The Laundromat Project: เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้เป็นเพื่อนบ้าน เติมชีวิตให้ย่านด้วยศิลปะใน ‘ร้านซักรีด’

143 views
8 mins
November 13, 2023

          เมื่อย่านที่เราเติบโต พักผ่อน และเป็นจุดสตาร์ทกิจกรรมในทุกๆ วัน มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เมื่อนั้นเราอาจพบว่าความเชื่อมโยงระหว่างเรา พื้นที่ และเพื่อนบ้านย่านเดียวกันค่อยๆ ลดน้อยลงไปทุกที จนบางครั้ง การ ‘ซักผ้า’ กิจกรรมแสนหน่ายที่ใครก็เลี่ยงไม่ได้ อาจเป็นกิจกรรมเพียงไม่กี่อย่างที่ตัวเราและเพื่อนบ้านในละแวก (ไม่ว่าจะรู้จักหรือไม่รู้จัก) ต้องทำเหมือนๆ กัน

          เศรษฐกิจจะดีจะแย่ ต้องเผชิญโรคระบาดอีกกี่ครั้ง หรือรัฐบาลจะเป็นใคร การซักผ้าจะรวมใจเราไว้เสมอ  

          แม้อ่านแล้วจะคล้ายเป็นความคิดเชิงตัดพ้อ แต่ในโลกนี้มีบางพื้นที่ที่การซักผ้าเชื่อมโยงผู้คนไว้ได้จริงๆ ทั้งยังขยายผลอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ไล่ไปตั้งแต่การสร้างความสัมพันธ์อันดี สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของให้คนในย่าน และสร้างกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของคนได้ด้วย 

          เรากำลังพูดถึง The Laundromat Project (LP) องค์กรศิลปะที่ก่อตัวขึ้นในมหานครนิวยอร์ก องค์กรนี้เริ่มต้นจากการเป็นโปรเจกต์เล็กๆ ที่มีจุดมุ่งหมายในการเปลี่ยน ‘คนแปลกหน้า’ ในย่านเดียวกันให้กลายเป็น ‘เพื่อนบ้าน’ โดยมีศิลปะและ ‘ร้านซักรีด’ เป็นสื่อกลาง และมาพร้อมสโลแกนเก๋ๆ ว่า wash clothes, make art, build community

           แม้จะได้ชื่อว่าเป็นองค์กรศิลปะ แต่จริงๆ แล้ว The Laundromat Project ทำงานในพื้นที่ที่มีความท้าทายไม่น้อย นั่นคือย่านชาวผิวดำในเมืองใหญ่ที่เผชิญการเปลี่ยนแปลง สืบเนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมือง จำนวนประชากรที่เคยอาศัยอยู่เดิมจึงค่อยๆ ลดน้อยลง พร้อมกับความน่าหวั่นใจว่าเรื่องราวและความทรงจำที่ผูกติดกับคนในย่านจะค่อยๆ เลือนรางไปตามการเปลี่ยนแปลง และความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนรังแต่จะห่างเหินขึ้นทุกที อีกทั้งยังต้องเผชิญกับการแปะป้ายว่าเป็นย่าน ‘อันตราย’ มาอย่างยาวนาน

           แต่แทนที่โจทย์ท้าทายเหล่านี้จะทำให้ The Laundromat Project หมองหม่น มดงานในองค์กรกลับซัก-ขยี้-แขวน-ตากความเป็นชุมชนด้วยวิธีการสร้างสรรค์ ก่อนจะค่อยๆ ขยายตัวจนปัจจุบันกลายเป็นองค์กรอายุเกือบสองทศวรรษที่รวมผู้คนอันหลากหลายไว้ และมีกิจกรรมดีๆ อย่างต่อเนื่องให้ผู้คนช่วยกันสร้างการเปลี่ยนแปลงให้พื้นที่ของพวกเขาเอง

The Laundromat Project: เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้เป็นเพื่อนบ้านเติมชีวิตให้ย่านด้วยศิลปะใน ‘ร้านซักรีด’
Photo: The Laundromat Project
The Laundromat Project: เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้เป็นเพื่อนบ้านเติมชีวิตให้ย่านด้วยศิลปะใน ‘ร้านซักรีด’
Photo: The Laundromat Project

ซักครั้งที่ 1 : คลี่ดูเนื้อผ้า ทำไมต้องมี The Laundromat Project

          The Laundromat Project จุดประกายขึ้นครั้งแรกในปี 2005 ณ เบดฟอร์ด-สตุยเวแซนต์ (Bedford-Stuyvesant) ย่านบรูคลิน โดยผู้ก่อตั้งที่ชื่อว่า รีเซ่ วิลสัน (Risë Wilson) ในเวลานั้นเธอได้ลาออกจากงานประจำ และความรักในศิลปะก็ทำให้เธอคิดริเริ่มสร้าง ‘ร้านซักรีด’ ที่มีศิลปินเวียนมาจัดแสดงงานและทำเวิร์กชอปให้กับผู้ชมที่ขนผ้ามาซัก (ซึ่งต้องรอผ้าแห้งอยู่แล้ว)

          สาเหตุที่ต้องเป็น ‘ร้านซักรีด’ ก็เพราะมันเป็นศูนย์รวมของผู้คนหลากหลายแบบ ยิ่งในเมืองนิวยอร์กที่ความเจริญแทรกซึมอยู่ทุกหนแห่ง ตึกรามบ้านช่องแน่นขนัด ผู้คนมักใช้ชีวิตในอาคารสูง พวกเขาก็จำต้องใช้บริการร้านซักรีดเพราะต่างไม่มีพื้นที่เพียงพอจะซักผ้าในที่พักอาศัยของตัวเอง ดังนั้น คนต่างอายุ เชื้อชาติ และความสนใจ แม้กระทั่งผู้คนที่ปกติไม่น่าจะผ่านมาพบกัน จึงได้แวะเวียนมาพบกันที่นี่

          “ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ผู้คนก็ต้องซักผ้า ร้านซักรีดเลยกลายเป็นพื้นที่สาธารณะประเภทหนึ่งไปโดยพฤตินัย” นี่คือไอเดียที่วิลสันระบุไว้ในเว็บไซต์ของ The Laundromat Project และในภายหลังหลักการดังกล่าวก็คล้ายเป็นคำอุปมาและหัวใจสำคัญขององค์กร นั่นคือการรวมผู้คนไว้ในพื้นที่สาธารณะที่พวกเขาต้องผ่านไปผ่านมาอยู่ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะ พลาซ่า ทางเดินริมถนน ไปจนถึงสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น

          ความท้าทายที่เกิดขนานไปกับโปรเจกต์ซักรีดคือปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงที่หลายเมืองในโลกต้องเผชิญ นั่นคือ Gentrification หรือการที่เมืองเมืองหนึ่งเริ่มขยายตัว มูลค่าของสิ่งต่างๆ ในพื้นที่ รวมไปถึงค่าที่ดินหรือราคาบ้านเรือนเริ่มพุ่งสูง จนเหล่าผู้คนที่อาศัยอยู่เดิมเริ่มย้ายออกจากพื้นที่ไป

          ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา มหานครนิวยอร์กเติบโตและมีผู้อาศัยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ผู้อยู่อาศัยที่เป็นชาวผิวดำกลับมีจำนวนลดลงกว่า 125,000 คน อย่างในพื้นที่เบดฟอร์ด-สตุยเวแซนต์ ที่โปรเจกต์ซักรีดถือกำเนิดขึ้น การสำรวจสำมะโนประชากรก็ระบุว่ามีประชากรผิวดำลดน้อยลงกว่า 22,000 คน ขณะที่มีคนผิวขาวมากถึง 30,000 คนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา 

          เมื่อเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีปัญหาความแตกต่างของเชื้อชาติและวัฒนธรรมอยู่แล้วเป็นทุนเดิม พื้นที่ดังกล่าวก็อาจกลายสภาพเป็น ‘บ้าน’ ที่เจ้าบ้านอยู่กันอย่างคับอกคับใจและเกิดความเหินห่างระหว่างชนชั้น หรือระหว่างเจ้าบ้านเดิมและเจ้าบ้านหน้าใหม่มากยิ่งขึ้น นั่นยิ่งทำให้การรวมตัวกันเพื่อสร้างความเป็นเพื่อนบ้าน การสร้างความรู้สึกของการเป็นชุมชนที่ยังมีเรื่องราวของผู้คนดั้งเดิมอบอวลไปพร้อมการเปลี่ยนแปลง กลายเป็นเรื่องสลักสำคัญไปด้วย

          วิลสันริเริ่ม The Laundromat Project ด้วยกิจกรรมน่ารักๆ อย่างการสร้างยานพาหนะประดิษฐ์ ที่มีลักษณะคล้ายบอร์ดแปะผลงาน เพื่อขนงานศิลปะไปตามพื้นที่ที่มีคนมารวมตัวกัน และเฟ้นหางานของศิลปิน โดยเฉพาะศิลปินในพื้นที่มาสร้างผลงานขึ้นในร้านซักรีด เพราะเธอเชื่อว่า ‘ศิลปะ’ เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้และขับเคลื่อนของคนผิวดำมาโดยตลอด

The Laundromat Project: เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้เป็นเพื่อนบ้านเติมชีวิตให้ย่านด้วยศิลปะใน ‘ร้านซักรีด’
Photo: The Laundromat Project
The Laundromat Project: เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้เป็นเพื่อนบ้านเติมชีวิตให้ย่านด้วยศิลปะใน ‘ร้านซักรีด’
Photo: The Laundromat Project

ซักครั้งที่ 2 : ศิลปะที่สะท้อนพื้นที่และความหลากหลายของผู้คน

          ในพื้นที่ที่มีประชากรคนผิวดำอาศัยอยู่มาก ภาพจำหรือ ‘มายาคติ’ ที่มักจะพ่วงมาด้วย คือภาพของการเป็นย่านอันตรายที่เปรอะเปื้อนไปด้วยอาชญากรรม ซึ่งประเด็นดังกล่าวมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นผลพวงของ ‘การเหยียดเชื้อชาติ’ และบางครั้งมายาคติดังกล่าวก็ปรากฏเป็นรูปธรรมผ่านความเหลื่อมล้ำในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

          มีการสำรวจที่พบว่าคนผิวสี–โดยเฉพาะคนผิวดำ–มักจะถูกดำเนินคดีทางอาญา และถูกคุมขังโดยระบบกฎหมายอย่างไม่สมสัดส่วน กล่าวให้เห็นภาพกว่านั้นคือ ในการจับกุม ข้อกล่าวหา และการตัดสินลงโทษ คนผิวดำจะได้รับการปฏิบัติที่รุนแรงกว่าคนผิวขาวมาก เช่น ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา แมนฮัตตัน ซึ่งเป็นย่านที่ร่ำรวยที่สุดและมีความเหลื่อมล้ำสูง ศาลได้ตัดสินลงโทษคนผิวสีในความผิดทางอาญาและการก่ออาชญากรรมในอัตราที่มากกว่าคนผิวขาวถึง 21 เท่า หรือในบรูคลิน ซึ่งเป็นเทศมณฑลที่ใหญ่ที่สุดในรัฐ คนผิวดำถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานก่ออาชญากรรมและลหุโทษในอัตราประมาณ 7 เท่าของคนผิวขาว

           เมื่อพื้นที่ของคนผิวดำมีคราบเปรอะเปื้อนที่ถูกแปะป้ายไว้เช่นนี้ การขยี้คราบภาพจำให้จางลง และมอบภาพอันสดชื่นให้กับย่านอีกครั้ง จึงกลายเป็นภารกิจหนึ่งที่นอนรอ The Laundromat Project ไปโดยปริยาย

           The Laundromat Project เลือกใช้ศิลปะเป็นสื่อกลางในการเสริมพลังผู้คน และเชื่อมโยงคนที่มีความแตกต่างหลากหลายไว้ด้วยกัน และหากมองเทียบเคียงไปกับประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อสิทธิของคนผิวดำ จะพบว่าการสร้างศิลปะบนพื้นที่สาธารณะแบบนี้ ถือเป็นทำนองที่คลอเคล้าไปกับเนื้อหาประวัติศาสตร์ของคนผิวดำในอเมริกาอย่างไพเราะ เพราะตลอดเส้นทางการต่อสู้ของคนผิวดำที่ปะปนไปด้วยความเจ็บปวด การกดขี่ ไปจนถึงโศกนาฏกรรมที่เกิดจากการเหยียดเชื้อชาตินั้น ดอกผลของความคิดสร้างสรรค์กลับผุดขึ้นอย่างงดงาม ไม่ว่าจะเป็นแนวดนตรี ศิลปะการเต้นรำ ไปจนถึงผลงานศิลปะรูปแบบอื่นๆ และมักเกิดขึ้นตามท้องถนน ในพื้นที่ที่มีผู้คนอาศัยใช้ชีวิต ไม่ใช่ในพิพิธภัณฑ์หรือโรงละครการแสดงแต่อย่างใด

           จากโปรเจกต์เล็กๆ จึงค่อยๆ ก่อตัวอย่างเข้มแข็ง และตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมามีผู้คนที่เชื่อในสิ่งเดียวกันกับวิลสันเข้ามาเป็นคณะกรรมการและทีมงานในองค์กร ทั้งยังขยายกิจกรรมไปในพื้นที่คนดำย่านอื่นๆ เช่น ฮาร์เลมและเซาท์บรองซ์

           The Laundromat Project ให้ความสำคัญกับความหลากหลาย ไม่ว่าจะทั้งในแง่กิจกรรม ผลงานศิลปะ ศิลปินที่มาเข้าร่วม ไปจนถึงการบริหารองค์กร

          “พวกเขาเป็นคนหลายเชื้อชาติ และมีความเชี่ยวชาญหลายด้าน เช่น จิตรกร ผู้สร้างภาพยนตร์ นักเต้น นักเขียน ศิลปินเสียง นักบำบัดชุมชน และคนหลากหลายอายุ 

          “สิ่งเหล่านี้เป็นวิธีที่เราจะเชื่อมโยงผู้คนประเภทต่างๆ เข้าด้วยกัน และตั้งคำถามว่าเราจะสนทนากันอย่างไรเกี่ยวกับการแบ่งเขตชุมชน การเข้าถึงอาหาร คุณภาพการศึกษา ประเด็นด้านความปลอดภัย ไม่ใช่ว่าการสนทนาเหล่านั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีเรา แต่ศิลปะสามารถสัมผัสหัวใจและความคิดในแบบที่การพูดคุยเชิงข้อมูลไม่สามารถทำได้” นี่คือหลักใหญ่ใจความที่ เคมี่ เลอซานมี่ (Kemi Ilesanmi) คณะกรรมการของ The Laundromat Project อธิบาย

          โครงการหนึ่งที่เริ่มมาตั้งแต่ก้าวแรกๆ และยังสืบเนื่องมาจนปัจจุบันคือ โครงการศิลปินในพำนัก (artist residency) ที่ใช้ชื่อว่า Create Change เป็นการระดมทุนและเชิญชวนให้ศิลปินมาทำงานศิลปะในพื้นที่ โดยส่วนมากแล้วงานศิลปะที่เกิดขึ้นมักเป็นงานที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้คน และยังคงตามคอนเซปต์ดั้งเดิมที่งานศิลปะแทรกอยู่ในที่ต่างๆ ของชีวิตประจำวัน พูดง่ายๆ ว่าหากผู้คนในย่านบังเอิญเดินผ่านไปที่ไหน ก็สามารถร่วมสร้างผลงานกับศิลปินหรือเป็นส่วนหนึ่งของมันได้

          เช่น โปรเจกต์ที่ชื่อ The Dirty Laundry Line ของศิลปินหญิงผิวดำ เทรซี วอร์ลีย์ (Tracee Worley) เธอทำป้ายโฆษณา ‘สายด่วน’ โทรศัพท์และนำไปแปะไว้ตามร้านซักรีดในย่าน เพื่อเป็นการเชิญชวนให้ผู้พบเห็นโทรไป ‘ระบาย’ เรื่องใดก็ได้เกี่ยวกับย่านให้เธอฟังโดยไม่ต้องระบุชื่อ และไม่มีการบันทึกข้อความ ชื่อของโปรเจกต์นี้ก็ถูกคิดให้ล้อไปกับความเป็นร้านซักรีด และเปรียบเทียบเรื่องราวของผู้คนที่โทรเข้าไปเป็น ‘ผ้าที่ยังไม่ซัก’ ที่รอการระบายและซักล้างจนสะอาดเอี่ยม

The Laundromat Project: เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้เป็นเพื่อนบ้านเติมชีวิตให้ย่านด้วยศิลปะใน ‘ร้านซักรีด’
Photo: The Laundromat Project

           หรืองานของศิลปินชายผิวดำชื่อ ฮอลลิส คิง (Hollis King) ที่พาตัวเองไปอยู่ในร้านซักรีดแห่งหนึ่งในย่านฮาร์เลม และเชิญชวนให้ผู้คนที่เข้ามาใช้บริการนำมือถือหรือกล้องถ่ายรูปมา เพื่อที่ตัวเขาจะได้สอนให้คนเหล่านั้นถ่ายภาพให้เก๋และสวยงามขึ้น กิจกรรมนี้ยังทำให้เขาได้แลกเปลี่ยนบทสนทนากับผู้ที่แวะเวียนมาเรียนถ่ายรูปกับเขาอีกด้วย

          นอกจากกิจกรรมที่เกิดจากโครงการของศิลปินในพำนัก ก็ยังมีโครงการอื่นๆ ที่มีแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของคนผิวดำในพื้นที่ และเป็นโปรเจกต์ที่นำไปสู่การถกเถียงประเด็นทางสังคม หรือประเด็นที่จะช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของย่านให้ดีขึ้น

          โปรเจกต์ Home is in the Stories เป็นโครงการที่จัดแสดงภาพถ่ายบุคคล โดยผู้ที่มาเข้าร่วมกิจกรรมจะถูกถ่ายรูปและถูกชวนพูดคุยถึงประสบการณ์ในการ ‘จัดบ้าน’ รวมถึงมุมมองในการเป็นคนผิวดำในพื้นที่ กิจกรรมนี้เป็นการบันทึกเรื่องราวของย่านคนดำ และทำให้ผู้คนได้รับฟังเสียงของผู้อยู่อาศัย เสมือนเป็นการบอกเล่าความเป็นย่านผ่านปากคำของคนผิวดำเองโดยปราศจากมายาคติจากมุมมองของคนนอกพื้นที่ 

          บทสนทนาที่เกิดขึ้นใน Home is in the Stories ยังรวมไปถึงประเด็นทางสังคมสำคัญๆ อย่างนโยบายและการดูแลคนผิวดำ ไปจนถึงภาพอนาคตที่พวกเขาอยากให้เกิดกับ ‘บ้าน’ หรือย่านของพวกเขา

The Laundromat Project: เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้เป็นเพื่อนบ้านเติมชีวิตให้ย่านด้วยศิลปะใน ‘ร้านซักรีด’
Photo: The Laundromat Project

          อีกโปรเจกต์ที่น่าสนใจมีชื่อว่า Radical Mapping เริ่มต้นจากแนวคิดที่ว่าการทำ ‘แผนที่’ เป็นส่วนสำคัญในการกำหนดสิ่งต่างๆ ในชีวิตมนุษย์ ทั้งประวัติศาสตร์ ความทรงจำ และยังเป็นเครื่องมือที่ในอดีตเคยถูกใช้เพื่อขีดแบ่งเขตแดน แยกชีวิตของผู้คนออกตามเชื้อชาติ ภาษา พวกเขาจึงรวบรวมศิลปิน นักประวัติศาสตร์ ผู้สร้างแผนที่ ผู้นำท้องถิ่น รวมถึงสมาชิกในชุมชนคนผิวดำ มาแบ่งปันไอเดียและวิธีการทำแผนที่ที่สามารถบันทึกเรื่องราวของพวกเขาเอง ใช้กระบวนการเหล่านี้สร้างแผนที่ทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่เกิดจากการมีส่วนร่วมจากสมาชิก สร้างความหมายให้กับท้องถิ่นหรือชุมชนผ่านกระบวนการเหล่านี้

The Laundromat Project: เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้เป็นเพื่อนบ้านเติมชีวิตให้ย่านด้วยศิลปะใน ‘ร้านซักรีด’
Photo: The Laundromat Project

          เราจะเห็นว่าหลายกิจกรรมของ The Laundromat Project เน้นการมีส่วนร่วม และที่สำคัญคือเน้นการเก็บหลักฐานทางประวัติศาสตร์เพราะพวกเขามีความมุ่งมั่นที่จะ write their own history หรือเขียนประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำของตัวเองขึ้นมา

          The Laundromat Project ทำงานเชื่อมโยงกับสมาชิกชุมชน ตั้งแต่ศิลปินไปจนถึงนายกเทศมนตรี เพื่อตั้งคำถามที่สำคัญว่า โปรเจกต์ต่างๆ จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนได้อย่างไร อาเยชา วิลเลียมส์ (Ayesha Williams) รองผู้อำนวยการของโครงการ เคยพูดถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า 

          “ถ้าเราเติบโตขึ้นไปอีกขั้นโดยไม่รู้จักชื่อของคนในชุมชน แปลว่าเราไม่ได้ทำงานอย่างถูกต้อง จริงใจ และพยายามที่จะเชื่อมโยงกับคนอื่น สิ่งที่ฝังอยู่ในวิธีการทำงานของเรา คือ การเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และการสร้างบางสิ่งบางอย่างร่วมกับชุมชน”

           วิลเลียมส์ยังตั้งโจทย์สำคัญให้กับโครงการว่า จะทำอย่างไรให้เราไม่ใช่แค่พื้นที่ศิลปะ แต่เป็น ‘ศูนย์กลางชุมชนที่ใช้ศิลปะเป็นพาหนะ’ ซึ่งเธออธิบายว่าเป็นการ “ใช้ศิลปะเป็นช่องทางในการดึงดูดผู้คนเข้ามา และเชื่อมโยงผู้คนกับทรัพยากรอื่นๆ ในชุมชน เช่น บริการทางสังคม คลินิกสุขภาพครอบครัวที่อยู่ไม่ไกล” อีกด้วย

          หาก The Laundromat Project เปรียบเสมือนผืนผ้าใบของศิลปิน มันก็คงเป็นผืนผ้าใบที่ศิลปินระบัดระบายเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่ เมื่อผลงานเสร็จสมบูรณ์แล้ว ก็ทำหน้าที่บอกต่อเรื่องเหล่านี้ให้กับผู้รับชม และอาจเป็นแรงบันดาลใจที่จุดประกายให้เกิดงานชิ้นใหม่ๆ ขึ้นอีกไม่จบสิ้น

ซักครั้งที่ 3 : ร้านซักรีดที่แข็งแกร่ง ตั้งต้นจากหลักการที่ชัดเจน มีเงินทุน มีเครือข่าย ราวเส้นใยฝ้ายที่แข็งแรงแต่นุ่มนวล

          ความสำเร็จของโปรเจกต์นี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานและกิจกรรมที่ดึงดูดผู้คนเท่านั้น แต่เบื้องหลังความสำเร็จอีกอย่างมาจากวิธีคิดและหลักในการทำงาน ซึ่งทำให้รวมผู้คน และสร้างเครือข่ายความร่วมมือได้ วิธีคิดนั้นคือการดำเนินงานบนหลัก POC-Centered Principles (POC = People of Color) หรือการสร้างองค์กรและคอมมูนิตี้ให้มีความหลากหลาย สร้างการมีส่วนร่วมของคนผิวสี รวมถึงผู้คนที่มีความแตกต่างไม่ว่าจะเป็นด้านเชื้อชาติ ชนชั้น อายุ เพศวิถี ศาสนา รวมไปถึงผู้พิการและผู้อพยพย้ายถิ่น โดยมีการอบรมพนักงานในประเด็นสำคัญ เช่น ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ Black Lives Matter การต่อต้านความเกลียดชังและการเลือกปฏิบัติต่อคนเอเชีย การต่อสู้เพื่ออนุรักษ์พื้นที่และวัฒนธรรมของชนพื้นเมือง ฯลฯ

           สมาชิกขององค์กรต้องมีคนผิวสีนั่งอยู่เสมอ โดยคณะกรรมการและพนักงานกว่า 90% จะเป็นคนผิวสี ไม่เว้นแม้แต่ในตำแหน่งผู้นำ หรือการทำงานร่วมกับศิลปินที่มีผิวสีเป็นหลัก เช่นหลายปีที่ผ่านมาศิลปินพำนักทั้งหมดของโครงการยังพยายามพัฒนาสมาชิกชุมชนและคนทำงานโดยจัดการฝึกอบรมในหลายด้านอย่างสม่ำเสมอ เช่น แนวปฏิบัติเพื่อต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ การรักษาความเท่าเทียม การสร้างความเป็นผู้นำ และจัดทำแผนพัฒนาวิชาชีพและกองทุนเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางวิชาชีพสำหรับพนักงานด้วย

          อีกนโยบาย POC ของ The Laundromat Project ที่น่าสนใจและช่วยให้องค์กรเติบโต คือการใช้ภาษาที่หลากหลายในการสื่อสารองค์กร เพื่อขยายพรมแดนขององค์กรให้เข้าถึงผู้คนที่หลากหลายได้จริง โดยมีการพยายามปรับปรุงเว็บไซต์ให้เข้าถึงง่าย ขยายการเล่าผ่านโซเชียลมีเดีย บล็อก วิดีโอ และพอดแคสต์ หรือการพยายามเผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับองค์กรด้วยสองภาษาอย่างสม่ำเสมอ

          The Laundromat Project ไม่ได้ใช้ POC กับเรื่องภายในองค์กรเท่านั้น แต่ยังใช้ในการขยายเครือข่ายและสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับองค์กรอื่นๆ ที่ยึดถือความเชื่อเดียวกันด้วย 

          ในปี 2014 The Laundromat Project จับมือกับอีกสององค์กรคือ Workforce Housing และ Banana Kelly Community Improvement Association ริเริ่มโครงการ ‘Kelly Street Collaborative’ เปลี่ยนอพาร์ตเมนต์สองห้องนอนในย่านเซาท์บรองซ์ให้กลายเป็นศูนย์กลางความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยของศิลปินในพำนัก หรือพื้นที่เวิร์กชอปและจัดแสดงงานศิลปะ

The Laundromat Project: เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้เป็นเพื่อนบ้านเติมชีวิตให้ย่านด้วยศิลปะใน ‘ร้านซักรีด’
Photo: The Laundromat Project

          หรือการร่วมมือกับ Museum Hue องค์กรชั้นนำที่อุทิศตนเพื่อพัฒนาคนผิวดำ ชนพื้นเมือง และคนผิวสีในด้านวัฒนธรรม เพื่อเปิดตัวแพลตฟอร์มออนไลน์ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยงานศิลปะในนิวยอร์กที่สร้างขึ้นโดยคนผิวดำ คนละติน ชนพื้นเมือง เอเชีย ชาวตะวันออกกลาง ฯลฯ ทำให้หน่วยงานเหล่านี้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และทำให้คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

          ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจวบจนถึงปัจจุบัน The Laundromat Project ทำงานร่วมกับศิลปินมาแล้วกว่า 200 คน แม้จะตั้งต้นจากความเป็น ‘ร้านซักรีด’ แต่กิ่งก้านขององค์กรแห่งนี้ก็งอกเงยไปไกลกว่าจุดตั้งต้นอย่างมาก งบประมาณจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

          The Laundromat Project มีงบประมาณดำเนินการเริ่มต้น 800,000 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2560 ที่มาจากทั้งการระดมทุนผ่านการจัดแคมเปญ การจัดกาลาดินเนอร์เพื่อรับบริจาคโดยสมัครใจ เงินทุนที่ได้รับจากเมืองและรัฐ และงบประมาณส่วนมากมาจากผู้บริจาครายใหญ่ที่สนับสนุนหลักการของ The Laundromat Project พวกเขาจัดการงบประมาณทั้งต้นน้ำและปลายน้ำอย่างถี่ถ้วนและเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมในการทำกิจกรรม ไปจนถึงการจ่ายค่าตอบแทนให้พนักงาน ศิลปิน พาร์ตเนอร์ พร้อมกับการให้ความสำคัญกับเครือข่ายที่ยึดหลักการ POC หรือองค์กรที่ทำงานเพื่อชุมชน

          ตัวอย่างเช่น มีการย้ายการจัดการเงินทุนขององค์กรไปไว้ที่สถาบันการเงินที่ให้คุณค่ากับหลักการเดียวกัน การเพิ่มค่าตอบแทน หรือค่าใช้จ่ายในการผลิตผลงานให้ศิลปิน หรือการประเมินค่าตอบแทนของพนักงานอย่างสม่ำเสมอ

          The Laundromat Project ให้การสนับสนุนศิลปินโดยตั้งกองทุนแยกเป็นหมวดหมู่อย่างชัดเจน เช่น กองทุน Create & Connect Fund ให้เงินสนับสนุนแก่ผู้ที่ทำงานสร้างสรรค์ชุมชน ไม่ว่าจะไอเดียที่มีรากฐานมาจากชุมชน ส่งเสริมการเชื่อมต่อและจุดประกายการบทสนทนาในชุมชน โดยให้ทุนนี้แก่ทั้งศิลปิน นักทำงานด้านวัฒนธรรม ไปจนถึงผู้ที่จัดอีเวนต์กิจกรรมต่างๆ 

          กองทุน Create & (Re) Connect Fund ให้การสนับสนุนการสร้างเครือข่ายศิลปิน และให้ทุนแก่ศิลปินในพำนักที่เป็นศิษย์เก่าและมีไอเดียโปรเจกต์ที่น่าสนใจ เสมือนเป็นกองทุนที่ช่วยเสริมความเข้มแข็งของต้นกล้าศิลปินที่กำลังเติบโต

          กองทุน Create & Reflect ที่ให้การสนับสนุนศิลปินจัดแสดงผลงานในพื้นที่ชุมชน เช่น การจัดแสดงผลงานบนบานหน้าต่าง หรือแปะไวนิลตามถนนในพื้นที่ที่ผู้คนในชุมชนเข้าถึงได้

          นอกจากนี้พวกเขายังมีกลไกที่เรียกว่า Community Asset Mapping หรือการแจกแจงสินทรัพย์ของชุมชนอย่างเป็นระบบ เพื่อทำให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงานของศิลปิน โดยจะมีการเชิญศิลปินศิษย์เก่าในโครงการมาแบ่งปันประสบการณ์ของตัวเอง เพื่อทำให้ผู้คนที่เข้ามาร่วมกับองค์กรได้เห็นทั้งจุดแข็งของโครงการ ทรัพยากร และเรื่องราวต่างๆ ในพื้นที่ ถือเป็นกลไกที่ช่วยสร้างความเป็นไปได้ให้กับการทำงาน และทำให้ผู้คนได้ใช้ประโยชน์จากการมองเห็นภาพกว้างของชุมชนด้วย

          หลักการ POC เป็นเสมือนมรดกทางความคิดที่ส่งต่อกันระหว่างทีมทำงาน องค์กรเครือข่าย ผู้สนับสนุน และสะท้อนไปถึงสังคม เสมือนการสร้างพื้นที่ปลอดภัยของคนที่มีจุดมุ่งหมายใกล้เคียงกัน จึงไม่แปลกเลยที่จะสามารถดึงดูดผู้ที่มีความสนใจขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้ให้เข้ามาร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง

          The Laundromat Project อาจไม่สามารถ (และอาจไม่ได้มีหน้าที่) ซักล้างปัญหาหรือความท้าทายที่เกิดขึ้นในพื้นที่เมืองจนสะอาดเอี่ยม แต่ก็สมกับชื่อร้านซักรีด มันเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ปล่อยให้ความหลากหลายแวะเวียนมารวมตัวกัน ผู้คนกล้าที่จะเดินเข้าไปอย่างไม่เคอะเขินและกลับออกมาอย่างเคยคุ้น มันเป็นพื้นที่ที่เกิดขึ้นได้เพราะเข้าใจและใส่ใจวิถีชีวิตของผู้คน ตั้งอยู่เพื่อทำให้คนในย่านใช้ชีวิตได้อย่างดีขึ้น และเปิดประตูต้อนรับอย่างเป็นมิตรไม่ว่าคุณจะเป็นใคร

          เช่นนั้นแล้ว ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ร้านซักรีดจึงเติบโต และผู้คนยังคงต้องซักผ้า

The Laundromat Project: เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้เป็นเพื่อนบ้านเติมชีวิตให้ย่านด้วยศิลปะใน ‘ร้านซักรีด’
Photo: The Laundromat Project
The Laundromat Project: เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้เป็นเพื่อนบ้านเติมชีวิตให้ย่านด้วยศิลปะใน ‘ร้านซักรีด’
Photo: The Laundromat Project


ที่มา

เว็บไซต์ The Laundromat Project (Online)

บทความ “The Laundromat Project” จาก civicroleartsinquiry.gulbenkian.org.uk (Online)

บทความ “At the Laundromat Project, Artists Are Ambassadors of Joy and Activism” จาก nytimes.com (Online

บทความ “Why Black Families Are Leaving New York, and What It Means for the City” จาก nytimes.com (Online)

บทความ “The African American exodus from New York City” จาก gothamist.com (Online)

บทความ “State-Led Gentrification ในย่านเก่ากรุงเทพฯ (1)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ” จาก matichonweekly.com (Online)

บทความ “How artists have championed the Black Liberation movement over a century” จาก dazeddigital.com (Online)

บทความ “A RACIAL DISPARITY ACROSS NEW YORK THAT IS TRULY JARRING” จาก nyclu.org (Online)

Cover Photo: The Laundromat Project

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก