (online)

Cover Photo: cottonbro studio on Pexels

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก