ประวัติศาสตร์การแปลฉบับย่อ

189 views
10 mins
February 12, 2024

          คุณคงมีโอกาสได้สัมผัส ‘งานแปล’ มาอยู่บ้าง เพราะผลิตผลของการแปลอยู่รอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรมเล่มโปรด บทกวีแนวปรัชญา หนังสือเรียนเล่มหนา บทบรรยายไทยของภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์จากต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งคอนเทนต์ในโลกออนไลน์

          มองย้อนไปในอดีต การแปลช่วยให้เกิดการถ่ายทอดความรู้และวัฒนธรรม นักปราชญ์ในแต่ละพื้นที่บันทึกองค์ความรู้ ศิลปวิทยาการซึ่งมีคุณค่าดุจขุมทรัพย์เอาไว้ด้วยภาษาท้องถิ่น นักแปลคือผู้ที่ทำให้ ‘ความรู้’ ในโลกใบนี้เลื่อนไหลและหลอมรวม เกิดการประยุกต์ ต่อยอด และแลกเปลี่ยนอย่างเสรี เป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการกำหนดรูปแบบวัฒนธรรมของพื้นที่ปลายทางการแปล

          ประโยชน์ของการแปลภาษานั้นเด่นชัด แต่เราตระหนักถึงความสำคัญของนักแปลมากน้อยแค่ไหน บทความนี้จะพาคุณเดินทางข้ามผ่านเวลาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อมาสำรวจกันว่า การแปล และบทบาทของนักแปลที่มีต่อโลกใบนี้ มีพัฒนาการอย่างไร

รูปแบบการแปล: เขาแปลกันอย่างไร

          คนที่พูดได้หลายภาษา อาจจะไม่ใช่นักแปลที่ดีก็ได้…

          นักแปลในอดีตหลายท่านกล่าวไว้แบบนี้ เพราะการแปลที่ดีต้องใช้มากกว่าความสามารถทางภาษา ต้องสามารถทำให้ผู้อ่านซึมซับและเข้าใจวัฒนธรรมต้นทาง สมกับคำว่า ‘translation’ ที่มาจากคำว่า ‘translatio’ ในภาษาละติน ซึ่งแปลว่า ‘พาข้าม’

          ในอดีต วิธีการแปล มีทั้งแบบตรงตัว ถอดคำต่อคำโดยรักษาไว้ซึ่งโครงสร้างไวยากรณ์ของงานเขียนต้นทาง และแบบถอดความหมายหรือสรุปใจความแต่ปรับเปลี่ยนการใช้คำและรูปแบบให้เข้ากับบริบทพื้นที่ปลายทาง แต่ละยุคสมัย นักแปลนิยมใช้เทคนิคที่แตกต่างกันไป โดยส่วนมากแล้วงานแปลที่ต้องการความเที่ยงตรงต่อต้นฉบับ หรือเกี่ยวข้องกับความเชื่อ ความศรัทธา เช่น บทความด้านวิทยาศาสตร์ และคัมภีร์ในศาสนาต่างๆ มักจะใช้การแปลตรง

          จนถึงปัจจุบันนี้ ก็ยังมีข้อถกเถียงในแวดวงนักแปล ว่าควรเลือกใช้วิธีการแปลแบบไหนในกรณีใด โดยทั่วไปแล้วหากภาษาและวัฒนธรรมต้นทางและปลายทางมีความใกล้เคียงกัน โอกาสในการแปลตรงแบบคำต่อคำย่อมสูงกว่าการแปลแบบถอดความหมาย ทั้งนี้อยู่ในดุลยพินิจของนักแปล (ร่วมกับบรรณาธิการ หากการแปลงานชิ้นนั้นเกิดขึ้นโดยสำนักพิมพ์)

ยุคโบราณ

          หากเอ่ยถึงงานแปลเก่าแก่ที่เกิดขึ้นในยุคโบราณ ก็ต้องนึกถึงบทกวีของชาวสุเมเรียนที่ว่าด้วยตำนานน้ำท่วมโลก ‘มหากาพย์กิลกาเมช’ ซึ่งถูกแปลไปเป็นภาษาอียิปต์ เมโสโปเตเมีย ซีเรีย อนาโตเลีย และฮีบรู เมื่อประมาณ 2,000 ปีก่อนคริสตกาล และสนธิสัญญาคาเดช (Treaty of Kadesh) สนธิสัญญาสงบศึกระหว่างอียิปต์-ฮิตไทต์ ที่ถูกจัดทำขึ้นในสองภาษา มีอายุเก่าแก่ถึง 1,274 ปีก่อนคริสตกาล

          แต่งานแปลชิ้นสำคัญที่มีคุณูปการต่อประวัติศาสตร์และโบราณคดี อีกทั้งยังเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง คือ ศิลาโรเซตตา (Rosetta Stone) ซึ่งบันทึกกฤษฎีกาเมื่อ 196 ปีก่อนคริสตกาลที่เมืองเมมฟิส ประเทศอียิปต์ เนื้อความถูกสลักลงแท่นศิลาขนาดใหญ่ด้วย 3 ภาษา คืออักขระรูปภาพของอียิปต์โบราณในส่วนบน อักขระดีมอติกโบราณในส่วนกลาง และภาษากรีกโบราณในส่วนล่างสุดของแท่นศิลา

          อักษรภาพอียิปต์โบราณ (Hieroglyphic) เคยถูกเข้าใจว่าเป็นสัญลักษณ์รูปภาพ จนกระทั่งศิลาโรเซตตาถูกค้นพบในปี 1799 ระหว่างที่นโปเลียนเดินทางไปเยือนอียิปต์ นักโบราณคดีจึงสามารถเรียนรู้และเข้าใจอักษรภาพโบราณของชาวอียิปต์ได้ด้วยการเทียบเคียงกับภาษากรีกโบราณ ในปัจจุบันศิลาโรเซตตาจัดแสดงอยู่ที่บริติชมิวเซียม และเป็นหนึ่งในโบราณวัตถุที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในพิพิธภัณฑ์

ประวัติศาสตร์การแปลฉบับย่อ
จารึกมหากาพย์กิลกาเมช แผ่นที่ 11
Photo: © The Trustees of the British MuseumCC BY-NC-SA 4.0

ประวัติศาสตร์การแปลฉบับย่อ
ศิลาโรเซตตาถูกจัดแสดงอยู่ที่ British Museum
Photo: © The Trustees of the British MuseumCC BY-NC-SA 4.0

          ในยุคโบราณ การแปลคัมภีร์ทางศาสนาก็เป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่สำคัญ ผลงานชิ้นแรกๆ คือ ‘เซปตัวจินต์’ พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมของชาวฮีบรูที่ถูกแปลเป็นภาษากรีกเมื่อประมาณ 300 ปีก่อนคริสตกาล ณ เมืองอเล็กซานเดรียแห่งอียิปต์ นักปราชญ์ 70 คนถูกเกณฑ์มาแปลพระคัมภีร์อย่างเป็นเอกเทศในพื้นที่เล็กๆ ของตนเองโดยไม่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน แต่ตำนานกล่าวไว้ว่าพระคัมภีร์ฉบับแปลทั้ง 70 ฉบับนั้นกลับเหมือนกันทุกถ้อยคำอย่างน่าอัศจรรย์

          ในฝั่งพุทธศาสนา กุมารวิชา (Kumāravīja)  พระภิกษุนักปราชญ์ชาวพุทธ แปลพระไตรปิฎกฉบับภาษาสันสกฤตเป็นภาษาจีนและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ผลงานเลื่องชื่อของเขาคือการแปล วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร ของศาสนาพุทธนิกายมหายาน ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง นับว่าเป็นผลงานชิ้นเอกของช่วงศตวรรษที่ 4

          การเผยแผ่พระพุทธศาสนาทำให้เกิดการแปลเอกสารทางศาสนายาวนานติดต่อกันกว่าพันปี ชาวตังกุต (กลุ่มชาติพันธุ์ทิเบต) ใช้เวลาเพียงไม่กี่ทศวรรษในการแปลเอกสารที่ชาวจีนใช้เวลานับหลายร้อยปี เพราะมีการพัฒนาระบบการพิมพ์ และได้รับการสนับสนุนจากรัฐ มีหลักฐานว่าแม้แต่องค์จักรพรรดิและพระมารดาของพระองค์ ทรงแปลเอกสารเหล่านั้นด้วยพระองค์เองไปพร้อมกับนักปราชญ์หลากหลายเชื้อชาติ

          ในยุคนี้ นักแปลนิยมใช้วิธีการถอดความหมายหรือสรุปใจความมากกว่าการแปลตรง ดังที่ ซิเซโร (Cicero) รัฐบุรุษ นักพูด นักกฎหมาย นักปรัชญา และนักแปลภาษากรีก-ละติน กล่าวไว้ว่า

          “ข้าไม่คิดว่าเราจะสามารถแปลคำศัพท์แบบคำต่อคำให้กับผู้อ่านเหมือนกับการนับเหรียญทีละเหรียญได้ ที่ควรทำคือชั่งน้ำหนักรวมของเหรียญทั้งหมดตามความเป็นจริง”

ประวัติศาสตร์การแปลฉบับย่อ
พระไตรปิฎกที่แปลเป็นภาษาจีน โดยพระภิกษุนักปราชญ์ชาวพุทธ
Photo: Public Domain

ยุคกลาง – เพื่อความเชื่อ เพื่อความรู้ เพื่อความบันเทิง

          ในยุคกลางมีการแปลเพื่อถ่ายทอดความรู้อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะเอกสารภาษาละติน ภาษาสากลสำหรับโลกตะวันตกในยุคกลาง ในศตวรรษที่ 9 กษัตริย์อัลเฟรดมหาราช (Alfred The Great) แห่ง อาณาจักรเวสเซกซ์ในอังกฤษ มีรับสั่งให้แปลผลงานชิ้นสำคัญในภาษาละติน เป็นภาษาอังกฤษ ได้แก่ ประวัติศาสตร์คริสตจักรของชาวอังกฤษ (Ecclesiastical History of the English People) ของนักบุญบีด (Bede) และปรัชญาประโลมใจ (The Consolation of Philosophy) ของ โบเอธิอุส (Boethius) งานแปลเหล่านี้ทำให้เกิดพัฒนาการในการเขียนงานร้อยแก้วภาษาอังกฤษขึ้น

ประวัติศาสตร์การแปลฉบับย่อ
ประวัติศาสตร์คริสตจักรของชาวอังกฤษภาษาละติน
Photo: British Library

          เมื่อชาวออตโตมันยึดครองอาณาจักรไบแซนไทน์สำเร็จ ผลงานด้านปรัชญาและวิทยาศาสตร์ในภาษากรีกถูกแปลเป็นภาษาอารบิกอย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดการถ่ายทอดวัฒนธรรมตะวันตกสู่ตะวันออกครั้งสำคัญ ส่วนการถ่ายทอดวัฒนธรรมตะวันออกสู่โลกตะวันตกครั้งใหญ่ เกิดขึ้นที่เมืองโตเลโด แห่งสเปน

          ในช่วงศตวรรษที่ 12 และ 13 นักปราชญ์ชาวยุโรปนิยมเดินทางมาร่วมกันแปลเอกสารภาษาอารบิกเกี่ยวกับปรัชญา ศาสนา วิทยาศาสตร์ และการแพทย์ ให้เป็นภาษาละติน นักแปลกลุ่มนี้ถูกเรียกว่า ‘คณะนักแปลแห่งเมืองโตเลโด’ (The Toledo School of Translators) งานแปลแนววิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ (โหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ เรขาคณิต และการแพทย์) ดึงดูดนักปราชญ์ชาวยุโรปให้เดินทางมาเก็บเกี่ยวความรู้ แล้วกลับไปเผยแผ่ความรู้เหล่านั้นในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่บ้านเกิดของตน

          ในช่วงศตวรรษที่ 13 นอกจากงานวรรณกรรมด้านปรัชญาและศาสนาแล้ว นักปราชญ์ที่โตเลโดยังแปลเอกสารด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์เป็นภาษาคาสติเลียน นับว่าเป็นการแปลที่สร้างรากฐานการพัฒนาภาษาสเปนสมัยใหม่สืบต่อมา

          โรเจอร์ เบคอน (Roger Bacon) นักปราชญ์ชาวอังกฤษในศตวรรษที่ 13 เป็นนักภาษาศาสตร์คนแรกที่เสนอแนวคิดว่า ผลงานจะถึงพร้อมด้วยคุณภาพก็ต่อเมื่อนักแปลมีความเชี่ยวชาญทั้งภาษาต้นทางและปลายทาง รวมถึงศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่แปลด้วย มีเรื่องเล่าสืบต่อมาว่าเมื่อโรเจอร์ค้นพบว่ามีเพียงนักแปลไม่กี่คนที่มีคุณลักษณะแบบนั้น ก็ถึงขั้นถอดใจ ล้มเลิกการเป็นนักแปล และเลิกสนใจงานแปลไปเลยทีเดียว

          ในช่วงศตวรรษที่ 14 เจฟฟรีย์ ชอเซอร์ (Geoffrey Chaucer) นักเขียน กวี นักปรัชญา และนักแปลผู้มีชื่อเสียงของอังกฤษ แปลวรรณกรรมเรื่อง กุหลาบโรมัน (Roman de la Rose) ของโบเอธิอุส (Boethius) ในภาษาละติน และแปลผลงานภาษาอิตาเลียนของนักมนุษยนิยม โจวันนี บอกกัชโช (Giovanni Boccaccio) แล้วดัดแปลงให้เป็นเรื่อง นิทานอัศวิน (A Knight’s Tale) รวมถึง ทรอยลัสและเครสิด้า  (Troilus and Criseyde) ชอเซอร์ได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้ริเริ่มธรรมเนียมการเขียนบทกวีร้อยกรองภาษาอังกฤษ เพราะมีพื้นฐานการแปลวรรณกรรมภาษาละตินและฝรั่งเศส สองภาษาที่มีรากฐานเข้มแข็งกว่าภาษาอังกฤษในยุคนั้น

ประวัติศาสตร์การแปลฉบับย่อ
เจฟฟรีย์ ชอเซอร์
Photo: © National Portrait Gallery, LondonCC BY-NC-ND 3.0

ศตวรรษที่ 15 – เอกสารแนวปรัชญาและศาสนาต้องแปลแบบคำต่อคำ

          ในช่วงเวลานี้ ผู้อ่านเริ่มเรียกร้องให้แปลผลงานของเพลโตและพระวจนะของพระเยซูแบบตรงตัว ถอดคำต่อคำอย่างเข้มงวด (รวมถึงผลงานของอริสโตเติล และนักปราชญ์ท่านอื่นๆ ด้วย) ซึ่งความต้องการแบบนี้เป็นผลมาจากความนิยมในวิชาปรัชญาและความเชื่อทางศาสนาที่เคร่งครัด

          การเดินทางไปเยือนเมืองฟลอเรนซ์ของนักปรัชญาชาวไบแซนไทน์ เจมิสตัส เพลโธ (Gemistus Pletho) เป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งสถาบันเพลโต (The Platonic Academy) ขึ้น นักปราชญ์และนักแปลชาวอิตาเลียนได้แปลงานของเพลโตเป็นภาษาละตินหลายชิ้น

          ผลงานชิ้นสำคัญในศตวรรษที่ 15 คือ ‘ความตายของกษัตริย์อาเธอร์’ (Le Morte d’Arthur) งานร้อยแก้วภาษาอังกฤษที่เขียนโดยโธมัส มาลอรี (Thomas Malory) ในปี 1485 ซึ่งเกิดจากการรวบรวมเรื่องราวท้องถิ่นทั้งในภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ที่เล่าถึงกษัตริย์อาร์เธอร์ ราชินีกินีเวียร์ อัศวินลานสล็อต พ่อมดเมอร์ลิน และเหล่าอัศวิน มาลอรีแปลและเพิ่มเติมเนื้อหาที่ตนเขียนเองลงไปด้วย เช่น เรื่องราวของ แกเร็ธ หนึ่งในอัศวินโต๊ะกลม

ประวัติศาสตร์การแปลฉบับย่อ
หนังสือ ความตายของกษัตริย์อาเธอร์ ฉบับตีพิมพ์เมื่อปี 2015
Photo: Canterbury Classics

ศตวรรษที่ 16 – สู่การพัฒนาภาษายุโรปสมัยใหม่

          งานเขียนแนวบันเทิงคดีถูกแปลและดัดแปลงอย่างแพร่หลายในช่วงราชวงศ์ทิวเดอร์ และรัชสมัยของพระราชินีอลิซาเบธ นักเขียนเองเริ่มคิดค้นวิธีนำเสนอแบบใหม่ๆ เมื่อชนชั้นกลางเพิ่มจำนวน กอปรกับธุรกิจการพิมพ์เจริญรุ่งเรืองขึ้น กวีและนักแปลจึงอยากให้นักอ่านหน้าใหม่ได้มีโอกาสอ่านผลงานจากบทประพันธ์ต่างภาษา

          การแปลพระคัมภีร์ชิ้นสำคัญในศตวรรษที่ 16 คือ ‘พระคัมภีร์ใหม่ของทินเดล’ (ปี 1515) โดยนักปราชญ์ชาวอังกฤษ วิลเลียม ทินเดล (William Tyndale) นักแปลคนแรกแห่งยุคทิวเดอร์ หลังจากแปลพระคัมภีร์ใหม่จนเสร็จสมบูรณ์ เขาก็เริ่มแปลพระคัมภีร์เดิมต่อ แต่แปลได้เพียงครึ่งเดียวก็ถูกตัดสินประหารชีวิตเสียก่อน เพราะเขาเป็นแกนนำสำคัญในขบวนการโปรเตสแตนต์ หลังจากล่วงลับไปแล้ว หนึ่งในผู้ช่วยของเขาจัดการแปลพระคัมภีร์เดิมต่อจากที่ค้างเอาไว้จนสำเร็จ พระคัมภีร์แปลอังกฤษฉบับทินเดลเป็นเวอร์ชันแรกที่ถูกนำไปตีพิมพ์เผยแพร่เป็นจำนวนมาก

          มาร์ติน ลูเธอร์ (Martin Luther) ศาสตราจารย์ด้านศาสนวิทยาชาวเยอรมัน และบุคคลสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการปฏิรูปคริสต์ศาสนา ได้แปลพระคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาเยอรมันในช่วงท้ายของชีวิต ซึ่งพระคัมภีร์ฉบับนี้มีอิทธิพลต่อคริสต์ศาสนาสืบต่อมา เขาเป็นคนแรกที่กล่าวว่า “นักแปลจะแปลอย่างมีความสุขก็ต่อเมื่อได้แปลบทความจากต่างภาษามาเป็นภาษาของตนเอง” คำพูดของเขากลายมาเป็นหลักการแปลยอดนิยมในสองศตวรรษให้หลัง

          การตีพิมพ์พระคัมภีร์ฉบับลูเธอร์ และการแปลพระคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาโปแลนด์ อังกฤษ ดัตช์ ฝรั่งเศส สเปน เช็ก และสโลวีเนีย ล้วนเป็นแรงผลักดันให้เกิดการใช้ภาษาท้องถิ่นในคริสต์ศาสนา และนำไปสู่พัฒนาการของภาษายุโรปสมัยใหม่ในภายหลัง

ประวัติศาสตร์การแปลฉบับย่อ
วิลเลียม ทินเดล
Photo: © National Portrait Gallery, LondonCC BY-NC-ND 3.0
ประวัติศาสตร์การแปลฉบับย่อ
มาร์ติน ลูเธอร์
Photo: Public Domain

ศตวรรษที่ 17 – เริ่มมีหลักการแปลที่หลากหลาย

          ในช่วงกลางศตวรรษที่ 17 นักแปลเริ่มแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับวิถีทางในการแปลของตนเอง นักเขียนและนักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส จิลส์ เมนาเจ (Gilles Ménage) ได้ประดิษฐ์คำว่า ‘หญิงงามแพศยา’ (belles infidèles – beautiful unfaithful) เพื่อใช้เปรียบเทียบ ‘การแปล’ กับ ‘ผู้หญิง’ ที่จะมีความสัตย์ซื่อหรือความสวยงามได้เพียงหนึ่ง ไม่มีทางที่จะมีทั้งสองคุณสมบัติควบคู่กันไป นั่นหมายถึง ถ้าจะแปลให้ตรงความหมาย ก็อาจจะไม่ได้บทความที่สละสลวย

          กวีและนักแปลชาวอังกฤษ จอห์น ดรายเดน (John Dryden) แปลผลงานของ เวอร์จิล (Vergil) กวีชาวโรมัน โดยใช้สำนวนประหนึ่งผู้ดีชาวอังกฤษ แตกต่างจากสไตล์ ‘ลุ่มลึกแต่กระชับ’ ตามแบบฉบับโรมัน เขาเชื่อว่าการแปลคือการผสมผสานเทคนิคแปลตรงตัวกับการถอดความหมายให้เหมาะสม ถ้าบทความต้นทางใช้ภาษาที่สละสลวย ผู้เขียนคงจะรู้สึกเจ็บปวดหากต้องสูญเสียความงดงามไพเราะไปหลังการแปล แต่สิ่งที่ฟังดูดีในภาษาหนึ่ง อาจจะฟังดูแย่ในอีกภาษาก็เป็นได้ ไม่มีเหตุผลที่จะจำกัดให้นักแปลเลือกใช้คำศัพท์ที่ตรงตามต้นฉบับเท่านั้น เลือกคำที่สมเหตุสมผลก็พอแล้ว

          แม้ดรายเดนจะไม่นิยมการแปลตรงแบบคำต่อคำ แต่เขาก็ไม่ได้เห็นดีเห็นงามกับการดัดแปลงบทประพันธ์แต่อย่างใด “เมื่อศิลปินวาดภาพเหมือน เขาไม่มีสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ของต้นแบบ”

          ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 17 หลักของการแปลในอุดมคติ 2 ข้อ คือ ความเที่ยงตรงต่อต้นฉบับ (Faithfulness) ซึ่งหมายถึงการแปลที่รักษาความหมายของผลงานต้นทางโดยไม่มีการบิดเบือน ดัดแปลงข้อมูล และให้ความสำคัญกับคุณลักษณะของผลงาน และ ความเข้าใจง่าย (Transparency) ซึ่งหมายถึงการแปลที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกเหมือนกำลังอ่านผลงานที่เขียนขึ้นในภาษาของตนเอง ทั้งไวยากรณ์ โครงสร้าง และสำนวน ใช้ภาษาได้อย่างเป็นธรรมชาติ แม้ว่าบางครั้ง หลักการทั้ง 2 ข้อ จะไม่อาจเกิดขึ้นพร้อมกันได้ก็ตาม

ประวัติศาสตร์การแปลฉบับย่อ
จอห์น ดรายเดน
Photo: Public Domain

ศตวรรษที่ 18 – ก่อกำเนิดแนวคิดและหลักการในการแปล

          ในศตวรรษที่ 18 เริ่มมีนักแปลและผู้เชี่ยวชาญศาสตร์ต่างๆ นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการแปลมากขึ้น แต่ยังไม่มีการคำนึงถึงความเที่ยงตรงต่อต้นฉบับมากนัก สิ่งที่นักแปลคำนึงถึง คือความอ่านง่าย สิ่งที่ไม่เข้าใจ หรือคิดว่าจะทำให้นักอ่านรู้สึกเบื่อหน่ายมักจะถูกละไว้ นักแปลเชื่อว่าผลงานต้นทางควรถูกดัดแปลงให้เข้ากับสำนวนของตนเอง แต่มีกรณียกเว้นคือการแปลพระคัมภีร์ไบเบิล ที่ยังคงนิยมการแปลตรงแบบคำต่อคำ

          ในช่วงเวลานั้น เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปในแวดวงการแปลว่านักแปลที่ดีควรเป็นนักอ่านที่ดีด้วย ดังที่นักประวัติศาสตร์ชาวสกอตแลนด์ อเล็กซานเดอร์ เฟรเซอร์ ไทต์เลอร์ (Alexander Fraser Tytler) ได้ย้ำในบทความว่าด้วยหลักการแปล (Essay on the Principles of Translation) ที่เขาได้เขียนขึ้นในปี 1791 ว่า การอ่านให้รู้รอบเป็นประโยชน์ต่อการแปลมากกว่า

          บทความหลังมรณกรรมของ อิกนาซี คราซิตสกี้ (Ignacy Krasicki) นักเขียนสารานุกรม นักประพันธ์ กวี และนักแปลชาวโปแลนด์ ที่ตีพิมพ์ในปี 1803 กล่าวว่า งานแปลเป็นงานศิลปะที่น่ายกย่อง และสร้างสรรค์ด้วยความยากลำบาก ไม่ใช่งานที่คนทั่วไปจะทำได้ และเป็นงานสำหรับบุคคลที่สามารถทำหน้าที่เป็น ‘นักแสดง’ ได้ดี เพราะพวกเขาเหล่านั้นแปลผลงานของนักเขียนอื่นๆ มากกว่าผลิตผลงานของตัวเอง อีกทั้งยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่าชื่อเสียงของตน

ประวัติศาสตร์การแปลฉบับย่อ
อิกนาซี คราซิตสกี้
Photo: Public Domain

ศตวรรษที่ 19 – เกิดมาตรฐานการแปล

          มาตรฐานการแปลในด้านรูปแบบและความเที่ยงตรงต่อต้นทาง เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 เจ เอ็ม โคเฮน (J.M. Cohen) ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า หลักการแปลที่แพร่หลายในศตวรรษที่ 19 คือการแปลตรงเท่านั้น ไม่มีการขยายความหรือดัดแปลงใดๆ ยกเว้นส่วนที่มีข้อความหยาบคาย ผู้แปลสามารถอธิบายเพิ่มเติมได้ด้วยการใช้เชิงอรรถ การแปลแบบคำต่อคำ (metaphrase) จึงทำให้นักอ่านรู้สึกอยู่เสมอว่ากำลังอ่านผลงานที่แปลมาจากภาษาต่างชาติ

          นักปรัชญาและศาสนวิทยาชาวเยอรมัน ฟรีดิช ชไลเออร์มัคเคอร์ (Friedrich Schleiermacher) จำแนกวิธีการแปลออกเป็นสองแบบ แบบแรกคือการพานักเขียนเข้าใกล้นักอ่าน เป็นการแปลแล้วเรียบเรียงให้ผู้อ่านเข้าใจง่าย อีกแบบหนึ่งคือการพานักอ่านเข้าใกล้นักเขียน หมายถึงการคงไว้ซึ่งคุณลักษณะและวัฒนธรรมของต้นฉบับ ชไลเออร์มัคเคอร์นิยมการแปลแบบที่สอง เพราะตัวเขาเองได้รับแรงกระตุ้นจากแนวคิดชาตินิยม

          การจำแนกรูปแบบการแปลออกเป็นสองแบบดังกล่าวมา คือ การแปลตามวัฒนธรรมปลายทาง (Domestication) และการแปลตามวัฒนธรรมต้นทาง (Foreignization) เป็นแรงบันดาลใจให้กับนักทฤษฎีในศตวรรษที่ 20 หลายคน เช่น อองตวน เบอร์แมน (Antoine Berman) และ ลอว์เรนซ์ เวนูที (Lawrence Venuti)

ประวัติศาสตร์การแปลฉบับย่อ
ฟรีดิช ชไลเออร์มัคเคอร์
Photo: Public Domain

          ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เหยียนฟู่ (Yan Fu) นักปราชญ์และนักแปลชาวจีน ได้เสนอว่าองค์ประกอบในการแปลที่สำคัญ คือ

          ความแม่นยำทางภาษา (Faithfulness) คือ เที่ยงตรงต่อภาษาต้นฉบับ

          การสื่อความหมาย (Expressiveness) คือ เป็นที่เข้าใจของนักอ่าน

          ความสละสลวยของภาษา (Elegance) คือ ภาษาที่ใช้อยู่ในระดับที่นักอ่านมองว่าประณีต ทรงภูมิ

          ทฤษฎีของเหยียนฟู่ มาจากประสบการณ์ของเขาเองในการแปลบทความสังคมศาสตร์จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาจีน เขาคิดว่า ระหว่างองค์ประกอบทั้ง 3 นั้น การสื่อความหมายถือว่าสำคัญที่สุด ถ้าผู้อ่านไม่เข้าใจงานแปล ก็ไม่แตกต่างอะไรจากการอ่านผลงานต้นทางโดยไม่ต้องแปล เหยียนฟู่คิดว่า การแปลที่ดีควรมีการสลับลำดับของคำ หรือการแทนค่ากรณีตัวอย่างด้วยกรณีของจีนเอง หรือแม้กระทั่งแทนค่าชื่อภาษาอังกฤษด้วยชื่อจีน เพื่อให้เข้าใจง่าย ทฤษฎีของเหยียนฟู่ส่งอิทธิพลต่อการแปลทั่วโลก และบางครั้งก็ถูกนำไปใช้ในการแปลวรรณกรรม

ประวัติศาสตร์การแปลฉบับย่อ
เหยียนฟู่
Photo: Public Domain

ศตวรรษที่ 20 – เป็นทั้งศิลป์และศาสตร์

          โจเซฟ คอนราด (Joseph Conrad) นักเขียนนิยายลูกครึ่งชาวโปแลนด์-อังกฤษ  เชื่อว่าการแปลก็เหมือนกับงานศิลปะอื่นๆ ที่ต้อง ‘เลือกสรร’ และ ‘ตีความ’ คอนราดได้บอกกับอานีลา หลานสาวที่แปลผลงานของเขาเป็นภาษาโปลิชว่า อย่าเข้มงวดกับการแปลจนเกินไป การสื่อสารกับผู้อ่านสำคัญกว่า ดังนั้น เขาจึงขอให้อานีลาปล่อยให้อารมณ์นำทาง

          นักเขียนเรื่องสั้น บทความและกวี ชาวอาเจนตินา ฆอร์เก ลูอิส บอร์เกส (Jorge Luis Borges) บุคคลสำคัญในวงการวรรณกรรมภาษาสเปน เขาแปลผลงานภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน อังกฤษโบราณ และภาษานอร์ส มาเป็นภาษาสเปน โดยใช้วิธีทั้ง  ‘แปล’ และ ‘ปรับ’ อย่างแยบยล ฆอร์เก เขียนหนังสือและสอนเกี่ยวกับศิลปะแห่งการแปลโดยสอดแทรกความเชื่อของตนเองที่ว่า งานแปลสามารถต่อยอดจากงานต้นฉบับได้ และการแปลที่ถูกปรับให้แตกต่างหรือแย้งกับใจความเดิมก็นับว่าเป็นเรื่องที่ทำได้เช่นกัน

          นักแปลท่านอื่นๆ ยังคงรักษารูปแบบการแปลตรงแบบคำต่อคำ เช่น นักแปลบทความเกี่ยวกับศาสนา ประวัติศาสตร์ บทความวิชาการ หรือบทความวิทยาศาสตร์

          ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 คำว่า ‘ศาสตร์การแปล’ ถูกคิดขึ้นโดยกวีและนักแปล เจมส์ เอส โฮล์มส์ (James S. Holmes) เขาทำงานในตำแหน่งรองศาสตราจารย์ที่ ‘สถาบันการแปลและนักแปล’ (Institute of Interpreters and Translators) ซึ่งในภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘สถาบันการแปลศึกษา’ (Institute of Translation Studies) ที่มหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม และเขียนบทความเกี่ยวกับการแปลอีกหลายชิ้น

ประวัติศาสตร์การแปลฉบับย่อ
โจเซฟ คอนราด
Photo: Public Domain
ประวัติศาสตร์การแปลฉบับย่อ
ฆอร์เก ลูอิส บอร์เกส
Photo: Public Domain
ประวัติศาสตร์การแปลฉบับย่อ
เจมส์ เอส โฮล์มส์
Photo: Thor NL (Tom Ordelman), CC BY-SA 3.0, via Wikimedia Commons/ Cropped from original

ศตวรรษที่ 21 – ความท้าทายของนักแปลในยุคดิจิทัล

          แม้ผู้คนจะสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลในภาษาอื่นได้สะดวกง่ายดายมากขึ้น แต่นักแปลก็ยังมีบทบาทสำคัญในการกำหนดรูปแบบภาษาไม่ต่างจากในอดีต เมื่อภาษาปลายทางไม่มีคำศัพท์ที่สามารถอธิบายความหมายได้ การยืมคำศัพท์ในภาษาต้นทางมาใช้จะทำให้เกิดวิวัฒนาการของภาษา

          หนังสือเรื่อง ‘ความไร้ตัวตนของนักแปล: ประวัติศาสตร์การแปล’ (The Translator’s Invisibility: A History of Translation) โดย ลอว์เรนซ์ เวนูที (2008) กล่าวถึงบทบาทของนักแปลในการสร้างประวัติศาสตร์  การแปลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในวงการวรรณกรรมยุโรป ทำให้เกิดวิวัฒนาการของทฤษฎีด้านวรรณกรรม และมีอิทธิพลต่อทัศนะของคนในสังคมที่มีต่อวัฒนธรรมต่างประเทศ หากนักแปลยังคงต้องการจะให้เกิดผลลัพธ์ในวงกว้างดังที่กล่าวมา ก็คงจะต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดในการแปลที่ยึดวัฒนธรรมปลายทางเป็นตัวตั้ง เปิดใจรับวัฒนธรรมต่างชาติผ่านการแปล หนังสือเล่มนี้ถูกกล่าวถึงและเป็นที่ถกเถียงในวงการการแปลอยู่ไม่น้อย

          การพัฒนาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทำให้เกิดบริการด้านการแปล ซอฟต์แวร์แปลภาษาใหม่ๆ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของอาสาสมัครนักแปลองค์กรใหญ่ที่ไม่คิดค่าใช้จ่าย (และการแปลผ่านระบบคราวด์ซอร์ส) ซึ่งก่อปัญหาให้นักแปลหลายประการ เช่น ค่าตอบแทนที่ลดลง ไม่คุ้มค่ากับสภาวะการทำงานที่ยากขึ้น

          นักแปลคืออาชีพที่ต้องการความรู้เฉพาะ คนที่พูดได้คล่องแคล่วสองภาษายังต้องการทักษะที่มากกว่านั้นในการเป็นนักแปลที่ดี นี่คือสิ่งที่เชื่อและยึดถือกันมาตั้งแต่ยุคกลางจนถึงหลายศตวรรษต่อมา แต่ในปัจจุบันนี้กลับไม่เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว จากที่เคยถูกยกย่องว่าเป็นบุคคลสำคัญควบคู่ไปกับนักประพันธ์และนักปราชญ์มานานถึง 2 สหัสวรรษ นักแปลเริ่มไร้ตัวตนมากขึ้นในศตวรรษที่ 21

ประวัติศาสตร์การแปลฉบับย่อ
  หนังสือ ความไร้ตัวตนของนักแปล: ประวัติศาสตร์การแปล เขียนโดย ลอว์เรนซ์ เวนูที
Photo: Routledge

คนสำคัญที่ล่องหน?

          นักอ่านอาจจะรู้จักและจดจำนักประพันธ์หรือคอลัมนิสต์ที่ชื่นชอบได้เป็นอย่างดี แต่สำหรับงานแปลแล้ว จะมีนักอ่านสักกี่คนที่จำได้ว่าใครเป็นผู้แปล หากประทับใจผลงานชิ้นนั้นๆ คำชื่นชมมักจะถูกส่งผ่านไปถึงผู้เขียนในต่างภาษาเลยเสียมากกว่า

          ไม่นานมานี้ มีกรณีที่ หวังอี้หลิน (Wang Yilin) นักเขียน นักแปล จากแคนาดา ร้องเรียนว่าบริติชมิวเซียมนำผลงานแปลของตนไปเป็นคำอธิบายนิทรรศการโดยไม่ให้เครดิต ประเด็นนี้นำมาสู่คำถามต่อเนื่องที่ว่า อาชีพ ‘นักแปล’ มีตัวตนพอที่จะคงสถานะการเป็น ‘ศิลปิน’ เทียบเท่านักสร้างสรรค์อื่นๆ หรือไม่ เพราะเธอคิดว่าการแปลผลงานชิ้นหนึ่ง ก็ใช้เวลาเทียบเท่ากับการสร้างผลงานใหม่ แต่ชื่อของนักแปลมักจะเลือนหายไปจากปกหนังสือ และนักแปลหลายคนยังไม่ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรมด้วยซ้ำ

ประวัติศาสตร์การแปลฉบับย่อ
หวังอี้หลิน
Photo: Yilin Wang

          เมื่อมองย้อนดูแวดวงการแปลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความคิดเห็นของนักแปลจากงานเสวนาต่างๆ ทำให้พอจะสรุปสถานการณ์ของนักแปลในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงได้ว่า

          “เป็นงานที่เกิดจาก ‘ความรัก’ แต่อาจจะไม่พอที่จะ ‘สร้างรายได้’ ให้ดำรงชีพอยู่ได้ด้วยการแปลเพียงอาชีพเดียว”

          นักแปลหลายท่านกล่าวไว้อย่างนั้น การแปลวรรณกรรมแต่ละเล่มใช้ทั้งเวลา และการอุทิศตนอย่างสูง นักแปลต้องค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องที่ต้องการจะแปล เพื่อให้เลือกใช้คำได้ถูกต้องตามบริบท และยิ่งไปกว่านั้น นักแปลในปัจจุบันต้องระมัดระวังการใช้ถ้อยคำที่อาจจะ ‘อ่อนไหว’ ต่อกลุ่มต่างๆ ในสังคม ทั้งประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ การแปลกแยกทางวัฒนธรรม

          โดยส่วนมากแล้ว นักแปลที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้เรื่อยๆ มักจะมีแหล่งรายได้จากช่องทางอื่น หรือประกอบอาชีพอื่นโดยมีงานแปลเป็นงานอดิเรก เพราะระยะเวลาที่ใช้ในการแปลแต่ละเล่มไม่ใช่น้อย และค่าตอบแทนก็ไม่ได้มากพอที่จะใช้จ่ายได้อย่างพอเพียง ปัญหานี้เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ

          จากอดีตถึงปัจจุบันนักแปลมีบทบาทสำคัญต่อสังคมเสมอมาในฐานะประตูเชื่อมวัฒนธรรม แต่ในวันนี้ตัวตนกลับเลือนหายไปจากวงการหนังสือ นักแปลจากหลากหลายพื้นที่ออกมาเรียกร้องให้วงการหนังสือและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หันมามองเห็นคุณค่าและตัวตนนักแปลให้มากขึ้น แล้วเราควรจะทำอย่างไร เพื่อให้นักแปลมีที่ทางอย่างสะดวกสบาย ไม่จำเป็นต้องเสียเลือดหรือเฉือนเนื้อเพียงเพื่อจะได้ทำงานที่ ‘ใจรัก’ แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร 

          จากวันนี้ถึงวันข้างหน้า บทบาทและชีวิตของนักแปลจะเป็นอย่างไร มีโอกาสได้รับการสนับสนุนมากน้อยแค่ไหน คงต้องตั้งคำถามเอาไว้ ฝากให้ช่วยกันคิดต่อ 


ที่มา

บทความ “‘Translation is an art’: why translators are battling for recognition” จาก theguardian.com (Online)

บทความ “A Short History of Translation and Translators” จาก marielebert.wordpress.com (Online)

บทความ “Translation: An Underappreciated Profession” จาก translationexcellence.com (Online)

Cover Photo: Domenico Ghirlandaio, CC BY 3.0, via Wikimedia Commons/ Cropped from original

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก