ฉันคือ ‘ผู้เยียวยา’ อันธิฌา แสงชัย เพราะการค้นพบตนเองคือทักษะและการเรียนรู้

4,366 views
10 mins
March 1, 2023

          ปัจจุบัน อันธิฌา แสงชัย ทำงานด้านการบำบัด เยียวยา และ Wellbeing ที่คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บทบาทหน้าที่คือคอยดูแลสุขภาวะด้านจิตใจของนักศึกษาและบุคลากร

          เธอยังเป็นอะไรอีกหลายอย่าง ทั้งที่จบไปแล้วและยังเป็นอยู่ เช่น อาจารย์ปรัชญา นักกิจกรรมด้านความหลากหลายทางเพศ นักสิทธิมนุษยชน แต่ ณ เวลานี้ เธอนิยามตนเองเป็น ‘แม่มด’ ซึ่งสำหรับเธอหมายถึง ‘ผู้เยียวยา’ หรือ ‘Healer’

          บทสนทนาขนาดยาวนี้ ไม่ได้ซักไซ้ถึงบทบาทในอดีต และก็ไม่ได้พูดถึงความเป็นแม่มด แต่มุ่งไปที่กระบวนการการเปลี่ยนผ่านและค้นหาตัวตนของเธอ

          คุณอาจคิดว่าเป็นเรื่องง่ายดายที่ใครสักคนจะบอกว่า ฉันเป็นใคร ก็เป็นได้ แต่คนจำนวนมากมายรวมถึงตัวอันธิฌาเองกลับพบว่ามันยากสาหัสเหลือเกิน มันคือการเรียนรู้ตลอดชีวิต การใคร่ครวญแต่ละโจทย์ที่ถูกหยิบยื่นให้แม้เราไม่เต็มใจ การเผชิญความทุกข์และเจ็บปวด การรบรากับกรอบเกณฑ์ทางสังคม ฯลฯ

          การรู้จักตัวเอง การค้นหาตัวเอง การค้นหาความหมายในชีวิตเป็นทักษะที่ต้องอาศัยการฝึกฝนและเรียนรู้ น่าเสียดายที่เรื่องนี้สูญหายไปจากระบบการศึกษา มันยังต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานของรัฐที่เอื้ออำนวยให้ประชาชนมีชีวิตที่ไม่ยากลำบากจนเกินจะขบคิดใคร่ครวญ น่าเสียดายที่เรื่องนี้สูญหายไปจากรัฐไทย

          เราอยากพาคุณไปสำรวจหนทางที่คนคนหนึ่งตกผลึกกับตนเอง กระทั่งยืนยันกับทั้งโลกว่า ฉันเป็นใคร

          แต่เราต้องหมายเหตุว่านี่ไม่ใช่สูตรสำเร็จ เพราะเมื่อใดที่เรื่องยากๆ แบบนี้มีสูตรสำเร็จ ให้สันนิษฐานไว้ได้เลยว่า มันผิด

          แต่มันคือการแบ่งปันเรื่องราวกระบวนการเรียนรู้ ที่เหลือเป็นหน้าที่ที่คุณต้องถกเถียง สงสัย ตั้งคำถาม จนกว่าจะเจอคำตอบ…หรืออาจจะไม่เจอ

ฉันคือ ‘ผู้เยียวยา’ อันธิฌา แสงชัย เพราะการค้นพบตนเองคือทักษะและการเรียนรู้
Photo : คชรักษ์ แก้วสุราช

ทำไมคุณเลือกจะบอกกับตนเองและบอกกับคนอื่นว่าฉันจะเป็นผู้เยียวยา (Healer)

          อันนี้เป็นคำถามที่สำคัญมาก ใช้เวลาพอสมควรเลยกว่าที่เราคิดว่าเรามีบทบาทแบบนี้ได้ เพราะมันเป็นการเดินทางของชีวิต เป็นพันธกิจของชีวิตก็ได้ เรามองว่าเราอยากจะทำอะไรต่อไปในชีวิต อยากใช้ชีวิตยังไง อยากจะเป็นใคร อยากจะมีบทบาทอะไร เป็นคนแบบไหน เป็นใครในโลกใบนี้ และเรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร

          คำนี้ผุดขึ้นมา เป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่ามันมีคุณค่า มันเป็นตัวเรา เราอยากจะใช้ชีวิตในฐานะนี้ มันเกิดขึ้นหลังจากตกผลึกอะไรหลายอย่างในชีวิต แล้วก็น่าจะเป็นผู้เยียวยาสำหรับตัวเองมาระยะหนึ่ง เรามองเห็นว่าถ้าเราทำแล้วมันจะดีกับชีวิตเรา คือเราไม่ได้เป็นคนให้ แต่เราเป็นคนที่ได้ชีวิตแบบนั้นด้วย เพราะบทบาทการทำงานแบบนี้เจ็ดสิบแปดสิบเปอร์เซ็นต์ไม่ใช่การทำงานกับคนอื่น มันเป็นการทำงานกับตัวเอง แปลว่ามาตรฐานต่ำสุดที่คุณจะอยู่ในบทบาทของผู้เยียวยาได้ชีวิตคุณต้องดี ต้องมี Wellbeing ที่ดีในระดับหนึ่ง

ชีวิตของคุณทำมาหลายบทบาท มันค่อยๆ คลี่คลายจนมาถึงจุดนี้ได้ยังไง จำเป็นไหมที่การคลี่คลายต้องผ่านความทุกข์เศร้า ความเจ็บปวด

          มีสองสามอย่าง อันที่หนึ่งเลย เราคิดว่าพันธกิจของความเป็นมนุษย์ Humanity (มนุษยชาติ) และ Individual (ปัจเจกบุคคล) ด้วย ในฐานะที่เราเกิดมาและเป็น Human Being คำถามใหญ่มากเลยคือเราเกิดมาทำไม มันทำให้เราต้องนั่งขบคิดเรื่องพันธกิจของชีวิต อะไรคือความหมายที่สำคัญต่อชีวิตเรา ซึ่งไม่ง่ายสำหรับแต่ละคน บางคนตายไปก็ไม่มีคำตอบ แต่เราคิดว่ามันเป็นหน้าที่ที่เลี่ยงไม่ได้ที่แต่ละคนคงจะต้องมีคำตอบให้มัน อาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ได้ เราคิดว่าเหตุผลข้างหลังที่ลึกที่สุดของทุกการตัดสินใจในชีวิตมันคืออันนี้ แล้วก็เป็นแก่นแกนที่เป็นตัวตนของเรา

          ปัญหาคือบางทีเราก็ไม่ได้เข้าใจมัน เราทำสารพัดเรื่องโดยไม่ได้ย้อนกลับมาที่แก่นตรงนี้ ไม่ได้ใคร่ครวญจริงจัง หรือมีบางอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตเราเป็นประสบการณ์ เป็นสถานการณ์ที่บีบคั้นให้เราตัดสินใจเรื่องยากๆ บางทีก็ผลักให้เราไปที่คำถามนี้ คุณเป็นใคร คุณเกิดมาทำไม คุณอยู่ในโลกนี้ไปเพื่ออะไร มันอาจจะง่ายมากถ้าบอกว่าก็ไม่เป็นไร อยู่ๆ ไปเดี๋ยวก็ตาย ก็ปล่อยไป ไม่เห็นต้องดิ้นรนทำอะไร แบบนี้อาจจะเป็นคำตอบอันหนึ่งก็ได้ แต่ว่าไม่มีใครตอบแทนกันได้ ไม่มีใครสามารถสร้างมาตรฐานว่าชีวิตคนต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เว้นเสียแต่ศาสนาต่างๆ ที่พยายามจะบอกว่าเป้าหมายสำเร็จรูป เราไปชอปปิงได้ 

          เราคิดเรื่องนี้ตั้งแต่เราเป็นวัยรุ่น บ้าบอคอแตก ใคร่ครวญคิดเรื่องนี้เยอะ อ่านหนังสือเยอะ ตั้งคำถามกับอะไรไม่รู้มากมาย นั่งคิดแต่เรื่องที่เราไม่มีคำตอบให้มัน เพราะตอนเราเด็กไม่ได้มีประสบการณ์มากเพียงพอที่จะตกผลึกบางอย่างกับชีวิต แล้วเราก็โตมาพร้อมกับคำตอบมากมายที่สังคมบอก ฝังเข้าไปในหัวโดยไม่รู้ตัว มันบอกเราว่าชีวิตเราควรเป็นยังไง เราก็สับสน เจอปัญหาหนักๆ หลายๆ อย่าง มันเลยทำให้เราต้องมานั่งคิดเรื่องนี้หนักหน่วง แล้วเราก็เจอเรื่องอื่นๆ ตามมา

          พอโมเมนต์ที่เราต้องก้าวออกมาสู่โลกของผู้หญิงที่ใช้วิถีชีวิตตรงกับเพศกำเนิด คือผู้หญิงก็ต้องรักเพศตรงข้ามหรือผู้หญิงที่ดีควรจะเป็นยังไง พอเรารู้สึกว่าเราไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย เราเดินออกมาจากตรงนั้น มันก็เป็นก้าวที่ใหญ่มากในชีวิตและเปลี่ยนชีวิตเราไปหลายเรื่อง ทำให้ต้องตั้งคำถามใหม่ว่าฉันเป็นใคร ต้องมานั่งรื้อสร้างใหม่ แล้วก็โชคดีตรงที่เราได้มารื้อ ได้มาสร้างมันใหม่ตอนเราโต เรา Mature ขึ้น เราได้มานั่งจำแนกมันออกมาว่าอะไรที่เขาสอนเรา มันจริงหรือไม่จริง มันมีทางเลือกอื่นๆ มั้ย

          แต่ในช่วงวัยที่เราเริ่มเรียนรู้ของพวกนี้ เราไม่เหมือนคนอื่นที่มานั่งกังวล เราเลยสามารถเลือกเรียนศิลปะ เลือกเรียนปรัชญา แบบที่ไม่ได้ตอบโจทย์อาชีพ แต่ตอบโจทย์ข้างในของการเป็นมนุษย์คิดเยอะ พอเรียนปรัชญามันได้เรียนศาสนาด้วยก็เลยได้มองศาสนาในฐานะที่เป็นคำตอบสำเร็จรูปชุดต่างๆ ให้เราได้ดูและเถียง ถ้าเราเรียนศาสนาแบบที่เป็นความเชื่อ เราก็ต้องเข้าไปเพื่อฝึกปฏิบัติ กว่าที่เราจะรู้ว่าเราเหมาะสมกับอันนี้หรือไม่ อาจจะใช้เวลาไปสิบปียี่สิบปี การเรียนปรัชญามันย่นย่อของพวกนี้ลงมาเพราะมันมีวิธีการคิดที่ทำให้เราตั้งคำถามได้คมขึ้นและสามารถดูคำตอบที่คนอื่นเขาเถียงกันมาแล้วได้ง่ายขึ้น มันมีคนเป็นสิบเป็นร้อยที่ฉลาดกว่าเราเถียงกันมาตั้งแต่สามพันปีก่อน คนนี้ตอบไว้ดีมาก แต่ก็ยังมีคนมาเถียงเละเทะไปหมด ที่เราคิดว่าตอบดีแล้ว ไม่ใช่นี่นา มันก็ยังเต็มไปด้วยช่องโหว่ทิ้งไว้อีกเยอะแยะ

          เราหงุดหงิดมากถ้าเราไม่รู้ว่าชีวิตเราคืออะไรหรือไม่รู้ว่าชีวิตจะไปยังไง ดังนั้น ถ้าเจอคำถามอย่างนี้สิ่งที่จะทำคือหยุดทุกอย่างในชีวิต ทำเป็น Auto Pilot แต่เราใคร่ครวญกับบางเรื่องอยู่ในหัวตลอด แล้วเราจะไม่ตัดสินใจอะไรใหญ่ๆ ถ้ายังไม่เจอแก่นบางอย่างที่เราต้องการในชีวิต เราจะหยุดแล้วใคร่ครวญ อาจจะใช้เวลาเป็นปีหรือหลายปีเพื่อค้นหาคำตอบว่า จริงๆ แล้วฉันต้องการอะไรแน่ แล้วพอมันโป๊ะ มัน Enlighten ขึ้นมา การตัดสินเป็นไปได้ง่ายมาก แล้วก็ไม่มีอะไรติดค้าง ไม่อาลัยอาวรณ์ อันนี้คือกระบวนการที่เราใช้ชีวิต

คุณเคยเป็นอาจารย์ปรัชญา แล้ววันหนึ่งการเป็นอาจารย์ปรัชญาก็ไม่ตอบโจทย์

          การเป็นอาจารย์ปรัชญาไม่ตอบโจทย์เพราะว่าระบบอุดมศึกษาไทยมันแย่ ที่จริงการเป็นอาจารย์ปรัชญาเป็นอาชีพที่ทำจนตายได้ มันเป็นเนื้อเดียวกันกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ แต่ระบบอุดมศึกษาไทยหรือการศึกษาไทยทั้งหมดมันไม่ Healthy เลย

          ให้ทำในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ และไม่ให้ทำในสิ่งที่มีประโยชน์ อยู่เฉยๆ แล้วทำงานตามหน้าที่ง่ายกว่าเยอะ แต่ถ้าอยากทำอะไรที่เรารู้สึกว่างานนี้มีคุณค่า มีประโยชน์ เหนื่อยมากและไม่ได้อะไรด้วย อาจจะถูกทำโทษ เรามองว่ามหาวิทยาลัยแทบทั้งประเทศไทยเจอปัญหาเดียวกัน น้อยบ้างมากบ้างแล้วแต่ที่ เราทำแล้ว Suffer มาก เช่น การกรอกเอกสารต่างๆ สมัยอาจารย์ของเราไม่เห็นต้องทำอะไรแบบนี้ ชีวิตการเป็นนักวิชาการมันรุ่มรวยกว่านี้เยอะ มันถูกเข้าใจว่าคุณเป็นผู้ผลิตความรู้ แต่ความรู้ในยุคนั้นกับความรู้ในยุคนี้มันเป็นคนละความหมายกัน ความรู้ในยุคนี้ต้องขายได้ ต้องมีตัวชี้วัดที่เขาคิดว่ามันก้าวหน้า แต่จริงๆ ไม่ใช่ เขาถอยห่างออกจากสิ่งที่เป็นแก่นสารของความรู้จริงๆ ไปมาก มันเลยทำให้เรารู้สึกสูญเสียคุณค่าของเราและเราก็โชคดีที่เรามีคุณค่าในโลกข้างนอก

          หมายถึงอะไร หมายถึงเราใช้พลังแบบหูดับตับไหม้ในการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมทางสังคม ทางการเมือง ทางเพศ ที่ออกมาเป็นนักกิจกรรม ทำงานกับชุมชน กับคนจริงๆ ข้างนอก มันรุ่มรวย เป็นชีวิตที่มีความหมาย มีคุณค่า ได้เรียนรู้ ได้เติบโตมากมาย บางคนเลือกจะต่อสู้กับระบบข้างใน เราไม่อยากสู้กับระบบ เรามาสู้ข้างนอก วิธีการของเราคือเราทำงานกับคนไปเลย ทำให้เขาเห็นอะไรบางอย่าง และเราก็สื่อสารกับคนในวงกว้างไปเลย เช่น การได้ออกมาพูด การทำแคมเปญรณรงค์ การทำแอคชันที่เป็นเมสเสจ

          เราเลยรู้สึกว่าระบบโครงสร้างอำนาจในระบบอุดมศึกษามันแข็งมาก แล้วเราไปเปลี่ยนตรงนั้นไม่ได้ง่ายๆ ด้วย เพราะมันพัวพันกับเรื่องการเมือง มันเป็นพื้นที่ที่ชนชั้นนำพยายามรักษา หวงแหนพื้นที่นี้ เพื่อจะกุมอำนาจในการชี้นำสังคม ดังนั้น ทุกสิ่งที่เราทำมันไม่น่าแปลกใจที่จะมีคำถาม ต้องมีอุปสรรคเยอะ เพราะเขาก็ไม่ได้อยากให้คนรู้อะไรที่ก้าวหน้ามากๆ อันนั้นแหละมันทำลายจิตวิญญาณเราจริงๆ

          เราสูญเสียศรัทธา แต่เราไม่ได้มองไม่เห็นทางของตัวเอง มันเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงมาทำเวิร์กชอปข้างนอกหรือทำกระบวนการเรียนรู้กับคนในสังคมข้างนอก ไม่ได้แปลว่าเราละทิ้งงานข้างในมหาวิทยาลัย กลับกลายเป็นว่าประสบการณ์ที่เราทำงานในโลกข้างนอกถูกเอาไปใช้ในชั้นเรียนเยอะมาก และเป็นประโยชน์กับนักศึกษามากกว่าด้วย เราได้ทำสิ่งที่เป็นหน้าที่ของเราตามที่สมควรทำ และสิ่งที่ตอบโจทย์ชีวิตของเรา เราก็ดิ้นรนเพื่อทำให้ชีวิตเรามีความหมายหรือทำสิ่งที่อยากทำจริงๆ ได้

ฉันคือ ‘ผู้เยียวยา’ อันธิฌา แสงชัย เพราะการค้นพบตนเองคือทักษะและการเรียนรู้
Photo : คชรักษ์ แก้วสุราช

กว่าจะมาถึงจุดที่คลี่คลายทั้งหมด เสียอะไรไปบ้าง

          ไม่ได้ง่ายขนาดนี้เลย ที่พูดมาดูเหมือนไม่มีปัญหา แต่จริงๆ แล้วกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เราคิดว่าปัญญาที่มันลึกซึ้งและมีความสำคัญจริงๆ สำหรับตัวเองได้มาจากประสบการณ์ความเจ็บปวดที่ลึกซึ้ง แต่ละสเต็ป แต่ละความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มาจากการที่เราเผชิญหน้ากับสิ่งที่ไปต่อไม่ได้ ในความหมายว่าถ้าไปต่อ เรารู้เลยว่าจะมีปัญหากับชีวิตตัวเองแน่ๆ มันต้องดิ้นรนอย่างสุดตัวเพื่อหาทางเลือกใหม่หรือหาทางออกอื่น แล้วสิ่งที่ทำให้เดินมาสู่งานเยียวยา มันเกิดจากตอนที่เราออกมาต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมทางสังคมโดยที่ไม่มีทักษะการดูแลตัวเองเลย

          มันใช้ความโกรธ ความเจ็บปวดในการทำงาน เราทำประเด็น LGBT เพศ การเมือง มันสู้จากมุมของคนที่ถูกกดขี่ แม้ว่าโดยสถานภาพเราก็เป็นชนชั้นกลาง ไม่ได้เป็นคนชายขอบในทุกมิติ หลายมิติเรามีอำนาจทางสังคม แต่เราใช้อำนาจทางสังคมที่เรามีทั้งหมดมาเป็นต้นทุนในการต่อสู้ ทั้งชีวิตเราใช้กับสิ่งเหล่านี้ไปหมดเลย จนถึงวันหนึ่งมันเสียสมดุล มันกลืนชีวิตเรา มันเป็นชีวิตที่ Unhealthy 

          ช่วงหนึ่งมีข่าวการข่มขืนเด็กผู้หญิงบนรถไฟแล้วโยนศพทิ้งซึ่งมันโหดร้ายมาก ปฏิกิริยาของสังคมคือการโกรธเกรี้ยวอย่างรุนแรง ประเด็นข่มขืนเท่ากับประหารถูกชูขึ้นมา อีนี่เป็นนักสิทธิมนุษยชนและไม่เห็นด้วยกับโทษประหาร นักศึกษาที่ มอ. จัดเสวนาข่มขืนเท่ากับประหาร เขาเชิญหลายคนไปพูด มีคนที่เป็นนักกฎหมาย กฎหมายอิสลาม สองอันนี้มีโทษประหารอยู่แล้ว แล้วก็เชิญเราไปในฐานะคนที่ไม่เอาสิ่งเหล่านี้ คนที่อยู่บนเวทีทั้งหมดรวมทั้งพิธีกรเป็นผู้ชาย และทุกคนสนับสนุนโทษประหารหมด วันนั้นเป็นวันที่เรารู้สึกว่าเราสู้กับคนห้าร้อยกว่าคนโดยลำพัง มันเป็นความยากลำบากมากที่เราต้องอธิบายว่า ประหารไปปัญหาก็ไม่ได้ถูกแก้ไข บอกเขาว่ารากของปัญหานี้จริงๆ มาจากอะไร เราพยายามจะพาเขาไปเรื่องสังคมอำนาจนิยม ปิตาธิปไตย

          โอ้โฮ เหนื่อยมาก วันนั้นเรารู้สึกว่าได้สื่อสารประเด็นไปครบหมดแล้วอย่างสุดพลัง เรากลับบ้าน นั่งร้องไห้เป็นชั่วโมง มันสั่นไปหมด เหมือนเราอยู่ในสนามรบและต่อสู้สุดพลังที่เรามี แล้วเราก็รู้สึกว่าทำไมสังคมโหดร้ายจัง ทุกคนโกรธเกรี้ยวโดยที่ไม่โกรธรากของปัญหาจริงๆ ปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้ทำให้เราไม่รู้ว่าเราเป็นใครในโลกใบนี้และสิ่งที่เรากำลังทำมันโดดเดี่ยวมาก

          ตอนนั้นคำว่า Wellbeing คนก็ไม่รู้จัก นักกิจกรรมก็ไม่ให้ความสำคัญ พักทำไม พักไม่ได้ โลกข้างนอกยังสู้กันอยู่เลย การพักเป็นเรื่องผิดบาปมากสำหรับนักต่อสู้ในช่วงเวลานั้น มันก็พัง ต้องมานั่งทบทวนตัวเอง สิ่งที่เป็นสัญญาณว่าชีวิตไม่โอเคแล้วคือเรามีโมเมนต์ที่คิดเรื่องการฆ่าตัวตายประมาณสองสามครั้ง ทำให้ต้องคุยกับเพื่อนสนิทว่ามันเกิดอะไรขึ้น เพื่อนคนนี้ก็สนใจเรื่อง Wellbeing การดูแลตัวเอง วันหนึ่งก็เลยประชุม ชวนคุยเรื่องสุขภาวะของนักกิจกรรม เริ่มศึกษา เริ่มมีเวิร์กชอป ไปเรียนรู้เรื่องนี้แล้วเอามาใช้ในชีวิต เริ่มไปเรียนบำบัดแบบจริงจัง เริ่มเรียนศิลปะบำบัด เราพบว่าวันหนึ่งไม่มีสีอยู่ในบ้านสักหลอด ไม่มีอุปกรณ์ที่เราจะนั่งวาดรูปได้เลย เราเลยตระหนักว่าเราทำอะไรกับชีวิตตัวเองมาโดยตลอด แต่เป็นความเข้าใจที่เห็นอกเห็นใจตัวเองว่าเราเจอโจทย์ยากๆ ในชีวิตและเราก็แค่พยายามอยู่รอดให้ได้ในความยากลำบากในแต่ละช่วงเวลาที่ผ่านมา

ฟังแล้วเหมือนทุกอย่างสามารถคิด ตกผลึก คลี่คลายได้โดยลำพัง มันเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า หรือยังต้องคิดถึงคนอื่นหรือสิ่งอื่นรอบตัวด้วย

          เราว่ามันมีสองสเต็ป มันมีคนอื่นอยู่ในนั้นด้วยเสมอ แต่คนสำคัญที่สุดคือตัวเรา เช่น ของยากๆ เลยตอนที่เราเลิกกับสามี เลิกเพราะอยากใช้ชีวิตของตัวเองจริงๆ เราไม่ได้อยากใช้ชีวิตครอบครัวในรูปแบบนี้ เรามองเห็นชีวิตตัวเองในแบบอื่น อันนี้เป็นการตัดสินใจหนึ่งที่ยากเพราะเราเป็นคนตัดสินใจโดยที่คนอื่นไม่ต้องการ เขาต้องการให้มันเป็นแบบเดิม รวมทั้งสิ่งที่จะการันตีชีวิตของลูกเราได้ แบบเดิมก็น่าจะดีกว่า การเลือกแบบนี้มันท้าทายมาก

          แต่เราเลือกเพราะรู้สึกว่าเราอยู่ในชีวิตที่ไม่ตอบโจทย์เราอีกแล้ว คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือตัวเราเอง การสูญเสียตัวเองหรือไม่ได้ใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการจริงๆ มันส่งผลกับเราลึกมาก ในที่สุดเราจะกลายเป็นคนที่ไม่สามารถดูแลและรักคนอื่นได้จริงๆ เราคิดอย่างนั้น เราบอกว่าเรารักลูก รักอดีตสามี แต่รักมันเปลี่ยน เป็นรักที่เราปรารถนาดีต่อเขา อยู่ในรูปแบบเดิมที่เหมาะสมและถูกต้องในสายตาของทุกคน มันฝืนตัวตนของเราและทำร้ายตัวเราเอง ในที่สุดเราไม่สามารถรักเขาได้ เราไม่มีเรี่ยวแรงหรอก เพราะขนาดตัวเราเองเรายังไม่สามารถดูแลตัวเราเองได้เลย เราจะรักตัวเองยังไงถ้าเราอยู่ในชีวิตที่ไม่ใช่การตัดสินใจของเรา

          เวลาเราหัวเราะ เราไม่รู้ว่าเราหัวเราะจากมาตรฐานทางสังคมแบบนี้ๆ เรามีความสุขเพราะองค์ประกอบทุกอย่างมันลงตัวและพอดีหรือว่ามาจากข้างในเราลึกๆ เราคิดว่าชีวิตมนุษย์ควรจะเป็นอีกแบบ ควรจะเป็นของที่มาจากข้างในเราลึกๆ เช่น โลกมันโหดร้ายจังเลย มีปัญหามากมายในชีวิตเลย แต่เราเห็นมุมเล็กแล้วยิ้มออกมาหรือมีความสุขได้อย่างลึกซึ้งข้างใน เราว่าอันนั้นมันจริงกว่าที่โลกข้างนอกทุกอย่างโอเคหมดเลย แต่ข้างในเราหม่นไหม้ เราเลยตั้งหลักว่าถ้าจะเป็นแม่ของเด็กคนหนึ่งต้องเป็นมนุษย์ก่อน แม้ว่าโลกทั้งโลกจะบอกว่า ไม่ เธอต้องเป็นแม่เดี๋ยวนี้ แต่โลกไม่มีสิทธิ์บังคับฉัน ฉันเป็นมนุษย์และฉันสามารถทำหน้าที่ได้โดยไม่ต้องเป็นแบบที่คุณบอก

          ที่สำคัญ เราอยากเป็นมนุษย์ที่มีความสุข ที่เข้าใจและรู้จักตัวเองอย่างลึกซึ้ง มีชีวิตอย่างที่เราเลือกเอง เพราะว่าการเป็นมนุษย์แบบนั้นเรามั่นใจว่าเราจะเป็นแม่ที่ดี เราจะเป็นคนที่รักคนอื่นได้ จะเป็นแม่ที่สอนลูกให้ทำในสิ่งเดียวกันได้ ก็คือการเป็นมนุษย์ที่มีความสุข ไม่ใช่ผู้หญิงคนหนึ่งที่สวมบทบาทแม่แล้วก็โบยตีตัวเองทุกเช้าค่ำแล้วสอนให้ลูกมีความสุข เราคิดว่าเราไม่รู้จะสอนยังไง ก็เจอโจทย์โหดๆ แบบนั้น มันก็เป็นการใคร่ครวญกับสภาวะข้างในตัวเอง ยื้อไปยื้อมาอยู่หลายปีกว่าที่จะเคลียร์

          และคำถามสุดท้ายจากคนคนหนึ่งที่เราจำไม่ได้แล้วว่าใครถาม พยายามมากมายสุดท้ายถ้าลูกเกลียดเธอล่ะ ถ้าลูกไม่ยอมรับเธออย่างที่เธอเป็น อันนี้คือคำถามที่ผลักเรามาสู่จุดที่เราถอยหลังอีกไม่ได้แล้ว เป็นคำถามที่โหดร้ายมาก เราได้คำตอบ แล้วมันทำให้เรามีอิสระ คือการที่เขาเกลียดเราไม่ได้เป็นเงื่อนไขทำให้เรารักเขาน้อยลง หรือจะไม่เป็นแม่ในแบบที่เราคิดว่าเราให้เขาได้ มันเป็นความรู้สึกของเธอที่ฉันไม่ไปจัดการ มันเลยทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็นอิสระแล้ว เป็นคนแบบที่เราอยากเป็นได้จริงๆ มันมีโมเมนต์แบบนี้ในชีวิตที่ให้เราต้องคิด ทุกครั้งที่เราคลี่คลายมันได้ เราจะกลายเป็นใครอีกคนหนึ่งที่โจทย์นั้นผ่านไป แล้วมีโจทย์ใหม่มาเรื่อยๆ เราคิดว่ากระบวนการเหล่านี้แหละคือการเยียวยาตัวเอง

          เราเจอโจทย์หนักๆ มาตลอดในชีวิต จนสุดท้ายเรารู้สึกว่าเราเข้าใจวิธีการที่เราจะตะเกียกตะกายขึ้นมาจากหลุมที่มืดมิดที่คนอื่นขุดไว้ให้ หรือที่ตัวเราเองขุดไว้ให้ตัวเอง เราก็เลยมั่นใจว่าคนอื่นก็ทำได้ ไม่ว่าหลุมคุณจะลึกแค่ไหน คุณขึ้นมาได้ มันมีทางขึ้นเสมอและขึ้นมาได้เสมอ เราทุกคนทำได้เสมอ เราคิดว่าความเชื่อเหล่านี้เป็นแกนสำคัญที่ทำให้เรากลายมาเป็นนักบำบัด กลายมาเป็นสิ่งที่คนอื่นเรียกว่า Healer หรือผู้เยียวยา เพราะเราเชื่อเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง มั่นใจ เพราะเราผ่านของพวกนี้มาและคิดว่าไม่มีอะไรในโลกที่เยียวยาไม่ได้

          การต่อสู้ทางสังคมก็ด้วย อย่างที่ออกมาเป็นนักกิจกรรมเพราะว่าเราเชื่อในมนุษย์อย่างลึกซึ้ง เราเชื่อมั่นแม้กระทั่ง คฝ. (เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน) ที่เอาไม้พลองมาทุบตีคนที่มาชุมนุมเพราะเราเชื่อว่าในซอกใดซอกหนึ่งเขามีความเป็นมนุษย์อยู่ เราแค่ต้องการคืนความเป็นมนุษย์กลับไปที่ตัวเขา

ฉันคือ ‘ผู้เยียวยา’ อันธิฌา แสงชัย เพราะการค้นพบตนเองคือทักษะและการเรียนรู้
Photo : คชรักษ์ แก้วสุราช

การค้นหาหรือการสร้างตัวเองเป็นทักษะที่ต้องเรียนรู้หรือจะเกิดขึ้นเองไปตามแต่ละขั้นตอนของชีวิต

          เราคิดว่าชีวิตให้โอกาสเรื่องนี้เสมอแม้ว่าเราไม่ต้องการ คนร่ำรวย คนยากดีมีจน ทุกคนมีความทุกข์หมด มีปัญหาในชีวิต มีความเจ็บปวด แต่มันเป็นความสามารถหรือทักษะของแต่ละคนมั้ย เราคิดว่าอันนั้นมีส่วน หนึ่งคือคุณสนใจมันแค่ไหนเวลาที่ชีวิตหยิบยื่นโจทย์ให้หรือแค่ปล่อยๆ มันไป หรือไม่เห็นต้องทำโจทย์นี้เลย แล้วคุณก็กลายเป็นคนแบบเดิมๆ ที่คุณก็จะเจอโจทย์ซ้ำๆ อาจจะทำให้ชีวิตมันหมุนแบบแย่ลงไปเรื่อยๆ หรือไม่ดีขึ้น ก็ประคองไว้อย่างนี้ มันก็ไม่แก้ไขเรื่องนั้นสักที จนจากโลกนี้ไป มันก็มีหลายเรื่องในชีวิตเราที่มันไม่คลี่คลาย

          เราคิดว่าแต่ละคนทำงานกับโจทย์ในชีวิตไม่เหมือนกัน บางคนตั้งใจ บางคนไม่ตั้งใจ อันนี้เป็นความต่าง แล้วพอคุณตั้งใจ บางคนเจอเครื่องมือ บางคนไม่เจอ ไม่มีเครื่องมือ แต่มีปัญญาบางอย่างผุดขึ้นมาเอง แล้วอยู่ดีๆ ก็คลี่คลาย ซึ่งมันไม่ได้เป็นมาตรฐานว่าทุกคนจะทำได้แบบนี้ มันกลายเป็นของที่ผสมผสานกันระหว่างความตั้งใจ การตระหนักรู้ของเขา เรื่องที่เขาจะเวิร์กกับตัวเอง กับโอกาสจากโลกข้างนอก กับความยากความง่ายในจังหวะชีวิตในโครงสร้างทางสังคมที่เขาอยู่ตรงนั้น

          อีกอย่างหนึ่งถ้าพูดถึงระบบการศึกษา โอ้โฮ ระบบการศึกษาของเรามีปัญหา มิติหนึ่งที่หายไปคือการสอนให้คนเป็นมนุษย์ เหลือแต่วิชา ความรู้ก็ยังเป็นแท่งๆ ที่ไม่สามารถมองเห็นความเชื่อมโยงของความรู้เหล่านั้นได้เลย แถมไม่สามารถเชื่อมโยงกับชีวิตของคนที่เรียนได้ สุดท้ายไม่ได้กลับมาสู่ชีวิตข้างใน ทั้งที่ความเป็นมนุษย์มันละเอียดอ่อนกว่านั้นเยอะ การศึกษาเราไม่มีพื้นที่ตรงนี้เลย แล้วก็คนที่ต้องการความช่วยเหลือหนักหนาสาหัสไม่ใช่แค่นักเรียนด้วย คิดว่าน่าจะเป็นครู บุคลากรในระบบการศึกษาเราเองด้วย

มันน่าจะมีชุดทักษะหรือเครื่องมือบางอย่างหรือเปล่าที่จะทำให้เราดีลกับโจทย์นั้นๆ ได้ ถ้ามี สิ่งเหล่านั้นคืออะไร แล้วการศึกษาจะให้สิ่งเหล่านั้นได้อย่างไร

          พร้อมจะเข้าสู่โลกทางจิตวิญญาณหรือยัง? (หัวเราะ) เวลาจะตอบคำถามนี้ต้องเชื่อมโยงมาสู่มิตินี้แล้ว เรื่องพลังงาน เรื่องจิตวิญญาณ ซึ่งถูกลบทิ้ง แต่มันเป็นส่วนที่สำคัญมาก มนุษย์เราไม่ได้ดำรงชีวิตอยู่ได้แค่ความคิด อารมณ์ และร่างกาย สิ่งสำคัญกว่านั้นอีกคือเรื่องของพลังงาน จิตวิญญาณ ที่เรียกว่าเป็น Subtle Body เนื้อตัวร่างกายเราที่เป็นพลังงาน เป็นร่างกายแบบละเอียด มันมีระบบไหลเวียนของพลังงานอยู่ มีดวงจิตของเราอยู่ ซึ่งของพวกนี้ทำให้คนคนหนึ่งไม่ใช่ผ้าขาวๆ ที่ป้อนสิ่งสำเร็จรูปแล้วเขาก็จะตอบสนองเหมือนๆ กัน วัดได้เป็นค่าออกมาเท่ากัน ไม่ใช่เลยค่ะ เราไม่ใช่หุ่นยนต์

          พอเราไม่สามารถเห็นนักเรียนเป็นสิ่งมีชีวิตทางจิตวิญญาณหรือ Spiritual Being, Emotional Being หรือ Energy Being เราไม่สามารถเห็นคนคนหนึ่งเป็นแบบนี้ได้ในระบบการศึกษา ดังนั้น มันเป็นระบบการศึกษาที่นอกจากไม่ให้เครื่องมือแล้ว ยังทำลายสิ่งเหล่านั้นด้วย ทันทีที่เราจะพูดเรื่องเหล่านี้ปุ๊บ เขาจะบอกว่ามันเป็นเรื่องเหลวไหล ดรามา อย่างดีสุดคือไม่จำเป็น หรือบอกให้ไปโบสถ์สิ ไปวัดสิ ณ ปัจจุบันนี้ชุมชนศาสนาไม่ได้ปลอดภัย และไม่ได้ตอบโจทย์มิติทางจิตวิญญาณ หรือเป็นที่พึ่งพาได้อย่างแท้จริงน่าจะนานแล้ว หลังจากที่ศาสนาเกิดขึ้นในโลกได้ไม่นาน พอมันเริ่มเกิดชุมชนศาสนา เริ่มเกิดโครงสร้างขึ้นเพื่อทำให้มันเรียบร้อย มันก็ไปลบล้างสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากก็คืออิสรภาพของมนุษย์

          อิสรภาพที่มนุษย์จะสำรวจค้นหา อิสรภาพที่มนุษย์จะเป็นตัวร้ายๆ จริงแล้วความรู้ทางจิตวิญญาณต้องไม่หันหลังให้กับทุกมิติของตัวเอง ความดี ความเลว ทุกอย่าง แทนที่เราจะลบทิ้งหรืออยู่ห่างจากมัน ตรงกันข้าม เราต้องเป็นคนสำรวจตรวจตราตัวเอง มิติของศาสนาควรเป็นพื้นที่ให้เรียนรู้ความเป็นมนุษย์ของเรา แต่พอมาสู่จารีตที่มีผิดถูก มีการควบคุมกันจัดๆ มีการตัดสิน ทำโทษ มันไม่ใช่แล้ว มันก็ไม่ต่างจากระบบการศึกษาในโรงเรียนที่ครูตี อันนี้นักบวชก็ทำโทษเรา มันเลยไม่ปลอดภัย ดังนั้น ปัญหาใหญ่คือเราจะรู้ความหมายของชีวิตยังไง จะมีวิธีการหรือเครื่องมือทำงานที่ลึกซึ้งละเอียดอ่อนกับมิติความเป็นมนุษย์ของเรายังไง ในเมื่อสังคมไม่ได้มีสิ่งเหล่านี้ให้ ระบบการศึกษาก็ไม่มี ในพื้นที่ทางศาสนาต่างๆ ก็หายไป ถามว่ามันหายไปหมดมั้ย มันอาจจะมีบางที แต่ว่าตาดีได้ ตาร้ายเสีย มันไม่ได้สามารถเดินเข้าไปแล้วรู้สึกปลอดภัยได้ เราเชื่อว่ามีพื้นที่ศาสนาหรือพื้นที่ทางจิตวิญญาณที่เปิดกว้าง ที่ช่วยคนได้จริงๆ แต่ว่าไม่แน่ใจจะยังไง มันเป็นประสบการณ์ส่วนตัวมากๆ

ธีรภัทร รื่นศิริ ผู้แปลหนังสือความหมายของชีวิตของซูซาน วูล์ฟ บอกว่าการที่เราจะค้นหาความหมายของชีวิต จะออกไปผจญภัยเพื่อค้นหา มันต้องมีโครงสร้างพื้นฐานจากรัฐ การจะค้นพบตัวเองได้ การจะทำสิ่งที่ตนเองรัก เข้าใจว่าคุณคงเห็นด้วยกับประเด็นนี้

          ถ้าเราจะเรียกร้องอะไรสักอย่างเราต้องเรียกร้องจากรัฐนี่แหละค่ะ ในโลกของมนุษย์ไม่รู้จะเรียกร้องจากใครแล้ว เพราะว่ารัฐมีหน้าที่จัดหาให้ แต่เขาไม่ทำหรือไม่รู้ว่าต้องทำยังไง ดังนั้น สิ่งที่เราควรทำคือเราต้องบอกเขา

          แน่นอนค่ะ รัฐต้องช่วย ต้องทำ มันเป็นไปไม่ได้เลยที่มนุษย์จะเติบโตได้ง่ายกว่านี้โดยที่รัฐไม่เอื้ออะไรให้เราเลย อย่างทุกวันนี้ถ้าต้องเรียนเพื่อไปหางานทำ อันนี้ก็ผิดแล้ว ผิดทางแล้วสำหรับการหาความหมายของชีวิต เราไม่ได้เกิดมาเพื่อที่จะเป็นแรงงาน เราต้องเป็นมนุษย์ แล้วความเป็นมนุษย์ของเราคืออะไร มันต้องมีพื้นที่ให้เราได้ตอบคำถามตรงนั้น

          แต่ว่าสังคมไทยเป็นสังคมหนึ่งมั้ง ที่คำถามแรกเลยคือเรียนแล้วไปทำงานอะไร เพราะว่ามันไม่ปลอดภัย แล้วการเรียนในเมืองไทยมันไม่ฟรี มันลงทุนสูงมาก ถ้าเรากู้ กยศ. เราเป็นหนี้เป็นแสนถึงหลายแสน ยังไม่จบเราก็เป็นหนี้แล้ว สังคมมันไม่ปลอดภัย สวัสดิการต่างๆ ไม่มีสักอย่าง ไม่มีบำนาญถ้วนหน้า อย่างดีหน่อยก็สามสิบบาทรักษาทุกโรค แต่สวัสดิการอย่างอื่นมันแย่มาก ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกปลอดภัยในชีวิตได้

          ความหมายของชีวิตที่เราต้องค้นหาในพื้นที่ที่ยากลำบากขนาดนี้ หลายคนไปไม่รอด เช่น ไม่เจอหรอก ตายซะก่อน หรือไม่…พอมีเวลาได้หา มันก็หม่นไหม้จนชินชา จนชีวิตมันหนักหนาแค่วันต่อวัน ไม่มีเวลาไปนั่งลึกซึ้งอะไรกับชีวิตตัวเอง ในโรงเรียนหรือในหลักสูตรเป็นอะไรที่ล้าหลังมาก ที่ทุกวันนี้ยังมาควบคุมหลักสูตรแกนกลางที่จะต้องมีผู้สถาปนาความถูกต้องขึ้นมาชุดเดียว แค่นี้ก็เดินผิดทาง

          เรารู้สึกว่ารัฐกำลังทำลายระบบการศึกษาทั้งหมดและทำลายคนที่อยู่ในระบบนั้นด้วย ไม่ใช่แค่นักเรียน ครูหรือบุคลากรก็เป็นเหยื่อของระบบทั้งหมด ยากมากเลยที่จะมีการศึกษาที่เอื้อให้เป็นมนุษย์ได้ เราต้องไปหาในการศึกษาทางเลือก ในชุมชนเล็กๆ ที่พยายามกระเสือกกระสนก่อตั้ง รวมตัวกันขึ้นเพื่อสร้างพื้นที่เรียนรู้ที่ขาดแคลนเหลือเกิน คนมีตังค์หน่อยก็อาจจะเข้าถึงได้ง่ายกว่า มันเกี่ยวข้องอยู่แล้วกับสวัสดิการสังคม ระบบการศึกษาที่รัฐจะต้องจัดการให้ เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างมิอาจปฏิเสธได้

ฉันคือ ‘ผู้เยียวยา’ อันธิฌา แสงชัย เพราะการค้นพบตนเองคือทักษะและการเรียนรู้
Photo : คชรักษ์ แก้วสุราช

ในโลกที่รุ่นเราโตมา เราแทบไม่รู้จักโลกข้างนอกเลย แต่ทุกวันนี้เทคโนโลยีทำให้เรารู้ว่าโลกนี้มีเซิร์ฟบอร์ด มีกระดานโต้คลื่น มีอะไรหลายอย่าง ปัจจุบันเราสามารถค้นหาสิ่งที่เราชอบ หรือทบทวนตัวเองได้มากขึ้นกว่าสมัยก่อน มีแหล่งความรู้มากมายแม้แต่ด้านจิตวิญญาณ ขณะเดียวกันมันกลับยากและท้าทายมากๆ ที่คนยุคปัจจุบันจะค้นพบตัวเอง ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร ชอบหรือรักอะไร

          ข้อมูลมันเยอะจนล้น เราเข้าถึงง่ายขึ้น เจอของแปลกๆ เยอะขึ้น เร็วขึ้น คิดกับเรื่องนี้ยังไม่ตกเลย มีอีกเรื่องหนึ่งโผล่ขึ้นมาแล้ว ยังไม่รู้เลยว่าเราชอบอันนี้หรือไม่ชอบ เฮ้ย มีของใหม่ อันนี้ก็น่าสนใจ แล้วไปดูอันใหม่นี้ได้ไม่นาน มันมีอีกอันหนึ่ง ต่อไปได้เรื่อยๆ เราเห็นทุกอย่างเป็นจิกซอว์ ขาดๆ ห้วนๆ แต่ท่วมท้นไปหมด แล้วเราก็เริ่มรู้ว่าไม่ใช่แค่ในตำบลเรา อำเภอเรา หมู่บ้าน จังหวัดเรา ประเทศของเรา เริ่มมีประเทศอื่นๆ มีคนที่ Global มากขึ้น แล้วเราก็เริ่มมีจักรวาลอื่น เริ่มมีมิติอื่น มีโลกอื่นๆ มันไม่พอหรอกเวลาในชีวิตเรา ที่จะรู้ว่ามันเป็นอะไรกันแน่ ถ้ามองในแง่นี้เลยไม่แปลกใจที่จะมีคนบอกว่ามันยากขึ้น แล้วคนก็ง่ายที่จะประสาทแดก คือไม่รู้จะเอาอะไรดี ที่สุดแล้วก็เคว้งคว้างมากกว่าเดิม แทนที่จะเห็นทางเลือกและเลือกอะไรได้ตรงกว่าเดิม

          โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณไม่มีเครื่องมือหรือกระบวนการที่ทำงานกับตัวเองได้ดีพอ ฐานที่คุณจะใคร่ครวญกับชีวิตของตัวเองซึ่งสำคัญมาก ไม่ว่าคุณจะมีข้อมูลเท่านี้หรือเยอะๆ คุณเป็นตัวย่อย เครื่องย่อยของคุณประสิทธิภาพขนาดไหน ถ้าคุณย่อยสิ่งต่างๆ ได้เก่ง ชัดเจนกับตัวเองมากๆ คุณไม่ปิด และรู้ว่าตัวคุณเป็นอะไร คุณก็ลึกเข้าไปได้เร็วมาก แน่นอนข้อมูลแค่นี้ไม่พอ คุณก็แฮปปี้กับข้อมูลจำนวนมากและคุณก็ย่อยมันได้ในอัตราส่วนที่ค่อนข้างเร็วและเจอคำตอบ แต่สำหรับบางคนที่เราเป็นใครยังไม่รู้เลย เราไม่เคยนั่งเงียบๆ คนเดียว ชีวิตอยู่นิ่งๆ ไม่ได้ ต้องคุยกับคนนั้นคนนี้ตลอด เราไม่สามารถมีสติ ณ ปัจจุบันได้ ไม่สามารถมีความสงบลึกๆ กับตัวเองได้ หรือไม่เคยหยุดใคร่ครวญกับเรื่องอะไรในชีวิตอย่างจริงจังสักเรื่อง เมื่อเจอข้อมูลเยอะๆ คุณก็ไปเรื่อยๆ และอาจจะสับสนมากกว่าเดิม

          เวลาที่เจอความท้าทาย เจอเรื่องหนักๆ ในชีวิต แน่นอนว่าเท้าจะไม่แตะพื้น มันจะแกว่งไกวมาก คุณไม่รู้ว่าคุณคือใคร คุณยืนอยู่ที่ไหน ณ จุดนี้ชีวิตคุณคืออะไร คุณจะตอบคำถามพวกนี้ไม่ได้เลย แล้วมันยากที่จะข้ามปัญหานั้นให้ได้ มันก็เลยเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่หรือคนในปัจจุบันเจอความท้าทายตรงนี้เยอะขึ้น แล้วก็เป็นอย่างที่เราเห็น หลายคนจะรู้สึกว่ายิ่งข้อมูลเยอะก็ยิ่งสับสน ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน

ในฐานะที่คุณก็คลี่คลายได้ระดับหนึ่ง คุณมีคำแนะนำอย่างไร

          แม้ว่าคนแต่ละคนจะต่างกัน แต่โครงสร้างของความเป็นคนไม่ค่อยต่างกันเท่าไหร่ ในทางจิตวิญญาณก็เหมือนกัน ดังนั้น อยากจะชวนว่าถ้าข้อมูลมันท่วมท้น โลกไม่เอื้อ รัฐไม่เอื้อ ครอบครัวไม่เอื้อ ชุมชนไม่เอื้อให้เรามีโอกาสศึกษาอะไรอย่างลึกซึ้งสักเท่าไหร่ ระบบต่างๆ ไม่สนับสนุนเลย ที่จริงคุณลืมไปอย่างหนึ่ง มันคือตัวเราเอง มันก็มีคำที่หลายศาสนาพูดเป็นทำนองเดียวกันอย่างน่าประหลาด ก็คือความจริงอยู่ข้างในตัวเรา บางทีเราไม่จำเป็นต้องรีบไปหาข้างนอกก็ได้ หลายศาสนาพูดตรงกันอีกว่า ตัวเราเข้าใจตัวเอง ก็เข้าใจทั้งจักรวาล แม้กระทั่งวิทยาศาสตร์ก็เริ่มมองเห็นอะไรแบบนี้ นักวิทยาศาสตร์ดังๆ หลายคนก็พูดทำนองนี้ ไอสไตน์ก็เคยพูดทำนองนี้ จักรวาลคือตัวเราเอง ตัวเราเองคือจักรวาล

          คำนี้ดูเป็นคำใหญ่มาก แต่จริงๆ มันเตือนให้เราตระหนักว่า ที่จริงแล้วการกลับมาอยู่กับตัวเองสำคัญมาก ไม่ได้แปลว่าเราปิดประตูแล้วไม่รับรู้อะไร การกลับมาอยู่กับตัวเองคือตอนนี้คุณอยู่ที่ไหน กลับมาอยู่กับร่างกายก่อน กลับมามีการรับรู้อย่างเต็มที่กับผิวหนังของเรา ลมหายใจของเรา กับระบบการทำงานต่างๆ ของเรา เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นชีวิตของเรา ตัวเราเองที่สัมผัสรับรู้ได้ ที่ที่เราอยู่ สิ่งที่อยู่รอบตัวเรา ค่อยๆ กว้างออกไปเรื่อยๆ คิดว่าโครงสร้างเหล่านี้แต่ละคนสามารถใช้มันในการทำความเข้าใจชีวิตได้

          มนุษย์อาจจะมี Perception มีการรับรู้ที่เป็นโครงสร้างบางอย่างที่ไม่ต่างกันมาก กลไกที่เรามองเห็นสิ่งต่างๆ อุณหภูมิที่เราสัมผัสรับรู้ได้ มันไม่ได้เป็นความรู้ในเชิงความคิด มันไม่ใช่แค่เรามีเงินไปซื้อหนังสือ เราถึงจะอ่านรู้เรื่อง ไม่ใช่แค่เราต้องรู้ภาษาอังกฤษอย่างแตกฉานเราถึงจะฟังฝรั่งเลกเชอร์เรื่องนี้แล้วเก็ท มันไม่ได้เป็นแค่นั้น

          น่าแปลก ความรู้บางอย่างได้จากข้างใน ความรู้บางอย่างมาจากสิ่งที่เรียกว่า Intuition มันคือการหยั่งรู้ อยู่ดีๆ ก็รู้ขึ้นมาโดยไม่รู้ว่ารู้ได้ยังไง มันเป็นของที่ไม่ได้มาจากกระบวนการคิด ไม่ได้มาจากการอ่านหนังสือหรือคุยกับใคร หรือว่าอาจเป็นทั้งหมดนั้นรวมกัน ซึ่งพูดยากมากว่ามาจากไหน ความรู้แบบนี้เป็นความรู้ที่อธิบายได้ยาก มันอยู่ข้างในตัวเรา ไม่ใช่ความรู้ข้างนอก เราฝึกที่จะเก่งเรื่องนี้ได้ อันนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งว่ามันมีวิธีเหมือนกันที่เราจะเติบโตทางจิตวิญญาณหรือเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ของตัวเอง หาความหมายของชีวิตได้โดยอยู่ในสังคมหรือประเทศที่ระบบการศึกษาต่างๆ ไม่ได้เอื้อ จริงๆ แล้วมนุษย์มีโครงสร้างบางอย่างของความเป็นมนุษย์ที่คล้ายๆ กัน และความรู้ที่อาจจะสำคัญกว่าความรู้ข้างนอกคือความรู้ข้างใน

ฉันคือ ‘ผู้เยียวยา’ อันธิฌา แสงชัย เพราะการค้นพบตนเองคือทักษะและการเรียนรู้
Photo : คชรักษ์ แก้วสุราช

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก