7 เคล็ดลับปรับตัวให้เป็น Lifelong Learner

2,034 views
5 mins
April 7, 2022

          โลกาภิวัตน์ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เทคโนโลยีพลิกผัน โรคอุบัติใหม่ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่คาดการณ์ถึงการเกิดขึ้นและผลกระทบได้ยาก การเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นอย่างรุนแรง รวดเร็ว หรือไม่คาดคิด ทำให้ปัจเจกบุคคลจำเป็นต้องพร้อมเรียนรู้และปรับตัวอยู่เสมอ เพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ มีความภูมิใจในตนเอง และสามารถประกอบอาชีพการงานที่มีคุณค่าทั้งต่อตนเองและเป็นประโยชน์ต่อสังคมตามสมควร

          บุคคลที่จะประสบความสำเร็จในศตวรรษที่ 21 ต้องเป็นคนที่หมั่นเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาทักษะหรือความสามารถตนเองอย่างต่อเนื่อง กล่าวอย่างรวบรัดคือ เป็นคน ‘รักในการเรียนรู้’ และเป็น ‘ผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต’ (Lifelong Learner) สามารถ ‘กำกับการเรียนรู้ด้วยตนเอง’ (Self-directed Learning)

          เคล็ดลับ 7 ประการต่อไปนี้ อาจช่วยให้เราสามารถพัฒนาตนเองเป็น ‘ผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต’ ซึ่งเป็นรากฐานสู่การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและมีชีวิตที่มีความหมายในท่ามกลางโลกที่ผันผวนเปลี่ยนแปลงและไม่แน่นอน

เคล็ดลับที่ 1 มีกรอบคิดแบบเติบโต (Growth Mindset)

          เคยสงสัยหรือไม่ว่า สติปัญญาเป็นสิ่งติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่แรกเกิด หรือเป็นสิ่งที่สามารถพัฒนาขึ้นได้ภายหลัง และคนเรามีขีดจำกัดในการเรียนรู้หรือไม่?

          เมื่อปี 2008 มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งได้ทำการทดสอบไอคิวผู้เล่นหมากรุกที่เก่งที่สุดในโลกจำนวน 10 คน พวกเขาผ่านการฝึกปรือมาไม่ต่ำกว่า 10,000-50,000 ชั่วโมง แต่ผลการทดสอบกลับพบว่าผู้เล่น 3 คนมีไอคิวต่ำกว่าค่าเฉลี่ย สร้างความฉงนสงสัยให้กับนักวิจัยอยู่ไม่น้อย

          งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งช่วยยืนยันว่า อันที่จริงแล้วความเชี่ยวชาญไม่ได้เกิดจากสติปัญญาที่ติดตัวมาแต่กำเนิด แต่มาจากความพยายามและการฝึกฝนอย่างหนัก คนที่ประสบความสำเร็จคือผู้ที่มีความตั้งใจและทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ให้กับการพัฒนาตนเอง จึงนำไปสู่ข้อสรุปว่า สติปัญญาเป็นสิ่งที่สามารถพัฒนาได้ และมนุษย์สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิตโดยไม่มีขีดจำกัด และสมองนั้นมีคุณสมบัติเหมือนกล้ามเนื้อ จะแข็งแรงขึ้นก็ต่อเมื่อถูกใช้งานอย่างสม่ำเสมอ

          แครอล ดเว็ค (Carol Dweck) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ใช้เวลากว่า 30 ปีศึกษาถึงคุณลักษณะของผู้เรียนที่ส่งผลต่อความสามารถในการเรียนรู้ เธอชี้ว่า ‘กรอบความคิด’ ของผู้เรียนมีผลกระทบอย่างยิ่งต่อประสิทธิภาพในการเรียนรู้ ทั้งในเรื่องของการยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์และการยอมรับความล้มเหลว หากแบ่งตามกรอบความคิด แครอลพบว่ามีผู้เรียนอยู่ 2 ลักษณะคือ พวกที่มีกรอบความคิดแบบยึดติด (fixed mindset) และพวกที่มีกรอบความคิดแบบเติบโต (growth mindset)

          ผู้เรียนที่มีกรอบความคิดแบบยึดติด มักเชื่อว่าศักยภาพในการเรียนรู้นั้นถูกกำหนดโดยยีนส์ ภูมิหลังทาง เศรษฐกิจและสังคม หรือโอกาสที่ได้รับ พวกเขาอาจมีความคิดว่า “ฉันพูดในที่สาธารณะไม่เก่ง ฉันจึงควรหลีกเลี่ยง” ในขณะที่ผู้เรียนซึ่งมีกรอบความคิดแบบเติบโต มักเห็นคุณค่าของสิ่งที่ไม่ถนัดหรือไม่เคยทำมาก่อนว่าเป็นความท้าทายและเป็นโอกาสที่นำไปสู่การเติบโตหรือความรู้ใหม่ๆ ซึ่งสุดท้ายแล้ว ผู้ที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตจะสามารถบรรลุศักยภาพได้มากกว่าผู้ที่มีกรอบความคิดแบบยึดติด

           แนวทางที่จะนำไปสู่การพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโต อาจเริ่มจากการสำรวจตนเองว่ามีกรอบความคิดแบบยึดติดตายตัวหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นให้หาสาเหตุว่ามาจากอะไร เปิดใจยอมรับความท้าทาย และพยายามคิดริเริ่มและลองทำงานใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคยหรือไม่เคยทำ

เคล็ดลับที่ 2 พัฒนาตนเองให้เชี่ยวชาญอย่างต่อเนื่อง

          โดยทั่วไปแล้ว พนักงานในองค์กรมักพัฒนาความรู้ความสามารถและทักษะเฉพาะของตนเพียงด้านใดด้านหนึ่ง หรือมีความรู้ลึกแบบรูปตัวที (T-shaped) และใช้ความเชี่ยวชาญเชิงลึกไปตลอดอายุการทำงาน แต่แนวโน้มในอนาคต องค์กรต้องการผู้ที่มีทั้งความเชี่ยวชาญเชิงลึกควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะและความรู้ในเชิงกว้างแบบรูปตัวเอ็ม (M-shape) คือมีความเชี่ยวชาญเชิงลึกที่หลากหลายกว้างขวาง เพื่อให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง

          ยกตัวอย่างเช่น หญิงคนหนึ่งสำเร็จการศึกษาด้านวารสารศาสตร์ และเริ่มทำงานเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์ เมื่ออายุ 30 ปีเธอพบว่าตัวเองเชี่ยวชาญข่าวสารทางการเงิน จึงตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์การเงินและธุรกิจ หากยังทำงานอยู่ในองค์กรอย่างต่อเนื่อง เธออาจมีโอกาสเรียนปริญญาโทอีกสาขาในหัวข้อเชิงลึก เช่น การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ลักษณะของวิชาความรู้ดังกล่าวช่วยเพิ่มความเชี่ยวชาญเชิงลึก (Deep Expertise) ที่หนุนเสริมความสามารถเชิงกว้าง (Broad Competency) และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพประสิทธิผลในการทำงานให้สามารถรับมือกับกับการเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี องค์กรจึงควรมีส่วนส่งเสริมให้พนักงานพัฒนาความเชี่ยวชาญแบบรูปตัวทีไปเป็นรูปตัวเอ็ม ตลอดช่วงอายุการทำงาน ด้วยการสนับสนุนเงินทุนสำหรับการศึกษาต่อในระดับสูง หรือให้เข้าร่วมหลักสูตรทางวิชาชีพระยะสั้นอย่างต่อเนื่อง

           แนวคิดดังกล่าวนี้ สามารถประยุกต์ปรับใช้ในกรณีที่เป็นปัจเจกบุคลด้วย หากไม่มองในมิติของอาชีพการทำงานและการเป็นลูกจ้างในองค์กร

การพัฒนาความเชี่ยวชาญแบบรูปตัวที (T-shaped) และแบบรูปตัวเอ็ม (M-shape)

เคล็ดลับที่ 3 ก้าวออกไปจากกรอบเดิมๆ

          ในบริบทการทำงานที่ไม่สะดวกสบายจนเกินไป มนุษย์จะเกิดการพัฒนาและฝึกฝนทักษะใหม่ๆ การเรียนรู้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้คนกล้าก้าวออกไปนอกพื้นที่ปลอดภัย (comfort zone)

           ตามกฎของเยิร์คส์-ดอดสัน (Yerkes–Dodson Law) ความเครียด ซึ่งถูกเรียกว่า ‘ความตื่นตัว’ ที่เพิ่มขึ้น มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ในรูปแบบเส้นโค้งพาราโบลา เช่น เมื่อคนเพิ่งเริ่มทำงานในองค์กร พวกเขาจะประสบกับ ‘ความเครียดที่ดี’ อันนำไปสู่ประสิทธิภาพที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเครียดที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดความวิตกกังวล และส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการทำงาน ดังนั้น แม้ว่าการก้าวออกนอกพื้นที่ปลอดภัยจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่การเลือกงานที่เหมาะสมในย่างก้าวที่เหมาะสม ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน

          บุคคลที่ก้าวออกไปสู่อาณาเขตของการเรียนรู้ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง มักมีมาตรฐานการเติบโตเป็นแบบตัวเอส (S-curve) เพราะเมื่อผู้คนลองทำอะไรใหม่ๆ ทักษะของพวกเขาจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเกิดความเข้าใจ ความสามารถ และความมั่นใจ ซึ่งส่งผลต่อความเติบโตในหน้าที่การงาน ทว่าเมื่อทำงานต่อไปอีกระยะหนึ่ง ความตื่นเต้นที่มีต่อบทบาทใหม่จะค่อยๆ หมดลง งานต่างๆ เริ่มกลายเป็นกิจวัตรประจำ เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย จนการเรียนรู้และการพัฒนาเริ่มหยุดชะงัก ประสิทธิภาพและประสิทธิผลก็จะชะลอตัวหรือลดลง

          อย่างไรก็ตาม ผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตสามารถหลีกเลี่ยงหลุมพรางนี้ โดยการเริ่มเส้นโค้งแบบตัวเอสเส้นใหม่ ค้นหาวิธีใหม่ๆ และก้าวออกไปยังอาณาเขตการเรียนรู้ที่ไม่คุ้นเคย องค์กรสามารถช่วยเหลือพนักงานโดยการสนับสนุนและกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ ที่สำคัญคือให้พื้นที่และโอกาสในการก้าวออกจากกรอบเดิมๆ อยู่เสมอ

กฎของเยิร์คส์-ดอดสัน เรื่องความตื่นตัวในการทำงาน

เคล็ดลับที่ 4 สร้างแบรนด์ให้กับตัวเอง

          ในหนังสือเรื่อง Leadership Brand: Developing Customer-Focused Leaders to Drive Performance and Build Lasting Value ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับการพัฒนาผู้นำเพื่อสร้างมูลค่าที่ยั่งยืน เสนอว่า บุคคลทั่วไปสามารถสร้างแบรนด์ให้กับตนเองได้ โดยการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับปีถัดไปว่าอยากให้ผู้อื่นรู้จักและยอมรับตัวเราในแบบไหน ทดสอบภาพลักษณ์ในปัจจุบันของตนเอง รวมทั้งเขียนข้อความประกาศความมุ่งมั่นนั้นให้ผู้อื่นรับรู้ เช่น ต้องการได้เหรียญตราดิจิทัลบนโปรไฟล์ใน LinkedIn ด้วยการเรียนหลักสูตรออนไลน์จาก Coursera, edX, Lynda.com และ Udemy

          อย่างไรก็ดี แบรนด์ของบุคคลเป็นสิ่งไม่คงที่ หมายความว่าตลอดเส้นทางอาชีพของแต่ละคน อาจจำเป็นต้องรีแบรนด์ตัวเองหลายครั้ง โดยเราสามารถใช้กระบวนการสร้างแบรนด์ เพื่อพัฒนาทักษะให้ตนเองเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น ทั้งภายในและภายนอกองค์กร

เคล็ดลับที่ 5 รับผิดชอบในการพัฒนาและการเรียนรู้ของตนเอง

          ผู้คนในยุคปัจจุบันไม่ได้คาดหวังที่จะทำงานในองค์กรใดองค์กรหนึ่งไปตลอดชีวิต บางคนมองถึงการสร้างองค์กรหรือธุรกิจที่เป็นของตนเอง สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ต่อเนื่องเช่นนี้ ผู้คนจำเป็นต้องรับผิดชอบในการพัฒนาและการเรียนรู้ของตนเอง แนวทางในการพัฒนาได้แก่ สร้างเป้าหมายการเรียนรู้และทำตามเป้าหมายให้สำเร็จ ประเมินความก้าวหน้าเป็นระยะๆ ขอคำแนะนำจากพี่เลี้ยงซึ่งอาจเป็นหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา หรือลูกค้า และถ้ามีทุนทรัพย์มากพอ ก็อย่าลังเลที่จะควักกระเป๋าลงทุนให้กับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

          คำถามเบื้องต้นที่จะช่วยให้ผู้ที่ต้องการพัฒนาตนเองได้ทบทวนเกี่ยวกับเรียนรู้ของตน เช่น สิ่งที่คุณต้องการบรรลุเป้าหมายคืออะไร คุณมีความพยายามแค่ไหนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น มีใครอีกบ้างที่รู้และสนใจเรื่องนี้ และทำไมเรื่องนี้ถึงสำคัญกับคุณ

เคล็ดลับที่ 6 ทำในสิ่งที่รักและมีความหมาย

          คนส่วนใหญ่ใช้เวลาในชีวิตไปกับการทำงาน งานจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เราจึงควรได้ทำในสิ่งที่ตนรัก ในภาษาญี่ปุ่นมีคำว่า ‘อิคิไก’ (Ikigai) หมายถึง เหตุผลของการมีชีวิตอยู่ ซึ่งครอบคลุมทุกองค์ประกอบของชีวิต ทั้งอาชีพ งานอดิเรก ความสัมพันธ์ และจิตวิญญาณ การค้นพบอิคิไกของตัวเองทำให้เกิดความพึงพอใจและเติมเต็มชีวิตให้มีความหมาย

          จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างชาวญี่ปุ่นที่เป็นผู้ใหญ่จำนวนกว่า 43,000 คน พบว่า ผู้ที่ไม่สามารถค้นพบอิคิไก มีความเสี่ยงในการเสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายสูงกว่ากลุ่มที่ค้นพบอิคิไกอย่างมีนัยสำคัญ หากต้องการค้นหาอิคิไก ให้เริ่มต้นด้วยการตอบคำถาม 4 ข้อ คือ สิ่งที่รัก สิ่งที่โลกต้องการ สิ่งที่ทำแล้วได้เงิน สิ่งที่ถนัด อิคิไกอยู่ตรงจุดตัดของคำถามเหล่านี้

          การแสวงหาความหมายของการทำงานนั้น ขึ้นอยู่กับว่าบุคคลมองงานที่กำลังทำอย่างไร แรงจูงใจคืออะไร และวัตถุประสงค์ของงานคืออะไร ทว่าการค้นหาเป้าหมาย ความหมาย และความหลงใหลในอาชีพไม่ใช่เรื่องง่าย จึงต้องไตร่ตรองอย่างตั้งใจและมีการวางแผนที่ดี

อิคิไก (Ikigai)
อิคิไก (Ikigai)

          ปัจจุบัน สถาบันการศึกษาหลายแห่งได้สร้างเครื่องมือที่ช่วยให้คำปรึกษาด้านอาชีพและการออกแบบชีวิต ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มีหลักสูตร ‘Designing Your Life’ สำหรับนักศึกษาที่กำลังมองหาคำแนะนำด้านอาชีพ โดยประยุกต์หลักคิดด้านการออกแบบ ประกอบด้วย การสงสัยใคร่รู้ การลองทำสิ่งต่างๆ การกำหนดปัญหา การแก้ไขปัญหา และการขอความช่วยเหลือ

          ก่อนจบหลักสูตร ผู้เรียนจะต้องนำเสนอแผน ‘โอดิสซี’ (odyssey) ระยะ 5 ปีจำนวน 3 แผน กำหนดให้แต่ละแผนมีรายละเอียดแตกต่างกัน ผู้ที่จบหลักสูตรดังกล่าวไปแล้วสะท้อนว่า เมื่อใดก็ตามที่ต้องประเมินและออกแบบชีวิต (ตนเอง) ใหม่ พวกเขามักจะหวนกลับไปนึกถึงเครื่องมือและแผนโอดิสซีอยู่เสมอ

เคล็ดลับที่ 7 มีชีวิตชีวา

          การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เป็นสิ่งที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ ทั้งการออกกำลังกาย โภชนาการ การนอนหลับ และการผ่อนคลาย เช่น การฝึกสติ การเล่นโยคะ รวมไปถึงการพัฒนานิสัยที่ดี สิ่งที่ดูเหมือนเล็กน้อยอาจส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง การนอนหลับที่เพียงพอสัมพันธ์กับความสามารถในการรับรู้ การรักษาและการฟื้นความรู้ของสมอง ทั้งยังส่งผลต่อความจดจ่อและสมาธิ ความคิดสร้างสรรค์ การตัดสินใจ ปฏิกิริยาทางอารมณ์และสังคม ดังนั้น ความมีชีวิตชีวาย่อมนำไปสู่การพัฒนาตนเองได้อย่างมีความหมาย


ที่มา

แปลและเรียบเรียงใหม่ จากบทความของ Jacqueline Brassey, Nick van Dam and Katie Coates. Seven essential elements of a lifelong-learning mind-set. 2019. จากเว็บไซต์ mckinsey.com [Online]

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก