‘สันติธาร เสถียรไทย’ ยุทธศาสตร์การสร้างคนในโลกยุคหลังโควิด

1,413 views
10 mins
August 23, 2021

          “ก่อนจะได้บทสรุปว่า มนุษย์เราจะอยู่รอดได้อย่างไรในยุคแห่งปัญญาประดิษฐ์ เราอาจต้องย้อนกลับมาถามตัวเองว่า คนเราเหนือกว่าลิงตรงไหน”

          ข้อความข้างต้นคือหัวใจสำคัญหนังสือ ‘The Great Remake สู่โลกใหม่’ ว่าด้วยการฝ่าฟันวิกฤตและสร้างโอกาสใหม่ๆ ในโลกใบเดิม

          ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้คือ ดร.สันติธาร เสถียรไทย ประธานทีมเศรษฐกิจ และกรรมการผู้จัดการบริษัท Sea Group นักเศรษฐศาสตร์คนแรกในอาเซียนที่ได้รับเชิญจาก World Economic Forum ให้เข้าร่วมกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำที่มาร่วมกันออกแบบอนาคตเศรษฐกิจโลกหลังโควิด-19

          ในสถานการณ์ที่สังคมตกอยู่ภายใต้ความสิ้นหวังและวิตกกังวล การอ่านหนังสือเล่มนี้ให้ความรู้สึกเหมือนมีคนมาช่วยดึงสติให้เข้าร่องเข้ารอย และคอยสะกิดให้เห็นว่า สิ่งที่ควรโฟกัสในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้คืออะไร

          หัวข้อหนึ่งที่น่าสนใจ และถือเป็นไฮไลท์ของหนังสือ คือหัวข้อที่ว่าด้วยการสร้างคนในโลกยุคใหม่

          ทักษะแบบไหนที่ทุกคนควรมี องค์กรแบบไหนที่จะอยู่รอด การศึกษาแบบไหนที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต

          หลังอ่านหนังสือจบ เราชวน ดร.สันติธาร มาสนทนาต่อยอดจากประเด็นดังกล่าว เก็บตกบางเรื่องราวที่ไม่ปรากฏในหนังสือ รวมถึงปริศนาที่เกริ่นไว้ตั้งแต่ประโยคแรกว่า คนเราเหนือกว่าลิงตรงไหน

หนึ่งในทักษะอนาคตที่สำคัญ คือทักษะดิจิทัล อยากทราบว่าทักษะกลุ่มนี้มีความสำคัญอย่างไร และนอกเหนือจากทักษะดังกล่าว มีทักษะอื่นๆ อีกไหมที่ต้องพัฒนาควบคู่กันไปด้วย

          ต้องแยกคำว่า ‘ทักษะดิจิทัล’ กับ ‘ทักษะยุคดิจิทัล’ ก่อน คำว่าทักษะยุคดิจิทัล จะเป็นคำที่กว้างกว่า ซึ่งในหนังสือที่ผมเขียน แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม หรือ 4 วงกลม ในแต่ละวงกลมประกอบด้วยทักษะหลายอย่าง บางทักษะอาจใกล้เคียงกับคำว่ากรอบความคิด (Mindset) มากกว่าด้วยซ้ำ แปลว่าในหนึ่งวงกลมจะมีทั้งทักษะและกรอบความคิดรวมอยู่ด้วยกัน

          วงกลมแรก คือ ทักษะดิจิทัล ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 แบบ ในหนังสือจะใช้คำว่า ทักษะดิจิทัล ‘สายขาว’ และ ‘สายดำ’

          สายขาว คือ ทักษะพื้นฐานที่ทุกคนควรจะมี คือใช้เทคโนโลยีเป็น เรียนรู้จากแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ ค้นหาข้อมูลได้ สามารถแยกแยะได้ว่าข้อมูลไหนจริงหรือไม่จริง ขายของ-ซื้อของออนไลน์เป็น เปิดบัญชีออนไลน์ได้ เป็นต้น

         ส่วนทักษะสายดำ เป็นทักษะเฉพาะทางสักหน่อย เช่น Data Science and Engineering หรือ Cyber Security ต่างๆ ซึ่งจะยากกว่าทักษะสายขาว และต้องยอมรับว่าไม่ใช่ทุกคนที่มีทักษะนี้ สำหรับเด็กรุ่นใหม่ หากยังไม่เลือกสาขาที่เรียน ถ้าเรียนเรื่องนี้ประกอบไปด้วยได้ก็จะดี หรือถ้าอยู่ในช่วงวัยที่กลับมาเรียนรู้ได้ก็ควรจะทำ อย่างน้อยก็พอให้มีความเข้าใจอยู่บ้าง

          วงกลมที่สอง เป็นทักษะที่อาจตรงข้ามกับกลุ่มแรกอยู่สักหน่อย เพราะทักษะดิจิทัลคือทักษะที่ทำให้เราเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีได้ แต่ทักษะที่สอง เราพยายามจะถามกลับกันว่าอะไรที่เทคโนโลยีเข้ามาแทนมนุษย์ไม่ได้ สายหนึ่งก็คือสายที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) การคิดนอกกรอบ

          ทั้งนี้ จะมีอีก 2 ทักษะที่มักจะมาพร้อมกับความคิดสร้างสรรค์ ก็คือการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) และการแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อน (Complex Problem Solving) การที่เราสามารถคิดวิพากษ์ แยกชิ้นส่วนออกมาและประกอบเข้าไปใหม่ให้มันไม่เหมือนเดิมได้ นี่คือทักษะการคิดวิเคราะห์แยกแยะ ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และทำให้เราสามารถแก้ปัญหาได้ นี่เป็นทักษะกลุ่มที่ 2 ที่สำคัญมากๆ

          วงกลมที่สาม เป็นทักษะที่เตรียมมาสำหรับโลกที่ ‘อายุของความรู้’ อาจสั้นลงเรื่อยๆ อย่างที่เราบอกไปว่าทักษะดิจิทัลมีความสำคัญ แต่ในวันพรุ่งนี้ความรู้เดิมที่เราเคยเรียน มันอาจไม่ถูกต้องหรือใช้การไม่ได้แล้ว เพราะโลกเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ในอีก 5 ปีข้างหน้าอาจมีทักษะหรืออาชีพใหม่ๆ ที่จำเป็นมากเพิ่มขึ้นมาก็ได้ เพราะฉะนั้น  ‘Growth mindset’ หรือ ‘กรอบความคิดที่เชื่อว่าทุกคนสามารถพัฒนาได้’ จึงสำคัญมาก

          การมี growth mindset จะเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) เพราะเราจะมีความรู้สึกอยากขวนขวายหรือพัฒนาตัวเองตลอดเวลา และไม่ค่อยกลัวความล้มเหลว ถึงแม้วันนี้เราจะทำพลาด มันจะกลายเป็นบทเรียนที่ทำให้พรุ่งนี้เราทำได้ดีขึ้น แต่ถ้าเรามี ‘Fixed mindset’ เราจะคิดแค่ว่า เราเกิดมาเท่านี้ มีบุญเท่านี้ ถ้าเราทำไม่ได้ก็คือไม่ได้          

          วงกลมสุดท้าย คือทักษะความเป็นผู้นำ ซึ่งแตกต่างจาก 3 ทักษะแรก เพราะทักษะก่อนหน้านี้จะพูดในเชิงปัจเจก แต่สุดท้ายแลวการเรียนรู้หรือความคิดสร้างสรรค์ ไม่ได้มาจากคนคนเดียว แต่เกิดจากสังคมและคนรอบตัวเราด้วย ทักษะความเป็นผู้นำจึงสำคัญ เพราะผู้นำเป็นคนที่ริเริ่มและสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ บรรยากาศที่กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ บรรยากาศในการคิดนอกกรอบ ผู้นำในโลกยุคใหม่ต้องมีความเข้าใจและความสามารถที่จะสร้างพื้นที่เหล่านี้ขึ้นมาได้ ทั้งหมดนี้คือทักษะ 4 กลุ่มที่ผมคิดว่าสำคัญมากๆ สำหรับอนาคต

การมี Growth mindset ถือเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญของการเรียนรู้ในโลกยุคใหม่ คำถามคือคนที่แต่เดิมมี Fixed mindset จะสามารถสร้าง Growth mindset ขึ้นมาได้หรือไม่ ด้วยวิธีไหน 

          ถ้าสังเกตดูในหนังสือ บทที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ เป็นบทเดียวที่ผมเขียนถึงประสบการณ์ของตัวเองจริงๆ ซึ่งตอนเขียนผมพยายามมองย้อนกลับไปสังเกตตัวเอง และพบว่าตัวเรามีทั้งช่วงที่มี Fixed mindset และช่วงที่มี Growth mindset

          ดังนั้น บทสรุปแรกที่สำคัญ คือการมี Growth mindset นั้นขึ้นอยู่กับการฝึกฝน เปรียบเหมือนกล้ามเนื้อที่ต้องสร้างและฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ เวลาเราฝึกกล้ามแขนหรือซิกแพค ถ้าเราขี้เกียจ สักพักหนึ่งมันจะหายไป ในทำนองเดียวกัน สิ่งที่ทำให้ Growth mindset อ่อนแอ คือการที่เราอยู่ในจุดที่เราคิดว่าเราเป็นผู้ชนะแล้ว เพราะเมื่อเราคิดว่าตัวเองเป็นผู้ชนะ เราจะไม่กล้าเสี่ยง กลัวความผิดหวัง กลัวทำสิ่งที่ผิดพลาด

          ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเราเป็นคนที่เรียนเก่งมากตอนเด็ก พอเข้าไปทำงานแล้วเจออุปสรรค หรือเจอคนมากมายที่เก่งกว่า มันอาจทำให้เราปิดตัวเองแล้วมีความคิดว่า เราคงทำได้เท่านี้แหละ ซึ่งเป็นความคิดที่ค่อนข้างอันตราย

          ถ้าย้อนกลับมาดูตัวผมเอง จริงๆ แล้วผมไม่ได้เป็นคนที่เรียนเก่งตั้งแต่เด็ก ด้วยความที่ย้ายโรงเรียนบ่อย ย้ายประเทศบ่อย ทำให้มีทั้งช่วงที่เราเก่ง และช่วงที่ไม่เก่งเลย เราได้รู้จักการเป็นผู้แพ้และผู้ชนะสลับกันไปมา ซึ่งเป็นเหมือนการฝึกกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อได้ยืดเข้ายืดออกพอสมควร และทำให้ผมเห็นความจริงอย่างหนึ่งว่า มีทั้งเรื่องที่เราเก่งและไม่เก่ง สุดท้ายแล้วมันทำให้ผมมีทัศนคตแบบหนึ่งซึ่งค่อนข้างสำคัญในการสร้าง Growth mindset คือ ‘ทัศนคติของผู้ท้าชิง’

          ผู้ท้าชิงไม่เหมือนผู้ชนะ ถ้าเป็นความรู้สึกของผู้ชนะ เราจะรู้สึกว่าเราดีอยู่แล้ว และเราจะต้องรักษามันไว้ พยายามกดคนอื่นไม่ให้ขึ้นมา แต่ผู้ท้าชิงคือการที่ฉันอยากชิงตำแหน่ง อยากจะกระชากเข็มขัดมา จึงต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด สำคัญที่สุดคือกล้าเสี่ยง กล้าทิ้งสิ่งที่มีอยู่เพื่อไปเจอสิ่งใหม่

          ตอนเรียนจบปริญญาเอก ผมเลือกที่จะสมัครเข้าไปทำงานด้านการเงินระหว่างประเทศ ประจำอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ พอมองย้อนกลับไป รู้สึกว่ามันช่วยสร้าง Growth mindset ได้อย่างมหาศาล แต่พอทำไปได้สักพักหนึ่ง fixed mindset ก็กลับมา เพราะเมื่อเราเริ่มมีตำแหน่งใหญ่โต ได้ออกสื่อ เริ่มได้รับการยอมรับจากคนในวงการ ถึงจุดหนึ่งมันก็เริ่มชิน เริ่มไม่ค่อยเรียนรู้แล้ว ซึ่งผมว่าเป็นสิ่งที่อันตราย และเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้อยากจะเปลี่ยนวิชาชีพอีกครั้ง

          สุดท้ายผมเลือกเข้ามาอยู่ในสายงานด้านเทคโนโลยี ทั้งที่ผมเป็นคนที่ไม่เข้าใจเทคโนโลยีที่สุดเลย แต่นั่นคือการสร้าง Growth mindset ใหม่ บางครั้งเราต้องออกจาก Comfort Zone ของตัวเองไปเจอกับคนที่ไม่คุ้นเคย ไปอยู่ในเวทีที่ตัวเองไม่ใช่คนที่ฉลาดที่สุดหรือไม่ใช่ผู้ชนะ เพื่อให้ตัวเองได้เป็นผู้ท้าชิงตลอดเวลา ผมว่านี่คือส่วนสำคัญของการสร้าง Growth mindset 

The Great Remake สู่โลกใหม่

แต่ในยุคที่มันเต็มไปด้วยวิกฤตรอบด้านแบบนี้ การจะทำใจให้กล้าเสี่ยงอาจไม่ง่าย หรือก้าวออกจาก comfort zone อาจไม่ง่ายเท่าไหร่ คุณมีคำแนะนำสำหรับคนที่กำลังเผชิญภาวะแบบนี้ยังไง

          ช่วงวิกฤตแบบนี้ มองได้ 2 ด้าน ในบางครั้งมันเป็นโอกาสดีที่จะทดลองสิ่งใหม่ๆ มากที่สุด เพราะช่วงวิกฤตเป็นช่วงที่โลกไม่ปกติ และเป็นช่วงที่ทุกองค์กรได้รับผลกระทบมาก ดังนั้นจึงเป็นช่วงที่หากเราลองอะไรใหม่ๆ แล้วผิดพลาด คนมักจะเข้าใจและให้โอกาส

          ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเป็นพนักงานในบริษัทที่มีหน้าที่หนึ่งที่ทำประจำอยู่ แต่อยากลองทำสิ่งที่อยู่นอกขอบเขตของเราสักนิดหนึ่ง ถ้าเป็นช่วงปกติ คนอาจถามว่าทำไมเราถึงไปทำงานที่ไม่ใช่เรื่องของเรา แต่ในสภาวะแบบนี้ คนอาจจะโอเค เพราะรู้สึกว่าสถานการณ์ไม่ปกติ ใครทำอะไรได้ก็ต้องช่วยกัน เหมือนทุกคนเปิดใจกันมากขึ้น

          ตัวผมเองที่เขียนหนังสือ The Great Remake ได้ ก็เพราะมีโอกาสคุยกับหลายๆ คน ซึ่งในสภาวะปกติอาจไม่ได้คุยกัน เพราะเขาไม่เปิดโอกาส หรือไม่เปิดใจ แต่ตอนนี้เราคุยกันผ่าน Zoom ได้ ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของประเทศไทย นี่คือโอกาสใหม่ที่ถูกสร้างขึ้น เพราะฉะนั้นช่วงเวลาวิกฤตแบบนี้ อาจเป็นช่วงที่ดีมากที่เราจะทดลองทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน

          แต่ข้อแม้ข้อหนึ่งที่สำคัญมาก คือเราต้องบริหารความเสี่ยงให้ดี มันมีทั้งการทดลองที่ไม่ต้องใช้ต้องทุนมากนัก เช่น การคุยกับคนใหม่ๆ หรือการเริ่มศึกษาเรื่องใหม่ๆ เป็นต้น และการทดลองที่มีต้นทุน เช่น การสร้างธุรกิจใหม่ หรือกระทั่งการเปลี่ยนสายอาชีพในช่วงนี้ ความเสี่ยงคือถ้าเราตัดสินใจผิดพลาด อาจทำให้เราไปติดอยู่กับสถานการณ์ที่แย่ๆ ได้

แล้วตัวคุณเอง มีวิธีจัดการกับความเสี่ยงอย่างไร

          เราต้องทำความเข้าใจกับความเสี่ยงให้ดี คือต้องกล้าเสี่ยง และรู้จักบริหารความเสี่ยงนั้น เช่น สมมุติเราสนใจธุรกิจอยู่ 2-3 อย่าง แต่ไม่แน่ใจว่าจะทำธุรกิจไหนดี เราก็อาจลองทำทั้ง 2-3 อย่างพร้อมกัน ทำเป็นโมเดลก่อนเพื่อดูว่าธุรกิจไหนเวิร์ค แล้วค่อยๆ เอามาพัฒนา นี่คือการกระจายความเสี่ยง

          อีกวิธีหนึ่งคือการตั้งคำถามกับตัวเอง เช่น สมมุติเราเปลี่ยนอาชีพแล้วแล้วไม่โอเค หรือไม่ใช่อาชีพที่ชอบ เราจะทำยังไง มีทางไปต่อไหม เปรียบเทียบเหมือนการขับรถ เราควรเลือกไปในเส้นทางที่หากรถติดแล้วสามารถขึ้นทางด่วนได้ หรือเลี้ยวซ้ายเพื่อเลี่ยงรถติดได้

          ผมเองก็ใช้วิธีแบบนี้เหมือนกัน อย่างตอนที่ผมจะย้ายจากภาคการเงินไปภาคเทคโนโลยี หลายคนทักว่ามันเสี่ยงมาก ซึ่งผมก็เห็นด้วย แต่ผมมองว่าถ้ามันไม่เวิร์คจริงๆ ผมสามารถวนกลับมาทำงานในภาคการเงินใหม่ได้ อาจจะช้าไปบ้าง แต่อย่างน้อยมันยังมีทางหนีทีไล่อยู่

          โดยสรุปคือ ในช่วงวิกฤตเราจะมีโอกาสได้ทดลองอะไรใหม่ๆ แต่ต้องบริหารความเสี่ยงให้ดี

ตอนเด็กๆ คุณครูมักจะคำถามว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” ซึ่งคำตอบมักวนเวียนอยู่กับอาชีพทั่วไป สมมุติว่าตอนนี้คุณเป็นคุณครู คิดว่าเราควรถามคำถามอะไรกับเด็กบ้าง นอกจากคำถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร

          คำถามควรจะเปลี่ยนเป็น “เมื่อโตขึ้น คุณอยากจะเขียนเรื่องราวตัวเองเป็นแบบไหน”

          ถ้าชีวิตเป็นหนังเรื่องหนึ่ง คุณอยากเป็นตัวละครอะไร คุณอาจอยากเป็นหมอก่อน และเมื่อได้ช่วยชีวิตคนในระดับหนึ่ง ก็ขยับไปเป็นหมอที่ทำเรื่องวิจัยเกี่ยวกับ Biological Sciences หลังจากนั้นอาจเปลี่ยนตัวเองไปเป็นนักลงทุน หรืออยากออกจากวงการนี้ไปเลยแล้วไปเป็นเอ็นจีโอเพื่อช่วยคน

          หัวใจสำคัญคือชีวิตไม่จำเป็นต้องสิ้นสุดเมื่อคุณได้เป็นหมอ แต่ขึ้นอยู่กับว่าคุณอยากเป็นคนแบบไหน หรืออยากเขียนเรื่องราวของตัวเองให้เป็นแบบไหน

          อีกคำถามหนึ่งที่เราควรถามตัวเองตลอดเวลาคือ “โตขึ้นอยากมีทักษะอะไร” เพราะเราไม่รู้ว่าอาชีพในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เราอาจบอกว่าโตขึ้นอยากเป็นนักเศรษฐศาสตร์ แต่ในอนาคตอาจไม่มีอาชีพนี้แล้ว หรือยังมีอยู่ แต่แตกต่างจากนักเศรษฐศาสตร์ในตอนนี้มากก็ได้

          สิ่งที่จะช่วยให้เราตอบคำถามนี้ได้คือทักษะที่เรามี เพราะในขณะที่กรอบของอาชีพมีแนวโน้มเปลี่ยนไปแบบมหาศาล แต่ทักษะที่เรามี จะเป็นเหมือนใบเบิกทางที่ทำให้เราสามารถข้ามไปสู่อาชีพต่างๆ ได้

          ถ้าเปรียบเทียบง่ายๆ อาชีพก็เหมือนประเทศที่มีพรมแดนอยู่ แต่ปัจจุบันเราอยู่ในโลกที่พรมแดนเหล่านี้กำลังเปลี่ยนไป ขณะที่ทักษะเป็นเหมือนพาสปอร์ต ถ้าเรามีพาสปอร์ตที่ถูกต้อง เราก็สามารถไปได้ในที่ต่างๆ ที่เราต้องการได้

คิดว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ไหมในการศึกษาไทยแบบที่เป็นอยู่ปัจจุบัน

          ต้องยอมรับว่าลำบาก เพราะการศึกษาของไทยในปัจจุบันยังมีความเป็นโมเดลเก่าอยู่ คือเป็นการศึกษาที่อาจเรียกได้ว่าเป็นมรดกของยุคพัฒนาอุตสาหกรรม คือยุคที่เราต้องพยายามสร้างคนจำนวนมากให้ออกมามีทักษะคล้ายๆ กัน และมีรูปแบบที่ชัดเจนคือ เรียนจบมัธยม ต่อมหาวิทยาลัย พอได้ใบปริญญาแล้วถึงออกมาทำงาน เมื่อได้งานที่ดี ก็ทำงานนั้นไปตลอดชีวิตจนเกษียณแล้วก็เก็บดอกเก็บผลกลับมา

          แต่รูปแบบการศึกษาในปัจจุบันมันเปลี่ยนไปเยอะมาก เรายังจำเป็นต้องเรียนมหาวิทยาลัยให้ครบ 4 ปีอยู่หรือไม่ เพราะแม้จะเรียนจบ 4 ปี มีใบปริญญา แต่ความรู้นั้นอาจไม่อัพเดตไม่ได้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานแล้ว

          มีบทหนึ่งในหนังสือ ผมเขียนไว้ว่า ใบปริญญาเป็นเหมือนไม้บรรทัดในสมัยก่อน ซึ่งในปัจจุบันภาคเอกชน รวมถึงภาคธุรกิจต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เขาอาจไม่ได้เชื่อในใบปริญญาขนาดนั้นแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในยุคนี้คือ เมื่อเรียนจบแล้ว ทำงานไปสักพักหนึ่ง มีโอกาสที่เราจะต้องกลับมาเรียนรู้ใหม่ เพราะโลกมันไม่เหมือนเดิมแล้ว และจะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ หมายความว่าเราต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดชีวิต

          ฉะนั้นเมื่อมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย จะเห็นว่าโมเดลการเรียนรู้แบบเก่าที่เกิดมาจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม มันใช้ไม่ได้แล้วในโลกปัจจุบัน

เมื่อพูดถึงความรู้ในโลกยุคใหม่ การที่ความรู้ต่างๆ หมดอายุเร็วขึ้น เพราะโลกเปลี่ยนตลอดเวลา เราควรจะรับมือกับภาวะนี้อย่างไร

          การที่ทุกวันนี้ความรู้มีอายุสั้นลง เปรียบเหมือนนมที่มีวันหมดอายุเร็วขึ้น ในขณะที่ทักษะกับกรอบความคิด เปรียบเหมือนไวน์ที่บ่มได้ และยิ่งนานก็ยิ่งหอม

          ยิ่งเราฝึกฝน ทักษะและกรอบความคิดของเรายิ่งแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ ผมจึงมองว่าระบบการศึกษาควรเน้นการบ่มไวน์มากขึ้น คือเน้นทักษะต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตในอนาคต เพราะความรู้ต่างๆ มันหาได้ง่ายขึ้นก็จริง แต่อายุของมันสั้นลงด้วย

          ขณะเดียวกัน ระบบการศึกษาทั่วโลกต้องมีการปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะรูปแบบการศึกษาของประเทศไทย ที่เน้นการผลิตคนออกมาให้คล้ายๆ กัน โดยการกดความคิดและตีกรอบบางอย่าง เช่น พลเมืองดีต้องทำตัวแบบไหน ต้องเป็นคนแบบไหน ต้องเป็นเด็กดี ต้องเชื่อฟัง ซึ่งเป็นวิธีการเรียนรู้ที่ยากต่อการเกิดทักษะใหม่ๆ ความคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงวิพากษ์ หรือกระทั่ง Growth mindset

          วิธีการแบบนี้ นอกจากจะไม่ได้เน้นเรื่องการบ่มไวน์แล้ว มันเหมือนการเอาน้ำอะไรสักอย่างราดลงไปในถังไวน์ให้มันพัง

อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือการเรียนรู้ข้ามศาสตร์หรือข้ามสาขา อยากให้ช่วยอธิบายว่ามันมีความสำคัญกับเรียนรู้ รวมถึงการทำงานในโลกยุคใหม่อย่างไร

          เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ตัวผมเองและบริษัทให้ความสำคัญมาก แม้ว่าเราจะเป็นบริษัทที่ทำด้านเทคโนโลยี แต่เราให้ความสำคัญกับคนที่มีความรอบรู้ในหลายสาขาวิชา หรือ Interdisciplinary มาก เราอยากได้ Data scientist ที่เข้าใจธุรกิจ เข้าใจเรื่องดีไซน์ มีทักษะในการสื่อสารกับคนอื่น อยากได้คนที่สามารถก้าวข้ามศาสตร์ทั้งหมดนี้ได้

          ถ้าถามว่า Interdisciplinary มีประโยชน์อย่างไร อย่างน้อยที่สุดมันช่วยส่งเสริมทักษะที่สำคัญมากๆ สำหรับอนาคต 2 กลุ่ม คือเรื่องความคิดสร้างสรรค์ และการคิดเชิงวิพากษ์ เพราะการที่เราเรียนคนละสาขาวิชา หรือคนละสาย จะทำให้ได้รับมุมมองคนละด้าน ยังไม่นับว่าความคิดสร้างสรรค์เอง ส่วนหนึ่งก็มาจากการมองปัญหาเดิมจากมุมที่ต่างกัน

          อีกข้อที่สำคัญมาก คือมันช่วยเรื่องทักษะความเป็นผู้นำ เพราะองค์กรยุคใหม่ที่จะเติบโตอย่างแข็งแรง จำเป็นต้องมีคนที่หลากหลาย ถ้าเราสามารถทำงานกับคนที่หลากหลายและคุยกันอย่างเข้าใจได้ จะเป็นเรื่องที่ดีมาก อย่างทีมของผมเองก็มีคนทำงานหลากหลายมาก ทั้งทำวิจัย ทำเรื่องนโยบาย เรื่องเศรษฐกิจการเงิน เรื่อง ESG (Environment, Social, and Governance) ซึ่งคนในแต่ละสาย จะมีวิธีคิดและมุมมองแตกต่างกัน การที่เราได้เรียนรู้จากแต่ละคน มันช่วยฝึกความเป็นผู้นำของเรา ว่าเราจะดึงความสามารถของแต่ละคนให้ออกมาได้เต็มที่ได้อย่างไร

Photo : The 101.world

คุณบอกว่าองค์กรยุคใหม่ จำเป็นต้องมีคนที่หลากหลาย อยากให้ขยายความว่ามันสำคัญยังไง

          ถามว่าองค์กรจะสร้างทักษะสำคัญอย่างความคิดสร้างสรรค์ หรือการคิดเชิงวิพากษ์ได้อย่างไร ผมว่ามันเกิดจากคำว่า ‘Diversity’ หรือความหลากหลายในองค์กร หลากหลายทั้งที่มา สายที่เรียน ความคิด อายุ เพศสภาพ ฯลฯ ความหลากหลายเหล่านี้จะให้มุมมองที่ต่างกัน

          มีบทหนึ่งในหนังสือที่เป็นหัวใจสำคัญมากๆ ชื่อว่า ‘Collective Intelligence’ บทนี้บอกว่ามนุษย์เราไม่ได้ฉลาดกว่าลิงเพราะมีไอคิวมากกว่าเท่านั้น แต่เป็นเพราะเรามีทักษะหนึ่งที่ลิงไม่มี คือความสามารถในการ ‘เลียน’ และ ‘เรียน’ ไปพร้อมๆ กัน ทั้งเลียนแบบและเรียนรู้จากกันและกันได้อย่างรวดเร็ว โดยที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว

          เวลาเราอยู่ในออฟฟิศที่มีความหลากหลาย หรือเวลาที่ทำงานกันเป็นทีม บางครั้งเราอาจได้วิธีทำงาน วิธีการพูด วิธีสื่อสาร จากคนในทีมโดยไม่รู้ตัว นี่คือสาเหตุที่องค์กรควรมีความหลากหลาย เพราะบางครั้งการเรียนรู้มันเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว เพียงแค่เราได้อยู่ร่วมกับแกะสีอื่นๆ

นอกจากประเด็นที่ไล่เรียงมา มีความท้าทายอื่นๆ อีกไหมที่องค์กรยุคใหม่ต้องเผชิญ

          อีกเรื่องที่สำคัญขององค์กรยุคใหม่ คือการสร้าง Growth mindset ให้บุคลากรของตัวเอง ในอนาคตทุกองค์กรจะต้องเป็นที่ที่สร้างการเรียนรู้ใหม่ๆ ให้ทุกคนได้ ถ้าเราบอกว่าทุกคนต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต คำถามคือพอเรียนจบมหา’ลัยแล้ว เราจะเรียนรู้สิ่งใหม่ได้จากที่ไหน คำตอบคือออฟฟิศ เพราะคนวัยทำงานส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่ที่ออฟฟิศ ออฟฟิศจึงต้องเป็นสถานที่ที่สร้างการเรียนรู้ได้

          ถ้าเราอยู่ในองค์กรที่ปิดกั้นการเรียนรู้ คือต้องฟังผู้ใหญ่เท่านั้น ต่อให้เขาจะเก่งแค่ไหน สุดท้ายเขาก็เลิกเรียนรู้ เลิกพัฒนา เพราะรู้สึกว่าทำไปก็ไม่ได้อะไรกลับมา แล้วเขาจะไปเรียนรู้สิ่งที่ตัวเองสนใจนอกเรื่องนอกเวลาแทน แต่ถ้าเราสร้างการเรียนรู้ที่สนุก มีวัฒนธรรมที่มองว่าการคิดต่างเป็นสิ่งที่ดี เขาจะมีแรงจูงใจในการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ

          อีกประเด็นที่ต่อเนื่องกัน คือการสร้างผู้นำในองค์กร ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องค่อยๆ สร้างขึ้นมา จุดที่ยากและต้องใช้เวลาพอสมควรคือการสร้างคนที่เป็น ‘ผู้จัดการระดับกลาง’ ขององค์กร เพราะเขายังไม่อาวุโสพอที่จะสั่งการทุกอย่างได้ ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถขับเคลื่อนอะไรได้รวดเร็วนัก เพราะมีลูกน้องที่อยู่ใต้เขาอีกที ตำแหน่งนี้คือตัวเชื่อมที่สำคัญมากระหว่างผู้บริหารกับพนักงานระดับปฏิบัติการ การเทรนคนให้ขึ้นมาเป็นผู้จัดการระดับกลางจึงเป็นความท้าทายอย่างมากขององค์กรยุคใหม่

แล้วองค์กรควรประคับประคองหรือส่งเสริมคนประเภทนี้อย่างไร

          เวลาเราพูดถึงนวัตกรรม เรามักจะนึกถึง Entrepreneur คือเจ้าของธุรกิจ หรือผู้ก่อตั้ง แต่จริงๆ แล้วมีคนอีกไม่น้อยที่เป็น Intrapreneur คือคนที่อยู่ในองค์กร และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาภายในองค์กร ผู้จัดการระดับกลางของหลายๆ องค์กรก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้

          องค์กรจำเป็นมากๆ ที่จะต้องสร้าง Intrapreneur ขึ้นมา และมีพื้นที่ให้เขาเติบโต เพราะถ้าเขาไม่มีที่ให้โต สุดท้ายเขาก็จะออกจากบริษัทไป และกลายเป็น Entrepreneur ด้วยการเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทใหม่ของตัวเอง ซึ่งอาจจะดีสำหรับประเทศ เพราะมีบริษัทใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะ แต่สำหรับองค์กรเอง นี่คือการสูญเสียกำลังคนที่มีศักยภาพไป

          ในบางครั้ง Intrapreneur อาจดูเหมือนเป็นแกะดำ หรือเป็นคนที่ไม่ค่อยเข้ากับองค์กร แต่ในบางกรณี อาจเป็นเพราะเขาแค่คิดแตกต่างจากคนอื่น คนพวกนี้มีพลังของเขาอยู่ ถ้าเราสามารถรวบรวมคนเหล่านี้ได้ ให้พื้นที่ในการทำงาน หรือให้พื้นที่ในการที่เขาจะคิดแตกต่าง ความแตกต่างนี้จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดไอเดียหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาได้

ถ้า Intrapreneur ที่ทำงานอยู่ในองค์กร สามารถออกไปเป็น Entrepreneur ได้ สุดท้ายแล้วความต่างระหว่างคนสองประเภทนี้คืออะไร

          แน่นอนว่าทั้งคู่เป็นคนที่มีคุณสมบัติของการคิดค้นหรือริเริ่ม (Innovate) เหมือนกัน แต่ความแตกต่างไม่ใช่แค่คนหนึ่งเป็นพนักงานที่อยู่ในองค์กร ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นผู้บริหารหรือผู้ก่อตั้ง

          ความแตกต่างอีกข้อที่สำคัญคือ Intrapreneur จะต้องมีทักษะที่สามารถ Remake หรือสร้างของใหม่ขึ้นมาในโครงสร้างแบบเก่าได้ ในขณะที่ Entrepreneur ความยากของเขาคือการที่ต้องเริ่มทุกอย่างจากศูนย์ เปรียบเทียบเหมือนการสร้างบ้านใหม่ ตั้งแต่การลงเสาเข็ม

          ความท้าทายของ Intrapreneur คือมันมีบ้าน มีโครงอยู่แล้ว แต่คุณก็ไม่ใช่เจ้าของบ้าน เพราะฉะนั้นคุณไม่สามารถบอกได้ว่า ฉันจะทุบทุกอย่างทิ้งแล้วสร้างใหม่ แต่คุณจะต้องพยายามสร้างและปรับบ้านหลังนี้ให้มันดีที่สุด คุณต้องปรับเปลี่ยนองค์กรภายใต้โครงสร้างเดิมให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องทำลายกรอบเก่าๆ ให้มันออกมาเป็นบ้านหลังใหม่ที่สวยให้ได้          

          สิ่งที่อยากจะเสริมสุดท้าย ผมคิดว่าปัญหาของประเทศไทย โดยเฉพาะรัฐบาลไทย คือการไม่มี Intrapreneur องค์กรรัฐเป็นองค์กรที่หลายคนพูดว่าต้องมีการปรับโครงสร้างใหม่ แต่ในทางปฏิบัติ มันไม่ได้ทำกันง่ายๆ ผมจึงมองว่าเราต้องอาศัยคนที่เป็น Intrapreneur เข้าไปช่วย แล้วค่อยๆ แกะ ค่อยๆ ปรับจากข้างใน 

ท่ามกลางบรรยากาศสังคมปัจจุบัน ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวชวนหดหู่ ส่งผลโดยตรงต่อสภาพจิตใจ และอาจกระทบไปถึงเรื่องการทำงานของใครหลายๆ คน คุณมีคำแนะนำอะไรในการตั้งหลักชีวิต ทั้งในแง่ความคิดและจิตใจในช่วงเวลาแบบนี้ไหม

          ต้องบอกตรงๆ ว่าเห็นใจครับ เข้าใจความรู้สึกว่ามันยากจริงๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมอยากบอก และคิดว่าอาจช่วยอะไรได้บ้าง คืออยากให้ใช้พลังของความเครียด ความเซ็ง ความโกรธ หรืออะไรก็ตาม เปลี่ยนมันเป็นพลังที่กระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลง จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เปลี่ยนแปลงองค์กร หรือเปลี่ยนแปลงสังคมก็ได้

          ช่วงที่สังคมเกิดวิกฤต คือช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในการสร้างความเปลี่ยนแปลง หากเราย้อนดูการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกส่วนใหญ่ โอกาสน้อยมากที่จะเกิดจากการค่อยๆ เปลี่ยนแปลงทีละนิด เรื่องบางเรื่องเราใช้เวลาในการผลักดันเป็น 10 ปี แต่มันไม่ก้าวไปข้างหน้าเลยแม้แต่ก้าวเดียว

          แต่เมื่อเกิดวิกฤตขึ้น เรื่องเดียวกันแท้ๆ กลับใช้เวลาเพียง 1 ปีในการสร้างความเปลี่ยนแปลง แถมยังก้าวหน้าไปเป็น 10 ก้าวเลยด้วยซ้ำ

          ดังนั้นวิกฤตที่เกิดขึ้นในตอนนี้ อาจเป็นโอกาสดีที่เราจะได้เปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างเพื่ออนาคต ผมจึงอยากให้ใช้พลังแห่งความสิ้นหวัง ความหดหู่ เปลี่ยนมาเป็นพลังในการเปลี่ยนแปลงตัวเราและคนรอบตัวให้ได้มากที่สุดครับ

 

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก