Rare Finds Bookstore and Cafe: ร้านหนังสืออิสระที่ไม่ลึกลับสำหรับชุมชนนักอ่านเชียงใหม่

3,835 views
7 mins
August 2, 2023

          การเปิด ‘ร้านหนังสือ’ เป็นหนึ่งในสิ่งที่ ‘คนรักหนังสือ’ จำนวนไม่น้อยเฝ้าฝันถึง เพียงจินตนาการถึงพื้นที่ที่โอบล้อมด้วยหนังสือเต็มชั้นวาง กลิ่นกรุ่นของกระดาษ บรรยากาศสุขสงบ ผู้คนที่แวะเวียนมาพูดคุย ก็น่าจะเป็นชีวิตที่ทำให้เจ้าของร้านหนังสือมีความสุขไม่น้อย

          แต่แน่นอนว่าความเป็นจริงกับความฝันย่อมมีส่วนที่ต่างกัน

          ใครที่เป็นเจ้าของร้านหนังสือ โดยเฉพาะร้านหนังสืออิสระรายย่อย หรือเคยทำงานในร้านหนังสือ ย่อมรู้ดีว่าการบริหารร้านหนังสือไม่ใช่เรื่องง่าย และบางครั้งก็ไม่ได้ ‘โรแมนติก’ เหมือนที่หลายคนคิด

          ในแง่ความชอบส่วนตัวอาจถูกต้อง แต่ลำพังแค่ ‘ความรักความชอบ’ อย่างเดียวคงไม่เพียงพอต่อการบริหารธุรกิจ เมื่อขึ้นชื่อว่าธุรกิจ ย่อมหนีไม่พ้น ‘เรื่องเงินๆ’ ที่ต้องคอยคิดคำนึงแทบตลอดเวลา เพื่อให้ร้านหนังสือเดินต่อได้

          ในแง่นี้ เมื่อมองตามความเป็นจริง การเป็นเจ้าของร้านหนังสือสักร้านจึงเป็นส่วนผสมของความฝันและความจริงที่แบ่งสัดส่วนกันไป ตามแต่ต้นทุน ความชอบ และความอดทน ที่แต่ละคนมี 

          แต่ไม่ว่าจะอย่างไร นั่นก็เพียงพอให้ เอิร์ธ – อธิษฐ์ อนุชปรีดา และ โฟม -กฤตพร เรืองวัฒนกุล สองหนุ่มสาวที่หลงรักหนังสือ และมีความฝันอยากเปิดร้านหนังสือเป็นของตัวเอง ตัดสินใจย้ายจากกรุงเทพมาสู่เชียงใหม่ เมืองที่ทั้งคู่ชื่นชอบและมีความทรงจำอยู่

          ข่าวดีก็คือ เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ความฝันแรกของทั้งคู่เป็นจริงแล้ว กับการเปิด Rare Finds Bookstore and Cafe ร้านหนังสืออิสระและคาเฟ่ พื้นที่เล็กๆ ที่พักใจแห่งใหม่ของเหล่านักอ่านทั้งหลายในเชียงใหม่ ซึ่งทั้งคู่คัดเลือกทุกอย่างในร้านเป็นอย่างดี ทั้งการตกแต่ง บรรยากาศ ไปจนถึงหนังสือที่วางขาย

          ส่วนที่บอกว่า ‘ความฝันแรก’ ก็เพราะทั้งสองหนุ่มสาวยังมีฝันที่อยากให้ร้านหนังสืออิสระของพวกเขาเติบโตและเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างมากกว่านั้น

Photo: กรินทร์ มงคลพันธ์
Photo: กรินทร์ มงคลพันธ์
Rare Finds Bookstore and Cafe: ร้านหนังสืออิสระที่ไม่ลึกลับสำหรับชุมชนนักอ่านเชียงใหม่
Photo: กรินทร์ มงคลพันธ์

การพบกันของคนรักหนังสือ

          เอิร์ธ เป็นคนจังหวัดตาก ส่วน โฟม เป็นคนกรุงเทพ ทั้งคู่เจอกันตอนเรียนปริญญาตรี คณะอักษรศาสตร์ เอกวรรณคดีอังกฤษ และมีพื้นฐานเป็นคนรักการอ่านเหมือนกัน

          “ที่เข้าอักษรก็เพราะไม่ได้มีทักษะอย่างอื่นนอกจากการอ่านนิยาย” เอิร์ธเล่าและหัวเราะ ก่อนที่โฟมจะเสริมว่า “การอ่านเป็นสิ่งที่ทำเยอะที่สุด คือถึงไม่ได้เปิดร้านก็อ่านอยู่ดี แล้วพอได้ทำเป็นส่วนหนึ่งของวิจัยหรือของการเรียน การอ่านเลยเหมือนเป็นทั้งงานและงานอดิเรก”

          ทั้งคู่เติบโตมากับการอ่าน และสิ่งที่อ่านก็เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงวัย เอิร์ธเล่าว่าตัวเขาเริ่มจากการอ่านหนังสือเบาๆ ที่คนมักแซวว่าแนว “สายลม แสงแดด’ ในช่วง ม.ปลาย ก่อนจะเริ่มอ่านจริงจังขึ้นในช่วงมหาวิทยาลัย โดยขยับมาอ่านวรรณกรรมตะวันตกที่เป็นภาษาอังกฤษมากขึ้น

          “แทบจะไม่ได้อ่าน non-fiction เลย แต่ถ้าจะย่อยละเอียดว่าชอบประเภทไหนเป็นพิเศษ มันก็ค่อยๆ เปลี่ยนตามวัยไปเรื่อย” เอิร์ธเล่า

          ขณะที่โฟมบอกว่าช่วงเรียนมหาวิทยาลัย จะเป็นช่วงวัยแสวงหา จึงสนใจหนังสือแนวการตามหาตัวตน เพื่อตอบคำถามที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นของชีวิต รวมถึงอ่านเรื่องการเมือง นิยายแนวดิสโทเปียน รวมถึงวรรณกรรมไทย

          “แต่ถ้าเป็นตอนนี้ สิ่งที่อ่านเยอะคือวรรณกรรมสิ่งแวดล้อม วรรณกรรมชนพื้นถิ่น เพราะเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่เราทำ” โฟมสรุป

ร้านหนังสืออิสระที่ไม่ได้อยาก ‘หายาก’ อย่างชื่อ

          ก่อนหน้านี้ ทั้งเอิร์ธและโฟม เป็นติวเตอร์สอนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนมหาวิทยาลัย ยาวนานกว่าสิบปี จนกระทั่งช่วงหลังของการสอน คือช่วงที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 มาถึง

          “ช่วงนั้นไม่ได้เจอนักเรียนเลย เวลาว่างเยอะมาก” เอิร์ธเล่า ในที่สุด ทั้งสองจึงตัดสินใจเปิดร้านคาเฟ่ที่ย่านพระโขนง ชื่อ Rare Finds Cafe เนื่องจากมีพื้นที่ที่เคยเป็นร้านที่ทั้งคู่ชอบว่างอยู่พอดี

          แม้จะมีฝันอยากเปิดร้านหนังสือ แต่ด้วยเงื่อนไขหลายข้อจึงทำให้ธุรกิจร้านแรกของทั้งคู่ดำเนินไปอีกรูปแบบ

          “เราลองเปิดเป็น Book Cafe แต่เน้นไปทางคาเฟ่มากกว่า เพราะว่ามันจับพลัดจับผลูไปในทิศทางนั้น คือที่กรุงเทพเปิดร้านแค่วันสองวัน ก็จะมีอินฟลูเอนเซอร์มาถ่ายรูป มันเลยติดลมเร็ว และทำให้ไม่มีเวลาที่จะสร้างพื้นที่ตรงนั้นให้เป็นร้านหนังสือ” โฟมเล่า

          เมื่อถามถึงชื่อร้านที่แปลได้ว่า ‘คาเฟ่ที่หายาก’ ทั้งคู่หัวเราะและเล่าว่า ไม่ได้ตั้งใจให้เกี่ยวกับเรื่องหายาก แต่เป็นเพราะร้านที่เคยเปิดเมื่อตอนอยู่กรุงเทพหายาก เนื่องจากร้านตั้งอยู่ในห้องด้านในสุดของตึกสำนักงานแห่งหนึ่งย่านพระโขนง

          “ความจริงมันมาจากชื่อเพลง Time Has Told Me ของ นักร้องโฟล์คอังกฤษชื่อ Nick Drake ที่เราทั้งคู่ชอบ เนื้อเพลงตอนต้นมันร้องว่า…”

          Time has told me

          You’re a rare, rare find

          “พอ Rare Finds รวมกัน ตัวมันเลยแปลว่า คนหรือสิ่งของที่เราไม่ได้เห็นหรือเจอได้บ่อยๆ แล้วก็รู้สึกว่าเราอยากสร้างพื้นที่ให้คนมีความประทับใจต่อมัน ไม่ใช่แค่มีต่อเราอย่างเดียว แต่ต่อสิ่งต่างๆ ในแง่ว่า มันเป็นประสบการณ์ที่ดาษดื่นธรรมดา แต่มันไม่ได้สามัญจนเจอได้ทุกวัน ก็เลยเอามาตั้งเป็นชื่อร้าน” โฟมสรุปที่มาและความหมายของชื่อร้านให้เราเข้าใจอีกครั้ง

Rare Finds Cafe กับการต่อยอดความฝันที่ยังไม่สำเร็จ

          หลังจากร้านแรกอาจเรียกได้ว่าไม่เป็นไปอย่างที่คิด รวมถึงความคิดในการย้ายออกจากกรุงเทพเริ่มเข้มข้นขึ้น ทั้งคู่จึงปิดร้านที่พระโขนง และโพสต์ทิ้งท้ายไว้ว่า ‘จะไปเปิดร้านต่อที่เชียงใหม่’ 

          โพสต์ดังกล่าวเกิดขึ้นโดยที่ทั้งคู่ยังไม่มีแผนชัดเจน เพียงแค่มีความรู้สึกว่า ต้องมาทำร้านต่อให้ได้

          “เราอยู่กรุงเทพมาสิบกว่าปี ส่วนโฟมก็อยู่มาตลอด มันเป็นความรู้สึกว่ากรุงเทพอยู่ยากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งค่าครองชีพและเรื่องอื่นๆ เลยอยากหาสภาพแวดล้อมที่ทำให้เราได้ทำอะไรที่อยากทำมากขึ้น” เอิร์ธเล่า

          “อีกอย่างคือแผนที่จะเปิดร้านหนังสือจากตอนเปิดร้านที่พระโขนงมันยังไม่ได้ทำ และยังอยากทำอยู่ ก็เลยเริ่มมองหาที่กัน ตอนนั้นมีทางเลือกหนึ่งคือตาก ที่เป็นบ้านเกิดเรา แต่จินตนาการแล้วไม่น่ารอด”

          โฟมเสริมว่า ในช่วงนั้น ทั้งคู่มีโอกาสมางานรับปริญญาน้องของเอิร์ธที่เชียงใหม่พอดี จึงมีโอกาสมาเชียงใหม่ ซึ่งเป็นจังหวัดที่ทั้งสองมาเที่ยวบ่อยตอนเรียนมหาวิทยาลัย และได้ผ่านซอยนี้ ซึ่งแต่ก่อนเคยมีร้านหนังสือภาษาอังกฤษมือสองชื่อ ‘Backstreet Bookshop’ ที่ทั้งคู่ชื่นชอบ แต่ปัจจุบันปิดไปแล้ว 

          “เหมือนเราคุ้นเคยกับการใช้ชีวิตในซอยนี้ แล้วเราก็ค่อนข้างชอบ อาจจะเรียกว่ามีความทรงจำกับซอยนี้” โฟมเล่า “พอมันมีโอกาสเข้ามา คือ มีพื้นที่ว่างตรงนี้พอดี แล้วเราคิดภาพว่าจะมาอยู่ตรงนี้ในฐานะของคนที่เปิดร้านหนังสือ มันก็เมกเซนส์ ถ้าให้อยู่ซอยอื่นอาจจะนึกภาพยากมากกว่า เพราะความทรงจำเราอยู่ซอยนี้เยอะ”

          ด้วยเหตุนี้ Rare Finds Cafe จึงกลายมาเป็น Rare Finds Bookstore and Cafe ที่ทั้งเอิร์ธและโฟมตั้งธงไว้ว่า จะไม่เปิดร้านจนกว่าจะเปิดร้านหนังสือได้จริงๆ

          “ที่บอกว่าไม่มีแผนคือไม่รู้ว่าหน้าตาจะเป็นอย่างไร เราไม่มี Interior ไม่มีกำหนดการว่าจะเปิดเมื่อไร เรามาด้วยความรู้สึกว่า จะเปิดร้านหนังสือให้ได้แล้วรอบนี้ แต่ที่เหลือเป็นสิ่งที่ต้องรอดู” โฟมสรุปย้อนไปถึงคำว่า ‘ไม่มีแผน’ ของทั้งคู่

ปีแห่งการเตรียมตัว

          เอิร์ธและโฟมใช้เริ่มต้นจากศูนย์ และใช้เวลากว่าปีในกระบวนการเปิดร้าน Rare Finds Bookstore and Cafe ทั้งการไปตระเวนดูร้านหนังสืออิสระในเชียงใหม่ การขอคำปรึกษาจากเจ้าของร้านหนังสืออิสระที่รู้จัก รวมถึงศึกษาวิธีการติดต่อสายส่ง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการนำหนังสือมาลงที่ร้าน

          “ขณะเดียวกันก็ดูเรื่องพื้นที่ของร้านไปด้วย โดยที่เรามีงบจำกัด ก็จะค่อยๆ คิดว่า เรามีเฟอร์นิเจอร์จากกรุงเทพ เราสามารถทำให้พื้นที่ของร้านมีหน้าตาเป็นอย่างไรได้บ้าง โดยที่ไม่ต้องซื้อใหม่เยอะ ช่วงระหว่างนั้นก็จะเน้นการจัดลองไปเรื่อยๆ เน้นกระบวนการ visualize แล้วก็ประเมินว่า capacity ของเราในฐานะร้านหนังสือเท่าไร หนังสืออะไรบ้างที่ควรถูกขาย หนังสืออะไรบ้างที่เราขายได้ดี หนังสืออะไรบ้างที่เราไม่น่าขายได้ ก็ใช้เวลาช่วงนั้นระหว่างเปิดในการศึกษา” โฟมเล่า 

          “อาจจะเรียกได้ว่า เอาชอยส์มากางแล้วดูว่า อะไรคือสิ่งที่เราสามารถเสนอให้ลูกค้าได้ ในแง่ว่า ลูกค้าถาม ลูกค้าให้แนะนำ อยากให้เราพูดถึงสิ่งนี้ เราพูดอะไรได้ เราก็ขายอย่างนั้น ในขณะเดียวกันเราก็พยายามหา niche ด้วย คือมีอะไรบ้างในฐานะร้านหนังสืออิสระที่จะเสนอให้คนอื่นได้ ที่ร้านอื่นอาจจะยังไม่มี รวมถึงถ้าเราอยากรับเข้าหนังสือภาษาอังกฤษที่เป็นหนังสือที่เฉพาะหน่อย จะทำอย่างไรได้บ้าง”

Rare Finds Bookstore and Cafe: ร้านหนังสืออิสระที่ไม่ลึกลับสำหรับชุมชนนักอ่านเชียงใหม่
โฟม -กฤตพร เรืองวัฒนกุล
Photo: กรินทร์ มงคลพันธ์

Rare Finds, Curate Character

          เสน่ห์ของร้านหนังสืออิสระคือคาแรกเตอร์ของร้านที่โดดเด่นและสะท้อนความเป็นเจ้าของร้าน ที่ต้องการออกแบบหน้าตาและบรรยากาศให้กับผู้ที่มาเยือนร้าน ซึ่งรวมไปถึงการเลือกหนังสือที่จะขายในร้าน

          หากใครที่ได้มาเยือนที่นี่แล้ว ก็คงจะสัมผัสได้ตั้งแต่บรรยากาศของซอยช้างม่อยอันเงียบสงบ ร้าน Rare Finds Bookstore and Cafe ตั้งอยู่ในซอยเล็กๆ ที่เป็นเส้นตรงยาวไม่กี่ร้อยเมตร ปลายฝั่งหนึ่งพาไปสู่ประตูท่าแพ จุดยอดนิยมของนักท่องเที่ยว ขณะที่ปลายอีกฝั่งพาไปสู่ถนนช้างม่อย ที่ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งเช็คอินของเหล่า ‘คาเฟ่ฮอปปิง’ ทั้งหลาย เนื่องจากมีผู้ประกอบการธุรกิจเปิดร้านกาแฟใหม่ๆ มากมาย

           Rare Finds Bookstore and Cafe ซุกซ่อนอยู่ในอาคารพาณิชย์เล็กๆ ด้านหน้าครึ้มไปด้วยต้นไม้เขียวขจีราวแทรกตัวอยู่ในป่า เมื่อเปิดประตูเข้าไป ก็พบกับโลกอีกใบอันสงบ กรุ่นกลิ่นหอมของกาแฟที่โชยมาเจือจาง

          พื้นที่ภายในร้านเล็กๆ แต่ไม่อึดอัด ด้านหน้าติดกระจกบานใหญ่มีโซฟาสำหรับนั่งอ่านหนังสือพร้อมแสงสว่างที่ส่องเพียงพอ ตรงกลางมีโต๊ะไม้และเก้าอี้สำหรับนั่งอ่านหนังสือหรือนั่งทำงาน รอบข้างโอบล้อมด้วยชั้นวางหนังสือไม้ มีสินค้า เช่น กระเป๋าผ้าห้อยข้างผนัง โปสเตอร์หนังโปสเตอร์วรรณกรรมคลาสสิก รวมถึงโซนเล็กๆ ขายของเซรามิกที่ทั้งคู่สะสม และมีพรรณไม้เขตร้อนแทรกอยู่ตามจุดต่างๆ เสริมความสดชื่นและชีวิตชีวาให้ตัวร้าน

          มุมในสุดเป็นเคาน์เตอร์ เบื้องหลังมีเครื่องชงกาแฟ ซึ่งทั้งเอิร์ธและโฟมจะคอยประจำอยู่ คอยชง และเสิร์ฟเครื่องดื่มให้ลูกค้า ให้คำแนะนำเกี่ยวกับหนังสือ หรือบางครั้งก็จะนั่งอ่านหนังสือกันเงียบๆ

          “พวกเราซีเรียสเรื่องที่ว่า ร้านต้องสวยแบบที่เราชอบ ไม่สะเปะสะปะ แต่ต้องกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกอยากนั่งอ่านหนังสือด้วย เพราะนักอ่านหลายคนต้องอ่านก่อนถึงจะรู้สึกว่าฉันอยากได้เล่มนี้ เลยจะมีมุมนั่งที่เห็นว่าเป็นโซฟา มีแสงเข้าจากหน้าร้าน แล้วพยายามสร้างพื้นที่ระหว่างที่นั่งแต่ละที่ให้ได้มาก อันนี้ก็จะเป็นรูปแบบการตกแต่งที่เราตั้งใจ” โฟมเล่า

          ส่วนเอิร์ธเสริมว่า “อีกแง่หนึ่งของ Interior คือ จะไม่มีอะไรในร้านที่ซื้อมาเพื่อเป็นจุดประสงค์ในการประดับตกแต่งอย่างเดียว พูดง่ายๆ คือเราไม่มีธีม ไม่มีสไตล์ เราไม่ได้เซ็ตว่าจะทำสไตล์นี้นะ แล้วต้องไปหาของมาใส่ให้มันตรงตามสไตล์ คือของตกแต่งทุกอย่าง เป็นของสะสมส่วนตัวอยู่แล้ว”

          “เราว่าการที่ร้านหนังสืออิสระมีคาแรกเตอร์นั้นจำเป็น ไม่ใช่สิ่งที่เราพยายามสร้างขึ้นมา แต่เป็นสิ่งที่ต้องมีแต่แรกอยู่แล้ว ซึ่งคาแรกเตอร์ของเจ้าของร้านแบบหนึ่ง ก็อาจจะดึงดูดลูกค้าคนหนึ่ง แต่ไม่ใช่อีกคนหนึ่งก็ได้”

Rare Finds Bookstore and Cafe: ร้านหนังสืออิสระที่ไม่ลึกลับสำหรับชุมชนนักอ่านเชียงใหม่
Photo: กรินทร์ มงคลพันธ์
Rare Finds Bookstore and Cafe: ร้านหนังสืออิสระที่ไม่ลึกลับสำหรับชุมชนนักอ่านเชียงใหม่
เอิร์ธ – อธิษฐ์ อนุชปรีดา
Photo: กรินทร์ มงคลพันธ์

หนังสือที่บ่งบอกตัวตนของร้าน

          สำหรับหนังสือที่ร้าน Rare Finds Bookstore and Cafe เลือกมาขายส่วนใหญ่จะเป็นวรรณกรรมคลาสสิกที่ทั้งคู่ชอบอ่าน ส่วนหนังสือภาษาไทยก็จะเป็นพวกวรรณกรรมแปล และวรรณกรรมจริงจัง เช่น หนังสือซีไรต์ รวมถึงหนังสือวิชาการ แต่เป็นสัดส่วนน้อย

          นอกจากนี้ ทางร้านยังเปิดโอกาสให้นักเขียนเอาหนังสือที่เขียนเองมาวางขายได้ด้วย เพียงแต่อาจจะต้องลองดูกันก่อนว่าเหมาะจะเอามาวางขายที่ร้านหรือไม่

          “ลูกค้าบางคนเป็นนักท่องเที่ยว มีหนังสือติดมา 8-9 เล่ม แล้วขี้เกียจแบกกลับ ก็จะให้เขาเอามาให้เราลองดูก่อน ถ้ามันตรงกับรูปแบบการขายของเรา เราก็จะซื้อไว้วางขายที่ร้าน” เอิร์ธเล่า

          “ที่ต้องขอดูก่อนเพราะถ้าหลุดธีมมาก เราจะแนะนำไม่ได้ และไม่แฟร์สำหรับคนที่เป็นนักเขียน” โฟมเสริม “ส่วนหนังสือแนวที่รับแน่ๆ จะเป็นพวกนิยายหรือกวีนิพนธ์ที่ค่อนข้างจริงจัง หรือหนังสือท่องเที่ยว และหนังสือที่เกี่ยวกับเชียงใหม่ เพราะว่ามีครึ่งหนึ่งเลยที่เป็นนักท่องเที่ยวที่มาร้าน บางคนต้องการไกด์บุ๊ก แต่ไม่ใช่ไกด์บุ๊กที่มีแต่ภาพ ต้องมีข้อมูลนิดหนึ่ง เพราะเราจะรู้สึกว่าได้แนะนำในส่วนของเราด้วย”

          “ส่วนแบบที่เราอาจจะไม่ถนัดขาย ซึ่งก็สังเกตได้ว่าในร้านไม่มี คือพวก Self-help เพราะไม่ใช่แนวที่เราสามารถพูดถึงได้เลย เราไม่ได้อ่านแนวนั้น หรือยกตัวอย่างหนังสือที่เป็นนักเขียนโรแมนซ์จ๋าๆ ก็อาจจะไม่ถนัด” โฟมสรุป

Rare Finds Bookstore and Cafe: ร้านหนังสืออิสระที่ไม่ลึกลับสำหรับชุมชนนักอ่านเชียงใหม่
Photo: กรินทร์ มงคลพันธ์

เมื่อหนังสือไม่ใช่สินค้าเดียวในร้าน

          อย่างที่ได้พูดไปตั้งแต่ต้น ในการทำธุรกิจร้านหนังสือ แม้สิ่งจำเป็นก็คือหนังสือที่เป็นสินค้า แต่ในแง่การประคองธุรกิจปัจจุบันนี้ให้มีรายได้พยุงร้าน หนังสือจึงอาจไม่ใช่สินค้าจำเป็นชนิดเดียวที่ต้องมีในร้านหนังสือ และด้วยเหตุนี้ นอกจากหนังสือที่วางขายในร้าน Rare Finds Bookstore and Cafe ยังมีสินค้าอื่นที่ขายควบคู่กันไปด้วย เช่น กาแฟ หรือของสะสมเซรามิก

          “อย่างเซรามิกปรากฏว่าขายได้ค่อนข้างดี และเข้ามาพยุงรายได้ได้ประมาณหนึ่งนะ” เอิร์ธเล่า ขณะที่โฟมเสริมว่า ในแง่ของธุรกิจ สิ่งที่ช่วยได้อย่างมากคือการมีกาแฟขายในร้าน เนื่องจากยอดของกาแฟแต่ละแก้วที่ขายได้ สามารถให้กำไรที่เพียงพอ ในแง่ที่ว่าร้านสามารถเดินต่อไปได้เรื่อยๆ

          “จะไม่มีวันไหนที่เปิดขายหนังสืออย่างเดียวโดยไม่ขายกาแฟอย่างแน่นอน เพราะวันไหนหนังสือขายออกน้อย ยังไงกาแฟก็ขายออก มันเลยแอบเป็น Conflict ระหว่างธุรกิจสองอย่างนี้ คือกาแฟอาจจะเน้นขายสำหรับคนที่ไม่จำเป็นต้องชอบอ่านหนังสือ แต่ถ้าเป็นคนที่อ่านหนังสือ เขาอาจต้องการความเงียบสงบเพื่ออ่านหนังสือ ซึ่งก็เป็นความท้าทายของการทำทั้งสองอย่างนี้” โฟมเล่า

          “มันอาจจะถึงจุดที่การขายหนังสือที่ในร้านมีแต่หนังสืออย่างเดียวอาจจะยาก เรามองเป็นพื้นที่มากกว่า คือทุกอย่างรวมกันแล้วยังบวกอยู่ ไม่ได้คิดว่าต้องได้กี่เปอร์เซ็นต์จากอะไร แต่ถ้าสมมติว่าระหว่างทางเราสังเกตว่าสิ่งนี้มันขายดี แล้วเราหาทางหาเพิ่มได้ เราก็หาเพิ่ม” 

          ในมุมหนึ่ง โฟมยังรับสอนภาษาอังกฤษอยู่ แน่นอนว่ามันคือฐานรองรับอีกข้อในการใช้ชีวิตของทั้งคู่ “แทนที่เราจะมองว่าเป้าหมายของธุรกิจคือการเป็นเศรษฐี ก็มามองว่าทำอย่างไรให้มันอยู่ได้ ตามอัตภาพนิดนึง” โฟมเล่าและหัวเราะ “มันเป็นธุรกิจแหละ แต่เราไม่ได้มองถึงขั้นว่า มันเป็นธุรกิจที่ทุกอย่าง Matter จากตัวเลขอย่างเดียว เราก็หาวิธีอื่นด้วย เช่น ถ้าขายกาแฟได้กำไรแล้วพยุงตัวเองได้เราโอเคแล้ว สมมติเราอยากไปเที่ยวต่างจังหวัดบ้าง เราอยากมีเงินกินอะไรอร่อยๆ บ้าง เราก็เอาอาชีพสอนพิเศษมาเสริม ช่วงไหนที่ยากหน่อย อาจจะเป็นโลวซีซัน เราก็แพลนกันไว้ว่าจะรับงานแปลเพิ่ม เราคิดแบบนี้ เพื่อที่จะทำให้เราได้ทำร้านหนังสือ ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นสิ่งที่เรารัก”

Rare Finds Bookstore and Cafe: ร้านหนังสืออิสระที่ไม่ลึกลับสำหรับชุมชนนักอ่านเชียงใหม่
Photo: กรินทร์ มงคลพันธ์

ต่อยอดสู่พื้นที่อิสระที่มากกว่าร้านหนังสือ

          นอกเหนือจากเรื่องกำไรในธุรกิจ สิ่งหนึ่งที่ทั้งเอิร์ธและโฟมมองร่วมกันคือ การทำให้พื้นที่ของร้านกลายเป็นส่วนสำคัญของการอ่านในชุมชน

          “มันคือการสร้างบรรยากาศให้มีพื้นที่ที่สามารถไปนั่งเฉยๆ เพื่ออ่านหนังสือได้ในชุมชน ซึ่งเราคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าทำได้ดีในระยะยาว แล้วที่นี่ยังคงเป็นอย่างนั้นสำหรับทุกคน ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ”

          “หนึ่งเดือนกว่าที่เปิดร้านมา เรารู้สึกว่าได้ทำสิ่งนั้นจริงๆ มันมีคนที่มานั่งอ่านหนังสือ อาจจะไม่ได้มาอ่านหนังสือของเราก็ได้ แต่เอาหนังสือของตัวเองมา หรือเอาชีทของมหา’ลัยหรือโรงเรียนมาอ่าน นั่งยาวๆ ไปทั้งวันเลย ปกติคาเฟ่อาจจะไม่ค่อยอยากให้ทำ แต่เราไม่ติด เพราะมันก็เป็นการสร้างบรรยากาศในภาพรวมของการอ่าน” เอิร์ธและโฟมผลัดกันเล่าถึงเป้าหมาย

          “เพราะทุกวันนี้ร้านหนังสืออิสระน้อยมาก รวมถึงพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการอ่านด้วย เช่น ห้องสมุด”

          เอิร์ธและโฟมเล่าว่า หนังสือไม่ใช่ Cultural Product อย่างเดียวที่ช่วยจรรโลงจิตใจ หรือยกระดับจิตใจ ด้วยเหตุนี้ รวมกับเป้าหมายที่อยากให้ร้านเป็นพื้นที่เปิดสำหรับคนทุกประเภท ทั้งคู่จึงมองว่า หากในอนาคตระยะยาวจะมีการจัดฉายหนัง หรือเสวนา ก็เป็นสิ่งที่ดี

          “ถ้าเราเปิดเสวนาหรือเปิดฉายหนัง เราไม่อยากให้มันเป็นที่ที่ Niche แต่อยากให้คนรู้สึกว่า คนดูหนังมือใหม่ก็สามารถรู้สึกสบายใจที่จะมาได้” โฟมเล่า

          “สำหรับพวกเรา ลูกค้าที่ไม่อ่านหนังสือ กับลูกค้าที่อ่านหนังสือเยอะ ก็ทำให้เราประทับใจในฐานะเจ้าของร้านหนังสือได้เหมือนกัน” ทั้งคู่กล่าวทิ้งท้าย

Rare Finds Bookstore and Cafe: ร้านหนังสืออิสระที่ไม่ลึกลับสำหรับชุมชนนักอ่านเชียงใหม่
Photo: กรินทร์ มงคลพันธ์

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก